Sun 12 Mar 2023

I… AM… YOUR SUBTITLER…

คุยกับ ‘JEDIYUTH’ จอมยุทธที่มีอาวุธยาว 33 ตัวอักษร

เรื่อง: A. Piriyapokanon

     จอภาพยนตร์ตัดเข้าสีดำ คนทยอยลุกจากที่นั่ง โรงหนังเปิดไฟทางเดิน 

     เป็นตอนนั้นเองที่พื้นที่ไม่กี่เซนติเมตรจากขอบล่างสุดของเฟรมภาพแนะนำให้เราได้รู้จักกับชื่อ ‘เจไดยุทธ’ เป็นครั้งแรก

     เดาได้ไม่ยาก เขาคือผู้แปลบทภาพยนตร์จากภาษาอังกฤษมาสู่ภาษาไทย และหากใครใกล้ชิดกับวงการหนังขึ้นมาอีกสักหน่อย อีกสถานที่ที่จะพบชื่อนี้ได้คือในเว็บไซต์พันทิป ไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ และบล็อกส่วนตัวของเขาในฐานะคนแปลข่าวสารอัพเดตวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ

     หลังจากอ่านกระทู้ของเขามาก็เยอะ อ่านบทบรรยายของเขามาก็มาก เราที่เป็นนักดูหนัง นักอ่านซับไตเติล และนักสัมภาษณ์จึงนึกอยากนั่งคุยกับเขาดูสักครั้ง ทั้งเรื่องเส้นทางชีวิต อาชีพสุด niche และมุมมองต่อภาพยนตร์ที่เขารัก คิดได้ดังนั้น เราจึงใช้ฤดูเทศกาลงานประกาศรางวัลออสการ์เป็นข้ออ้างในการทักไปนัดหมาย

     สิ่งที่ผู้ชมกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ คือบทภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวิตจริง

     บรรยายภาษาไทยโดย ‘ยุทธ—ยุทธนา งามเลิศ’

I
หนังกางแปลง

     ยุทธเกิดปี 2515 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีบ้านอยู่ใกล้กับวัด และมีโรงหนังอยู่หนึ่งโรงถ้วนในอำเภอที่เขาเติบโตมา

     “สมัยนั้นค่าตั๋วประมาณยี่สิบห้าบาท แพงมากสำหรับเด็ก เราเลยต้องไปอาศัยดูหนังที่งานวัด หนังขายยา งานเทศกาลประจำตำบล หรืองานบวชนาค เขาจะฉายหนังกางแปลงกัน เราก็จะเดินไปดู”

     ยุทธถูกดึงเข้าสู่เส้นทางแห่งพลังครั้งแรกๆ ด้วยหนังกางแปลงอย่าง Flash Gordon และ Cinderella ส่วนหนังที่เขารู้สึกถูกจริตมากที่สุดคือหนังกังฟูยุคเก่า Drunken Master หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อ ไอ้หนุ่มหมัดเมา รวมถึงผลงานอื่นๆ ของ เฉิน หลง ช่วงเข้าวงการใหม่ๆ

     “เราไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นคนชอบดูหนัง คิดว่าด้วยความเป็นเด็กก็คงแค่ดูไปเรื่อย อีกอย่างคือพอบ้านอยู่ใกล้วัด เราก็สามารถไปดูหนังดึกๆ จบตีสองก็ยังกลับบ้านได้ ไม่ลำบาก

     “บางวันเราก็จะไปอยู่หลังเครื่องฉาย ไปดูว่าเขาทำงานกันยังไง ระหว่างฉายจะมีฟิล์มที่เขาตัดออกมา เราก็ม้วนเก็บกลับบ้าน เอาไฟฉายส่องดูกับผ้าขาว ทำไปเล่นๆ เราไม่รู้จริงๆ ว่าเราชอบ”

     เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ยุทธตอนนั้นถือว่าเป็นเด็กที่ถนัดวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกันในจังหวัด เขาซื้อหนังสือชื่อ English Today มาอ่านเตรียมสอบ และในเล่มนั้นเองที่เขาได้พบกับแบบฝึกหัดอ่านเป็นบทภาพยนตร์ตลกเรื่อง See No Evil, Hear No Evil ซึ่งเขาเคยดูมาก่อนแล้วแบบพากย์เสียงภาษาไทย

     “จู่ๆ ก็เหมือนตรัสรู้ขึ้นมา ใจเต้นเร็วเหมือนคนพบรัก เหมือนเราค้นพบอะไรสักอย่างที่แบบยูเรก้า! นี่แหละคือสิ่งที่ฉันสนใจ ฉันรักมัน

     “แล้วภาพก็ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเด็ก เราไปดูหนัง เราเล่นกับแผ่นฟิล์ม เราซื้อหนังสือเกี่ยวกับวอลต์ ดิสนีย์ ที่สอนทำการ์ตูน แล้วเราก็มาวาดรูปการ์ตูนที่มุมหนังสือแล้วคลี่ให้มันขยับได้ เราเพิ่งรู้ตอนที่ได้อ่านบทภาพยนตร์บทนั้นว่าที่จริงหนังอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก การที่เราไปดูหนังมีอะไรมากกว่าแค่ความบันเทิงมาตลอด นี่แหละสิ่งที่ฉันอยากทำ อยากสร้าง อยากเขียนอะไรแบบนี้ขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเรารักภาพยนตร์”

     เป้าหมายสูงสุดของการเข้ามหาวิทยาลัยตอนนั้นจึงเป็นคณะเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนอย่างไม่ต้องสงสัย ยุทธตั้งใจอยากเข้าคณะวารสารศาสตร์ แต่มีอุปสรรคอยู่หนึ่งอย่างคือเขาคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ

     “เพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัด ดูจากการเตรียมตัวสอบที่ผ่านมาก็รู้ว่าคงสอบไม่ติดแน่ หรือต่อให้สอบติด ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีญาติให้เราไปอยู่ด้วย

     “โชคดีว่าตอนนั้นมีสอบโควตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราเลยเลือกคณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชนเป็นอันดับหนึ่ง เลือกเอกภาษาอังกฤษเป็นอันดับสอง แล้วก็เอกบรรณารักษ์เป็นอันดับสาม ผลปรากฏว่าติดอันดับสอง แต่พอเข้าไปเรียนแล้วก็เลือกวิชาโทเป็นสื่อสารมวลชนนะ ไปทำละครกับเขาบ้าง ไปเรียนเขียนบทกับเขาบ้าง ซึ่งตอนนั้นสื่อสารมวลชนยังไม่มีสาขาภาพยนตร์ จะมีอย่างมากก็สาขาโทรทัศน์”

     ในขณะที่ฝั่งวิชาเอกอย่างภาษาอังกฤษ ยุทธก็เรียนวรรณคดีเป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะมันเชื่อมโยงกับภาพยนตร์” 

     เขายกตัวอย่างเป็นการเรียนวรรณกรรมเรื่อง Macbeth ที่นอกจากอาจารย์จะให้อ่านบทละคร ก็จะมอบหมายให้นักศึกษาไปดูภาพยนตร์ Throne of Blood ของ อากิระ คุโรซาวา (Akira Kurosawa) รวมถึงดูละครเวทีและละครทีวี เพื่อเรียนรู้เรื่องการแปลงสื่อ

     “แม้กระทั่งตอนเรียนเกี่ยวกับเทพนิยาย เช่น The Little Mermaid เขาก็จะให้เราไปอ่านนิยายเวอร์ชั่นของจีน ของไทยก็ให้ไปดูละคร ปลาบู่ทอง ซึ่งเนื้อเรื่องเทียบกันได้ ทำให้นอกจากการอ่านหนังสือแล้วเรายังได้ดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับภาพยนตร์ที่สุดเท่าที่เราพอจะทำได้ ณ ตอนนั้น”

     นอกจากการอ่านเขียนเรียนรู้ในห้องแล้ว ยุทธเล่าว่าในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะนิยมจัดงานฉายหนังหาทุนเพื่อนำกำไรไปจัดงานรับน้อง ด้วยค่าตั๋วราคาตั้งแต่ 15 ถึง 30 บาท ซึ่งจะจัดกันที่โรงภาพยนตร์แสงตะวันและโรงภาพยนตร์ฟ้าธานี ที่ตอนนี้เลิกกิจการกันไปแล้วทั้งคู่

     “เราเลยได้ดูหนังแทบทุกเย็น เป็นช่วงที่ได้เปิดกว้างโลกการดูหนังของตัวเอง จากตอนเด็กที่ได้ดูแต่หนังเกรดบี หนังสัตว์ประหลาด ถ้าหนังไทยก็จะดูหนังคุณกำธร ทัพคัลไลย โตมากับหนังแบบนั้น แต่พอมาช่วงมหาวิทยาลัย เรื่องที่เพื่อนเอามาฉายบางทีเราก็ไม่เคยได้ดู อย่างพวก Flashdance, Fame หรือ The Godfather 

     “แล้วตอนนั้นก็ได้ดู Dead Poets Society ซึ่งชอบมาก ดูแล้วน้ำตาไหล เป็นเรื่องที่ทำให้รู้เลยว่าอยากทำงานซับไตเติล เพราะภาษาแปลสวยงามมาก อ่านแล้วน้ำตาไหลไปกับเรื่องราว จำได้ว่าคนแปลคือหม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย เราก็รู้เลยว่านี่แหละคือสิ่งที่เราอยากทำ”

     กล่าวโดยสรุป หาก See No Evil, Hear No Evil ทำให้ยุทธรู้ตัวว่ารักหนัง Dead Poets Society ก็ทำให้เขารู้ว่าอยากทำงานซับไตเติล

     คิดได้ดังนั้น พาดาวันยุทธจึงลุกขึ้นมาถักเปียเริ่มขั้นตอนการฝึกหัด ศึกษางานแปลบทภาพยนตร์ โดยมีอาจารย์เจไดเป็นผลงานแปลของ หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย และจิระนันท์ พิตรปรีชา โดยอาศัยบทภาษาอังกฤษจากหนังสือ English Today เจ้าเดิม เปิดบทดูไปพร้อมกับวิดีโอซับไตเติลภาษาไทยว่าทั้งสองแปลอย่างไร แต่เขาก็ยังไม่ได้ลงมือแปลอะไรของตัวเองจริงจัง

     จนกระทั่ง…

II
หนังเคเบิล

     “จนกระทั่งจบมา เราก็ไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง แต่ไปเป็นผู้ประสานงานโครงการในบริษัทญี่ปุ่น ทำงานเกี่ยวกับท่อวางสายสื่อสาร ดูแลการวางสายโทรศัพท์”

     …

     แปลกๆ ละ

     “(หัวเราะ) คือช่วงก่อนเรียนจบ เราไปฝึกงานที่กันตนา แต่พอไปสมัครจริงเขาก็ไม่มีตำแหน่งให้ อาจเพราะเราไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชนมาตรงสายด้วย หลังจากนั้นก็ไปสมัครงานตามสำนักงานหนังสือพิมพ์บ้าง แต่เขาก็ไม่เรียก สุดท้ายเลยต้องไปเป็นผู้ประสานงานโครงการอย่างที่บอก”

     จากอาชีพการแปลบทภาพยนตร์ที่เคยใฝ่ฝัน ยุทธกลายเป็นคนคอยแปลสารระหว่างนายจ้างชาวญี่ปุ่นกับคนไทย รวมถึงดูแลเรื่องการขออนุญาตต่างๆ คุยกับการไฟฟ้า กรมโยธาฯ ลากยาวไปเป็นคนรับหน้ากับชาวบ้านในชุมชนเมื่อหน้างานมีปัญหา แต่เมื่อภาระงานประจำต้องเผชิญกับความกดดันหนักเข้า ยุทธจึงพยายามมองหางานอื่นอยู่ตลอด 

     ขอบคุณโชคชะตาที่ช่วงนั้นบริษัท UTV เปิดตัวขึ้นเพื่อแข่งขันกับช่องทีวีเคเบิล IBC ที่ให้บริการอยู่ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าช่องเคเบิลเปิดใหม่แบบนี้ ย่อมต้องการคนทำซับไตเติลใหม่ด้วยเช่นกัน

     “ตอนแรกเราทำเป็นฟรีแลนซ์ รับเป็นงานนอกนั่นแหละ กลางวันทำงานบริษัทสายโทรศัพท์ กลางคืนแปลซับไตเติล เมื่อก่อนทาง UTV จะมีช่อง TNT ที่ฉายหนังขาวดำ หนังคลาสสิก เราก็จะแปลอยู่ช่องนั้น ทำไปสักพักเขาก็อยากให้เราออกจากบริษัทมาทำซับไตเติลเต็มเวลา เพราะจำนวนหนังเยอะมาก

     “ช่วงเริ่มทำใหม่ๆ บริษัทมีคนมาสอนงานให้เรา หนึ่งในนั้นคือคุณอมรัตน์ มนตริวัต นักแปลที่ทำมาตั้งแต่ช่อง 4 บางขุนพรหม เราเลยได้ฝึกการแปลและการทำซับไตเติลมาจากช่องนี้ ได้ฟีดแบ็กจากฝั่งคนดูที่ส่งจดหมายมา หลังจากนั้นก็ learning by doing มาเรื่อยๆ”

     และแล้วยุคการเปลี่ยนผ่านก็พัดมาถึง เมื่อ UTV และ IBC ที่เคยเป็นคู่แข่งหันมาควบรวมกันเป็นเจ้าใหญ่ภายใต้ชื่อ UBC คราวนี้ยุทธจึงได้ขยับขยายช่องที่ดูแล เริ่มมาแปลให้กับช่อง HBO และ Cinemax 

     “งานที่รู้สึกว่าอัพเลเวลแบบจริงจังเลยคือเรื่อง The Nightmare Before Christmas ซึ่งเป็นหนังเพลง ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จะแปลเพลงออกมายังไง เลยไปดูวิธีการแปลเพลงดิสนีย์ของคุณจ้อน ธานี พูนสุวรรณ ซึ่งเราประทับใจมาก การแปลเพลงของเขานั้นตรง สวย แล้วร้องตามทำนองได้จริง โดยเฉพาะเรื่อง The Prince of Egypt เลยศึกษาแล้วลองเอามาแปล ซึ่งก็รู้สึกว่าทำได้โอเค เลยเป็นเรื่องที่ประทับใจ ปลดล็อกความสามารถตัวเองขึ้นไปอีกขั้น”

     หลังจากนั้นไม่นาน UBC ก็เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอีกครั้ง กลายเป็นผู้ให้บริการใหม่ในชื่อ TrueVisions โดยยังมียุทธรับหน้าที่เป็นผู้แปลบทบรรยายเช่นเดิม ประกอบกับอายุงานและประสบการณ์ที่มากขึ้น ในช่วงนั้นเขาจึงเริ่มมีโอกาสได้แปลบทบรรยายให้กับหนังใหม่ที่จะเข้าโรงอีกหนึ่งทาง 

     เมื่องานที่เข้ามาเริ่มมั่นคง ยุทธจึงตัดสินใจออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว และหันมาแปลหนังโรงอย่างจริงจังในปี 2008 ด้วยการแปล Step Up 2 เป็นเรื่องแรก ควบคู่ไปกับการรับงานจากทั้ง TrueVisions และรับแปลเวอร์ชั่นดีวีดี

     พร้อมๆ กันนั้นเอง เขาก็เริ่มมีชื่อเสียงในโลกอินเทอร์เน็ตด้วยฐานะ ‘เจได’

III
หนังไซไฟ

     ย้อนกลับไปในปี 1999 ที่ Star Wars: Episode I – The Phantom Menace และ The Matrix ออกฉาย เป็นปีเดียวกับที่ยุทธสมัครเข้าสู่เว็บไซต์พันทิป

     “ตอนนั้นคิดอยู่ว่าจะใช้ชื่อบัญชี NEOYUTH หรือ JEDIYUTH คิดไปคิดมา เอา JEDIYUTH ดีกว่า ฟังแล้วเข้าหู แต่จริงๆ เราไม่ได้ชอบ Star Wars นะ”

     ห๊า!

     “คือเราชอบภาค Phantom Menace ที่กำลังฉายตอนนั้น แต่เราไม่ได้เป็นสาวก ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ดู เหมือนคนสมัยนี้ดูหนังมาร์เวล ถ้าให้พูดจริงๆ เราชอบแฟรนไชส์ Star Trek มากกว่า”

     เหตุผลคือ Star Trek เป็นเรื่องที่เขาได้แปลตั้งแต่ช่วงที่ทำงานให้กับช่อง UTV เริ่มจากซีรีส์ Star Trek: The Next Generation และเมื่อทางช่องมีการเอาภาพยนตร์ยุคแรกอย่าง Star Trek: The Motion Picture, Star Trek II: The Wrath of Khan และ Star Trek IV: The Voyage Home มาฉายใหม่ ยุทธก็รับจบ เป็นผู้แปลภาษาจักรวาลสตาร์ เทร็กไปโดยปริยาย

     ภาพยนตร์แนวไซไฟอวกาศจึงกลายเป็นสิ่งที่ยุทธชื่นชอบทั้งในฐานะผู้ชมและผู้แปล เพราะนอกจากจะเล่าด้วยเนื้อเรื่องแบบผจญภัย ก็ยังมีการแฝงปรัชญาและมุมมองชีวิต แถมเป็นงานที่เขาแปลแล้วรู้สึกสนุกมากกว่าหนังแนวอื่น

     “เราชอบการได้ประดิษฐ์ศัพท์ใหม่ๆ ทีแรกไม่รู้ว่าจะแปลออกมายังไงด้วยนะ แต่บังเอิญว่าตอนนั้นเจอนิตยสารภาพยนตร์เล่มนึงเล่าถึงหนังเรื่อง The Contact มีพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ รูหนอน เราก็อ่านแล้วเอามาปรับใช้สร้างศัพท์ใหม่ๆ ทำให้เราพบทางว่าชอบการแปลภาพยนตร์ไซไฟเป็นพิเศษ พอนึกถึงชื่อนามแฝงที่จะใช้ ก็เลยอยากจะให้มันบ่งบอกถึงความชอบหนังไซไฟด้วย แต่ ENTERPRISEYUTH ก็คงไม่เข้า (หัวเราะ)”

     เลือกชื่อเสร็จสรรพ เจไดยุทธก็ออกท่องจักรวาลอินเทอร์เน็ตด้วยการโพสต์กระทู้ข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เขาหยิบจากเว็บไซต์ Variety และ Hollywood Reporter รวมถึงบล็อกส่วนตัวของชาวต่างชาติมาแปลไทยให้ชาวพันทิปได้อัพเดต 

     “สมัยนั้นไม่มีใครทำ เขาไม่รู้จะไปหาแหล่งข่าวจากไหน แต่ความที่เราอ่านข่าวหนังประจำเลยมีข้อมูล แล้วตอนนั้นคนยังใช้เน็ตไม่เยอะ โอกาสที่เราจะเป็นที่รู้จักเลยง่าย เพราะกระทู้แปลข่าวหนังมันโดดเด่น เราเอาภาพตัวอย่างจากหนังใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเปิดเผยมาลง เอาคลิปตัวอย่างหนังออกใหม่มาลง ก็เลยมีชื่อเสียงขึ้นมา”

     ดังนั้น หลังจากที่เคยใช้ชื่อเครดิตว่า ‘ยุทธนา งามเลิศ’ ปิดท้ายบทบรรยายภาษาไทยในช่วงแรกๆ ค่ายหนังก็เป็นฝ่ายเสนอให้เขาใช้นามแฝง ‘เจไดยุทธ’ ในการแปลไปเสียเลย เพราะมีคนรู้จักเขาในชื่อนี้มากกว่า

     ต่อมาในปี 2009 ความรักที่เขามีให้ภาพยนตร์ไซไฟก็เกิดดอกผล เพราะเขาได้รับการติดต่อจากรุ่นน้องที่ทำงานแปลให้กับบริษัทนำเข้าหนังรายใหญ่อย่าง UIP เพื่อขอคำปรึกษาด้านการแปลบทภาพยนตร์เรื่อง Star Trek เปิดช่องทางให้ยุทธมีโอกาสได้แปลให้กับค่ายดังกล่าวไปด้วย 

     ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลูกยาน UIP เปิดแกนวาร์ป ย้ายไปอยู่บริษัทนำเข้าจัดจำหน่ายหนังและแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่นๆ ก็มักจะชักชวนให้เขาตามไปแปลให้กับค่ายนั้นๆ ทำให้ชื่อ ‘เจไดยุทธ’ เป็นที่รู้จักในหมู่คนรักหนังทั่วไป

IV
หนังโรง

     ถ้านับตั้งแต่เริ่มทำงานแปลครั้งแรกปี 1997 จนถึงตอนนี้ เจไดยุทธผ่านการแปลบทภาพยนตร์และซีรีส์มาแล้วกว่า 1,000 เรื่อง

     ถึงแม้อายุงานและกระบวนท่าอาวุธจะเข้าขั้นระดับเจไดมาสเตอร์ ยุทธก็ยังบอกกับเราว่าเขามีอุปสรรคบางอย่าง

     “อุปสรรคอย่างแรกคือความสามารถ” เขาเฉลยพร้อมหัวเราะ

     “ยิ่งตอนแรกๆ คิดตลอดว่าเราจะไปในสายนี้ไหวเหรอวะ กลัวคนดูจะจับได้ว่าเราไม่เก่ง กลัวค่ายจะไม่ให้ทำต่อ อย่างตอนแปล Sex and the City เจอคำว่า Cosmopolitan เราก็ไม่รู้ว่ามันคือชื่อค็อกเทล สุดท้ายก็แปลไปแบบผิดๆ อายมาก”

     ยุทธสารภาพว่าเขาเป็นคนไม่ค่อยมีความรู้รอบตัว ยิ่งในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู ทำให้เขายิ่งต้องขวนขวายหาความรู้แบบออฟไลน์เอาจากคน

     “ตอนจะแปล Happy Gilmore เราก็ไม่รู้ศัพท์กอล์ฟเลย แต่ก็อาศัยว่าไหนๆ ทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ ก็เลยไปนั่งฟังนักพากย์รายการกอล์ฟ แล้วจดที่เขาคุยกันว่าคำนี้ควรจะแปลว่าอะไร หรือตอนแปล Disclosure ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คำว่า Bug คืออะไรวะ เราก็ต้องไปหาวิศวกรมาช่วยอธิบาย หรือเรื่อง The Big Red One ซึ่งเป็นหนังทหาร ก็ไปอ่านเว็บบอร์ดของทหาร โชคดีอีกอย่างที่ตอนนั้นทางบริษัทมีทหารอากาศคนนึงมาทำงานด้วยพอดี ก็ไปขอความรู้จากเขา ตอนนั้นต้องทำการบ้านเยอะมาก”

     อุปสรรคอีกอย่างที่ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ คือเมื่อได้รับการศึกษามาแบบไทยๆ ยุทธจึงติดนิสัยแปลภาษาอังกฤษแบบติดคำ

     “ที่จริงทุกคนสอนมาว่าให้อ่านทั้งประโยคก่อน แล้วค่อยแปลความหมายทั้งหมดนั้นออกมา แต่เราเป็นคนติดคำมากๆ บางทีก็ติดรูปประโยคแบบฝรั่ง เราอยากจะแปลให้ภาษาไทยมันตรงตัวกับภาษาอังกฤษ กลัวคนดูไม่รู้ว่าเราแปลมาจากคำว่าอะไร อย่างเช่น ‘A piece of cake’ แทนที่จะแปลเป็น ‘ของกล้วยๆ’ เราก็จะแปลว่า ‘ง่ายเหมือนกินขนมเค้ก’ ให้มันยังมีคำว่าเค้กตามต้นฉบับอยู่ ซึ่งชีวิตจริงใครเขาพูดกันวะ (หัวเราะ)”

     นิสัยแปลติดคำที่ว่าเพิ่งถูกสลัดหลุดไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยยุทธยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับฟีดแบ็กจากคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทู้พันทิปที่เคยตั้งมาเพื่อวิจารณ์ผลงานของเขาโดยตรง

     “ถ้าเขาไม่ชอบมากๆ ถึงขนาดยอมเสียเวลามาตั้งกระทู้ถึงเราเนี่ย เรื่องใหญ่ สิ่งที่เราทำได้คือกรองคำพูดที่รุนแรงออก ขอบคุณเขา แล้วก็ต้องขอโทษที่ยังทำงานได้ไม่ดี ดูที่เนื้อหาการติของเขาว่าเอามาปรับปรุงตัวเองได้ไหม ซึ่งบางอย่างเราก็เห็นด้วยกับเขาเลยนะ

     “รู้สึกจะเป็นเรื่อง The Theory of Everything ฉากที่ตัวละครคุยกันว่าคุณไปโบสถ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ อีกคนนึงตอบว่า ‘Once upon a time’ ก็คือ ‘นานมาแล้ว’ เราดันไปแปลว่า ‘กาลครั้งหนึ่ง’ ซึ่งเราเข้าใจว่ามันคือนานมาแล้วเหมือนกัน ก็ต้องยอมรับว่าเราคิดไม่รอบเอง มือไม่ถึง หรืออาจจะยังไม่เก่งพอ

     “แต่คำที่ว่าทำงานชุ่ย เรายอมรับไม่ได้ เพราะจริงๆ เราคิดเยอะนะ พยายามค้นคว้าเยอะ เราไม่ได้ทำงานชุ่ย แต่มือไม่ถึงนี่อาจจะใช่ เราคิดเยอะจริง แต่เรายังคิดได้แค่นี้ ก็ยอมรับผิด ขอโอกาสพัฒนา”

     แต่ถึงแม้จะผ่านอุปสรรคทั้งหมดที่ว่ามาได้ ความยากของการเป็นนักแปลก็ยังมีรออยู่อีกหลายกับดัก

     “บางครั้งคนแปลหนังโรงช่วงที่ยังใช้ระบบฟิล์มจะไม่มีโอกาสได้ดูหนังเลยระหว่างแปล ต้องแปลจากสคริปต์ล้วนๆ หรือบางทีอาจจะได้ดูรอบทดลองฉายแค่ครั้งสองครั้งแล้วก็ต้องจำมาแปล 

     “สมัยทำอยู่ช่องเคเบิล เรามีโปรแกรมให้ดูวิดีโอไปด้วยระหว่างทำซับไตเติล ก็เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไมโรงแปลผิด เขาไม่ดูหนังเหรอวะ จนได้มาแปลหนังโรงในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างดิจิทัลกับฟิล์ม เราถึงได้รู้ว่ามันไม่ได้ดูก่อนจริงๆ”

     ยัง เส้นทางแห่งพลังยังไม่หยุดทดสอบเขาเพียงเท่านั้น เพราะต่อให้ปัจจุบันนี้จะเป็นการทำงานในระบบดิจิทัล มีวิดีโอให้ดูพร้อมสรรพระหว่างแปล แต่ทว่าภาพที่นักแปลจะได้ดูนั้นกลับเป็นภาพขาวดำ

     “แล้วมีลายน้ำคาดด้วยนะ” ยุทธเสริม

     “สมมติบทมีคำว่า blue เราก็ไม่รู้จะแปลว่าสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน หรือบางทีมีป้ายตัวหนังสืออยู่ในฉาก แต่ไม่มีเขียนไว้ในสคริปต์ เราก็มองไม่ออกว่าคือคำอะไรเพราะโดนลายน้ำบัง ก็ต้องส่งไปถามแล็บเมืองนอกอีกว่ามันคือคำอะไรกันแน่”

     ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องความยากในสายอาชีพ ยุทธจึงเล่าต่อไปถึงข้อจำกัดและข้อกำหนดพื้นฐานที่นักแปลซับไตเติลทุกคนต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ เขายกตัวอย่างเป็นจำนวนตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอว่าจะต้องไม่เกิน 29-33 ตัวอักษรต่อหนึ่งบรรทัด ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโปรแกรมจะกำหนดไว้ที่เท่าไหร่ รวมถึงต้องคำนวนระยะเวลาของช็อตนั้นๆ ว่าจะอนุญาตให้ซับไตเติลของเขามีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน

     “หนึ่งบรรทัด 29-33 ตัวอักษร คนเราจะใช้เวลาอ่านประมาณสี่วินาที เพราะฉะนั้น ถ้าประโยคนั้นขึ้นหน้าจอได้แค่ 2 วิฯ เราก็ต้องแปลบีบให้มันอยู่ใน 10-15 ตัวอักษร บางประโยคเลยจำเป็นต้องแปลแบบสรุปความ ไม่สามารถแปลตรงได้ทุกตัว 

     “ไม่เหมือนหนังสือที่คนอ่านจะมีเวลาละเมียดละไมภาษา ดูการใช้คำ ของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ภาษาของเราต้องเห็นแล้วเข้าใจได้ในทันที ถ้าตัวหนังสือเยอะเกินไปคนดูจะเหนื่อยในการอ่าน แล้วเขาก็จะไม่ได้ดูหนัง

     “เราต้องอย่าลืมว่ากระบวนการถ่ายหนังไม่มีซับไตเติลอยู่ในนั้น คนทำหนังเขาไม่มาคิดหรอกว่าช็อตนี้ถ่ายเว้นจังหวะเผื่อขึ้นซับไตเติลหน่อยแล้วกัน ไม่มี เราเป็นคนมาทีหลัง เพราะฉะนั้นเราต้องทำตัวให้กลมกลืนกับหนังที่สุด ต้องกระชับ สั้น แล้วต้องให้เวลาคนได้ดูหนังด้วย ดูส่วนประกอบของหนัง ดูการถ่ายภาพ ดูสีหน้าตัวละคร นั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่าการมานั่งอ่านซับไตเติล”

V
หนังไทย

     ปีนี้เจไดยุทธจะมีอายุครบ 51 ปี คลุกคลีกับวงการหนังมาเกือบทั้งชีวิต เมื่อเราพักเรื่องส่วนตัวแล้วหันมาชวนคุยถึงสถานการณ์ความอยู่รอดของภาพยนตร์ในปัจจุบัน เขาจึงใช้ประสบการณ์ยืนยันว่าถึงแม้ในช่วงโควิด-19 และการเข้ามาของสตรีมมิงจะทำให้กระแสภาพยนตร์ดูเหมือนจะซบเซาลงไป แต่แท้จริงแล้วคนที่อยากดูหนังยังมีอยู่เสมอ

     “ภาพยนตร์ไม่ตายหรอก เพียงแต่มันจะเหลือแค่หนังบางประเภทเท่านั้นที่ยังอยู่ในโรงได้ อย่างบ้านเราก็ไม่ใช่ว่าคนไม่ดูหนังนะ เพราะ Avatar: The Way of Water ก็มีคนไปดูมหาศาล ทำเงินหลายร้อยล้าน แค่ว่าปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดกับหนังทุกเรื่อง

     “มันไม่เหมือนสมัยเราเด็กๆ ที่เรื่องละ 30 บาท ไปดูเมื่อไหร่ก็ได้ ใกล้บ้าน ตอนนี้การดูหนังในโรงกลายเป็นความฟุ่มเฟือย ต้องใช้จ่ายเยอะ ทำให้คนดูต้องคิดแล้วคิดอีกกว่าจะยอมออกไปดูหนัง ซึ่งมันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม เรื่องของทุนนิยม คนจะไปดูหนังเฉพาะเรื่องที่เป็นมหกรรม เหมือนเข้าสวนสนุกที่ต้องคุ้มค่าตั๋วสองร้อยกว่าบาทของเขา

     “เราจำได้ว่า Triangle of Sadness รอบปกติมีคนดูไม่ถึง 10 คน แต่พอตั๋วลดเหลือ 68 บาท คนมาดูเต็มโรง เราถึงได้บอกว่าจริงๆ คนยังอยากดูหนังนั่นแหละ ไม่ได้หายไปไหน”

     เขาเล่าต่อไปอีกว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ทำให้ช่วงนี้วงการหนังไทยเองก็โดนกดดันอย่างหนักเช่นกัน

     “คนดูหนังฝรั่งเกรดกลางๆ กันได้ แต่พอมีหนังไทยเกรดกลางๆ ออกมา คนจะตั้งแง่กับมันทันที ซึ่งเราคิดว่าคนทำงานชิ้นแรกมันคงไม่ได้ยอดเยี่ยมหรอก แต่ก็ต้องให้โอกาสเขาได้พัฒนางานชิ้นต่อๆ ไป แต่คนทำหนังไทยตอนนี้กลับต้องแบกความคาดหวังของคนดูเอาไว้ว่าจะต้องทำหนังออกมาดีตั้งแต่เรื่องแรก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กว่าเราจะสร้างนักทำหนังที่เก่งได้ เราก็ต้องสร้างจากคนที่อยู่ในระดับกลางๆ มาก่อน”

     การสร้างคนทำหนัง พร้อมๆ ไปกับการสร้างรสนิยมให้คนดู คือทางออกที่ยุทธเสนอ

     นอกจากผู้ผลิตต้องทำผลงานให้ดี โรงภาพยนตร์เองก็ต้องมอบรอบที่เป็นธรรมให้กับหนังทุกประเภท เพื่อขยายฐานรสนิยมให้คนดูได้มีโอกาสดูหนังหลายแนว ไม่ใช่เพียงแค่ภาพยนตร์กระแสหลัก

     “มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เคยพูดไว้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของอุปสงค์ อุปทาน แต่เป็นเรื่องของไก่กับไข่ เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเกิดก่อนอะไร ระหว่างรสนิยมของคนดู หรือการฉายหนังประเภทเดียวซ้ำๆ ของโรง การที่โรงให้พื้นที่แก่หนังประเภทนึงมากๆ เพราะมีคนต้องการเข้าชมมาก ในความจริงแล้วอาจเป็นเพราะโรงฉายแต่หนังประเภทนั้น จนคนดูเสพติดหนังอยู่ชนิดเดียวก็ได้

     “อย่างที่บอกว่าปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ แต่ในความรู้สึกเราคือตอนนี้โรงหนังเป็นคนที่ช่วยน้อยที่สุด คนทำหนังก็พยายามทำให้ดีนั่นแหละ แต่เขาอาจจะไม่ได้จำนวนรอบที่เหมาะสม หรือได้โอกาสในการฉายมากนัก โรงอาจจะนึกถึงเรื่องการสร้างผลกำไรมากเสียจนเขาทอดทิ้งคนทำหนังไป 

     “ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับว่าหนังไทยเองก็มีภาพลักษณ์บางอย่างที่ทำให้คนคิดว่าไม่คุ้มกับการดูในโรง หรือทำออกมาแล้วไม่ได้ดั่งใจผู้ชม เราเลยจะเห็นว่าคนดูไปเข้าข้างโรงหนังกันซะส่วนใหญ่ว่านายทุนก็ต้องทำมาหากิน กลายเป็นว่าประเทศเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างคนขนาดนั้น ทั้งที่คนทำหนังตัวเล็กๆ เขาก็สู้กันมากนะ โรงหนังซึ่งมีศักยภาพมากกว่าก็ควรจะให้โอกาสเขาได้ฉาย”

     ก่อนจะสิ้นหวังจนอยากเข้าสู่ดาร์กไซด์กันไปมากกว่านี้ ยุทธบอกกับเราว่า อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อมั่นว่าหนังไทยจะกลับมา ดูจากรายชื่อหนังใหม่ๆ ที่กำลังรอการสร้างแล้วน่าสนใจ คงจะพอเรียกศรัทธาของคนดูกลับมาได้บ้าง

     “อีกไม่นานจะต้องมีหนังไทยที่สร้างปรากฏการณ์อยู่แล้วล่ะ เหมือนยุคหินกลิ้ง ยุค2499 อันธพาลครองเมือง ยุคนางนาก ยุคพี่มาก แล้วกระแสก็จะหายไปอีก แล้วก็จะวนกลับมาใหม่ จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะมีองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงได้จริงๆ

     “การส่งเสริมขององค์กรบ้านเราตอนนี้คือเน้นการชวนต่างชาติมาทำหนัง ลดภาษีให้เขามาใช้สถานที่ ใช้ทีมงานของเรา แต่ไม่ได้ช่วยสร้างภาพยนตร์ของเราเองให้มีคุณภาพสู่ตลาด เรามีทีมงานและโรงถ่ายคุณภาพระดับโลก แต่ตอนนี้เราเป็นได้แค่ลูกจ้างบริษัทฮอลลีวูด เรามีหนังที่ได้ทุนจากรัฐบาลเยอะก็จริง แต่ก็จะเป็นหนังแบบที่ข้าราชการชอบ พอจะนึกออกใช่ไหมว่าเป็นหนังประเภทไหน

     “เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้เลยและทำได้ง่ายที่สุดคือการให้โอกาส คนดูให้โอกาส โรงหนังให้โอกาส คนทำหนังให้โอกาสตัวเอง รัฐบาลให้โอกาสวงการหนังได้มีอิสระอย่างเต็มที่ และให้โอกาสการทำหนังได้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง”