BEFORE AND AFTER (JITTI) RAIN
คุยกับนักเขียนผู้จุดกระแสซีรีส์วายไทยและการรับมือชีวิตที่เปลี่ยนไปของ ‘JittiRain’
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
หากพูดถึงซีรีส์วายไทยที่ดังมากชนิดที่คนนอกวงการยังรู้จัก เชื่อว่าชื่อของ คั่นกู (จากซีรีส์ เพราะเราคู่กัน) ต้องถูกรวมอยู่ในนั้นแน่นอน
นอกจากกระแสตอบรับจะจุดกระแสวงการวายไทยและเปลี่ยนชีวิตเหล่านักแสดงนำไปในชั่วข้ามคืนแล้ว อีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความดังที่ฉุดไม่อยู่นี้คือ น้ำฝน—จิตติณัฏฐ์ งามหนัก หรือ จิตติ เจ้าของนามปากกา JittiRain นักเขียนนิยายซึ่งเป็นต้นฉบับของซีรีส์
จิตติเหมือนกับเด็กหลายคนที่เติบโตมากับการมีหนังสือเป็นเพื่อน เมื่ออ่านมากก็เริ่มอยากเขียน แต่จิตติก็เหมือนกับอีกหลายคนเช่นกันที่เลือกให้การเขียนเป็นเพียงงานอดิเรก เธอเข้าเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกชีววิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อนจะพบว่าตลอดเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเธอไม่มีความสุขเลย มีเพียงการเขียนเท่านั้นที่ช่วยให้พ้นผ่านความทุกข์ในช่วงนั้นมาได้ เมื่อเรียนจบออกมา จิตติจึงผันตัวมาเป็นนักเขียนเต็มเวลา
ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 แล้วที่จิตติวนเวียนอยู่ในวงการนิยายวาย จากบทบาทหลังฉากที่รู้จักกับนักอ่านผ่านตัวอักษร เริ่มมีคนรู้ว่าตัวตนของเธอเป็นใคร มีการขุดเอางานเขียนเก่าๆ มาพูดถึง ได้รับคำติและคำชมจำนวนมหาศาล มีผลงานถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์อีกหลายเรื่อง และโกอินเตอร์จนมีแฟนคลับต่างประเทศมากมาย
“เราไม่เคยบอกคนอ่านว่าจะไม่ผิดพลาดอีกแล้ว เพราะในอนาคตเราอาจจะผิดอีกร้อยครั้ง แต่ทุกครั้งเราจะไม่ทำผิดเรื่องเดิม คนเราเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีทางหรอกที่จะไม่ทำผิด แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางประเด็นเราไม่รู้เลย มีคนมาบอก เราขอบคุณ เราเข้าใจ เราจะฉลาดขึ้นค่ะ ถ้าเราเอาแต่นั่งตัดพ้อ เสียใจนานๆ ไป มันก็จะจมอยู่กับตัวเอง อยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับความผิดพลาด จนก้าวไปข้างหน้าไม่ได้”
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับจิตติ ตั้งแต่วันแรกที่เธอหลงรักการอ่าน วันที่ตัดสินใจลองเขียนนิยายของตัวเอง วันที่หนังสือได้ทำเป็นซีรีส์ วันที่โดนด่าจนต้องลบทุกช่องทางติดต่อ วันที่กลับมาเข้าใจและสามารถรับมือกับปัญหาได้ จนถึงวันนี้ที่เธอยังคงเป็นนักเขียน และมีผลงานดังไกลไปถึงต่างประเทศ
อยากให้จิตติเล่าให้ฟังว่าชอบอ่านหนังสือได้ยังไง
คนช่วงวัยเรา อายุประมาณ 29-30 ต้นๆ น่าจะเคยทำกิจกรรมบันทึกการอ่านที่ให้อ่านหนังสือตอนกลางวันหรือตอนเย็น เราว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้นักเรียนเริ่มอ่านอะไรสักอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องสั้น ข่าว หรืออะไรก็ได้ แล้วสิ่งนั้นมันปลูกฝังให้เราคิดว่าในหนึ่งวันเราต้องหาเวลาสำหรับการอ่าน ซึ่งตอนยังเรียนอยู่เราก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลากับห้องสมุดค่อนข้างเยอะ
สำหรับจิตติแล้วห้องสมุดมีความหมายยังไงบ้าง
ด้วยความที่ในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังช้ามากกกก การเข้าถึงก็น้อย หนังสือเลยเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายที่สุด เรา เพื่อน และเด็กหลายคนเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินซัพพอร์ตเพียงพอต่อการซื้อหนังสือทุกเล่มที่อยากได้ แต่เราสามารถหาหนังสือที่ต้องการได้ในห้องสมุด
เรายืมไปเรื่อยเปื่อยมาก บางทีเห็นรุ่นพี่บางคนที่เก่งมากๆ ถือหนังสือเล่มไหน เวลาเขาเอาไปคืน เราจะรีบวิ่งไปยืมต่อ เพราะรู้สึกว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น
แต่ละช่วงวัยคนเรามักจะอ่านหรืออินเรื่องที่ต่างกันไป อยากให้เล่าว่าแต่ละช่วงวัย จิตติชอบอ่านแนวไหน มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
เรื่องที่ทำให้สนใจการอ่านน่าจะเป็นหนังสือชุด ตำนานแห่งนาร์เนีย เรายืมมาจากห้องสมุดโรงเรียนช่วงประมาณ ม.ต้น จำได้ว่าอ่านแล้วเปิดโลกมาก เห็นภาพชัด มันเป็นความฝันของเด็กคนหนึ่งที่เปิดตู้เสื้อผ้าไปเจอโลกใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากเขียนนิยายสักเรื่องด้วย ซึ่งตอนนั้นเขียนออกมาเป็นแนวแฟนตาซีที่มีกลิ่นอายของนาร์เนียสุดๆ ไปเลย (หัวเราะ)
พอตอน ม.ปลายเปลี่ยนไปอ่านอะไรฟุ้งๆ น่ารักแบบสำนักพิมพ์แจ่มใส งานของแสตมป์เบอร์รี่ May112 เรารู้สึกว่าโลกแจ่มใสมันสดใส น่าจะเป็นโลกที่เด็กๆ หลายคนชอบตามยุคสมัย แล้วก็อ่านเรื่องสั้น มีตามซีไรต์บ้างบางเล่มที่รู้สึกว่าอ่านง่าย เช่น ความสุขของกะทิ เล่มนี้แม่ซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด ตอนอ่านในวัยเด็กอาจจะไม่ได้เข้าถึงบางอารมณ์ แต่ก็รับรู้ได้เท่าที่ประสบการณ์ในตอนนั้นมี
พอเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่เราเริ่มเข้าวงการวายแล้ว ตั้งแต่ปี 1 เลยได้อ่านงานที่เป็นวายเยอะมาก เราชอบอ่านแนววายจีนเป็นหลัก
อยู่ดีๆ มาอินวายได้ยังไง
เริ่มจากเราเป็นแฟนคลับวง EXO ซึ่งเวลาตามวงเกาหลีมันจะมาพร้อมแฟนฟิกชั่น เราว่าเป็นคอมมูนิตี้ที่สนุกดี ตามศิลปินแล้วได้ตามเรื่องราวที่คนอื่นแต่งด้วย แล้วเราก็เริ่มเขียน พอเขียนจบ เพื่อนก็มาบอกว่าถ้าอยากสร้างคาแรกเตอร์ที่มีอิสระมากกว่านี้ หรืออยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ลองไปเขียนแนววายไทย (การเขียนนิยายที่ไม่ได้ใช้ต้นแบบจากศิลปิน) ดูสิ เพราะเพื่อนเคยเขียนที่เล้าเป็ด (เว็บไซต์ thaiboyslove.com ที่เจาะตลาดนิยายวายโดยเฉพาะ) มาก่อน แล้วได้พิมพ์หนังสือออกมาจริงๆ โดยไม่ต้องรอสำนักพิมพ์
จำได้มั้ยว่าเขียนนานเท่าไหร่ถึงเริ่มมีคนรู้จักชื่อหรือนามปากกา
ประมาณปีกว่าๆ แต่ก่อนเขียนนิยายเรื่องนึง 2-3 เดือนก็จบแล้ว ปีนึงออกมา 4-5 เรื่อง แล้วเขียนทีเดียวพร้อมกันสามเรื่องแต่คนละมู้ดก็มี คนเลยเริ่มทยอยรู้จักเรามากขึ้น แต่เรื่องที่ทำให้มีคนตามเยอะๆ น่าจะเป็นตอนเขียนแนวฟีลกู้ดเรื่อง ปลาบนฟ้า เรื่องราวของปี เด็กหนุ่มที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง กับหมอก หนุ่มป๊อปที่มีเพื่อนสนิทชื่อเมืองน่าน ซึ่งปีชอบเมืองน่านแล้วคิดว่าหมอกจะมาเป็นคู่แข่ง แต่จริงๆ หมอกชอบปี เออ เรื่องก็จะประมาณนี้ รักใสๆ คลิเช่สุดๆ เรื่องนี้ออกกับสำนักพิมพ์ everY ซึ่งตอนนั้นเพิ่งก่อตั้ง และ ปลาบนฟ้า เป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์เลย บ.ก.มาติดต่อตอนที่เรากำลังแพลนจะตีพิมพ์หนังสือเองอยู่พอดี
คิดว่าอะไรที่ทำให้คนชอบเล่มนี้
มันอ่านง่าย ชวนจิ้น แต่ถ้ายุคนี้คือโคตรเบียว (หัวเราะ) แล้วนักอ่านในเล้าเป็ดคือน่ารักมาก ทุกคนพร้อมจะให้กำลังใจนักเขียน แม้เราจะเขียนห่วยแตกแค่ไหนก็ตาม
เราว่าเล้าเป็ดถูกสร้างมาให้นักอ่านซัพพอร์ตนักเขียน เคยมีนักอ่านคนนึงมาบอกว่า ‘อ่านงานคุณแล้วรู้สึกได้เลยว่าคุณจบไม่ลง’ เขาเลยแนะนำว่าให้เราคิดซับพลอต (เหตุการณ์รอง) มาใส่ เรื่องจะได้จบสมบูรณ์ไม่เหมือนถูกจับยัด
เราได้รับทั้งฟีดแบ็กที่นำมาพัฒนางานและคอมเมนต์ให้กำลังใจค่อนข้างเยอะ การไม่ได้มีชื่อเสียงมากในตอนนั้น แล้วได้รับกำลังใจมันขับเคลื่อนให้เราอยากทำงานต่อไปอีกเรื่อยๆ
เรามองว่าคนอื่นเป็นไอดอลที่ดี แต่ไม่เคยมองว่าตัวเองจะไปถึงจุดนั้น พอไม่มีความคาดหวังก็ไม่ผิดหวัง ไม่ดังก็ไม่เป็นไร มันก็มีเสียใจอยู่บ้าง ฟีดแบ็กน้อยจัง แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเขียนใหม่ อันนี้คือช่วงแรก แต่มันจะถูกเปลี่ยนไปเมื่อเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มมีคนอ่าน สมมติจำนวนคอมเมนต์เรื่องนี้สองร้อย เรื่องต่อไปสามร้อย เราดีใจ แต่พอเขียนใหม่กลายเป็นเหลือร้อยเดียว มันก็ เอ้า นี่เราถดถอยเหรอ ฟีลแบบนั้นก็จะเกิดขึ้นเหมือนกัน
มีวิธีการรับมือกับความรู้สึกแบบนี้ยังไง
อันนี้อธิบายยาก เพราะต่อให้บอกว่าทำใจได้ เราจะทำเรื่องใหม่ให้ดีขึ้น แต่บางครั้งก็จะกลับมาคิดในใจว่างานเราไม่ดีตรงไหนซ้ำๆ การรับมือของเราอาจจะเป็นการหาอย่างอื่นทำ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองดาวน์มากๆ เปิดหนังสักเรื่อง เอาที่ตลกที่สุด หรือดูแล้วสบายใจ แล้วนั่งดูมัน ดีกว่าไปจมอยู่ตรงนั้น เพราะมันแก้อะไรไม่ได้แล้วอะ ต้องโปรโมตยังไง ดิ้นรนพยายามแค่ไหน ทำจนสุดความสามารถ มันได้เท่านี้ก็เท่านี้แหละ ต้องพาตัวเองออกไปให้ได้ ถ้าอารมณ์กลับมาก็เขียน ยังไม่กลับมาก็ไม่ต้องเขียน ไม่เป็นไร ไม่กดดันตัวเอง
ช่วงมหาวิทยาลัย จิตติเรียนครูใช่มั้ย งั้นแปลว่าเคยเป็นครูมาก่อนหรือเปล่า
เราไม่เคยทำงานเป็นคุณครูเลย เคยทำแค่นักศึกษาฝึกสอน เรามาเรียนครูเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร การศึกษาไทยไม่สอนให้เด็กรู้ใจตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม แล้วเราก็เข้ามาเรียนโดยที่ไม่ได้รักอะไรเลย ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรด้วยซ้ำ
แล้วรู้ตัวตอนไหนว่าอยากเป็นนักเขียน
จริงๆ ตอนนั้นเราเขียนเป็นงานอดิเรก ด้วยความที่เราเข้าเรียนในคณะที่ไม่ชอบ มันทำให้เครียด การเขียนทำให้เราหนีออกจากสิ่งที่เครียด เราเขียนเวลาที่รู้สึกไม่ดี มารู้ตัวตอนปี 2 ปี 3 ว่าอยากเรียนนิเทศฯ อยากเขียนบทหนัง เพราะชอบดูหนัง แต่ทางบ้านไม่อยากให้ซิ่วออกมา เสียดายเวลา เขาอยากให้เรียนจนจบ แล้วค่อยไปหาทาง ซึ่งสุดท้ายก็ทนมาได้
ที่รู้ใจสุดๆ ว่าจะไม่ทำอาชีพครูเด็ดขาดคือตอนไปฝึกสอน เรารับระบบในโรงเรียนไม่ได้เลย วันแรกที่ไปเราใส่เสื้อนิสิตติดกระดุมเม็ดบนสุด ใส่รองเท้าผ้าใบ แต่ครูที่โรงเรียนเดินมามองแล้วบอกว่าช่วยแต่งตัวให้เหมือนคนปกติหน่อยนะคะ เราก็แบบ…คนปกติคืออะไร… ก็คือเขาให้ไส่แค่รองเท้าคัตชู ใส่กระโปรงเท่านั้น เรายอมรับว่าอาจจะไม่ศึกษาเรื่องกฎระเบียบมากพอ แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเหมือนกันว่ากฎบางข้อของทั้งครูและนักเรียนมันออกจะไม่เมคเซนส์เท่าไหร่ แล้วคาแรกเตอร์เราอาจไม่ใช่คุณครูแบบที่เขาคาดหวังด้วย
พอตัดสินใจเลือกเป็นนักเขียนเต็มตัว มีความยากยังไงบ้างมั้ย อย่างบางคนทำงานอย่างอื่นแล้วทำงานเขียนเป็นอาชีพเสริม
กดดัน เพราะเราไม่ได้ขอเงินที่บ้านตั้งแต่เรียนจบ ภาระทั้งหมดเราต้องแบกเอง ถ้าสมมติปีไหนงานน้อย แปลว่าเงินน้อยด้วย เราต้องจัดการส่วนนั้น แต่ก็ไม่ได้กดดันตัวเองว่าต้องเขียนได้ทุกวัน ปกติหนังสือจะออกเป็นล็อตๆ เราจะเอาเงินส่วนนั้นมาสำรองไว้ในบัญชี แล้วถ้าปีไหนรู้เลยว่าไม่สามารถเขียนได้เยอะเท่าที่เคยทำ ก็ใช้เงินให้น้อยลงค่ะ (หัวเราะ) เราควบคุมการใช้เงินได้ แต่บังคับตัวเองให้เขียนตลอดเวลาไม่ได้
พอจะนับได้มั้ยว่ามีผลงานออกมากี่เล่มแล้ว
น่าจะถึงยี่สิบเล่ม
ถ้ามองย้อนกลับไป รู้สึกกับผลงานในอดีตของตัวเองยังไง
มีสองความรู้สึก
หนึ่งคือแย่มากเลย อยากย้อนกลับไปแก้ไข
สองคือพอเริ่มตระหนักได้ว่ามันย้อนไปไม่ได้ ก็ให้เคารพตัวเอง
เรารู้สึกว่าตัวเองในตอนนั้นทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ประสบการณ์ชีวิต วัย และสภาพสังคมหล่อหลอมให้เป็น แล้วถ้างานชิ้นนั้นถูกส่งต่อมาในปัจจุบัน เราทำยังไงได้บ้าง เรามองว่าถ้ามีการพิมพ์ซ้ำ เราจะแก้ไขในสิ่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งจะมีสองเสียงว่าเปลี่ยนทำไม ของเดิมก็บ่งบอกสิ่งที่เกิดในยุคนั้นแล้ว แต่เรากลัวการส่งต่อค่านิยมที่ไม่ดี เพราะว่าคนอ่านก็ยังอยู่ในปัจจุบัน ถ้างานชิ้นไหนที่ยังตีพิมพ์อยู่และคาดว่าในอนาคตจะเผยแพร่ได้มากขึ้น เราจะแจ้งไปที่ บ.ก.ว่าขอแก้เรื่องนี้ หรือประเด็นนี้ แล้วออกมาแถลงว่าจะแก้อะไรให้เป็นไปตามยุคสมัย
อย่าง คั่นกู ตอนเขียนเรารู้สึกว่ามันคือ Best of The Best ของฉันเลย ภาคภูมิใจที่สุด พอทำเป็นซีรีส์ มีกระแส มีคอมเมนต์ เราก็รู้แล้วว่ามันไม่โอเค เราเริ่มแก้ไดอะล็อกหรือการบรรยายบางอย่างเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ได้เปลี่ยนโทนเรื่อง แล้วเวลาออกฉบับปรับปรุงก็มักจะมีคนด่าว่าออกมาอีกแล้ว จะเอากำไรไปถึงไหน แต่จริงๆ อยากบอกว่าการแก้ไขคือเราทำเป็นปีเลย ใช้เวลาพอๆ กับการเขียนนิยายเรื่องใหม่ ต้องคิดซีน สร้างสถานการณ์เพื่อให้จบแบบเดิม หรือลดความเข้มข้นของคาแรกเตอร์ที่ไม่โอเค
ไหนๆ ก็พูดถึง คั่นกู ด้วยความที่มันดังมากกกกกกก ตอนนั้นจิตติเป็นยังไงบ้าง
คั่นกู โดนดราม่าตั้งแต่ก่อนทำซีรีส์ คือเราเข้าใจความรู้สึกของนักอ่านที่หวงนิยายที่เขารักนะ แต่พอประกาศทำซีรีส์คือโดนด่าทั้งเราและนักแสดง เราพยายามจะช่วยทั้งสองฝั่ง คือให้กำลังใจนักแสดง และอีกด้านหนึ่งเราก็ให้ความเชื่อมั่นคนอ่านว่าเราจะทำเต็มที่ ให้มันดีที่สุดเท่าที่ทีมจะทำได้ แต่ถ้ามันไม่ดี เราคิดว่า คั่นกู ก็ยังเป็น คั่นกู ที่คนอ่านรู้จัก ซึ่งถ้าเรามองสองเอนเตอร์เทนเมนต์นี้ต่างกัน หนึ่งคือซีรีส์ สองคือหนังสือ จริงๆ แล้วทาร์เก็ตแทบจะคนละกลุ่มเลย คนอ่านกลุ่มเดิมอาจจะไม่ได้ดู และคนดูกลุ่มใหม่อาจจะไม่ได้อ่าน ถ้ามองเป็นสองแง่มุม คนอ่านของเราก็อาจจะเข้าใจได้
ส่วนการรับมือคือ คั่นกู ดังแบบเปรี้ยงปร้าง เราไม่คิดว่ามันจะมาถึงจุดนั้นแบบชั่วข้ามคืน ชีวิตเราเปลี่ยนไปเลย เราอยู่หลังฉากมาตลอด เราเขียน เราขายหนังสือ แต่คนไม่ได้รู้จักหน้าเรามากมายขนาดนั้น พอวันหนึ่งมันดัง อยู่ดีๆ ก็มีคนแอดเฟซบุ๊กส่วนตัวมาวันละเป็นร้อยๆ คน และมันเป็นธรรมดาที่ตัวเราจะจำสิ่งที่เป็นด้านลบมากกว่าบวก เราจะจำคนด่ามากกว่าคนชม วิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดในตอนนั้นคือหายไปเลย ลบเฟซฯ ลบทุกอย่าง เหมือนเป็นคนวิ่งหนีปัญหา ไม่รู้จะจัดการความเสียใจ ความเศร้ายังไง แม้สุดท้ายแล้วการหนีคือวิธีที่ง่าย แต่มันไม่ดีในระยะยาว
นับจากวันที่ คั่นกู มีกระแสจนถึงวันที่ส่งผลมาถึงตัวเราคือสองปี เราไปปรึกษาเพื่อนว่าควรทำยังไงดี เขาก็แนะนำให้ไปพบนักจิตบำบัด ซึ่งพอเราได้คุยต่อเนื่อง เรารู้สึกว่าดีขึ้น ไม่ต้องหนี กล้าเผชิญหน้า และเลือกเก็บสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา สมมติว่ามีคนด่าแต่มีคำแนะนำ เราก็เก็บมาใช้ได้ ถ้ามีคนชม เราก็น้อมรับไว้ แต่ไม่ได้เหลิง ถ้าใครด่าแบบ nonsense มากก็ปัดทิ้งไปเลย อีกอย่างที่เราได้เรียนรู้คือเราไม่ต้องรู้ทุกเรื่องบนโลกนี้ ไม่ต้องรู้ว่าใครพูดถึงเราขนาดไหน เลือกรับบางอย่าง บางทีรู้สึกว่าการไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัวเรา อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
ใช้เวลานานมั้ยกว่าจะยอมรับหลายๆ สิ่งและมายืนจุดนี้ได้
นานเหมือนกัน เราเคยไปร้านหนังสือแล้วได้ยินคนพูดถึงนิยายเรา ไม่ใช่แค่ คั่นกู นะ ชี้ไปสักเล่มหนึ่ง เราวิ่งหนีเลย โดยไม่รอฟังว่าเขาจะพูดถึงมันยังไง เพราะคิดว่าเขาต้องด่าแน่ๆ เขาต้องไม่ชอบเราแน่ๆ แต่ตอนนี้เริ่มทำใจได้แล้ว เวลาเจอคนชี้หนังสือ เขาไม่รู้หรอกว่าเรายืนอยู่ตรงนั้น แต่เรารู้ และเราบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ไม่ว่าจะดีหรือแย่ เราฟังได้นะ ไม่งั้นเราก็จะไม่มีฟีดแบ็กการพัฒนาก็จะไม่เกิด
ถ้าพูดถึงตัวนิยาย คั่นกู ที่ถูกดัดแปลงเป็นมังงะ จิตติได้เข้าไปมีส่วนร่วมยังไงบ้าง
ส่วนใหญ่ทางแจ่มใสจะเป็นตัวกลาง แต่เรา concern ว่าเนื้อหาที่ส่งไปต้องเป็นฉบับปรับปรุงเท่านั้น หรือนักวาดเขียนส่งหนึ่งตอน ต้องส่งมาให้เราตรวจก่อนว่ามีประเด็นเซนสิทีฟมั้ย
ฟีดแบ็กของทางแฟนคลับต่างประเทศเป็นไง
ทางอินเตอร์ชอบมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น อาจเพราะงานอย่าง คั่นกู มีกลิ่นอายของงานวายสไตล์ญี่ปุ่น ครั้งหนึ่งมีแฟนญี่ปุ่นติดต่อมาว่า ‘ฉันมาดูหนัง คั่นกู รอบที่สิบสามแล้วค่ะ’ เราตกใจเพราะดูไปสี่รอบยังเหนื่อยเลย (หัวเราะ)
ก่อนนิยายจะถูกทำเป็นซีรีส์มีการติดต่อยังไง
ส่วนใหญ่ค่ายจะติดต่อไปที่สำนักพิมพ์ก่อน แล้วสำนักพิมพ์จะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารว่าเราจะขายมั้ย มีบางเรื่องที่เราขายไปตั้งแต่ยังเป็นมือใหม่ แต่เพิ่งได้ทำก็มี ซึ่งเนื้อเรื่องก็จะมีปัญหาแหละ แต่วิธีการแก้ไขคือต้องยอมรับการตัดสินใจของเราในตอนนั้น และออกฉบับปรับปรุงมา
พอได้ทำเป็นซีรีส์ จิตติเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำบทมั้ย
มันจะมีข้อแตกต่างของแต่ละเรื่อง ขึ้นอยู่กับโปรดิวเซอร์ เรื่องแรกที่ทำคือ ทฤษฎีจีบเธอ เรารู้พร้อมคนอ่านวันที่เขาเปิดตัวเลยว่า ใครเป็นนักแสดง ใครกำกับ ยันตัวอย่างซีรีส์ เซอร์ไพรส์ (หัวเราะ) ส่วน คั่นกู เรารู้ว่าใครเป็นนักแสดงเพราะเคยไปแถลงกับคนอ่านว่าให้เอ็นดูน้องๆ ด้วยนะ แต่ไม่ได้เขียนบทเหมือนเดิม
หรืออย่างเรื่องล่าสุด vice versa ก็ยังไม่ได้เขียนบท แต่ทีมงานจะมาคอยรีเช็กว่าเนื้อหาถูกมั้ย เนื่องจากเราเคยคุยโปรเจกต์นึงกับพี่เอ็กซ์ (ณัฐพงษ์ มงคลสวัสดิ์) เลยได้โอกาสพิตช์เรื่องนี้ไปด้วย พอดีว่าทางทีมสนใจ เขาเลยให้เราเขียนนิยายไปพร้อมกับพัฒนาบทซีรีส์แทน
แต่พอเราออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ไม่ได้เขียนแค่นิยายแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีงานเขียนบทหนัง บทซีรีส์เข้ามาบ้าง ดีใจมาก เพราะอยากทำมานาน
เขียนนิยายกับเขียนบทต่างกันมั้ย
ต่างกันมาก แต่ด้วยความที่เราถูกฝึกมาแล้วในช่วง 2-3 ปีที่เราเริ่มเขียนงานให้เป็นภาพมากขึ้น เลยไม่มีปัญหาเรื่องการปรับเปลี่ยนสไตล์เท่าไหร่ แต่จะมีความยากตรงที่แต่ก่อนเราเขียนนิยาย คาแรกเตอร์มัน fictional มากๆ เช่น สารวัตรจาก คั่นกู หลังๆ พอมาเขียนบทก็เริ่มเรียนรู้ว่าเราเขียนด้วยคาแรกเตอร์นี้ไม่ได้ มันไม่จริง เลยต้องเริ่มใส่ใจในรายละเอียดของตัวคน ให้มีความเป็นมนุษย์ ให้มีความกลม ไม่ใช่เขาดีไปหมด หล่อ รวย ไฮโซ ขับรถสปอร์ต
จากวันแรกที่เริ่มเขียนจนถึงวันนี้ คิดว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง
มีความเปลี่ยนแปลงอยู่หลายส่วน
หนึ่งคือเทคนิคการเขียน เมื่อก่อนเราจะชอบเขียนพรีมิส (premise ประโยคหลักสำคัญที่จะกระตุ้นความอยากรู้ของคนอ่าน) สักจุดที่เราสนใจ เสร็จแล้วก็ดำน้ำไปเลย ไม่ต้องสนใจ ใช้ฟีลลิ่งล้วนๆ พอเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีพัฒนาการ รู้ว่าเราต้องวางโครงเรื่องให้ชัดเจน รู้จักการเขียนทรีตเมนต์ พอในยุคปัจจุบันคือเราสร้างคาแรกเตอร์ก่อนแล้วค่อยเอาเรื่องมาครอบ เพราะเราชอบเรื่องคนและความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ดังนั้นในกระบวนการเขียนเรื่องก็จะเริ่มจากพรีมิส สร้างพล็อต เขียนเรื่องย่อสั้นๆ สักสองหน้า แล้วไปลงรายละเอียดในทรีตเมนต์ พอได้ครบแล้วค่อยไปเขียน ซึ่งในตอนเขียนก็มีโอกาสเปลี่ยนได้ตลอดแหละ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปเจออะไรมา
สองคือสไตล์ เรายังคงความชอบในแนวโรแมนติกคอเมดี้ กับเมโลดราม่า แต่โรแมนติกในอดีตคือผมเจอคุณ เรารักกัน สุดท้ายลงเอย แฮปปี้เอนดิ้ง ตอนนี้เราก็จะใช้โครงเดิมแหละ แต่มีดีเทล มีซับพล็อต เอาคอนเซปต์ใหญ่ๆ ครอบลงไป เช่น vice versa โครงเรื่องหลักยังเป็นผมเจอคุณ เรารักกัน แต่สิ่งที่เราใส่เพิ่มเข้าไปคือมัลติเวิร์ส โลกคู่ขนาน การตายแล้วเกิดใหม่
สามคือตัวตนและการรับมือ ตัวตนของเราเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและยุคสมัย เช่น อาจจะพูดเรื่องสังคมมากขึ้นในนิยายรักที่เราถนัด เราพยายามจะเป็นกระบอกเสียง ถึงจะเล็กน้อยแต่พยายามใส่เข้าไป ส่วนการรับมือกับการแก้ปัญหา ในอดีตเราชอบวิ่งหนี เพราะมันง่ายที่สุด ดราม่ามาปุ๊บ วาร์ปไปมัลติเวิร์สเลย รู้สึกดีเมื่อไหร่ค่อยกลับมา พอได้ปรึกษานักจิตบำบัด ก็เริ่มต้นใหม่ด้วยการยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว รู้ทันอารมณ์ตัวเอง ต่อไปจัดการต้นตอของปัญหา น้อมรับคำแนะนำและติชม ออกแถลงการณ์ให้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่การแถลงการณ์นั้นต้องไม่ใช่การปัดภาระให้ผู้อื่น ต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าเราจะเทคแอกชั่นยังไง นั่นคือการจัดการปัญหาที่จบ หลังจากนั้นใครจะด่าหรือว่าอะไร เป็นหน้าที่ของคนอื่น ไม่ใช่เราแล้ว
กระบวนการซับซ้อนมากขึ้นแล้วระยะเวลาการทำงานเพิ่มขึ้นด้วยมั้ย
เพิ่มมากขึ้น แต่ก่อนเขียน 2-3 เดือนจบ ปัจจุบันคือเขียนเป็นปี คิดไปจนถึงว่ายังมี plot hole หรือเปล่า ถ้ายังมีก็ต้องไปเติมก่อน คิดไม่ได้ก็ค้างไว้ มันเลยต้องใช้เวลานานมากๆ
พอผ่านมาหลายดราม่า จิตติดูปลง
เราเคยถาม บ.ก.ว่าทำไมความเจ็บปวดถึงอยู่กับเรานานเกินไป บ.ก.ตอบกลับมาว่า แต่ความสุขก็ไม่ได้ทำให้เราเติบโตนะ เราเลยเข้าใจว่าความเจ็บปวดทำให้เราเติบโตเร็วกว่าปกติ แล้วเราก็จะยอมรับมันได้
ตอน คั่นกู ดังมันมาพร้อมกระแสหลายๆ เรื่อง มีคนขุดนิยายในอดีตที่ไม่โอเคขึ้นมา คนก็มาตามด่า มันมีเรื่องที่เราตั้งใจมาก เขียนเป็นปีๆ ทำไมเขาต้องมาด่าความตั้งใจของเราด้วย แต่พอโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป ก็เข้าใจว่าทุกคนตั้งใจค่ะโกโก้ (หัวเราะ) มันไม่ใช่มีแค่เราที่เป็นนักเขียนแล้วตั้งใจ เลยมองมุมใหม่ว่าเขาด่างาน ไม่ได้ด่าความตั้งใจ พอเรายอมรับได้ แล้วเราแก้ไขมัน เราโอเคนะ
เราไม่เคยบอกคนอ่านว่าจะไม่ผิดพลาดอีกแล้ว เพราะในอนาคตเราอาจจะผิดอีกร้อยครั้ง แต่ทุกครั้งเราจะไม่ทำผิดเรื่องเดิม คนเราเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีทางหรอกที่จะไม่ทำผิด แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางประเด็นเราไม่รู้เลย มีคนมาบอก เราขอบคุณ เราเข้าใจ เราจะฉลาดขึ้นค่ะ ถ้าเราเอาแต่นั่งตัดพ้อ เสียใจนานๆ ไป มันก็จะจมอยู่กับตัวเอง อยู่กับความเจ็บปวด อยู่กับความผิดพลาด จนก้าวไปข้างหน้าไม่ได้
เขียนมาแปดปีแล้วมีอะไรที่ทำให้มีไฟอยากเขียนต่อ
อย่างแรก แน่นอนว่าต้องเป็นคนอ่าน ถ้าไม่มีคนอ่านนักเขียนทุกคนหมดไฟ อย่างที่สองคือความแปลกใหม่ ในโลกที่เปลี่ยนไปทำให้เรายังอยากเขียนไปเรื่อยๆ
และสุดท้ายคือเงินค่ะ เพราะเงินสำหรับนักเขียนไม่ใช่แค่การซื้อข้าวให้อิ่มท้อง แต่การจะใช้ชีวิตหาความรู้ความบันเทิง ซื้อหนังสือ ดูหนัง เติมเหรียญเว็บตูน ทุกอย่างต้องใช้เงิน ถ้าเราขาดสิ่งนี้ไป อะไรจะซัพพอร์ตเรา
มาถึงตอนนี้ คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง
เราไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จในชีวิต มีแค่ว่าพอใจกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่า ตอนเด็กๆ อาจจะตั้งว่าอยากมีหนังสือของตัวเอง พอทำได้แล้วก็จบ ต่อมาคืออยากให้หนังสือได้ทำซีรีส์ ก็สำเร็จไปแล้ว ล่าสุดคืออยากเขียนบทหนัง ก็กำลังได้ทำอยู่ และคาดหวังว่ามันจะออกมาดี วันหน้าๆ อาจจะมีเป้าหมายใหม่มาอีกเรื่อยๆ ซึ่งมันเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำงานต่อไป