NOT NECESSARY BUT NICE
dot.b ร้านหนังสือที่อาจไม่จำเป็น แต่ควรต้องมี ของ ‘ธีระพล วานิชชัง’
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: สถาพร กองอยู่
ผมพบ โก้—ธีระพล วานิชชัง เจ้าของร้านหนังสือ dot.b ครั้งแรกที่ร้านหนังสืออีกแห่งที่ไม่ใช่ของเขาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งน่าจะเกินห้าปีแล้ว
ตอนนั้นผมไปเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลา และบังเอิญเจอร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ของพี่เอ๋—อริยา ไพฑูรย์ เข้าใจว่านั่นคือร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวในย่านเมืองเก่า รวมถึงจังหวัดทั้งจังหวัด
อาจเพราะเราสนใจในงานวรรณกรรมเหมือนกัน เลยผูกมิตรกันเร็วเป็นพิเศษ โก้เป็นคนสงขลา เคยเปิดร้านกาแฟชื่อ dot ในอำเภอหาดใหญ่ ก่อนจะย้ายที่ตั้งมาอยู่ย่านเมืองเก่าในอาคารสไตล์ชิโน-ยูโรเปียนอายุกว่าเจ็ดสิบปีบนถนนนครนอก ไม่ไกลจากร้านหนังสือที่เราเจอกัน จากบทสนทนาในวันนั้น เราต่างเห็นพ้องกันว่าร้านหนังสืออิสระเป็นสิ่งจำเป็นในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกเก่าสวยๆ แบบนี้
เสน่ห์ของย่านก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือร้านหนังสือทำให้เมืองมีชีวิต ไม่ต่างจากคาเฟ่ ร้านสตรีทฟู้ด หรือร้านตัดผม ฯลฯ
หลังจากวันนั้น ผมไม่ได้ลงไปสงขลาอีกเลย จนมาทราบข่าวราวสองปีก่อนว่าพี่เอ๋ตัดสินใจย้ายร้านหนังสือเล็กๆ จากสงขลาขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ และหนึ่งปีต่อจากนั้น เมื่อต้นปี 2022 โก้ก็ขยายพื้นที่ร้าน dot เปิดเป็นร้านหนังสือในอาคารอีกหลังที่เชื่อมกับร้านกาแฟ เขาตั้งชื่อให้มันว่า dot.b เป็นร้านที่เปิดตอนเที่ยงและปิดเที่ยงคืน
ผมมีโอกาสลงไปสงขลาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นั่นคืออีกไม่กี่เดือนก่อน dot.b จะครบรอบหนึ่งปี เลยถือโอกาสนั่งคุยกับเขายาวๆ ถึงชีวิตของร้านหนังสือตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
ในยุคสมัยที่การอ่านหนังสือกลายเป็นกิจกรรมที่ไกลห่างจากชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ และร้านหนังสือแบบเชนสโตร์ในศูนย์การค้าทยอยโบกมือลา หรือลดพื้นที่ขายหนังสือเพื่อเอาไปให้กับสินค้าอย่างอื่น น่าสนใจที่ว่าย่านเมืองเก่าสงขลากลับมีบรรยากาศทางศิลปวัฒนธรรมที่คึกคักสวนทาง ทั้งการเปิดห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย, หอศิลป์สงขลา, พิพิธภัณฑ์อื่นๆ รวมไปถึงร้านหนังสือของโก้
“ถ้าถามว่าฟีดแบ็กที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง ก็ต้องบอกว่าเกินคาด” โก้บอก “แต่ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้คาดหวังอะไรสูงมากแต่แรกนะ เพียงแต่มันโอเคเลย”
นี่คือบทสนทนาระหว่างผมกับโก้ ว่าด้วยหนึ่งปีของ dot.b เทรนด์การอ่านของคนรุ่นใหม่ และมุมมองของโก้ที่ว่าเอาเข้าจริง ด้วยปัจจัยการอ่านและการเสพข้อมูลของคนส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน ร้านหนังสืออาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้วก็ได้
แต่นั่นล่ะ มันควรต้องมี
ขอย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเปิด dot.b อะไรทำให้คนขายกาแฟที่มีกำไรดีอยู่แล้ว หันมาลองทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างการเปิดร้านหนังสือ
เข้าใจว่าคงเป็นคำตอบของคนส่วนใหญ่ที่เลือกเปิดร้าน คือความรักในการอ่าน ผมเกิดที่อำเภอเมืองสงขลา ไปเรียนหนังสือที่หาดใหญ่ เรียนจบก็ไปทำงานออฟฟิศอยู่ช่วงสั้นๆ ที่กรุงเทพฯ และกลับมาทำร้านกาแฟที่หาดใหญ่ อยู่ที่นั่นเกือบยี่สิบปี ผมคิดมาตลอดว่าทำไมหาดใหญ่หรือสงขลาถึงไม่มีร้านหนังสือในแบบที่เราอยากอ่านเลย คือไม่ใช่เมืองไม่มีร้านหนังสือนะ มี แต่หนังสือที่เขาเอามาขายอาจไม่ตรงความสนใจเรานัก ก็เลยเป็นความฝันมาตลอดว่าถ้ามีโอกาสน่าจะเปิดร้านในแบบของเราเอง
ร้านหนังสือในแบบของเราเองเป็นแบบไหน
น่าจะเป็นอย่างที่เห็นใน dot.b นี่เลยครับ มีหนังสือวรรณกรรมร่วมสมัย หนังสือแปล งานเกี่ยวกับสังคมการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีบรรยากาศการชวนกันนั่งอ่าน คุยถึงหนังสือ หรือเรื่องอื่นๆ รวมถึงมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การดู หรือศิลปะอะไรแบบนี้ด้วย
ผมเริ่มทำร้านกาแฟ dot เมื่อปี 2008 ที่หาดใหญ่ โดยหาหนังสือที่ผมสนใจมาวางให้ลูกค้าอ่าน เพราะคิดว่าร้านกาแฟคือพื้นที่ให้เราทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์อย่างอื่นได้ dot เลยมีทั้งบอร์ดเกมให้เล่น เป็นที่ฉายหนังบางวาระ รวมถึงงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือและเรื่องอื่นๆ
พอทำร้านกาแฟรูปแบบนี้ เราก็เจอกลุ่มคนที่มีความสนใจหลากหลาย และมีความเฉพาะตัว ซึ่งเขาก็ใช้ร้านกาแฟเราเป็นเหมือนสถานที่นัดรวมตัวกัน เลยคิดว่า เออ มันน่าจะไปต่อได้นะ
ในเชิงธุรกิจเป็นไงบ้างครับ
ก็พออยู่มาได้ถึง 14 ปีแล้วน่ะครับ จนช่วงก่อนโควิด-19 ตึกที่เราเช่าอยู่หาดใหญ่หมดสัญญา พอไปหาตึกเช่าอื่นก็พบว่าราคาค่อนข้างสูง เลยตัดสินใจกลับมาอยู่สงขลา เพราะใกล้บ้านด้วย และช่วงนั้นสงขลาเริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับมาฟื้นฟูตึกเก่าเพื่อทำธุรกิจใหม่ๆ แล้วด้วย
ได้ตึกนี้มาได้ยังไง
ตึกนี้เป็นของเพื่อนแม่ แต่ครอบครัวเขาไม่ได้อยู่ที่นี่ พอผมตัดสินใจจะย้ายกลับมาสงขลาเลยไปคุยกับเขา จังหวะมันพอดีมาก คุยกันไม่กี่สัปดาห์ เขาก็ให้เช่าในราคาไม่แพง
ตึกที่ผมเช่าเป็นร้านกาแฟจะอยู่ฝั่งถนนนครนอก เชื่อมกับตึกอีกหลังเป็นคอร์ตกลางแจ้งอยู่ฝั่งนครใน ซึ่งเป็นรูปแบบผังอาคารพาณิชย์ของคนจีนสมัยก่อน โดยตึกที่อยู่ฝั่งถนนนครในก็ปิดไว้ เพราะลำพังผมคนเดียว จัดการตึกฝั่งเดียวก็น่าจะเอาเวลาไปหมดแล้ว จนมีโอกาสมาทำเป็นร้านหนังสือนี่แหละ
ย้อนกลับมาที่คำถามแรก แล้วคิดยังไงเปิดร้านหนังสือครับ
อย่างที่เคยคุยกันไปแล้วว่าเราเชื่อว่าเมืองควรต้องมีร้านหนังสือ ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาหนังสือมาวางขาย แต่เป็นการคัดสรรหนังสือให้ตอบโจทย์ความสนใจของคนในเมืองหรือนักท่องเที่ยว
ก่อนหน้านี้ย่านเมืองเก่ามีร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋เปิดอยู่แล้ว ผมก็คุ้นเคยกับพี่เอ๋ และไปช่วยเขาดูแลร้านอยู่บ่อยๆ ตอนนั้นก็เห็นนะว่าไวบ์ของร้านดีมาก มีนักเรียน นักศึกษา รวมถึงคนสงขลา และนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อหนังสือ มาพูดคุยกันตลอด จนพี่เอ๋ตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เขาก็ถามผมว่าจะดูร้านนี้ต่อไหม เหมือนแกพร้อมยกให้เลย แต่ผมทำร้านกาแฟอยู่ ถ้าจะต้องเดินไปมาระหว่างร้านกาแฟกับร้านหนังสือคงไม่สะดวก
แต่นั่นล่ะ ผมเสียดายว่าถ้าต่อไปเมืองนี้จะไม่มีร้านหนังสืออิสระแล้ว ก็เลยย้อนกลับมามองตึกอีกฝั่งของ dot ที่ปิดไว้ไม่ได้ทำอะไร เลยคุยกับพี่เอ๋ว่างั้นเราเปิดตรงนั้นดีกว่า เพราะผมโอเปอร์เรตธุรกิจได้สะดวกกว่า แถมเอากาแฟมาเสิร์ฟที่ร้านหนังสือได้ด้วย แกก็ยินดีเลย ยกหนังสือให้ผมหนึ่งล็อตใหญ่ ให้คอนแทกต์สายส่งและสำนักพิมพ์ รวมถึงสิ่งที่ควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำร้าน
อะไรเป็นสิ่งที่คุณกังวลมากที่สุดในการทำร้านหนังสือ
ต้นทุนค่าเช่าครับ อย่างที่รู้กันว่ากำไรจากยอดขายหนังสือไม่เยอะ คนทำต้องใจรักจริงๆ และที่ตัดสินใจมาเปิด dot.b คือเราไม่ต้องแบกค่าเช่า เพราะร้านกาแฟแบกไว้อยู่แล้ว เราแค่ลงทุนรีโนเวตตึกนี้ใหม่หน่อยแค่นั้น เลยไปคุยกับเจ้าของบ้านอีกครั้งว่าจะเปิดร้านหนังสือนะ แกก็ไฟเขียว ไม่คิดค่าเช่าเพิ่ม คือถ้าไม่ใช่เงื่อนไขนี่ ก็ไม่แน่ว่าจะได้ทำหรือเปล่า
dot.b จึงไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะอย่างแรกคือเราไม่เสียค่าเช่าเพิ่ม ขณะที่พี่เอ๋ก็ช่วยสนับสนุนเต็มที่ ทั้งเรื่องสต็อกหนังสือ สายส่ง หรือ know how ต่างๆ เราก็ต่อยอดด้วยการไปหาหนังสือมาขายเพิ่ม สร้างความหลากหลายให้มากขึ้น
เปิดมาจะครบหนึ่งปี ฟีดแบ็กดีไหมครับ
โดยส่วนตัวถือว่าดีเกินคาด เพราะตั้งเป้าไว้ไม่สูง เลยค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับเป้าที่ตั้งเอาไว้ คนเข้ามาเรื่อยๆ มีลูกค้าประจำ มีคนช่วยสนับสนุน เป็นอะไรที่เราเชื่อ คนยังอยากมีร้านหนังสืออยู่
ลูกค้าของเราคือใคร
นักเรียน นักศึกษา จริงๆ สงขลามีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง และโรงเรียนอีกเยอะ ขณะเดียวกันคนทำงานออฟฟิศ เจ้าของกิจการ และนักท่องเที่ยวหลายคนก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว พอร้านหนังสือของพี่เอ๋ปิดตัว ก็มีของเรามาต่อ
ติดตลาดแล้ว
ใช้คำว่า stable ดีกว่า
อีกเรื่องคือเราตั้งใจให้มันเป็นพื้นที่ทางเลือกนิดนึง อย่างร้านกาแฟและร้านหนังสือของเราคือเปิดเที่ยงวันและปิดเที่ยงคืนทุกวัน คนอื่นอาจสงสัยว่าตอน 4-5 ทุ่มนี่ใครจะมา แต่กลับมีนักเรียน-นักศึกษามานั่งที่นี่ตอนดึกๆ เยอะ เหมือนเป็นที่ซ่องสุมของพวกเขาประมาณนึง บางคนมานั่งเล่นบอร์ดเกม มาติวหนังสือ มาอ่านหนังสือ คึกคักเลย และร้านหนังสือก็ช่วยซัพพอร์ตธุรกิจร้านกาแฟเราด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีร้านกาแฟ และใช้ร้านหนังสือแบกค่าเช่า ก็อาจต้องเหนื่อยหน่อย
ที่นี่คนเขาอ่านหนังสือประมาณไหน
ถ้าเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา พวกนิยายและรวมเรื่องสั้นของสำนักพิมพ์ P.S. จะขายดี ความที่เนื้อหาส่วนใหญ่ของสำนักพิมพ์นี้ทัชกับคนรุ่นใหม่ มีปกเยอะ และทำการตลาดดี มีคนเอาไปรีวิวใน Reels ใน Tiktok พวกนี้ช่วยได้เยอะมาก
หรืออย่าง รูมี กวีลำนำรัก (สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) ของอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ก็ขายดีมาก รวมบทกวีเป็นหนังสือประเภทที่ขายยากที่สุด แต่เหมือนมีคนเอาไปอ่านลง TikTok เลยมีคนพากันมาซื้อ ส่วนสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็เฉลี่ยกันไป Salmon Books ก็กระแสดีครับ
ช่วงหลังๆ ผมเห็นย่านเมืองเก่าสงขลากำลังกลับมาคึกคัก มีคาเฟ่ หรือร้านใหม่ๆ มาเปิดเยอะ สิ่งนี้มันช่วยเรื่องธุรกิจหนังสือของคุณไหม
ช่วยได้มากกับลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว กับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสงขลาและเมืองใกล้ๆ ถ้าพูดในเชิงภาพรวมของเมืองมันเป็นช่วงขาขึ้น แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่ากระแสนี้จะพาเมืองไปในทิศทางไหน ตอนนี้เขาวางตัวเป็นการท่องเที่ยวเมืองเก่า แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาคอนเทนต์เมืองเรายังไม่ถูกนำมาใช้มากนัก นอกจากการถ่ายรูปกับตึกหรือสตรีทอาร์ท แล้วส่วนใหญ่เขาก็ลงทุนทำคาเฟ่กันหมด กลายเป็นเมือง café hopping ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่จริงๆ สงขลามีเสน่ห์และคอนเทนต์อีกหลากหลายที่ช่วยดึงดูดครับ
ร้านหนังสือช่วยเรื่องการดึงคอนเทนต์เมืองได้ไหม
ผมว่าได้นะ หอศิลป์ที่เพิ่งเปิดใหม่ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สามารถเอามาเล่าพร้อมวิถีชีวิตของคนในย่านได้ อย่างถ้ามีโอกาสที่ร้านจะจัด Book Talk ชวนนักเขียนและนักอ่านมาคุยเรื่องหนังสือ ส่วนชั้นสองของร้านหนังสือนี้ ผมก็ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ศิลปะและกิจกรรมอื่นๆ ด้วยนะ ตอนเปิดใหม่ๆ ก็ชวนอาจารย์สดใสที่เขาอยู่สงขลาอยู่แล้วมาแสดงนิทรรศการภาพวาด พยายามเปิดพื้นที่ให้ศิลปินเรื่อยๆ ผมคิดว่าพื้นที่แบบนี้ไม่เพียงดึงดูดให้คนมาเที่ยว แต่ยังมีส่วนจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ให้คนรุ่นใหม่ในย่านด้วย
อะไรทำให้เราเชื่อมั่นว่าเมืองแบบนี้ หรือเมืองอื่นๆ ทุกเมืองควรต้องมีร้านหนังสืออิสระอยู่ ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงเราหาอ่านอะไรต่างๆ จากในออนไลน์ หรือซื้อหนังสือออนไลน์ให้มาส่งที่บ้านได้ ง่ายกว่า แถมหลายร้านยังตัดราคาแข่งกับเราอีกด้วย
ส่วนตัวผมชอบเข้าร้านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็จริงที่มีคนบอกว่าเดี๋ยวนี้ซื้อหนังสือจากที่ไหนก็ได้ ถูกกว่าด้วย แต่ก็เหมือนการที่เราคุยกันเรื่องการอ่านบทความจากสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ กับการอ่านเล่มจริง พอมาร้านหนังสือ เราได้หยิบเล่มจริง ได้สัมผัสเนื้อกระดาษ ได้พิจารณางานออกแบบ และได้ทดลองอ่าน ไปจนถึงการได้เจอคนที่อาจสนใจหนังสือแบบเดียวกับเรา นี่ยังไม่นับการได้เจอหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่เราอาจไม่ได้สนใจแต่แรก เหมือนได้เจอเพื่อนใหม่
ผมว่านี่เป็นความอัศจรรย์ของร้านหนังสือ แต่มันอาจเป็นสิ่งล้าสมัยในมุมมองของใครหลายคนแล้ว เมืองบางเมืองไม่ต้องมีร้านหนังสือเลยก็ได้เพราะอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นของผู้คนในเมืองนั้น แต่ผมเชื่อว่ามันต้องมี ร้านหนังสือช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเมืองเราได้
dot.b เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12:00-24:00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10:00-24:00 น. ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา facebook.com/dot.b.bookstore