Tue 30 May 2023

A SPACE YOU’LL RARELY FIND

คุยเรื่องร้านหนังสือและวรรณกรรมสิ่งแวดล้อม
กับคู่รักที่มีอาชีพสอนพิเศษภาษาอังกฤษ

     Rare Finds Bookstore and Cafe เป็นร้านหนังสือและคาเฟ่ ตั้งอยู่บนถนนช้างม่อยเก่า ซอยเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างถนนชัยภูมิและถนนท่าแพ แถวข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่ ร้านอยู่ในตึกแถวที่ข้างหน้าเต็มไปด้วยต้นไม้กระถาง 

     จะว่าโดดเด่นจากร้านรวงเพื่อนบ้านก็พอได้ แต่ด้วยต้นไม้ที่เยอะเสียจนนึกว่าเป็นร้านขายต้นไม้หรือบ้านส่วนตัว รวมถึงทำเลที่อยู่ในหลืบของถนนเส้นหลัก จะว่าเป็นร้านลับก็ลับอยู่ 

     ผมถาม โฟม—กฤตพร เรืองวัฒนกุล และ เอิร์ธ—อธิษฐ์ อนุชปรีดา พาร์ตเนอร์เจ้าของร้าน ว่าที่ตั้งชื่อ Rare Finds เพราะเป็นร้านที่ลูกค้าจะหาเจอได้ยาก หรือเป็นร้านที่ขายหนังสือกับสินค้าที่อาจจะหาไม่ได้ทั่วไปจากร้านอื่นๆ 

     ปรากฏว่าผิดทั้งหมด ชื่อของร้านมาจากท่อนหนึ่งในเพลงที่ทั้งคู่ชอบของ นิก เดรค (Nick Drake) ศิลปินชาวอังกฤษผู้เศร้าตรมแต่โรแมนติกเหลือหลาย เพลงที่ว่าคือ Time Has Told Me ซึ่งมีคำนี้อยู่ในท่อนแรกของบทเพลง… 

“Time has told me,
You’re a rare, rare find
A troubled cure
For a troubled mind”

     “จริงๆ ก็ผิดแกรมมาร์อยู่ครับ เพราะเพลงมันเป็นเอกพจน์ แต่เราเอามาตั้งเป็นพหูพจน์ (Rare Finds)” เอิร์ธที่มีอีกอาชีพเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษกล่าว

     อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานก็ไม่ได้ผิดโดยสมบูรณ์ ก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะมาเปิดร้านที่เชียงใหม่ ทั้งสองเคยเช่าล็อกภายในอาคารสำนักงานที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าพระโขนง เปิดคาเฟ่ที่มีมุมขายหนังสือเล็กๆ พร้อมพื้นที่สำหรับสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ (ซึ่งเป็นอาชีพหลักของทั้งคู่) พวกเขาเรียกสเปซแห่งนั้นว่า Rare Finds Hidden Cafe ด้วยพื้นที่ที่พวกเขาเช่าอยู่ลึกเข้าไปในอาคารที่เกือบครึ่งร้างผู้เช่า ร้านของพวกเขาจึงมีทั้งความหายาก (rare find) และลี้ลับ (hidden) ไปพร้อมกัน 

     โฟมและเอิร์ธพบกันที่คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบปริญญาตรี เอิร์ธเลี้ยงชีพด้วยการเป็นติวเตอร์และนักแปลอิสระ ส่วนโฟมเรียนต่อปริญญาโทวรรณคดีอังกฤษในสถาบันเดิม ควบคู่ไปกับการเป็นติวเตอร์ ซึ่งก่อนที่เธอจะเรียนจบไม่นาน ทั้งคู่พบว่ากรุงเทพฯ ไม่ตอบโจทย์ชีวิต และอีกอย่าง การเป็นติวเตอร์จะเป็นที่ไหนก็ได้ในประเทศนี้ นั่นทำให้พวกเขาเลือกย้าย Rare Finds มาไว้ที่เชียงใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมได้พบทั้งคู่ที่ร้านหนังสือแห่งนี้ 

ก่อนอื่นเลย ทำไมต้องเป็นเชียงใหม่?

     เอิร์ธ: ผมเคยเรียนมัธยมปลายที่นี่ (โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย) ก็เลยผูกพันกับเมืองนี้พอสมควร และความที่เราอยากเปิดร้านหนังสือควบคู่ไปกับสอนพิเศษ คิดว่านอกจากค่าเช่าที่ถูกกว่ากรุงเทพฯ แน่ๆ แล้ว คือเราน่าจะมีลูกค้าน่ะครับ

     โฟม: เราตั้งโจทย์ไว้ว่าถ้าไม่เจอที่ที่ถูกใจ ก็ไม่คิดจะย้ายมา แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2565) เราขึ้นมางานรับปริญญาของน้องที่เชียงใหม่ เลยมาเดินเล่นถนนช้างม่อยเก่า ซึ่งเป็นถนนที่มีร้านหนังสือมือสองภาษาอังกฤษที่เราชอบไปเลือกซื้ออยู่หลายร้าน และก็บังเอิญเจอตึกนี้ประกาศให้เช่าอยู่ มันเหมาะเจาะพอดี จึงทำเรื่องเช่าเลย

เจอตรงนี้แล้วถูกใจ เลยย้ายจากกรุงเทพฯ มาเลย 

     เอิร์ธ: เราย้ายมาเดือนพฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะเปิดร้านจริงๆ ก็มีนาคม 2566 ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมนานขนาดนั้น (หัวเราะ)

     โฟม: ระหว่างนั้นโฟมก็ทำเรื่องจบปริญญาโทและสอนพิเศษ ส่วนเอิร์ธก็สอนพิเศษทั้งสอนออนไลน์ และบินกลับไปสอนที่กรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นก็เริ่มหาลูกศิษย์ที่เชียงใหม่ 

เข้าใจว่า Rare Finds แรกที่พระโขนงเป็นคาเฟ่ คิดยังไงถึงเลือกมาเปิดร้านหนังสือที่เชียงใหม่  

     เอิร์ธ: พี่หมายความว่าทำไมจึงเลือกทำธุรกิจที่ไม่น่าจะได้กำไร หรือได้กำไรน้อยมากๆ แน่ๆ อย่างร้านหนังสือใช่ไหมครับ 

เข้าใจไม่ผิดครับ

     โฟม: ตรงไปตรงมาเลยคืออยากอยู่กับหนังสือค่ะ แต่ก็ไม่ได้มองในมุมโรแมนติกอะไรอย่างนั้น เราสองคนชอบอ่านหนังสือ ถ้าจะทำธุรกิจอะไรที่เราชอบที่สุดก็น่าจะเป็นการเลือกหนังสือมาขาย ขณะเดียวกันเราสองคนก็ยังสอนพิเศษอยู่ เอิร์ธก็รับงานแปล เลยมีรายได้หลายทาง เหมือนใช้อาชีพที่ว่ามานี้มาพยุงกับธุรกิจที่เราชอบได้ 

     เอิร์ธ: เหมือนเราสร้างสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องกับงานที่เราทำด้วย ระหว่างรอลูกค้า ผมก็แปลงานไปหรืออ่านหนังสือไปด้วย บางวันโฟมก็ขึ้นไปสอนพิเศษชั้นบน ที่สำคัญคือเราสองคนนอนที่นี่ด้วย

พวกคุณนิยามร้านหนังสือร้านนี้ไว้ยังไง

     เอิร์ธ: เป็นร้านที่ขายหนังสือในแบบที่พวกเราอ่านครับ ถ้าเป็นวรรณกรรมภาษาอังกฤษก็จะเน้นงานคลาสสิกและโมเดิร์นคลาสสิก หนังสือไทยก็จะมีเรื่องสั้น นิยาย หรือบทความเชิงสังคมการเมือง ขณะเดียวกัน เราก็เอาของกระจุกกระจิกที่สะสมมาขายด้วย เสื้อผ้ามือสอง ของแต่งบ้าน มันก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความชอบ หรือในความสนใจของพวกเรา

     โฟม: เราพยายามจะจัดประเภท อย่างชั้นนี้เป็นของนักเขียนเชื้อสายอินเดียที่เขียนภาษาอังกฤษ อีกชั้นเป็นนักเขียนญี่ปุ่นที่ถูกแปลเป็นอังกฤษ หรือชั้นนี้เป็นนักเขียนหญิงที่พวกเราชอบมากๆ ก็รวมมาไว้ด้วยกันเลย ชั้นหนังสือไทยก็มีทั้งวรรณกรรมแปลและงานของนักเขียนไทยร่วมสมัยคละกันไป  

เห็นร้านคุณเต็มไปด้วยต้นไม้ และชั้นที่โชว์นิตยสารอย่าง Emergence Magazine รวมถึงหนังสือที่มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อยากรู้ว่าสิ่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันด้วยหรือเปล่า

     โฟม: เราชอบต้นไม้ค่ะ ส่วนชั้นหนังสือตรงนี้ก็อาจเกี่ยวหน่อยหนึ่ง หลักๆ คือโฟมสนใจเรื่องวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทก็ทำเรื่องนี้ เลยเอาหนังสือที่สนใจมาขายและชวนลูกค้าอ่านกัน อย่าง บาร์บารา คิงส์โซลเวอร์ (Barbara Kingsolver) ซึ่งเป็นนักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดังมาก แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ก็เลยอยากนำผลงานเขามาแนะนำ 

เวลาพูดถึงวรรณกรรมสิ่งแวดล้อม เราจะนึกถึงวรรณกรรมที่พูดถึงผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า รุกล้ำธรรมชาติอะไรแบบนี้ เข้าใจถูกใช่ไหมครับ

     โฟม: ใช่ค่ะ แต่มันก็มีมิติมากกว่านั้น ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ปัญหาสังคม การพลัดถิ่น ไปจนถึงการเมือง ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของคนเขียนหรือประเด็นด้านพื้นที่ด้วย 

อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องนี้ 

     โฟม: ตอนแรกเราก็เหมือนคนชอบอ่านหนังสือทั่วไป ก็อ่านวรรณกรรมที่เขาอ่านๆ กัน อย่าง 1984 (โดย จอร์จ ออร์เวลล์) หรือวรรณกรรมอังกฤษศตวรรษที่ 19-20 ตามหลักสูตรที่เรียนตอนปริญญาตรี แต่พออ่านไปมากเข้า เราพบว่าตัวเองห่างเหินกับหนังสือที่สะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของเราโดยตรงขึ้นเรื่อยๆ 

     ช่วงที่เรียนอยู่มีโอกาสได้เรียนวิชาเบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณกรรมสิ่งแวดล้อม แล้วก็พบว่างานพวกนี้ ถึงแม้จะมีเซตติ้งที่อยู่ไกลจากเรา แต่มีประเด็นปัญหาคล้ายๆ กัน เช่น ฝุ่นควัน คุณภาพน้ำ ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ไปจนถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหรือชาติพันธุ์ ก็เลยเริ่มหาหนังสือแนวนี้มาอ่าน จนต่อปริญญาโทก็เลยลงลึกไปโฟกัสในงานวิจัยที่พูดถึงนักเขียนหญิงพื้นถิ่นที่เขียนวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมด้วยภาษาอังกฤษ ในฐานะภาพแทนของเพศและน้ำเสียงที่ถูกขโมยไป   

นักเขียนหญิงพื้นถิ่นเขียนวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมด้วยภาษาอังกฤษ?

     โฟม: ใช่ค่ะ โฟมศึกษาอยู่สามเล่ม คือ Ceremony ของ เลสลีย์ มาร์มอน ซิลโก (Leslie Marmon Silko) เป็นนักเขียนชนพื้นเมืองอเมริกัน, Shark Dialogues ของ เคียนา ดาเวนพอร์ต (Kiana Davenport) นักเขียนเชื้อสายฮาวาย, Potiki โดย แพทริเซีย เกรซ (Patricia Grace) เป็นคนเชื้อสายเมารีในนิวซีแลนด์ แล้วก็ทำ comparative งานเหล่านี้เปรียบเทียบกัน

     ย้อนกลับไปที่คำถามเมื่อกี้ อันที่จริงความสนใจในประเด็นนี้ (วรรณกรรมสิ่งแวดล้อม) ก็มีส่วนในการกำหนดทิศทางการเลือกหนังสือมาขายที่ร้านด้วย อาจจะไม่ใช่ตรงที่เราเอางานแนวนี้มาขายโดยตรง แต่เป็นการเลือกวรรณกรรมที่มีน้ำเสียงหลากหลาย หรืองานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราหรือสังคมที่เราอยู่จริงๆ อย่างเราอยู่เชียงใหม่ที่เจอกับปัญหาหมอกควันหนักหน่วงทุกปี แต่เราแทบหาวรรณกรรมที่พูดประเด็นนี้จากร้านหนังสือทั่วไปไม่ได้เลยนะ

     เอิร์ธ: กระทั่งลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินเข้ามา เขาก็ถามหาผลงานของนักเขียนไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเขามาเที่ยวเมืองไทยแล้วอยากอ่านวรรณกรรมที่สะท้อนบริบทของประเทศไทย อันนี้ก็ถือเป็นความแตกต่างก็ได้ ร้านเราอาจไม่มีหนังสือเบสต์เซลเลอร์เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมที่พูดถึงความหลากหลาย เรามีให้เลือกพอสมควร

เปิดมาหนึ่งเดือนแล้ว พอดูออกไหมว่าลูกค้าคุณเป็นใคร (หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2566)

     เอิร์ธ: เราอยู่ในย่านท่องเที่ยวและซอยที่มีร้านหนังสือภาษาอังกฤษ ลูกค้าเรา 60-70% เลยเป็นชาวต่างชาติ คนเชียงใหม่ก็เริ่มเยอะ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด จะสลับกับสมัยเปิดที่กรุงเทพฯ พอสมควร ที่นั่นลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยครับ

     โฟม: ก็ไม่เชิง ร้านเรามีคาแรกเตอร์จากกรุงเทพฯ ค่อนข้างชัด เราตั้งใจให้เป็นพื้นที่เปิดประมาณหนึ่ง ในความหมายว่าถึงคุณจะเป็นนักอ่านหรือไม่เป็นก็มาคุยกันได้ เรื่องกาแฟก็เหมือนกัน จะเป็นคอกาแฟจริงจังหรือกินกาแฟไม่เป็น เรายินดีต้อนรับหมด อยากให้เป็นที่พักผ่อน นั่งคุย หาหนังสือมาอ่าน สบายๆ

ถามในมุมของคนสอนพิเศษบ้าง การเป็นนักอ่านวรรณกรรมมีส่วนอะไรในอาชีพนี้ของพวกคุณไหม

     โฟม: หลักๆ เราสอนเรื่องจับใจความจากการอ่านค่ะ เคยมีคนติดต่อมาให้เราสอนอ่านวรรณกรรมด้วยนะ คือเขาอยากอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษเข้าใจ เลยขอให้เราสอน แต่ลูกศิษย์แบบนี้ไม่ค่อยเยอะค่ะ สองสามปีจะมีคนสองคน  

สอนให้อ่านวรรณกรรมหรือครับ

     โฟม: ใช่ค่ะ บางคนเขาเรียนสองภาษา แต่มีจุดอ่อนคือการอ่าน เพราะว่าระบบการศึกษาไทยไม่ได้สร้าง intense reader ไม่ได้สร้างการอ่านที่ละเอียดมาก เราก็ค่อยๆ มาสอนว่ากระบวนการนี้มันทำยังไง เพราะมันก็เป็นสิ่งที่เราเรียนที่คณะอยู่แล้ว 

     เอิร์ธ: แต่ส่วนใหญ่จะสอนเพื่อให้เขาไปสอบได้ครับ อย่างติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบ IELTS เพื่อต่อต่างประเทศ เหล่านี้คือคนที่มาเรียนกับพวกเราเป็นหลัก โดยจะเริ่มสอนตั้งแต่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ขึ้นไปถึงระดับผู้ใหญ่

     โฟม: อีกกลุ่มคือสอนภาษาอังกฤษให้คนที่อยากย้ายประเทศค่ะ อันนี้แปลกมาก อยู่ๆ เราก็มาถึงจุดที่สอนภาษาอังกฤษให้คนที่อยากย้ายประเทศได้ ปีที่แล้วคนมาเรียนกับเราเยอะมาก ส่งออกไป 7-8 คนได้ 

     เอิร์ธ: ใช่ๆ สอนมา 10 ปียังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ปีที่แล้วมากันเยอะมาก

เข้าใจว่าปีที่แล้วคนเขาอยากย้ายประเทศเพราะโควิด

     เอิร์ธ: หรือเป็นเพราะรัฐบาลก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ

ทุกวันนี้แบ่งเวลาทำงานกับทำร้านยังไง 

     เอิร์ธ: ร้านเราปิดวันพุธและวันอาทิตย์ เราจะใช้วันหยุดสอนพิเศษ หรือถ้ามีสอนตรงกับวันที่เราเปิดร้าน โฟมจะขึ้นไปชั้นบนแล้วสอนออนไลน์ หรือบางสัปดาห์ก็ลงไปสอนที่กรุงเทพฯ โดยตรง ส่วนผมจะใช้เวลาทำงานแปลระหว่างวันหรือหลังปิดร้าน ก็รับแปลทั้งไทย-อังกฤษ, อังกฤษ-ไทย เอกสารราชการ ข้อมูลต่างๆ หรือพวก proposal หรือคำอธิบายงานศิลปะครับ 

     หลังจากพูดคุยเรื่องวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมในบทสัมภาษณ์ เราติดลม และอยากให้คนอ่าน CONT. เห็นภาพ เลยชวนโฟมคัดเลือกหนังสือ 5 เล่มที่เธอชอบ และสะท้อนภาพของความเป็นวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งโฟมก็เลือกมาให้เรา พร้อมเหตุผลประกอบดังนี้ (แน่นอนว่าทั้งหมดสามารถไปนั่งอ่านได้ที่ Rare Finds Bookstore and Cafe)

The Hungry Tide โดย อมิตาฟ โฆษ (Amitav Ghosh)

     เล่มนี้เป็นหนึ่งในนิยายของโฆษ นักเขียนชาวอินเดีย ที่ถูกอ่านด้วยแว่นวรรณกรรมสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จุดเด่นของเรื่องอยู่ที่การนำเสนอโลกธรรมชาติในฐานะของชีวิตที่มีตัวตน (agent) นิยายสะท้อนข้อจำกัดของแนวคิดตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องการมองโลกธรรมชาติด้วยกรอบวิทยาศาสตร์ ผ่านลักษณะอันเหนือความคาดหมายของน่านน้ำซุนดาบาน นอกจากนี้ ยังวิจารณ์รูปแบบการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบตะวันตก โดยเปิดโปงความรุนแรงที่รัฐบาลทำต่อคนชายขอบเพื่อปกป้องพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์สงวนอย่างเสือ 

     เช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศไทยในกรณีการไล่คนปกาเกอะญอออกจากที่อยู่ของพวกเขาหลังจากพื้นที่ตรงนั้นถูกยกให้เป็นพื้นที่อุทยาน เล่มนี้เป็นเล่มที่เหมาะมากหากจะอ่านจากมุมมองเรื่องความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental injustice)

The Vegetarian โดย ฮัน คัง (Han Kang)

     งานของนักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้ เนื้อเรื่องไม่ได้เป็นการรณรงค์การกินมังสวิรัติอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจจากชื่อเรื่อง 

     เล่าแบบย่นย่อที่สุด ตัวละครมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปอย่างปุบปับ เมื่อเธอตื่นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด ด้วยคำอธิบายสั้นๆ ว่าเธอฝันร้าย

     ตัวนิยายนำเสนอรูปแบบของการกดขี่ข่มเหงในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลังกาย การทารุณกรรมในครอบครัวในนามของความรัก และความหลงใหลในเรือนร่างของผู้หญิง นิยายผูกปมความรุนแรงต่อผู้หญิง การเสพความงามและความรุนแรงที่แวดล้อมวัฒนธรรมการกินไว้ได้เป็นอย่างดี หรือจะอ่านจากมุมมองด้านการวิพากษ์เชิงสิ่งแวดล้อมและสตรีนิยม (eco-feminism) ก็ได้เช่นกัน

Silent Spring โดย ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson)

     เล่มนี้เป็นหนังสือน็อนฟิกชั่น ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1962 เล่าถึงผลกระทบของดีดีที ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในระบบเกษตรกรรมช่วงนั้น คาร์สันชี้ว่าดีดีทีเป็นยาที่ฆ่าระบบชีววิยา (biocides) ที่ไม่ได้ฆ่าเพียงสัตว์รังควาญหรือศัตรูพืชเกษตรกรรมเท่านั้น แต่กลับทำลายระบบนิเวศในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาประชากรนก แมลง และพันธุ์พืชที่ลดลง หรือกระทั่งเสี่ยงสูญพันธุ์ ไปจนถึงผลของสารเคมีต่อมนุษย์ 

     หนังสือเล่มนี้เป็นงานชิ้นสำคัญมากตอนที่มันถูกตีพิมพ์ออกมา ทั้งในแง่ว่าคาร์สันได้เล่าเรื่องที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ และในแง่ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มสำคัญที่สร้างสำนึกเชิงนิเวศให้กับผู้อ่านทั่วโลก

Potiki โดย แพทริเซีย เกรซ (Patricia Grace)

     เขียนโดยนักเขียนหญิงชาวเมารี ความน่าสนใจคือผู้อ่านอาจจะไม่คุ้นกับการอ่านงานของนักเขียนที่เป็นคนพื้นถิ่นในบริเวณโพลีนีเซียเท่าไหร่ นิยายเล่าถึงการพัฒนาที่ดินบรรพบุรุษของชาวเมารี โดยสะท้อนถึงแรงปะทะกันระหว่างนักพัฒนาที่ดินที่มองผืนดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นแหล่งรายได้ กับคนเมารีที่มองว่าแผ่นดินคือพื้นที่ชุมชนของทั้งบรรพชนผู้ล่วงลับ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไปจนถึงคนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดมา 

     งานเขียนชิ้นนี้น่าสนใจตั้งแต่รูปแบบการประพันธ์ที่ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก ไม่ได้เน้นไปที่ตัวละครใดตัวละครหนึ่ง การเล่าแบบกึ่งมุขปาฐะ รวมถึงการเล่าเรื่องผ่านโลกทัศน์การมองเวลาของชาวเมารี ซึ่งมองว่าเวลาดำเนินไปแบบเวียนเหมือนขดเกลียว ไม่ใช่ดำเนินไปเป็นเส้นตรงซึ่งเป็นรูปแบบการมองเวลาของชาวตะวันตก ทั้งหมดนี้ทำให้มันเป็นตัวบทที่ถูกเขียนจากเสียงของคนพื้นถิ่นเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกเห็นตัวตน ความคิด วิถีชีวิตของเขาได้เป็นอย่างดี

The Old Man Who Read Love Stories ชายชราผู้อ่านนิยายรัก โดย หลุยส์ เซปุล์เบดา (Luis Sepulveda)

     เล่มนี้เป็นนิยายของนักเขียนชาวชิลีที่มีชื่อเสียงในหมู่ผู้อ่านจากนิยายเรื่อง นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน นำเสนอปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอาณานิคมกับชนพื้นถิ่นและโลกธรรมชาติผ่านประสบการณ์ของชายชราคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับโลกธรรมชาติและผู้คนในชนเผ่าซูอาร์ ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชุมชนในป่าแอมะซอนและมีงานอดิเรกคือการอ่านนิยายรักที่หมอฟันจากเมืองใหญ่มอบให้ จุดเด่นของนิยายเรื่องนี้คือการนำเสนอความรุนแรงที่คนนอกเข้ามากระทำต่อสัตว์ป่า ผู้คน และโลกธรรมชาติ ในนามของความเจริญ 

     ส่วนตัวเล่มนี้เป็นหนังสือที่ชวนสะเทือนใจมาก หากอยากอ่านนิยายเล่มนี้ผ่านกรอบการอ่านเชิงนิเวศ เราสามารถอ่านปมปัญหาของเรื่องนี้ผ่านการอ่านจากแนวคิดนิเวศสำนึกหลังอาณานิคมก็ได้ค่ะ