WRITE TRIP
การเดินทางกว่า 40 ปีในเส้นทางนักวาดของ ‘พี่นิค ขายหัวเราะ’ กับวันที่ยังอยากเขียนการ์ตูนให้คนอ่านอารมณ์ดีไปนานๆ
เรื่อง: ชนัดดา ตันนพรัตน์
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
หากหนังสือเปรียบเสมือนเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่เคียงข้าง ไม่ปล่อยให้รู้สึกเคว้งคว้าง เหงาหงอย เราเชื่อว่าตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของหลายคนได้พบและมีจำนวนเพื่อนมาแล้วเกินสิบมือนับ ทั้งเพื่อนที่ความชอบตรงกัน เพื่อนที่เข้ากันไม่ได้ เพื่อนที่เข้ามาเติมเต็มสีสันในช่วงหนึ่งของชีวิต ไปจนเพื่อนที่ถูกเก็บเอาไว้ในความทรงจำ วันไหนที่เหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวก็กลับไปหาใหม่
สำหรับเรา ขายหัวเราะ สำหรับเราเป็นเพื่อนแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่ถึงกับสนิทชิดเชื้อ เป็นเพื่อนที่ได้รู้จักตั้งแต่อยู่ประถมปลายสมัยราคาฉบับละ 12-15 บาท แต่ก็ถือเป็นเพื่อนที่ช่วยขยายวงการอ่านหนังสือช่วงนั้น ได้พลิกอ่านหลายฉบับจนพอเข้าใจว่าหนังสือการ์ตูนแก๊กตลกโปกฮามีหน้าตาเป็นอย่างไร
แต่พอไม่สนิทก็ไม่ได้ติดตามต่อ กระทั่งวันเวลาล่วงเลยมานานเกือบยี่สิบปี น่าแปลกที่ภาพเพื่อนคนนั้นก็ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ อาจด้วยคาแรกเตอร์ที่ยังคงเดิม แถมยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเราได้พูดคุยกับคนเบื้องหลังที่ลงมือเขียนการ์ตูนตั้งแต่ในวันวานจนถึงตอนนี้
คนนั้นคือ นิค ขายหัวเราะ หรือ นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์ หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนลายเส้นสะอาดตาที่อาจเป็นเจ้าของเรื่องราวบางหน้าที่เคยผ่านตาเราไป ไม่ก็คุ้นเคยจากผลงาน การ์ตูนเล่มละบาป การ์ตูนซีรีส์ 5 เรื่อง 5 บาป ที่มาพร้อมแก๊กเสียดสี หักมุม และเรื่องสั้นในรูปแบบของ ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ หรือ Dark Humour ขำ-ขื่น คอลเลกชั่นที่หยิบความดาร์กของชีวิตมาทำเป็นแก๊กให้คนอ่านยิ้มออก
บทสนทนาต่อจากนี้จึงเป็นเหมือนการได้กลับไปเจอเพื่อนเก่าอย่าง ขายหัวเราะ ผ่านการค่อยๆ เล่าเรื่องราวระหว่างทางของพี่นิค ที่กว่าจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูน สะสมผลงานแก๊กได้เป็นร้อยๆ เรื่อง มีเส้นทางอย่างไรบ้าง ไปจนถึงแนะนำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ (แต่เพื่อนเก่าสำหรับหลายคน) อย่าง เรียกข้าว่าพญายม ผลงานที่เขาชื่นชอบและต้องการบอกคนอ่านว่าใครๆ ต่างก็มีข้อผิดพลาดได้เสมอ
ไม่รู้ว่าทุกคนจะมีเพื่อนที่ชื่อ ขายหัวเราะ ตั้งแต่เมื่อไหร่และนิตยสารการ์ตูนเล่มนี้เคยเป็นเพื่อนกับคุณในแบบไหน แต่เราเชื่อว่าบทสนทนานี้จะทำให้คุณรู้จัก ขายหัวเราะ พี่นิค และเพื่อนที่เรียกว่าการ์ตูนไทยมากขึ้น
พี่นิคเริ่มสนใจการวาดการ์ตูนตั้งแต่ตอนไหน
เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว และชอบอ่านการ์ตูน ชอบการเล่าเรื่อง ซึ่งสมัยนั้นก็มี หนูจ๋า กับ เบบี้ หรือหนังสือในเครือบรรลือสาส์นเหมือนกันอย่าง คุณหนูเด็กดี ของ พ.บางพลี ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรา
นอกจากนี้ ช่วงเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญโคราชจะมีวารสาร วีรธรรม ที่มีสาระความรู้และการ์ตูนเยาวชนให้ยืมอ่าน เลยได้อ่านการ์ตูนฝรั่งด้วย อย่างเรื่อง Flash Gordon ก็ทำให้เราได้เห็นการเขียนการ์ตูนแบบเหมือนจริง มีแสงและเงา ส่วนอีกอันที่ชอบมากคือ The Adventures of Tintin เพราะจำได้ว่าตอนอยู่ ป.3 เราลองลอกตามหนังสือแบบหน้าต่อหน้า แล้วเอาไปให้เพื่อนในห้องดู เพื่อนก็ชอบ เราเลยยิ่งประทับใจ
เราเป็นเด็กต่างจังหวัด (นครราชสีมา) ซึ่งมันไม่ได้มีงานด้านภาพเขียนให้ดูเยอะ พอเห็นใครวาดรูปแบบไหนเราก็ไปดูหมด ที่ประทับใจมากคือพวกคัตเอาต์โรงหนังซึ่งต้องใช้คนเขียน เขาเขียนด้วยฝีมือจัดจ้านและเร็วมาก เราเห็นเขาใช้สีน้ำมัน ก็เริ่มอยากลองเขียนบ้าง เลยไปเอาผ้ามาขึงกับไม้ แต่หาสีแบบเขาไม่ได้ พอดีกับที่แถวโคราชตอนนั้นเป็นเมืองลิเก เคยไปดูเขาทำฉากลิเกกันแล้วเห็นเขาใช้สีฝุ่น เลยไปหาซื้อสีฝุ่นมาผสมน้ำแล้วเขียน จำได้ว่าเป็นภาพพระเยซู คือเราเป็นคาทอลิก เวลาไปโบสถ์มักจะเห็นภาพเขียนพระเยซูหรือภาพทางศาสนา ก็รู้สึกว่าเขียนนิ่มดีจัง จำภาพมาเขียนด้วยสีฝุ่นในกรอบผ้าที่ขึงเอง เขียนเสร็จ นั่งภูมิใจได้ไม่กี่วันเอามือไปโดนกรอบ ภาพมันก็ร่อนหมด มารู้ตอนหลังว่าจริงๆ แล้วสีต้องผสมกาวหนังสัตว์ด้วย
พอรู้ตัวว่าชอบ มันกลายเป็นความฝันของเราเลยไหม
ยังไม่ได้เป็นความฝันขนาดนั้น เราไม่ได้จับงานด้านนี้จริงๆ จังๆ ปนเปมั่วไปหมด จนพอเห็นว่าที่เทคนิค (วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา) มีสอนวาดรูป เราก็ไปเรียนนะ ซึ่งมันทำให้รู้ว่างานศิลปะมีหลายแบบ
แล้วพี่นิคเริ่มเขียนการ์ตูนจริงจังตอนไหน
ก็ช่วงที่เรียนนี่แหละ ตอนนั้นฐานะทางบ้านไม่ดี แม่ย้ายไปทำงานที่ขอนแก่น ส่วนเราก็หางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียน เลยได้ทำงานเกี่ยวกับการวาดบ้าง เขียนการ์ตูนการเมืองและอยู่ฝ่ายศิลป์ให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบ้าง แล้วก็มีแวบไปทำเครื่องปั้นดินเผาที่ด่านเกวียนด้วย
เราเขียนการ์ตูนการเมืองให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราชตั้งแต่สมัยเรียน ช่วง 6 ตุลาคม 2519 มีการทำโปสเตอร์และการ์ตูนการเมืองติดตามถนนราชดำเนิน คนวาดก็มีทั้งชาวศิลปากร วิทยาลัยเพาะช่าง ส่วนหนึ่งก็มีส่งมาให้พวกอาจารย์ผมที่โคราชวาดด้วย แล้วผมดันวาดภาพคน (figure) ได้ เขียนคนอ้าปาก แหกปากได้ เขาก็เลยให้เราช่วยวาดพวกหน้าคน ภาพวาดแถวราชดำเนินตอนนั้นก็จะมีฝีมือเราอยู่
ระหว่างเรียน การ์ตูนในท้องตลาดที่ดังมากคือการ์ตูนเล่มละบาท เป็นการ์ตูนสั้นๆ ความยาวประมาณ 16 หน้า เราก็เริ่มเขียนบ้าง พอคนที่โคราชเข้ากรุงเทพฯ ก็ฝากการ์ตูนไปส่ง เพราะคนที่ทำหนังสือพิมพ์โคราชเขาพอจะรู้จักคนทำหนังสือเล่มละบาท ซึ่งเขาก็รับไปตีพิมพ์นะ แต่เราคิดว่าเขาอาจเกรงใจคนที่เราฝากไป เพราะถ้าไปย้อนดูงานเราตอนนั้นมันยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่
จำต้นฉบับที่ส่งไปได้ไหม
เราจำไม่ได้แล้วว่าเป็นประมาณไหน แต่มีช่วงที่เราเข้ากรุงเทพฯ ไปอาศัยอยู่กับห้องพักของเพื่อนที่เข้ามาเรียนต่อศิลปากร เราเขียนต้นฉบับและตระเวนส่งเอง ปรากฏว่าได้ที่ใหม่ ซึ่งการ์ตูนที่เขียนไม่ได้ออกแนวตลกด้วยซ้ำ คือเรายังค้นหาแนวตลกของตัวเองไม่เจอ ประจวบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษากำลังมาแรง เพลงเพื่อชีวิตก็มาแรง การ์ตูนที่เราเขียนเอาไปส่งเลยเป็นแนวเพื่อชีวิต
ตอนนั้นเราได้วาดการ์ตูนเต็มตัว เขียนการ์ตูนเล่มละบาทโดยใช้นามปากกกาว่า นิพนธ์ นิค เขียนส่งไปเรื่อยๆ ฉีกมาเขียนเรื่องเบาสมอง หักมุมบ้าง ไม่ค่อยได้เขียนผีหรือโป๊เหมือนคนอื่นเท่าไหร่ เราเขียนแค่ที่นี่ที่เดียวเลย
แล้วเดินทางมาบรรจบที่ ขายหัวเราะ ได้ยังไง
เขียนการ์ตูนเล่มละบาทมาหลายปีก็เริ่มมีความคิดอยากก้าวไปอีกสเต็ป นั่นคือการเขียนการ์ตูน ขายหัวเราะ ก็ลองเขียนต้นฉบับเป็นการ์ตูนตลกสามช่องไปเสนอสำนักพิมพ์ที่ตอนนั้นอยู่ตรงผ่านฟ้า เจอคุณวิธิต (วิธิต อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ ขายหัวเราะ) แต่ก็ยังไม่ผ่าน
เรากลับไปเขียนเล่มละบาทต่อเรื่อยๆ จนราวๆ ปี 2524 ทำต้นฉบับส่งไปใหม่ถึงจะผ่าน ตอนไปส่งก็เจอคุณวิธิตเหมือนเดิม เขาจำเราได้ด้วย
รูปแบบการเขียนการ์ตูนเล่มละบาทและ ขายหัวเราะ แตกต่างกันไหม
แตกต่าง การ์ตูนเล่มละบาทเป็นนิยายภาพ พอต้องมาเขียนการ์ตูนตลก มันต้องตัดทอนและลดรายละเอียดลง ดีไซน์ตัวการ์ตูนให้มีลักษณะตัวเตี้ยลง เพื่อลงช่องได้
พี่นิคมีกระบวนการเขียนแก๊กยังไง ต้องตั้งโจทย์ด้วยหรือเปล่า
เราคิดว่ามันไม่มีโจทย์มากกว่า เพราะเราเล่นได้ทุกเรื่อง เล่นได้ทุกอย่าง เล่นตั้งแต่ใต้น้ำไปอวกาศ เล่นเรื่องผีไปถึงมนุษย์ต่างดาว มุกคนบ้านๆ ไปถึงสังคมไฮโซ เล่นมุมมองของเด็กมองผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่มองเด็ก ทุกอย่างสามารถแตกออกมาเป็นมุกได้หมดเลย
มีวิธีคิดหรือเฟ้นหามุกยังไง
ปกติเราเป็นคนชอบดูหนัง ตั้งแต่สมัยอยู่ด่านเกวียน มีจัดฉายหนังกลางแปลงที่วัดเราก็อยู่ดูจนเช้า ดูผ่านวิดีโอบ้าง ซีดีบ้าง หนังมันทำให้เราเห็นภาพและรู้วิธีการเล่าเรื่องมากขึ้น ถ้าเรื่องมาแบบนี้จะไปต่อยังไง อย่างซีรีส์ฝรั่งสมัยก่อนเหมือนตั้งกล้องไว้แล้วตัวละครจะเดินเข้ามามีแอ็กชั่น การ์ตูนแก๊กสามช่องก็คล้ายๆ กัน กล้องคอยจับภาพแล้วตัวการ์ตูนก็ค่อยๆ เข้ามาสนทนา เล่นกัน หรือเกิดความขัดแย้งกัน
พูดถึงตัวการ์ตูนแล้ว นึกถึง ‘นิค’ คาแรกเตอร์ที่พี่นิคตั้งต้นจากตัวเอง ทำไมตอนนั้นถึงเลือกสร้างคาแรกเตอร์จากตัวเองล่ะ
นักเขียนการ์ตูนต่างก็มีคาแรกเตอร์ตัวเองเป็นตัวเล่าเรื่อง ซึ่งตอนเขียนนิคแรกๆ จะไม่เหมือนกับทุกวันนี้หรอก ทั้งลายเส้น บุคลิก นิสัยต่างก็เปลี่ยนไป
ยุคแรกนิคจะตัวเพียวๆ เพราะเรามองว่านิคเป็นพระเอก พอเวลาผ่านไป เรามีประสบการณ์ชีวิตเยอะขึ้น ความคิดของเรามากกว่าสมัยหนุ่มๆ เลยลงรายละเอียดคาแรกเตอร์ได้ลึกกว่า คราวนี้ไม่เป็นพระเอกแล้ว เป็นอะไรก็ได้ เป็นตัวอ้วนๆ ที่รับเคราะห์ เป็นตัวที่ผิดพลาด ตัวที่โชคร้าย ไม่ได้โชคดีเหมือนตอนแรกๆ พอเป็นแบบนี้เราก็สามารถเล่าเรื่องราวได้เยอะกว่า
แต่นอกจากแก๊กแล้ว พี่นิคยังเขียนการ์ตูนชุดที่เป็นแบบรวมเรื่องสั้นด้วย
ตอนเขียนแก๊กใน ขายหัวเราะ เราก็เขียนเรื่องสั้นใน มหาสนุก ด้วย คือ ขายหัวเราะ จะเน้นไปที่แก๊กตลก ส่วน มหาสนุก จะเน้นการ์ตูนยาว แนวเรื่องสั้นจบในตอน แล้วแต่ว่าจะ 15 หน้า หรือ 25 หน้าจบ มีการ์ตูนแก๊กแซมประปราย
พอเขียนไปเรื่อยๆ เราก็คิดว่าตัวละครที่เคยสร้างในเรื่องนั้นเรื่องนี้น่าจะจับเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ ก็เลยรวมพลตัวละครมาสร้างเรื่องราวในการ์ตูนชุด คนอลเวง รวมเรื่องสั้นจบในตอน ตามมาด้วยรวมเรื่องสั้นชุด เรียกข้าว่าพญายม
คนอลเวง คือการรวมพลตัวละคร แล้วกับ เรียกข้าว่าพญายม ล่ะ
เดิมเราเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับพญายมอยู่แล้ว เห็นว่าตัวพญายมน่าจะเล่นอะไรได้เยอะ มีความเป็นแฟนตาซี ถ้าจะสอดแทรกข้อคิดอะไรก็สามารถแทรกได้ง่าย
ตอนคิดคาแรกเตอร์ท่านพญายม เราคิดว่าไม่ว่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน คนเราก็ยังมีความเป็นเด็กแฝงอยู่ เลยเอาจุดนี้มาเล่น
ท่านพญายมเหมือนเป็นนิคช่วงวัยกลางคนที่ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ ยังคงมีความทะเล้นขี้เล่น มีความเป็นเด็ก และทำผิดพลาดได้ มีช่วงที่เบื่อการคุมนรกเลยไปท่องเที่ยวโลกมนุษย์กับยมทูตที่ไปรับวิญญาณ ทำให้เจอเรื่องต่างๆ และเกิดการกระทำผิดบ้าง ถ้าถูกตัดสินว่าตกนรก ท่านพญายมก็ต้องลงกระทะทองแดง นั่งทนทุกข์ทรมานตามกำหนดเวลาเหมือนกัน
มีช่วงที่คิดเรื่องไม่ออกบ้างไหม
ก็มีบ้าง ปกติเราใช้เวลาคิดมากกว่าเวลาเขียนอีก เพราะการ์ตูนตลกมันจะคิดเป็นหน้าๆ อย่างเราอยากจะคิดวันนี้สัก 6-7 หน้า พอมานั่งคิดจริงๆ มันก็ไม่ออก กินเวลาไปเรื่อยๆ ถ้าคิดออกมันก็คิดไปได้เรื่อยๆ ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่ามันจะออกเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าช่วงคิดต้องทำตัวให้สบายๆ สามารถคิดอะไรเรื่อยเปื่อยได้ เราจะคิดไป นั่งดูทีวี ดูข่าวไป หรือทำอย่างอื่นไปด้วย ไม่ได้มีเวลาตายตัวหรือเค้นว่าต้องได้ตอนนี้เท่านั้น
พี่นิควางโครงเรื่องแต่ละตอนยังไง
เราจะวางโครงเรื่องก่อน แบ่งช่องและร่างเรื่องราวไปด้วย จนกระทั่งครบจบแล้วเราค่อยมาเขียนจริง
สมมติมี 20 หน้าจบ เราจะต้องมี 5 หน้าให้ตัวละครมาเจอกันก่อน ถัดไปอีกสัก 5 หน้าให้เกิดแอ็กชั่นบางอย่าง อีก 5 หน้าเกิดความเข้าใจผิด และ 5 หน้าสุดท้ายจะดึงไปขมวดยังไง
จำฟีดแบ็กตอนออก เรียกข้าว่าพญายม ได้ไหม
จำได้ว่าออกเล่มครั้งแรกประมาณปี 2535 ซึ่งเราก็ไม่รู้ฟีดแบ็กมากหรอก ช่วงนั้นยังไม่รู้จะสื่อสารกับคนอ่านยังไง มีแค่ทางจดหมาย ซึ่งจดหมายจากคนอ่านที่ส่งมาถ้าชอบก็บอกชอบเฉยๆ ไม่ได้ลงรายละเอียด แล้วสมัยนั้น บ.ก.วิธิตจะอัดรูปนักเขียนเอาไว้ เผื่อใครจะตอบจดหมายก็ให้ส่งภาพนักเขียนไปให้ด้วย
ท่ามกลางเรื่องสั้นและแก๊กมากมาย ถ้าพูดถึง เรียกข้าว่าพญายม พี่นิคนึกถึงอะไร
เป็นหนึ่งในเรื่องที่ชอบ รู้สึกว่ามันลงตัวมากในการคิด การดำเนินเรื่อง แนวคิดแต่ละเรื่องมีไอเดียหลากหลายดี บางเรื่องอาจได้มาจากตอนเราดูหนังของเฉินหลง หนังเรื่อง แฝด ที่มาช่าเล่น หนังของ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ หรือมาจากความสนใจของเราในตอนนั้นๆ ซึ่งจะเป็นตัวจุดประกายให้เราเขียนหรือแตกไอเดียได้ดี
ตั้งใจให้การ์ตูนเรื่องนี้สื่อสารกับคนอ่านอย่างไร
จริงๆ ตอนเขียนเราไม่ได้คิดว่าจะสั่งสอนอะไรนะ เพียงแต่คิดว่าจะดำเนินเนื้อเรื่องอย่างไรให้ตลก ผู้คนจะรับได้ไหม แล้วเราไม่ค่อยชอบการสอนแบบตรงๆ ทื่อๆ แค่ทำให้เห็นภาพว่าทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป พร้อมแทรกเกร็ดเรื่องทำดีทำชั่วไว้ตามเรื่องเท่านั้น อยากเปิดประเด็นให้คนไปคิดต่อเอง
เหมือนกับ การ์ตูนเล่มละบาป ที่พอพูดถึง คนจะเริ่มคิดแล้วว่าเราคงสอนเรื่องศีล 5 แต่การสอนของเราคือการแทรกอะไรเข้าไปแล้วเขาจดจำได้ เข้าใจได้ เราจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าอะไรเป็นบาปกรรม เพราะคนเขารู้กันอยู่แล้วว่าอะไรดีไม่ดี เราแค่สมมติเหตุการณ์แทรกผ่านการ์ตูนเข้าไปว่าการกระทำบางอย่างมันเกิดผลร้ายได้ ที่เหลือให้เขาตัดสินใจหรือคิดต่อเอง
แล้วกับผลงานล่าสุดอย่าง Dark Humour ขำ-ขื่น ทำไมถึงอยากเล่นเรื่องความตลกร้าย
เรารู้สึกสนใจความตลกร้ายอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสัจธรรมในชีวิตจริงมากๆ ที่คนเราเห็นความผิดพลาดของคนอื่นเป็นเรื่องตลก คนเดินมาตกท่อ คนเห็นก็หัวเราะเยาะ แต่คนตกทั้งอาย ทั้งเจ็บ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาแต่มันก็มีความรู้สึกเจ็บปวดอยู่ ซึ่งความดาร์กที่เราเขียนก็หยิบมาจากชีวิตจริง หนัง หรือข่าวสารบ้านเมือง หาแง่มุมมาเขียนให้ดาร์กสุดๆ หรือแตกไปหลายมิติ เราพยายามหาอะไรมาขมวดตอนจบเพื่อตบออกมาให้คนรู้สึกสะกิดใจ ดึงดูดใจ แปลกใจ หรือจะหงายหลังตกเก้าอี้ไปเลย
ที่ผ่านมาให้คะแนนความตลกของตัวเองเท่าไหร่
ให้คะแนนไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับคนอ่านที่เสียเงินไปมากกว่าว่าเขาได้ความขำ ผ่อนคลาย หรือสนุกแค่ไหน ถ้า 100 หน้า เขาได้อย่างน้อย 30 หน้า เราก็รู้สึกพอใจแล้ว อีก 70 หน้าแม้จะไม่ได้ดีที่สุดก็อาจเป็นตัวส่งเสริม เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเขียนการ์ตูนตลกออกมา 10 วัน 10 หน้าแล้วตลกสุดยอดทั้งหมด ถ้าได้ 30-40% ต่อเล่ม ต่อชิ้น หรือต่อวัน ผมคิดว่าสุดยอดแล้ว มันอาจยาวนานอยู่ในใจคนได้ ถึงจะไม่โดดเด่นมากก็ตาม
ตั้งแต่เริ่มวาดการ์ตูนจนถึงวันนี้ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ไหนบ้าง
อย่างที่บอกคาแรกเตอร์การ์ตูนมันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติและยุคสมัย การเขียนตัวหนังสือแต่ละช่วงก็ไม่เหมือนกัน ช่วงนี้ชิดกันมากหน่อย ช่วงหนึ่งมีหัวล้ำเส้น ยุคที่เขียนการ์ตูนเล่มละบาทจะไม่มีหัว แต่ใช้ไม้บรรทัดทาบแล้วเขียนตัวหนังสือ ข้างล่างเท่ากันเป๊ะ พอยุคหลังๆ เราปรับเป็นตัวหนังสือมีหัว เพื่อให้รู้สึกว่าน่ารัก เบาสบายขึ้น
ในแง่เครื่องไม้เครื่องมือก็ปรับไปตามยุค ตอนเริ่มเขียนแรกๆ เราใช้ปากกาคอแร้ง ปากกาเขียนแผนที่ ปากกาจีเพ็น จุ่มหมึกแล้วเติมเส้นต่างๆ พอยุคที่ปากกาเคมีเริ่มเข้ามา เราก็หาปากกาเมจิกมาลง แต่ถ้าลงซอกเล็กๆ จะละเอียดสู้พู่กันไม่ได้ พวกซอกเล็กๆ ก็ใช้ปากกาพิกม่าแทน
อย่างเรื่องมุกต้องปรับเยอะไหม
พอเข้ามายุคดิจิทัลต้องปรับเยอะมาก จนถึงตอนนี้เราคิดว่ายังคงต้องปรับเรื่อยๆ ยังไม่มีจุดที่ลงตัว บางทีมุกสมัยก่อนที่คนอ่านจบแล้วอิ่มเอมใจ มาทุกวันนี้เขาอาจไม่เก็ต รู้สึกว่าไม่เข้าท่าก็ได้ ทุกวันนี้ถ้าอ่าน 1-2 หน้าแล้วไม่เก็ต ไม่เข้าใจ ไม่ทันยุคก็เลิกพูดกันเลย นักเขียนการ์ตูนทั้งยุคเก่าและยุคใหม่จึงต้องตามเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อมาเขียน เรายังคิดอยู่เลยว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองให้เขียน เราจะเขียนอะไร จะมีความคิด มีฝีมือพอที่จะเขียนให้คนอ่าน ให้คนเก็ตหรือคล้อยตามได้ยังไง ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก
แล้วในฐานะนักเขียน เราเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
มันก็แก่นะ (หัวเราะ) จริงๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะ เพราะตอนเขียนแรกๆ มองอะไรก็แค่ผิวเผิน ตลกผิวเผิน จนกระทั่งเรารู้สึกว่าเขียนอะไรก็ได้ แต่ต้องเขียนให้คนอ่านอ่านแล้วรู้สึกขำให้ได้ ไม่ว่าจะจับเรื่องอะไรมาต้องตบมุกให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เรายึดถือ และมันควรจะเป็นแบบนี้เสมอ
เดินทางมากว่า 40 ปี มองภาพตัวเองในอนาคตไว้ยังไง
มองภาพว่าตัวเองเป็นคนทำงานอยู่ ยังไม่มีวันเกษียณ จะเขียนจนกว่าตัวเองไม่มีแรง ไม่มีสมองจะเขียนนั่นแหละ
ความทรงจำระหว่างทางของพี่นิคกับ ขายหัวเราะ
เราไปหยิบเล่มเก่าๆ มาพลิกอ่าน เจอแก๊กที่ตัวเองเคยเขียน ยังรู้สึกตกใจและตื่นเต้น นี่เราเขียนได้ยังไง ทุกครั้งที่เปิดดูเรายังมีความรู้สึกแบบนี้กับงานตัวเองเสมอ ความทรงจำทั้งหมดกับ ขายหัวเราะ มันเลยเป็นการสะท้อนการทำงานของเราเอง ตั้งแต่ช่วงส่งต้นฉบับแล้วไม่ผ่าน กลับมาส่งใหม่ การได้คุยกับคุณวิธิต ได้เข้าไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการขายหัวเราะบางเล่ม เขียนการ์ตูนแก๊ก เขียนเรื่องสั้น ออกหนังสือจนถึงปัจจุบัน
ตลอด 50 ปีที่ ขายหัวเราะ เติบโตมา ทำให้เราเห็นว่าการ์ตูนตลกยังให้อะไรกับคนอ่าน จนเรามีความหวังว่าคนอ่านจะสามารถเปิดรับการ์ตูนตลกได้ทุกยุค เปิดรับความสนุกและความสุขกับมันต่อไป เพื่อให้การ์ตูนยังคงอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในยุคดิจิทัลหรืออะไรก็ตาม
ถ้า ขายหัวเราะ คือคนอายุ 50 ปี อยากอวยพรเขาว่ายังไง
เขาเป็นคนไม่มีอายุตายตัวหรอก ถามว่าแก่ไหม ก็ยังไม่แก่นะ ยังคงความเป็นคนหนุ่ม คงความชัดเจนในสิ่งที่ทำ แต่ถ้าคิดเป็นการเดินทางมันก็ยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายอย่าง สิ่งที่จะคงอยู่ในใจเราและอยากบอกก็คือเขายังคงเป็นพี่ เป็นเพื่อนเราแบบนี้ตลอดไปนั่นแหละ