Sat 24 Oct 2020

PANORAMA VIEW

ภาพมุมกว้างในรูปถ่ายและเสียงของ ‘อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร’ หรือ ‘GREASY CAFÉ’

     “พี่เล็กเขยิบซ้ายหน่อยค่ะ”

     “โอเคค่ะ พร้อมนะคะ 1 2 3”

     แชะ 

ภาพที่ 1

     ภาพแรกของใครหลายคน—รวมถึงเรา อาจจะเริ่มรู้จัก ‘พี่เล็ก’ หรือ ‘อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร’ ในภาพศิลปินและนักแต่งเพลงท่วงทำนองและดนตรีบาดลึกถึงหัวใจในนาม ‘Greasy Café’ ของค่ายเพลงห้องเล็กๆ smallroom ผู้เป็นเจ้าของบทเพลง ฝืน สิ่งเหล่านี้ ทิศทาง ความเลือนลาง ภายใต้ท้องฟ้าสีดำ ร่องน้ำตา ระเบิดเวลา และอีกหลายบทเพลงหม่นเศร้า

     แต่ก่อนหน้าที่ ‘ภาพ’ นักดนตรี นักแต่งเพลงใบนี้จะปรากฏต่อสายตาพวกเรา พี่เล็กมีภาพถ่ายเป็นของตัวเองอยู่หลายร้อยใบ เพราะเขาดำรงตำแหน่งช่างภาพมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

     ด้วย ‘ภาพ’ นักดนตรีที่ชัดเจนกว่า ‘ภาพ’ ช่างภาพ ทำให้เราที่ติดตามผลงานเพลงของเขาอยู่เนืองๆ มักจะเห็นเขาตระเวนไปแสดงดนตรีตามร้าน และคอนเสิร์ตมากกว่า จนไปสะดุดเข้ากับงานใหญ่งานหนึ่งที่เขากำลังจัดอยู่

     เปล่า นี่ไม่ใช่งานแสดงดนตรี แต่เป็นงานแสดงภาพถ่ายเจือเสียง ‘PANORAMIC Exhibition of Photos & Sound’ ที่เขาบอกกับเราว่า ในฐานะช่างภาพแล้วนี่ถือเป็นคอนเสิร์ตใหญ่

     หากในคอนเสิร์ตที่ว่าไม่มีไลน์อัพหรือชื่อเพลง แต่เต็มไปด้วยบรรดาภาพถ่ายที่พี่เล็กเคยบันทึกไว้ระหว่างออกเดินทางไปทิเบต เลย์ ลาดักห์ และโอมาน ซึ่งเขานำภาพเหล่านั้นมาปะติดปะต่อเพื่อเชื่อมเรื่องราวแต่ละภาพเข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับบทเพลงที่เปิดคลอ ซึ่งประกอบขึ้นจากเสียงที่อัดระหว่างออกเดินทาง ผสมกับท่วงทำนองจากความรู้สึกของเขา เพื่อให้ผู้ชมได้ซึมซับบรรยากาศและดำดิ่งไปกับภาพถ่าย

     เมื่อนิทรรศการคือปลายทางที่ความชอบทั้งสองของเขามาบรรจบกัน เราเลยอยากชวนคุณไปดูเบื้องหลัง ว่าก่อนชัตเตอร์จะถูกกด ก่อนหลายๆ ภาพจะปรากฏสู่สายตาผู้ชม เขามองเห็นอะไร

ก่อนจะมาเริ่มคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งนี้ ภาพถ่ายเข้ามาในชีวิตพี่เล็กตั้งแต่ตอนไหน

     มันเริ่มจากตอนที่เรายังเด็กๆ พี่สาวเราชอบแต่งตัว เขาก็จะชอบให้เราถ่ายรูปให้ สมัยนั้นยังเป็นกล้องฟิล์มแบบออโต้ไม่ต้องตั้งค่าอะไร จนมาช่วงหลังเรียนจบ เราไปทำงานโปรดักชั่นกับพี่เอก เอี่ยมชื่น เป็นคนหาพร็อพ หาของเอามาถ่ายเอ็มวี ซึ่งมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่พอหาเก้าอี้ตัวหนึ่งได้ แค่กดมือถือถ่ายแล้วก็ส่ง จำได้ว่าตอนนั้นใช้กล้อง Nikon FM2 เราต้องเอากล้องออกไปถ่ายสิ่งของ ล้างฟิล์ม แล้วค่อยเอาไปให้พี่เขาเลือกว่าใช้พร็อพนี้มั้ย ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้สนใจการถ่ายภาพเป็นพิเศษ ก็ถ่ายๆ ไป

     พอช่วงไปเรียนภาษาที่อังกฤษ ใกล้ๆ จะเรียนจบละ เราก็คิดว่าจะทำอะไรต่อดี อาจารย์ที่สอนภาษาก็ถามว่า เออ ยูสนใจถ่ายรูปมั้ย ซึ่งเราที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะมาบ้างแล้วจากที่ไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ ก็มีความคิดว่าจะเรียนศิลปะอยู่เหมือนกัน เลยคิดว่าเรียนถ่ายรูปก็ได้ โดยไม่ได้คิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นสิ่งที่เราชอบ ปรากฏว่าพอเรายิ่งเรียนก็ยิ่งถลำลึก ชอบมาก รักมาก เสาร์-อาทิตย์ก็จะขอกุญแจห้องอัดรูป แล้วเข้าไปอัดรูปอยู่คนเดียว 

     หลังจากเรียนจบ เรื่องถ่ายรูปก็ไม่ได้ไปต่อ เราไปทำงานอยู่ร้านอาหาร ทำครัว เสิร์ฟบ้าง ก็คิดว่าอยู่ๆ ไปก่อนจนวีซ่าหมดแล้วถึงกลับไทย

พอกลับไทยพี่เล็กได้ต่อยอดเรื่องถ่ายภาพมั้ย 

     ตอนกลับมาเราได้เริ่มถ่ายแฟชั่นเลย พอดีเพื่อนของพี่สาวเราเปิดนิตยสารแฟชั่นชื่อ ไฮเปอร์ เขาก็บอกให้เราลองส่งพอร์ตฯ ไป ปรากฏว่าทางทีมชอบ 

      คือเราเข้าใจว่าการถ่ายแฟชั่นมันเท่ มันเจ๋ง เพราะสมัยนั้นคนชอบพูดกันว่า ถ้าจะถ่ายรูปให้เจ๋ง ให้เท่ ให้ถ่ายแฟชั่น ห้ามถ่ายอย่างอื่น เราคิดแบบนั้นอยู่นานเป็นปีๆ เลย จนตอนหลังถึงเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ เดี๋ยวก่อนนะ 

เอ๊ะ…เอ๊ะอะไรเหรอ?

     เรารู้สึกว่ายังมีการถ่ายรูปอื่นๆ ที่ท้าทาย และสนุกกว่าการถ่ายแฟชั่น ซึ่งมันอาจจะมีข้อจำกัดในแง่ลูกค้า มีโจทย์ที่บังคับอยู่ แต่พอได้ลองถ่ายพอร์เทรต ถ่ายสารคดี ที่โจทย์มันเปิดกว้างมากๆ เรารู้สึกว่ามันท้าทาย และมีครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนวิธีคิดในการถ่ายรูปเราไปเลย ตอนนั้นมีงานสารคดีชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างในกรุงเทพฯ ซึ่งเราต้องไปถ่ายภาพเด็กหญิงที่ประสบอุบัติเหตุจากเหตุการณ์เครนไหลลงมาชนระหว่างนั่งรถเมล์ เขาต้องเปิดกะโหลกผ่าตัด ผ่าตั้งแต่กกหูข้างขวาไปถึงซ้าย 

     วันที่ถ่าย เราไปถึงก่อนเวลานัด เลยได้เห็นจังหวะที่พ่อเขากำลังทำแผลให้ลูกพอดี เราเห็นรอยเย็บแผล เห็นสีหน้าความเป็นห่วงของพ่อผ่านแววตาที่ค่อยๆ เช็ดแผลลูกสาว เราแบบ โอ้โห ภาพนั้นสำหรับเรามันสะเทือนใจมาก เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราอยากถ่ายภาพ เป็นโมเมนต์ที่แบบ… (เงียบ) แฟชั่นแปลว่าอะไร ถ้าเราไม่ได้ถ่ายแฟชั่นก็ไม่เป็นอะไรแล้ว เราถ่ายแบบนี้ก็ได้ มันเป็นจุดที่ทำให้รู้ว่า เราชอบถ่ายแนวพอร์เทรต หรือสารคดีมากกว่า

หลังจากวันนั้นก็เลิกถ่ายภาพแฟชั่นเลยหรือเปล่า

      เริ่มเฟดออกมา หันมาถ่ายพอร์เทรตสัมภาษณ์บ้าง ถ่ายสารคดีบ้าง ถ่ายปกเทปเพลงบ้าง แล้วเราก็ได้ไปเป็นช่างภาพนิ่งในกองถ่ายภาพยนตร์ ช่วงนั้นพี่อุ๋ย—นนทรีย์ นิมิบุตร จะเริ่มโปรเจกต์ภาพยนตร์ จัน ดารา เขาก็นัดเราเข้าไปคุย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเข้าไปทักเขาที่กองถ่ายโฆษณาตัวหนึ่งว่าอยากส่งพอร์ตฯ ให้ดู ระหว่างรอเริ่มโปรเจกต์ จัน ดารา พี่อ้อม ดวงกมล (ดวงกมล ลิ่มเจริญ) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ก็มาเสนอว่า ให้เราลองไปถ่ายภาพนิ่งในกองภาพยนตร์เรื่อง A Fighter’s Blues ก่อน ไปลองดูว่ามันจะเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็ได้ถ่ายภาพนิ่งในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อยมา 

พี่เล็กถ่ายเรื่อยมาจนถึงตอนไหน

     ตอนได้เจอพี่รุ่ง—รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ เราได้ไปถ่ายสัมภาษณ์วง Crub วงดนตรีที่พี่รุ่งเป็นมือเบส เลยมีโอกาสคุยเรื่องดนตรีกัน เขาบอกว่ากำลังจะเปิดค่ายเพลงชื่อ smallroom แล้วก็ชวนเราไปทำหนึ่งเพลงในอัลบั้ม smallroom 001: what happens in this smallroom ทำขำๆ เขาว่า 

     ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเขียนเพลงไทยจริงจังเลย เขียนบ้าๆ บอๆ ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่าง แต่พี่รุ่งบอกว่าไม่ยาก คิดว่าเราน่าจะทำได้ ก็เลยลองดู เกิดเป็นเพลงแรกก็คือ หา (Quest?) หลังจากนั้นเราก็ทำเพลงต่อมาเรื่อยๆ ควบคู่กับถ่ายภาพ เวลาไปกองถ่ายก็เอากีตาร์ไปด้วย จนเริ่มรู้สึกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ เราทำสองอย่างให้มันดีพร้อมกันไม่ได้ เราว่าเราไม่เก่งพอ ควรจะโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็คิดว่าลองทำดนตรีแล้วกัน

แล้วพี่เล็กเคยทำเพลงมาก่อนมั้ย

     ตอนเรียนถ่ายภาพอยู่ที่อังกฤษ เราเคยไปออดิชั่นกีตาร์และได้ทำวงดนตรีกับเพื่อนชาวอังกฤษในนาม The Light แต่พอกลับไทย เราไม่ได้ลองทำดนตรีอย่างจริงจังเลย ซึ่งตอนนั้นคิดว่าถ้าครั้งนี้ลองทำแล้วมันไม่เวิร์กก็ค่อยกลับมาถ่ายรูปเหมือนเดิม 

     ตั้งแต่นั้นเราก็เฟดจากการถ่ายภาพ แล้วก็หายไปเลย ทิ้ง ทิ้งแบบไม่ไยดี ถ้าเป็นแฟนคือไม่มีการพูดคุย เดินออกจากบ้าน หายไปดื้อๆ

แล้วกลับมาคุยกับแฟนคนนี้เมื่อไหร่

     โห เชื่อมั้ยว่าต้องง้อแบบสุดๆ เลย คือพอกลับมาถ่ายใหม่ เราถ่ายแย่มาก เหมือนคนถ่ายรูปไม่เป็น มันแย่จริงๆ ใช้เวลาง้อเป็นปีๆ กว่าจะเริ่มดีขึ้น เปลืองฟิล์มมาก จนตอนไปโอมานเมื่อต้นปี 2020 นี่แหละ การถ่ายภาพในทริปนั้นทำให้เรารู้สึกว่า เขากลับมาหาเราแล้ว อยากกอดไว้แน่นๆ ไม่ปล่อยไปไหน

การได้ถ่ายภาพที่โอมานเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ด้วยหรือเปล่า

     จริงๆ เราว่าจุดเริ่มต้นมันน่าจะมาจากตอนเราไป scout โลเคชั่นภาพยนตร์เรื่อง ชัมบาลา ที่ทิเบต พอกลับมาก็คิดว่าอยากจะทำโปรเจกต์สักอันเกี่ยวกับภาพ แต่ก็เฟดๆ ไป คราวนี้พอกลับจากโอมานก็เริ่มอยากทำอะไรสักอย่างอีกครั้ง เรารู้สึกว่าหลายสถานที่ในโอมานทำให้คิดถึงที่อื่นที่เคยไป ทำให้เข้าใจว่า เฮ้ย จริงๆ แล้ว โลกเรามันแค่รูปถ่ายกว้างๆ ใบเดียว แต่คนมาหั่นมาตัดแบ่งว่า อันนี้ของเรา อันนี้ของเธอ ภาพถ่ายของเรามันสามารถนำมาปะติดปะต่อกันได้ เราเลยอยากบอกเล่าการเชื่อมต่อกันของแต่ละสถานที่ผ่านภาพถ่าย 

     อย่างชุดภาพซีรีส์ภูเขาที่เราจัดแสดง เราใช้ภาพถ่ายหลายๆ ส่วนของภูเขามาต่อกัน เพราะตอนนั้นเราไม่ได้บันทึกแค่รูปเดียว แต่ละจุดมีดีเทลที่ต่างกัน เรารู้สึกว่าคนอื่นน่าจะได้เห็นเหมือนที่เราได้เห็น รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกตอนกดชัตเตอร์

ตอนกดชัตเตอร์พี่เล็กรู้สึกอะไร

     เราตั้งใจว่าเวลากลับมาดูภาพภาพนั้น เราจะรู้สึกเหมือนวันที่เราเห็นกับตาจริงๆ หรือเปล่า โทนภาพ ความสว่าง ความมืด มันสามารถสื่อสิ่งที่เรารู้สึกวันนั้นได้มั้ย มันอาจจะไม่ได้บอกอะไรเท่าไหร่กับคนที่ดู แต่มันต้องตอบโจทย์ตัวเราให้ได้ว่า เราเห็นแบบนี้จริงๆ นะ

     ความเหงา ความเวิ้งว้างของแต่ละคน แต่ละสถานที่

     อย่างเราชอบถ่ายรูปคนมาก จังหวะที่ถ่ายรูปลุง ตอนนั้นคนอื่นอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้ เป็นแค่ลุงคนหนึ่ง ไม่มีอะไรแปลก แต่เรารู้สึกถึงความแข็งแรงบนใบหน้า ส่วนแววตาของเขาก็โคตรเวิ้งว้าง เศร้ามาก และมันอยู่บนความเวิ้งว้างของแบ็กกราวนด์ที่เป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา เรารู้สึกว่าภาพนี้มีพลังความเหงาอ้างว้างบางอย่าง 

ส่วนใหญ่เวลาเราไปดูนิทรรศการภาพถ่ายก็มักจะเจอแต่ภาพถ่าย ทำไมพี่เล็กถึงอยากใช้เสียงเพลงประกอบด้วย

     เราว่าตั้งแต่ตอนเด็กแล้วแหละ ตอนที่เราเริ่มหัดฟังเพลงก็มีรุ่นพี่บอกว่า ฟังเพลงมันต้องเห็นภาพให้ได้นะ ถ้าเห็นภาพไม่ได้ มันเป็นแค่การฟังแบบเพลินๆ แต่ถ้าเราคิดภาพตามได้มันจะสนุกกว่า 

     เราเอาวิธีนี้ไปใช้เวลาเขียนเพลง พอเป็นแบบนั้นมันก็ทำให้บางภาพที่เราเห็นได้ยินเสียงไปด้วย สมมติเรากำลังขำกับเพื่อนแล้วมีคนถ่ายช็อตนั้นพอดี ด้วยองค์ประกอบ ท่าทาง มันทำให้เราได้ยินเสียงเวลาดูภาพ เราว่าภาพมันสามารถสื่อสารให้เราได้ยิน

     ขณะที่เราถ่ายภาพ แวดล้อมโดยรอบก็มีเสียงประกอบเสมอ เสียงลม เสียงพระที่สวดอยู่ เราก็เลยอัดเสียงเหล่านั้นไว้ ซึ่งตอนไปโอมาน เราอยากได้เสียงคนท้องถิ่นร้องเพลงพื้นบ้านมากๆ เราก็ตามหาระหว่างทำงานไปด้วย จนสองวันสุดท้ายก่อนกลับ ไกด์พาแฟนเขามาเจอที่โรงแรม เพื่อมาร้องให้ฟัง พอเราได้ฟังเท่านั้นแหละ โห ห้องแม่งสะเทือนมาก เขาร้องปากเปล่า ไม่มีดนตรีอะไรเลย แต่มันดีมากๆ เราเลยเอาเสียงของเขาที่บันทึกมาใส่ดนตรีเพิ่ม แล้วก็เอามาเปิดคลอในนิทรรศการด้วย 

แล้วเพลงมีส่วนช่วยเติมเต็มภาพถ่ายในนิทรรศการยังไงบ้าง

     เราว่าเพลงมันช่วยพูด บรรยายบรรยากาศองค์รวมของบางอย่างได้ อาจจะช่วยเพิ่มจินตนาการหรือสร้างบรรยากาศในการดูรูปเพิ่ม เพลงที่ได้ยินในนิทรรศการก็จะเป็นการผสมผสานเสียงที่เราอัดจากที่ต่างๆ กับดนตรีของเราเพื่อให้มันสมบูรณ์ขึ้น แต่เราไม่ได้แยกว่าเพลงนี้จะต้องเป็นภาพนี้เท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ภายในนิทรรศการของเราจะมีภาพจัดแสดงหลายชุด หนึ่งในนั้นมีรูปพระอยู่ แต่เพลงประกอบที่เราเลือกใช้ในห้องนั้นจะเป็นเสียงพระสวด แม้ระหว่างดูภาพพระจะให้ความรู้สึกชัดเจน แต่กับชุดภาพที่เหลือภายในห้องเดียวกัน เราว่าเพลงนั้นก็สามารถสื่อถึงมวลบรรยากาศของสถานที่ในภาพได้ด้วยเช่นกัน

การสื่อสารด้วยเพลงกับภาพไปพร้อมๆ กัน มันไม่ยากเหรอ

     เราว่ามันไม่ใช่เรื่องความยากหรือง่าย ไม่ใช่เพราะเราเก่งนะ  คือพอเราอัดเสียงมาแล้ว ทำดนตรีมาทั้งหมดแล้ว เราก็ต้องเลือกสร้างเสียงมาประกอบกับเสียงที่อัดมา เลือกเสียงประกอบที่จะแทนองค์รวมของภาพได้ทั้งหมด เราว่ามันเป็นความสนุกมากกว่าจะคิดว่ายากหรือไม่ยาก

ภาพที่ 2

      หลังจากเดินทางในวงการถ่ายภาพมานานนับสิบปี เมื่อได้ลองทำเพลงกับพี่รุ่ง ชีวิตของพี่เล็กก็ลงสู่สนามของการทำดนตรีอย่างจริงจังอีกครั้งหลังจากเคยผ่านวงดนตรี The Light

     จนเกิดเป็นภาพใบที่สอง ภาพที่เราหลายคนคุ้นชิน ในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลงนาม Greasy Café 

     จาก หา ในปี 2542 สู่ วันทรงจำ เพลงล่าสุดในปี 2563 พี่เล็กโลดแล่นในวงการดนตรีมากว่ายี่สิบปี เขาฝากผลงานเพลงไว้ถึง 4 อัลบั้ม รวมถึงอัลบั้ม 5 ที่ใกล้เสร็จ และเตรียมปล่อยให้แฟนๆ ได้จับจองในเร็วๆ นี้

     นอกเหนือไปจากเพลงของตัวเอง เขายังแต่งเพลงให้เพื่อนพ้องในวงการดนตรีด้วยกัน อาทิ Jida Palmy และล่าสุดก็ช่วยดูแลเพลง แสงที่หายไป ของ Aomsin (สุธินันท์ ทางธรรม) และเป็นดีเจประจำคลื่นเด็กแมว Cat Radio ในช่วง จดหมายเด็กแมว ด้วย

     แล้วจากภาพถ่ายสู่เสียงเพลง จะทำให้มุมมองการสื่อสารของเขาต่างไปจากเดิมมั้ยนะ—เราสงสัย เลยถือโอกาสพาทุกคนไปดูภาพที่ 2 ในฐานะคนทำเพลงด้วยกันต่ออีกสักหน่อย

ก่อนหน้าจะเจอพี่รุ่ง เคยทำเพลงมาก่อนมั้ย

     ไม่ได้ทำเลย คือเราชอบดนตรี อาจด้วยแวดล้อมเรามีแต่คนเล่นดนตรี แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดเป็นบ้านนักดนตรี พี่สาวเราเล่นดนตรี พี่ชายเราก็เล่นกีตาร์ พ่อเราก็เป่าฮาร์โมนิกาบ้าง เราเลยรู้สึกว่า เออ มันเป็นสิ่งที่น่าสนุกดี

พี่เล็กบอกเล่าหรือใส่อะไรไว้ในบทเพลง

     หนึ่ง มันคือการบันทึกเหตุการณ์ เหมือนจดไดอารีว่าวันนี้เราเจออะไรมา เพราะเราก็จดว่ามันมีเตียง มีมุ้ง พัดลมบนเพดาน เสียงแมลง แล้วก็ใส่ไปในเพลง อย่างที่บอกว่าเวลาเขียนเพลงเราชอบนึกให้เห็นเป็นภาพ 

     บางคนบอกว่าเราพูดแบบนี้ไม่ได้ เพลงมันพูดแบบนี้ไม่ได้ เขาไม่พูดกันว่ามีพัดลม แต่ความรู้สึกเราคือ เฮ้ย เราเห็นจริงๆ เราอยากให้คนเห็นภาพแบบนั้น

     สอง มันเหมือนเอาเรื่องที่เรารู้สึกแย่ข้างในออกมา เหมือนระเบิดมันออกมาด้วยการจด การเขียนเพลง

     เราพยายามตั้งต้นก่อนว่า เพลงนี้เราอยากพูดอะไร เช่น ถ้าพูดถึงการอกหัก คราวนี้อกหักแบบไหนล่ะ มีวิธีไหนบ้าง หรือเราไปเจออะไรมา หรือในอดีตไปเจอแบบไหนมา

     ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่เราเจอ เรื่องจากคนสนิทรอบข้างที่มาเล่าให้ฟังบ้างนิดหน่อย เราจำได้ว่าเคยมีคนอินบ็อกซ์เข้ามาบอกว่า หนูเลิกกับแฟนนานมากแล้ว ลืมไม่ได้สักที แล้วมันเป็นช่วงที่เราเขียนเพลงพอดี เราก็เลยนึกย้อนไปว่า เราเคยมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือเปล่า แล้วเราทำยังไง ก็กลายเป็นเพลง วันทรงจำ 

แล้วตอนไปแต่งให้วงอื่นๆ สิ่งที่เราเล่ามันต่างออกไปมั้ย

     ทุกคนที่เราแต่งเพลงให้ เราอินกับเพลงของเขาอยู่แล้ว แอบตกใจเหมือนกันที่เขาให้เราแต่ง 

     แม้เราจะพอรู้จักเขามาบ้าง แต่พอต้องแต่งเพลง มันคือการที่เราต้องคุยๆๆๆๆ กันมากกว่านั้น เรียนรู้กันมากกว่าว่า เขาอยากเล่าเรื่องอะไร เราต้องแต่งจากเรื่องที่เขาอยากเล่า ไม่ใช่เอาสิ่งที่เราอยากบอกไปให้เขาเล่าอย่างเดียว แล้วก็ต้องทำให้มันเข้ากับลายเซ็นของแต่ละคน จะทำยังไงให้เขาพูดเรื่องนี้โดยไม่เคอะเขิน และเป็นสิ่งที่เขารู้สึก มันก็ยากแต่ท้าทายดี

กับเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องเหมือนบางช่วงของเพลงในนิทรรศการ มันสามารถสื่อสารหรืออิมแพกต์กับคนฟังได้ยังไง

     เราว่าสิ่งที่ทำให้อินหรือรู้สึกกับเพลงนั้นๆ มันขึ้นอยู่กับเมโลดี้ในเพลง เสียงที่ใช้ โน้ตกี่ตัวที่ใช้ มันขึ้นอยู่กับการเลือกเมโลดี้ไหน ให้คนรู้สึกอะไร คือเราไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้น แต่เรารู้สึกว่าเวลาฟังเพลงคลาสสิก เราก็จะรู้สึกบางอย่างกับเพลงนั้นๆ เพลงนี้มันเศร้า เพลงนี้มันมีความสดใส ความสุข แม้จะไม่มีเนื้อร้องเลย 

     เราว่ามันอยู่ที่คนฟังกำลังรู้สึกอะไรด้วย เราอาจจะอินไปกับเพลงมากกว่า เหมือนกับคนอกหักแล้วฟังเพลงเศร้า ก็เหมือนเขาถูกกลืนเข้าไปในเพลงนั้น ไม่ก็เพลงนั้นกลืนเขาเข้าไปเอง

อยากให้เพลงของตัวเองกลืนคนฟังด้วยมั้ย

     ไม่นะ คือการทำเพลงของเรามันคือการบอกตัวเราเองมากกว่า เราไม่ได้แต่งขึ้นมาเพื่อแบบ น้องๆ คร้าบ พี่เล็กจะมาสอนนะคร้าบ ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่เลย ที่เราพูดขึ้นมาเพื่อจะบอกกับตัวเราเองว่า เฮ้ย ถ้ามึงไม่อยากแย่ มึงก็ต้องเดินมาจากตรงนั้นสิ

     แล้วเพลงส่วนใหญ่ของเรามันโคตรตอกย้ำความรู้สึก แทบจะไม่มีเพลงไหนให้กำลังใจใครเลย แต่พอช่วงหลังๆ มีคนเข้ามาขอบคุณเรา บอกว่าเพลงของเราทำให้ผ่านช่วงเวลาแย่ๆ ไปได้ อันนี้เราตกใจสุดๆ ว่าทำไมเพลงเรามันไปสื่อว่า เอ้ย ไม่เป็นไรนะ คือมันไม่ได้มีอะไรแบบนั้นเลย เราว่าคนที่ฟังน่าจะเคยหรือกำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราพูดในเพลงมากกว่า เขาเลยอาจจะรู้สึกว่ามีคนรับฟังเขา มีคนเข้าใจความรู้สึกเสียใจแบบนั้นจริงๆ 

อะไรคือตัวชี้วัดว่าเพลงของเราสื่อสารได้สมบูรณ์แบบแล้ว

     อย่างเราแต่งเพลงขึ้นมา เราพูดครบหรือยัง เรากลับไปฟังแล้วยังสะเทือนใจอยู่มั้ย ถ้ายังไม่สะเทือน เราก็เขียนใหม่ ทำอยู่แบบนั้น เพราะถ้าเรายังไม่รู้สึก คนอื่นก็ไม่รู้สึกแน่นอน 

     บางเพลงเราฟังแล้วน้ำตาไหล หรือเมื่อเรารู้สึกว่าเมสเซจมันทำงานแล้ว เราก็จะคิดว่า เอ้ย หรือเราคิดไปเอง ก็ไปพักก่อนแล้วกลับมาฟังใหม่ ถ้ายังไหลหรือสะเทือนใจเหมือนเดิม เราว่าเพลงนี้พร้อมสื่อสารแล้ว

ภาพที่ 3

     เมื่อผลักประตูกระจกใสบนพื้นที่ชั้น 2 ของ SeenSpace ทองหล่อ 13 ก้าวเข้าไปในงานคอนเสิร์ตใหญ่ของพี่เล็ก สัมผัสแรกนอกจากความเย็นของแอร์ที่ปะทะร่างกาย คือบรรยากาศต้องมนตร์ที่ปกคลุมไปด้วยเสียงเพลงบรรเลง ทั้งแบบไม่มีเสียงร้อง มีท่วงทำนองดนตรีเชื่องช้าตัดสลับกับจังหวะเร็ว เสียงขับร้องด้วยภาษาไม่คุ้นหู ไปจนเสียงพระสวด 

     อาจเพราะเป็นเวลาทำงาน จึงมีแค่เราคนเดียวอยู่ในที่แห่งนี้ (หากไม่นับพี่คนดูแลงานน่ะนะ) ก็เลยได้เดินชมงานแบบส่วนตัวสุดๆ 

     ภายในพื้นที่งานขนาดย่อมถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และมีภาพถูกแขวนจัดแสดงอยู่โดยรอบ แวบแรกเราเดินตามเสียงพระที่โดดเด่นออกมาจากพื้นที่ด้านใน ซึ่งส่วนนี้มีเสียงพระสลับดนตรีจังหวะไม่ช้ามากเปิดคลออยู่ตลอด เราเดินดูภาพถ่ายแต่ละชุดและตีความภาพแบบเงียบๆ 

     จนมาหยุดที่ชุดภาพภูเขาซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนหน้า ที่มีเสียงร้องเพลงของผู้หญิงซึ่งเราฟังไม่ออก ตัดสลับกับเสียงดนตรีเจือความหม่นๆ อย่างบอกไม่ถูก

      และอาจเพราะความเวิ้งว้าง ว่างเปล่า สุดลูกหูลูกตาของภูเขา

     “เรายืนดูภาพนี้นานมาก ฟังเพลงที่เปิดวนซ้ำไปซ้ำมา เราเหมือนเดินอยู่บนภูเขาลูกนั้น และกำลังคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง”

     คือประโยคที่เราบอกกับพี่เล็กหลังพูดคุยกัน ก่อนจะขอให้เขาเลือกภาพสักภาพและเล่าให้ฟังสักหน่อยเป็นการส่งท้าย 

     และนี่คือ ภาพที่ 3 

     แชะ

     “ในขณะที่ที่เราเดินอยู่บนชาดหาดแห่งหนึ่งที่โอมาน ก็เห็นฝูงนกที่บินอยู่บนท้องฟ้า เลยค่อยๆ เก็บภาพนกเหล่านั้น แล้วเดินต่อไปเรื่อยๆ จนสังเกตเห็นรอยเท้านกมากมายบนหาดทราย จนก่อนจะกลับก็ไปสะดุดกับนกตัวหนึ่งที่นอนตายอยู่บนหาดทราย

     “’อยู่บนฟ้า ตายบนดิน’ มันจึงกลายเป็นวัฏจักรฉบับย่อที่เกิดขึ้นและจบลงตรงนั้นว่า ไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้น” 

     คือคำอธิบายถึงภาพเซตนั้น

     “ดีใจที่มันเกิดขึ้นสักที มันเป็นสิ่งที่เราหลงใหล และย้ำชัดว่านี่เป็นสิ่งที่เราเคยทำเป็นอาชีพจริงๆ ตลอดเวลาหลายสิบปี”

     และนี่คือความรู้สึกของเขาที่คอนเสิร์ตใหญ่ PANORAMIC Exhibition of Photos & Sound เกิดขึ้นจริงๆ 

PANORAMIC Exhibition of Photos & Sound เปิดให้เข้าชมถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม ที่ Seenspace ทองหล่อ 13 ชั้น 2 ตั้งแต่เวลา 12:00-20:00 น. (หยุดวันอังคาร-พฤหัสบดี) และสามารถพรีออร์เดอร์หนังสือภาพและเสียงในโปรเจกต์นี้ได้ทาง https://greasycafe.bentoweb.com