Tue 26 Jul 2022

SECURITY OFFICER

จินดา ทิยาโน ผู้รักษาประตู (สำนักงาน)

ภาพ: NJORVKS

     นอกจากเรื่องหนังสือที่พวกเราสนใจและอยากชวนทุกคนไปอ่านหรือทำความรู้จัก CONT. ก็อยากพาทุกคนไปสำรวจและทำความเข้าใจแวดวงอื่นๆ บ้าง วันนี้เราเลยขอเปิดตัว ‘Job Description’ คอลัมน์ที่จะพาไปพูดคุยกับผู้คนจากหลากหลายแวดวงและสาขาอาชีพ เพื่อล้วงข้อมูลว่าจริงๆ แล้วอาชีพเหล่านั้นทำอะไร และถ้าพวกเขาสามารถให้คำจำกัดความการทำงานของตัวเองได้ จะระบุว่าแบบไหน

     ประกอบกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ซึ่งไม่ได้จัดเพียงเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมอีกด้วย ทาง SC ASSET เลยชวนพวกเราไปเดินเล่นที่สำนักงานใหญ่ พร้อมแนะนำให้รู้จัก พี่จินดา ทิยาโน พนักงานในตู้แลกบัตร สังกัดรักษาความปลอดภัย ผู้ประจำการ ณ ป้อมขาเข้าและขาออกที่อาคารชินวัตร 3 ตรงวิภาวดีฯ มาเป็นเวลาแปดปี ผู้ผันตัวจากอดีตแม่บ้านมาสู่เส้นทางพนักงานรักษาความปลอดภัย 

     คุยไปคุยมา เราจึงสนใจอยากรู้ว่าอาชีพผู้รักษาประตู (สำนักงาน) คนนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีความท้าทายยังไง มีเรื่องราวสนุกๆ ในห้องสี่เหลี่ยมเล่าให้ฟังได้มั้ย และจริงหรือไม่ที่คนมีภาพจำว่าอาชีพรักษาความปลอดภัยต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เราจะ #BreakTheBias ความคิดนี้ได้หรือเปล่า เราจึงขอเริ่มตอนแรกของคอลัมน์นี้ด้วยเรื่องราวของพี่จินดากันเลย

     ป.ล. สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราวการทำงานในอาชีพไหนอีกก็คอมเมนต์บอกเราได้ แต่ถ้าใครอยากรู้การทำงานของผู้หญิงเก่งใน SC ASSET ตำแหน่งอื่นๆ สามารถคลิกดูได้ที่นี่ และติดตามโครงการดี ๆ จาก SC Asset ได้ที่นี่

     ก่อนจะมาเป็นผู้รักษาประตู (สำนักงาน) ผู้เชี่ยวชาญระดับเพชรยอดมงกุฏแบบนี้ พี่จินดาก็เป็นเหมือนกับหลายคนที่เมื่อพูดถึงตำแหน่งรักษาความปลอดภัย ก็อาจมีภาพจำว่าอาชีพนี้ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว รักษาความปลอดภัยก็เหมือนกับหลายๆ อาชีพที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาทำงานได้ และขอบข่ายของการดูแลเหตุการณ์ให้อยู่ในความสงบก็มีมากมายหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือการดูแลความปลอดภัยการเข้า-ออกอาคาร ซึ่งเป็นขอบข่ายงานของพี่จินดานั่นเอง

     “เวลาพูดว่า รปภ. ส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นงานของผู้ชาย แต่จริงๆ แล้วผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้กัน

     แม้เราจะไม่ได้ไปยืนโบกรถหรือยืนอยู่หน้าประตูแบบผู้ชาย แต่งานของเราก็เป็นการดูแลความปลอดภัยของสำนักงาน คอยอำนวยความสะดวกในการเข้าอาคาร คอยเช็กว่ารถขาออกเหมือนกับตอนเข้ามามั้ย มีปัญหาติดขัดยังไง เรียกว่าคอยดูแลไม่ต่างจาก รปภ.จุดอื่นๆ การที่มานั่งตรงนี้ก็มีความสำคัญเยอะเหมือนกัน 

     บอกตรงๆ ว่าตอนทำแรกๆ ก็รู้สึกอาย เหมือนคนมองว่างานนี้ไม่ค่อยมีเกียรติขนาดนั้น แต่พอทำไปสักพัก เราก็รู้ว่าอาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพที่แย่ เป็นอาชีพที่เท่าเทียมกับอาชีพอื่น แถมในแง่การทำงาน การเป็น รปภ.ผู้หญิงทำให้ลูกค้าไม่เกรงกลัว กล้าเข้าหาขอความช่วยเหลือ รวมไปถึงกรณีที่ต้องค้นหรือสัมผัสตัวก็ทำให้ลูกค้าผู้หญิงรู้สึกสบายใจได้มากกว่าด้วย”

     พี่จินดายังเสริมอีกว่าไม่ใช่แค่เธอเท่านั้นที่เป็นผู้หญิงในตำแหน่งนี้ เพราะที่ SC ASSET เปิดโอกาสให้กับผู้หญิงอีกหลายคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและได้รับผิดชอบงานรักษาความปลอดภัย เพื่อยืนยันว่างานนี้ไม่ว่าเพศไหนก็ทำได้

     หากเปรียบเทียบกับสนามฟุตบอล ผู้เล่นคนอื่นอาจมีพื้นที่วิ่งไปทั่ว แต่ตำแหน่งผู้รักษาประตูคือหน้าที่ที่ต้องประจำอยู่ที่เดิม คอยเฝ้าระวังอยู่ในกรอบพื้นที่สี่เหลี่ยม ไม่เผลอมองนกมองไม้ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ จนเป็นเหตุให้ทีมเสียประตูได้ พื้นที่การทำงานของพี่จินดาก็อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมขนาดพอดีตัวเช่นกัน จะต่างอยู่บ้างก็ตรงผู้รักษาประตู (สำนักงาน) คนนี้ มีคอมพิวเตอร์ มีเครื่องสำหรับคีย์ข้อมูลบัตรเข้า-ออกตึก มีแอร์ มีเก้าอี้ มีคน มีต้นไม้ มีสัตว์ป่าาาา (ไม่ใช่ละ) เป็นเพื่อนร่วมงาน โดยขอบข่ายการทำงานของพี่จินดาก็คือต้องคอยดูรถเข้า-ออก กรอกข้อมูล ส่งและรับมอบบัตรกับผู้ขับขี่รถยนต์ผ่านทาง 

     “ตอนแรกคิดว่างานแลกบัตรคงจะไม่ยากเท่าไหร่ เราคงพอทำได้ แต่มาสัมผัสจริงๆ มันยากนะ งานเริ่มตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงหนึ่งทุ่ม โดยจะมีเวลาแบ่งให้พักเป็นช่วงๆ ในแต่ละสัปดาห์ก็จะเวียนกันไปคนละป้อม เพื่อเรียนรู้งานของทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก” 

     เห็นเวลาทำงานยาวนานขนาดนี้ เราก็แอบเป็นห่วงกระเพาะปัสสาวะของพี่จินดาขึ้นมาตงิดๆ เลยเอ่ยปากถามว่าแล้วถ้าคุณพี่อยากเข้าห้องน้ำต้องทำยังไงล่ะเนี่ย?

     “ตอนเข้าห้องน้ำก็เรียกหัวหน้าให้มาประจำที่แทนได้” 

     พี่จินดาเสริมอีกว่า อาชีพนี้ต้องอดทน เพราะ “ส่วนใหญ่จะนั่งตลอดเวลา ถ้าไม่มีรถก็สามารถยืนขยับแข้งขยับขาในตู้ได้ แต่ทำได้ไม่นาน มีรถเข้า-ออกตลอด และนอกจากความอดทนทางกายแล้ว ต้องมีความอดทนทางใจด้วย เพราะบางทีลูกค้าก็ไม่สุภาพกับเรา มีร้องไห้บ้างบางครั้ง น้ำตาไหลตอนนั้นเลย หรือบางทีก็ไปนั่งร้องในห้องน้ำ คิดว่าเราทำดีแล้ว ทำไมยังโดนว่าอยู่อีก มีท้อบ้าง

     คนอาจมองว่าอาชีพนี้ไม่ค่อยสำคัญ เขาคงมองว่างานอย่างนี้ไม่มีคุณค่าเท่าไหร่ แต่เรามองว่างานตรงนี้ก็ดีนะ เราทำมันอย่างเต็มที่ อยู่ตรงนี้ได้เพราะใจเรารัก ส่วนหนึ่งก็เพราะบรรยากาศการทำงานที่ SC ASSET ด้วย ที่ใส่ใจและดูแลพนักงานทุกคนอย่างทั่วถึง พูดจากใจเลยว่าเรารักการทำงานแบบนี้ก็เพราะที่นี่”

     ถ้าฟังดูเผินๆ ตำแหน่งนี้อาจดูเหมือนง่ายๆ ก็แค่แจกบัตรให้คนนอกที่อยากเข้า และรับบัตรจากคนในที่อยากออก เหมือนกับเวลาเรามองตำแหน่งผู้รักษาประตูก็แค่กันไม่ให้ลูกเข้าประตู แต่ถ้ามันง่ายแบบนั้นจริงๆ ทุกคนคงสามารถเล่นฟุตบอลกันได้หมด และเกมการแข่งขันก็คงไม่มีวันจบ เพราะไม่มีใครยิงกันได้สักที ส่วนผู้รักษาประตู (สำนักงาน) อย่างพี่จินดาก็คงทำงานสบายๆ แต่ละวันผ่านไปแบบไม่เครียด ซึ่งพูดมาขนาดนี้ก็แน่นอนว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ตู้แลกบัตรต้องทำอะไรมากกว่าแจกและรับบัตรแน่ๆ

     “เราต้องคอยเทียบรถขาเข้ากับขาออกให้เหมือนกัน คอยดูผ่านกล้องในป้อม ซึ่งต้องรีบดูอีก เพราะถ้าเราช้าก็อาจทำให้การจราจรในสำนักงานติดขัด การมีสายตาว่องไวเลยเป็นสิ่งจำเป็นในการทำอาชีพนี้”

     ถึงตรงนี้เราก็อยากรู้ขึ้นมาว่าปัญหาที่พี่จินดาพบบ่อยๆ คืออะไร

     “ส่วนมากจะมีปัญหาที่ขาออก คือตอนเขาแสตมป์บัตรภายในอาคาร เขาอาจจะแสตมป์ไม่ติด พอเราบอกว่าเขาต้องกลับไปแสตมป์อีกรอบ บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ บอกให้เราโทรติดต่อให้ ซึ่งตรงนี้มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราทำได้แค่แนะนำให้เขาไปตรงจุดไหน แล้วเวลารถมีปัญหา เราก็ต้องเคลียร์กับเขาให้เข้าใจก่อนถึงปล่อยออกไปได้ บางทีคันหลังก็บีบแตรดังจนทำให้เราเครียด แต่ยังไงก็ปล่อยไปไม่ได้ ต้องมีสติ ต้องจัดการให้เรียบร้อย

     “นอกจากนี้ เวลานั่งในตู้ขาออก คนที่นั่งต้องเป็นคนดูแลเงินทั้งหมด เราก็ต้องไปแลกเหรียญและแบงก์เตรียมไว้เป็นเงินทอน แต่เมื่อไม่นานมานี้เราทำระบบโอนขึ้นมา คือให้ลูกค้าที่ต้องจ่ายค่าจอดรถโอนเข้าบัญชีเราโดยตรง แล้วเราก็เอาเงินมาใส่เข้าไปในระบบ 

     “ตอนเราทำระบบนี้ หัวหน้าก็รับรู้นะ เขาก็เข้าใจว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย บางทียอด 30 บาท ลูกค้าให้แบงก์พันมา เราก็ทอนยาก และที่สำคัญ ยอดเงินต้องไม่ขาด ถ้าขาดเราก็ต้องรับผิดชอบ เราเลยอยากรอบคอบให้ได้มากที่สุด”

     แม้จะดูเหมือนเป็นการงานที่ตัดขาดจากโลกภายนอก นั่งอยู่ในห้องอย่างว้าเหว่ แต่พี่จินดาก็ยืนยันว่างานนี้ไม่ได้เหงาขนาดนนั้น กลับกันต้องเป็นคนที่อัธยาศัยดี สามารถพูดคุยกับคนแปลกหน้าได้ เพราะต่อให้ดูเหมือนจะได้พบสบตากันแค่แป๊บเดียว หากด้วยความที่ประจำอยู่ในสำนักงาน ทำให้พี่จินดามีโอกาสพบเจอกับบรรดาคนทำงานบ่อยๆ และได้กลายเป็นผูกมิตรกันไปเลยก็มี

     “ตอนมาทำงานใหม่ๆ เราอยากลาออกทุกวัน (หัวเราะ) เพราะไม่เข้าใจระบบงานแหละ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ได้พูดคุยกับคนทุกๆ วันก็มีความสุขขึ้นมา 

     บางทีลูกค้าก็ทักทายเราดี มีน้ำ มีขนม มีเขียนการ์ดมาให้ หรือถ้าวันไหนไม่สบาย เรากินยาแล้วดันง่วง หลายครั้งลูกค้าก็เป็นคนปลุกเรา เขาถามว่าไม่สบายเหรอ พอเราบอกว่าขอโทษ กินยาเลยเผลอหลับไป ทำไมไม่ปลุก เขาก็บอกว่าอยากให้พักบ้าง คือเขาน่ารักกันมากๆ” 

     แต่บางครั้งพี่จินดาก็ต้องเจอกับเหตุการณ์สะเทือนจิตใจ

     “เวลามีปัญหา พอเราอธิบายให้เขาฟังก็มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เคยโดนลูกค้าบอกว่าจอดแค่ไม่นาน ทำไมมีค่าใช้จ่าย เราเลยแนะนำว่าถ้าไม่อยากเสียค่าจอดต้องไปแสตมป์ที่ไหน เขาก็พูดว่า ‘ไม่ต้องมาสอน’ ในใจเราคือช็อก ไม่รู้จะทำยังไง ไม่ได้โกรธนะ แค่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ หลังจากนั้นเราเจอเขาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เขาน่าจะจำเราไม่ได้ เขาพูดกับเราดี เราก็ไม่ได้ติดใจอะไร

     “ปัญหามันมีทุกที่แหละ พรุ่งนี้มาทำงานใหม่เราก็แก้กันใหม่ แต่ถ้าถามว่าชอบงานนี้มั้ย ตอบได้เลยว่าชอบ เพราะได้พูดคุย เจอคนพูดดีๆ เราก็รู้สึกดี เจอคนพูดไม่ดี เดี๋ยวมันก็หายไป”

     อย่างไรก็ตาม พี่จินดาเสริมว่า แม้จะเจอลูกค้าว่าบ้าง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว เธอเจอคนน่ารักและใจดีเยอะกว่ามากกกก ซึ่งทำให้การทำงานที่ SC ASSET มีความสุขและไม่เคยเหนื่อยกับการตื่นมาทำงานเลย (ได้โปรดบอกเคล็ดลับนี้กับพวกเราทีค่ะพี่จินดา!)

     ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ พี่จินดาเล่าว่ายังสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ไร้กังวล เพราะทาง SC ASSET มีบริการคอยดูแล แถมยังจัดตั้งซุ้มตรวจ ATK โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกเช้าวันจันทร์ เพื่อสนับสนุนบริการด้านสุขภาพให้แก่พนักงานทุกคน

     ก่อนจะจากกันไปและส่งพี่จินดากลับไปประจำการตู้แลกบัตร เราก็สวมวิญญาณโคนันยอดนักสอด อยากรู้อยากเห็นว่าเวลาเดินเข้าตู้แลกบัตร พี่จินดาพกอะไรเข้าไปบ้าง 

     “ไอเทมประจำตัวมีเยอะมาก แต่ที่ขาดไม่ได้เลยช่วงนี้คือแมสก์กับถุงมือ ซึ่งทางหน่วยงานจะเตรียมไว้ให้ เพราะว่าจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ถ้าไม่มีคือเราทำงานไม่ได้เลย แต่บางครั้งถ้าใช้หมดก่อน เราก็ต้องไปหาซื้อเพื่อเซฟตัวเอง นอกจากนี้ก็จะมีพวกเจลแอลกอฮอล์ กระดาษเช็ดมือ โทรศัพท์ เครื่องสำอางนิดๆ หน่อยๆ เวลาเข้าที่ทำงานคือหอบสมบัติไปด้วย (หัวเราะ)”

     และเมื่อถามว่าพี่จินดาพกอะไรเข้าไปแก้เบื่อหรือแก้เหงาบ้างมั้ย พี่จินดาก็บอกว่ารออยู่ตรงนี้สักพักนะ แล้วก็เดินเข้าตู้รักษาความปลอดภัย แจกบัตรเข้า-ออกให้เราดูกันสดๆ แบบคันต่อคันต่อคันต่อคันต่อคันต่อคัน ก่อนจะตะโกนออกมาผ่านหน้าต่างว่า “มีเวลาว่างมากเกินห้านาทีก็เก่งแล้ววววว”

     ป.ล. ย่อหน้าสุดท้ายเป็นเรื่องสมมติ พี่จินดาไม่ได้ทำอย่างนั้น พวกเราจำลองสถานการณ์ให้ดูเอง ความจริงแล้วพอเข้าประจำการในตู้ พี่จินดาก็ต้องคอยรับ-ส่งบัตรแทบตลอด นานๆ ถึงจะได้มีเวลายืดเส้นยืดสายกับเขาบ้าง เรื่องจะฆ่าเวลานั้นลืมไปได้เลย