Wed 10 Aug 2022

UNINSPIRED CONVERSATION

นิทาน รถถัง และการเขียนถึงเห็บหมัดที่กัดกินใจ กับ ‘uninspired by current events’

     แม้จะมีแผนต่อยอดผลงานที่วาดลงในเพจ uninspired by current events ไปสู่สื่อรูปแบบอื่นๆ แต่เมื่อสำนักพิมพ์แซลมอนชวนให้ แก่น—สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ คัดเลือกงานมารวมเล่มพิมพ์เป็นหนังสือ เขากลับรู้สึกแปลกใจไม่น้อย

     “พองานมันทำด้วยคอมพิวเตอร์ ผมจึงคิดถึงงานพวกดิจิทัล ภาพยนตร์สั้น มิวสิกวิดีโอ หรือเกม คือไม่คิดถึงการพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเลย” แก่นกล่าว

     “เพราะเป็นภาพนิ่งที่ดูผ่านหน้าจอได้อยู่แล้ว จึงไม่เคยคิดว่าเราจะดูบนกระดาษไปอีกทำไมใช่ไหม” ผมเสริมต่อ—คล้ายจะเข้าใจความแปลกใจนี้ คิดอย่าง economy คุณแค่เปิดเฟซบุ๊ก เข้าไปในเพจของเขา ก็มีรูปให้ดูรายวันไม่หวาดไหว จะเสียเงินซื้อหนังสือทำไม 

     แต่นั่นล่ะ เมื่อแก่นได้คุยกับบรรณาธิการ และพบว่าสิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องการเพื่อทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์คือ ‘ข้อเขียน’ ประกอบภาพที่เขาเคยวาดไว้แล้ว ข้อเขียนอะไรก็ได้ ความเรียงระบายความอัดอั้นตันใจ สารคดีเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงาน หรือเรื่องสั้นวิพากษ์ปรสิตในสังคมไทย 

     แม้ว่าแก่นไม่เคยทำงานเขียนจริงจังมาก่อน แต่เขาก็เห็นว่าน่าสนุกดี หนังสือเล่มแรกของเขาจึงได้รับการทำคลอดออกมา

     uninspired by current events: sorry stories คือชื่อหนังสือที่ว่า แก่นคัดผลงานจำนวน 50 ชิ้น และวาดใหม่อีก 10 ชิ้น พร้อมเขียนบทกลอนภาษาอังกฤษและไทยประกอบทุกภาพ เขานิยามกลอนที่เขียนว่าเป็น ‘นิทานสอนใจ’ และใช่ เช่นเดียวกับที่เขาระบุผ่านชื่อเพจและชื่อหนังสือ นิทานที่เขียนก็หาได้มีแรงบันดาลใจเกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ปัจจุบัน (current events) ทั้งนั้น

     แก่นเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนรู้งานด้าน 3D และโมชั่นกราฟิกด้วยตนเองผ่านยูทูบ ก่อนจะเลี้ยงชีพในฐานะ 3D Artist ออกแบบภาพเคลื่อนไหวในแวดวงโฆษณาและสื่อ มีผลงานหลากหลายตั้งแต่งานออกแบบภาพเคลื่อนไหวโปรเจกต์บิ๊กๆ อย่าง Bodhi Theater ในอุโบสถวัดสุทธิวราราม งานปกนิตยสารต่างประเทศชั้นแนวหน้า ไปจนถึงงานโฆษณาครีมทาผิวและฟิลเตอร์ในอินสตาแกรม 

     ต้นปีที่แล้ว โควิด-19 ทำให้ฟรีแลนซ์อย่างเขางานหด และระหว่างที่รอ (ลุ้น) ว่าเมื่อไรจะได้ฉีดวัคซีน พลางฟังข่าวฉิบหายรายวันของรัฐบาล เขาก็เริ่มทำภาพประกอบ 3 มิติแนวเซอร์เรียล เสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองขึ้นมาเล่นๆ เพื่อฆ่าเวลา 

     วันที่ 3 มิถุนายน 2021 คือวันแรกที่เขาลงรูปภาพในเพจ uninspired by current events จากนั้น กิจวัตรใหม่ก็เริ่มต้น ตื่นเช้าขึ้นมาเปิดอ่านข่าวในสื่อออนไลน์ สกัดอารมณ์ขันร้ายที่พบ และทำภาพ 3 มิติออกมาโพสต์ในเพจวันละ 1 ภาพ จนวันนี้ผ่านมา 1 ปีกับ 2 เดือนเศษ ที่เขาผลิตผลงานขึ้นใหม่ราวหนังสือพิมพ์รายวัน พ่วงด้วยผู้ติดตามในเพจสองแสนกว่าแอ็กเคานต์ แต่นั่นล่ะ นอกจากชื่อของผลงานแต่ละชิ้นซึ่งประกอบด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่เกินสองคำ แก่นก็แทบไม่ได้พิมพ์หรือเขียนข้อความใดๆ ลงในเพจเลย 

     ใช่ครับ uninspired by current events: sorry stories หนังสือเล่มแรกเล่มนี้ เป็นผลงานที่บรรจุตัวอักษรไว้มากที่สุดของเขา ซึ่งเมื่อทราบว่าเขาออกหนังสือ ผมก็ไม่รอช้าจะส่งข้อความไปหาบรรณาธิการ CONT. เพื่อขอเป็นคนพูดคุยว่าด้วยสิ่งที่ศิลปินผู้นี้ไม่เคยทำหรือคิดที่จะทำอย่างจริงจังมาก่อนอย่างการเขียน 

     เรื่องราวเป็นเช่นนี้

คุณทำเพจมาหนึ่งปีกว่าแล้ว นอกจากชื่อผลงาน คุณแทบไม่ได้พิมพ์ข้อความอะไรเลย แม้แต่พิมพ์ตอบคอมเมนต์ของลูกเพจก็ไม่ อะไรทำให้คุณวางฟอร์มแบบนั้น

     ผมเข้าไปอ่านทุกคอมเมนต์นะครับ แต่ที่ไม่ตอบเพราะคิดว่าภาพที่โพสต์ได้ทำหน้าที่ของมันไปหมดแล้ว ใครจะตีความแบบไหนก็เรื่องของเขา จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเขียนขยายความหรือชี้แจงอะไร ที่สำคัญ ความตั้งใจหลักของเพจนี้ คือการโพสต์รูปผลงานของผมเองอย่างเดียวครับ

แล้วพอแซลมอนมาชวนคุณเขียนหนังสือ คุณลำบากใจไหม

     ไม่ครับ พอฟังไอเดียแล้วก็รู้สึกอยากทำขึ้นมา แต่ก็มีความหนักใจอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน และพักหลังๆ ก็ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือที่เป็นเล่มเท่าไหร่ ตอนแรกก็คิดอยู่หลายตลบว่าจะทำแบบไหน จะเล่าถึงข่าวที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงานนั้นเลยไหม หรือแคปฯ รูปคอมเมนต์จากคนดูมาประกอบ สุดท้ายมาลงกับกลอนสำหรับเด็ก ผมชอบความคลุมเครือของมันดี

ทำไมลงเอยแบบนี้

     ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน ถ้าตอบแบบง่ายๆ คืองานเยาวชนจะใช้คำศัพท์ที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกันก็จุดประกายให้เราคิดต่อได้อีกหลายแง่มุม งานเล่มนี้ผมใช้เรฟเฟอร์เรนซ์ด้านวิธีการเขียนจากแบบเรียนภาษาไทย พวก มานะ มานี หรือยุคที่ผมเรียนคือ แก้ว กล้า ตามารถไฟ ความที่คลังคำศัพท์ผมไม่ได้หวือหวาอะไร เลยคิดว่าถ้าใช้ชุดคำไม่มาก ทำให้มันมีความคล้องจองประมาณหนึ่ง เราก็น่าจะเอาอยู่

พูดถึงวรรณกรรมเยาวชน คุณมีหนังสือที่ส่งอิทธิพลต่อการทำงานของคุณไหม

     ผมชอบ Calvin and Hobbes ครับ เป็นการ์ตูนแก๊กลงหนังสือพิมพ์โดย บิล วัตเทอร์สัน (Bill Watterson) นักวาดชาวอเมริกัน เมื่อก่อนเคยเจอการ์ตูนชุดนี้รวมเล่มขายในโซนหนังสือมือสองที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ อ่านตอนเด็กๆ จะรู้สึกว่าเป็นการ์ตูนเด็กป่วงๆ คล้ายๆ การ์ตูน ปังปอนด์ บ้านเรา แต่พอได้กลับมาอ่านตอนผมโต จึงเข้าใจว่าจริงๆ มันก็วิพากษ์สังคมไว้ได้อย่างคมคายเลยนี่ ซึ่งมันก็คมคายในแบบฉบับของการ์ตูนเด็กน่ะครับ 

การ์ตูนเรื่องนี้มีผลด้วยหรือเปล่าที่คุณเลือกเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ

     ไม่ครับ จริงๆ เป็นความตั้งใจอยากทำให้หนังสือผมเป็นภาษาอังกฤษล้วน เพราะเราวางท่ามาตั้งแต่แรกในเพจเฟซบุ๊กว่านี่ไม่ใช่เพจไทย พอได้โจทย์ว่าจะทำหนังสือ ความที่เราทำหนังสือขายคนไทยเป็นหลักน่ะครับ จะใช้ภาษาอังกฤษอย่างเดียวก็ยังไงอยู่ เลยเขียนภาษาไทยออกมาด้วย โดยจะไม่ใช่การแปลจากอังกฤษมาตรงๆ หลายจุดเนื้อความก็ไม่ตรงกัน แต่อยู่ในประเด็นเดียวกัน

เข้าใจว่าคุณทำงานภาพจากสถานการณ์รายวัน โดยไม่คิดถึงข้อเขียนมาก่อน แต่พอได้โจทย์เรื่องการเขียน รู้สึกไหมว่าความหมายดั้งเดิมของภาพมันคลาดเคลื่อนไป

     มีบางภาพที่ผมคัดเลือกมามันล้อไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ผมวาดโดยตรง แต่ภาพส่วนใหญ่จริงๆ มันไม่ได้สะท้อนแค่ตัวสถานการณ์ แต่สอดแทรกสภาวะสังคมในช่วงนั้นไปด้วย พอได้มาเขียนนิทาน ผมก็ไม่ได้คิดให้มันล้อไปกับสถานการณ์ต้นเรื่องโดยตรง จึงไม่ได้กังวลเรื่องความคลาดเคลื่อนของแหล่งที่มา เพราะจริงๆ คอนเซปต์ของเพจก็ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่า ภาพที่ผมวาดขึ้นหาได้มีแรงบันดาลใจมาจากสถานการณ์ปัจจุบัน คุณอาจย้อนกลับมาดูหลังจากภาพถูกวาดไปหลายเดือนแล้ว หรืออาจหลงลืมว่าวันนั้นมันเกิดเหตุการณ์อะไร แต่ภาพก็ยังสื่อความหมายบางอย่างอยู่ 

คุณมีแนวทางการเลือกและลำดับภาพอย่างไร

     ผมเริ่มจากภาพที่ขึ้นมาชัดเจนที่สุดในหัวก่อน แล้วก็ทดลองเขียนนิทานจากภาพนั้น แล้วก็ค่อยๆ เรียงต่อกันมาเอง 

ไม่ได้ลำดับตามช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์

     ไม่ครับ ลำดับจากความรู้สึกล้วนๆ 

ไม่เคยทำงานเขียนมาก่อน รู้สึกอึดอัดไหม

     สนุกกว่าที่คิดไว้เยอะเหมือนกัน จริงๆ มันจะมีคำถามตลอดว่าสิ่งที่เราเขียนออกมาดีพอหรือยัง เป็นไปอย่างที่เราต้องการแล้วหรือยัง มีความไม่มั่นใจประมาณหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ผมทำแต่งานภาพอย่างเดียว พอโพสต์ลงเพจ จะรู้ได้ทันทีว่าภาพไหนฟีดแบ็กดี อันไหนแป้ก หรือคนไม่เข้าใจบ้าง แต่กับการเขียนมันก็มีความลุ้นที่เราไม่อาจคาดเดาได้อยู่

ในตอนท้ายของหนังสือ ตรงส่วนที่เป็นประวัติผู้เขียน คุณเขียนว่า ‘หวังว่างานของเขา จะช่วยให้คุณบันเทิงกับการมีชีวิตอยู่ในที่แห่งนี้ได้อีกสักพัก’ คุณมองว่าทั้งงานภาพและงานเขียนเป็นการบำบัดความอึดอัดใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ของคุณเองใช่ไหม 

     เอาจริงๆ ก่อนจะเริ่มทำเพจ ผมมีความสิ้นหวังกับข่าวสารรายวันที่ได้รับรู้มากเลยนะ ผมเริ่มทำภาพ 3 มิติในเพจนี้เพราะอยากหาวิธีระบายความรู้สึกออกมามากกว่าการบ่นหรือก่นด่าเฉยๆ คนที่เข้ามาดูผลงานในเพจและมีอารมณ์ขันกับมัน ก็น่าจะเป็นความรู้สึกแบบเดียวกัน ถามว่าเป็นวิธีบำบัดหรือการรับมือกับการมีชีวิตอยู่ในบ้านเมืองแบบนี้ไหม ก็น่าจะใช่ครับ

ก่อนหน้านี้คุณเขียนสเตตัสก่นด่าสังคมและรัฐบาลในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์บ้างไหม

     แทบจะไม่เลยครับ แม่ผมบ่นรัฐบาลในเฟซบุ๊กเยอะกว่าอีก (หัวเราะ) คือยิ่งอ่านสเตตัสของคนอื่นไป ก็จะยิ่งเห็นด้วย ใช่ ประเทศเราตอนนี้มันแย่จริงว่ะ ทุกคนอัดอั้นกันหมด แต่ไม่รู้ทำยังไงนอกจากบ่น การทำรูป 3D ในเพจก็เป็นวิธีบ่นวิธีหนึ่งของผมครับ คืออันนี้มันเป็นอาชีพของผมอยู่แล้ว ผมถนัดทางนี้ก็เลยทำแบบนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนโชว์เคสงานของผมที่เปิดให้คนที่รู้สึกแบบเดียวกัน หรือกระทั่งคนที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นมาถกเถียงกัน

กลับกลายเป็นว่ากิจวัตรประจำวันตลอดหนึ่งปีมานี้เลย

     เป็นโจทย์ที่ผมตั้งไว้แต่แรกอยู่แล้วด้วยครับ นอกจากทำเพื่อบันทึก ก็เหมือนเป็นการฝึกปรือทักษะและความคิดตัวเองไปด้วย ในแวดวงคนทำ 3D จะมีไอดอลอยู่คนหนึ่งชื่อ Beeple ซึ่งเขาลงรูปทุกวันติดต่อกันมาเป็น 10 ปี จากนั้นเขาก็เอาภาพมาคอลลาจกันจนกลายเป็นงาน NFT ที่ทำให้เขารวยเละ คือผมไม่ได้คิดจะทำตามเพราะอยากรวยอย่างเขา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาวินัยในการทำงาน การได้ใช้ความคิด และทำงานทุกวัน คือถ้าคุณเว้นหนึ่งวันเพราะขี้เกียจ หรืออยากผัดวันประกันพรุ่ง สุดท้ายคุณก็อาจเลิกไปเอง ผมก็เลยลองดูดีกว่า ทำงานทุกวันให้เป็นจริงเป็นจังไปเลย


เคยอ่านตอนคุณให้สัมภาษณ์ใหม่ๆ ว่าคุณใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการทำหนึ่งภาพ เดี๋ยวนี้เป็นไงบ้างแล้ว

     ตอนนี้เหลือครึ่งชั่วโมงแล้วครับ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบตื่นมาทำ ก็แล้วแต่ข่าว แล้วแต่ชีวิตตัวเองด้วย วันนี้ไปไหน ต้องทำอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า แต่เวลาผมก็ไม่ได้ฟิกซ์ขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าต้องทำให้เสร็จเวลานั้นเพื่อลงเวลานี้เป๊ะๆ ผมลงงานตามอารมณ์ศิลปินเลย แต่เสือกเป็นศิลปินที่ตื่นมานั่งอ่านข่าวตอนเช้าเป็นกิจวัตร จึงออกมาเป็นสภาพนี้ (หัวเราะ) ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้วางแผนแบบตายตัวว่าจะเล่นกับข่าวรายวันอย่างเดียว มันก็มีบางช่วงที่มีโปรเจกต์เข้ามา บางช่วงอกหัก งานก็จะเป็นอีกแบบไป จริงๆ ก็กำลัง explore อยู่ว่ามันจะโตไปทางไหนได้บ้าง นอกจากการสะท้อนเหตุการณ์รายวัน

สังเกตไหมว่าถ้าเราติดตามข่าวรายวัน คุณจะพบข่าวผู้นำหรือผู้มีอิทธิพลในบ้านเมืองนี้มีทัศนคติหรือทำเรื่องห่วยแตกซ้ำๆ เป็นลูปเดิม คุณทำอย่างไรไม่รู้สึกเป็นบ้าไปก่อนกับการอ่านข่าวพวกนี้

     ก็รู้สึกประสาทเสียอยู่ครับ (หัวเราะ) แต่มันมีความตลกร้ายอย่างหนึ่ง เพจของผมมันก็อิงกับความฉิบหายของบ้านเมือง ผมจึงพอทำใจยอมรับได้ โอเค สถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่กี่เดือนก่อน มันกลับมาคล้ายเดิมอีกแล้ว แต่ความที่ผมทำงานกับภาพ กับสัญลักษณ์ กับองค์ประกอบ จึงเป็นความท้าทายในการทำภาพใหม่ในแต่ละวัน 

เคยคิดถึงจุดที่ว่าเราจะทำเพจนี้ถึงแค่วันหรือปีนี้แล้วหยุดหรือยัง

     ยังไม่ได้คิดครับ รู้สึกยังสนุกกับมันอยู่ คือสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ตอบโจทย์ชีวิตด้วย ผมอ่านหนังสือ อิคิไก ในนั้นพูดถึงวงกลมที่ใช้แบ่งชีวิตอยู่ วงหนึ่งคือสิ่งที่คุณทำได้ดี อีกวงคือสิ่งที่คุณทำแล้วได้เงิน กับอีกวงคือสิ่งที่คุณต้องการ ตอนนี้วงพวกนี้สำหรับผมมันลงตัวอยู่ งานเพจอาจไม่ทำเงิน แต่เราทำได้ดี เราอยากทำ และมีความสุขที่ได้ทำ ที่สำคัญคือเราใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงต่อวันกับมันเท่านั้นเอง ไม่รู้สึกเหลือบ่ากว่าแรงอะไร 

ยังสนุกกับการสะท้อนความเซอร์เรียลในบ้านเมืองนี้

     ผมไม่ได้คิดว่างานตัวเองจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมอะไร แต่พอภาพมันทำงานกับคนที่รู้สึกแบบเดียวกัน ทำให้คนได้มาตีความ หรือสร้างบทสนทนาต่อจากมัน ก็รู้สึกอยากทำต่อไปเรื่อยๆ 

ขอถามถึงแรงบันดาลใจเพิ่มอีกนิด เข้าใจว่าคุณทำภาพเซอร์เรียล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเอื้อต่อเทคนิคภาพสามมิติ กับอีกส่วนคือการสะท้อนภาวะไร้เหตุผลที่ดูไปไกลเกินกว่าข้อเท็จจริงในสังคม ผมเข้าใจถูกหรือเปล่า

     ประมาณนั้นครับ มีศิลปินดัตช์ที่เป็นแรงบันดาลใจในเชิงวิชวลผมอยู่พอสมควรคือ เฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch) เขามีชีวิตอยู่ในระหว่างศตวรรษที่ 15-16 งานของเขาจะมีตัวละครเยอะๆ มีคนพฤติกรรมแปลกๆ และสัตว์ประหลาด ผมไปอ่านประวัติเขามา ภาพจิตรกรรมแฟนตาซีในยุคของเขามันเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่คนในยุคนั้นเข้าใจ เช่น รูปฟอร์มแบบนี้หมายถึงการร่วมเพศ หมายถึงการพนัน เป็นคำพ้องกับภาษาที่คนยุคนั้นใช้กัน คือจะบอกว่าเป็นมีมของยุคสมัยนั้นก็ได้ พอได้ทราบเรื่องนี้ มันก็เหมือนปลดล็อกมุมมองในการทำงานของผมด้วย เพราะสิ่งที่เราทำอยู่มันก็คือมีมร่วมสมัยเหมือนกัน งานช่วงแรกๆ ผมมีเรฟเฟอร์เรนซ์เป็นงานของเขา กับศิลปินเซอร์เรียลชาวฝรั่งเศสอีกคนชื่อ เรอเน มากริต (Rene Magritte) แต่อาจเพราะองค์ประกอบที่ผมวาดมันมีบริบทแบบไทยๆ อยู่เยอะ ก็เลยปั่นป่วนไปเป็นอะไรไม่รู้เหมือนกัน

ความที่งานของคุณเป็นการยั่วล้อความไม่เป็นเหตุเป็นผลของบ้านเมือง ซึ่งสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็ล้วนมาจากรัฐบาลทหารชุดนี้ จึงอยากรู้ว่าถ้าเกิดวันหนึ่งบ้านเมืองเรามีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ คุณจะยังทำงานแบบนี้อยู่ไหม

     อยากให้ถึงวันนั้นเร็วๆ เหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าวันหนึ่งผมมีความพึงพอใจกับสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว ผมจะ struggle กับอะไรอย่างอื่นอีกไหม เพราะตอนนี้สังคมก็เหมือนจะมีโจทย์ร่วมกันอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งมันก็พัดพาตัวเราตามไปด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่ง ประชาธิปไตยมันคือการที่ผู้คนต้อง struggle อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษามันเอาไว้ คนในประเทศเจริญแล้วเขาก็ยังทะเลาะกันอยู่ไม่เลิกจนทุกวันนี้ คิดว่าผมก็คงไม่หลุดไปจากเรื่องนี้ง่ายๆ หรอก

ยังไม่มีแผนที่จะเลิกวาด

     คิดว่ามันมีเรื่องหรือมีประเด็นให้เราได้วาดอยู่ตลอดแหละ ที่สำคัญ ถ้าผมเลิกวาดรูปพรุ่งนี้เลย บทสัมภาษณ์นี้ก็อาจจะไม่ได้ออกนะครับ 

     สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อหนังสือ uninspired by current events: sorry stories (จากราคาเต็ม 240 บาท พิเศษสำหรับคนอ่าน CONT. ลดเหลือ 225 บาท) ได้ที่คอนต์วีเนี้ยนสโตร์