THE MOON REPRESENTS HER HEART
‘พิม หวังเดชะวัฒน์’ นักเขียนไทยเจ้าของผลงานไซไฟ-ดราม่าที่อ่านสนุกจน Netflix ขอซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีส์
เรื่อง: พัฒนา ค้าขาย
ภาพ: A. Piriyapokanon
(หากไม่ดูเป็นการรบกวน
อยากชวนอ่านบรรทัดถัดไปด้วยทำนองเพลง The Moon Represents My Heart ของ เติ้ง ลี่จวิน)
“nǐ wèn wǒ ài nǐ yǒu duō shēn
wǒ ài nǐ yǒu jǐ fēn”
คงไม่ต้องบอกว่าเพลงนี้เป็นตำนานขนาดไหน เพราะแม้อายุของเพลงกำลังจะก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 50 เรายังได้ยินเพลงนี้ในห้องคาราโอเกะ หรือมีศิลปินรุ่นใหม่หยิบมาคัฟเวอร์อยู่บ่อยๆ
แน่นอนว่า The Moon Represents My Heart คือเพลงรักคลาสสิกที่มีอิมแพกต์ต่อคนฟังทุกยุคสมัย แต่มากกว่านั้นมันยังผูกโยงกับความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะคนจีนที่เติบโตพร้อมกับท่วงทำนองสุดติดหูของเพลงเพลงนี้
พิม หวังเดชะวัฒน์ คือหนึ่งในนั้น เธอเคยเป็นเด็กสาวลูกครึ่งไทย-จีนที่เติบโตมาใต้ชายคาของครอบครัวใหญ่ มีอากงเป็นแฟนเพลงของเติ้ง ลี่จวิน จึงช่วยไม่ได้เลยที่เธอจะฮัมเพลงนี้ได้ตั้งแต่วัยเยาว์
“คนจีนในหลายยุคหลายสมัยก็เป็นเหมือนกัน มีหลายคนมาบอกเราว่าเพลงนี้เป็นเพลงโปรดของพ่อ เคยร้องกับแม่ เหมือนมันเป็นประสบการณ์ที่คนจีนทั่วโลกมีร่วมกัน” เธอเล่าในวันที่เราพบกัน
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ The Moon Represents My Heart จะกลายเป็นชื่อหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอ แน่ล่ะว่ามันเป็นคำที่เตะตา เข้าถึงง่าย ใครๆ ก็เชื่อมโยงได้ไม่ว่าชนชาติไหน แต่นอกเหนือจากเหตุผลเหล่านั้น The Moon Represents My Heart ยังมีความหมายในแง่ที่ว่ามันเป็นเพลงที่ผูกกับความทรงจำของครอบครัว—ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของนวนิยายเล่มแรกของเธอเช่นกัน
นวนิยายเล่มนี้เล่าเรื่องของครอบครัวหวัง (Wang) ผู้มีความสามารถพิเศษคือการเดินทางข้ามเวลา แต่วาร์ปไปวาร์ปมา พ่อแม่อย่าง ‘โจชัว’ และ ‘ลิลี่’ ก็หายตัวไป ทิ้งให้ ‘ทอมมี่’ และ ‘เอวา’ ลูกชายกับลูกสาวอยู่อย่างเคว้งคว้างจนต้องแกะรอยตามหา ภายใต้ฉากไซไฟบังหน้า นี่คือนวนิยายที่ว่าด้วยความรัก การจากลา และประสบการณ์การเติบโตในครอบครัวคนจีนผู้อพยพ
ฟังพล็อตแค่นี้ก็แทบจะเห็นภาพเป็นหนังหรือซีรีส์ ข่าวดีคือเราอาจได้เห็น The Moon Represents My Heart กลายเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะตอนนี้นิยายของพิมถูกซื้อลิขสิทธิ์โดยบริษัทโปรดักชัน 21Laps ที่เคยผลิตซีรีส์ให้ Netflix รวมถึงมีดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง เจมมา ชาน (Gemma Chan) ผู้รับบทเป็น แอสทริด เหลียง ใน Crazy Rich Asians และ เซอร์ซี ใน Eternals ขอนั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์ให้
ว่าแต่อะไรทำให้หนังสือจากปลายปากกาของนักเขียนไทยไปไกลขนาดนี้ได้ ให้บทสนทนากับพิมในย่อหน้าถัดไปเล่าให้ฟัง
我的愛不變
My love never changes
ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นยังไง
เราเติบโตมากับครอบครัวคนจีน อากงย้ายมาอยู่ไทยตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนอาม่าเกิดที่ไทยแต่อยู่ในชุมชนคนจีนเลยติดพูดไทยสำเนียงจีน เราเป็นเจนฯ ที่ 3 ของครอบครัว เป็นพี่สาวคนโตและมีน้องชายหนึ่งคน
ชีวิตตอนเด็กเราผูกพันกับโบสถ์ เพราะพ่อเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์คริสเตียนแถวชุมชนคลองเตย 70 ไร่ สิ่งที่ชอบทำตั้งแต่เด็กเลยเป็นการอ่านหนังสือ เราอ่านตลอดเวลา เดินไปไหนก็อ่าน จนบางครั้งพ่อแม่ต้องบอกให้หยุดอ่านแป๊บหนึ่ง (ยิ้ม)
สำหรับคุณ เสน่ห์ของการอ่านหนังสืออยู่ตรงไหน
หนังสือทำให้เราได้จินตนาการ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้หลุดออกไปยังโลกของคนอื่น ตอนเด็กๆ เราอ่านแนวแฟนตาซี พวก ลอร์ดออฟเดอะริงส์, นาร์เนีย, ห้าสหายผจญภัย หรือไม่ก็เป็นวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง บ้านเล็กในป่าใหญ่ หรือวรรณกรรมแนว Coming of Age อย่าง Anne of Green Gables
นิสัยรักการอ่านส่งผลต่อตัวตนของคุณยังไง
มันทำให้เราสนใจเขียนตัวละครแบบที่อยู่ในหนังสือเหล่านี้ เราสนุกตอนอ่านหนังสือพวกนี้เพราะเรารีเลตกับพวกเขาได้ รู้สึกว่าพวกเขาเข้าใจเรา และโลกของพวกเขาเป็นโลกที่เราอยากเข้าไปอยู่ พอเราเขียนหนังสือ เราก็อยากเขียนสิ่งที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว อยากสร้างโลกให้คนอ่านรู้สึกมีหวัง อยากเข้าไปอยู่ในโลกนั้นด้วย
คุณฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า
ตอนเด็กๆ มีความฝันเยอะมาก ช่วงหนึ่งอยากเป็นครูแต่คิดว่าถ้าต้องตื่นเช้าทุกวันไม่น่าไหว ช่วงหนึ่งอยากเป็นหมอแต่ก็กลัวเลือด แล้วก็มีอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ศึกษาวาฬเพชฌฆาต
แต่ฝันที่ติดอยู่กับเรานานที่สุดคือการเป็นนักเขียน เราอยากเป็นมาตั้งแต่ ม.1-ม.2 ถามตัวเองตลอดว่าเราชอบอ่าน ชอบดูหนัง ดูซีรีส์ ทำไมไม่เป็นนักเขียน มันอาจจะเป็นความฝันที่เราทำให้เป็นจริงได้มากที่สุด
ครั้งแรกที่จรดปากกาเขียนคือเมื่อไหร่
ช่วงอายุ 7-8 ขวบ เราเริ่มเขียนนิทาน วาดการ์ตูนให้น้องอ่าน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงโดนลักพาตัว หรือเรื่องคนมีความสามารถพิเศษที่แปลงร่างเป็นสัตว์หลายประเภทได้ ตอนนั้นวาดรูปคนเป็นก้างๆ เพราะวาดไม่เก่ง เล่ามั่วๆ ซั่วๆ ที่ชอบวาดอาจเพราะตอนเด็กๆ พ่อชอบเล่านิทานให้ฟังด้วย
พอตอนวัยรุ่นเราก็เขียนแฟนฟิกฯ ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Star Wars ไม่เชิงเน้นคู่จิ้นแต่เป็นการเอา Rouge One มาอยู่ในจักรวาลที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเนิร์ดมาก (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เขียนบทกลอน บทความวิเคราะห์หนังและซีรีส์ลงในบล็อกของตัวเอง พอเรียนจบปริญญาตรีก็มีไปทำคอนเทนต์การตลาดเพราะทำงานมาร์เกตติ้ง ส่วนนวนิยายของตัวเองไม่ได้เขียนเลย จนกระทั่งได้มาเขียน The Moon Represents My Heart นี่แหละ
จุดไหนที่ทำให้อยากยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลัก
ตอนทำงานมาร์เกตติ้ง เราได้ทำคอนเทนต์หลากหลายแต่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เราถามตัวเองว่าทั้งที่เราก็ชอบการเขียน ทำไมไม่เขียนสิ่งที่เรารักจริงๆ
เราอยากเขียนนวนิยายมาตั้งแต่เด็ก เพราะอ่านมาเยอะ อยากทำบ้างแต่ไม่รู้จะทำยังไง เลยคิดถึงการเรียนต่อเพื่อหาความรู้ทางด้านนี้ ก่อนหน้านี้คิดจะเขียนนิยายภาษาไทย แต่เราเขียนไทยได้ไม่สละสลวยเลยเขียนภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็เลยเก็บตังค์ไปเรียนปริญญาโทสาขา Creative Writing ที่ Edinburgh Napier University ตอนปลายปี 2019
จริงๆ เราติดมหาวิทยาลัยห้าที่ แต่ที่เลือกที่นี่เพราะเห็นว่าการเรียนการสอนของเขาหัวสมัยใหม่กว่าที่อื่น เหมาะกับนักเขียนที่มีแนวของตัวเอง (Genre-Based) ไม่ว่าคุณจะเขียนไซไฟหรือสืบสวนสอบสวน เขาจะมีครูที่คอยแนะนำอย่างชัดเจนและช่วยเราคราฟต์โปรเจกต์ที่มี
บทเรียนสำคัญที่คุณได้เรียนรู้จากการเรียนคอร์สนี้คืออะไร
มีหลายอย่าง หนึ่งคือเส้นทางที่จะนำไปสู่การตีพิมพ์ในต่างประเทศ เราจะหาเอเจนต์ยังไง จะเขียนจดหมายแนะนำตัว (Cover Letter) ยังไง หรือมีการแนะนำแผนการเงินว่าถ้าคุณจะทำงานเขียนเป็นอาชีพในอังกฤษ คุณจะคาดหวังว่าจะทำเงินได้ขนาดไหนและได้จากอะไรบ้าง สองคือความละเอียดในการทำงาน ก่อนไปเราไม่เคยมีประสบการณ์เขียนนวนิยายยาวๆ เขาก็สอนหมดตั้งแต่การสร้างพล็อต สร้างตัวละครให้ดูสมเหตุสมผล สร้างไคลแมกซ์ เขาสอนละเอียดแบบตัวต่อตัว
อีกอย่างที่ชอบมากคือการเจอคนอื่นๆ ที่เขียนเหมือนกัน เพราะเราโตมาในเมืองไทย เราไม่เคยเจอคนที่อยากเป็นนักเขียนในแวดวงเดียวกันเลย การไปอยู่ที่นั่นเป็นครั้งแรกที่เราเจอคอมมิวนิตี้ของคนอยากเขียนเหมือนกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้กำลังใจ อ่านงานกัน นี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากและช่วยผลักดันเราในฐานะนักเขียน
月亮代表我的心
The Moon Represents My Heart
นวนิยายเรื่อง The Moon Represents My Heart มีที่มาที่ไปยังไง
ตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ให้นักศึกษาคิดไอเดียนิยายมา 10 ไอเดีย นิยายเรื่องนี้เป็น 1 ในนั้น ช่วงนั้นเราคิดถึงชีวิตของตัวเองเยอะ ชอบคิดว่าอะไรทำให้เราตัดสินใจเป็นเราในวันนี้ คิดถึงเหตุการณ์ในอดีตทั้งความสัมพันธ์กับพ่อและอากง รู้สึกว่ามันมีอิมแพกต์ต่อตัวตนที่เราเป็นอยู่
เราคิดไปถึงว่าถ้าคนคนหนึ่งคิดถึงอดีตเยอะ แล้วพวกเขาจะเดินทางไปข้างหน้าได้ยังไง นั่นคือตอนที่ได้ไอเดียของคนที่เสพติดการเดินทางข้ามเวลาเกิดขึ้น
ความสัมพันธ์กับพ่อและอากงมีอิมแพกต์กับคุณขนาดไหนจนต้องเขียนถึง
ในช่วงเวลาหนึ่ง พ่อเป็นคนสำคัญ (Figure) ในชีวิต ประกอบกับก่อนเริ่มเขียนเรื่องนี้ราว 2-3 ปีก่อน อากงเราเสีย ช่วงที่อากงเสียพ่อก็เป็นมะเร็งระยะ 3 ต้องผ่าตัด ต้องคีโม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบัน คือเป็นคนที่วิตกกังวลกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ และเราก็สังเกตว่าได้นิสัยหลายอย่างมาจากพ่อ และพ่อก็เป็นอย่างที่พ่อเป็นเพราะได้มาจากอากง
จุดตั้งต้นของเรื่องนี้จึงเป็นความสัมพันธ์ของพ่อกับลูก แล้วพอเขียนไปเรื่อยๆ จะขยายไปสู่คนอื่นๆ ในครอบครัว คือถ้าเจอพ่อเราแล้วจะเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนที่มีบุคลิกที่ใหญ่ เด็ดขาด กล้าพูดกล้าทำ สิ่งที่ส่งผลต่อเราอีกอย่างคือมุมมองเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น
ในกรอบของครอบครัวคนจีน พ่อเป็นลูกชายคนโตและลูกชายคนเดียว ซึ่งในสังคมไทยให้ค่ากับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชายในบ้าน เราจึงเติบโตมาพร้อมความรู้สึกว่าอารมณ์และความรู้สึกของพ่อคือสิ่งสำคัญที่สุดในบ้าน เราต้องพยายาม make sure ว่าเขาโอเค ไม่โมโห สิ่งนั้นกระทบกับเราในแง่ว่าเราต้องทำอะไรตลอดเวลาเพื่อให้คนอื่นยังมีเหตุผลที่จะอยู่กับเรา หรือไม่ไปจากเรา
นอกจากเรื่องครอบครัว นวนิยายเล่มนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องอื่นอีกไหม
มีการอ้างอิงชีวิตที่เราเคยอยู่ลอนดอนด้วย เราอยู่ลอนดอนประมาณ 3-4 ปี ทำงานที่ร้านหนังสือระหว่างเรียน เรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมากสำหรับคนเอเชียที่ไปอยู่ในประเทศตะวันตก ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่แต่เหงาอย่างบอกไม่ถูก เราจึงอยากจับตรงนั้นมาใส่ในนิยายด้วย
อีกอย่างคือเราชอบประวัติศาสตร์ ในเรื่องนี้จึงมีแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องตัวละครพ่อที่โตที่ฮ่องกง ในเรื่องนี้มี Kowloon Walled City ซึ่งเป็นเมืองจริงๆ ที่พ่อของเราเคยเข้าไปในเมืองนี้มาเหมือนกัน หรือบางเรื่องก็ดึงมาจากชีวิตของคนในครอบครัว เช่น เส้นเรื่องรักของอากงกับอาม่าที่เราสร้างขึ้นมา เพราะพวกเขาไม่เคยมีเส้นเรื่องแบบนี้ในชีวิตจริง
จากไอเดียทั้งหมดนี้ คุณนำมาสร้างเป็นนวนิยายเกี่ยวกับครอบครัวของคนที่เดินทางข้ามเวลาได้ยังไง
เราไม่ค่อยอ่านไซไฟเยอะแต่ชอบดูหนังเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา สำหรับเรามันสะเทือนอารมณ์มากเพราะมันมักเกี่ยวกับการสูญเสีย ความโหยหา และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแม้แต่คนที่เดินทางข้ามเวลาได้ สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่สามารถเอาชนะเวลา เรารู้สึกว่าเรื่องเวลาเป็นคอนเซปต์น่าสนใจ เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะใช้เพื่อสำรวจเรื่องความสูญเสีย
ที่สนใจในแง่มุมนี้ อาจเพราะตอนเราเริ่มคิดเรื่องนี้เราคิดถึงชีวิตของตัวเองที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นเยอะในอดีต เรามองว่าการสูญเสียไม่ได้หมายความว่าคนคนหนึ่งจากไป แต่ในอีกแง่มันคือคนคนนั้นไม่ได้อยู่ในชีวิตเราแล้ว มันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะในชีวิตเราและทำให้เราต้องฝ่าฟันในการดีลกับตรงนั้น เป้าหมายหนึ่งของการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ก็คือสำรวจว่าเราจะรับมือกับมันยังไง
หลังจากเขียนจบ คุณได้ค้นพบอะไร
มีช่วงหนึ่งระหว่างเขียนเราไปสัมภาษณ์พ่อนิดหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพ่อกับอากง ในความสัมพันธ์ของเขามันซับซ้อนยังไง เพราะตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกได้ว่าพ่อไม่ชอบอยู่กับอากง เขาจะโมโหหรือหงุดหงิดง่ายมาก การเขียนเรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจพวกเขาได้มากขึ้น ไม่ใช่ในฐานะพ่อหรืออากง แต่ในฐานะคนอีกคนหนึ่ง และทำให้เรามีความเมตตากับเขาเยอะขึ้น ซึ่งมันก็ช่วยให้เรามีเมตตากับตัวเองด้วย
อย่างที่บอกว่าเป้าหมายหนึ่งคือการสำรวจว่าเราจะรับมือกับการสูญเสียยังไง เราได้คำตอบคือเราต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียนั้น ไม่ใช่วิ่งหนีจากมัน เพราะถ้าเราไม่เผชิญ ไม่รับรู้จริงๆ ว่าเรารู้สึกยังไง เราจะก้าวต่อไปไม่ได้
การเขียนนวนิยายเล่มนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณกับคนในครอบครัวบ้างไหม
เราเห็นคุณค่าของเขามากขึ้นในอีกแบบหนึ่ง ก่อนหน้านี้ด้วยวัฒนธรรมครอบครัวคนเอเชีย ภาพจำของอากงของเราจะเป็นคนเงียบๆ และเราไม่ได้สนิทกับเขาขนาดนั้น แต่พออากงเสียแล้ว ตอนเรามองย้อนกลับไปในความทรงจำของเราสองคน เราก็เห็นว่าจริงๆ แล้วเรามีความคล้ายอากงเยอะ มีความเป็นเขาในตัวเยอะ อย่างความกล้าพูดกล้าทำ ชอบศิลปะ หรือสไตล์เพลงที่อากงชอบฟังอย่าง The Beatles หรือเติ้ง ลี่จวิน ซึ่งมันก็เป็นที่มาของชื่อหนังสืออีกที
The Moon Represents My Heart เป็นเพลงที่เราฟังมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ กับครอบครัว ซึ่งคนจีนในหลายยุคหลายสมัยก็เป็นเหมือนกัน มีหลายคนมาบอกเราว่าเพลงนี้เป็นเพลงโปรดของแม่ เคยร้องกับพ่อ เหมือนว่ามันเป็นประสบการณ์ร่วม (Bonding Experience) ที่คนจีนทั่วโลกมีร่วมกัน
深深的一段情
Our time of deep affection
กระบวนการกว่าจะได้ตีพิมพ์นวนิยายในอังกฤษ แตกต่างจากเมืองไทยไหม
ต่างที่เราต้องหาเอเจนต์เอง เพราะสำนักพิมพ์ที่นั่นจะไม่รับพิจารณาต้นฉบับจากนักเขียนเลย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่มีชื่อ หรือแม้แต่การทำผ่านเอเจนต์ เอเจนต์คนหนึ่งก็จะได้ต้นฉบับเยอะมาก ปีหนึ่งได้เป็นพันกว่าเรื่อง เพราะฉะนั้นมันเลยมีการแข่งขันมาก นักเขียนบางคนได้รับการปฏิเสธจากเอเจนต์เป็นร้อยๆ คน
แต่ถ้าเราหาเอเจนต์ได้ เขาจะเอาหนังสือเราไปพิตช์กับสำนักพิมพ์อีกทีว่าสนใจไหม ซึ่งก่อนที่เอเจนต์จะเอาหนังสือของเราไปนำเสนอ เราต้องแก้ไขต้นฉบับให้สมบูรณ์ที่สุดก่อน และถ้ามีสำนักพิมพ์สนใจมากกว่าหนึ่งที่ มันก็จะเป็นการประมูลเพื่อหาข้อเสนอที่ดีที่สุด นอกจากนี้ เอเจนต์จะขายลิขสิทธิ์ในการแปล (Translation Right) ไปประเทศอื่นๆ เพื่อให้เขาแปลหนังสือ เราก็จะได้เงินอีกก้อนหนึ่งมาจากตรงนี้
เพราะฉะนั้นเอเจนต์จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในแวดวงวรรณกรรมของเมืองนอก นอกเสียจากว่าเราจะพิมพ์เอง ซึ่งการ Self-Publish ก็ต้องโปรโมตเอง และบางทีอาจจะไม่แมสเท่ากับการมีเอเจนต์ ยกเว้นคุณมีคนติดตามเยอะมากอยู่แล้ว
เอเจนต์ของคุณคือใคร
เขาชื่อ ลิซ่า เดอบล็อก (Liza DeBlock) เป็นคนอเมริกันและเป็นเอเจนซีขายสิทธิในการแปลหนังสือ เขาน่ารักมาก
กว่าจะได้เอเจนต์คนนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ตอนแรกยื่นไปหลายที่ โชคดีที่มีสองเจ้าสนใจ เพราะสำหรับนักเขียนบางคนใช้เวลารอนานเป็นปี บางเล่มไม่มีคนรับเลย ทริกที่ถูกสอนคือลิสต์เอเจนต์ Top 5-10 ของเราว่ามีใครบ้างแล้วส่งไปเป็นกลุ่มแรก ถ้าไม่มีค่อยส่งเซตต่อไป เราได้เอเจนต์เร็วเพราะมีที่หนึ่งอ่านปุ๊บ แล้วเขาเสนอตัวว่าจะเป็นเอเจนต์เลย เราจึงสามารถส่งข้อความไปหาคนอื่นๆ ว่าฉันได้ Offer แล้วนะ คุณยังสนใจไหม มันก็จะช่วยกระตุ้นกระบวนการให้เร็วขึ้น หลังจากนั้นก็มีอีกเจ้าที่รีบบอกว่าสนใจ สุดท้ายเราก็เป็นคนเลือก
คิดว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้เอเจนต์เลือกเรื่องของคุณ
อาจเพราะเราเขียน cover letter แนะนำตัวเองและแนะนำหนังสือดีด้วยมั้ง เราใช้หลัก elevator pitch เหมือนจำลองสถานการณ์ว่าถ้าอยู่ในลิฟต์ 5 นาที เราจะพิจช์หนังสือยังไง แล้วเราก็บอกว่า The Moon Represents My Heart เหมือน The Time Traveler’s Wife บวกกับ The Joy Luck Club มันมีฮุกที่ทำให้เขารู้ว่าเรื่องเป็นยังไง พร้อมตัวอย่างสามบทแรกและมีข้อมูลบอกว่าต้นจนจบจะเป็นยังไง ถ้าเขาสนใจก็จะขอต้นฉบับเต็ม
你去想一想 你去看一看
Think about it, Take a Look
แล้วนวนิยายของนักเขียนไทยถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ได้ยังไง
(หัวเราะ) หลายคนเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นชัวร์ๆ เลย แต่จริงๆ มันมีอีกหลายขั้นตอนมากกว่าจะไปถึงตอนออกฉาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเน็ตฟลิกซ์ซื้อลิขสิทธิ์ไปเพื่อจะดัดแปลง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะมีนิยายบางเล่มที่ถูกซื้อไปแล้วแช่ไว้ 10 ปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็มี แต่ของเราอาจจะโชคดีหน่อยที่มีความคืบหน้า ตอนนี้เรามีคนเขียนบทแล้ว ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี
ถ้าย้อนกลับไปว่าเกิดขึ้นได้ยังไง มันเริ่มมาจากเอเจนต์จะส่งหนังสือทุกเล่มที่มีให้เอเจนต์หนัง (Film Agent) เพื่อหาว่าใครสนใจจะดัดแปลงไหม ซึ่งเอเจนต์ของเราส่งไปให้เอเจนต์หนังคนหนึ่งในแอลเอชื่อทารา เขาอ่านแล้วชอบทันที เลยส่งไปให้หลายคนในฮอลลีวูด พวกบริษัทโปรดักชั่น คนเขียนบท ผู้กำกับหลายคน
ช่วงนั้นเจมมา ชานกำลังอยากเป็นโปรดิวเซอร์พอดี ในทีมของเขาก็อ่านนิยายของเราแล้วส่งให้เจมมาอ่านช่วงคริสต์มาสปี 2021 เขาอ่านเร็วมาก อ่านเสร็จก็ติดต่อมาว่าอยากประมูลสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องนี้
พอได้เจมมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเรากับเจมมาก็ประชุมกับบริษัทโปรดักชั่นหลายๆ แห่งที่สนใจจะสร้าง ซึ่งแต่ละบริษัทโปรดักชั่นก็จะมีดีลกับแพลตฟอร์มหลายที่ต่อ เช่น 21Laps ที่เรากับเจมมาตัดสินใจเซ็นสัญญาด้วย เขาก็มีดีลกับเน็ตฟลิกซ์อยู่แล้ว เพราะเรารู้สึกว่าเขามีความตั้งใจ และมีโอกาสสูงที่จะได้ทำเป็นซีรีส์จริงๆ
คุณคิดว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้นิยายเรื่องหนึ่งจะถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปเป็นซีรีส์เน็ตฟลิกซ์คืออะไร
จริงๆ เรารู้สึกว่ามันคือโชคมากเลย แต่ถ้าให้วิเคราะห์ เราคิดว่า The Moon Represents My Heart เป็นเรื่องที่หลายคนรู้สึกว่าเขาเชื่อมโยงกับมันได้ และเป็นเรื่องราวที่มันยังไม่ค่อยมีในเมนสตรีม อย่างเจมมาอ่านแล้วรีเลตได้กับตัวเอง เพราะพ่อของเขาก็มาจากฮ่องกง เขาก็เป็นคนจีนที่โตที่อังกฤษ เขาเชื่อมโยงกับมันได้ แต่ประสบการณ์ของเขาไม่เคยถูกถ่ายทอดออกมาในสื่อเท่าไหร่ เราเดาว่านี่คือจุดหนึ่งที่ดึงดูดเขาให้สนใจ
กลับกัน คุณคิดว่าสิ่งที่ทำให้วรรณกรรมไทยยังไปไม่ถึงฮอลลีวูดคืออะไร
คำถามนี้ตอบยากนะ เวลาได้ยินคำถามนี้หลายคนอาจคิดว่าเพราะคนไทยมีความสามารถไม่มากพอ ซึ่งเราว่าไม่จริงเลยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เขามีไอเดียสร้างสรรค์ มีความทะเยอทะยานเยอะมาก
จริงๆ เราโชคดีมากนะ และพูดได้ว่าตัวเองมีพรีวิเลจมากที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ เพราะการที่เรามาถึงจุดนี้ได้คือเรามีแรงผลักดันที่หลายๆ คนไม่มี บางคนอาจจะเป็นนักเขียนที่มีความสามารถมากกว่าเราด้วยซ้ำไป แต่เขาไม่ได้รับโอกาสนี้เพราะเหตุผลหลายอย่าง เราว่าหนึ่งในนั้นคือวิธีการที่คนไทยได้รับการสอน เพราะเราไม่ได้รับการสอนหรือปลูกฝังเรื่องการเขียน ถ้าให้เทียบกับเด็กในต่างประเทศ เด็กที่นั่นเขาจะได้รับการสอนให้เขียน Essay ให้เขาคิดวิเคราะห์และแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานเขียน ซึ่งการศึกษาไทยไม่มี กว่าเด็กไทยจะจับจุดตรงนี้ได้มันต้องใช้เวลา เขาต้องหาลู่ทางของตัวเอง มันก็เสียเวลาและพลังเยอะ บวกกับการที่เขาต้องหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองด้วย กว่าจะมาถึงจุดที่เขาสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่มันก็ยาก
ปัจจัยหลักที่เราเห็นคือเราคิดว่าประเทศไทยไม่มีโครงสร้างหรือคอมมิวนิตี้ที่หล่อหลอม ช่วยส่งเสริมด้านนี้และไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กไทยมีลู่ทางในการแสดงออกผ่านงานเขียน ไม่มีโครงสร้างที่ทำให้เด็กเห็นว่าถ้าอยากไปต่อในเส้นทางนี้ เขาจะไปยังไง แล้วพอไม่เห็นว่าจะเป็นได้ เราก็ไม่สามารถไปถึงมันได้ นั่นคืออุปสรรคหลัก
คุณคิดว่าในตอนนี้ โอกาสและที่ทางของนักเขียนไทยที่จะไปไกลถึงฮอลลีวูดมีเยอะขึ้นไหม
อาจมีเยอะขึ้นนะ เพราะเราคิดว่าตอนนี้โลกเปิดกว้างขึ้น อย่างฮอลลีวูดตอนนี้เขากำลังมองหาเรื่องราวที่ไม่ได้ซ้ำกับเรื่องราวที่ผ่านๆ มา ซึ่งเราว่าสิ่งที่น่าสนใจคือแวดวงวรรรกรรมอังกฤษกับแวดวงฮอลลีวูดให้ความสนใจเรื่องนี้ต่างกันมาก พอเป็นเรื่องราวของคนเอเชีย เราได้ข้อเสนอให้ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์แค่แห่งเดียว แต่ตอนไปฮอลลีวูดมันเป็นการประมูลที่แข่งขันกันดุเดือด เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าในโลกของวรรณกรรมที่อังกฤษ เขายังเก่าแก่มากๆ แต่ในฮอลลีวูดเขาเริ่มมองหาเรื่องราวใหม่ๆ มากกว่า
หลายปีมานี้ เราเห็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคนเอเชียในสื่อเมนสตรีมมากขึ้น ตั้งแต่ Crazy Rich Asians ที่ดังเป็นพลุแตก หรือ Everything Everywhere All At Once ที่ได้ออสการ์ คุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร
มองได้สองทาง ถ้ามองในทางดี เรารู้สึกว่ามันมีพื้นที่มากขึ้นให้คนผิวสี (POC) หรือชนกลุ่มน้อย (Minority) ได้เล่าเรื่องของตัวเอง รู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขามีค่าและมีคนอยากฟัง แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง มองแง่ลบหน่อย เราคิดว่ามีคนผิวขาวบางคนที่รู้สึกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเทรนด์เหมือนกัน
จริงๆ ทั้งอุตสาหกรรมไม่ว่าจะฮอลลีวูดหรือแวดวงวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างหลัง เรายังรู้สึกว่ามัน White มากๆ อยู่นะ เพราะมีสื่อบันเทิงบางอันที่เราคิดว่ามันยังไปไม่ถึงจุดที่ควรจะไปถึง เช่น ฉลาดเกมส์โกง ที่กำลังจะได้รีเมกเป็นหนังฮอลลีวูด มันทำให้เรารู้สึกว่า อ้าว ต้นฉบับก็ดีแล้วจะรีเมกทำไม มันก็มีความรู้สึกแบบนี้นิดนึง
แล้วภาพฝันที่คุณอยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องภาพแทนของคนเอเชีย (Asian Representation) เป็นแบบไหน
ตอนเด็กๆ เวลาเราดูหนังหรืออ่านหนังสือของคนผิวขาว เราไม่ต้องมานั่งคุยกันว่า ยูคิดว่ายู Represent คนขาวได้ดีไหม หรือประสบการณ์นี้ของคนขาวต้อง Represent เพื่ออะไร ทำไมมันถึงสำคัญ เราอยากให้ภาพแทนของคนเอเชียเป็นแบบนั้น คือมันควรจะเป็นความธรรมดา เราไม่ต้องมานั่งถกกันว่า Represent ดีไหม เพราะมันคือประสบการณ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต้องมีความกดดันเกี่ยวกับการทำ Representation ตลอดเวลา แต่เราว่ามันยังอีกไกลกว่าจะไปถึงจุดนั้น
แล้วกับนวนิยายเล่มนี้ คุณมีความกดดันเรื่องการสร้างภาพแทนของคนเอเชียไหม
มีนะ เพราะเราไม่ได้เป็นคนจีนที่มาจากจีนเลย เราพูดภาษาจีนไม่เป็น พูดได้แค่กวางตุ้ง นับ 1-10 มันทำให้เรากดดันนิดหนึ่งว่าเราจีนพอที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ไหม ทั้งที่ความจริงแล้วเราก็เป็นคนจีน อากงก็เป็นคนจีน แต่เพราะสถานการณ์ในสังคมตอนนี้ทำให้เราตั้งคำถามนี้กับตัวเอง แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็มาคิดได้ว่า เฮ้ย คนขาวเขาก็ไม่ได้มาตั้งคำถามว่าเขาขาวพอไหมที่จะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเหมือนกัน
พอเขียนจบ เราตกตะกอนว่าสิ่งที่เราต้องทำคือพยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะชอบไหม แค่คนคนเดียวอ่านแล้วรู้สึกรีเลตกับหนังสือเล่มนี้ ได้อะไรกลับไปมันก็พอแล้ว
การได้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความหมายกับคุณยังไง
มันคือการทำความฝันในวัยเด็กให้สำเร็จ และได้เขียนเรื่องที่เป็นส่วนตัวกับตัวเราและครอบครัว มันก็ทำให้เรามีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำ
ในอนาคตเราก็อยากเขียนหนังสือให้ได้มากกว่าเล่มเดียวนะ (หัวเราะ) ก็ยังอยากเขียนหนังสือที่ทำให้คนอ่านได้เห็นประสบการณ์ของตัวเองอยู่ในนั้น อาจไม่จำเป็นต้องดังหรือมีคนซื้อเยอะทั่วโลกก็ได้ แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวของเขา