Thu 08 Apr 2021

FOR YOUNG PEOPLE

‘พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา’ คุณแม่นักแปล คุณยายนักเล่านิทาน ผู้สานสายใยรักสองแผ่นดินด้วยหนังสือภาพสำหรับเด็ก

     วันหนึ่ง แม่บอกว่า

     “มี้จัง ไปซื้อของให้แม่ได้ไหมลูก ไปคนเดียวนะ” 

     นี่คือบทสนทนาสั้นๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวน่ารักในหนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง งานแรกของมี้จัง โดย โยริโกะ ษุษุอิ (Yoriko Tsutsui)  ซึ่งชื่อของเด็กหญิงมี้จังได้กลายเป็นทั้งเพื่อนรักในเรื่องเล่าก่อนนอนของเด็กๆ และเป็นทั้งตัวแทนของความกล้าหาญในการออกไปทำภารกิจใหม่ที่ไม่คุ้นเคย สร้างความประทับใจให้เด็กไทยมายาวนานกว่า 25 ปี

     หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำให้ชาวไทยได้รู้จักกับมี้จัง รวมไปถึงหนังสือเด็กและนิทานภาพจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง ดอกไม้จากใครเอ่ย, อนุบาลช้างเบิ้ม, กุริกับกุระ, ตด, อึ ฯลฯ ก็คือ ‘พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา’ นักเขียน นักแปลภาษาญี่ปุ่น ผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือดีเกือบร้อยเล่ม 

     ฉันเองได้รู้จักกับมี้จังและอาจารย์พรอนงค์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 18 ปี วันนั้นเป็นวันแรกที่ฉันเริ่มเข้าเรียนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เรื่องราวของมี้จังเข้ามาสะกดวัยรุ่นยี่สิบกว่าคนในห้องเรียนนั้นให้กลับไปเป็นเด็กอนุบาลอีกครั้ง ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่มีภาพประกอบช่วยเติมเต็มถ้อยคำได้อย่างลงตัว สำนวนแปลของอาจารย์พรอนงค์ ก็เป็นการแปลด้วยมุมมองของผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกกลัวๆ กล้าๆ ของเด็กน้อยได้เป็นอย่างดี

     ปัจจุบัน หนังสือภาพสำหรับเด็กในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา เราจึงชวนอาจารย์พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา มาย้อนมองถึงบทบาทนักแปลหนังสือภาพสำหรับเด็ก และบทบาทการผลักดันวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

เริ่มต้นจากความเป็นแม่

     ย้อนไปราว 60 ปีก่อน เด็กหญิงพรอนงค์เติบโตในครอบครัวนักอ่านที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หนังสือทุกเล่มในบ้านล้วนผ่านสายตาของเธอมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ วรรณกรรมจีน ชีวประวัติบุคคลสำคัญ ซึ่งดูเป็นปูมหลังที่เดาได้ไม่ยากของนักเขียนคนหนึ่ง 

     แต่ด้วยความสนใจการเมืองไทยท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็น นางสาวพรอนงค์ในเวลาต่อมา จึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่เพื่อนๆ เตรียมอุดมศึกษาห้องเดียวกัน เลือกเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์เกือบยกชั้น 

     หลังจากนั้น นางสาวพรอนงค์ก็สอบชิงทุนไปเรียนปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ญี่ปุ่นอยู่หลายปี และกลับมาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ อาซาฮี ชิมบุน (The Asahi Shimbun) ประจำประเทศไทยได้ราวสองปี ก็ลาออกมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา 

     ว่าแต่เธอมาข้องเกี่ยวกับหนังสือภาพและนิทานเด็กได้ยังไง

ความสนใจเกี่ยวกับการแปลหนังสือของคุณเริ่มขึ้นตอนไหน 

     ตอนที่เรากำลังจะมีลูก องค์ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กในไทยแทบไม่มีเลย พอเราได้อ่านหนังสือคู่มือเลี้ยงเด็กของญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่าดีมาก ก็เลยลองแปลเป็นภาษาไทย เริ่มจาก สารานุกรมการเลี้ยงดูเด็ก โดย นพ. มิชิโอะ มัตสุดะ (Michio Matsuda) ทยอยแปลเป็นตอนๆ ส่งไปให้นิตยสาร หมอชาวบ้าน โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเหมือนคอลัมนิสต์ เพราะเราสนใจอยากทำจริงๆ อยากให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กที่เป็นภาษาไทย 

แล้วทำไมจึงหันมาแปลหนังสือภาพสำหรับเด็กของญี่ปุ่นด้วย

     พอคุณแม่ของสามีส่งหนังสือภาพสำหรับเด็กของญี่ปุ่นมาให้ เราก็เอามาอ่านให้ลูกฟัง ทำให้ได้เห็นความแตกต่างระหว่างหนังสือภาพของไทยกับญี่ปุ่นในตอนนั้น ภาพประกอบในหนังสือภาพสำหรับเด็กของญี่ปุ่นจะวาดอย่างพิถีพิถันมาก ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีในการทำขึ้นมา บางเล่มใช้เวลาทำนานถึงเจ็ดปี ภาพประกอบของเขาเลยจะมีความรู้สึกอยู่ในนั้น เด็กๆ อ่านแล้วสัมผัสได้ หนังสือภาพสำหรับเด็กของญี่ปุ่นหลากหลายมาก ทั้งที่เป็นของคนญี่ปุ่นเองและหนังสือแปลจากต่างประเทศ เนื้อหามีทั้งความรู้ ทั้งเรื่องบันเทิง แนวที่บ้าๆ บอๆ ก็มีเหมือนกัน แต่คนไทยจะไม่ชอบ (หัวเราะ) ยิ่งคนรุ่นเก่าไม่ชอบแน่ๆ แต่เด็กยุคใหม่อาจจะชอบก็ได้ แตกต่างจากหนังสือภาพสำหรับเด็กของไทยในท้องตลาดตอนนั้น ส่วนมากจะเป็นหนังสือสำหรับเด็กโต มีตัวอักษรเยอะๆ ให้ฝึกอ่าน และเน้นสอนมากเกินไป ซึ่งมันค่อนข้างน่าเบื่อ เด็กไม่ชอบนะ เราคิดว่าฝั่งไทยยังไม่ก้าวข้ามเรื่องการสอนเด็ก เพราะอย่างไรคนซื้อคือพ่อแม่ ครู ที่คิดว่าต้องสอนเด็กตลอด จึงคิดว่าถ้ามีโอกาส อยากทำหนังสือภาพสำหรับเด็กแบบนี้ให้เด็กไทยอ่านบ้าง อย่างน้อยเอาของญี่ปุ่นมาแปลก็ยังดี โชคดีที่สำนักพิมพ์อมรินทร์เชิญเราไปเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นในงานที่เชิญบรรณาธิการอาวุโสของญี่ปุ่น อาจารย์ทาคาชิ มัตษุอิ มาเป็นวิทยากรให้ผู้สนใจหนังสือเด็กของไทย จึงได้รับการชักชวนให้ร่วมงานกับกองบรรณาธิการแพรวเพื่อนเด็ก เราจึงอาสาขอแปลหนังสือภาพสำหรับเด็กภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยให้สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ในเครืออมรินทร์ และก็เริ่มต้นแปลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตัวอย่างหนังสือบ้าๆ บอๆ ของญี่ปุ่น
Still Stuck โดย ชินสึเกะ โยชิทาเกะ (Shinsuke Yoshitake)
ว่าด้วยเด็กชายที่ถอดเสื้อไม่ออก เขาพยายามจินตนาการว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ถ้าต้องติดแหง็กแบบนี้ตลอดไป

ช่วงแรกที่หนังสือภาพสำหรับเด็กฉบับแปลไทยวางขาย กลายเป็นที่ฮือฮาไหมคะ

     ตอนแรกคิดว่าขายดีแน่ๆ แต่ร้านหนังสือบอกว่าขายไม่ได้เลย พ่อแม่บอกว่าแพงจัง ตัวอักษรนิดเดียวทำไมแพง ทั้งที่ตั้งราคาก็แทบไม่ได้กำไรเลย เราคิดว่าตอนนั้นพ่อแม่ ครูอนุบาลยังไม่เข้าใจหนังสือประเภทนี้ด้วย กองบรรณาธิการแพรวเพื่อนเด็กจึงเข้าไปจัดกิจกรรมตามโรงเรียน เล่านิทาน อ่านหนังสือภาพให้เด็กฟัง มีคนทำหนังสือสำหรับเด็กอย่างครูชีวัน วิสาสะ, ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ และครูระพีพรรณ พัฒนาเวช ตระเวนไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านด้วยกัน ทำให้ครูและผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้น 

     เราว่าเรื่องของการอ่านต้องใช้เวลา สร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สำนักพิมพ์ช่วยได้เยอะนะ ผลิตหนังสือดีๆ ออกมาเล่มหนึ่ง สร้างคนได้มหาศาล  

สร้างวัฒนธรรมการอ่าน

     ช่วงรอบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมมากขึ้น คำว่ารัฐสวัสดิการดึงดูดความคิดฝันใหม่ๆ ว่าอะไรบ้างที่ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงจะได้รับ หนึ่งในนั้นคือ การเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กที่มีคุณภาพ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้โครงการ ‘Bookstart Thailand’ โครงการส่งเสริมการอ่านที่มีการแจกถุงหนังสือและตุ๊กตาสำหรับเด็กแรกเกิด กลับมาอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในคณะทำงานที่ผลักดันโครงการนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ก็คืออาจารย์พรอนงค์นั่นเอง 

นอกจากงานแปลหนังสือภาพสำหรับเด็กแล้ว อาจารย์ยังอยู่เบื้องหลังโครงการส่งเสริมการอ่านอีกหลายโครงการด้วย

     ปัจจุบันเป็นเลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (ThaiBBY) เป็นหน่วยย่อยของ IBBY (International Board on Books for Young People) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมสันติภาพผ่านหนังสือสำหรับเด็ก เป็นองค์กรเล็กๆ ทำงานในรูปแบบอาสาสมัคร โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจะเน้นส่งเสริมการอ่าน ให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนโครงการ Bookstart Thailand ทางมูลนิธิเริ่มต้นในปี 2546 เราลองแจกถุงหนังสือให้เด็กแรกเกิดในเจ็ดจังหวัดนำร่อง เราทำโครงการนั้นต่อเนื่องมาประมาณสิบปี รู้สึกประทับใจมาก คิดว่าได้ผลดีด้วย 

     นอกจากนี้ก็เป็นคณะทำงานคัดสรรหนังสือ ทำงานร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี โครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย เลือกหนังสือภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาแปลเป็นภาษาไทย พิมพ์ขายในราคาถูกให้เข้าถึงเด็กไทยได้มากขึ้น

มีครั้งไหนบ้างที่ทำให้อาจารย์รู้สึกว่าการส่งเสริมการอ่านที่ลงแรงไป มาถูกทางแล้ว

     ช่วงที่ทำโครงการ Bookstart Thailand เราทำงานกับพ่อแม่ในชุมชนแออัด บางคนทำงานเก็บขยะ พ่อแม่อ่านหนังสือไม่ออก ก็ได้พี่ที่เรียนหนังสือชั้นประถมอ่านให้น้องที่ยังแบเบาะฟัง จากเดิมที่เจอหนังสือแล้วเก็บไปขาย เขาก็เก็บกลับมาให้ลูกอ่าน เป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่เราประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ 

     เราเองก็อ่านหนังสือให้ลูกสาวฟังตั้งแต่เล็ก ทุกวันนี้ก็อ่านหนังสือนิทานให้หลานฟังบ่อยๆ เขาได้เรียนรู้จากหนังสือเยอะมาก ได้เห็นกับตัวเองว่าหนังสือภาพที่ดีช่วยให้เด็กๆ เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย เข้าใจโลกลึกซึ้ง เข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่น มันคือการถ่ายทอดวัฒนธรรม ความรู้สึก ปรัชญาให้เด็ก ความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ขณะที่อ่านหนังสือด้วยกันก็สำคัญมาก มันมีความรักอยู่ในปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นด้วย หนังสือเด็กเป็นสะพานของความรัก และสะพานของความรู้ที่สำคัญมากจริงๆ 

แปลตามใจเด็ก

     เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ระหว่างอ่านหนังสือที่แปลมาจากภาษาอื่น เราอาจไม่เคยรู้จักชื่อนกต่างถิ่นบางตัว ไม่คุ้นชื่อเรียกสิ่งของต่างวัฒธรรม หรือไม่รู้จะออกเสียงชื่อตัวละครจากภาษาต่างประเทศอย่างไร แต่นักแปลทั้งหลายก็ช่วยสร้างสะพานที่เชื่อมให้เราได้ก้าวเดินออกไปรู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่าง การเลือกใช้คำที่พอเหมาะพอดีสำหรับบรรจุความหมายและอารมณ์ไว้ด้วยกัน หนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีตัวหนังสือไม่กี่คำ จึงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการแปลไม่แพ้หนังสือเล่มหนาของผู้ใหญ่

การแปลหนังสือภาพสำหรับเด็กต่างจากการแปลหนังสือทั่วไปอย่างไร

     คำในหนังสือสำหรับเด็กต้องมีจังหวะ เพราะเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง หรือเด็กใช้ฝึกอ่านออกเสียง ภาษาญี่ปุ่นก็มีจังหวะการอ่านของเขา ภาษาไทยก็มีจังหวะของเรา นอกจากจะแปลความหมายแล้ว ต้องนึกถึงจังหวะการอ่านออกเสียงที่คงความเป็นต้นฉบับให้ได้มากที่สุดด้วย

     อย่างเรื่อง อนุบาลช้างเบิ้ม โดย มินามิ นิชิอุจิ (Minami Nishiuchi) เมื่อพูดถึงความใหญ่โตของสิ่งที่ช้างเบิ้มทำฉบับภาษาไทยเลือกเติมคำว่า ‘เบ้อเริ่มเทิ่ม’ เข้าไปเป็นคำสร้อยด้วย เพราะภาษาไทยเราชอบใช้การซ้ำคำ แล้วพอเติมคำนี้เข้าไป เด็กๆ จำได้แม่นเลยนะ

ตัวอย่างการแปลหนังสือภาพสำหรับเด็ก แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า
อนุบาลช้างเบิ้ม (Groompa’s Kindergarten) โดย มินามิ นิชิอุจิ

จากประสบการณ์ที่เคยแปลมาแล้ว ทั้งหนังสือสำหรับผู้ใหญ่และหนังสือสำหรับเด็ก อะไรแปลยากกว่ากัน

    หนังสือสำหรับเด็ก ใช้ภาษาไม่ยาก แต่ยากตรงการเลือกคำมาใช้ให้เหมาะสม พยายามเลือกคำที่ทำให้เด็กเข้าใจง่าย เพราะในหนังสือสำหรับเด็กไม่ได้นิยมใส่เชิงอรรถมาช่วยอธิบาย จะทำยังไงให้เด็กไทยเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปด้วยได้  ส่วนหนังสือบางเล่มอาจจะจงใจใช้คำที่ยากหน่อย แต่สื่อความหมายได้ดีกว่า โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงวัย แม้ว่าเด็กอาจจะไม่เข้าใจบางคำตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน แต่ว่ามีภาพประกอบที่ช่วยให้เขาเข้าใจบริบทได้มากขึ้น

แม้จะขึ้นชื่อว่าหนังสือสำหรับเด็ก แต่คนจ่ายเงินเป็นผู้ใหญ่ เวลาที่แปล คิดถึงเด็กหรือผู้ใหญ่มากกว่ากัน

     คิดถึงเด็กอย่างเดียวเลย (ตอบทันที) อย่างตอนแปลเรื่อง ตด โดย ชินตะ โช (Shinta Cho) ผู้ใหญ่บางคนบอกว่ารับไม่ได้ ต้องใช้คำว่า ผายลม แต่เราก็ยืนยันกับกองบรรณาธิการว่า ถ้าใช้ผายลมเด็กไม่รู้เรื่องแน่ๆ ช่วงแรกมีอาจารย์ภาษาไทยออกมาตำหนิอยู่บ้าง แต่พอวางขายจริงก็ได้เสียงตอบรับที่ดี เด็กๆ ชอบมาก เรื่อง อึ โดย ทาโร่ โกมิ (Taro Gomi) ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้คำว่า อุจจาระ เด็กไม่เข้าใจหรอก

     แต่จริงๆ การตั้งชื่อเรื่องก็ต้องดูในแง่ของการตลาดด้วย อย่างหนังสือเรื่อง งานแรกของมี้จัง ชื่อญี่ปุ่นแบบแปลไทยตรงตัวคือ ‘การทำงานครั้งแรก’ ‘ไปซื้อของครั้งแรก’ ฟังแล้วไม่ดึงดูด ไม่น่ารักเท่าไหร่ กองบรรณาธิการก็มาช่วยกันคิดว่าจะปรับเป็นอย่างไร จึงออกมาเป็นงานแรกของมี้จังอย่างที่เห็น หรือเรื่อง แมวน้อย 100 หมื่นชาติ โดย โยโกะ ซาโนะ (Yoko Sano) หากแปลจากภาษาญี่ปุ่นตรงตัวจะเป็น ‘แมวที่มีชีวิต 100 ครั้ง’ พอแปลไทยเลยใช้คำว่า ชาติ แทนการเกิดแต่ละครั้ง ส่วนคำว่า ร้อยหมื่น ภาษาไทยต้องเป็นแสน แต่เราคงการนับเลขแบบญี่ปุ่นไว้ เป็นคำที่ให้ความรู้สึกแปลกออกไป และสัมผัสกับคำว่า แมวน้อย ด้วย

หากอยากเป็นนักแปลหนังสือภาพสำหรับเด็ก ต้องฝึกฝนอย่างไร

     นักแปลต้องเป็นคนสองวัฒนธรรม ต้องเข้าใจว่าภาษาญี่ปุ่นในความหมายแบบนี้ ภาษาไทยจะเป็นยังไง วิธีเลือกคำต้องออกมาเป็นธรรมชาติ รวมถึงต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละเล่มด้วย สิ่งที่สำคัญกว่าทักษะภาษาญี่ปุ่น คือ ความเข้าใจในเด็กไทย และวัฒนธรรมไทย เพราะเราแปลเป็นภาษาไทย เราต้องเชี่ยวชาญภาษาไทยมากกว่า สำหรับหนังสือบางเล่มที่มีการแปลไปหลายภาษา ลองอ่านฉบับภาษาอื่นๆ ก็จะได้เห็นว่าเขาเลือกใช้คำยังไง อาจเป็นแนวทางที่ช่วยเราได้

อาจารย์ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก มีคลังคำสะสมไว้หลายทศวรรษ สำหรับนักแปลรุ่นใหม่ที่คลังคำยังน้อยถือเป็นความเสียเปรียบของคนรุ่นใหม่หรือเปล่า

     ภาษามีวิวัฒนาการ คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจบางคำของคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าก็ไม่ค่อยเข้าใจภาษาของคนรุ่นใหม่ แต่ภาษาเป็นเรื่องของมนุษย์ เราต้องยอมรับส่วนนี้ หนังสือสำหรับเด็กยุคใหม่ก็อาจจะต้องใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ปรับไปตามยุคสมัย เพราะภาษาคือการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ คนที่อ่านหนังสือเยอะก็จะมีคลังคำเยอะ เข้าใจบริบทของแต่ละคำได้ลึกซึ้ง คำหนึ่งคำสื่อได้เยอะ เมื่อเข้าใจคำก็เข้าใจคนด้วย เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสื่อใจของมนุษย์ ถ้าเราสื่อไม่ถึงใจคนก็ล้มเหลว