Wed 17 Nov 2021

DEAD PUBLISHER BECOME ZOMBIE

สนทนากับ ‘10 เดซิเบล’ ว่าด้วยร้านหนังสือและความฆ่าไม่ตายของ ‘Zombie Books’

     Zombie Books คือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลิตหนังสือหลากหลาย ครอบคลุมทั้งวรรณกรรม ความเรียง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ไปจนถึงหนังสือเด็ก หนังสือทุกเล่มพิมพ์ปกแข็ง พิถีพิถันในการออกแบบ และจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยาเหลือเชื่อ 

     เพื่อให้เห็นภาพ—หนังสือเล่มแรกของสำนักฯ Historia Memoir ความเรียงเชิงประวัติศาสตร์ ของ อัคนี มูลเมฆ หนาราว 300 หน้า มีภาพประกอบพิมพ์ 4 สีหลายสิบภาพ พิมพ์ปกแข็ง พร้อมแถมโปสต์การ์ดอีก ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 350 บาท ซึ่งถูกกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับหนังสือสเป็กเดียวกันในท้องตลาด 

     “Historia Memoir พิมพ์ 1,000 เล่ม ต้นทุนค่าพิมพ์อยู่ที่เกือบสองแสน ค่าต้นฉบับ ภาพประกอบ พิสูจน์อักษร และค่าออกแบบรวมๆ ก็แสนกว่า คร่าวๆ ต้นทุนหนึ่งเล่มอยู่ประมาณสามร้อยกว่าบาท เราขายเล่มละ 350 บาท ถึงขายได้เกินครึ่งก็ยังไม่ได้กำไร” ‘10 เดซิเบล’ เจ้าของสำนักพิมพ์ ขยายความ

     ความอินดี้อีกเรื่องคือ สำนักพิมพ์นี้ปฏิเสธการจัดจำหน่ายผ่านสายส่ง คนอ่านจึงไม่สามารถหาซื้อหนังสือได้จากร้านทั่วไปใกล้บ้านท่าน เว้นก็แต่มาซื้อเองที่ร้าน Zombie Books ในย่าน RCA หรือผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักพิมพ์ 

     เจ้าของสำนักฯ บอกว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะเขาไม่อยากคิดราคาหนังสือให้แพงขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์สำหรับค่า GP ไม่ใช่เขาไม่เชื่อเรื่องการขายหนังสือตามร้านสาขา แค่อยากทำให้ราคาหนังสือมีมาตรฐาน ตั้งไว้เท่าไหร่ก็ขายเท่านั้น ไม่มีการลดราคาตามเทศกาล และที่สำคัญคือคนอ่านเข้าถึงได้ในราคาที่เป็นมิตร

     ถึงจะเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ แต่ 10 เดซิเบล หาได้เป็นชื่อใหม่ในแวดวงหนังสือ 

     นี่คือนามปากกาของนักเขียนเรื่องสั้นอารมณ์ขันร้าย ฉลาด กวนตีน และไม่เคยเปิดเผยตัวตนออกสื่อ ราวสิบกว่าปีที่แล้วเขาเป็นนักเขียนในยุคก่อตั้งของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ มีผลงานเล่มแรกอย่าง คณิตศาสตร์ รส. ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นวรรณกรรมแนวคณิตศาสตร์เล่มแรกของไทย จากนั้นก็ผลิตผลงานออกมาหลายเล่มภายใต้สำนักพิมพ์ที่มีสันปกสีม่วงแห่งนี้ ก่อนจะร่วมกับ กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนอีกท่าน ทำสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อสำนักพิมพ์หนึ่ง มีฐานที่มั่นอยู่ในร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books) ใกล้สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน 

     สำนักพิมพ์หนึ่งมีแนวทางการพิมพ์หนังสือเฉพาะตัว พิมพ์วรรณกรรมเป็นหลักด้วยรูปเล่มที่เล็กบาง หนาราว 48-120 หน้า ออกแบบปกสวยเฉียบ และขายในราคาเฉลี่ยไม่ถึง 100 บาท สำนักพิมพ์นำงานคลาสสิกของนักเขียนต่างประเทศที่ดีแต่ไม่ค่อยดังนักอย่าง บี. ทราเวน (B. Traven), เจน ไรซ์ (Jane Rice), เจมส์ จอยซ์ (James Joyce), เรย์มงด์ ราดิเกต์ (Raymond Radiguet), มาชาโด เดอ อัสซิส (Machado de Assis) ฯลฯ มาแปลและจัดพิมพ์ ควบคู่กับการพิมพ์งานขึ้นหิ้งของ อาจินต์ ปัญจพรรค์, อุษณา เพลิงธรรม, แดนอรัญ แสงทอง พร้อมงานใหม่ๆ ของนักเขียนไทยร่วมสมัยอย่าง อุทิศ เหมะมูล, ปราบดา หยุ่น, อนุสรณ์ ติปยานนท์, ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ทำคลอดนักเขียนรุ่นใหม่มากมายออกมาร่วมขับเคลื่อนแวดวงในขณะนี้ หนึ่งในนั้นคือ ซะการีย์ยา อมตยา ที่พิมพ์ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ครั้งแรกที่นี่ เมื่อปี 2553 และได้รางวัลซีไรต์ในปีเดียวกัน

     แต่แม้จะได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี สำนักพิมพ์หนึ่งก็มีอายุอยู่เพียงปีเศษเท่านั้น เพราะหลังจากตีพิมพ์งานเล่มดังของซะการีย์ยา 10 เดซิเบลก็ตัดสินใจยุติกิจการสำนักพิมพ์หนึ่งลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (เราทราบทีหลังว่าเพราะขาดทุน) พร้อมกับขายร้านหนังสือและหายตัวไปอีกหลายปี ก่อนจะกลับมาเปิดร้านหนังสือของตัวเองอีกครั้งในนาม Zombie Books เมื่อราวหกปีก่อน

     “เรานึกถึงซอมบี้ ในความหมายของการเป็นผีดิบที่ถูกฆ่ายังไงก็ไม่ยอมตาย แถมยังแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อีก การอ่านหนังสือมันก็เหมือนการแพร่เชื้อน่ะ เราชอบทำหนังสือและไม่เคยเข็ดกับมัน พอกลับมาทำร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ใหม่ เลยตั้งชื่อนี้” 

     ในโอกาสที่ 10 เดซิเบล ยอมกลับมาออกสื่ออีกครั้ง เราจึงชวนเขาย้อนไปขุดความทรงจำเมื่อกว่าสิบปีที่แล้วถึงการเกิดขึ้นและดับไปของสำนักพิมพ์หนึ่ง พร้อมกับสอบถามความเป็นไปของสำนักพิมพ์ใหม่ รวมถึงไขข้อสงสัยว่านี่เขาทำหนังสือเป็นงานอดิเรกหรือยังไง ถึงขายหนังสือได้ถูกขนาดนี้

ก่อนเริ่มคุยกัน อาจต้องปูพื้นให้คนอ่านรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันคุณนิดนึง ทำไมคุณถึงใช้นามปากกาว่า 10 เดซิเบล ซึ่งก่อนหน้าจะมาเปิดก็องดิด คุณก็เคยเปิดร้านหนังสือที่อำเภอปายชื่อ Ten Bookshop ประทับใจอะไรกับเลข 10 หนักหนาครับ

     10 เดซิเบล มาจากความดังเสียงหายใจของมนุษย์ หรือเสียงใบไม้ปลิว คุณอย่าเอาไปโยงกับผู้ใหญ่บ้าน ผมใช้นามปากกานี้ตอนเขียนคอลัมน์ให้นิตยสาร freeform แล้วคนรู้จักก็เลยเรียกผมว่าสิบมาตลอด พอตั้งชื่อร้านหนังสือร้านแรกที่ปายก็เลยใช้ Ten Bookshop แต่นั่นล่ะ ผมมาก่อนกาล เลขนี้ถูกจองมาก่อนแล้ว 

แต่ดูเหมือนคุณสนใจตัวเลขเป็นพิเศษ อย่างหนังสือเล่มแรกก็พูดถึงคณิตศาสตร์ สำนักพิมพ์แรกก็ใช้เลข 1 หรือหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์หนึ่งยังชื่อ รักหมายเลข 0 

     ผมเป็นครูสอนคณิตศาสตร์มาก่อน จากนั้นผมก็เริ่มเขียนบทความที่ freeform และสนิทกับมิว (อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง) ที่เป็นคอลัมนิสต์เหมือนกัน พอนิตยสารปิดตัว มิวก็เริ่มต้นทำสำนักพิมพ์กำมะหยี่ หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์มิวคือ คณิตศาสตร์ รส. ซึ่งผมเขียนมาจากความสนใจดั้งเดิม ผมทำหนังสือกับมิวอยู่อีก 2-3 เล่ม จากนั้นจับพลัดจับผลู ได้งานทำหนังสือประกอบเทศกาลภาพยนตร์ และได้รู้จักโย—กิตติพล สรัคคานนท์ เลยพิมพ์ เสียงเล่าเรื่องจากเครื่องฉาย (รวมเรื่องสั้นที่เชื่อมโยงกับภาพยนตร์ของ 10 เดซิเบล, กิตติพล สรัคคานนท์, ภาณุ ตรัยเวช, ปราบดา หยุ่น, อุทิศ เหมะมูล และอนุสรณ์ ติปยานนท์) ตอนนั้นเหมือนต้องไปขอ ISBN เลยต้องมีชื่อสำนักพิมพ์ 

     คุยกับโยว่าเอาชื่ออะไรดี ตอนแรกผมคิดชื่อสำนักพิมพ์ ‘เท่าทุน’ คือกะขายเอามัน เท่าทุนก็พอ แต่โยไม่เห็นด้วย และเขาก็คิดจากชื่อเราคือเลข 10 เอาเลขศูนย์เป็นกรอบ เลขหนึ่งอยู่ข้างใน โลโก้สำนักพิมพ์จึงเป็นอย่างนั้น และชื่อมันก็ตรงไปตรงมาเลยว่า ‘สำนักพิมพ์หนึ่ง’ ซึ่งมันก็ดูเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นอะไรสักอย่าง ผมซื้อไอเดียนี้ และไหนๆ ก็มาทางนี้แล้วเลยพิมพ์งานแรกเป็นเรื่องรัก ตั้งชื่อว่า รักหมายเลข 0 เลย 

     จากที่คิดว่าพอพิมพ์สองเล่มนี้จบก็น่าจะพอ ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าพิมพ์ต้นฉบับให้คนอื่นอีกยาวเลย ย้อนกลับมาคิดถ้าชื่อสำนักพิมพ์เท่าทุนจริงๆ คงตลกชะมัด

จากวิธีคิดในการตั้งชื่อซึ่งกะจะเท่าทุนตั้งแต่แรก ดูเหมือนคุณตั้งใจจะทำหนังสือเป็นงานอดิเรก โดยไม่คิดหากำไรจากมัน คุณคิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า

     ไม่เลย บ้านผมไม่ได้รวย และตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีตังค์ด้วย ผมรู้ดีว่าการทำสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานวรรณกรรมมันไม่สร้างกำไรอะไรนักหนาหรอก แต่ถ้าอยากให้คนมาอ่านหนังสือเราเยอะๆ เราก็ไม่ควรไปผลักภาระทางด้านราคาให้เขาใช่ไหม 

     มันเริ่มจากความคิดที่ว่าจะพิมพ์งานวรรณกรรมที่มีภาพลักษณ์หนักๆ ให้เข้าถึงง่าย ทำหนังสือขนาดเล็กและไม่หนา เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เวลาอ่านกับมันมาก และต้นทุนการพิมพ์ก็จะลดลง คือยิ่งคุณอ่านจบเร็ว คุณก็จะยิ่งซื้อเล่มใหม่มาอ่าน ตอนนั้นคนทำหนังสือหนา 24 หน้ายก และขายราคาต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาทแบบเรานี่แทบไม่มีเลยนะ คือมีคนมาถามเหมือนกันว่ามึงทำได้ยังไง เล่มแรก รักหมายเลข 0 เราขาย 55 บาท ปราบดา หยุ่น มาออกแบบปกให้ ทำได้ยังไงทุกวันนี้ก็ยังงงอยู่เลย

แล้วตอนนั้นทำได้ยังไง

     คือมีอยู่สองส่วนน่ะ ส่วนแรกคือสำนักพิมพ์ออกทุนพิมพ์เอง กับอีกส่วนคือให้นักเขียนลงทุนเองแล้วเราเป็นบรรณาธิการและดูแลการผลิตให้ วิธีนี้ทำให้เราออกหนังสือได้หลายปก เฉลี่ยเดือนละ 2-3 เล่ม นอกจากนี้เราก็ทำงานรับจ้างพวกออกแบบหรือทำหนังสือเหมือนกัน จากมีผมกับโย ก็เริ่มมีทีมงานคนอื่น มี บอล (ภาณุพงศ์ เชยชื่น) และอ็อก (เศรษฐวัฒน์ อุทธา) มาช่วย พอดีผมไปเจอห้องแถวตรงสี่แยกคอกวัวว่างให้เช่า ก็เลยเช่าทำร้านหนังสือก็องดิดเสียเลย 

ที่เปิดร้านหนังสือก็องดิดคือตั้งใจให้เป็นทั้งที่ขายหนังสือและสำนักงานสำนักพิมพ์

     เป็นที่นอนด้วย ผม บอล และอ็อกนอนกันที่ร้านเลย ร้านมันเป็นตึกชั้นเดียว ก็นอนหลังร้าน เอาโซฟาเบดมากาง ร้านไม่เคยปิดหรอก เพราะพวกเราอยู่กันตลอด ไม่ทำงานก็เล่นวิดีโอเกม หรือกินเหล้า

นี่คือจุดเริ่มต้นของก็องดิดเลย

     อันนี้ต้องขอบคุณคุ่น (ปราบดา หยุ่น) ด้วย คือนอกจากมาช่วยออกแบบปกหนังสือชุดแรกๆ ให้เรา พอเขารู้ว่าเราจะเปิดร้านหนังสือ เขาก็ยกหนังสือภาษาอังกฤษมาให้ตู้นึงเลย หนังสือดีๆ ทั้งนั้น เขาบอกให้เราไปขายทำทุน รวมถึงงานศิลปะที่เขาไปแสดงที่แกลเลอรี่ ก็เอามาให้แต่งร้าน เป็นคนน่ารักมากๆ

ตอนนั้นสำนักพิมพ์หนึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดี ร้านหนังสือก็มีคนเข้าตลอด แล้วเจ๊งได้ยังไง

     มันขายได้ แต่อย่างที่บอก ก็ย้อนกลับมาที่เพื่อนเคยทักเรานี่แหละว่ามึงขายได้ยังไง คือเราขายหนังสือเฉลี่ยเล่มละ 50 บาทน่ะ แล้วค่าแรงพนักงานเดือนนึงก็หลายตังค์อยู่ เราไม่ได้คำนึงถึงว่าพอระยะยาวมันไม่คัฟเวอร์ อีกอย่างคือตอนนั้นเรายังใหม่อยู่ เหมือนวัยรุ่น ถูกใจใครก็พิมพ์หนังสือให้เขาหมด บทกวีก็พิมพ์ บทละครก็พิมพ์ คือรู้ว่างานบางเล่มมันขายยากนะ แต่ก็อยากทำให้หนังสือออกมาสวย หรือไม่ก็แค่อยากช่วยนักเขียน พอครบดีลจ่ายหนี้เราก็แย่เลย 

     ถ้าเกิดว่าตอนนี้กลับไปทำก็น่าจะดีนะ คือหมายถึงเรารู้แล้วว่ามันเร็วไป อะไรบางอย่างทำเร็วไป บางอย่างตัดสินใจเพราะความไม่รู้ หรือด้วยความคึกคะนองอย่างเดียว คือเราคิดอย่างเดียวว่าเป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แล้วก็มีเรื่องของความรีบ ซึ่งบางอย่างเราต้องรอให้มันถึงเวลาสมควรแล้วค่อยทำ  

เสียดายไหมตอนที่เจ๊ง

     ไม่เสียดายอะไรมากหรอก แต่ตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่ามันก็มีความคิดแปลกๆ ก็มีไปโวยวายกับเพื่อนร่วมงานด้วย คือทั้งหมดเป็นความผิดผมคนเดียวเลยแหละ มองย้อนกลับไปก็เห็นว่าตอนนั้นเราเหมือนเด็ก แม่งยังไม่โต 

พอสำนักพิมพ์ปิดตัวแล้วคุณไปทำอะไรต่อ

     กลับไปนอนช้ำใจอยู่ที่บ้านแม่ คือแม่เราก็เก๊กซิมเลย เคยเห็นลูกดีๆ อยู่ ต้องมาเห็นผมเหมือนคนป่วย จนถึงขนาดแม่ต้องให้ตังค์เราใช้วันละ 500 บาท เป็นอย่างนั้นอยู่หลายเดือน จนค่อยๆ กลับมาทำธุรกิจ คือก่อนหน้าทำสำนักพิมพ์หนึ่ง ผมทำธุรกิจอยู่แล้ว เคยเป็นพ่อค้าคนกลางขายอาหารทะเล ขายเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลอะไรพวกนี้

ไม่เขียนหนังสือเลย

     เลิกไปเลย

แล้วกลับมาทำ Zombie Books ได้ยังไง

     อันนี้ต้องเล่ายาวหน่อย คือผมมีโอกาสไปสอนพิเศษให้ลูกสาวนักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งเขาเปิดร้านอาหารอยู่ใน River City เป็นร้านที่ผมไปนั่งประจำก็เลยสนิทสนมกับเขา ชีวิตช่วงนั้นคือสอนหนังสือเสร็จก็นั่งดื่มต่อ เมากลับบ้านทุกคืน คือแม่งเมาเละเลยนะ มีอะไรทำให้เมาได้เราเอาหมด จุดเปลี่ยนสำคัญคือวันนึงเราเมาแล้วขับรถไปบวกกับสิบล้อ อาการสาหัสเลย โดนเย็บไป 200 เข็ม ช่วงก่อนเข้าโรงพยาบาลเราพอมีสติ เลยโทรไปบอกแฟน ผมก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก จนวันต่อมาแฟนก็มาเยี่ยม ผมก็แปลกใจว่ารู้ได้ยังไงว่าอยู่โรงพยาบาลนี้ เขาบอกว่าได้ยินเรางึมงำคำว่า ‘เวช’ แล้วก็หมดสติไป เขาก็เลยเที่ยวโทรศัพท์ไปทุกโรงพยาบาลที่มีคำว่าเวชเพื่อตามหาเรา คิดดูแล้วกันว่ากรุงเทพฯ มีเวชกี่โรงพยาบาล จนหายดีนั่นแหละก็คิดว่ากูจะทำตัวเหลวไหลแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

     ผมไม่เชื่อเรื่องศาสนาหรอก แต่คิดว่าวิธีหักดิบชีวิตเมาๆ ได้ดีที่สุดคือการไปบวช ก็ไปบวชอยู่ที่วัดในนครสวรรค์อยู่หนึ่งเดือน สึกออกมาก็คิดว่าเอาวะ กูจะทำงานอย่างจริงจังแล้ว ซึ่งก็พอดีว่าแฟนท้อง เราแม่งก็เดินไปของานจากเจ้าของร้านอาหารที่เราสอนลูกสาวเขาดื้อๆ เลย เขาก็ถามว่าผมอยากทำอะไร ให้เอาเงินไปลงทุน คือเขาก็มีธุรกิจอยู่หลายอย่างแหละ แต่ผมตอบไปว่าอยากเปิดร้านหนังสือครับ

ทำไมถึงอยากกลับมาเปิดร้านหนังสืออีก 

     เราว่าเรามีปม คิดว่าเรายังไม่โตน่ะ แล้วก็คิดว่าเราเจอกับเรื่องเหี้ยมาตลอดชีวิต ตอนนั้นมีสิทธิรวยด้วย เพราะธุรกิจที่เจ้าของร้านอาหารทำก็ทำกำไรได้ดีหมด แต่นั่นล่ะ ผมอยากทำร้านหนังสือ คือคิดถึงสมัยทำก็องดิด จริงๆ มันก็โอเค เพียงแค่ตอนนั้นสายป่านเราไม่ยาวพอ แต่ตอนนี้มีคนลงทุนให้แล้ว ก็คิดว่าน่าจะไปได้สวย หรือดูอย่าง Readery ที่ประสบความสำเร็จ ก็คิดว่าเราน่าจะทำอย่างเขาได้ แต่แม่งก็ไม่

ทำไมล่ะครับ

     ผมมือไม่ถึงเองด้วยน่ะ ช่วงแรกก็ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด วางแผนจัดการภายในร้าน สต็อกหนังสือ ดีลกับพนักงานอีก ขาดทุนอยู่นานเหมือนกัน ขาดทุนเป็นแสนก็มีนะ เพราะค่าเช่าตึกที่ RCA ก็ไม่เบา แต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป และโชคดีที่คนให้ทุนเขาอดทนกับเรามาก จนเราทำให้มันกลับมาเท่าทุน พอมีเงินปันผลบ้างเล็กน้อย ช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีเวลาทำงานอย่างอื่นมาเสริมกิจการร้านหนังสือ และพอให้เราสามารถกลับมาทำสำนักพิมพ์ใหม่ได้อีกครั้ง

ที่ชื่อ Zombie Books คือเพราะคิดว่าเราเคยตายมารอบนึงแล้ว เราจะไม่ยอมตายอีกหรือเปล่า

     น่าจะทำนองนั้น และในทางการค้าก็คือเหมือนซอมบี้ คุณมาใช้บริการที่ร้านเรา คุณโดนเรากัด ก็จะต้องเป็นพวกเราไปตลอดชีวิต

คุณมีโจทย์ในการทำร้านใหม่นี้ยังไง

     ทำอย่างที่เราชอบเลย ร้านหนังสือต้องไม่เคร่งขรึม ไม่ต้องปัญญาชนจ๋า เป็นมิตร ชั้นบนมีบาร์ มีอะไรให้ดื่ม มีดีเจเปิดเพลง และจัดอีเวนต์ได้ คุณเดินทางมาซื้อหนังสือที่ร้านเล่มสองเล่มแล้วกลับบ้านไปมันก็ไม่ใช่เปล่าวะ เมื่อก่อนโรงหนังเฮาส์ตั้งอยู่ใกล้ๆ ลูกค้าส่วนหนึ่งของเราก็คือคนมาดูหนัง ก็คิดว่าจะทำยังไงให้พวกเขาอยู่กับเราได้นานที่สุด เลยมีพื้นที่ให้นั่งดื่ม มีห้องสมุดเล็กๆ และที่นั่งอ่านหนังสือ 

     เคยคิดอยากทำ residency ให้คนมานอนค้าง หรือให้นักเขียนมาทำงานด้วย แต่ติดเงื่อนไขการเช่าตึก เขาไม่ให้เราทำธุรกิจประเภทโรงแรม แล้วพอโควิด-19 มา บาร์เปิดไม่ได้ ก็เปิดร้านพิซซ่าเล็กๆ ของแฟนที่ชั้นล่าง และให้คนมานั่งกินชั้นสอง  

ตอนนี้มีพนักงานกี่คนครับ

     ถ้ารวมร้านพิซซ่าด้วยก็ 8 คน 

ความยากในการทำร้านหนังสือรอบนี้ของคุณคืออะไร

     พนักงานเลย ช่วงแรกๆ ร้านเราเปลี่ยนพนักงานบ่อยมาก เป็นเรื่องจริงที่ว่าคนทำงานร้านหนังสือมักอยู่ไม่ทน ส่วนใหญ่มาทำเพราะอยู่ระหว่างรองานหรือรอไปเรียนต่อ หรือไม่ก็ไปได้แรงบันดาลใจจากการดูหนังรักโรแมนติกแบบ Notting Hill เลยอยากทำร้านหนังสือเผื่อเจอสาวที่ร้าน แต่ชีวิตจริงคือมึงต้องเจอไอ้อ้วนคนนึงที่เป็นเจ้าของร้านด่า เขาก็น้อยใจแล้ว แถมรายได้ก็น้อยอีก 

     ช่วงหลังผมแก้ปัญหาจุดนี้ด้วยการจูงใจเรื่องรายได้ คาดหวังให้เขาเติบโตไปกับเรา ผมลงทุนขนาดถ้าบ้านใครไกล ผมเช่าคอนโดมิเนียมใกล้ๆ ร้านให้อยู่เลยนะ แล้วเราก็หางานเสริมเพื่อเขาจะได้มีรายได้ที่มากขึ้น คือไม่อยากให้เขาดูถูกงานร้านหนังสือ อยากให้เขามีรายได้คุ้มค่ากับงานที่ทำ

พอจะบอกเรตเงินเดือนพนักงานคุณได้ไหม

     สองหมื่นถึงสามหมื่นกว่าๆ ก็มี เคยมีน้องคนนึงทำได้ถึงสี่หมื่น 

อันนี้รวมกับทำสำนักพิมพ์ด้วยไหม

     ไม่ ทีมทำสำนักพิมพ์นี่แยกกันเลย คนทำร้านก็คนทำร้าน ซึ่งคนทำร้านชุดนี้ไม่ได้มีอาชีพหรือประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับการทำหนังสือเลย คนนึงเป็นนักดนตรี อีกคนเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ พวกเขาแค่ชอบอ่านหนังสือ  

ทำไมไม่ใช้ด้วยกัน

     มันคนละศาสตร์กันน่ะสิ เราเคยใช้คนสายหนังสือแบบพวกนักเขียนหรือกองบรรณาธิการมาทำร้าน ส่วนใหญ่พังหมด อาจจะเพราะเป็นศิลปินหรือเพราะอ่อนไหวเกินไป อยู่ไม่นานสักคน พอมีอะไรติดใจนิดหน่อย เอะอะก็ลาออก เราต้องการคนทำร้านที่อยู่ในโลกของความเป็นจริงมากกว่า

     เคยมีผู้จัดการร้านอยู่คนนึง วันนั้นไม่มาทำงาน ผมเข้าร้านพอดี แล้วจู่ๆ ก็มีกองถ่ายหนังเข้ามา บอกว่าวันนี้มีนัดถ่ายหนังที่นี่ ผมก็งงเลย เพราะไม่มีใครบอกก่อน ก็เลยโทรไปหาผู้จัดการว่าทำไมไม่บอกว่านัดกองถ่ายไว้ นี่เรื่องใหญ่นะ เพราะเราต้องปิดร้านให้กองถ่าย ผู้จัดการก็ตอบแค่ว่าลืม ผมก็บ่นไปว่า เฮ้ย ตั้งใจทำงานหน่อยสิ ทำไมทำอย่างนี้ เขาก็ตอบมาว่าใจเขาไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว… เห็นไหม เนี่ย คนนี้ได้เงินเดือนสามหมื่นกว่าเกือบสี่หมื่นเลยนะ แล้วดูทำงาน เหมือนดูถูกตัวเอง วันนั้นก็เลยบอกไปว่า ถ้าใจมึงไม่อยู่แล้วก็ออกจากงานไปเถอะ 

แล้วคุณมีเกณฑ์ในการเลือกคนมาทำงานยังไง  

     ไม่มี ก็ดูจากความตั้งใจ ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาเลยก็ได้ เราไม่ดูบัตรประชาชนด้วยซ้ำ คือมานั่งคุยกัน ถ้าชอบหนังสือ อยากทำร้านหนังสือ โอเค ก็ทำงานได้เลย

พอคุณเปิดร้าน Zombie Books ครบ 6 ปี คุณก็เริ่มทำสำนักพิมพ์ การที่คุณกลับมาทำสำนักพิมพ์อีกครั้ง เป็นเพราะปมแบบเดียวกับที่เคยทำร้านหนังสือด้วยไหม

     ก็ด้วย แต่ส่วนหนึ่งมาจากเราไปเห็นหนังสือของสำนักพิมพ์เจ้าหนึ่ง เล่มบางมากๆ กระดาษก็ห่วย แต่เขาทำราคาขายสองร้อยหรือสามร้อยกว่าบาท รู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมขายแพงอย่างนี้วะ ก็เลยคิดว่าเดี๋ยวกูทำให้ดูแล้วกัน คนอ่านเขาควรจะได้อะไรจากเงินสองร้อยหรือสามร้อยกว่าบาทที่มากกว่านี้เปล่าวะ

มาจากอารมณ์ล้วนๆ

     ไม่หรอก ก็อย่างที่บอก เราเคยสนุกกับการทำสำนักพิมพ์ พอทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็เลยกลับมาทำ

แต่รอบนี้ดูต่างจากครั้งสำนักพิมพ์หนึ่งอยู่พอสมควร จากที่คุณทำเล่มเล็กๆ บางๆ มาเป็นปกแข็งทุกเล่มเลย 

     ตอนนั้นเหมือนคนป่ามีปืนน่ะ อยากทำแต่มีเงินจำกัดก็ทำเท่านั้น แต่ตอนนี้มีทุนมากขึ้น ก็อยากให้หนังสือมันดูดี คือไม่ใช่แค่ซื้อไปอ่าน แต่ซื้อไปเก็บสะสม หรือซื้อเป็นของขวัญ

แต่ก็ขายถูกอยู่ดี

     เรายังคิดเหมือนเดิมคืออยากให้คนอ่านเข้าถึงหนังสือในราคาที่สมเหตุสมผล เราเลยไม่ฝากสายส่ง เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราจะเสียค่า GP ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำนักพิมพ์ทั่วไปเขาก็จะตั้งราคาโดยคิดกำไรหลังหัก 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว อย่างสำนักพิมพ์ไปขายหนังสือ 200 บาท เขาก็รู้ในใจแล้วว่าจะได้ 120 บาท แต่พอเราไม่ผ่านระบบนี้ เราก็สามารถตั้งราคาได้ที่ 120 บาท และก็ไม่มีลดราคา ขายราคาไหนราคานั้น 

     ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่มักจะตั้งราคาไว้สำหรับหักค่าสายส่ง แต่ขณะเดียวกันพอหนังสือออกใหม่ สำนักพิมพ์ก็ทำส่วนลดเสียเอง ซึ่งมันถูกกว่าราคาขายหน้าร้านอีก เหมือนสำนักพิมพ์ตัดราคาให้กับคนที่เขาช่วยขายหนังสือให้คุณ เราเลยไม่เอาดีกว่า ขายเองในราคาที่เราพอใจ 

แต่ต้นทุนหนังสือของคุณก็สูงอยู่ดีนี่ครับ

     ก็ใช่ แต่ผมไม่อยากผลักภาระให้คนอ่านทั้งหมดน่ะ อย่างเราพิมพ์หนังสือมา 1,000 เล่ม โดยทั่วไปสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เขามองว่าถ้าขายได้ 300 เล่มก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว แต่ของเราอาจต้องทำยอดให้ได้ 50-60 เปอร์เซ็นต์ถึงจะคุ้ม ที่เหลือคือกำไร แต่นี่คือความรับผิดชอบต่องานที่เราทำ เราจึงต้องทำหนังสือให้มีคุณภาพ ให้สวย ให้น่าเก็บ ทุกเล่มเลยมีภาพประกอบหมด เป็นภาพ 4 สีด้วย โปสต์การ์ดก็แถม ซึ่งเราก็จ้างนักวาดภาพประกอบทำให้หมดเลย ต้นทุนหนังสือของเราเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของราคาปกนะ

อย่างที่คุณยกตัวอย่างไปตอนต้นกับเล่ม Historia Memoir อันนั้นคุณก็แทบไม่ได้กำไรเลยนะ

     เล่มนั้นขาดทุนด้วย เพราะเปิดพรีออร์เดอร์เราขาย 310 บาท รวมส่ง คือค่าส่งไปรษณีย์ก็เข้าเนื้อแล้ว แต่เรามองแบบนี้ คือไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เราก็ต้องมีงบการตลาดใช่ไหม เราไม่ทำการตลาดในเชิงไปซื้อโฆษณา แต่เราทำหนังสือออกมาให้ดี ให้คนอ่านเห็นว่าเราตั้งใจ และเขาจะไปบอกต่อ บางคนอาจคิดว่าสำนักพิมพ์เราตั้งราคาผิดหรือเปล่า แต่เขาก็บอกต่อเพื่อนของเขา ทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่ม นี่จึงเป็นการขาดทุนที่ดี ในทางกลับกันถ้าเราเอางบประมาณการตลาดไปจ้างณเดชน์ จ้างเวียร์ หรือคนดังๆ มาให้พูดเชียร์หนังสือ พอถึงปีหน้า คนพวกนี้เขาไปพูดเชียร์หนังสือของอีกสำนักพิมพ์ คนอ่านเขาก็ลืมเราแล้ว 

พอตั้งราคาอย่างนี้ คุณก็มีข้อจำกัดตรงที่คุณก็จะไปฝากใครขายไม่ได้น่ะสิ

     ใช่ มิวมาขอซื้อหนังสือเราไปขาย แต่เราก็บอกว่าไม่รู้จะลดยังไง เพราะถ้าลดให้ 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็ขาดทุนแล้ว แต่ก็ต้องให้ไป หลังจากนี้ก็อาจคิดราคาเผื่อส่วนลดนิดหน่อยสำหรับร้านหนังสืออิสระ

แล้วคุณไม่เชื่อในระบบการใช้สายส่งเพื่อวางขายหนังสือตามเชนสโตร์แล้วเหรอ

     ไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่ปัญหาตอนนี้คือมันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย มันไม่มี fixed book price หรือยกตัวอย่างว่าถ้าเราออกหนังสือมาหนึ่งปก มีร้าน A มาขอซื้อไป 30 เล่ม ขอส่วนลด 45 เปอร์เซ็นต์ และร้าน A เอาไปขายในราคาลดให้ลูกค้า 20 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นมีร้าน B มาขอซื้อแต่ปริมาณน้อยลงหน่อย เลยได้ส่วนลดแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ไม่สามารถทำราคาให้ถูกเท่าร้าน A ได้แล้ว เพราะถ้าลด 20 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน ไอ้ร้าน B ก็จะได้กำไรแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ แบบนี้มันกลายเป็นตลาดทุน เราไม่ชอบวงจรแบบนี้ เลยตั้งราคาแบบไม่ลดเลยดีกว่า เพราะไม่ต้องขายแข่งกับใคร จะลดก็เฉพาะตอนพรีออร์เดอร์ และหลังจากนี้ ถ้าทุกคนเอาหนังสือเราไปขายต่อ ต้องขายเท่ากันในราคาเดียว นักอ่านอยากให้เงินใคร ก็ไปซื้อที่ร้านหนังสือนั้น  

คิดอย่างไรถ้ามีคนตั้งข้อสงสัยเรื่องการตั้งราคาถูกเพื่อตัดราคา

     ไม่คิด หนังสือเราพิมพ์ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว มันจะไปตัดราคากันได้ยังไง เอาว่าถ้าคุณพิมพ์เรื่องเดียวกัน แล้วเราขายถูกกว่านั่นคือตัดราคา ที่ตั้งราคาถูกเรามีเหตุผลเดียวคืออยากทำให้คนอ่านซื้อได้ง่ายขึ้น ถ้าหนังสือดีถึงมือคนอ่าน แล้วเขาชอบ เขาก็อยากอ่านเล่มต่อไปถูกไหม มันก็ทำให้คนเกิดการรักการอ่าน เราเชื่อว่าถ้าทำหนังสือที่ดีออกมามันจะมีคนสนับสนุน หลายคนที่ซื้อเล่มแรกเราไป เขาก็กลับมาเก็บอีกห้าปกที่เหลือที่เราออกมาล็อตแรก ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราพอจะคุยได้ว่าประสบความสำเร็จ 

แล้วที่ตั้งราคาแบบนี้อาจกล่าวได้ไหมว่าเพราะคุณมองหนังสือในตลาดทุกวันนี้ว่ามีราคาสูงเกินไป

     ไม่ได้สูงเกินไปหรอก ก็แล้วแต่คนคิด ส่วนผมคิดว่าถ้าเกิดว่าเราไม่ได้ใช้สายส่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องขายหนังสือแพง บางเล่มที่ราคาสูงก็เพราะเขาเผื่อถูกหักหน้าร้านซึ่งเข้าใจได้ แต่บางเล่มนี่มันแพงแบบไม่รู้เพราะอะไร ซึ่งก็ว่าไม่ได้หรอก เพราะถ้าคนซื้อเขาพอใจจะซื้อก็เรื่องของเขา แต่ในทางกลับกัน ถ้าหนังสือขายไม่ได้เพราะตั้งไว้แพงไปจริงๆ ก็อย่าโทษว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือแล้วกัน

คุณมีวิธีเลือกหนังสือมาพิมพ์ยังไง 

     ก็เลือกที่เราคิดว่าน่าสนใจ หลักๆ เรามีบรรณาธิการประจำอยู่สองคน ผมกลับมาร่วมงานกับโยอีกครั้ง และอีกคนคือคุณทราย—ปิญณ์ชาน์ เหล็กเพชร ก็ให้สิทธิสองคนนี้พิจารณาต้นฉบับ และควบคุมการผลิต สำนักพิมพ์เราไม่มีประกาศเปิดรับต้นฉบับ คือเป็นฝ่ายที่เราเข้าหานักเขียนมากกว่า สนใจใครก็ไปถามต้นฉบับจากเขาเลย แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นถ้ามีคนส่งต้นฉบับมาให้พิจารณา 

คุณพิมพ์ทั้งเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และเห็นว่าจะมีนิยายภาพอีก ได้กำหนดทิศทางสำนักพิมพ์ไว้ยังไงบ้าง

     อาจดูจับฉ่ายนะ แต่ผมมองว่าเราอยากทำหนังสือสวยๆ ให้คนอ่านที่หลากหลาย คือหนังสือสอนทำอาหารก็กำลังจะทำ รวมถึงหนังสือเด็ก ที่เรากลับมาทำสำนักพิมพ์อีกครั้งส่วนหนึ่งก็เพราะผมมีลูก ก็อยากให้ลูกเกิดมาท่ามกลางหนังสือ ผมเห็นเพื่อนหลายคนที่มีหนังสือในชีวิตล้วนเป็นคนน่าคบหา อีกเรื่องคือความสุขของคนพวกนี้ราคาถูกมาก ขอแค่มีหนังสือกับกาแฟสักถ้วยก็จบแล้ว คนที่มีความสุขได้ในราคาถูกนี่โคตรน่าอิจฉา  

แล้วต้นฉบับอะไรที่จะไม่พิมพ์บ้าง

     ต้นฉบับที่ผมอ่านแล้วไม่อินน่ะ เราจะพิมพ์แต่เล่มที่เราอินจริงๆ เรามีบทเรียนมาแล้ว คือเมื่อก่อนเราเป็นวัยรุ่น เหล้าวางอยู่ตรงไหน เราก็ตามไปกิน กินกับใครก็ได้หมด เพราะเราแค่อยากกินเหล้า แต่ทุกวันนี้กินเหล้า ก็ต้องกินกับคนที่กินด้วยแล้วมีความสุข เหมือนพอโตขึ้นแล้วก็คบคนน้อยลง แต่ว่าขอให้เป็นคนที่เรารักเราชอบแค่นั้นเอง หนังสือก็เหมือนกัน คือมีความรู้สึกกับมันแล้วก็พิมพ์ มันจะพิมพ์ให้ดีออกมาได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้สึกรักมันก่อน อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่ผมได้จากสำนักพิมพ์หนึ่ง 

เมื่อกี้คุณพูดประมาณว่า ก็อย่ามาโทษว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือแล้วกัน เลยคิดขึ้นมาได้พอดี คุณคิดบ้างไหมว่าการทำธุรกิจหนังสือหรือสำนักพิมพ์ที่คุณทำอยู่ตอนนี้มันกำลังจะตกยุคไปแล้ว

     ไม่นะ ผมทำร้านมา 6 ปี ถึงจะลุ่มๆ ดอนๆ ขาดทุนบ้าง และกำไรไม่ได้หวือหวา แต่มันก็พิสูจน์ว่าเราอยู่ได้ และเราก็เลี้ยงพนักงานทุกคนให้อยู่รอดด้วยระดับรายได้ที่โอเค 

     ผมชอบสเตตัสเฟซบุ๊กของ ธีรภัทร เจริญสุข อยู่อันนึง จำได้ไม่ละเอียด แต่ประเด็นที่เขาเขียนสื่อว่า เด็กสมัยนี้เขาโตมาโดยแทบไม่ได้จับหนังสือเป็นเล่ม พวกเขาอ่านทุกอย่างผ่านจอไอแพด เพราะฉะนั้น เด็กโตมายังไงก็อย่างนั้นแหละ คือหนังสือก็จะตายก็เพราะว่าเด็กไม่ชินกับการที่ได้เห็นได้จับต้อง การที่เราทำหนังสือหรือขายหนังสือก็เพื่อหวังจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนที่ผมพยายามให้ลูกๆ เติบโตมาโดยมีหนังสือเป็นเพื่อน 

     คราวนี้กลับไปที่เรื่องเดิมว่าหนังสือกำลังจะตาย ผมว่าอยู่ที่การปลูกฝัง และถ้าเราทำหนังสือให้สวย มันก็จะสร้างแรงดึงดูดได้มากทีเดียว โยเคยเล่าให้ฟังว่ามีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ เขาจะพิมพ์หนังสือออกมาปกละ 1,000-1,500 เล่มเท่านั้น แต่ทำปกแข็งเวอร์ชั่นเก็บสะสมเลย มีการประกวดคนทำภาพประกอบ เพื่อเอาภาพไปลงในเล่มนั้น เขาขายราคาต่อเล่มค่อนข้างสูง ทรีตมันเป็นงานศิลปะ พอเปิดให้สั่งจองปุ๊บ หนังสือขายหมดเร็วมาก นี่ก็เพิ่งรู้จากที่โยมาเล่า เขามีโมเดลคล้ายๆ เรา เว้นแต่เราทำราคาให้มันถูกเพื่อให้คนเข้าถึงง่าย 

     ขณะที่หลายคนสงสัยว่าหนังสือจะตายไหม คำถามอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แล้วคนทำหนังสือปรับตัวเองอย่างไรมากกว่า คือจะเอาแต่โทษคนอ่านไม่ได้ แน่นอน คนรุ่นใหม่อาจจะอ่านหนังสือเล่มน้อยลง แต่คนอ่านเดิมเราก็ยังมี แค่เราจะทำยังไงให้คนอื่นๆ มาซื้ออ่าน อย่างช่วงโควิด-19 ธุรกิจอื่นลำบากหมด แต่ยอดขายหนังสือเราขึ้นนะ เราเห็นความต้องการอยู่ ขอแค่เราทำหนังสือให้ดี ให้เขาเข้าถึงได้ง่าย เขาก็ซื้อ

รัฐบาลมีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมการอ่านอย่างที่คุณว่ามาไหม

     คุณจะไปคาดหวังอะไรกับนายกรัฐมนตรีที่แนะนำหนังสือ Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ให้ประชาชนอ่าน แต่ตัวเองทำตัวสวนทางกับสิ่งที่หนังสือจะบอกเราฉิบหาย นี่โดนทีมงานแกล้งหรือเปล่าก็ไม่รู้ 

     อันที่จริงรัฐบาลมีส่วนสำคัญมากๆ นะ ถ้าจำไม่ผิดรัฐบาลอินเดียเนี่ยไล่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือดีๆ เพื่อมาพิมพ์ขายประชาชนในราคาถูก ให้คนเข้าถึงง่ายๆ แต่รัฐบาลไทยนี่ก็อย่างที่รู้กัน ไม่มีวิสัยทัศน์ ลำพังแค่บริหารประเทศยังไม่รอดเลย ที่ขับเคลื่อนกันมาได้ก็ภาคเอกชนทั้งนั้น

แล้วในเชิงความหลากหลายของเนื้อหาหนังสือไทยในท้องตลาดตอนนี้ล่ะ คุณคิดว่ามันครอบคลุมหรือเป็นที่พึงพอใจแล้วหรือยัง

     ผมว่าหลายสำนักพิมพ์เลือกงานจัดพิมพ์ออกมาดีมากทีเดียว เพียงแต่ว่าถ้าพิจารณาตามร้านหนังสือ หนังสือดีๆ เหล่านั้น มันไม่ได้รับการส่งเสริมการขายสักเท่าไหร่ คุณดูเชลฟ์หนังสือแนะนำตามร้านใหญ่ๆ สิ ตอนนี้จะเห็นแต่หนังสือแนะนำการปลูกต้นไม้ใบด่างเต็มไปหมด ไม่ใช่หนังสือปลูกต้นไม้ใบด่างไม่ดี แต่หนังสือมันไม่ได้มีทั้งหมดแค่นั้น ก็เข้าใจแหละว่าร้านหนังสือก็ต้องวิ่งตามกระแสเพื่อยอดขาย ผมเลยรู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ร้านหนังสือส่วนใหญ่คิดแต่จะขายหนังสือที่ขายดี โดยไม่ให้พื้นที่กับหนังสือคุณภาพดีที่ช่วยยกระดับการอ่านแก่คนอ่านเท่าที่ควร 

ในระยะยาวคุณมีแผนสำหรับสำนักพิมพ์ Zombie Books อย่างไร

     ผมตั้งใจว่าปีหน้าจะพิมพ์งานออกมาอย่างน้อย 20 ปก ส่วนการตลาดไม่มีอะไรซับซ้อนมาก คือทำหนังสืออย่างพิถีพิถัน ใช้การบอกต่อเป็นหลัก ผมคิดง่ายๆ ว่าอยากให้มีคนรักสำนักพิมพ์เราในประเทศนี้สัก 1,000 คนก็น่าจะพอแล้ว คือเราพิมพ์จำนวนน้อย แต่ก็หวังให้ขายหมดทุกปก หรือพิมพ์หนังสือมา 1,500 เล่ม ขายได้ 1,000 เล่ม เราก็โคตรดีใจแล้ว ซึ่งล็อตหกเล่มแรกมีสองปกที่ขายหมดแล้ว และกำลังจัดพิมพ์ใหม่ แต่ล็อตต่อๆ ไป อาจเพิ่มราคาขึ้นอีกนิด เพื่อเอาไปขายตามร้านหนังสืออิสระอื่นๆ ได้ และให้มีกำไรหน่อย

แล้วมีแผนจะพิมพ์วรรณกรรมไทยแบบยุคที่ทำสำนักพิมพ์หนึ่งอีกไหม

     ถ้าเจอที่ชอบก็พิมพ์ แต่ไม่พิมพ์ฟอร์แมต 24 หน้ายกแบบเดิมแล้วนะ เราจะทำปกแข็ง มีภาพประกอบสวยๆ เวลาทำหนังสือเล่มใหม่ ผมจะถามทีมงานเลยนะว่าอยากให้ใครมาเขียนหรือทำภาพประกอบให้ บอกได้เลย คือถ้าเป็นทีมฟุตบอล ตอนนี้คุณก็กำลังอยู่กับทีมระดับเปแอสเชน่ะ โค้ชอยากได้ใครก็บอก

     หมายเหตุ: ปัจจุบัน Zombie Books พิมพ์หนังสือออกมา 6 เล่ม ได้แก่ Historia Memoir โดย อัคนี มูลเมฆ, เดียวดายใต้เงาจันทร์ โกวเล้ง รำพัน โดย เรืองรอง รุ่งรัศมี, ปรัชญากัมปนาท (Diapsalmata) โดย โซเรน เคียร์เคกอร์ด (พยงศักดิ์ เตียรณสกุล แปล), เฟือง (Haguruma) โดย ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (ปัญญดา สรัคคานนท์ แปล), เมียซามูไร โดย Aki Tanino, Collin Turnbull และ Lee YuHwa (ศ.ดร. ยศ สันตสมบัติ แปล), ความลับของทะเล รวมบทกวีโดยนักเรียนโรงเรียนไห่ป่าว (เรืองรอง รุ่งรัศมี แปล)

     ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 
    
https://zombiebooks.co/  
     www.facebook.com/z.books.rca