SALES MANAGER
ชิตพล จันสด เชียร์รีดเดอร์
เรื่อง: ธีรภัทร์ เจนใจ
ภาพ: A. Piriyapokanon
“บิล เกตส์ แนะนำให้อ่าน เซเปียนส์! มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกว่าทุกคนควรอ่านหนังสือเล่มนี้! เซเปียนส์ คือหนังสือขายดีที่มียอดขายทั่วโลกกว่า 6 ล้านเล่ม และ ณ บัดนี้ หนังสือที่ดีที่สุดได้มาวางขายอยู่ตรงหน้าท่านแล้วครับ!”
หากคุณเป็นนักอ่านที่ไปงานหนังสือสม่ำเสมอ หรือเพิ่งไปเยือนงานหนังสือครั้งที่ผ่านมา แล้วเดินผ่านไปทางบูธสำนักพิมพ์ยิปซี คงไม่แคล้วที่จะได้สดับรับฟังเสียงของยอดนักเชียร์ให้รีดเดอร์อย่างเราๆ ต้องควักเงินซื้อหนังสือ ซึ่งอยู่คู่กับชาวยิปซีและชาวงานหนังสือมาแล้ว 14 ปี
ทุกครั้งที่ไปงาน เรามักจะขอเดินผ่านบูธยิปซีสักหนหนึ่ง ขอฟังเสียง ‘พี่ป๊อป—ชิตพล จันสด’ ที่ยืนขายหนังสือในชุดยูนิฟอร์มทหารญี่ปุ่นตัวเก่ง เพื่อจะได้กลับบ้านอย่างสบายใจว่ามาถึงงานหนังสือแล้วจริงๆ แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะเรายังได้ฟังเสียงพี่ป๊อปใกล้ๆ พร้อมขอเคล็ดลับการเชียร์หนังสือผ่านการสัมภาษณ์อีกด้วย
ขอเชิญทุกท่านทำความรู้จักพี่ป๊อป สุดยอดเชียร์รีดเดอร์แห่งบูธยิปซีไปพร้อมๆ กันได้ในคอลัมน์ Job Description
แม้คนมาเดินงานและบูธสำนักพิมพ์จะมากมายจนมองหาอะไรได้ยาก แต่บูธยิปซีก็หาเจอได้แบบอีซี่ แค่เดินตามเสียงพี่ป๊อปก็เจอแล้ว
เมื่อนั่งลงพูดคุย พี่ป๊อปก็เริ่มเล่า (ด้วยเสียงที่เบากว่าตอนยืนขายหนังสือประมาณ 2-3 ระดับ) ย้อนความถึงเส้นทางการเป็นนักขายที่สั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก
“งานขายอยู่ในสายเลือดเราอยู่แล้ว ตั้งแต่ประถมก็ตื่นตี 3-4 ไปช่วยพ่อขายของ ปิดเทอมช่วงมัธยมก็เคยรับจ้างช่วยน้าขายเครื่องสำอางที่อิมพีเรียล สำโรง ช่วงมหา’ลัยก็เคยรับหนังสือมาขายแบกะดิน จนได้มาเจอพี่ชารีฟ (คธาวุฒิ เกนุ้ย กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ยิปซี) ในพรรคสานแสงทอง เป็นพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แกก็เลยชวนมาช่วยกันขาย”
พี่ป๊อปเล่าว่างานแรกที่เขาได้ทำกับพี่ชารีฟ คือการไปเปิดบูธขายหนังสือที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นช่วงก่อนการก่อตั้งสำนักพิมพ์ยิปซี ทว่าวันนั้นเองที่เป็นวันเปิดฉากเส้นทางนักขายหนังสือเสียงทรงพลัง ก่อนจะได้ร่วมเดินทางกับสำนักพิมพ์ยิปซีในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายอย่างยาวนานถึง 14 ปี
“ยุคนั้นเขาก็จะขายกันแบบเงียบๆ ทีนี้เราเคยขายเครื่องสำอางมาก่อน เราชอบพูด ชอบเชียร์ ก็เลยหยิบเก้าอี้มาตัวนึง แล้วขึ้นไปยืนพูด นักศึกษาก็เข้ามายืนออกันเต็มบูธ วันนั้นขายได้ 40,000-50,000 บาท ถึงขั้นว่าพี่ชารีฟต้องตีรถกลับจากพิษณุโลกมากรุงเทพฯ เพื่อขนหนังสือมาเติม”
แน่นอนว่าเมื่อสำนักพิมพ์ยิปซีก่อตั้งขึ้น พี่ป๊อปก็ต้องรับหน้าที่เป็นเชียร์รีดเดอร์ประจำบูธ ครั้งนั้นยิปซีรับหนังสือสำนักพิมพ์อื่นมาขายร่วมกันในบูธด้วย หนึ่งในนั้นคือบ็อกเซ็ตสีทองของ ‘สามก๊ก’ แม้พี่ป๊อปจะไม่เคยอ่าน แต่ด้วยความเป็นนักขายตัวจริง จึงมีนักอ่านพาบ็อกเซ็ตที่ว่ากลับบ้านไปกว่า 500 ชุด ถือเป็นการประเดิมการขายในงานหนังสือครั้งแรกที่ไม่เลวเลย
“ช่วงแรกๆ ก็มีคนไม่ชอบนะ เขาขายกันเงียบๆ ไอ้นี่เป็นใครมาทำเสียงดัง แต่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามีงานหนังสือก็ต้องมีพี่ป๊อป กลายเป็นมาสคอตของงานหนังสือและสำนักพิมพ์ยิปซีไปแล้ว”
พี่ป๊อปเล่าว่าแต่ก่อนเคยพูดขายหนังสือ 8 ชั่วโมงติดกัน ทว่าด้วยอายุจึงต้องปรับการพูดและวางแผนมากขึ้น โดยใช้การสังเกตช่วงเวลาที่คนมาเดินเยอะ ลิสต์รายชื่อหนังสือที่น่าเชียร์เตรียมไว้
“เป็นนักขายต้องมีแผน มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าจะออกรบก็ต้องมีศัตรูก่อนถึงค่อยชักดาบ แต่บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจ มาหาถึงบูธแล้วขอให้เราขึ้นพูดเดี๋ยวนั้นเลย แบบนี้ไม่ได้ ไม่ถนัด
“เราจะมีวินัยกับหน้าที่การขายหนังสือมากๆ อย่างงานหนังสือใหญ่ๆ แบบนี้ก็ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเพื่อมาเปิดบูธ มาจัดวางหนังสือ ดูว่าหนังสือเล่มไหนใกล้หมด ถ้าใกล้หมดก็ต้องเรียกมาเติม เด็กขายหนังสือของเราพร้อมมั้ย ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมและทันเวลาเปิดงาน ที่สำคัญคือต้องกินข้าวให้อิ่มแล้วเราค่อยขึ้นโฟน (พูดขาย)”
จากสายตาของคนเดินงาน อาจจะมองว่าพี่ป๊อปมีหน้าที่แค่พูดเชียร์หนังสือ แต่จริงๆ แล้วด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ทำให้พี่ป๊อปต้องเข้ามาดูภาพรวมของการขายหนังสือ รวมถึงการคัดเลือกและแนะนำน้องๆ ประจำบูธอีกด้วย
“ยิปซีมีหนังสือเยอะมาก เวลาขายเลยไม่สามารถเจาะลึกทีละเล่มได้ ส่วนใหญ่เราจะพูดเพื่อให้คนเดินผ่านไปผ่านมารู้จักว่ายิปซีคือสำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคกำเนิดอารยธรรมโลกมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดแต่ละเล่มก็ให้น้องๆ ในบูธช่วยกันขายต่อ ถ้าน้องคนไหนมีแววดี เราก็จะจ้างมาช่วยกันยาวๆ ใครที่ยังต้องฝึกปรือ ก็อาจจะเป็นมือปืนรับจ้าง เรียกมาช่วยเป็นงานๆ ไป”
แน่นอนว่ามาคุยกับพี่ป๊อปทั้งที ก็ต้องถามถึงหลักการขายประจำใจ ว่าทำยังไงถึงช่วยให้บูธยิปซีมีคนซื้อหนังสือคึกคักได้ตลอดงาน
“มีหลักการเบื้องต้นอยู่ 2-3 ข้อ หนึ่ง—เราต้องรู้จักหนังสือแต่ละเล่มแบบเบื้องต้น เราจะขายอะไรก็ต้องรู้จักสินค้า สอง—รู้จักลูกค้า สาม—รู้เทคนิคการขาย
“สมมติเราเห็นน้องๆ ผู้ชายเดินมา เราก็จะเชียร์สงครามโลก ถ้าเป็นน้องๆ ผู้หญิงก็จะเชียร์หนังสือที่เกี่ยวกับแม่มด ไสยเวทย์ ถ้าเด็กมหา’ลัยก็จะเชียร์เรื่องอียิปต์ ประวัติศาสตร์โลก มันก็เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา มองตาคนอ่านแล้วพอเดาได้ว่าน่าจะเชียร์หนังสือเล่มไหนดี
“ถ้าเรารักที่จะขายหนังสือก็ต้องรู้หนังสือ รู้คนอ่าน คือเราก็ไม่ถึงกับอ่านใจลูกค้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเดาถูก ถ้าเราพูดคำนี้ไปเสร็จแน่ เขาซื้อแน่ ยิ่งเวลาลูกค้ากำลังจะหยิบซื้อ ถ้าเล่มไหนมีคนหยิบอ่านอยู่ 2-3 คน ถ้าเราขึ้นพูดเชียร์ให้ 2-3 คนนี้ซื้อได้นะ เดี๋ยวมาอีกเป็นสิบเลย ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นอุปาทานหมู่ แต่เราไม่ได้หลอกขายนะ เพราะเรามั่นใจว่าหนังสือของเราดี ดังนั้นเราจึงเชียร์ได้เต็มที่ เราภูมิใจทุกเล่ม ซื้อเล่มไหนไปก็ได้ ดีแน่นอน”
คำถามที่เราคิดเสมอเมื่อได้ยินเสียงพี่ป๊อปคือ พี่ป๊อปเจ็บคอบ้างมั้ยนะ หรือมียาดีอะไรที่ทำให้ใช้เสียงได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงชุดทหารญี่ปุ่นที่เป็นซิกเนเจอร์ของพี่ป๊อปนั้นมีที่มาอย่างไร
“มันมาจากตอนที่ยิปซีเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับชุดยูนิฟอร์มทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเลยคิดว่าน่าจะหาชุดมาใส่เพื่อขายหนังสือ จริงๆ อยากใส่ชุดทหารอเมริกัน ทหารเยอรมัน แต่ไซส์เราไม่ได้ไง ใส่แล้วไม่เท่ (หัวเราะ) ก็เลยได้ชุดทหารญี่ปุ่นมา ใส่แล้วดูเหมาะกับเราดี ก็เลยกลายเป็นชุดประจำตัวไปเลย
“แล้วจริงๆ เราชอบซามูไร ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย นี่เราก็เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ ‘นักสะสมของญี่ปุ่นซามูไร’ มีสมาชิกอยู่ 6-7 พันคน ใครที่ชอบสะสมของญี่ปุ่นยุคโบราณก็จะชอบเอาของมาอวดกัน
“ส่วนการพูดขายของเราจะไม่ใช่การตะโกนนะ เราเป็นคนเสียงดังอยู่แล้ว แค่เปล่งเสียงให้ดังกว่าพูดปกตินิดหน่อย ใช้เสียงจากช่วงท้อง แต่ก็เหนื่อยเหมือนกัน พอเลิกงานก็พักผ่อน ดื่มเบียร์ลีโอสองขวดเบาๆ นอกนั้นก็มีน้องๆ ในทีมสรรหาจัดเตรียมพวกยาอม ยาพ่น น้ำร้อน เอ็มร้อยบ้าง ใบกระท่อมบ้าง (หัวเราะ) เพื่อรักษาเสียงของเรา”
ระหว่างพูดคุยกัน นักอ่านเริ่มมายืนเลือกหนังสือหน้าบูธยิปซีมากขึ้น ก่อนจะขึ้นแท่นเพื่อเชียร์หนังสือต่อ ซามูไรป๊อปทิ้งท้ายไว้สั้นๆ กับเราอีกว่า “ถ้าอยากเป็นนักขาย สิ่งสำคัญคือความรักในงาน ความมีวินัย ความรับผิดชอบ”
เราบอกลาพี่ป๊อป เดินออกมายืนอยู่หน้าบูธ พลางถ่ายรูปแอคชั่นการเชียร์หนังสือของพี่ป๊อป แต่ไม่รู้ทำไม อยู่ดีๆ เราก็เก็บกล้อง แล้วก็เดินเข้าไปชิดกับแผงหนังสือ หยิบหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ของยิปซีเปิดออกอ่าน สงสัยเพราะเสียงเชียร์ของซามูไรป๊อปแน่ๆ แบบนี้รีดเดอร์อย่างเราก็ต้องยอมศิโรราบ คว้าหนังสือดีๆ ของยิปซีติดมือกลับบ้านแต่โดยดี