Fri 22 Jul 2022

HARUKI MURAKAMI'S WATCHLIST

รวมหนังสายมูฯ
เสริมความเหงาๆ หน่วงๆ ให้ชีวิต

ภาพ: ms.midsummer

     มาจะกล่าวบทไปถึง ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ (Haruki Murakami) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงระบือนาม นักอ่านหลายคนต้องมีหนังสือของเขาติดบ้าน เพราะนักเขียนผู้นี้ขึ้นชื่อในด้านการเล่าเรื่องที่อ่านแล้วติดหนึบ บางเล่มก็เหงาๆ บางเล่มก็หน่วงๆ บางเล่มก็มีองค์ประกอบเพี้ยนๆ แต่เมื่ออ่านจบเป็นต้องอยากไปหาเล่มอื่นของเขามาอ่านต่อ

     แต่รอบนี้เราจะไม่พูดถึงหนังสือของเขา (งงล่ะซี่) เพราะขณะที่ไถๆ Netflix หาอะไรดูระหว่างอู้งาน สายตาเราก็ไปปะทะเข้ากับ Burning ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของมูราคามิ ซึ่งสามารถดูผ่านระบบไลฟ์สตรีมมิงกันได้ตั้งแต่วันนี้ และทันใดเราก็นึกสงสัยว่านอกจาก ‘Burning’ แล้ว ยังมีภาพยนตร์เรื่องไหนอีกที่เอาผลงานของมูราคามิไปดัดแปลงเป็นภาพเคลื่อนไหว มีเรื่องใดบ้างที่หลุดรอดสายตาไป

     ใครที่อยากดูหนังสายมู (ราคามิ) ก็อย่ารอช้า คลิกภาพถัดไปเลย เราคัดสรรมาให้แล้วเก้าเรื่องเต็มๆ!

HEAR THE WIND SING

     นิยายเล่มแรกในชีวิตของมูราคามิที่เจ้าตัวเล่าว่าได้ไอเดียในการเขียนมาจากการไปนั่งดูการแข่งขันเบสบอล แล้วคงแข่งกันสนุกมาก จนสมองส่วนสร้างสรรค์ส่งสัญญาณมาบอกว่า เฮ้แมน ไอมีของดีๆ มาเสนอขาย มูราคามิเลยกลับบ้านไปนั่งเขียนนิยาย จนกลายเป็น Hear the Wind Sing (สดับลมขับขาน) เรื่องราวของชายหนุ่มที่ดื่มเบียร์แทนน้ำเปล่า ฟังเพลงตะวันตกระรื่นหู กับหญิงสาวในบาร์ (ไม่น่าจะลับ) และชายปริศนาที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของ ‘ไตรภาคมุสิก’

     นอกจาก Hear the Wind Sing จะเป็นนิยายเรื่องแรกของมูราคามิแล้ว ยังเป็นนิยายเรื่องแรกของมูราคามิที่ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกด้วย โดยหนังสือตีพิมพ์ปี 1979 และเพียงแค่สองปีถัดมา ‘คาซูกิ โอโมริ’ (Kazuki Ōmori) ก็ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซึ่งมีความเคารพต้นฉบับนิยายอยู่สูง คือมูราคามิบรรยายไว้ยังไง โอโมริก็แทบจะทำอย่างนั้น มีดัดแปลงรายละเอียดบ้างบางอย่าง แต่โดยรวม สาวกเฮียมูฯ ที่ดูแล้วก็พากันบอกว่า ใครอยากเห็นโลกของมูราคามิที่เต็มไปด้วยบาร์แจ๊ส ควันบุหรี่ เครื่องดื่มมึนเมา และบทสนทนาหว่องๆ ไม่ควรพลาด

TONY TAKITANI

     Tony Takitani เป็นเรื่องสั้นที่มูราคามิเขียนขึ้นในปี 1983 (ฉบับภาษาไทย หาอ่านได้ในเล่ม Lexington Ghosts (ปีศาจที่เล็กซิงตัน)) เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง โทนี่เป็นคนญี่ปุ่น แต่ด้วยชื่อแซ่ที่ไม่ได้เป็นตามขนบชาวแดนปลาดิบ ทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นคนนอก เข้ากับใครไม่ได้ วันหนึ่งโทนี่พบรักกับหญิงสาวที่ชื่นชอบการช้อปปิ้ง แต่แล้วเธอก็เสียชีวิต ทิ้งเขาไว้กับข้าวของและความรู้สึกของการสูญเสียที่ทำให้โทนี่สั่นสะท้าน

     ปี 2004 ‘จุน อิชิคาวา’ (Jun Ichikawa) ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น หยิบเอาเรื่องสั้นความยาวไม่กี่สิบหน้ามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ความยาว 75 นาที โดยความโดดเด่นในเรื่องนี้อยู่ตรงที่อิชิคาวาให้นักแสดงนำอย่าง ‘อิสเซย์ โอกาตะ’ (Issey Ogata) และ ‘ริเอะ มิยาซาวะ’ (Rie Miyazawa) รับบทบาทเป็นสองตัวละคร คือพูดง่ายๆ ว่าคนเดียวต้องเล่นเป็นสองตัวละคร คนดูก็ต้องคอยเพ่งสมาธิว่าใครกันเป็น B1 B2 

     นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีจุดเด่นตรงเรื่องของเพลงประกอบที่นำ ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) ศิลปินแห่งยุค มาร่ายมนตร์บนคีย์เปียโน จนกลายเป็นซาวนด์แทร็กที่ตราตรึงใจและเพิ่มความเคว้งคว้างให้หนังได้ดี

ALL GOD’S CHILDREN CAN DANCE

     After the Quake’ คือรวมเรื่องสั้นที่มูราคามิหยิบเอาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบในปี 1995 มาเป็นฉากหลัง แล้วแต่งเติมเสริมเรื่องราวจนกลายเป็นหกเรื่องสั้นหลังแผ่นดินไหวที่คนไม่ไหว 

     All God’s Children Can Dance เป็นเรื่องสั้นว่าด้วย ‘โยชิยะ’ ชายหนุ่มที่ถูกปลูกฝังว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ขณะที่แม่ของเขาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว เขาก็บังเอิญพบคนคนนึงที่มีรูปพรรณสันฐานคล้ายกับพ่อที่เขาเคยได้ยินมา โยชิยะที่คาใจมานานแล้วว่าพ่อกูอยู่ไหน เลยแอบติดตามชายคนนั้นไปเพื่อสืบหาความจริงด้วยตัวเอง

     เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2008 โดย ‘โรเบิร์ต โลเกวาลล์’ (Rober Logevall) ซึ่งปรับเปลี่ยนแบ็กกราวนด์ในเรื่องสั้นให้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านคนเกาหลีของลอสแอนเจลิส แต่องค์ประกอบอื่นๆ อย่างพวกโครงเรื่องก็ยังคงเอาไว้ (อย่างไรก็ตาม คนดูบางส่วนบอกว่าเรื่องนี้ไม่ตอบโจทย์ความเป็นเฮียมูฯ เท่าไหร่)

NORWEGIAN WOOD

     หนึ่งในนิยายฮอตฮิตของมูราคามิที่ใครหลายคนเลือกเปิดอ่านเป็นเล่มแรกๆ กับเรื่องราวการย้อนกลับไปในช่วงวัยเยาว์ของ ‘โทรุ วาตานาเบ’ ชายหนุ่มที่ต้องบอกเลยว่ามีชีวิตที่เจ็บปวดแต่งดงาม (มั้ย) เพราะเขาได้พบเจอกับคนที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘คิซึกิ’ เพื่อนสนิทที่ไม่ว่ากี่ปีผ่านไปก็หยุดเวลาเอาไว้แค่ตอนนั้น ‘นาโอโกะ’ หญิงสาวที่ร่วมแบ่งปันความสูญเสีย และ ‘มิโดริ’ ผู้อยากทำให้เขาหลุดพ้นจากความหม่นหมอง

     นิยายที่อบอวลไปด้วยลายเซ็นของมูราคามิ ทั้งสุรา นารี ดนตรี เพศสัมพันธ์ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2010 โดย ‘ทราน อันห์ ฮุง’ (Tran Anh Hung) ผู้กำกับชาวเวียดนาม นำแสดงโดยดาราชื่อดังของญี่ปุ่นในเวลานั้นอย่าง ‘เคนอิจิ มัตสึยามา’ (Kenichi Matsuyama หรือที่หลายคนอาจคุ้นชินกับบทบาทของ L ใน Death Note ฉบับปี 2006) ‘ริงโกะ คิคุจิ’ (Rinko Kikuchi นักแสดงมากความสามารถที่ในเวลานั้นโด่งดังจากเรื่อง Babel และในเวลาต่อมาไปปรากฏตัวเป็นหนึ่งในนักแสดงนำของ ‘Pacific Rim’) ‘คิโกะ มิซึฮาระ’ (Kiko Mizuhara นักแสดงและนางแบบที่ในเวลานั้นเพิ่งอายุ 20 ปี และนี่เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก) นอกจากนี้ ยังได้ ‘จอห์นนี กรีนวูด’ (Jonny Greenwood) มือกีตาร์จากวง Radiohead มาทำเพลงประกอบให้ เรียกได้ว่ามีองค์ประกอบที่ครบเครื่อง แต่ถึงอย่างนั้น ผลตอบรับก็แบ่งออกเป็นสองส่วน คือฝั่งที่ชอบก็มี แต่ฝั่งที่ไม่ชอบก็เยอะ โดยฝ่ายหลังรู้สึกว่าโลกที่เมื่ออ่านหนังสือแล้วใจแตกสลาย พอเป็นภาพยนตร์แล้วกลับให้อารมณ์แบบนั้นไม่ได้เลย

THE SECOND BAKERY ATTACK

     เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในปี 1985 ฉบับภาษาไทยหาอ่านได้ใน The Second Bakery Attack (การบุกปล้นร้านขนมปังครั้งที่สอง) เล่าเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่หลังจากดับความหิวโหยด้วยการซัดของกินที่มีจนหมด อยู่ๆ สามีก็บอกภรรยาว่า รู้ไหมจ๊ะ ครั้งนึงฉันเคยปล้นร้านเบเกอรี แต่ไม่ได้เลือดตกยางออกอะไรนะ เพราะเจ้าของบอกว่าจะมอบขนมปังให้ดีๆ เอาแบบกินจนอิ่มแปล้ไปหลายวันเลย แค่นายยอมฟังเพลงที่ฉันจะเปิด ซึ่งภรรยาพอได้ฟังเรื่องเล่าก็นอนไม่หลับ ชวนสามีไปปล้นร้านขนมปังกันดีกว่า!

     แม้จะขึ้นชื่อเรื่องรักๆ โหวงๆ เหวงๆ แต่มูราคามิก็มีความชอบสอดแทรกพล็อตแปลกๆ ที่อ่านแล้วชวนให้สงสัยว่าคิดได้ยังไงมาอยู่เสมอ กับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่พล็อตถูกตาต้องใจ ‘คาร์ลอส คัวรอน’ (Carlos Cuaron) จนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นในชื่อเดียวกัน นำแสดงโดย ‘เคิร์สเตน ดันสต์’ (Kirsten Dunst หรือแมรี เจน ของ ไอ้แมงมุม ปี 2002) และ ‘ไบรอัน เกราตี’ (Brian Geraghty) 

     นอกจากนี้ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าใน Acoustic ภาพยนตร์เกาหลีใต้ปี 2010 โดยในเวอร์ชั่นนี้เป็นเรื่องราวของนักร้องและมือกลองที่ต้องขายอุปกรณ์ดนตรีประทังชีวิต แต่พวกเขาดันลืมทิ้งไว้ในร้านเบเกอรี ซึ่งสองหนุ่มนักดนตรีนำแสดงโดย ‘คัง มินฮยอก’ (Kang Min-hyuk) จากวง CNBLUE และ ‘อี จงฮยอน’ (Lee Jong-hyun) อดีตสมาชิกวง

BURNING

     เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นในปี 1983 เกี่ยวกับชายสองคนที่รู้จักกันเพราะหญิงสาวคนหนึ่ง ชายคนแรกเคยมีความสัมพันธ์กับหญิงสาว ส่วนชายคนที่สองเป็นคนรักในปัจจุบันของเธอ วันหนึ่งพวกเขาได้มากินดื่มด้วยกัน แล้วแฟนคนปัจจุบันของหญิงสาวก็เล่าเรื่องการเผาโรงนาให้ฟัง

     Barn Burning เรื่องสั้นที่ในฉบับภาษาไทยปรากฏอยู่ใน Firefly, Barn Burning and other stories (หิ่งห้อย โรงนามอดไหม้ และเรื่องอื่นๆ) ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Burning ในปี 2018 โดย ‘อี ชางดง’ (Lee Chang-dong) ผู้กำกับมากความสามารถ ซึ่งนอกจากจะปรับเรื่องราวให้เกิดขึ้นในเกาหลีแล้ว ยังปรับเปลี่ยนแบ็กกราวนด์บางอย่างของตัวละครให้ต่างไปจากเดิม 

     Burning นำแสดงโดย ‘ยู อาอิน’ (Yoo Ah-in ชายหนุ่มที่ฝ่าชีวิตจากซอมบี้ใน #Alive), ‘สตีเฟน ยอน’ (Steven Yeun แห่ง The Walking Dead) และ ‘จอน จงซอ’ (Jeon Jong-seo ที่หลายคนอาจเห็นหน้าใน Money Heist: Korea) ถือเป็นภาพยนตร์ที่ได้ผลตอบรับในแง่ดี ทั้งได้รับเลือกให้ไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ และได้เสนอชื่อเข้าชิงภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ 

     สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือการดัดแปลงเรื่องสั้นความยาว 13 หน้า ให้ยาวเป็นหนังที่มีความยาวเกือบสองชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถ้าใครอยากรู้ว่าเขาทำได้อย่างไรก็กดไปดูใน Netflix ได้เลย เสร็จแล้วก็อย่าลืมหาหนังสือจากสำนักพิมพ์กำมะหยี่มาอ่านเทียบกัน

HANALEI BAY

     เรื่องสั้นปี 2005 ว่าด้วยคุณแม่ที่สูญเสียลูกชายจากการเล่นเซิร์ฟแล้วถูกฉลามโจมตี เป็นเหตุให้เธอต้องเดินทางจากโตเกียวมาที่อ่าวฮานาเลอิในฮาวายเพื่อจัดการศพลูกชาย จากนั้นเธอกับฮาวายก็ตัดกันไม่ขาด เธอยังเดินทางมาที่อ่าวแห่งนี้ จนครั้งหนึ่งมีนักท่องเที่ยวบอกว่าเห็นคนญี่ปุ่นขาเดียวกำลังเล่นเซิร์ฟอยู่

     Hanelei Bay ฉบับภาษาไทย ถูกตีพิมพ์รวมอยู่ใน Tokyo Mysterious Story Collection (ลึกลับ.โตเกียว.เรื่องสั้น.) ส่วนฉบับภาพยนตร์นั้นถูกสร้างขึ้นในปี 2018 โดย ‘ไดชิ มัตสึนางะ’ (Daishi Matsunaga) นำแสดงโดย ‘โย โยชิดะ’ (Yo Yoshida)

DRIVE MY CAR

     เรื่องสั้นในปี 2013 ซึ่งถูกรวมไว้ใน Men Without Women (ชายที่คนรักจากไป) กับเรื่องราวของ ‘คาฟุกุ’ ที่หลังจากภรรยาเสียชีวิต เขาก็มีเหตุให้ขับรถไม่ได้ คาฟุกุจึงต้องจ้าง ‘มิซากิ’ มาคอยขับรถ นำเขาไปที่ต่างๆ แล้วระหว่างทางก็เกิดบทสนทนาที่จะทำให้เขาหวนคิดถึงภรรยาที่จากไปอีกครั้ง

     Drive My Car เป็นเรื่องสั้นที่มีความยาวราวๆ 30-40 หน้า แต่พอถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยฝีมือของ ‘ริวสุเกะ ฮามากุจิ’ (Ryusuke Hamaguchi) มันก็ถูกขยายจนมีความยาวเกือบสามชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ฮามากุจิไม่ได้นำเรื่องสั้นดังกล่าวมาเป็นวัตถุดิบแค่เพียงเรื่องเดียว เขานำเรื่องสั้นเรื่องอื่นที่ถูกบรรจุรวมไว้ใน Men Without Women อย่าง Scheherazade และ Kino มาผสมด้วย

     ภาพยนตร์ได้ผลตอบรับที่ดี เป็นที่รักทั้งของนักวิจารณ์ คนดู และแฟนคลับเฮียมูฯ กวาดรางวัลไปได้มากมาย รวมถึงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้ดู แล้วอยากรู้ว่าเจ๋งแค่ไหน ก็พิสูจน์ได้ใน Netflix เช่นกัน

BLIND WILLOW, SLEEPING WOMAN

     แม้ Blind Willow, Sleeping Woman จะเป็นชื่อเรื่องสั้นของมูราคามิ แต่สำหรับการดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาจากเรื่องสั้นเรื่องใดเป็นพิเศษ เพราะ ‘ปิแอร์ เฟือล์เดส’ (Pierre Földes) ผู้กำกับเรื่องดังกล่าว นำบรรดาเรื่องสั้นที่ถูกรวมไว้ในเล่ม Blind Willow, Sleeping Woman มาผสมผสานจนกลายเป็นแอนิเมชั่นหนึ่งเรื่อง

     เฟือล์เดสเล่าว่า ตอนแรกเขาติดต่อขอนำนิยายมาดัดแปลง แต่มูราคามิปฏิเสธแล้วเสนอให้เอาเรื่องสั้นไปทำแทน ซึ่งพอเฟือล์เดสไปไล่อ่าน ก็เกิดความรู้สึกว่าทำไมไม่หยิบเอาบรรยากาศและความเป็นมูราคามิมาผสมคลุกเคล้าให้เป็นเรื่องเล่ารสชาติใหม่ๆ ไปเลย

     Blind Willow, Sleeping Woman จึงเป็นเรื่องราวหลังญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 เล่าผ่านชีวิตของนายธนาคารที่วันดีคืนดีมีกบมาเยี่ยมบ้าน หญิงสาวที่หนีหายจากสามี แถมยังมีแมวสาบสูญ และเส้นเรื่องที่พร่าเลือนระหว่างความฝันกับความจริง เรียกว่าเก็บตกบรรยากาศแบบมูราคามิเอาไว้ครบถ้วน และการนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่นก็อาจทำให้เอฟซีเฮียมูฯ ได้เห็นโลกในเรื่องเล่าที่แปลกตาไปจากเดิมด้วย