Thu 27 Jan 2022

PRINTING UNIVERSE

จักรวาลสิ่งพิมพ์ของ นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ ผู้พา My Kitchen Out Of Eden’s หนังสือที่ทำเองทุกขั้นตอนไปวางขายในต่างประเทศ

     คนที่นั่งตรงข้ามเราคือ ‘เด่น—นิรามย์ วัฒนสิทธิ์’

     หากคุณรู้ เขาคือเจ้าของ Eden’s คาเฟ่ที่ใช้ตึกเก่าบนถนนหลานหลวงเป็นที่ตั้งพร้อมเสิร์ฟมื้อเช้าถึงสายตบท้ายด้วยเค้กกับกาแฟ หากคุณรู้ละเอียดไปกว่านั้น เขาคือคนที่คลุกคลีในแวดวงสิ่งพิมพ์ หนึ่งในผู้ก่อร่าง Lips LOVE นิตยสารไลฟ์สไตล์ที่รสนิยมดีที่สุดในช่วงเวลานั้น เขาผ่านการทำนิตยสารมาหลายสำนักและกินเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษนับจากวันที่เฟื่องฟูที่สุด จวบจนวันที่นิตยสารทั้งหลายทยอยปิดตัว

     ‘สิ่งพิมพ์ตายแล้ว’ ถูกนำมาใช้พาดหัวจนเกร่อในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล แต่สถานะของนิรามย์ผู้ขลุกอยู่กับสิ่งพิมพ์มาตลอดกลับส่ายหน้าไม่เห็นด้วย แม้เราจะเห็นว่าเขาหยุดจากการทำนิตยสารอันเป็นงานประจำ ก่อนหันหน้าเข้าเตาอบขนมและเปิดร้านเป็นลำดับถัดมา ขณะเดียวกันเราก็ยังเห็นสิ่งพิมพ์หลายฉบับถูกทำออกมาในรูปแบบ self-publishing ทำขายบ้าง ทำแจกบ้าง แต่ไม่เคยหยุดทำ เหล่านี้คงพอจะยืนยันได้ว่านิรามย์ไม่ได้หนีหายจากวงการ เขาเพียงหนีจากการทำนิตยสารแบบเดิม เพื่อกลับมาทำนิตยสารแบบที่อยากทำ (พร้อมกับทำครัวไปด้วย)

     และ My Kitchen Out Of Eden’s จึงเกิดขึ้น

     อย่างรวบรัดที่สุด My Kitchen Out Of Eden’s ไม่ใช่หนังสือสอนทำครัว แต่เป็น ‘การใช้ชีวิต’—ตามนิยามของนิรามย์ เขาหยิบเอาวิถีชีวิตของผู้คนจากทั่วโลกมาบอกเล่าในรูปแบบสิ่งพิมพ์สองภาษา ขนาด A5 พิมพ์สีทั้งเล่ม วางบนแผงหนังสือทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในรูปแบบ Biannual Journal (สองเล่ม/ปี) ต่อเนื่องมากว่าสี่ฉบับแล้ว ฉบับแรก Melbourne ตามด้วยฉบับสอง Visual Conversation / Human Connections ถัดมาฉบับสาม Summer Dreams และฉบับสี่ A Ballad of Homes ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

     โปรเจกต์นี้เริ่มต้นในช่วงล็อกดาวน์ราวเดือนเมษายน 2020 โดยนิรามย์รับหน้าที่ทุกอย่างในทุกกระบวนการที่หนังสือเล่มหนึ่งควรจะมี ตั้งแต่เขียน ติดต่อประสานงาน ออกแบบรูปเล่ม ภาพประกอบ จัดพิมพ์ และจัดจำหน่าย ด้วยทุนของตัวเอง

     ในช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกต่างอยู่ในบรรยากาศอึมครึมของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นิรามย์กลับรู้สึกว่าสภาวะเช่นนี้เหมาะเจาะกับการทำสิ่งพิมพ์อีกครั้งในโอกาสครบรอบสามปีของร้าน จากความคิดตั้งต้นง่ายๆ My Kitchen Out Of Eden’s ฉบับแรกกลับกลายเป็นหนังสือที่ขายหมดเกลี้ยงภายในหนึ่งสัปดาห์ และฉบับถัดมาก็ได้เดินทางไปสู่คนอ่านทั่วโลก

     ทำเอาเราอยากรู้ถึงขั้นอยากเห็นเหมือนกันว่าสิ่งพิมพ์ที่จัดทำด้วยตัวเองในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เล่มนี้กำลังพูดถึงอะไร และสามารถส่งออกไปวางขายบนเชลฟ์ของร้านหนังสืออิสระทั่วโลกได้อย่างไร ชวนขึ้นบันไดสู่ชั้นสองของร้าน Eden’s ที่เป็นทั้งห้องกินข้าว ห้องรับแขก ห้องทำงาน และห้องเก็บสต็อกหนังสือ  

     เรากำลังคุยกับนิรามย์ โดยมีหนังสือกองพะเนินเป็นฉากหลัง

เข้าใจว่าคุณอิ่มตัวกับการทำหนังสือแล้วเสียอีก

     เราไม่ได้อิ่มตัวกับการทำหนังสือ แต่อิ่มตัวกับการทำงานแบบเดิมมากกว่า ต้องยอมรับว่าตอนนั้นที่ทำมันมีบางสิ่งที่ไม่ชอบเลย เราทำนิตยสารมาตั้งแต่ปี 2001 อยู่ในวงจรอุตสาหกรรมนี้มานานจนอาจจะพอตอบได้ว่าทำไมมันถึงค่อยๆ จากไป

     สำหรับเรา เสน่ห์ของนิตยสารหายไปเพราะการกลืนของแอดเวอร์ทอเรียล เอดิทอเรียล และคอมเมอร์เชียล เราเขียนแอดเวอร์ฯ มาแต่แรก ไปนั่งสัมภาษณ์ดาราหรือเซเลบริตี้ พูดตรงๆ ว่าไม่เห็นรู้สึกว่ามันดีเลย แต่นั่นคือชาลเลนจ์ในตอนนั้นของเรา คือต้องทำให้มันสตรองหรือจับจุดที่ดีที่มีออกมาให้ได้เพื่อให้ลูกค้าแฮปปี้กับสิ่งนี้ และนิตยสารก็มีทุนซัพพอร์ตตอบแทน

     เราเกิดคำถามกับตัวเองว่า เพราะน้ำหนักของคอนเทนท์และบทบาทของ Advertising หรือเปล่าถึงทำให้หนังสือไม่น่าสนใจ แต่เราในวัยนั้นก็เอ็นจอยกับการได้เดินทาง ได้เห็นโน่นนี่ และก็ยอมรับว่านี่คือพริวิลเลจแบบหนึ่ง และรู้สึกขอบคุณกับทุกสิ่งที่เคยได้ทำ ทั้งหมดมันทำให้เราได้เรียนรู้และซึมอยู่ในตัวเรา

นิยาม My Kitchen Out Of Eden’s ว่าเป็นสิ่งพิมพ์แบบไหน เป็นหนังสือ นิตยสาร…

     ตอนแรกเรียกว่า journal แต่ตอนมีเล่มสาม บางคนก็เรียกว่านิตยสาร แต่จริงๆ จะเรียกว่าซีน (zine) หรือหนังสือก็ได้อีก เพราะนิตยสารมันมีไทม์มิ่งของเนื้อหากับโฆษณา แต่สิ่งที่เราทำคือ no ads magazine ที่จะกลับมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนเราทำเล่มสี่ก็มีคนออร์เดอร์เล่มสองไปอ่าน หรือร้านที่ปารีสก็เพิ่งสั่งเล่มล่าสุดไปขายซึ่งพิมพ์เสร็จตุลาคมปีที่แล้ว ตอนแพ็กก็คิดว่ากว่าจะไปถึงฝรั่งเศสคงเก่าแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ได้ติดอะไร ต่อให้เขียนหัวว่า Holiday 2021 ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเก่า และพร้อมจะวางหนังสือของเราบนเชลฟ์ เราเลยคิดว่าจะเรียกนิตยสาร ซีน หรือหนังสือก็ได้หมดเลย

งั้นเราขอเรียกว่าหนังสือ อยากรู้ว่าคุณเริ่มต้นทำหนังสือเล่มนี้ยังไง

     เราไปเที่ยวเมลเบิร์นช่วงซัมเมอร์ปี 2019 และไปด้วยความตั้งใจว่าจะไปทำหนังสือเพื่อฉลองร้าน Eden’s ครบรอบสามปี ซึ่งความอยากนี้มีแรงบันดาลใจมาจากร้าน DINER ร้านอาหารที่ชอบมากที่นิวยอร์กซึ่งมีสิ่งพิมพ์ของตัวเอง (DINER JOURNAL ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว)

     เราอยากทำ city guide เพราะปกติช่วงพักร้อนเราจะเที่ยวทุกปี ก็พกกระดาษหนึ่งปึกพับใส่กระเป๋า ทำการบ้านเรื่องร้านที่อยากเข้าไป คนที่อยากคุย กลับมาไทยพร้อมต้นฉบับและรูปในมือถือ ปรากฏว่ากลับมาได้สองวันปุ๊บ (เว้นช่วง) ล็อกดาวน์ (ถอนหายใจ) ก็เลยโอเค งั้นหยุดก่อน เพราะมีหลายเรื่องให้คิด ทั้งร้านปิด ทั้งจะเอาเงินจากไหนมาพิมพ์

แล้วเอาเงินจากที่ไหนมาพิมพ์

     ต้องเล่าก่อนว่าทีมเรามีสามคน มีตัวเอง มีน้องกราฟิกฯ ดูแลอาร์ตเวิร์ก กับเพื่อนอีกคนช่วยแปลและอีดิตภาษาอังกฤษให้ทั้งเล่ม ด้วยความกระตือรือร้น เราเลยส่งงานให้กราฟิกฯ ทำไปด้วยระหว่างที่อยู่เมลเบิร์น คือคิดไว้ว่าจะมีอะไรบ้างแล้วสเกตช์ขึ้นมาเป็นเลย์เอาต์ พอกลับมาเจอเรื่องล็อกดาวน์ก็ลืมไปแล้วล่ะ แต่ช่วงล็อกดาวน์น้องกราฟิกฯ คงว่างพอดี เขาทักมาบอกว่าจัดบางส่วนเสร็จแล้วนะ เราก็ เฮ้ย ลืมไปแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งพอมีงานในมือแล้ว คิดว่ายังไงก็ต้องหาเงินมาพิมพ์ให้ได้ เราเลยทำเค้กกล่องขาย แล้วพิมพ์รอบแรก 150 เล่มก่อน

แปลว่าผลตอบรับเล่มแรกค่อนข้างดีเลยมีเล่มอื่นๆ ตามมา

     ขายหมดภายในสัปดาห์เดียว เราว่ามันเป็นช่วงที่คนอยู่บ้าน ไม่รู้จะทำอะไร และการที่เรากลับมาทำหนังสือในช่วงนั้นมันคงน่าตื่นเต้นสำหรับคนอ่าน หลายคนเชียร์ให้เอาอีกๆ จนเราสั่งพิมพ์เพิ่มอีก 500 เล่มก็คือหมดเกลี้ยง

     แต่สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำต่อไม่ใช่แค่เพราะขายหมด มันมีข้อความที่ส่งมาบอกว่านี่คือสิ่งที่อยากอ่าน หรือบางคนบอกว่าเป็นแฟนคลับ (หยุดคิด) ใช้คำนี้แล้วดูตลกนะ แต่เขาบอกว่าตามมาตั้งแต่สมัยเราทำนิตยสาร เราเลยรู้สึกว่ามันมีที่ทางของตัวเอง มันไปได้และต้องทำต่อ

การทำหนังสือโดยไม่มีสปอนเซอร์ เท่ากับว่าต้องพึ่งพายอดขายอย่างเดียว คุณคิดเรื่องเงินมากน้อยแค่ไหนในการลงมือทำ

     ด้วยความที่เราเป็น self-publishing ไม่ได้ใหญ่โตหรือผลิตจำนวนมาก เราบอกคนที่ทำงานด้วยตลอดว่าเรามีให้แค่นี้นะ ไม่เคยบอกใครว่าเราจะโตไปด้วยกัน ถ้าอยากทำด้วยกันก็ทำ แค่นั้นเลย กำไรที่ได้เอามาเป็นทุนสำหรับทำเล่มต่อไป ถ้าเหลือมากหน่อยก็เอาไว้เป็นค่าส่ง DHL (หัวเราะ) จะตอบว่าไม่คิดถึงตัวเลขเลยเป็นไปไม่ได้ แต่คิดว่าเอาที่ตัวเองไม่เดือดร้อน มีตังค์ทำเล่มต่อไป และมีตังค์ให้ค่าตอบแทนมากกว่าเล่มแรกก็พอ

สังเกตว่าเล่มแรกคุณเลือกที่จะไม่ใส่ Issue 1 เป็นเพราะตอนนั้นไม่แน่ใจว่าจะได้ทำต่อหรือเปล่า

     ใช่ เพราะคิดแค่ว่าจะทำครบรอบสามปี ถ้าไม่มีคนซื้อหรือขาดทุนก็ถือว่าเอาเงินไปเป็นงบพีอาร์ร้าน หรือแจกลูกค้าแทนคำขอบคุณก็ได้ แต่พอขายได้มันก็ชื่นใจ ก็เลยตั้งใจจะออกเล่มถัดไปช่วงปลายปี (2020) เป็น Holiday Issue แต่ปัญหาอยู่ที่เราวางเล่มแรกให้เป็น city guide แถมเขียนบนปกไปแล้วว่าเมลเบิร์น เล่มต่อไปก็คิดว่านิวยอร์ก ปารีส ต้องมาแน่ แต่พอเดินทางไม่ได้ก็ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงต่อ จนวันหนึ่งได้คุยกับเพื่อนที่อังกฤษชื่อออเดรย์ (Audrey Ang) เป็นแฟชั่นติวเตอร์อยู่ที่ Central Saint Martins อัพเดตกันว่าโควิด-19 เปลี่ยนชีวิตมาก ออเดรย์บอกว่าฉันก็ไม่มีงานสอน เราเลยเล่าให้เขาฟังว่าอยากทำนิตยสารเล่มสอง แต่จะทำยังไงในเมื่อเดินทางไม่ได้ เขาก็พูดขึ้นมาว่านี่คือช่วงเวลาของ human connection มันเหมือนดีดนิ้วเลย เราขอไอเดียนี้จากเขามาทำเล่ม Visual Conversation / Human Connections แล้วก็ชวนเขามาเป็น guest contributor ด้วย เพราะออเดรย์มีสวนเล็กๆ อยู่ในบ้าน ความสุขของเขาคือการทำสวน ก็ให้เขาเขียนเรื่องสวน พอเขาเห็นเราทำออกมาเป็นเล่ม ออเดรย์บอกว่าอย่าเลิกทำเลย การเดินทางไม่ได้เป็นอุปสรรคของการทำหนังสืออีกแล้ว

คุณเลือกคนที่จะเข้ามาอยู่ในแต่ละเล่มจากอะไร

     ตอนแรกค่อนข้างส่วนตัว เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว รวมถึงคนที่อยู่รอบตัวก็มีความน่าสนใจ เราเห็นสิ่งพิเศษหรือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของทุกคน เราเคยไปกินข้าวบ้านอพอลลีน (Apolline Malka) ตอนที่เขาอยู่ปารีส ซึ่งเป็นมื้อที่ดีมาก ตอนนี้เขาย้ายไปอยู่เทลอาวีฟ (เมืองชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศอิสราเอล) เราอยากเห็นโต๊ะกินข้าวที่บ้านหลังใหม่ของเขา ก็ให้เขาส่งมา พอเขาส่งมาปุ๊บ เรารู้เลยว่าเธอยังเป็นเธอ แค่เปลี่ยนสถานที่ไปเท่านั้น ทำให้เห็นตัวตนของแต่ละคนชัดมาก เราเห็นว่าไอเดียนี้มันเวิร์ก เลยเริ่มอีเมลหาคนรู้จัก คนใกล้ตัวที่เราอยากคุย แล้วสิ่งนี้มันสามารถแชร์กับคนอ่านได้ด้วย

     จากนั้นก็เริ่มตั้งโจทย์ใหม่ว่าถ้าลองไปไกลกว่าคนที่เรารู้จักล่ะ เราเลยส่งอีเมลไปหาปีเตอร์ (Peter Som) ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ เราเห็นเขาทำอาหารจริงจังทุกวันในอินสตาแกรม รู้สึกว่าคนนี้น่าสนใจจัง พอได้รับอีเมลตอบกลับ ก็รู้สึกเลยว่าโลกมันใกล้ขึ้นแล้ว

     มันอาจจะเป็นช่วงที่หลายคน lost หรือเกิดคำถามกับชีวิต มันน่าเบื่อ มันอยู่บ้าน แต่จนถึงตอนนี้มันก็เปลี่ยนวิถีชีวิตเราไป อย่างตรงนี้ (ชี้ไปรอบบริเวณชั้นสองของร้านที่เรากำลังนั่งคุยกัน) จากที่เคยกินข้าวกับเพื่อนด้วยกันแทบจะทุกเดือน สองปีที่ผ่านมานี้นับครั้งได้เลย แต่เราก็ยังอยากพูดคุยกับคน ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก มันเป็นช่วงเวลาที่เราได้แชร์อะไรบางอย่างร่วมกัน

     คนที่เคยอ่านเล่มแรกบอกว่าเล่มสองมันหม่นๆ อ่านแล้วเศร้า การได้ยินอะไรแบบนี้เรารู้สึกว่า success เพราะนั่นแปลว่าเราดึงโมเมนต์หรือความรู้สึกของคนในช่วงนั้นออกมาลิงก์กันได้จริงๆ ทั้งเราเองที่เป็นคนทำ คนที่เราคุยด้วย และคนอ่าน ไม่มีใครรู้สึกต่างกันเลย สุดท้ายมันคือโซลูชั่นว่าแต่ละวันจะมีชีวิตต่อไปยังไงให้ยังพอแฮปปี้ได้ เหมือนเป็นแก่นของหนังสือที่ว่า ‘No matter where you are, you can have good life’ หมายความว่าในเรื่องที่เรายังคอนโทรลได้ อย่างน้อยเราก็ควรจะสร้างคุณภาพชีวิตในแต่ละวันเท่าที่เราทำได้

เท่ากับว่าทั้งในแง่ของเนื้อหา การจัดรูปเล่ม หรือใดๆ ไม่มีฟอร์แมตเลย แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงความสนใจช่วงนั้นๆ

     คอนเซปต์หลักหรือธีมเล่มเปลี่ยน แต่แก่นไม่เปลี่ยนเลย เพราะเราทำเรื่องที่รู้สึกว่าอยากอ่าน ตอนนี้มันหายากมากเลยนิตยสารที่อยากอ่านทั้งเล่มน่ะ

หมายถึงในไทยหรือต่างประเทศ

     เราโตมากับนิตยสารไทย เราชอบและเรียนรู้เยอะมากทั้งในฐานะคนอ่านและคนทำ แต่ช่วงเวลานั้นมันเหมือนจบไปแล้ว พอเรียนจบเริ่มมีเงิน เราก็ซื้อหนังสือต่างประเทศด้วยมาตลอด ซึ่งตอนนั้นมันเต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่หลังๆ มันน้อยลงมากเลย กลายเป็นว่าความตื่นเต้นจะเกิดขึ้นตอนไปจตุจักรแล้วเจอเล่มที่เคยมีแต่ทำหายไปแล้วได้กลับมา หนังสือแต่ละเล่มที่เราหยิบมาอ่านในตอนนี้มันยังไม่คอมพลีตทั้งหมด ยังมีส่วนที่แหว่ง ส่วนที่อยากรู้เพิ่ม มันมีคนที่อยู่ในใจที่ถ้าเราทำจะต้องมีพวกเขาในเล่ม ซึ่งการทำ My Kitchen Out Of Eden’s ก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องไม่มีหนังสือที่เราอยากอ่านด้วยส่วนหนึ่ง อย่างสมัยที่ทำ Lips LOVE กับตูน (กัญจน์ สุวรรณธาดา เจ้าของร้าน Alex & Beth) ก็เหมือนกัน พวกเราชอบ ELLE Decoration UK, Martha Stewart Living, The World of Interiors และ Bon Appétit เลยเอาความชอบพวกนี้มารวมกันให้เป็นแบบเรา คำถามของเรา วิธีคิดแบบเรา จริตแบบเรามันก็ไม่เหมือนสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี กับการทำ My Kitchen Out Of Eden’s ก็ใช้วิธีคิดเดียวกันกับตอนนั้น

การพา My Kitchen Out Of Eden’s ไปถึงคนอ่านในที่อื่นๆ รวมถึงการวางขายที่ต่างประเทศ เป็นการแพลนไว้แต่แรกเลยไหม หรือจับพลัดจับผลูไปได้ยังไง

     เราตั้งใจทำสองภาษาตั้งแต่เล่มแรก เพราะไม่ได้อยากขายแค่เมืองไทย ก็ถือเป็นชาลเลนจ์ใหม่ว่าถ้าทำเป็นสองภาษาคือใครๆ ก็อ่านได้ มันจะออกมาเป็นยังไง แต่ก็คิดไว้แค่นี้ ส่วนขั้นตอนหรือการได้วางขายเป็นสัญชาตญาณล้วนๆ คือใช้เซนส์ทั้งหมด แต่ไม่ใช่สายมูอะไรแบบนั้นนะ (หัวเราะ) หมายถึงเราอาจจะโชคดีหรือจังหวะดีที่พอทำเล่มสาม เราลองไปชวนนาตาลี (Nathalie Lété ศิลปินชาวฝรั่งเศส) ซึ่งไม่ได้รู้จักกันส่วนตัวมาอยู่ในเล่มด้วย พอเขาโพสต์ลงอินสตาแกรม มันสร้างคอมมิวนิตี้ใหม่ให้เรา หนังสือเลยเริ่มกระจายไปอยู่ส่วนต่างๆ ของโลก แม้การทำหนังสือจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเงิน แต่พอได้เห็นหนังสือของเราไปอยู่ที่นั่นที่นี่ มีคนต่างชาติซื้อหนังสือของเราที่ทำเป็นภาษาอังกฤษ มันละลาย boundary ไปหมดเลย สิ่งที่เราทำ ที่ที่เรายืน หรือที่ที่เราทำงานอยู่มันคือตรงนี้ก็จริง แต่เราไม่ใช่ไทยแท้แล้วล่ะ (หัวเราะ) เราเป็นประชากรโลก สิ่งที่เราพูดมันเป็นสากล คนอ่านพร้อมจะอ่านอะไรก็ไม่รู้ที่มันมีภาษาไทยอยู่ด้วยนิดหน่อย ซึ่งมันพิสูจน์แล้วว่าอเมริกันอ่านได้ ปารีสอ่านได้ สเปนอ่านได้ รวมถึงเอเชียก็ยังไม่หลุด

     ส่วนการได้วางขาย เริ่มจากตอนไปนิวยอร์ก เราแพ็กหนังสือใส่กระเป๋าไปด้วย 15 เล่ม กะว่าเอาไปแจกเพื่อนที่นู่น ถ้าเหลือก็เอาไปโปรยบนถนนว่าหนังสือเรามาถึงนิวยอร์กแล้ว ระหว่างทางก็แวะไปที่ร้าน CASA Magazines ซึ่งเป็นร้านขายนิตยสารที่เราชอบมาก วันนั้นรู้สึกจะมีหนังสือในกระเป๋าอยู่เจ็ดเล่ม ก็เดินเข้าไป แนะนำตัวว่าฉันทำนิตยสาร ถ้าอยากจะวางขายที่นี่เป็นไปได้ไหม เขาถามว่าจะขายเท่าไหร่ เราก็ตอบว่าราคาไทย 340 บาท ก็คือ 10 ดอลลาร์สหรัฐ เขาหยิบหนังสือไปพลิกดูก่อนส่งคืนแล้วบอกว่าเล่มนี้ขาย 15 ดอลลาร์สหรัฐก็ได้ คุณติดราคาแล้ววางได้เลย เราก็ช็อก ยืนน้ำตาหยดอยู่ในร้าน สัปดาห์นึงผ่านไป เราแวะไปถามว่าเป็นไงบ้าง เขาบอกขายหมดแล้ว เหมือนพลังมันมา มันดีใจไปหมด นิวยอร์กเป็นเมืองที่คนอ่านหนังสือ ทำให้เรารู้สึกอยู่ถูกที่ถูกทาง หลังจากนั้นก็อีเมลหาร้าน McNally Jackson ซึ่งก็ให้วางขายเหมือนกัน

     ความน่ารักอย่างหนึ่งของร้านหนังสืออิสระ คือเขาจะมีคอมมิวนิตี้ของตัวเอง อย่างที่ไทยเราเริ่มจากการวางที่ร้าน Vacilando Bookshop ก่อน ปิ่น (วิทิต จันทามฤต) เห็นหนังสือแล้วชอบเลยเอาไปวาง ปรากฏว่า Basheer Graphic Books ที่สิงคโปร์เห็นก็เลยสั่งไป ตอนไป Head Hi ร้านหนังสือและคาเฟ่ที่บรูกลิน พอเห็นว่าพื้นที่ร้านเขาไม่ได้มีมาก ก็คิดในใจว่าถ้าต้องส่งมาขายถึงที่นี่คงไม่คุ้มมั้ง แต่กลายเป็นว่าเขาไปเห็นเองจากร้านอื่นก็อีเมลมาสั่ง หรือ Astier de Villatte แบรนด์เซรามิกของฝรั่งเศสที่เราก็ชอบจานชามของเขา เขาก็ไปเห็นเอง ซึ่งถ้าถามว่ามันผิดที่ผิดทางไหมที่นิตยสารไปอยู่ในร้านเซรามิก เราก็ว่าไม่

     ตอนนี้หนังสือของเราได้อยู่ในที่ที่อยากอยู่หมดแล้ว หรือบางที่เขาก็อยากให้เราไปอยู่เอง มันคือรางวัล

ทำไมแต่ละฉบับต้องมีปกให้เลือกมากกว่าหนึ่ง เป็นการตามใจคนทำ อยากเอาใจคนอ่าน หรือเป็นเรื่องมาร์เก็ตติ้ง

     เอาซื่อๆ เลยนะ เพราะชีวิตเราเลือกอะไรได้ไม่เยอะ อย่างน้อยให้ปกหนังสือเลือกได้หน่อยเถอะ (หัวเราะ)

     เราไม่ชอบเวลาคนบอกว่าอย่าตัดสินหนังสือจากปก ดีไซน์มันบอกอะไรกับเราเสมอ อันนี้เป็นความดื้อ เป็นความเถียงในใจ และถ้าถามว่ามาร์เก็ตติ้งด้วยไหม เราก็ว่ามันเกี่ยวนิดหน่อย เล่มหน้ายังไงก็ต้องมีปกดอกไม้อีก คือไม่ใช่แค่เรื่องของการขายอย่างเดียว แต่มันคือความเชื่อใจของลูกค้า เพราะสำหรับเขา Eden’s คือความหวาน และความชุ่มชื่น เราต้องมีดอกไม้ให้เขา อย่างปกนี้ (หยิบปกที่หน้าปกเป็นอินทีเรียร์ขึ้นมา) เรารู้เลยว่าคนจะไม่ค่อยเลือกหรอก การมีหลายปกเป็นการเรียนรู้ การทดลอง และความสนุก ทั้งของคนทำของคนอ่าน เราชอบเวลาคนยืนเลือก (ทำท่าลังเลเลือกไม่ได้) แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเธอต้องซื้อสองเล่มเพราะเธอเลือกไม่ถูกนะ แต่อยากให้คนได้มีสิทธิเลือก

เท่าที่ฟังมาทั้งหมด คุณดูเป็นนักวางแผน แต่ก็มีอิสระ ขณะเดียวกันก็เหมือนจะมีอิสระเต็มที่ แต่จริงๆ แล้ววางแผนอยู่ตลอดเวลา

     เราเป็นคน (หยุดคิด) ไม่ซับซ้อนหรอก แต่ทุกคนก็ไม่ได้มีเลเยอร์เดียว ทุกอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติ จากประสบการณ์ทำให้เราอ่านเกมได้ง่ายขึ้น เลยเหมือนจะดูเป็นคนที่วางแผน แต่ความเป็นจริงเรา practical มากนะ

     อย่างการทำขนมหรือหนังสือก็เหมือนกัน เราตั้งคำถามว่าความพิเศษนี่มันต้องขนาดไหนกัน เพราะเราเชื่อว่าหน้าตาเรียบๆ แบบนี้ก็น่าสนใจได้ ขนมที่เราอยากกินคือแค่นี้ (ชี้ไปที่จานขนมบนโต๊ะที่กินไปแล้วครึ่งหนึ่ง) เราก็ไม่จำเป็นต้องโรยดอกไม้เลย (พูดถึงการแต่งหน้าเค้กด้วยดอกไม้) นั่นคือความคิดแรก แต่ลึกๆ ย้อนกลับเข้าไปในสมอง เรารู้ว่าดอกไม้คือต้นทุน จะเพิ่มมันขึ้นมาทำไมในเมื่อเราเองก็ไม่ได้ชอบ

     ในความอิสระเลยมีการวางแผน (ยิ้ม) และคิดทุกอย่าง ถ้าถามว่าความคิดมากนี่มันดีไหม สำหรับเรา เรารู้ว่าแค่ไหนถึงพอดี แต่เอาเข้าจริงเราคอนโทรลไม่ได้ทั้งหมดหรอก แค่ทำทุกอย่างจากตัวตนของเรา

อยู่ที่นี่คุณเป็นที่รู้จักประมาณนึง อาจจะในบทบาทอดีตบรรณาธิการ, Creative Director หรือเด่น Eden’s แต่พอไปที่อื่น คุณเดินแบกหนังสือทีละสิบเล่มไปแนะนำตัวและขอวางขายตามร้าน สำหรับคุณการทำ My Kitchen Out Of Eden’s  เป็นการลดอีโก้แบบหนึ่งด้วยหรือเปล่า

     เราชอบความรู้สึกนั้นมากเลย เป็นความรู้สึกว่าเราตัวเล็ก และเราควรต้องกลับไปสู่สิ่งนี้บ้าง นี่คือสิ่งที่เราสอนตัวเองไม่ได้ไปมองใครแล้วรู้สึกว่าฉันจะไม่เป็นแบบคนนี้นะ แค่รู้สึกว่าสิ่งสำคัญคือเราต้อง keep your feet on the ground เสมอ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ทำนะ สิ่งที่ทำไม่จำเป็นต้อง on the ground แต่ตัวคุณน่ะต้อง on the ground 

     เวลาติดต่อคนมาลงหนังสือ เราแนะนำตัวว่าฉันเคยทำนิตยสารเพื่อจะบอกว่าเรารักสิ่งนี้ ไม่เคยบอกว่าทำอะไรหรืออยู่ตำแหน่งไหนมาก่อน การเอาพวกคนรู้จักมาลงมันเป็นการขายอย่างหนึ่งสำหรับเรา แต่การเอาคนที่ไม่รู้จักส่วนตัวมาลงในหนังสือได้มันน่าสนใจกว่า เวลาคนอ่านถามว่ารู้จักคนนี้เหรอ มันก็จะย้อนมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมเราต้องรู้จัก เราอยู่ในสังคมที่ทำให้เกิดคำถามแบบนี้ (หัวเราะ) ทำไมต้องถามหาคอนเนกชั่น เมื่อมันคอนเนกต์กันได้ด้วยการที่เขามองเห็นสิ่งเดียวกับเรา

แต่คุณก็ดูไม่เคยห่างจากสิ่งพิมพ์ เห็นได้จากสมุดบันทึก กระดาษรองจานรองแก้ว กระดาษห่อขนม และสิ่งพิมพ์อื่นใดที่พบเห็นได้ในร้าน Eden’s

     นี่คือพลังจักรวาล (ตอบทันที) ด้วยความบังเอิญที่ถนนเส้นนี้ (ถนนหลานหลวง) เป็น publishing ทั้งหมด เรามีโรงพิมพ์โรเนียวบ้านๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากร้าน เราก็พิมพ์กับเขา ด้วยงบที่ไม่ได้เยอะ ต้องการประหยัด หรืออะไรก็ตาม แต่เราพูดได้ว่านี่คือเซนส์ของ neighborhood

     คนฝรั่งเศสมาเห็นพวกสิ่งพิมพ์อะไรต่างๆ ในร้านแล้วเขาบอกว่าดีจังเลย ที่ปารีสไม่มีพื้นที่ creativity แบบนี้ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับ creativity หรอก แต่มันคือ possibilities หรือเปล่า ยกตัวอย่างกระดาษรองจาน อยู่เมืองไทยค่าพิมพ์แผ่นละสองบาท เราจ่ายได้ ถ้าอยู่ปารีสค่าพิมพ์อาจจะสองยูโร ใครจะพิมพ์

     ตอนเรียนมัธยม เรานั่งรถเมล์ผ่านเส้นนี้ตลอด เพราะเป็นทางกลับบ้าน เราเลยชินและชอบถนนเส้นนี้มาก แล้ววันหนึ่งเขาก็โยนให้เรามาอยู่ตรงนี้ เป็นร้านอาหารที่มีโรงพิมพ์ มีโต๊ะกินข้าวที่เป็นโต๊ะทำหนังสือ เราได้กลับมาทำอะไรให้กับย่านที่เคยอินสไปร์เรา เรากลับมาทำอะไรให้ที่นี่ สุดท้ายมันจะลิงก์กับแต่ละสิ่งที่เข้ามาโดยอัตโนมัติ มันคือเรื่องของแรงดึงดูด การยอมรับ ความเชื่อ โอกาส ความพอดี ไม่รู้สิ มันคือความจริงใจ (นิ่งคิด) มันคือ value

     คำพวกนี้มันวนเวียนอยู่

     สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อหนังสือ My Kitchen Out Of Eden’s ฉบับที่ 2, 3 และ 4 (จากราคาเต็ม 340 บาท พิเศษสำหรับคนอ่าน CONT. ลดเหลือ 300 บาทเท่านั้น) ได้ที่คอนต์วีเนี้ยนสโตร์