LAUGH & LEARN
เรื่องราวชีวิตก่อนจะเป็น ‘นิค ขายหัวเราะ’ นักวาดมากอารมณ์ขันผู้หยิบความดาร์กในชีวิตประจำวันมาเป็นมุกตลก
เรื่อง: ปฏิกาล ภาคกาย
ภาพ: A. Piriyapokanon
คงเหมือนการชื่นชอบใครสักคน เวลาปลาบปลื้มใคร เราก็มักอยากเจอคนคนนั้นตัวเป็นๆ
ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเคยเป็นหรือเปล่า เมื่อเวลาอ่านงานของนักเขียนสักคน พอถูกใจในสำนวนภาษาก็อยากจะเจอตัวจริงของนักเขียนคนนั้น หรือถ้าเขินอาย ไม่อยากเจอตัวจริงของเขา ก็ขอเห็นรูปถ่ายหรือใบหน้าของสักหน่อยก็ดี
ปัจจุบัน การหารูปถ่ายของนักเขียนไม่ใช่เรื่องยาก พิมพ์ชื่อลงไปในกูเกิล รอไม่กี่วินาทีก็ปรากฏภาพถ่ายมากมายเต็มไปหมด แต่หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ในช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าถึงยาก ช่องทางการอัพเดตข่าวสารคือนิตยสารและหนังสือที่ออกเป็นรายวัน รายปักษ์ รายเดือน การเห็นใบหน้าที่แท้จริงของนักเขียนที่เรารักก็เป็นเรื่องยากพอๆ กับงมเข็มในมหาสมุทร
และอาจยากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้านักเขียนคนนั้นเป็นนักวาดการ์ตูน
หากใครเป็นนักอ่าน ขายหัวเราะ นิตยสารการ์ตูนที่สร้างความบันเทิงให้นักอ่านบ้านเรามาเกือบ 50 ปี อาจจะคุ้นชินกับธรรมเนียมขอภาพถ่ายของบรรดานักวาด เพราะนักเขียนในเครือบรรลือสาส์นมักจะวาดการ์ตูนแก๊กโดยมีตัวเองเป็นตัวละครเอก ทำให้นักอ่านพากันสงสัยใคร่รู้ว่าตัวจริงของพี่ๆ เขาเหมือนลายเส้นเหล่านั้นมั้ย
การเขียนจดหมายเข้ามาเพื่อขอภาพถ่ายเลยเป็นหนึ่งในสิ่งที่แฟนคลับ ขายหัวเราะ มักจะทำกัน
วันเวลาผ่านไป การขอภาพถ่ายก็มีน้อยลง และการเห็นหน้าค่าตานักวาดทั้งหลายก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่พูดก็พูด ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าถ้าบังเอิญเดินสวนกับพี่ๆ นักวาดข้างนอก ผมคงไม่รู้ว่าเขาคือเจ้าของแก๊กตลกที่ทำให้เรานั่งขำมาตลอดหลายสิบปี
เช่นเดียวกับตอนนี้ที่ผมนั่งอยู่ตรงข้ามผู้ชอบหยิบเรื่องราวชีวิตประจำวันมาดัดแปลงเป็นมุกขำขันอย่าง ‘พี่นิค ขายหัวเราะ’ หรือ ‘นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์’ เตรียมพูดคุยถึงความเป็นมาในเส้นทางนักวาด ตั้งแต่ยังเขียนการ์ตูนเล่มละบาท จนปัจจุบันที่เป็นตำนานของ ขายหัวเราะ และเพิ่งมีผลงานล่าสุดที่หยิบเอาแง่มุมดาร์กๆ มาทำเป็นเรื่องขำขื่นในชื่อ Dark Humour บางชั่วแวบหนึ่งผมก็รู้สึกว่าอาจจำหน้าพี่นิคไม่ได้ เพราะตลอดการพูดคุยกัน สิ่งที่ผมเห็นมีแค่พี่นิคเวอร์ชั่นตัวการ์ตูนกำลังคุยกับผมอยู่
พี่นิคสนใจการวาดการ์ตูนตั้งแต่ตอนไหน
ผมชอบการเขียนรูปมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นยังไม่ได้แยกแยะหรอกว่าเป็นการ์ตูนหรืออะไร แต่ด้วยความที่ผมอยู่ต่างจังหวัด (นครราชสีมา) สมัยนั้นไม่มีสื่อที่เป็นภาพเขียนเท่าไหร่ จะมีอย่างเดียวก็คือหนังสือการ์ตูน พวก หนูจ๋า หรือ เบบี้ ทั้งสองเล่มนี้คือแรงบันดาลใจผมเลย อย่างตอนประถม ผมก็ลอกตามหนังสือการ์ตูนแต่ละหน้า แบ่งช่องแบ่งคำพูด พอเขียนได้หลายหน้าก็เอาไปให้เพื่อนดู
สมัยมัธยม ผมก็หันไปสนใจวาดภาพสีด้วยเหตุผล 2-3 อย่าง เริ่มจากการที่โคราชเป็นจังหวัดที่มีลิเกเยอะ แล้วแถวบ้านผมมีการเขียนฉากลิเกกัน ผมก็ไปยืนดู เห็นเขาใช้สีฝุ่นผสมกาวหรืออะไรสักอย่าง ผมก็เลยไปตระเวนหาสีฝุ่นบ้าง หายากเหมือนกัน แถมยังไม่รู้จักวิธีผสม เลยเอาไปผสมน้ำ นำไปวาดบนผ้าใบ ตอนนั้นผมนับถือศาสนาคริสต์ก็จะมีภาพวาดพระเยซูภาพหนึ่งเป็นต้นแบบ วาดเสร็จก็ภูมิใจ แต่ตอนหลังดันไปเคาะเฟรม ภาพเลยปลิวกระจายไปหมด นอกจากนี้ โคราชยังดังเรื่องภาพคัตเอาต์หน้าโรงหนัง ดังถึงขนาดที่ว่าช่างเขียนมือหนึ่งของโคราชมาเขียนอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย ช่างเขียนที่กรุงเทพฯ ถึงกับพากันมามุงดู
ผมตามดูภาพวาดเหล่านี้มาเรื่อยๆ จนได้ไปเรียนศิลปะที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ทำให้ได้รู้ว่าการเขียนรูปมีหลายแนวทาง นอกจากการ์ตูนแล้วยังมีแบบอื่นด้วย ยังมีจิตรกรรม มีประติมากรรม ซึ่งผมก็ทำได้ดี ถึงขนาดได้ไปทำงานเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เพื่อหารายได้เสริมตอนเรียน
พี่นิคเริ่มวาดการ์ตูนจริงจังเมื่อไหร่
ช่วงเรียนอยู่นี่แหละ แต่ก็ต้องบอกว่าการวาดการ์ตูนไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนเลย ผมศึกษาวิธีคิดหรือแก๊กจากหนังสือด้วยตัวเอง
ใครคือต้นแบบในการวาดการ์ตูนของพี่นิค
ผมไม่ได้คิดว่าใครเป็นต้นแบบ ผมดูกระจายมาก ชอบงานคนนู้น ชอบงานแบบนี้ ไม่ได้จำชื่อหรอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าถามว่าชอบแนวไหนระหว่างญี่ปุ่นหรือฝรั่ง ผมชอบฝรั่งมากกว่า พวกแก๊กการ์ตูนตลกสามช่องก็จะได้มาจากทางฝรั่งเสียเยอะ
พี่นิคเริ่มวาดการ์ตูนให้กับที่ไหนเป็นที่แรก
ผมเขียนการ์ตูนการเมืองให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราชตั้งแต่สมัยเรียน เพราะตอนนั้นเป็นช่วง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ซึ่งหลังจาก 6 ตุลา ก็มีเพื่อนผมเข้าป่าไปเยอะเหมือนกัน
สมัยนั้นคนเขาเรียกแผนกพวกผมว่าแผนกการเมือง อย่างตอนก่อน 6 ตุลาที่มีการเขียนโปสเตอร์ติดแถวถนนราชดำเนิน เขาจะส่งส่วนหนึ่งไปให้วิทยาลัยเพาะช่างวาด แล้วก็มีส่งมาให้พวกอาจารย์ของผมที่โคราชวาดด้วย ซึ่งผมดันเขียน figure ได้ เขาก็เลยให้ผมไปช่วยวาดพวกหน้าคน ภาพวาดที่ติดแถวราชดำเนินก็จะมีฝีมือผมอยู่
แต่พี่นิคก็ไม่ได้เข้าป่าไปด้วย
ไม่ได้เข้า คือมีความว้าวุ่นใจเหมือนกัน เพราะเพื่อนเราก็เข้าไป แต่ผมเป็นคนชอบดูหนัง เลยคิดว่าถ้าเข้าป่าคงอดดู (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักหรอก ส่วนหนึ่งก็เพราะมีเพื่อนที่ตัดสินใจว่าไม่ได้เข้าอยู่ด้วยกัน
หลังจากเหตุการณ์ พี่นิคยังสามารถเขียนการ์ตูนการเมืองได้มั้ย
เขียนได้ เพราะที่ผมเขียนมันไม่ได้ลงลึกถึงขนาดต้องแยกฝั่งแยกฝ่าย ผมเขียนมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่ตัดสินใจว่าจะเอาการ์ตูนมาเสนอในกรุงเทพฯ
พี่นิคตรงมาที่ ขายหัวเราะ เลยหรือเปล่า
ยังครับ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการ์ตูนอย่าง หนูจ๋า หรือ เบบี้ เป็นอะไรที่เกินฝัน ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่การ์ตูนเล่มละบาทดังมาก ซึ่งผมรู้สึกว่าเราน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า ก็เลยเอาต้นฉบับจากโคราชมานำเสนอที่กรุงเทพฯ แล้วพอผ่านก็เลยมาอาศัยอยู่กับเพื่อนที่กรุงเทพฯ เพื่อวาดการ์ตูนเต็มตัว
อยากให้พี่นิคช่วยอธิบายว่าการ์ตูนเล่มละบาทสมัยนั้นเป็นยังไง เพราะสมัยนี้คนอาจเข้าใจว่าการ์ตูนเล่มละบาทต้องเป็นการ์ตูนผีเท่านั้น สมัยนั้นเป็นแบบนี้หรือเปล่า
การ์ตูนเล่มละบาทเป็นการ์ตูนสั้น ความยาว 16 หน้า อ่านแป๊บเดียวจบ แต่เป็นที่นิยมมาก ผมไม่ค่อยเขียนเรื่องผีเท่าไหร่นะ อย่างตอนนั้นยังมีความคิดทางการเมืองอยู่ ผมก็เอามาผสมกับเรื่องที่แต่ง ไม่ก็เขียนเรื่องที่มีความตลกตบท้าย
เขาไม่ได้บังคับว่าเราต้องเขียนแนวไหน
ไม่เลย เขียนอะไรไปเขาก็รับหมด
ประวัติของพี่นิคในท้ายเล่ม Dark Humour บอกว่าพี่นิคเขียนการ์ตูนเล่มละบาทเป็นร้อยเรื่อง พี่นิคยังจำพล็อตเรื่องแรกของตัวเองได้อยู่มั้ย
เรื่องแรกที่เขียนจำไม่ค่อยได้แล้ว จำได้แค่ว่ามันคือเรื่อง ข้าวเหนียวปั้นเดียว แต่รู้สึกว่าจะเอาพล็อตมาจากเรื่องสั้นที่ชนะรางวัลของอินเดีย ดัดแปลงเป็นแนวเพื่อชีวิตหน่อยๆ
การ์ตูนเรื่องละบาทที่ผมวาดแล้วพอจะจำได้คือ มีคำสั่งให้มือปืนไปฆ่าคน ถ้าใครเห็นเป็นพยานต้องฆ่าให้หมด ซึ่งเจ้ามือปืนก็ฆ่าหมด แต่ตอนสุดท้ายยังเหลือพยานอีกคนที่ต้องฆ่าด้วย ก็คือตัวมือปืนเอง
ถ้าเป็นการ์ตูนผี ผมเคยเขียนเรื่อง กระสือสองหัว คือยายทำอะไรก็จำไม่ได้แล้ว แต่ที่แน่ๆ คือทำให้หลานเป็นกระสือสองคน เวลาลอยออกไปก็ต้องลอยไปทั้งคู่ ไส้ติดกัน ผมจำตอนจบไม่ได้ จำได้แค่ว่าพล็อตนี้ตลกนิดนึง
เราได้ค่าต้นฉบับเท่าไหร่
เขาคิดเป็นราคาเหมาทั้งเล่ม ตอนผมเริ่มเขียนเล่มแรก ค่าต้นฉบับอยู่ที่ 600 บาทต่อเรื่อง จนกระทั่งช่วงท้ายๆ ที่เลิกเขียนคือ 1,250 บาท
แต่เอาจริงๆ การ์ตูนเล่มละบาทเป็นอะไรที่ถ้าเขียนได้ดีแล้วเขียนได้เร็วนะ อาจจะเขียนได้วันละ 1-2 เรื่องเลย
สำนักพิมพ์มีจำกัดมั้ยว่ารับแค่เดือนละกี่เรื่อง
เขารับเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าเราจะเขียนไหวเท่าไหร่ ผมจำกัดตัวเองเอาไว้ว่าเขียนประมาณเกือบสิบหรือสิบเล่มก็พอ เพื่อเอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่น
นอกจากการ์ตูน พี่นิคสนใจอะไรเป็นพิเศษอีก
ภาพยนตร์ คือนอกจากจะชอบดูแล้ว ตอนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ผมมีเพื่อนทำงานในแวดวงภาพยนตร์ แล้วลึกๆ ก็อยากเป็นผู้กำกับ ผมเคยขอเพื่อนตามไปดูที่กองถ่าย อย่าง ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย นี่ก็ไปดูที่กอง เพราะว่ารู้จักกับปื๊ด (ธนิตย์ จิตนุกูล) และอังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา)
พี่นิคได้ลองพยายามจะเป็นผู้กำกับมั้ย
ยังเลย มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น พอจะไปก็ไม่มีกิน ต้องมาเขียนการ์ตูนหาเงินก่อน พอมีครอบครัวก็ขาดเงินไม่ได้ เลยได้แต่ไปดูหนังของเพื่อน
แบบนี้เคยดูหนังของ บ.ก.วิธิต (วิธิต อุตสาหจิต ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ ขายหัวเราะ เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง ผีหัวขาด เมื่อปี 2523) หรือเปล่า
สมัยนั้นเขาแปลกใหม่แล้วก็ทันสมัยมาก มีการใช้บลูสกรีน ซึ่งคือกรีนสกรีนในปัจจุบันด้วย ตอนผมมาทำ ขายหัวเราะ ก็หวังอยู่ลึกๆ ว่า บ.ก.วิธิตจะทำหนัง เพราะเขาไปเรียนด้านหนังมาโดยเฉพาะ แต่ บ.ก.บอกว่าพ่อวางให้เขาเป็นคนสานต่อธุรกิจ ซึ่งเขาเคยบอกผมว่าการทำหนังสือนั้น ถ้าทำแล้วติดตลาด มันอยู่ได้อีก 10-20 ปี แต่ถ้าทำหนังฉาย ทำเสร็จหนึ่งเรื่อง พอจะเริ่มเรื่องใหม่ก็เท่ากับว่าต้องสตาร์ทใหม่ แบกรับความเสี่ยงใหม่ทุกอย่าง นี่เลยอาจเป็นเหตุผลที่เขาทำหนังสือมาจนถึงวันนี้
แปลว่าตอนเอาต้นฉบับมาเสนอ พี่นิครู้อยู่แล้วว่าคนคนนี้คือใคร หรือแค่เคยดูหนังแล้วเห็นว่าเขาทำ ขายหัวเราะ
พอรู้ว่าเขาทำอะไรบ้างครับ แต่เอาจริงๆ ตอนที่ผมเอาต้นฉบับไปเสนอ บ.ก.วิธิตครั้งแรกก็คือไม่ผ่านนะ ต้องกลับไปแก้มาใหม่
ถ้ามองจากวันนี้ พี่นิคเห็นด้วยกับ บ.ก.วิธิตมั้ยที่เขาไม่ให้ต้นฉบับเราผ่าน
เห็นด้วย คือการเสนองานแล้วไม่ผ่าน หรือถูกเขาติเป็นเรื่องธรรมดา เขาต้องดูแล้วว่าลายเส้นไปได้มั้ย แก๊กมันสมบูรณ์หรือเปล่า ถ้าตัวการ์ตูนยังไปไม่ได้ก็ไม่ผ่าน อย่างตอนนั้นผมวาดตัวละครที่มีอนาโตมี่ ยังไม่ค่อยเป็นการ์ตูนเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ยังขาดความน่ารักของการ์ตูน ยังสมจริงเกินไป ซึ่งตอนวาดการ์ตูนเล่มละบาท ผมวาดแบบนี้ตลอด
พอไม่ผ่านพี่นิคทำยังไงต่อ
น่าจะกลับไปวาดการ์ตูนเล่มละบาทอยู่เกือบปี แล้วก็กลับมาเสนอใหม่ ราวๆ ปี 2524 คือเอาอันเก่านั่นแหละมาเขียนเติมเข้าไปถึงจะผ่าน
ตอนเสนอต้นฉบับผ่าน สไตล์งานของพี่นิคเป็นแบบไหน
วาดทั่วๆ ไปเลย ยังไม่มีคาแรกเตอร์ตัวเอง เพราะสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดในตอนนั้นคือมุกตลกกับเรื่องที่จะเขียน พวกดีไซน์ตัวละครจะมาทีหลัง
การวาดแก๊กหรือมุกตลกลง ขายหัวเราะ วิธีการคิดงานต่างจากตอนการ์ตูนเล่มละบาทมั้ย
ต่างกันเยอะ เพราะเวลาเขียนแก๊กตลกคิดทีเป็นวันๆ คิดได้ก็เขียนจดเอาไว้ สัก 2-3 วันค่อยเอาที่คิดไว้มาเขียน แล้วบางทีก็มีที่เขียนไปแล้วไม่ผ่าน หรือเขียนไปจะจบแผ่นแล้วเลือกที่จะทิ้งเองก็มี
ถ้าการ์ตูนเล่มละบาทจะเป็นอีกเรื่อง อันนั้นคือเรามีเรื่องหลักที่จะเล่าอยู่แล้ว เราก็แค่ต้องคิดว่าจะเล่าตอนเปิดเรื่องยังไง หาเรื่องที่จะผูกระหว่างทาง แล้วเราจะตบท้ายยังไง ส่วนมากที่จะคิดได้ก่อนคือเส้นเรื่องหลักกับส่วนตบท้าย พวกตอนเริ่มเรื่องกับระหว่างทางจะคิดเอาทีหลัง
พอมาวาดการ์ตูนจริงจัง มีใครสอนวิธีการเล่าเรื่องกับพี่นิคบ้างหรือเปล่า
ผมคลำเอาเอง ใช้การสังเกตแล้วก็คิดเอาเอง อย่างยุคแรกๆ ที่เป็นการ์ตูนตลกสามช่องจบ ถ้าเทียบกับพวกซีรีส์ตลกของฝรั่งก็คือการตั้งกล้องแล้วมีตัวแสดงเดินผ่าน มีคนมาแสดงแล้วก็จบฉากไป ซึ่งนี่คือซีรีส์ตลกของฝรั่งเมื่อสมัย 30-40 ปีที่แล้ว ผมก็เอาวิธีการแบบนี้มาใช้เป็นหลักในการคิดการ์ตูนตลก แต่ระยะหลังนี้มันทำได้หลายอย่าง จะซูมก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ วิธีการเล่าเรื่องมันหลากหลายกว่ายุคก่อนเยอะ
วิธีเล่าแบบไหนเข้ามือพี่นิคที่สุด
ทั้งสองแบบ เพราะว่าถ้าแบบคลาสสิก ตั้งกล้องแล้วตัวแสดงเดินผ่าน เรื่องมันต้องแน่นจริงๆ พูดแล้วต้องฮาเลยโดยที่ไม่มีตัวการ์ตูนมาตีลังกาอะไร ส่วนอีกอันนึงก็คือโชว์สกิลการเล่าเรื่อง ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราอยากเล่าแบบไหน
พี่นิคเริ่มใช้ชื่อตัวเองเป็นนามปากกาตอนไหน
ตอนวาดการ์ตูนตลก แต่จริงๆ ผมไม่ได้ชื่อนิคนะ
อ้าว แล้วพี่นิคชื่ออะไร
นิพนธ์
ชื่อเล่น?
นิพนธ์
…
ผมได้ชื่อนี้มาเพราะทหารจีไอแถวโคราชเป็นคนเรียก เพราะเขาออกเสียงชื่อนิพนธ์ลำบาก ก็เลยเรียกผมว่านิค ตอนวาดการ์ตูนเล่มละบาท ผมใช้นามปากกาว่านิพนธ์ นิค แล้วพอเป็นการ์ตูนตลก ผมก็เขียนแค่ว่านิค ทีนี้พอเพื่อนเห็นก็เรียกนิคกันมาตลอด ผมก็เลยใช้ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
พอต้นฉบับผ่าน ขายหัวเราะ แล้ว พี่นิคยังวาดการ์ตูนเล่มละบาทอยู่มั้ย
ลดน้อยลง จนสุดท้ายไม่เหลือเลย หายไปเลย หลักๆ ก็เพราะหลังจากนั้นผมมาทำงานประจำที่ ขายหัวเราะ ด้วย คือไม่ใช่แค่เขียนการ์ตูนจากที่บ้านแล้วเอามาส่ง แต่มานั่งทำที่สำนักพิมพ์ มีการลงเวลาเข้างานแบบเต็มตัว
ช่วงนั้น บ.ก.วิธิตเขาอยากทำอย่างอื่นเพิ่มเติม คือสมัยก่อน ขายหัวเราะ จะเป็นเล่มขนาดใหญ่ จากนั้นก็มีขนาดกะทัดรัด เรียกว่าฉบับกระเป๋าเพิ่มเข้ามา ซึ่งดันไปได้ดี แล้วตอนนั้นฉบับกระเป๋ายังไม่ค่อยมีใครเขียน มีนักเขียนการ์ตูนอยู่ 2-3 คน ผมทำเองแทบทุกอย่าง วาดการ์ตูน เขียนคำนำ ไปหานักเขียนเรื่องสั้นมาเพิ่ม ผมเคยชวน ปัญญา นิรันดร์กุล มาเขียนให้ ขายหัวเราะ ด้วยนะ (หัวเราะ)
ตอนนั้นในทีมมีใครบ้าง
ต้อม (สุพล เมนาคม) กับต่าย (ภักดี แสนทวีสุข) นี่เข้ามาก่อนผม แต่ตอนมานั่งประจำมีแค่ผมกับต่ายสองคน ผมทำ ขายหัวเราะ ต่ายทำ มหาสนุก ส่วนต้อมทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้มานั่งทำประจำ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยาย มีนักเขียนมาเพิ่ม
กว่าจะได้หนึ่งแก๊ก พี่นิคมีวิธีทำงานยังไง
ทำตัวสบายๆ เปิดทีวีดูหนังดูข่าว ทำสมองให้เบาที่สุด ว่างที่สุด แล้วพอได้จังหวะปุ๊บ ก็อาจจะผสมข่าวเข้ากับอะไรบางอย่างจนได้ออกมาเป็นแก๊กหนึ่งแก๊ก มันจะขยับไปทีละแก๊กๆ แต่บางทีนั่งทั้งวันก็ไม่ได้ ดูหนังจบไปตั้งหลายเรื่องคิดไม่ออกเลยก็มี
เวลาจบวันด้วยการคิดไม่ออกรู้สึกยังไง
ช่างมัน ทำอย่างอื่นไปตามปกติ พรุ่งนี้เริ่มใหม่ อย่าไปบีบ อย่าไปเครียด อย่าไปเอามาเป็นพะวง ต้องปล่อยไปเลย คือมันเป็นอาชีพของผม ไม่ว่ายังไงผมก็ต้องคิดได้แหละ ซึ่งผมคิดว่าต้องคิดได้ตลอด แค่ต้องใช้เวลาหน่อย แล้วมันก็คิดได้จริง
หลายมุกตลกของพี่นิคสร้างจากเหตุการณ์จริง บางเหตุการณ์ก็ค่อนข้างดาร์ก พี่นิคมีวิธีดัดแปลงความเป็นจริงเหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องที่เราสามารถยิ้มหรือขำกับมันได้ยังไง
เวลารับรู้เรื่องซีเรียส เราก็ซีเรียสกับมันนะ แต่เวลาจะเอามาเขียน เราต้องปล่อยต้องวางจุดที่ซีเรียสก่อน เราอาจต้องปรับให้เหตุการณ์ไม่เหมือนของจริง ต้องปรับให้มันเบาขึ้น เป็นเรื่องสมมติมากขึ้น
จุดเริ่มต้นของเล่ม Dark Humour เป็นยังไง คือพี่นิคชอบวาดการ์ตูนตลกร้ายอยู่แล้วหรือเปล่า
ไอเดียของหนังสือเล่มนี้มาจากทีมขายหัวเราะ เขาอยากเอางานของผมที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาทำเป็นหนังสือ เขาคงสังเกตเห็นว่าเรื่องที่ผมวาดส่วนใหญ่มันออกไปในทางตลกร้าย ซึ่งตอนที่ผมได้ยินธีมนี้ ผมก็รู้สึกว่าใช่เลยนะ คือผมกลับไปคิดย้อนกับตัวเอง ตั้งแต่ตอนผมวาดการ์ตูนเล่มละบาท หรือที่เขียนลง ขายหัวเราะ ก็เป็นการ์ตูนแนวตลกร้าย ประชดประชัน เสียดสีทั้งนั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาผมไม่ได้มานั่งแยกว่าอันนี้เป็นตลกร้าย อันนี้เป็นมุกสำหรับเด็ก ผมวาดปนๆ กันไป
ทำไมมุกเหล่านี้ถึงไม่เคยถูกตีพิมพ์
ตามธรรมเนียมของ ขายหัวเราะ แล้ว จะมีหลักในการพิมพ์งานคือตามคิว สมมติผมเขียนส่งไปห้าเรื่อง เขาก็ไม่ได้เอาลงในเล่มเดียว ต้องลงงานของนักเขียนคนอื่นด้วย มันเลยทำให้งานหลายๆ ชิ้นต้องรออยู่ในคิวไปเรื่อยๆ
ผมพูดแบบนี้ดีกว่า คือผมเข้าใจว่า ขายหัวเราะ เกิดขึ้นได้ก็เพราะการเอาต้นฉบับที่เหลือจากการลงใน หนูจ๋า, เบบี้ พวกมุกที่อาจไม่เหมาะสำหรับเด็กมารวมจนกลายเป็น ขายหัวเราะ ซึ่งก็อาจพูดได้ว่า Dark Humour เป็นวิธีการทำงานคล้ายๆ กัน (หัวเราะ)
พี่นิคคิดว่าการเล่าเรื่องตลกยังจำเป็นต่อสังคมมั้ย
ยังจำเป็นอยู่นะ ผมเคยคิดว่าโลกโซเชียลฯ จะทำให้โลกเปลี่ยน แต่พอไปดูจริงๆ คนก็ยังอ่านการ์ตูนตลก ยังรักการ์ตูนตลกอยู่ ผมเลยคิดว่าการ์ตูนตลกก็ยังจำเป็น มันสะท้อนสังคมได้ในตัวด้วย
พี่นิคยังวาดการ์ตูนทุกวันอยู่หรือเปล่า
วาดอยู่ คิดแก๊กทุกวัน ผมไม่เคยหยุดวาดหรือหยุดคิดมุกตลกเลย
ตั้งแต่ตอนเสนอต้นฉบับแล้วได้ทำงานกับ ขายหัวเราะ หายใจเข้าก็นึกถึง ขายหัวเราะ หายใจออกก็นึกถึง ขายหัวเราะ ผมคิดวนๆ อยู่อย่างนี้ แทบไม่มีเวลาไปคิดอย่างอื่นเลย เลิกงานกลับไปก็ยังคิด
ผมคิดถึง ขายหัวเราะ ตลอด ผมคิดถึงมุกตลกเสมอ แม้แต่ตอนที่คุยกันนี้ ผมก็ยังคิดอยู่นะ (หัวเราะ)