HOW TO FIX A GENERATION'S HEART
บาดแผลและความเหงาของคนรุ่นใหม่ กับการเขียนหนังสือเยียวยาจิตใจในแบบ ‘กาย วินช์’
เรื่อง: พัฒนา ค้าขาย
ภาพ: A. Piriyapokanon
ก่อนจะเจอ กาย วินช์ (Guy Winch) เราเพิ่งตกลงกับ (อดีต) คนรู้ใจว่าจะลดสถานะกันและกันเหลือแค่พี่น้องมาหมาดๆ
ถึงจะจากกันด้วยความเข้าใจ และชีวิตนี้ผ่านการบอกลามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่อย่างไรเสีย การสูญเสียและการถูกปฏิเสธก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะรับมือได้—และรับมือง่าย เรายังหน่อมแหน้มต่อการกลับมาตั้งไข่กับตัวเองใหม่ และยังสงสัยในคุณค่าตัวเองทุกครั้ง
แต่ก็คงไม่มีเวลาไหนเหมาะสมไปมากกว่าตอนนี้อีกแล้ว—หลายคนที่รู้จักเขาอาจคิดอย่างนี้ นั่นเพราะวินช์คือนักจิตวิทยา สปีกเกอร์ และนักเขียนเจ้าของหนังสือพัฒนาตัวเองอย่าง How to Fix a Broken Heart ซ่อมแซมใจแล้วไปต่อ และ Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ
หนังสือเล่มแรกพูดถึงแนวทางเยียวยาจิตใจหลังจากสูญเสีย ส่วนเล่มหลังเขาเปรียบว่าเป็นชุดปฐมพยาบาลทางอารมณ์เบื้องต้น เพื่อป้องกันอาการใจสลายและใจอักเสบลุกลามจากบาดแผลทางอารมณ์ เช่น การถูกปฏิเสธ ความเหงา ความรู้สึกผิด และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่เราเจอในชีวิตประจำวัน
ไม่มีเวลาไหนเหมาะสมไปมากกว่าตอนนี้อีกแล้ว—เราคิดกับตัวเองอย่างนี้เช่นกัน ถึงอย่างนั้น บ่ายวันหนึ่งเราก็ไม่ได้นั่งคุยกับวินช์เหมือนเขาเป็นเทอราปิสต์ส่วนตัวหรอก (แน่อยู่แล้วล่ะ) แต่บทสนทนาของเราวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องความรักในการอ่าน การเขียนหนังสือพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เขาค้นพบระหว่างทาง ไปจนถึงเรื่องการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจของคนต่างเจเนเรชั่น
และโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกเหมือนได้รับการเยียวยาระหว่างสนทนากัน
ในฐานะนักจิตวิทยาที่สื่อสารเรื่องสุขภาพจิตผ่านสื่อต่างๆ เช่น TED Talk รวมถึงหนังสือและพอดแคสต์ คุณคิดว่าหนังสือมีพลังในการสื่อสารที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ ไหม
ผมคิดว่ามีบางอย่างที่ทำให้หนังสือโดดเด่นขึ้นมา ก่อนอื่นเลย ถ้าพูดถึงการรับข้อมูล บางคนอาจรับข้อมูลผ่านการมองเห็นได้ดีกว่า บางคนอาจต้องการการฟัง และบางคนอาจมีสมาธิที่สั้นมาก ดังนั้นคลิป TED Talk จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับพวกเขา หนังสือเองก็เหมาะกับคนบางกลุ่มเช่นกัน
หนังสือสามารถให้ข้อมูลได้แบบเจาะลึก แต่จะพูดโต้งๆ ให้ทำเอ บี ซีไม่ได้ นักเขียนต้องอธิบายได้ว่าทำไม ต้องทำให้ผู้คนเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมเลย คือไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้คนรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร แต่ให้พวกเขารู้ว่าทำไปทำไม การกระทำนั้นส่งผลต่อจิตใจหรือสมองของพวกเขาอย่างไร
รู้ไหม มนุษย์เราเกิดมาพร้อมความซับซ้อนที่ไม่มีคู่มือผู้ใช้ อย่างเช่นบทหนึ่งในหนังสือ Emotional First Aid สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยามักพูดเกี่ยวกับการสูญเสีย คือคุณต้องค้นหาความหมายของการสูญเสียนั้นให้เจอ ดังนั้นหนังสือหลายเล่มจะบอกให้คุณค้นหาความหมาย ซึ่งเยี่ยมมาก แต่นั่นไม่อาจเป็นรากฐานได้หรอก สำหรับผมแล้ว มันสำคัญมากที่จะค่อยๆ บอกผู้อ่าน นี่คือวิธีที่คุณจะค้นหาความหมายของการสูญเสียนะ และนี่คือวิธีที่คุณจะมองเรื่องการสูญเสียต่างกันออกไป
หนังสือมีพลังในแง่ที่คุณสามารถอ่านประโยคหนึ่ง หยุดพัก สะท้อนคิด และกลับมาอ่านมันอีกครั้ง ซึ่งผมคิดว่าผู้คนคงไม่อยากทำอย่างนั้นกับคลิป TED Talk
ความรักในการอ่านและเขียนของคุณเริ่มต้นได้อย่างไร
ผมเกิดและเติบโตที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เคยเรียนเรื่องการเขียนตั้งแต่เกรด 1 ตอนผมอายุ 6 ขวบ ตอนนั้นผมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไม้ที่โหยหาแสงอาทิตย์ เพราะผมอยู่ในลอนดอนที่ไม่ค่อยได้เจอแสงอาทิตย์น่ะ พอผมเขียนเสร็จ ยายก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก และเธอก็ส่งมันไปให้สำนักพิมพ์
อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ แต่ในจดหมายนั้นบอกว่า ‘คุณกายเริ่มต้นอาชีพนักเขียนตอนอายุยังน้อยมาก และเราสนับสนุนให้เขาเขียนต่อไป’
ผมยังเก็บจดหมายจากสำนักพิมพ์จนถึงทุกวันนี้ แม้ผมจะไม่ได้เขียนหนังสือหลายปี แต่การเขียนก็เป็นช่องทางที่ผมได้แสดงออกตั้งแต่อายุ 6 ครบ นั่นล่ะคือจุดเริ่มต้น
ในฐานะคนเขียนหนังสือชื่อ Emotional First Aid คุณมีหนังสือเล่มที่เปรียบเสมือน Emotional First Aid หรือชุดปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นของตัวเองไหม
ทั้งมีและไม่มีครับ
ไม่มีในที่นี้ หมายถึงว่าสิ่งที่เยียวยาผมไม่ใช่หนังสือ เหตุผลที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีหนังสือแบบนี้เลย หรือถ้ามีก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากอ่านเสียทีเดียว ผมเลยตัดสินใจเขียนมันขึ้นมาโดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ผมอ่านวารสารทางวิทยาศาสตร์เยอะมาก มีหลายชิ้นศึกษาเกี่ยวกับการปฏิเสธ แต่วารสารเหล่านั้นแห้งแล้งมาก เพราะเขาเขียนด้วยภาษาของนักวิทยาศาสตร์ แต่ตอนอ่านครั้งแรก ผมรู้ว่าพวกเขาศึกษาอะไรและสิ่งที่พวกเขาค้นพบเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสมองเป็นอย่างไร ผมจึงคิดว่า โอ้ มันมีวิธีที่คุณจะแปลสิ่งเหล่านี้ไปสู่สิ่งที่คนทั่วไปสามารถหยิบไปใช้งานได้จริง การอ่านผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้บันดาลใจให้ผมมีไอเดียในการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ มันทำให้ผมเห็นว่าสามารถนำเสนอด้วยวิธีนี้ได้
ปัจจุบันมีหนังสือพัฒนาตนเอง (self-help) ออกมามากมาย คุณคิดว่าองค์ประกอบของหนังสือพัฒนาตนเองที่ดีคืออะไร
วิธีการเขียนหนังสือพัฒนาตนเองนั้นมีหลากหลาย แต่เป้าหมายส่วนตัวของผมคือการผสมผสานการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมและวิธีที่คนอ่านจะนำไปใช้ได้จริงเข้าด้วยกัน นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำกับ Emotional First Aid ผมอยากเล่าเรื่องที่คนอ่านสนใจ เล่าเรื่องให้เขาฟัง และถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็สามารถหยิบอะไรบางอย่างไปใช้ได้
ใน Emotional First Aid มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้คนจะเจอในชีวิตจริง เช่น การถูกปฏิเสธ ความเหงา การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ คุณมีเกณฑ์ในการคัดเลือกหัวข้อเหล่านี้ไหม
ตอนเขียนโครงร่างหนังสือ ผมมีเกณฑ์อยู่สองข้อ
ข้อแรก ผมลิสต์บาดแผลทางใจที่ผมอยากพูดถึงออกมา
ข้อสอง เพราะผมเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย หากบาดแผลทางใจนั้นยังไม่มีงานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ ผมจะไม่เขียน เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยู่ในหนังสือจึงเป็นหัวข้อที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการทดลองของผมสนับสนุนอยู่
เพราะผมเป็นนักเขียน ขณะเดียวกันก็เป็นนักจิตวิทยาด้วย กระบวนการของผมจึงเป็นแบบนี้: ผมจะเขียนสองรอบเสมอ ในดราฟต์แรก ผมจะเขียนสิ่งที่ต้องการพูด ทิ้งมันไว้เฉยๆ ประมาณ 24-48 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้มันสดใสในความคิด หลังจากนั้น ผมจะนึกถึงคนไข้ของผมที่ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย อ่านงานชิ้นนั้นด้วยมุมมองของพวกเขาเพื่อเช็กว่ามันชัดเจนพอไหม พวกเขาจะเข้าใจมันไหม มันต้องการการอธิบายอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า
สิ่งที่ผมทำเรียกว่าการจับมุมมองใหม่ เพราะมันจะทำให้ผมเข้าใจว่าคนอ่านทั่วไป ซึ่งอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ผมเขียนเลย จะเข้าใจหนังสือเล่มนี้
ระหว่างการเขียน Emotional First Aid คุณค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้คนบ้างไหม
ผมเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อหลายปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ผมอ่านงานวิจัยใหม่ๆ อยู่เสมอ ถึงจะจบการศึกษาแล้วผมก็ยังอ่านงานวิจัยใหม่ๆ และบางครั้งผมก็คิดว่าจะใช้สิ่งที่ศึกษากับคนไข้ของผมได้ ยกตัวอย่างในบทเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธ มีผลการศึกษาที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำอีก ระบุว่าการถูกปฏิเสธจะเจ็บปวดเสมอ ไม่ว่าใครจะปฏิเสธคุณก็ตาม จะเป็นคนที่คุณเกลียดเขาหรือคนที่ไม่สำคัญกับคุณก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมมาก และผมก็พูดถึงบางส่วนในหนังสือ
ผมสามารถพูดได้ว่าคนไข้บางคนของผม เวลาพวกเขาพยายามใช้แอพออกเดต บางครั้งพวกเขาเผลอปัดขวาใส่ใครสักคนทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบคนนั้นด้วยซ้ำ แต่พอรู้ว่าอีกฝ่ายไม่ได้ปัดขวากลับ พวกเขาก็ยังรู้สึกเจ็บปวดอยู่ดี เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธข้อนี้แล้ว พวกเขาจึงรู้สึกว่ามีประโยชน์มาก
ความเจ็บปวดไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าเราชอบคนคนหนึ่งมากแค่ไหน หรือคนคนนั้นสำคัญกับเราแค่ไหน เพราะความเจ็บปวดจะเกิดขึ้นเสมอ ยิ่งในปัจจุบัน ผมพูดได้ว่าคนเราได้กลายเป็นเครื่องจักรรับการปฏิเสธไปแล้ว ทำไมน่ะเหรอ สมมติว่าคุณมีเพื่อน 100 คนบนอินสตาแกรม คุณโพสต์อะไรลงไป มีแค่ 2 คนที่กดถูกใจ คุณจะรู้สึกว่าอีก 98 คนปฏิเสธคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมีแค่ 8 คนเท่านั้นที่เห็น และคนที่ชอบภาพนั้นจริงๆ อาจไม่ว่างพอที่จะกดถูกใจให้ก็ได้ เราถูกปฏิเสธตลอดเวลา
เท่าที่ทำงานเป็นนักจิตวิทยามา สิ่งที่ผู้คนเข้าใจผิดบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตคืออะไร
สิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดเกี่ยวกับสุขภาพจิตคือ คุณจะมีหรือไม่มีปัญหาสุขภาพจิตก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว สุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพกาย คุณสามารถฝึกฝนนิสัยบางอย่างเพื่อให้มีสุขภาพดี เช่น การออกกำลังกาย การกินดี การพักผ่อนเพียงพอ การแต่งกายให้เหมาะกับสภาพอากาศ แต่กับสุขภาพจิตแล้วผู้คนกลับไม่คิดเช่นนั้น พวกเขามักคิดว่าสุขภาพจิตขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนคนนั้นต้องเจอ
แท้จริงแล้ว สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่เราต้องควบคุมมัน เราต้องมีสติกับสิ่งที่สนับสนุนสุขภาพจิต ทำยังไงให้เกิดประโยชน์ และไม่ทำอะไรที่มันทำร้ายสุขภาพจิตของเรา
เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนมักคิดผิดเกี่ยวกับสุขภาพจิตคือคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนในการรักษาหรือยกระดับ พวกเขาจึงใช้ชีวิตด้วยระบบอัตโนมัติ ไม่หยุดเพื่อครุ่นคิดว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร และควรทำอะไร หรือควรได้รับการช่วยเหลือไหม
นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย ผมอยากให้เรากำกับดูแลสุขภาพจิตของเราได้ อยากให้ผู้อ่านได้รับความรู้ และรู้ว่าสุขภาพจิตไม่ใช่สิ่งที่นานๆ ครั้งต้องดูแลทีหนึ่ง เพราะเราถูกปฏิเสธอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จริงๆ แล้วการฝึกซาบซึ้งกับบางสิ่ง (grattitude exercise) หยุดเพื่อเช็กความรู้สึก และการเชื่อมต่อกับผู้คน ก็เหมือนกับการตื่นเช้า ล้างหน้าแปรงฟัน หรือสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตรนั่นแหละ เราสามารถทำได้ทุกวัน
แล้วถ้าหากมองแค่คนเจเนเรชั่นนี้ล่ะ ความท้าทายทางจิตใจที่คนรุ่นนี้ต้องเผชิญคืออะไร
ตอนผมเรียนอยู่ เวลาพูดถึงความเหงามักเป็นการพูดถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย หรือผู้คนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว มันเป็นเรื่องของการแยกตัวทางกายภาพอย่างแท้จริง แต่จากผลการศึกษาผู้คนทั่วโลกในตอนนี้ กลับพบว่ากลุ่มคนที่ประสบกับความเหงาคือกลุ่มคนอายุ 18-30 ปี พวกเขาเหงากว่าคนอายุ 80 ปีมาก และความเหงาเป็นเหมือนโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก
เพราะเหตุใดความเหงาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ก็เพราะมันส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และอายุขัยของเราอย่างมาก
รู้ไหมว่าภาวะความเหงาเรื้อรังเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน เท่ากับว่าเราสูบบุหรี่เกือบ 1 ซองไปตลอดชีวิต ดังนั้น อาจพูดได้ว่าความเหงาทำให้ชีวิตแย่ลง และความเหงาฆ่าคนได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ ความเหงาคืออะไร
ผมเคยเล่าเรื่องนี้ใน TED Talk ว่าตอนเรียนบัณฑิตวิทยาลัย ผมรู้สึกเหงามาก ผมมีฝาแฝด เราอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต กระทั่งวันที่ผมตัดสินใจย้ายจากบ้านเกิดไปเรียนต่อที่นิวยอร์กโดยไม่มีเขา
ตอนนั้นผมรู้สึกทุกข์ทรมานมาก เพราะหนึ่ง—ผมสังเกตความเหงาไม่ออก และสอง—ผมอยู่ท่ามกลางผู้คนตลอดเวลา ดังนั้นผมจึงคิดว่าตัวเองคงไม่เหงาหรอก แต่เมื่อดูผลวิจัยทั้งหลาย มีงานบอกว่าคนที่แต่งงานแล้วจำนวนมากที่รู้สึกเหงา พวกเขานอนอยู่ข้างใครสักคนแล้วรู้สึกว่าไม่ได้เชื่อมโยงกัน คุณก็รู้สึกเหงาได้ ไหนจะเด็กรุ่นนี้ที่โตมากับโซเชียลมีเดียที่เห็นว่าคนที่รู้จักมักมีความสุขตลอดเวลา เพราะสิ่งที่พวกเขาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียไงล่ะ เมื่อคุณรู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยว สิ่งที่ทุกคนทำคือไถฟีด แต่นั่นยิ่งทำให้คุณรู้สึกว่าทุกคนรอบตัวโอเคหมดเลย ยกเว้นตัวคุณเอง
การมีเพื่อนออนไลน์แต่ไม่เคยได้เจอกันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เราเฟซไทม์หากัน แต่ไม่ได้เผชิญหน้ากันจริงๆ มันแตกต่างจากการที่เราเจอเพื่อนแล้วได้สัมผัส โอบแขน แตะเข่า หรืออย่างน้อยก็โทรศัพท์ฟังเสียงกัน
ตอนนี้ในอเมริกา เด็กๆ แทบไม่คุยโทรศัพท์กันด้วยซ้ำ เราใช้โทรศัพท์กันทุกวันแต่ไม่ได้ใช้เพื่อโทรหากันเลย ดังนั้น คุณจะสูญเสียน้ำเสียง สูญเสียความอบอุ่น ผมคิดว่าคนรุ่นนี้สูญเสียสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับมนุษย์ไปเยอะ และนั่นทำให้ความเหงาเป็นเรื่องยากลำบากที่เราต้องเผชิญ ยิ่งพอเรามีโรคระบาดใหญ่ก็ยิ่งทำให้เลวร้ายเข้าไปอีก เพราะไม่ใช่แค่แยกคนออกจากกัน แต่มันทำให้การไม่เจอกันกลายเป็นเรื่องปกติ จินตนาการดูสิว่าถ้าคุณเป็นเด็ก 10 ขวบแล้วไม่ได้เจอเพื่อนตั้ง 3-4 ปี คุณจะรู้สึกยังไง
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นนี้จึงทุกข์ทรมานจากความเหงา
คุณคิดว่าผู้คนที่อยู่ต่างเจนฯ กันต้องการการปฐมพยาบาลทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไหม เพราะอะไร
หนังสือเล่มนี้มีการแปลไปเกือบสามสิบภาษา ผมคิดว่าประสบการณ์ทางอารมณ์นั้นเหมือนกันในทุกวัฒนธรรมและทุกวัย การถูกปฏิเสธหรือการสูญเสียจะทำให้เจ็บปวดเสมอไม่ว่าคุณอายุเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าคนต่างรุ่นก็มีความท้าทายทางอารมณ์แตกต่างกัน
กับคนรุ่นนี้ ความเหงาและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา ขณะผมซึ่งเป็นคนที่เติบโตมากับสงครามนิวเคลียร์และสงครามเย็น อาจเคยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นเรื่องไกลตัว แต่กับคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่โตมาพร้อมอากาศที่เปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจสงสัยว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหนในอีก 30 ปีข้างหน้า สภาพภูมิอากาศจะรุนแรงกว่านี้แค่ไหน และเมืองอะไรจะจมน้ำไปบ้าง มันมีความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงทางใจเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก คล้ายเรากำลังนั่งอยู่บนก้อนเมฆ ความท้าทายสำหรับพวกเขาจึงเป็นการวางแผนสำหรับอนาคต
ในเมื่อคนต่างรุ่นมีปัญหาเรื่องจิตใจที่แตกต่างกัน คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าหนังสือของคุณจะช่วยเหลือผู้คนได้ทุกกลุ่ม
หนังสือของผมเป็นเหมือนข้อเสนอที่เขียนขึ้นในปี 2011 ซึ่งตอนนั้นเรื่องสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นข่าวมากนัก ไม่แน่ว่าหากเขียนวันนี้อาจมีบทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความวิตกกังวลก็ได้
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือผมออกแบบให้คุณไม่จำเป็นต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบเสมอไป คุณเลือกอ่านบทที่ต้องการได้เลย อย่างที่ผมเล่าให้คุณฟังเรื่องกระบวนการเขียน ผมพยายามมองต้นฉบับผ่านสายตาของคนอื่นในหลายช่วงวัยและวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะฉะนั้น คนไทย คนญี่ปุ่น คนจีน เช่นเดียวกับคนออสเตรเลียและคนไนจีเรียก็สามารถอ่านมันได้ การทำให้น้ำเสียงของหนังสือเล่มนี้เป็นสากล ไม่เพียงแต่ชาวอเมริกันอ่านได้ นี่คือสิ่งสำคัญสำหรับผม
คุณคิดว่าการปฐมพยาบาลทางอารมณ์แบบไหนที่คนรุ่นใหม่ต้องการมากที่สุด
ผมคิดว่าความเหงาเป็นบทที่สำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับบทเกี่ยวกับการถูกปฏิเสธ โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่เล่นแอพหาคู่
สมัยผม การจะเดตกับใครสักคน แปลว่าต้องไปบาร์และหาคนที่ถูกใจเพียงหนึ่งคน ไม่เพียงแต่หาวิธีเข้าหาเขา แต่ต้องรอดู ให้เขาสบตาคุณ และรอเขาเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน คุณสามารถปัดขวา เริ่มส่งข้อความหากัน แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเขาก็หายไปอย่างง่ายดาย คุณอาจคิดกับตัวเองว่า โอ้ ฉันทำอะไรผิดล่ะ ซึ่งจริงๆ คุณไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เขาแค่อาจกลับไปหาแฟนเก่า อาจย้ายที่อยู่ หรืออาจงานเยอะมากๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่คุณคิดคือ ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาอาจส่งข้อความหาคนอื่นพร้อมกันอีก 20 คน และฉันคงไม่ดีพอ
ดังนั้น ผมมองว่าข้อผิดพลาดในเรื่องนี้คือการทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องของเรา มีหลายคนมาคุยกับผมว่าเขาหัวเสียมากที่โพสต์รูปลงไอจีแล้วเพื่อนไม่กดไลก์ ซึ่งจริงๆ แล้วอัลกอริทึมอาจไม่แสดงโพสต์ของคุณให้เพื่อนเห็นก็ได้ เพราะฉะนั้น การคิดว่า ‘ฉันไม่ดีพอ’ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย
ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ เราไม่มีคู่มือการใช้งานเกี่ยวกับวิธีใช้แอพอย่างเฮลตี้ ซึ่งเฮลตี้ของผมคืออย่าปล่อยให้มันควบคุมเรา คุณต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ในแต่ละวันนานเท่าไหร่ เช็กอินวันละ 1-2 ครั้งไหม หรือไม่พยายามส่งข้อความหาคนอื่นพร้อมกัน 20 คน แต่โฟกัสกับแค่ 1-2 คนแล้วพยายามต่อไปจนกว่าจะไม่ได้ผลหรือเปล่า
ผมคิดว่าแอพเหล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อว่าความรักแบบปัจจุบันทันด่วนเหมาะกับพวกเขา แต่จริงๆ แล้วรักแบบปัจจุบันทันด่วนคือเรื่องผิดพลาด เพราะคุณไม่สามารถรู้จักคนหนึ่งคนได้ในเวลาเพียงชั่วครู่ มันต้องใช้เวลาเป็นเดือน บางครั้งอาจเป็นปี ผ่านหลายฤดูกาล ผ่านการเที่ยวในวันหยุดด้วยกันหลายๆ ครั้งจึงจะรู้จักเขาจริงๆ
ใครจะรู้ล่ะ บางคนอาจเป็นคู่เดตที่ย่ำแย่ตอนเที่ยวด้วยกันก็ได้ เพราะฉะนั้นเหยียบเบรกไว้สักหน่อยก็ดี
ก้าวต่อไปของคุณในฐานะนักจิตวิทยาและนักเขียนคืออะไร
ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่ อย่างที่เห็นว่าเล่มก่อนหน้าเป็นชุดเครื่องมือสำหรับแก้ไขอาการใจสลาย และวิธีรับมืออารมณ์ในชีวิตประจำวัน แต่หนังสือเล่มใหม่นี้จะเป็นชุดเครื่องมือจัดการอารมณ์ของคุณในที่ทำงาน เพราะสถานที่ทำงานมีผลกระทบต่อเราอย่างมากโดยไม่รู้ตัว
ผมคิดว่าจิตใต้สำนักของเราบางคนคิดว่างานคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต และเราใช้เวลาเกือบทั้งวันกับมัน ดังนั้น เครื่องมือของผมจึงอยากทำให้เห็นว่าอิทธิพลจากการทำงานส่งผลต่อตัวเราอย่างไร และเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขมัน
Quick Quiz with Guy Winch
หนังสือพัฒนาตัวเองเล่มโปรด
Atomic Habits ของ เจมส์ เคลียร์ (James Clear) เป็นหนังสือพัฒนาตนเองที่ใช้งานได้จริงและง่ายที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น มันเกี่ยวกับการเปลี่ยนนิสัยใหญ่ๆ ที่จะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเรา
นิยายเล่มที่อ่านซ้ำบ่อยๆ
ผมอ่าน Dune โดย แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) ตั้งแต่เด็กๆ และกลับมาอ่านอีกครั้งตอนหนังเวอร์ชั่นล่าสุดออกฉาย ถ้าคุณชอบนิยายวิทยาศาสตร์และการสร้างโลก Dune คือนิยายที่ซับซ้อนและน่าทึ่ง
กิจกรรมที่ทำให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
ผมชอบวิ่ง มันเป็นการฝึกสมาธิอย่างดี หลายคนชอบวิ่งด้วยเสียงเพลง แต่ผมจะชอบวิ่งเงียบๆ เพราะอยากวิ่งไปพร้อมความคิดตัวเอง ผมวิ่งแล้วจิตใจจะผ่องใส
การนั่งสมาธิก็เป็นอีกสิ่งที่ดี ผมใช้เทคนิคในการหายใจเพื่อควบคุมระบบอารมณ์และผ่อนคลายความเครียด เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมพบว่าตัวเองกำลังครุ่นคิดหนัก ผมจะหยุดหายใจสัก 5 นาทีเพื่อสงบสติอารมณ์