Thu 24 Mar 2022

IT’S GONNA BE OKAY

อ่านโน้ตชีวิตของ ‘เติร์ด’ ผ่านบทเพลง Tilly Birds ตั้งแต่อกหักครั้งแรก จนถึงวันที่ฝันอยากทำเพลงให้เจมส์ บอนด์

เรื่อง: A. Piriyapokanon

     วันอาทิตย์, บ่ายโมงตรง, ซอยประดิพัทธ์ คือเวลาและสถานที่ที่เรานัดพบกับคนคนหนึ่ง

     สำหรับคนที่รู้จักผ่านๆ เขาคือนักร้องเจ้าของเพลงฮิตที่มักจะได้ยินตามสถานบันเทิงและสถานีวิทยุ

     สำหรับคนที่รู้จักเขามากขึ้นอีกหน่อย เขาคือศิลปินผู้กวาดรางวัลมากที่สุดในงาน TOTY Music Awards 2021 (T-POP of The Year) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงคว้ารางวัลจากเวทีระดับแนวหน้าของเอเชีย Mnet Asian Music Awards 2021 หรือที่รู้จักกันในชื่องาน MAMA สาขา Best Asian Artist ได้ด้วย

     และสุดท้ายสำหรับคนที่รู้จักเขาดีถึงดีมากแฟนเพลง ผู้ติดตาม หรือจะเรียกว่าอะไรแล้วแต่เขาคือนักเต้น นักเขียนบท คนแต่งเพลง และนักเขียนในโปรเจกต์รวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง จากนักเขียน 12 คนของสำนักพิมพ์ Avocado Books

     ‘เติร์ด—อนุโรจน์ เกตุเลขา’ คือทั้งหมดที่ว่ามานั้น

     ด้วยการหยิบเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเสียน้ำตามาเรียบเรียงใหม่และใส่ตัวโน้ต เขาจึงเป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในทุกบทเพลงของ ‘Tilly Birds’ วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกหน้าใหม่ที่เข้ามาครองหัวใจนักฟังเมื่อสองปีที่ผ่านมา ด้วยเพลงติดหูอย่าง เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน, จำเก่ง, ลู่วิ่ง และ คิด(แต่ไม่)ถึง แต่เรื่องจริงที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึง คือพวกเขาเดินอยู่บนเส้นทางสายดนตรีกันมายาวนานถึง 11 ปี

     เรานั่งรออยู่ไม่นาน เติร์ดก็เดินเข้ามา เขาเอ่ยทักทาย บ่นเรื่องการจราจรอยู่สองสามคำก่อนจะนั่งลง ยกแก้วขึ้นจิบชา พร้อมแล้วสำหรับบทสนทนาว่าด้วยช่วงเวลา 11 ปีซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

TRACK I
“Do you remember the first day we met?”
(Heart in a cage, 2014)

     “เราชอบศิลปะการเขียน ตั้งแต่เด็กก็เขียนนิทานประกวด มีไปประกวดเล่านิทานบ้าง เขียนเรื่องสั้น เขียนบทเขียนกลอน แล้วก็ชอบเขียนนิยาย”

     หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นในการหัดเขียนนิยาย เชื่อว่าวัยรุ่นยุคอะนาล็อกหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการเขียนเรื่องราวลงสมุดแล้วเวียนกันอ่านในห้อง ไม่ว่าจะรับบทเป็นคนเขียนหรือคนคอยอ่านของเพื่อนก็ตาม 

     เติร์ดเองก็เป็นหนึ่งในนักเขียนนิยายวัยเรียนเช่นกัน เพียงแต่เขาไม่ได้เขียนลงในสมุด

     เว็บไซต์ Dek-D คือสถานที่ที่เติร์ดเลือกจะปล่อยของ

     “เป็นเรื่องเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ที่มาทำงานเป็นสายลับ บิ๊กไอเดียคือจะเป็นยังไงถ้าซูเปอร์ฮีโร่มาเป็นสายลับแล้วคนไม่รู้ คนไม่เห็น กับมีอีกเรื่องหนึ่งชื่อ ดลตรี สะกดด้วย ล.ลิง พระเอกชื่อดลตรี เป็นนักแต่งเพลง อยู่ในวงดนตรี แล้วก็ไปตกหลุมรักผู้หญิง เป็นแนวโรแมนติกคอเมดี้”

     “มีคนอ่านเยอะไหมตอนนั้น”

     “นิดนึง ไม่เยอะ แต่ไม่ได้เข้าไปเขียนต่อ ไม่รู้ตอนนี้ยังอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)”

     แล้วความช่างเล่าช่างเขียนก็กลายเป็นอุปนิสัยของเขาเรื่อยมา โดยเฉพาะการเขียนกลอนที่ดูเหมือนว่าจะถูกจริตมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะกาพย์ โคลง ฉันท์ ร่าย แม้กระทั่งพอร์ตโฟลิโอที่ใช้ยื่นมหาวิทยาลัย เติร์ดก็ (ยังจะ) เลือกเขียนบทนำเป็นโคลงสี่สุภาพ 

     เขาสันนิษฐานว่าคงจะเป็นความชอบเขียนกลอนในวิชาภาษาไทยนี่เองที่ต่อยอดมาเป็นความสามารถในการเขียนเนื้อเพลง ซึ่งหากจะพูดถึงจุดเริ่มต้น เราคงต้องย้อนกลับไปในวันที่เติร์ดได้เจอกับเพื่อนร่วมห้องสมัยมัธยมหนึ่งอย่าง บิลลี่—ณัฐดนัย ชูชาติ (มือกีตาร์วง Tilly Birds)

     “ตอนแรกบิลลี่ชวนไปเต้นก่อน เราก็ไปเต้นกับมัน”

     “เต้นอะไรคะ”

     “ก็ป๊อปปิ้ง บีบอยนี่แหละ”

     กลายเป็นว่าหลักกิโลฯ แรกในเส้นทางดนตรีของเติร์ดและบิลลี่เริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าอยากทำเพลงให้ตัวเองเต้น

     “แล้วไปๆ มาๆ ช่วง ม.4 ม.5 บิลลี่ก็บอกว่าเรียนกีตาร์อยู่ อยากทำวงดนตรี อยากเป็นร็อกสตาร์

     “เราก็ด้าย! มาสิ!”

     หลังจากตกปากรับคำเพื่อนสนิท เติร์ดจึงลองใช้ทักษะการเขียนกลอนมาเขียนเนื้อเพลงและทำนองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอ้างอิงเรื่องราวจากประสบการณ์อกหักที่บาดแผลยังสดอยู่ในตอนนั้น

     “จำได้ว่าไปทัศนศึกษาแล้วเห็นร้านขายพวงกุญแจอันนึง เป็นรูปหัวใจอยู่ในกรงเหล็กกลมๆ เห็นแล้วชอบมาก ก็เลยซื้อไปให้เขา พอตอนนั่งเขียนเพลง Heart in a cage นึกอะไรไม่ออก ก็เลยนึกถึงพวงกุญแจอันนั้น”

     “ตอนเอาไปให้เขาตอบว่าอะไร” เราถาม

     “เขาบอก ขอบคุณมาก”

     “แล้วก็จบแค่นั้นเลยเหรอ”

     “อือ”

     นี่สินะที่วงบางแก้วเขาว่า รักครั้งแรก หัวใจก็แตกสลาย…

     เนื้อพร้อม ทำนองพร้อม Heart in a cage เพลงแรกของทั้งสองคนในฐานะร็อกสตาร์ฝึกหัดจึงขึ้นรูปร่างมาเป็นเดโม 

     แต่เพลงต้นฉบับแรกนี้ก็โดนเก็บไว้ในกรุ ถูกหยิบออกมาปัดฝุ่นเคาะสนิมแล้วเก็บกลับเข้าไปอยู่นับปี กว่าทุกอย่างจะเข้าที่ ทุกคนจะพร้อม อัดเครื่องดนตรีและเสียงร้องได้อย่างมีคุณภาพพอจะปล่อยชื่อ Tilly Birds ออกสู่สาธารณชนได้ก็ล่วงเลยมาจนเติร์ดขึ้นมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง

     ควบคู่ไปกับการทำเพลง ในช่วงนี้เองที่เติร์ดได้เจอกับนักเขียน ต่อ—คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ในฐานะอาจารย์วิชา TU115 (MAN AND HIS LITERARY CREATIVITY) วิชาที่เขาบอกว่าให้ตายยังไงก็จะไม่โดดคลาสนี้

     “คือเขาเอาหนังมาสอน ให้ดูหนังแล้วก็แตกประเด็น ศึกษาเรื่องสังคม เยาวชน มนุษย์ ผ่านหนัง แล้วมันแบบ โอ๊ย เหมือนเพิ่งมารู้ตัวตอนนั้นว่านี่แหละความสุขของเรา เราชอบหนังมากกว่าสิ่งที่เรียนอยู่”

     คิดได้อย่างนั้น เติร์ดก็ตัดสินใจซิ่วจากการเป็นเด็กละครเวทีมาเป็นเด็กฟิล์มอย่างเต็มตัว เรียกได้ว่าสำหรับเขา การเจอต่อ คันฉัตรในรั้วมหาวิทยาลัยก็เหมือนกับเจออีกทางหนึ่งของชีวิต 

     นอกจากการเป็นนักเขียนนิยายมือสมัครเล่นและนักแต่งเพลงอย่างจริงจังแล้ว ความฝันอยากเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ของเติร์ดก็เริ่มตั้งเค้าขึ้นในตอนนั้น

TRACK II
“This is not the way it should be”
(Like a deadman, 2015)     

     “AF, The X Factor, The Voice ตั้งแต่ซีซั่น 1-8, The Star น่าจะไปมาหมดแล้ว”

     “ผลเป็นยังไง”

     “ไม่เคยเข้ารอบ blind เลย”

     ตั้งแต่มัธยมสี่ถึงปีสอง เติร์ดตระเวนประกวดร้องเพลงด้วยความตั้งใจที่ว่าถ้ามีชื่อเสียงจากรายการ เขาจะได้มีโอกาสใช้พื้นที่โปรโมตวง และด้วยเป้าประสงค์เดียวกันนั้น สิ่งที่บิลลี่เลือกทำคือเปิดช่องคัฟเวอร์เพลงในยูทูบ พยายามหาผู้ติดตามให้เยอะ หายอดวิวให้มาก เพื่อจะบอกคนเหล่านั้นว่าโลกนี้มีวงชื่อ Tilly Birds

     “ของบิลลี่สำเร็จนะ ของเราไม่สำเร็จ” เติร์ดว่าติดตลก

     ย้อนกลับไป สิ่งที่ทำให้คนรู้จักชื่อเติร์ดเป็นครั้งแรกน่าจะมาจากบทเพลง It’s a Man’s World ที่เขาฝากความประทับใจไว้ในรายการ I Can See Your Voice ซึ่งเจ้าตัวเฉลยว่าวันที่ถ่ายทำ เขาเกณฑ์ผู้ชมในห้องส่งให้ไปกดไลก์เพจ Tilly Birds ด้วย และใครที่เพิ่มเพื่อนเฟซบุ๊กมาในช่วงนั้นเติร์ดก็กดรับแบบไม่เลือก เพื่อที่จะได้ส่งคำเชิญไปให้กดไลก์เพจของวง ซึ่งถามว่าสำเร็จไหม…

     “คนงงว่า Tilly Birds คืออะไรวะ” คือคำตอบ

     ออดิชั่นอยู่หลายปี หลายเวทีก็ไม่ผ่าน ไปออกรายการที่ดูเหมือนจะมีโอกาสเฉิดฉายก็ไม่ได้ทำให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเท่าที่หมายใจไว้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากถาม

     “มีจุดที่คิดกับตัวเองว่าพอดีกว่าบ้างไหม”

     “ไม่มี เพราะอีโก้สูง (หัวเราะ) กูร้องดีออก ทำไมกูไม่ติดนะ คิดอย่างนี้”

     เติร์ดตอบโดยเร็ว ก่อนจะเว้นเงียบไปครู่หนึ่ง

     “มันก็ท้อบ้างแหละ…” และแล้วเขาก็ยอมสารภาพ

     “มันเซ็ง มันท้อ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะไปอีก มันไม่ใช่ว่าในอนาคตจะไม่มีการประกวดแล้วนี่ อีกอย่างการร้องเพลงมันเหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งไปแล้ว การได้อยู่ตรงนี้ การร้องเพลง เขียนเพลง การทำวงดนตรี เรารักเกินกว่าจะทิ้งมันแล้ว”

     เพราะรักเกินกว่าจะทิ้ง ในปี 2017 พวกเขาจึงตัดสินใจลองทำเพลงไทยเป็นครั้งแรก เพื่อขยายฐานคนฟังภายในประเทศหลังทำเพลงสากลกันมาหลายปี ใน EP ชื่อว่า Tilly Birds อันประกอบไปด้วย เขาเป็นใคร, ฉันไม่ใช่ (คนที่ใช่), เรื่องดีๆ, เพื่อ และ คนที่มีความหมาย 

     การออกเพลงไทยครั้งนี้เองที่ไปเข้าตาทีมเฟ้นหานักดนตรีหน้าใหม่เพื่อเข้าร่วม Band Lab รายการเรียลลิตี้ประกวดวงดนตรีของ Gene Lab ค่ายเพลงน้องใหม่ในเครือ GMM Grammy

     “เป็นการออดิชั่นครั้งสุดท้ายในชีวิตที่คิดว่า โอเค ถ้าอันนี้ไม่ติดอีกเนี่ย—”

     “จะไม่ทำแล้ว?”

     “—ก็คงต้องทำวงกันเอง”

     เติร์ดให้คำจำกัดความ Band Lab ไว้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่ฟางเส้นนี้ไม่ได้หมายความว่าถ้ามันขาดไปแล้วเขาจะเลิกทำและหันหลังให้วงการเพลง แต่หมายถึงถ้ารายการนี้ยังไม่ผ่าน เขาจะเลิกขึ้นเวทีแข่งขันแล้วออกมาหาทางทำวงให้ดังด้วยตัวเอง

     “ที่จริงมีกำหนดไว้เหมือนกันว่าจะลุยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอายุ 30 ถ้าถึง 30 แล้วยังไม่เวิร์กจริงๆ เนี่ย ช่างมัน”

     ครั้งนี้เติร์ดหมายถึงเขาจะ ‘ช่างมัน’ จริงๆ เขาจะหันไปลุยด้านการทำภาพยนตร์อย่างเต็มตัว หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นผู้กำกับหรือคนเขียนบท และลดระดับการทำวงให้เหลือเป็นงานอดิเรก

     แต่เส้นทางสายดนตรีดันไม่อนุญาตให้เติร์ดทิ้งกันไปแบบนั้น มันรั้งเขาไว้ด้วยการให้ Tilly Birds เป็นผู้ชนะรายการ Band Lab

     เมื่อมีค่าย Gene Lab เป็นต้นสังกัด Tilly Birds จึงกลายเป็นวงที่แอ็กทีฟขึ้นอย่างจริงจัง พวกเขาเดินหน้าทำเพลงกันแบบไม่มีพัก และปล่อยเพลงไทยออกมาอีก 5 เพลง ได้แก่ อภัย, แค่พี่น้อง, ผู้เดียว, อยู่ได้ ได้อยู่ และ ฤดูหนาว

     “ซึ่งทั้งหมดที่ปล่อยไปเนี่ย มีแค่ แค่พี่น้อง กับ อยู่ได้ ได้อยู่ เท่านั้นที่ได้ล้านวิว เราก็…ไอ้เชี่ย ทำไงดีวะ

     “ที่จริงวงก็เคยคุยกันนะ หลังจากปล่อยเพลงไปแล้วมันแป้กทุกเพลง จำได้ว่าไปนั่งคุยกันตรงขั้นบันได MRT ลาดพร้าวกันอยู่สามคน ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านเหล้า อากาศเริ่มเย็น ซื้อถั่วเซเว่นฯ มานั่งกิน นั่งคุยกันว่าวงเราแม่งเอาไงดี แล้วบิลลี่ก็พูดขึ้นมาว่า The Yers เขาใช้เวลากี่ปีนะกว่าจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ ไมโล (ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล มือกลองประจำวง) บอกว่าเกินสิบปี 

     “เราเลยตกลงกันว่า เออ งั้นพวกเราก็ปลงแล้วกันนะ ทำใจว่า Tilly Birds เองก็คงต้องใช้เวลาอีกสิบปี กว่าจะให้คนฟังเข้าใจว่าเราทำเพลงอะไร พวกเราเป็นวงอะไร กว่าเราจะดังกันจริงๆ 

     “เอาวะ สิบปีกูก็ยอม ถ้ามันไม่ดังปีหน้า ไม่เป็นไร เราใช้เวลาอีกเก้าปีทำให้มันดังก็ได้ คืนที่คุยกันพวกเราอายุ 24 งั้นเราดังตอนอายุ 34 ก็ได้”

TRACK III
“แม้นานเท่าไร เราจะไม่โยนทิ้งไป”
(เรื่องดีๆ, 2017)

     “แต่โชคดีที่ คิด(แต่ไม่)ถึง มันมาทันเวลาพอดี”

     เติร์ดสรุปหลังจากเท้าความไปถึงช่วงเวลาที่ Tilly Birds ปล่อยเพลงไทยออกมาเป็นครั้งที่สาม

     หลังปล่อยเพลงแล้วเพลงเล่าก็ยังไม่เข้าข่ายความสำเร็จที่ตั้งเป้าไว้ พวกเขาจึงตัดสินใจเสี่ยงดวงอีกสักตั้ง ด้วยโจทย์ที่ว่าในครั้งที่สามนี้จะลองทำเพลงที่ฟังง่าย ร้องตามได้ และติดหูให้มันรู้กันไป เขียนทำนองก็หลายแบบ ขึ้นเดโมก็หลายเวอร์ชั่น เติมสีแต่งรสกันอยู่สักพักจึงได้ออกมาเป็น คิด(แต่ไม่)ถึง เพลงรัก (แต่เขาไม่รัก) อันว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันอีกต่อไป

     “พอปล่อยออกมา อ้าว ดังเฉย ก็เลยโอเค เราไม่ต้องใช้เวลาถึงสิบปีแล้ว”

     กลายเป็นว่าความ ‘ง่าย’ นี้เองที่เป็นกุญแจไขเปิดประตูที่ปิดอยู่มานาน ด้วยซาวนด์จัดจ้านที่ใครต่อใครก็บอกว่านี่แหละคือสไตล์เอกลักษณ์ที่หาจากวงอื่นไม่ได้ ผสานกับเนื้อร้องและทำนองเพลงป๊อปที่ถูกปรับแต่งมาให้เข้าถึงง่ายขึ้น เติร์ดเล่าว่านั่นเป็นครั้งแรกที่เขาปล่อยเพลงไปแล้วยอดเข้าชมขึ้นเร็วขนาดนี้

     แต่ถ้าคุณคิดว่า คิด(แต่ไม่)ถึง จะทำให้เติร์ดได้ขึ้นเวทีอย่างที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดสักทีแล้วละก็ คุณคิดผิด!

     “มันไปโดนช่วงโควิด-19 ระลอกแรก…”

     อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องความเสียดายที่ไม่ได้เล่นบนเวทีสดๆ ออกไป Tilly Birds ก็ถือว่าเป็นอีกวงที่กระโดดขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการเพลงไทยได้สำเร็จ ในฐานะวงที่นำเสนอซาวนด์อิเล็กทรอนิกและซินเทติกรสชาติแปลกใหม่สู่ผู้ฟัง

     นับรวมแล้วเป็นเวลากว่าสิบปีตั้งแต่วันที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น กว่าที่เขาจะได้ยืนกลางสปอตไลต์อย่างที่ใจฝัน ในช่วงเวลาที่ยาวนานนั้นมีสิ่งที่เปลี่ยนไป มีอะไรที่เติร์ดต้องปรับตัวในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน

     “แต่สิ่งที่มันยังคงอยู่ตลอดสิบปีที่ผ่านมาคือแพสชั่น” เติร์ดบอกอย่างนั้น

     “มันนานก็จริง แต่ระหว่างทางเรามีไมโลกับบิลลี่คอยปลอบใจตลอดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีโอกาส มันต้องมีหนทาง เราทำไปเรื่อยๆ ก่อน

     “เราเคยน้อยใจว่าปล่อยเพลงแบบผิดที่ผิดเวลาตลอดเลย แต่พอมาคิดดูอีกที ในความเสียดายนั้น อีกมุมหนึ่งก็รู้สึกว่าโชคดีนะ ถ้าเราไม่ได้ทำเพลงแป้กมาเป็นสิบเพลง เราก็คงคิดไม่ได้ว่าต้องทำเพลงแบบ คิด(แต่ไม่)ถึง เหมือนทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพื่อที่จะส่งเราไปยังจุดต่อไป”

     ไหนๆ ฝันด้านการเป็นนักดนตรีเต็มตัวก็กลายเป็นจริงไปแล้ว เราจึงอยากรู้ว่าอีกฝันหนึ่งซึ่งเติร์ดเคยหวังไว้เป็นอย่างไรบ้าง

     ถูกต้อง เรากำลังพูดถึงการอยากเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์

     “จังหวะมันแย่นิดหน่อย เพราะโอกาสของวงมันมาพร้อมกับตอนที่เราต้องทำทีสิสพอดี กลายเป็นว่าช่วงนั้นพอถ่ายรายการ Band Lab เสร็จก็ต้องไปถ่ายทีสิส ชีวิตไม่ได้นอน หนังจบก็เลยออกมาไม่สมบูรณ์ ความฝันที่อยากเข้าค่ายหนังใหญ่เราก็แหลกสลาย”

     ดูเหมือนไม่ว่าจะความฝันด้านไหน เติร์ดก็พบเจอกับความหมองหม่นดักรออยู่ที่ประตูทางเข้าทุกครั้งไป

     “แต่โชคดีที่มีอีกบริษัทหนึ่ง เล็กลงมาหน่อย เขามาดูหนังจบเราแล้วชวนไปเขียนบทหนังยาวด้วยกัน ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเข้าค่ายเพลงใหม่ๆ ด้วยนะ ยุ่งมาก เพราะต้องเริ่มทำซิงเกิลปล่อยกันเอง”

     “แล้วสรุปไปไหมคะ”

     “จะรออะไรล่ะ!” เขาตอบแทบไม่ต้องคิด

     เติร์ดในช่วงนั้นเรียกได้ว่าใช้ชีวิตแบบสอง identity พยายามทำให้เป็นจริงทั้งสองความฝัน คือเขียนเพลงของตัวเองไปด้วย และเป็นทีมเขียนบทหนังยาวไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่ว่านั้นคือ Cracked ภาพหวาด ซึ่งกำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนี้

     วงดนตรีกำลังประสบความสำเร็จ ด้านเขียนบทเองก็กำลังสดใส 

     แต่มีคนเคยว่าไว้

     ความสุขมันมักจะไม่อยู่กับเรานาน…

TRACK IV
“หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า”
(ถ้าเราเจอกันอีก, 2021)

     “เบญจเพสแม่งแรงจริงว่ะ” เติร์ดบอก

     ปี 2020 นับว่าเป็นปีแจ้งเกิดของ Tilly Birds วงกำลังจะดัง เริ่มมีฐานแฟนคลับที่มั่นคง คอนเสิร์ตใหญ่ก็กำลังต่อคิวให้พวกเขาขึ้นเล่น

     “คือเรารู้สึกว่าที่ผ่านมามันไม่ได้ยากอะไรเลย มันเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ แต่เรื่องความสูญเสียเนี่ยมันค่อนข้างจะคือมันเกินไปไหม หมาเราก่อน แล้วก็แม่ แล้วก็ป๊า รวดเดียวเลย”

     เป็นปีที่ดีที่สุดของวงก็จริง แต่เป็นปีที่แย่ที่สุดในชีวิตของเติร์ด

     เขาเสียแม่ไปด้วยโรคมะเร็งปอดในช่วงกลางปี หลังจากนั้นไม่นานก็เสียพ่อไปในสิ้นปีเดียวกัน พายุแห่งความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ซัดชีวิตเด็กหนุ่มวัยยี่สิบกลางที่เพิ่งจะประสบความสำเร็จเสียจนพลิกผันแบบไม่ทันตั้งตัว

     จากที่เคยอยู่กับครอบครัว สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เติร์ดตัดสินใจย้ายออกมาอยู่คอนโด เริ่มผ่อนรถเอง จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เสียภาษี ซักรีดเสื้อผ้า และดูแลสุขภาพโดยที่ไม่มีใครมาคอยเตือนให้ต้องทำ

     “คำที่คิดได้คือ อะไรก็เกิดขึ้นได้

     “เรารู้สึกว่าพอผ่านเรื่องนี้มาได้ อะไรกูก็เจอได้แล้ว มันไม่น่ามีอะไรหนักเท่าเรื่องนี้แล้ว เราแปลกใจด้วยซ้ำที่ทำใจได้เร็ว แต่คงด้วยความที่เราไม่อยากนั่งร้องไห้ฟูมฟายจมดิ่งด้วยมั้ง เราไม่อยากเป็นแบบนั้น เราอยากโอเค อยากจะไม่เป็นอะไร ใจมันเลยโอเคได้เร็ว

     “อีกอย่างคือมันมีงานให้โฟกัส มีโอกาสที่เข้ามาในชีวิตช่วงนั้นเยอะมากจนเราไม่สามารถทิ้งมันได้ เรายังจำเป็นต่อวง ต่อค่าย เพราะงั้นเราจะล้มลงไม่ได้ เราให้โอกาสตัวเองเศร้าอยู่แป๊บนึง แต่หลังจากนั้นมันต้องลุกขึ้นมาแล้วไปต่อ

     “เรายังมีอีกครอบครัวคือ Tilly Birds มีเพื่อน มีรุ่นน้องรุ่นพี่ที่รักเราอยู่”

     หลังเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่ เติร์ดไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำในสิ่งที่เขาทำมาโดยตลอด เดินหน้าต่อไป ถ้าเพลงไม่ดัง เขายอมใช้เวลาอีกสิบปีก็ได้ ถ้าถึงเวลาที่ต้องอยู่คนเดียว มันก็แค่ต้องอยู่ต่อไปให้ได้

     “เรามีรุ่นน้องที่พ่อกับแม่เขาก็เสียในปีเดียวกัน เราเลยรู้สึกว่าไม่ได้มีแค่เราหรอกที่เจอ มันมีคนที่เคยเจอเรื่องหนักๆ แบบนี้ มีคนที่เขาเหลือตัวคนเดียวเหมือนกัน อาจจะน้อย แต่มันไม่ได้มีแค่เราแน่ๆ มันมีคนที่เคยผ่านเรื่องแบบนี้มาแล้ว และเขาก็ยังใช้ชีวิตได้ต่อ”

     คิดได้อย่างนั้น “Take your broken heart, make it into art.” ประโยคคลาสสิกจาก แคร์รี ฟิชเชอร์ (Carrie Fisher) นักแสดงจากภาพยนตร์ Star Wars ผู้ล่วงลับ จึงกลายเป็นไบเบิลที่เติร์ดถือเอาเป็นแก่นชีวิต

     “มันตรงมากเลยนะ เหมือนเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เราทำ ว่าเนื้อเพลงหรือสิ่งที่เราเขียนมันออกมาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีเกือบทั้งหมดเลย 

     “พอคนเราถึงจุดที่ต่ำที่สุด มันจะทำอะไรออกมาได้เพียวมาก เหมือนศิลปะจะเติบโตได้ดีในที่ที่มืดมน ประเทศไทย เผด็จการ ความสูญเสีย อะไรแบบนี้ ศิลปะมันจะบริสุทธิ์มาก เพราะมันเศร้า และมันจริง”

     มีอยู่สองเพลงด้วยกันที่เติร์ด ‘Take his broken heart’ มาเขียนเป็นเนื้อร้องให้กับครอบครัว นั่นคือ ให้เธอหายดี ซึ่งเขาเขียนให้กำลังใจแม่ขณะต่อสู้กับโรคมะเร็ง อีกเพลงหนึ่งคือ ถ้าเราเจอกันอีก ที่เขียนขึ้นหลังงานฌาปนกิจของพ่อ

     ถ้าเราเจอกันอีก มีกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด เติร์ดไม่เคยบอกที่มาของเพลงจนกระทั่งวันที่ขึ้นรับรางวัลในงาน TOTY Music Awards 2021 T-POP of The Year ว่าคนที่เขาต้องขอบคุณที่สุดคือครอบครัว เพราะครอบครัวทำให้เขาได้เพลงนี้มา

     “ท่ามกลางความเสียใจ เราดีใจอย่างนึงคือเขาได้อยู่ด้วยกัน ป๊าได้อยู่กับแม่ แม่ได้อยู่กับป๊า มันคงดีกว่าที่เป็นแบบนั้น ต่อให้เขาไม่ได้อยู่กับเราก็ตาม

     “แต่ก็ยังคิดถึงอยู่ทุกวันนะ ช่วงไหนเงียบๆ อยู่คนเดียวก็จะคิดถึงเขาบ้าง อย่างเวลาขับรถ หรือช่วงที่ร้องไห้หนักเลยก็มี แต่มันก็แป๊บเดียว ความเศร้ามันไม่ได้อยู่กับเรานาน”

     ความสุขอาจไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปก็จริง แต่ความเศร้าก็จะไม่อยู่กับเรานานนักหรอก

     ชีวิตบอกกับเติร์ดแบบนั้น

TRACK V
“อยากให้เธอฟังเสียงฉันไว้ ว่าเธอไม่ได้อยู่คนเดียว”
(เธอไม่ได้อยู่คนเดียว, 2021)

     เชื่อหรือไม่ก็ตาม เจมส์ บอนด์ คือความฝันสูงสุดที่เติร์ดวาดไว้

     “เรามีเพลงฝรั่งก็อยากทำไปให้ถึงเมืองนอก พอไปดังเมืองนอกปั๊บ เราจะได้ทำเพลงประกอบให้ เจมส์ บอนด์ แล้วก็จะได้ออสการ์ นี่คือเพ้อฝันแบบไกลสุด” เติร์ดตอบอย่างตื่นเต้นโดยไม่ลืมแปะป้ายทิ้งท้ายปนเสียงหัวเราะว่า “อันนี้ของเราคนเดียวนะ ไม่ใช่ของวง”

     หลังจากลุยทำเพลงไทยมาห้าปีจนมีผู้ฟังใน Spotify มากถึงแปดแสนคน Tilly Birds ก็เริ่มกลับมาทำเพลงสากลภาษาอังกฤษอีกครั้งตามเป้าหมายแรกที่เติร์ดและบิลลี่ฝันร่วมกันไว้ตอน ม.5 นั่นคือการเป็นวงสัญชาติไทยที่จะไปให้ถึงเทศกาลดนตรีต่างประเทศ มีชื่อเสียงในระดับเดียวกับ The Beatles…

     “อาจจะไม่ถึง The Beatles หรอก ยิ่งใหญ่ไป” เติร์ดขัดขึ้นมาเสียก่อน

     โอเค ตามนั้น ดังพอประมาณ ไม่ต้องตำนานระดับ The Beatles ก็ได้

     ว่าแล้วเราก็คุยเรื่องอนาคตและความฝันขั้นต่อไปของเติร์ดอีกพักใหญ่ ระหว่างนั้นมีอยู่สองคำที่ปรากฏอยู่ตลอดการสนทนา นั่นคือ ‘บิลลี่’ กับ ‘ไมโล’

     เติร์ดไม่เคยอยู่คนเดียวเลย ถึงแม้เขาจะพยายามอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองขนาดไหน

     “สุดท้ายเราไม่เคยอยู่คนเดียวหรอก อยู่กับวงตลอด เดือนนี้ก็เจอกันเกือบทั้งเดือน คอนโดก็อยู่กับเพื่อนสมัยมหา’ลัย

     “มันมีคนอยู่รอบข้างเราเสมอ คนที่เขาพร้อมจะอยู่ข้างเรา เพราะงั้นเราก็ต้องทำให้ตัวเองโอเคเพื่อคนเหล่านี้ หรือต่อให้เราไม่โอเคจริงๆ เราว่าเขาก็เข้าใจ”

     “ก็เลยเป็นที่มาของเพลง เธอไม่ได้อยู่คนเดียว ใช่ไหม” เราถามอย่างรู้ทัน

     “เปล่า เพลงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราเลย

     “จริงๆ เขียนให้คนรู้จักคนหนึ่งที่เขาเสียคุณลุงไป แล้วเขาก็เสียใจมาก เขาเศร้า แต่ไม่อยากให้ใครเห็น ตอนแต่งเพลงในอัลบั้มก็เลยหยิบเอาสิ่งที่เขาพูดกับเรามาเขียน ว่าไม่อยากอ่อนแอ ไม่อยากร้องไห้ ไม่อยากเป็นภาระใคร 

     “เพลงนี้จะบอกเขาว่าเราโอเคนะที่จะอยู่ข้างเขา ให้เขามาร้องไห้หรืออ่อนแอด้วยได้ ถ้าเขาไม่รู้จะเอาความรู้สึกนี้ไปทิ้งตรงไหน ให้เอามาทิ้งที่เราได้เลย เราจะคอยประคองแบกรับเขาเอาไว้ ใจความมันแค่นี้แหละ แต่ว่ามันคงฮีลหัวใจหลายๆ คน เพราะโควิดทำให้คนหมดไฟ หมดกำลังใจ เจอเรื่องไม่ดี หรือสูญเสียคนที่รัก

     “แต่เขียนเสร็จแล้วมันดันบังเอิญมาตรงกับตัวเองเฉยเลย พอหลายคนรู้เรื่องพ่อกับแม่เรา เขาก็จะคอยมาให้กำลังใจ เคยมีแฟนคลับส่งเพลงนี้กลับมาให้ด้วยนะ บอกว่าพี่เติร์ดก็ไม่ได้อยู่คนเดียวนะคะ พี่ก็มีแฟนเพลงอยู่ด้วย พี่เติร์ดสู้ๆ ก็ไม่เคยเจอใครส่งเพลงเรากลับมาให้แบบนี้เหมือนกัน”

     แล้วเรื่องราวร้ายๆ ก็สอนให้รู้ว่าไม่เป็นไร ทุกคนแตกสลาย แต่ทุกคนจะมีใครบางคนหรืออะไรบางอย่างคอยแบกรับเอาไว้เสมอ

     เมื่อได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่รัก โฟกัสกับงานและคนที่อยู่รอบข้าง ก่อนที่จะทันรู้ตัว มวลความสูญเสียก้อนใหญ่ก็พัดผ่านตัวเติร์ดไป ไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน ทิ้งไว้เพียงความทรงจำที่ฝังอยู่ในเนื้อเพลง และความคิดถึงประจำวันในระดับที่พอทนได้

     “ก็คงดีถ้าพ่อแม่อยู่กับเราได้ไปจนแก่เฒ่า จนเรามีลูกมีหลาน แต่ถ้าเราจะต้องอยู่คนเดียวก่อนหน้านั้น มันก็ไม่เป็นไรเลย”

     เกิดก็เกิดมาคนเดียว ตอนตายก็ตายคนเดียว เอาอะไรไปด้วยก็ไม่ได้ บิลลี่เคยบอกเติร์ดไว้แบบนั้น

     “แต่ถ้าเอาอะไรไปได้ก็อยากเอาครอบครัวไปอยู่ด้วยนะ อยากไปเจอหมา คิดมาตลอดเลยว่าวันที่เราตายไป หมายถึงในอนาคตอันไกลเลยนะ เรายังไม่ตายเร็วๆ นี้หรอก ถึงตอนนั้นก็คงมีครอบครัวของตัวเอง ไม่รู้เหมือนกันว่าบั้นปลายจะเป็นยังไง ถ้าตายแล้วเราจะไปเจอเขาไหมวะ มันจะเหมือนในหนังไหม ถ้ามันเป็นแบบในหนังได้ก็คงดี เราจะได้ไปอยู่ด้วยกันในภพหน้า

     “เพลง ถ้าเราเจอกันอีก มันมีท่อนที่บอกว่า ‘แม้นานเท่าไหร่ ฉันรอเธอได้เสมอ’ เราหมายถึงว่าเราจะรอเจอเขา อีก 40 ปี 50 ปีต่อจากนี้ เรารอได้

     “มีคำถามเหมือนกันว่าถึงวันนั้นเขาจะจำเราได้ไหม เพราะมันอีกนานมาก แต่เราเชื่อว่าเขาจะจำได้”

ขอขอบคุณ ร้านแผ่นเสียง Record Shop สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่