Wed 20 Jul 2022

DAWN OF THE DUST 

รุ่งอรุณของ ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ และ ‘From Dawn Till Dust’ นิทรรศการที่ใช้การสร้างสัญลักษณ์เป็นอาวุธ

เรื่อง: A. Piriyapokanon

     “ผัสสะแรกที่เขารู้สึกเมื่อแหวกม่านพลาสติกเข้าไปในห้องนิทรรศการ คือความเย็นราวกับอยู่ในห้องแช่แข็งซากสัตว์สำหรับรอชำแหละไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร

     “ท่ามกลางความมืด บนเพดานปรากฏลำแสงบางเฉียบส่องลงมายังใจกลางตั้งฉากกับพื้นห้อง ลำแสงตั้งตรงและคมกริบ ภายในความสว่างนั้น เขามองเห็นเศษฝุ่นละอองโปรยปรายลงมา…”

     บทบรรยายถึงฉากของนิทรรศการ ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust) ซึ่งมีที่มาจากเรื่องสั้น ฝ่าละออง ของ ‘กุ๊บ—จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ คือสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้า 

     ด้วยความร่วมมือของช่างภาพอิสระ ขิม—ปาณิศา เขื่อนเพชร และภัณฑารักษ์ จอยส์—กิตติมา จารีประสิทธิ์ เรื่องสั้นที่ว่าจึงถูกผนวกเข้ากับงานภาพเคลื่อนไหว โดยแบ่งฉายผ่านโทรทัศน์หกจอ บอกเล่าความพยายามของรัฐที่จะลบความทรงจำและควบคุมประวัติศาสตร์ผ่านฟุตเทจเครื่องดูดฝุ่นไร้สายที่เดินหน้าทำงานอย่างขยันขันแข็ง พร้อมด้วยเครื่องดูดฝุ่นสีทองที่วิ่งไปมาอยู่บนพื้นที่จัดแสดงอีกหนึ่งเครื่อง

     นึกย้อนกลับไปขณะยืนรับชม เราคุ้นเคยกับชื่อของจิรัฏฐ์ในฐานะนักเขียนเจ้าของผลงานเข้าชิงรางวัลซีไรต์อย่าง พิพิธภัณฑ์เสียง และ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า เราเห็นชื่อเขาผ่านบทความในสื่อออนไลน์หลายหัว แต่สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเห็น คือบทบาทของเขาในภาคศิลปิน installation art

     คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us) คือนิทรรศการแรกที่แจ้งเกิดให้จิรัฏฐ์ในปี 2563 หลังจากได้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ (แต่คนบางกลุ่มอาจจะไม่พอใจ…) สองปีผ่านไป เขากลับมาใหม่พร้อมกับ ฝ่าละออง นิทรรศการชุดที่สอง ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม-28 สิงหาคม 2565 ที่ VS Gallery

     การพูดถึงอำนาจเหนือกระบวนการสร้างความทรงจำ และการกระทำที่บังคับให้ผู้คนลืมอดีตคือหัวใจสำคัญในผลงานเกือบทุกชิ้นภายใต้ชื่อการสรรค์สร้างของจิรัฏฐ์ อะไรที่นำพาเขาออกจากหลังแป้นพิมพ์มาผลิตงานศิลปะ แนวคิดไหนคือแรงผลักดันให้เขากล้าออกหน้าพูดประเด็นสังคมอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้

     เรานั่งลงกลางห้องนิทรรศการสีขาวพร้อมกระดาษและปากกา ไม่นานนักจิรัฏฐ์ก็เดินมานั่งข้างๆ เขาแนะนำผลงานชิ้นใหม่ให้ฟังคร่าวๆ ก่อนที่เราจะฝ่าละอองย้อนอดีตไปหาคำตอบให้กับคำถามข้างต้น

คุณทำสื่อมาหลายอย่าง ทั้งสารคดีและโฆษณา แต่สิ่งที่ดูจะถนัดที่สุดคือการเขียน คุณเริ่มเส้นทางการเป็นนักเขียนได้ยังไง

     เราโตมากับยุคที่การทำนิตยสารมันเท่มาก เป็นยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีเฟซบุ๊กให้อวดรูปอวดอะไร เพราะฉะนั้นการที่คุณจะประกาศบางอย่างออกไปก็ต้องผ่านการเขียนคอลัมน์ ผ่านสิ่งพิมพ์ ซึ่งสมัยนั้นก็คือนิตยสารอินดี้ทั้งหลาย

     ประกอบกับเราเรียนมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษมาด้วย พอมีความอยากทำ ก็เลยพาตัวเองไปฝึกงาน ที่แรกคือ National Geographic ภาษาไทย พอเรียนจบ เราก็ทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มาตลอด ทำไปทำมา จากที่เคยเขียนคอลัมน์ก็มีความอยากเขียนหนังสือของตัวเอง มันค่อยๆ เป็นลำดับขั้นไป

จากคอลัมนิสต์ อะไรเป็นแรงขับให้คุณหันมาจับงานวรรณกรรม

     เราเป็นคนชอบดูหนัง บางครั้งเราจะมีจินตนาการในแบบที่ถ่ายทอดทางนิตยสารไม่ได้ เราก็เลยคิดอยากเขียนเรื่องสั้น แล้วเรามีโอกาสเดินทางไป Work and Travel ที่ฮาวายพอดี น่าจะเป็นช่วงนั้นที่ทำให้เริ่มหันมาเขียนเชิงวรรณกรรม 

     การที่เราได้ไปอยู่ต่างประเทศนานๆ ในอายุประมาณยี่สิบต้นๆ มันก็มีความตื่นตาตื่นใจ มีเรื่องเล่าพื้นถิ่นที่จุดประกายให้เราอยากนำเสนอเรื่องพวกนี้ออกมาในมุมมองของเรื่องแต่ง เลยกลายเป็นต้นฉบับเรื่อง ฮาวายประเทศ หลังจากนั้นเราก็เขียนหนังสือเรื่อยมา

     พอเราเริ่มสนใจสังคมการเมือง ก็เลยเขียนเล่มถัดมาชื่อ การเมืองเรื่องเซอร์เรียล ว่าด้วยการเมืองไทยในปี 2553 เลือกเขียนในเชิงเรื่องเหนือจริง ซึ่งไอ้ความเหนือจริงที่ว่านี่เราได้มาจากฮาวาย กับพื้นฐานที่เราชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมละติน อย่างงานของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) กับ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส (Jorge Luis Borges) เราโตมากับการอ่านงานแบบนั้น มันเลยมีอิทธิพลต่อการเขียนของเรา

ทำไมฮาวายถึงเป็นจุดกำเนิดความเซอร์เรียล 

     เวลาคนพูดถึงความเซอร์เรียล จะชอบคิดถึงความเหนือจริง ทฤษฎีจิตไร้สำนึกของฟรอยด์ (Sigmund Freud) หรือการเอาองค์ประกอบที่ดูไม่มีเหตุและผลซึ่งกันและกันมาอยู่ด้วยกัน แต่สำหรับเราแล้วมันเป็นความแฟนตาซีที่ได้ไปเห็นวิถีต่างประเทศมากกว่า เราไปอยู่เกาะชื่อเมาวี ซึ่งเป็นเกาะที่มีชนเผ่าของคนฮาวายอยู่ มีตำนานเรื่องเล่าที่ไปเจอมาแล้วรู้สึกว่ามันทรงอิทธิพลกับเรามาก เหมือนที่ในไทยเรามีอะไรแบบปลาบู่ทอง ต่างประเทศเขาก็มีเรื่องเล่าเชิงเหนือจริงแบบนั้นเหมือนกัน

     ตอนเขียน การเมืองเรื่องเซอร์เรียล เราเลยยั่วล้อสังคมประเทศไทย ความรุนแรงที่เราเห็นในตอนนั้น ความเชื่อที่ผสมกันระหว่างผีกับพุทธ เรื่องพวกนี้อยู่ในวิถีจนเรามองว่ามันปกติ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ปกตินะ ไอ้การมองเมฆแล้วเห็นเป็นรูปคน หรือการเอาไสยศาสตร์มาครอบมุมมองการใช้ชีวิต เราอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยของประเทศไทย แต่พอมองอีกมุม มันคือเรื่องเหนือจริงดีๆ นี่เอง

แล้วจุดเริ่มต้นของการหันมาทำนิทรรศการศิลปะจัดวางเกิดขึ้นตอนไหน 

     เราเป็นคนสนใจศิลปะแต่ไหนแต่ไร แล้วการทำงานเขียนก็ทำให้เราได้ไปดูศิลปะแล้วเขียนถึงงานนั้นๆ และด้วยความที่เราก็มีบทความเชิงศิลปะปรากฏอยู่ในสื่อบ้าง เราเลยมีโอกาสได้ไปทำหนังสือ ทำสูจิบัตรให้กับศิลปิน หรือบางทีมีบางนิทรรศการขอเรื่องสั้นเราไปตีพิมพ์เป็นสูจิบัตรของเขาก็มี งานเราจึงเกี่ยวโยงกับโลกนี้มาสักพักนึงแล้ว 

     จุดเริ่มต้นมาจากคุณบี (วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ) เจ้าของ VS Gallery มาชวนว่าอยากลองเอางานเขียนมาพัฒนาเป็นนิทรรศการดูไหม ซึ่งเราเห็นว่าเขาเคยไปชวนนักเขียนอย่างอาจารย์ต้น (อนุสรณ์ ติปยานนท์) กับพี่โย (กิตติพล สรัคคานนท์) มาทำนิทรรศการที่แกลเลอรีแห่งนี้ ตัวพื้นที่เลยช่วยจุดประกายว่าอย่างเราเองก็น่าจะทำนิทรรศการได้เหมือนกัน 

     ขณะเดียวกัน เรามองว่างานเขียนวรรณกรรมก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากงานศิลปะ พอเริ่มมีไอเดีย เราเลยทำศิลปะจัดวางชุดแรกที่ CARTEL Artspace คือ คิดถึงคนบนฝ้า ว่าด้วยความยึดติดและลัทธิบูชาตัวบุคคลของชนชั้นกลางไทย ซึ่งจุดกำเนิดมาจากเรื่องสั้นที่เราเขียนเองนี่แหละ พูดถึงตัวละครที่เฝ้าคอยอาจารย์ของเขาที่หายตัวไปบนฝ้า ตัวโชว์เลยเป็นการปีนบันไดขึ้นไปมองว่ามีอะไรอยู่บนนั้น

     พอโชว์แรกผลตอบรับดี เราเลยคิดว่าน่าจะทำงานศิลปะแบบนี้ได้ มันคือการเอาความคิด เอาศาสตร์การเล่าเรื่องมาแสดงโดยใช้ศิลปะจัดวางเป็นสื่อ พอทำแล้วมันก็สนุก เราเลยทำชุด ฝ่าละออง ต่อ

แปลว่านิทรรศการเกิดมาจากความสนุกล้วนๆ 

     ใช่ อย่าง ฝ่าละออง ก็มาจากเรื่องสั้นอีกเหมือนกัน แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องออกมาเป็นนิทรรศการแต่แรกนะ เราเขียนเป็นเรื่องสั้นก่อน แต่เราว่าการทำงานศิลปะก็คืออีกวิธีการนึงของการเขียน แค่เป็นงานเขียนที่ไม่ใช่ตัวหนังสือ แต่เขียนออกมาเป็นภาพแทน

ภาพจากนิทรรศการ คิดถึงคนบนฝ้า

พูดถึงเรื่องภาพ งานชิ้นนี้มีทั้งวินสตัน สมิทธิ ที่ได้แรงบันดาลใจจาก 1984, O-Robot จาก I, Robot รวมถึงชื่องานที่ล้อไปกับภาพยนตร์ From Dusk Till Dawn แปลว่าสื่อภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของคุณด้วยหรือเปล่า

     ใช่ครับ อย่างที่บอกว่าหนังก็คืองานเขียน มันคือเรื่องเล่าแบบเดียวกัน อันนี้ต้องย้อนกลับไปไกลหน่อยว่าจริงๆ แล้วเราแม่งชอบทำหนังมาก ในใจลึกๆ การเขียนของเราเลยเป็นไปเพื่อการทำหนัง คือต้นทุนที่ถูกที่สุดในการทำหนังคือการเขียน เพราะการเขียน คุณไม่ต้องไม่จ้างใคร คุณแค่อยู่กับตัวเอง มีเรื่องที่จะเล่าแล้วก็เขียนออกมา

มีผู้กำกับในดวงใจบ้างไหม

     เราชอบหนังที่ผู้กำกับมีความเป็นนักเขียนอยู่ เช่น เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) ยอร์กอส ลานธิมอส (Yorgos Lanthimos) หรือ จิม จาร์มุช (Jim Jarmusch) แต่คนที่มีอิทธิพลกับเรามากคือ เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) เพราะเขาชอบใช้ความสยองขวัญในเชิงร่างกายแบบพิลึกๆ ความเซอร์เรียลแบบโครเนนเบิร์กมีส่วนในการเขียนเรื่องสั้นของเรามาก

แล้วการทำศิลปะที่พูดเรื่องการเมืองนี่มีส่วนมาจากไหน

     อย่างที่บอกว่าการเมือง สังคมเป็นพื้นฐานที่เราสนใจอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดของการทำสื่อก็คือการรายงานสิ่งที่เป็นไปในสังคม เราสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีส่วนกับชีวิตของผู้คนยังไง นโยบายของรัฐ หรือการมีผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนใหม่จะมีส่วนต่อพัฒนาการเมืองนี้ยังไง เราเป็นคนแบบนี้ เราสนใจแบบนี้ พอเราจะเขียนหนังสือ เราก็เลยเขียนเรื่องนี้

     การเมืองสำคัญเพราะมันมีส่วนต่อชีวิตประจำวันของเรา ต่อการที่เราจะเติบโตในประเทศนี้เมืองนี้ที่เราอยู่ เราสนใจว่าการรับมือกับปัญหาที่เป็นอยู่มันล้มเหลวเพราะอะไร เราเห็นว่าอำนาจที่กดทับลงมามันมีส่วนต่อการปรับโลกทัศน์คนไทย แล้วเราจะทำยังไงให้คนเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติ มันไม่ใช่อะไรที่เราจะเจอในสังคมของคนที่เจริญแล้ว 

     ถ้ามันมีกฎหมายคอยปิดปากเราอยู่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือการใช้ศิลปะในการบอกเล่า การใส่สัญลักษณ์ การพูดถึงเรื่องอื่นแต่สะกิดให้คนคิดว่าจริงๆ แล้วเรากำลังจะบอกอะไร หรืองานนี้ที่เราใช้เครื่องดูดฝุ่น การตั้งชื่อมันก็คืออารมณ์ขันที่นำไปสู่การคิดต่อ เราว่าตรงนี้คือความสนุกในการเล่าเรื่องของเรา

ในเรื่องสั้นที่เป็นที่มาของนิทรรศการนี้มีประโยคนึงบอกว่า “ผมมีแผนจะเขียนนิยายการเมืองมาตั้งนานแล้ว คิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้มันเหมาะเจาะ” คุณมองสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ยังไง แล้วทำไมถึงเหมาะเจาะ 

     เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ทำให้ไม่มีเพดานอีกต่อไปแล้ว จากที่เมื่อก่อนการจะเขียนเรื่องการเมืองหรือเรื่องเจ้าต้องอ้อมไปอ้อมมา ต้องสร้างขึ้นมาอย่างซับซ้อน แล้วสุดท้ายคนก็ไม่เข้าใจ ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาหรอกที่คนไม่เข้าใจ แต่พอมาคิดดูอีกที เราว่าสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็น free speech ได้แล้ว ไม่ได้หมายถึงให้ไปหมิ่นอะไรเขานะ แต่ที่ผ่านมาเราพูดได้แค่ในเชิงสรรเสริญเท่านั้น เราไม่สามารถพูดในเชิงข้อเท็จจริงบางอย่างได้

     วันนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ทำให้เราสามารถพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ทุกคนพูดได้ถ้าไม่ได้ด่าทอหรือทำอะไรรุนแรง มันยังมีความพยายามที่จะปิดปากเราอยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่เราไม่ควรเงียบ ต้องพูดไปเรื่อยๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ใครทำอะไรได้ก็ควรจะทำ เพื่อให้สถานการณ์ยังต่อเชื้อไปได้ มันคือการสร้างแรงกระเพื่อม เหมือนที่ประยุทธ์พูดว่ามันคือซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยขับเคลื่อนจุดมุ่งหมายให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เหมือนกัน เรามองว่าศิลปะคือความสุนทรี แต่ขณะเดียวกันมันเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิ่งที่เราควรจะได้ด้วย อย่างน้อยให้คนเห็นว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวนะ ยังมีคนคิดแบบคุณ คนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงให้อะไรๆ ดีขึ้นยังมีอยู่

ถึงอย่างนั้น ในเรื่องสั้น ฝ่าละออง คุณกลับบอกว่านิยายเรื่องสังคมเผด็จการจะทำงานกับคนอ่านแค่ไม่กี่คน ไม่มีความหมายอะไรต่อผู้คนส่วนใหญ่สักเท่าไหร่ 

     มันเป็นเรื่องจริงนะ เป็นคำถามที่เราคิดอยู่เหมือนกันว่างานเราจะไปถึงขนาดไหน แต่เราไม่สามารถตอบได้ ก็คิดแค่ว่าจะพยายามทำให้มันเข้าถึงคนอ่านได้มากที่สุด เราอาจจะเป็นคนที่เก่าแล้วด้วย เลยไม่ได้ออกแบบว่าเราต้องทำให้ใครอ่าน ต้องตีตลาดไหน ทำออกมาก็ไม่ได้คิดว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ เราทำเพราะอยากทำ ประโยคนั้นเลยเหมือนการล้อเลียนมุมมองที่ว่า การเขียนหนังสือเพื่อต่อต้านมันล้าสมัยแล้ว ล้อเลียนตัวเราเองนี่แหละว่ากูแม่งเขียนเรื่องการเมือง เรื่องเผด็จการ ซึ่งการเขียนเชิงต่อต้านแบบนี้ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ก็เขียนไปเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว สิ่งที่เราทำมันมีคนทำมาหมดแล้ว

ทำไมต้องจิกกัดตัวเองแบบนั้น

     เป็นอารมณ์ขันของเราด้วย เรามองว่าตัวเองกลายเป็นคนตกยุคไปแล้ว ไอ้การเขียนวรรณกรรม เรื่องสั้น นิยาย มันเป็นสื่อที่ตกยุคจริงๆ นะ เหมือนที่ในทวิตเตอร์กำลังบ่นว่าคำศัพท์อะไรอ่านไม่รู้เรื่อง เราอ่านแล้วก็งงว่าทำไมเขาไม่รู้จักกันวะ แต่ถ้ามามองจริงๆ วรรณกรรมกลายเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยๆ ไปแล้วจริงๆ อารมณ์เดียวกับที่บอกว่าศิลปะเรื่องเผด็จการก็จะมีคนฟินกันไม่กี่คน ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมที่ไม่ใช่นิยายแชตหรือนิยายวาย พวกงานการเมืองเพื่อชีวิตที่เคยฮิตมากในช่วงที่พี่ปราบดา หยุ่น ได้ซีไรต์ กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ตกยุค 

     จริงๆ ไม่ใช่ตกยุคหรอก มันแค่จะ niche ขึ้นเรื่อยๆ เราเลยพยายามจะเสียดสีสิ่งเหล่านี้ เพราะเราก็เป็นคนนึงในกลุ่มนั้น โตมากับยุคนั้น หากินกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งถามว่าแล้วจะยังไงต่อ เราก็ไม่รู้ แต่เราว่าการหันมาทำงานนิทรรศการแบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิธีการเล่าเรื่องแบบเดิมมาอยู่ในกระบวนการใหม่ อยู่ในสื่อแบบใหม่

แต่ไม่ว่าจะในสื่อใหม่หรือเก่า สิ่งที่คุณยึดเอาเป็นแกนหลักของงานเกือบตลอดคือเรื่องของความทรงจำ มันมีความสำคัญยังไง

     เราคิดว่าพอพูดถึงการเมือง มันหมายถึงการคัดง้างกับอำนาจนิยม อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจอะไรก็ตามที่พยายามจะกล่อมเกลาเราอยู่ ซึ่งอำนาจเหล่านี้เป็นแกนหลักของประเทศที่เราเติบโตมา ตั้งแต่เด็กเราถูกฝังหัวว่ามนุษย์ต้องเหลื่อมล้ำ เกิดมาเราก็จดจำกันแล้วว่าเราเป็นหนี้บุญคุณของสถาบันอะไรบางอย่าง ความคิดฝังหัวเหล่านี้มันกลายเป็นเพดาน แล้วอะไรที่ทำให้เกิดเพดานล่ะ มันก็คือการที่รัฐทำให้คนจดจำ เป็นกระบวนการที่ทำงานกับความทรงจำโดยตรง

     หรือกระทั่งตัวงานชิ้นนี้ เครื่องดูดฝุ่นที่ไปดูดตามพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับความทรงจำก็ล้อไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศนี้ รัฐพยายามจะลบประวัติศาสตร์ผ่านการรื้อทำลายอนุสรณ์สถาน อย่างหมุดคณะราษฎรที่ถูกทำให้หายไป การล้อมรั้วสนามหลวง การล้อมรั้วลานพระบรมรูปทรงม้า การทุบอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่ หรือการเปลี่ยนชื่อสะพานพิบูลสงครามเป็นสะพานท่าราบ มันคือการทำลายความทรงจำ ทำให้หัวเราว่าง เพื่อที่เขาจะได้ใส่ข้อมูลใหม่เข้ามาได้ เราเลยคิดว่าการทำงานศิลปะหรือวรรณกรรมคือการสะกิดบอกว่ากำลังมีกระบวนการแบบนี้อยู่ในสังคมนะ ถ้าเผลอแป๊บเดียว คุณก็จะลืมแล้วจดจำมันไม่ได้อีกเลย ตัวงานชิ้นนี้เลยเลือกที่จะเล่าเรื่องความทรงจำโดยตรง

     มีประโยคนึงจากหนังสือ The Book of Laughter and Forgetting ของ มิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) พูดไว้ว่า วิธีการที่จะกวาดล้างมนุษย์ได้คือการทำลายหนังสือของมัน ทำลายประวัติศาสตร์ของมัน ทำลายเรื่องเล่าของมัน และหลังจากนั้นหาใครสักคนมาเขียนประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าขึ้นใหม่ การทำแบบนี้จะทำให้คนค่อยๆ ลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วหันไปจดจำสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่

     แล้วในหนังสือก็บอกอีกว่าการต่อสู้ของอำนาจเกิดจากสองขั้ว คือการจดจำและการลืม นี่คือใจความสำคัญที่นำมาสู่ความคิดที่เราจะคัดง้างด้วยการสร้างสัญลักษณ์มาสู้ เราจะไม่ยอมให้ใครลืม เราจะสร้างงานขึ้นมาเพื่อทำให้คนจำว่ามันเคยมีสิ่งนี้อยู่ 

ท่ามกลางความพยายามรื้อทำลายที่เกิดขึ้น สำหรับคุณแล้วประเทศนี้ยังมีความหวังอยู่บ้างไหม

     มีความหวังแน่นอน อย่างที่บอกว่าเพดานเปลี่ยนไปแล้ว จริงๆ เราไม่คิดด้วยซ้ำนะว่าจะได้อยู่ทันเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศ เราอายุ 37 แล้ว โตมากับช่วงที่ความรักสถาบันเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของพลเมือง แต่การที่เด็กรุ่นใหม่เสนอเรื่องปฏิรูปขึ้นมา ทำให้เราคิดว่า เออ แม่ง เราอาจจะมีอนาคตที่ดีรออยู่ในวันข้างหน้าก็ได้ แล้วมันก็มีส่วนทำให้เรากล้าที่จะทำอะไรไปมากกว่าการใช้สัญลักษณ์แบบที่ผ่านๆ มา มันคือการเล่นกับเส้นแบ่งเพดาน ถ้าเราค่อยๆ ขยับมันไปเรื่อยๆ ใช้ศิลปะในการดันมันขึ้นไป ประเทศเราคงจะไปถึงจุดที่ควรจะเป็นได้ในสักวันหนึ่ง

พูดถึงการพยายามดันเพดาน เห็นว่าตอนจัดนิทรรศการ คิดถึงคนบนฝ้า คุณโดนกระแสตอบกลับรุนแรงมาก ตอนนั้นโดนอะไร

     มีคนส่งข้อความมาประมาณว่าถ้าเจอเราจะรุมกระทืบ มีการเอารูปเราไปแขวน มีคนขุดประวัติว่าไอ้นี่เป็นใคร เขียนหนังสืออะไรมา มีหลายเพจเหมือนกันที่สาปแช่งพ่อเรา ครอบครัวเรา ตอนนั้นเราเลยเห็นว่า เออ ความรักพ่อนี่มันแรงจริงๆ (หัวเราะ) ตอนนั้นกลัวมากเลยนะ กลัวว่าเขาจะไปยุ่งอะไรกับคนในครอบครัวเรา มันเป็นความกลัวที่เราไม่ได้กลัวจะโดนเอง แต่เราไม่ได้กลัว 112 เพราะเราคิดว่าสิ่งที่ทำจะไม่ผิดข้อนั้น เราคำนึงเรื่องนี้ตลอดว่าอะไรคือเพดาน อะไรคือสิ่งที่เราจะเล่า และเล่าแบบไหนได้บ้าง

ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องหยุดทำไหม

     ไม่คิดเลย สิ่งที่หยุดคือการให้สัมภาษณ์มากกว่า ตอนนั้นไม่ให้ใครสัมภาษณ์เลย ไม่ออกสื่อ ปล่อยให้งานทำงานด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่อยากจะไปสุมไฟ เพราะสิ่งที่น่ากลัวคือความคลั่งที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้ แต่เราชอบที่จะทำนะ อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้มันต้องพูด ถ้าเรามีพลัง มีเวลา มีต้นทุน เราก็ควรจะพูดมันออกไป

ซึ่งคุณมีอยู่ใช่ไหม พลัง เวลา ต้นทุน

     (หัวเราะ) เราคิดว่ามันเป็นความสนุกด้วยแหละ เราไม่ได้มองว่ามันคือสารทางการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ มันคือศิลปะ เป็นสิ่งที่เราอยากจะเล่าออกมา เราอยากเห็นสิ่งที่เราเขียนออกมาเป็นภาพ เราเลยอยากทำต่อ แค่นั้นเลย เพราะจริงๆ สิ่งเหล่านี้แม่งเปลืองเงินมากนะ มันไม่ใช่งานที่จะขายได้ คือก็มีคนช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง แต่มันไม่สามารถทำเป็นอาชีพ มีแต่เสียกับเสีย การลงทุนในการสร้างก็ใช้เงิน หรือการเปิดชื่อตัวเองออกไปก็มีแต่โดนด่า

แล้วการลงทุนเปล่าแบบนี้มันคุ้มกับสิ่งที่เสียไปไหม

     เรามองว่าการเสียแค่นี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรอยู่แล้ว เราไม่ใช่คนดัง ไม่ได้มีมูลค่าทางการตลาด เราคิดว่าเราทำต่อได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นการเสียสละอะไรมากมาย เราก็แค่คนเล่าเรื่องคนนึง ถามว่าคุ้มไหม เราก็ไม่ได้คิดถึงความคุ้มค่าอะไร คิดแค่ว่าสิ่งที่อยู่ในหัวมันออกมาเป็นภาพแล้ว เออ มันใกล้เคียงนะ ออกมาดีเลย อยากให้คนมาดูจัง แค่นั้นมากกว่า

ถ้าอย่างนั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดของคุณคืออะไร การมีคนมาดู การที่คนดูได้อะไรกลับไป หรือแค่การได้เห็นสิ่งที่คุณเขียนออกมาเป็นภาพก็พอใจเแล้ว

     แค่มีคนมาดูแล้วชอบ เราก็พอใจแล้ว หากมีคนหรือพิพิธภัณฑ์มาซื้อไป เราก็คงดีใจมาก แต่เราไม่ได้หวังขนาดนั้น คิดแค่ว่าขอให้ได้ทำออกมาก่อน แล้วมันใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิด จบแล้ว หลังจากนี้มันไม่ได้อยู่ในมือของเราแล้ว คุณจะไปด่ามัน ชอบมัน หรืออะไรกับมันก็เรื่องของคุณแล้ว

ขอย้อนกลับไปที่คุณชอบความเซอร์เรียล ในประเทศที่ทุกอย่างมันเซอร์เรียลมากๆ แบบนี้ คิดว่าศิลปะแบบไหนถึงจะถ่ายทอดออกมาได้หมด ศิลปินอย่างเราจะก้าวตามยังไงให้ทัน

     ยากมาก เราว่าถ้าจะมีอะไรที่สะท้อนสิ่งนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือสิ่งที่มันเป็นอยู่นี่แหละ สิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ คือไม่ต้องไปทำอะไรหรอก แค่ออกไปมองข้างนอกก็เจอเรื่องเซอร์เรียลเต็มไปหมดแล้ว ไอ้ศิลปะที่เราทำๆ กันอยู่เนี่ยแม่งกระจอกไปเลย

ถ้าพูดในฐานะนักเขียนคนนึง คุณคิดว่างานเขียนมีพลังมากแค่ไหนในปัจจุบัน

     เราว่าอิทธิพลของงานศิลปะหรือวรรณกรรมลดลงเยอะนะ อย่างที่รู้กันว่ามีสื่อเกิดขึ้นมากมาย งานเขียนก็ไม่ได้มีอำนาจเท่าเดิมอีกต่อไป แต่ในเมื่อเราโตมาแบบนี้ เราถนัดในการทำงานแบบนี้ แล้วเรายังมีความสุขในการทำงานนี้ เราก็จะทำมันต่อไป ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าต้องอยู่กับมันไปจนตาย หรือแม้กระทั่งไม่ได้คิดว่าจะต้องอนุรักษ์มันให้อยู่ตลอดไปขนาดนั้นด้วย ถ้ามันไม่เข้ากับบริบทสังคมแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สนใจแล้ว เราจะไปทำอะไรได้ สักวันนึงเราอาจจะไม่ต้องทำงานเขียนแล้วก็ได้

     หรือถ้ามันยังมีอำนาจ ก็คงเป็นอำนาจแห่งการจุดประกายหรือการเป็นต้นทุนมากกว่า อย่างหนังดีๆ หลายเรื่องที่เราดูกันก็เกิดจากนิยาย เราคิดว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะการส่งต่อแรงบันดาลใจ

     แต่ถ้าถามในเชิงเครื่องมือคัดง้างอำนาจ เราก็จะตอบเหมือนเดิมว่าลำพังตัวมันเองไม่มีพลังมากพอหรอก แต่เราเชื่อในการทำซ้ำนะ เราเชื่อในการสะสมพลังไปเรื่อยๆ การทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเล็กๆ น้อยๆ ส่งต่อกันไปแล้วสักวันมันจะกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมาในอนาคต งานศิลปะตอนนี้อาจจะไม่ได้มีพลังมากมาย แต่เราเชื่อว่ามันต้องทำว่ะ ต้องทำจริงๆ ซึ่งทุกคนก็พยายามอยู่ เพียงแต่คนในโลกออนไลน์เขาล้ำเราไปไกล

พอโลกออนไลน์ล้ำหน้าไปไกลอย่างที่ว่า แล้วแบบนี้ที่ทางของงานวรรณกรรมจะไปอยู่ตรงไหน

     ถ้ามองในแง่อาวุธทางการเมือง เราว่าตอนนี้มันอยู่ในระดับท้ายๆ ของสื่อแล้ว เพราะคุณต้องมาอ่าน ต้องมาตีความ ไอ้เชี่ย คนเขียนจะบอกอะไรกูวะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองว่ามันคือศิลปะชิ้นนึง วรรณกรรมคือการทำความเข้าใจชีวิต การเรียนรู้มุมมองคนเขียน ถอดประสบการณ์จากข้อเขียนนั้น วรรณกรรมยังทำงานของมันอยู่ในเชิงศิลปะและวรรณศิลป์

     ความนิยมที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของมันต่ำลง คุณค่าของวรรณกรรมยังอยู่ เพียงแค่คนที่มองเห็นคุณค่าอาจจะไม่ได้มีมากเท่าเมื่อก่อน คนอาจจะไปเห็นคุณค่าของสิ่งอื่นมากกว่า ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดอะไร

การเห็นสิ่งที่ตัวเองรักและยึดเป็นอาชีพค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปแบบนี้ ทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญกับวิกฤตวัยกลางคนในการทำงานบ้างไหม

     เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเป็นคนล้าหลัง อาจจะตกรุ่น ตกขบวนไปแล้ว เด็กในยุคใหม่ๆ คงไม่ได้อ่านหนังสือแบบที่เราเขียนแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้เราหยุดเขียนไง ตราบใดที่ยังมีคนอ่าน เรายังสนุกกับมันอยู่ เราก็จะทำต่อ

     เราไม่ได้เป็นคนทะเยอทะยานอะไร ไม่ได้อยากเขียนหนังสือหรือทำงานศิลปะเพื่อเป็นคนดังหรือเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด เราแค่รู้สึกว่าถ้าได้ทำ สนุกที่ได้ทำ มันก็จบเลย แน่นอนถ้าทำงานออกมาแล้วคนถามว่าใครคือจิรัฏฐ์วะ มันก็เสียเซลฟ์แหละ แต่มันไม่ใช่โจทย์หลักของชีวิต 

แปลว่ากระแสตอบรับไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่คุณเอามาคิดว่าจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ที่สำคัญจริงๆ คือตัวเองยังอยากทำอยู่หรือเปล่า

     ที่สำคัญจริงๆ คือเราอยากรวย

จริงไหมเนี่ย

     ใครจะไม่อยากรวยวะ (หัวเราะ) เราก็อยากมีชีวิตสบายๆ เหมือนกัน แต่ไอ้สิ่งที่เราเลือกทำมันไม่ได้นำไปสู่สิ่งนั้นแต่แรกไง เราเลยไม่ได้คิดว่าการเขียนหนังสือจะทำให้เรารวย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ในประเทศนี้ ก็เหลือแค่ความหวังว่าเราอยากทำงานให้มันดี ให้มันไปจุดประกายใครบางคน หรือสร้างบทสนทนาจากสิ่งที่เราเขียน แค่นั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของเราแล้ว

     ไอ้ความอยากรวยที่ว่ามันคือความอยากของคนชนชั้นกลางทั่วไปนั่นแหละ แต่เราเสือกอยู่ในประเทศที่ไม่รองรับ เราก็ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อต่อรองให้เรามีสวัสดิการที่ดี

แล้วคุณคาดหวังอะไรต่อไปในอนาคต

     อยากรวยครับ

อีกแล้วเหรอ…

     พูดเล่น เราไม่ได้มองการณ์ไกลขนาดนั้น เราก็แค่คนคนนึงที่เกิดมาได้ทำอาชีพที่เราอยากทำแล้วก็ตายไป แค่นั้นเลย แค่ได้ทำงานที่เราทำอยู่แล้วแฮปปี้ดี ชีวิตพออยู่ได้ ก็คงจะทำแบบนี้ต่อไป เราเป็นคนเลือกงานพอสมควรนะ เราไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมาย แต่เราโชคดีที่ยังสามารถเลือกทำสิ่งที่สนุกกับมันได้ พรุ่งนี้คิดอะไรออกก็หาเวลาทำมัน

     ส่วนเรื่องการดันบาร์ที่บอกไป เราว่ามันจะมาของมันเอง มันไม่ใช่เป้าหมายหลัก เราก็แค่ทำส่วนของเราไป การทำอะไรสักอย่างออกมามันก็สร้างแรงกระเพื่อมได้แล้ว

     การต่อต้านเป็นเหมือนด้านกลับของการถูกหล่อหลอมให้จงรักภักดี ถ้าเราฝังมันไว้ในชีวิตประจำวัน ผ่านศิลปะ ผ่านสิ่งที่เราเห็นได้โดยทั่วไป สิ่งเหล่านั้นก็จะปลูกฝังให้เรากลายเป็นคนต่อต้าน มันจะทำงานโดยอัตโนมัติ ต่อให้มันจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม มันคือการปลูกฝัง เพราะฉะนั้นถ้ารัฐจะปลูกฝังเรื่องอะไร เราก็จะฝังเรื่องราวในแบบของเราไปคู่กัน