ALIEN come in peace
คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ผู้เขียนหนังสือ ‘มนุษย์ต่างด้าว’ ที่มาพูดคุยแบบสันติ
เรื่อง: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
ภาพ: ภาพถ่ายจากทางบ้าน
“เดือนธันวาคมจะไปโซลอีกนะคะ”
นี่คือข้อความที่อาจารย์ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ส่งหาเรา หลังจากเคยเจอกันไปแล้วครั้งหนึ่งที่โซล ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเดือนสิงหาคม ครั้งนี้อาจารย์มาทำงานวิชาการ และเข้าวงการศัลยกรรมที่เกาหลี โดยรอบก่อนเราก็ได้สัมภาษณ์อาจารย์ถึงชีวิต ตั้งแต่การเรียน การเป็นทูต จนถึงผู้ลี้ภัย แต่ในรอบนี้อาจารย์ก็ถามเราอีกครั้งว่า มีอะไรอยากสัมภาษณ์อีกไหม
ตอนนั้นในหัวเราคิดถึงประเด็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในปี 2022 หรือการเลือกตั้งที่อาจจะมีในปีหน้า แต่ก็นึกได้ว่า อาจารย์ปวินเพิ่งเดบิวต์เป็นนักเขียนหนังสือไม่วิชาการกับ มนุษย์ต่างด้าว เรามาอย่างสันติ ผลงานที่ทำยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ และได้พิมพ์รอบที่ 2 ภายในเวลาไม่กี่เดือน
เราจึงถามอาจารย์ไปว่า “มาคุยกันเรื่องหนังสือเล่มใหม่ดีไหมคะ” ก่อนจะนัดแนะกันในร้านกาแฟย่านกังนัม ท่ามกลางบรรยากาศหิมะในกรุงโซลและอุณหภูมิเลขตัวเดียว
“ถ้าจะให้เขียน มันจะเป็นเรื่องชีวิตที่ผ่านมาของฉัน”
นอกจากจะเป็นเน็ตไอดอลประชาธิปไตย ตัวแม่ของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส และนักวิชาการรัฐศาสตร์ ในมุมหนึ่งอาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่มีผลงานหนังสือวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ อย่าง การทูตทักษิณ หรือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand
แต่ในปี 2022 ถือเป็นครั้งแรกที่อาจารย์ปวินเดบิวต์การเขียนหนังสือ Non-academic ซึ่งเขาบอกกับเราว่าตอนแรกนั้นไม่อยากเขียน
“ตอนแรกเรากลัว ไม่อยากเขียน เพราะมันมีคนเขียนงานวิชาการที่หันมาเขียนงานไม่วิชาการแล้วถูกโจมตี อีกอย่างการเขียนหนังสือวิชาการกับไม่วิชาการแตกต่างกันมาก การเขียนหนังสือวิชาการต้องใช้เวลานานในการวิจัย แต่พอเป็นหนังสือที่ไม่วิชาการแล้ว อย่างแรกที่แตกต่างคือสไตล์การเขียน เรากำลังเขียนให้กับผู้อ่านอีกกลุ่ม หมายถึงว่าภาษาที่ใช้ รวมถึงระดับความลึกของการเขียน มันไม่ต้องลึกขนาดงานวิชาการ เพราะมันเป็นเรื่องชวนหัว เราเลยกังวลถ้าจะต้องเปลี่ยนสไตล์การเขียน อีกประเด็นคือถ้าจะต้องเขียน เราจะเขียนเรื่องอะไร เพราะว่าเราก็ไม่ใช่นักเขียนนิยาย”
อาจารย์เล่าว่าคนที่มาชักชวนคือ ทอม—จักรกฤต โยมพยอม บรรณาธิการของสำนักพิมพ์อะโวคาโด ในตอนที่บังเอิญเจอกันที่สหรัฐอเมริกา
“เราบังเอิญเจอกันตอนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ทอมบอกว่ากำลังจะเปิดสำนักพิมพ์ อยากให้อาจารย์มาออกหนังสือ แล้วก็ถามว่ามีอะไรอยากเขียนไหม แต่เราบอกเลยว่าไม่เอา และไม่ได้คิดจริงจังกับมันเลย จนกระทั่งทอมเปิดสำนักพิมพ์แล้ว เขาก็กลับมาคุยกับเราอีกทีเมื่อต้นปี 2022 ว่าเขาซีเรียสนะที่เคยคุยกัน และเขาก็ขอสไกป์คุยกับเรา ซึ่งเป็นการคุยจริงจังว่าจะให้เราเขียนอะไร”
เพราะอาจารย์ปวินเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ บ.ก.จึงเสนอให้เขียนเล่าประสบการณ์การเดินทาง แต่อาจารย์มองว่าหนังสือแนวนี้มีเยอะแล้ว จึงบอกไปว่าถ้าจะเขียน เขาจะเขียนเรื่องชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง
“มันไม่ใช่อัตชีวประวัติด้วยนะ เพราะเราอยากหยิบช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์ น่าสนุก และคนอ่านน่าจะได้ประโยชน์ด้วย ทอมก็โอเค ก่อนจะบอกว่าต้องเขียนต้นฉบับให้เสร็จภายในเดือนไหน เพราะเขาอยากขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคม เราก็ตกใจ เพราะตอนนั้นที่เราคุยกับทอม คือเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทอมบอกให้ลองเขียนส่งมาเป็นบทๆ ก่อน จะได้ดูด้วยว่าโอเคหรือเปล่า”
แม้จะเป็นไทม์ไลน์ที่โหด ดุดัน ไม่เกรงใจใคร แต่เพราะงานที่ทำค้างไว้เสร็จพอดี อาจารย์ปวินจึงเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้แบบน็อนสต็อป ใช้เวลาเพียง 6-8 สัปดาห์เท่านั้น ก่อนจะส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ทั้งเล่ม กรรมการอึ้ง กองบรรณาธิการก็อึ้ง
“ตอนแรกเราอยากตั้งชื่อหนังสือว่า เปลือย คือเหมือนการเปลือยตัวเอง แล้วหน้าปกถ่ายเป็นรูปนอนแก้ผ้า เอามือกุมจุดนั้น แต่ก็ขอบคุณทางทีมอะโวคาโดบุ๊กส์ที่ช่วยตบตีไอเดียจนได้คอนเซ็ปต์ ‘มนุษย์ต่างด้าว’ มา
“เราต้องขอบคุณอาร์ตเวิร์กของ Shake & Bake Studio ด้วย เพราะพอเห็นคอนเซปต์ของการทำรูปเล่ม เราช็อกมาก มันตรงจริตกับเรามาก อันนี้เป็นความฉลาดมากๆ ของการออกแบบหน้าปก เพราะคนรู้จักปวินหมด เขาเลยไม่อยากขายหนังสือเพราะเป็นปวิน เขาอยากให้คนซื้อหนังสือโดยที่คนไม่รู้ว่าเป็นเรา เวอร์ชั่นแรกของหน้าปก เป็นใบหน้าที่ถูกลบหมดเลย เป็นแค่คำว่ามนุษย์ต่างด้าว และให้คนสงสัยว่า ‘ใครวะ’ เราก็ซื้อไอเดียเขานะ เราไม่อยากให้คนซื้อเพราะรู้ว่าปวินเป็นคนเขียน เราอยากให้มันเป็นหนังสือที่ลึกลับกว่านั้น ซื้อโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าปวินเขียน”
แม้ว่าตอนแรกจะมีความกลัวและไม่มั่นใจกับการออกหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อตีพิมพ์ก็ได้เสียงตอบรับที่ดี ระดับความนิยมได้รับการพิสูจน์จนได้ตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ทั้งยังติดอันดับขายดีในร้านหนังสือต่างๆ ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่าไม่คิดเลยว่าจะได้พิมพ์ครั้งที่ 2
“จริงๆ เราไม่ได้อยากจะอวยตัวเอง แต่เราไม่ใช่นักเขียนหนังสือหน้าใหม่ เพราะถ้าเป็นหน้าใหม่ หนังสือต้อง outstanding มากๆ ถึงจะขายได้ เราไม่ได้บอกว่าตัวเอง outstanding นะ แต่เพราะว่าคนรู้จักเราแล้ว การโปรโมตเลยไม่ได้ยากเท่าไหร่
“อย่างที่สองเราโชคดีตรงที่ว่า สถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยน ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน สำนักพิมพ์อะโวคาโดเจ๊งแน่ๆ เพราะคงพิมพ์หนังสือของเราไม่ได้ และนี่ก็มีเนื้อหาที่แตะการเมืองของผู้ลี้ภัยด้วย พอสถานการณ์เปลี่ยนไป เลยทำให้หนังสือขายได้ การประท้วงตั้งแต่ปี 2020 ทำให้เรากลายเป็นไอคอน เน็ตไอดอลสำหรับคนรุ่นใหม่ มีกลุ่มเซเลบที่หันมาเชียร์และให้กำลังใจเรา ซึ่งคนกลุ่มนี้ยินดีที่จะซื้อหนังสือเรา มันก็เป็นสูตรความสำเร็จ”
“เรากลายเป็นผู้ลี้ภัย เป็นคนที่ถูกทำให้กลายเป็นต่างด้าว”
แรกเริ่มทางสำนักพิมพ์ส่งชื่อหนังสือให้อาจารย์เลือกสองชื่อ เป็นชื่อที่คล้ายกัน แต่รายละเอียดที่ซ่อนในความหมายนั้นต่างกัน
สองชื่อที่ว่าคือ ‘มนุษย์ต่างดาว’ และ ‘มนุษย์ต่างด้าว’
“เราว่าคำว่า ‘มนุษย์ต่างด้าว’ มันตรงกว่า คือต่างดาวมันยังเป็น other planet แต่ต่างด้าวคืออยู่บนโลกเดียวกันก็จริง แต่มึงไม่ใช่พวกกู คำนี้ถูกตีความได้หลายอย่าง เพราะเรากลายเป็นผู้ลี้ภัย เป็นคนที่ถูกทำให้กลายเป็นต่างด้าว และยังมีความหมายในทางการเมืองด้วย เธอเป็นคนนอกตลอด ไม่ใช่ one of us ถูกทรีตเป็นศัตรูด้วยซ้ำ ทั้งยังมีกระบวนการที่เราถูกทำให้เป็นคนต่างด้าว เราไม่ได้อยากจะเป็น แต่เขาทำให้เราเป็น
“จริงๆ มนุษย์ต่างด้าวและมนุษย์ต่างดาวมันเป็นคำที่เป็นแง่ลบ อย่างบัตรประจำตัวที่ญี่ปุ่นของเราก็เขียนว่า ‘บัตร Alien Residence Card’ เหมือนเราเป็นมนุษย์ต่างดาวของประเทศอื่นๆ ดังนั้นเราเลยอยากให้พวกคุณได้มอง ‘คนที่ไม่ใช่พวกของคุณ’ ในแบบใหม่”
ชื่อหลักว่าเริ่ดแล้ว ชื่อรองที่ว่า ‘เรามาอย่างสันติ’ ก็ถือว่าถูกใจอาจารย์ปวินสุดๆ
“เพราะคนมี pre-perception กับปวินอยู่แล้ว คือไม่ชอบก็เกลียดไปเลย คนที่เกลียดอาจไม่รู้จักเราเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ชอบเราก็ไม่ยากหรอกที่จะทำให้เขาซื้อหนังสือ แต่คนที่เกลียด จะทำยังไงให้เขามาซื้อ นี่จึงเป็นการเชื้อเชิญว่า ฉันมาอย่างสันติ ไม่ได้ต้องการมาถกเถียงอะไรกับเธอ ให้โอกาสฉันสิ เริ่มจากการเปิดใจ สันติต่อกัน และเธอค่อยตัดสินฉันก็ได้”
ถ้าใครได้จับหนังสือแล้ว น่าจะเห็นว่าหนังสือ มนุษย์ต่างด้าว แบ่งออกเป็นสองพาร์ตที่เราจะเลือกอ่านพาร์ตไหนก่อนก็ได้ ซึ่งอาจารย์ปวินบอกว่านี่ก็เป็นไอเดียของสำนักพิมพ์อีกเช่นกัน
“พอเอาเรื่องมาปูวางทั้งหมด 20 บท เขาก็คิดว่าจะทำยังไงไม่ให้น่าเบื่อ เลยแบ่งเป็นพาร์ตแรกที่เล่าชีวิตเรา เติบโตมา เข้ากระทรวง จนถึงเป็นผู้ลี้ภัย แล้วหลังจากนั้นคือพาร์ตหลังเป็นผู้ลี้ภัยเราทำอะไรบ้างมันแบ่งชัดเจน โดยมีหมุดที่ปักไว้คือการเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปเลย ดังนั้นจะเลือกอ่านพาร์ตไหนก่อนก็ได้ จะเริ่มรู้จักปวินที่เป็นผู้ลี้ภัยกับการเดินทางก็ได้ ถ้าอยากรู้ต่อว่า แล้วปวินมีต้นกำเนิดจากไหนก็ค่อยอ่านอีกพาร์ตต่อ”
แม้จะมีสถานะผู้ลี้ภัย หรือที่อาจารย์ปวินเรียกตัวเองว่าเป็นคนต่างด้าว แต่ก็เป็นสถานะและช่วงเวลาที่เขาได้เดินทางเยอะมากๆ โดยเฉพาะในหนังสือเล่มนี้ที่โฟกัสการเดินทางในฐานะนักวิชาการ จนทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้วการเป็นผู้ลี้ภัยส่งผลกระทบต่อการเดินทางของมนุษย์ต่างด้าวคนนี้มากแค่ไหน
“ในช่วงแรกคือยากและมีผลกระทบมาก จริงๆ เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นหนังสืออีกเล่มได้นะ เขียนเรื่องความลำบากของการเป็นผู้ลี้ภัย แต่กรณีของเราจะมีความแปลกเรื่องเดียวคือ ปกติแล้วผู้ลี้ภัยไม่ควรเดินทาง เพราะการเดินทางเป็นอุปสรรคเรื่องความปลอดภัยแต่ของเรามีข้อยกเว้นเพราะงานและการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
“ที่บอกว่าแรกๆ มันยาก เพราะมีไม่กี่เคสที่ผู้ลี้ภัยจะเดินทางเยอะเท่าเรา เมื่อไปถึงประเทศปลายทาง ทันทีที่เขาเห็นหนังสือเดินทางของเราเป็นผู้ลี้ภัย มันมาพร้อมคำถามเลยว่า ‘ทำไมถึงเป็นผู้ลี้ภัย ’ แรกๆ เราตอบจนเหนื่อย ไม่มีใครมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องบวก ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เรายังถูกมองแง่ลบ และถูกตั้งแง่ว่าเราต้องทำความชั่ว ความเลว ถึงกลายเป็นผู้ลี้ภัย
“ช่วงแรกๆ หนังสือเดินทางของเรายังว่างเปล่าก็เลยโดนถามเยอะ ถามหน้า ต.ม.ก็ยังไม่พอ ต้องให้เราไปนั่งในห้อง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มมาถาม เป็นอย่างนี้หลายรอบ จนถึงจุดนึงที่เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ วันไหนไม่โดนเรียกไปที่ห้องถือว่าเป็นเรื่องแปลก แต่พอพาสปอร์ตเราเต็ม มันก็เริ่มง่ายขึ้น จนคำถามที่เคยมีต่อเราก็ค่อยๆ หายไป”
“การเดินทางทำให้ได้เห็นความแตกต่าง”
จากคนที่เดินทางไปมาแล้วมากมายหลายที่ทั่วโลก มีประเทศไหนที่อาจารย์ปวินประทับใจจนอยากกลับไปบ้าง คือคำถามที่เราสงสัย
“ที่เราเขียนลงในหนังสือทั้งหมดคือประเทศที่เราได้ Fellowship ถ้านับเฉพาะในหนังสือที่ประทับใจจริงๆ มีสองที่
“หนึ่งคือเบย์แอเรียที่ซานฟรานซิสโก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ชอบเพราะว่าตลอดเวลาสามเดือนที่ไปในฐานะนักวิชาการ สังคมรอบตัวบังคับให้เราไม่ได้อยู่แค่กับนักวิชาการ แต่เอาเราไปอยู่กับคนไอทีที่ทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ เรานั่งร้านกาแฟ ได้เจอคนที่ทำงานเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิล และพวกนี้เป็นซีอีโอของบริษัท คนที่เราเจอหรือออกเดตล้วนเป็นคนฉลาด การสนทนามันไม่น่าเบื่อ เขาพูดเรื่องเทคฯ เรื่องไอทีที่เราไม่รู้มาก่อน มันเป็นอะไรที่เราประทับใจ
“สองคือเคมบริดจ์ที่สหราชอาณาจักร มันดึงเราไปสู่โลกของยุโรปที่สูงมาก ทั้งตัวมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ และพิธีรีตองต่างๆ ทางหนึ่งมันก็เป็นอะไรที่น่าขำสำหรับยุโรปยุคกลาง และคนอย่างเราที่มักจะปฏิเสธพิธีการต่างๆ มันก็น่ารำคาญที่ต้องไปอยู่ในพิธีการแบบนั้น จะกินข้าวเย็นก็ต้องใส่สูท แต่อีกทาง เราว่ามันก็เป็นพิธีกรรมที่น่าสนใจ เราอาจจะรำคาญพิธีกรรม แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ และถ้าเราปฏิเสธประวัติศาสตร์ เราก็เป็นคนโง่ ดังนั้นมันก็ให้อะไรทั้งแง่บวกและแง่ลบ มันอาจจะทำให้เรารู้สึกรุ่มร่าม ไม่ทันโลก แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก”
เป็นที่รู้ๆ กันว่า แม้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว ก็ยังคงมีปัญหาการเมืองภายใน แต่เมื่อเราถามอาจารย์ว่าแล้วประเทศไหน ที่เขามองว่าเป็นต้นแบบทางการเมืองที่ดีที่สุด เขาก็เลือกอังกฤษอีกเช่นกัน
“คือเราคุ้นเคยกับอังกฤษ เพราะทั้งเรียนจบจากที่นั่นและไปทำวิจัย มันก็ถูกที่ไม่ได้มีประเทศไหนเพอร์เฟกต์ อังกฤษก็ถูกรุมกระทืบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะ Brexit หรือการตายของควีน สำหรับหลายคนอาจจะเป็นโมเมนต์ที่สงบนิ่ง ระลึกถึงผู้ตาย แต่คนที่เคยอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษก็ลุกขึ้นมาบอกว่ามันต้องมีการพูดถึงเกี่ยวกับราชวงศ์ และการทำชั่วร้ายในช่วงอาณานิคม มันก็ไม่เพอร์เฟกต์หรอก แต่อย่างน้อยเราคิดว่า หนึ่ง—มันเป็นระบบเปิดกว้าง สอง—มันเป็นระบบที่ประชาชนเข้าถึง เป็นระบบที่เอาประชาชนไว้เป็นศูนย์กลาง และที่เราเลือกอังกฤษในกรณีนี้ก็เพราะเขามีสถาบันกษัตริย์ และสถาบันก็โปร่งใส อย่างชาร์ลส์เดินออกมา มีคนตะโกนด่า โดนปาไข่ก็มี และไม่มีใครต้องติดคุก 80 ปี ทำไมเราสร้างสังคมแบบนั้นไม่ได้ อันนี้มันทำให้เราชื่นชอบ”
อาจารย์ปวินยังคุยกับเราอีกว่า การไปในฐานะอาจารย์ทำให้เขาได้เห็นความแตกต่างในระบบการศึกษาของต่างประเทศกับไทย
“พออยู่เมืองนอก เราได้เห็นฟ้ากับเหวในหลายๆ อย่าง เรื่องการเรียนการสอน เนื้อหาวิชา บทบาทอาจารย์ หรือแม้แต่งานบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย
“แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือการเรียนการสอน เราคิดว่ามีคนพูดไปเยอะแล้ว อย่างเรื่อง critical mind, critical thinking, self-criticism อะไรพวกนี้ แม้ว่าไอเดียนั้นจะเป็นไอเดียดั้งเดิมที่คนนับถือมาก็ต้องกล้าที่จะท้าทาย แต่ไม่ใช่แค่นั้น ยูต้องมีแนวคิดที่จะบอกด้วยว่าทำไมถึงคิดต่าง ต้องบอกได้ว่าเพราะอะไรถึงไม่เอา มีอะไรที่จะสนับสนุนความคิดนี้ ถ้าเรามีสิ่งนี้ มันจะนำไปสู่อะไรอีกมากมาย ถ้านักเรียนรู้ว่ากำลังพูดอะไร กล้าที่จะคิดออกนอบกรอบก็จะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่สำคัญมาก และเป็นทรัพย์สินของคนในโลกยุคปัจจุบัน
“อาจเพราะเรามีความครึ่งบกครึ่งน้ำในแง่ที่ว่าจบตรีจากไทย และไปจบโท-เอกที่เมืองนอก เรารู้ว่าที่เรียนไปมันไม่พอ มันไม่ใช่ และเรากำลังเปลี่ยนจากระบบเก่าในไทยไประบบต่างประเทศ มันลำบากมากในแง่ที่เราต้องท้าทายตัวเอง เพราะมันเป็นระบบความคิดแบบใหม่ หรือแม้แต่เรื่องภาษาก็ท้าทาย แต่เราพูดถึงการปรับตัวเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันอาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะตอนนี้โลกอินเทอร์เน็ตทำให้เด็กไทยไปไกลกว่ารุ่นเรา อาจจะยังไม่เหมือนระบบของต่างชาติ แต่คิดว่าเด็กๆ มีพื้นฐานภาษาอังกฤษพอสมควร
“แต่ที่เราดีใจคือ มันเริ่มมีคนอย่างเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ขึ้นมา เราเลยมีหวัง ไม่ท้อใจ ถ้ามันไม่มีเสียงตั้งคำถามขึ้นมาเลย มันก็น่าท้อ และเรารู้ว่ามันไม่ได้มีแค่เด็กจุฬาฯ อย่างเดียว มันเริ่มมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ตั้งคำถาม เช่น การคิดว่า ‘ทำไมต้องรับปริญญา’ ซึ่งรุ่นเราไม่มีเลย
“อย่างก่อนหน้านี้ ในปี 2021 มหาวิทยาสงขลานครินทร์เชิญเราไปบรรยายออนไลน์ กลายเป็นว่าอาจารย์ที่เชิญเราก็ออกข่าวหนังสือพิมพ์ กลายเป็นเรื่องใหญ่ มันถอยหลังขนาดที่ว่าการเชิญวิทยากรแบบเราก็ห้ามทำ ไม่รู้คิดได้ยังไง นี่คือความกะโหลกกะลาของผู้ใหญ่ไทย แต่นับตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี 2020 เป็นต้นมา กระแสก็ดีขึ้น ตอนนี้ธรรมศาสตร์ก็เชิญเราไป และกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาไปในทางที่ดี”
“ชีวิตเราก็มีหลายมุมมอง ไม่ได้มีการเมืองอย่างเดียว”
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นการฟาดฟันฝีปากกับคนที่เห็นต่างในเฟซบุ๊กของอาจารย์ปวิน หรือในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส เ แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าในชีวิตของอาจารย์ปวินจะไม่มีเพื่อนที่เห็นต่างทางการเมืองเลย และหนึ่งในคนที่ถูกเมนชั่นถึงในหนังสือคือ เจ—เจตริน วรรธนะสิน ผู้เป็นที่รู้ๆ กันว่ามีขั้วและมุมมองทางการเมืองแตกต่างจากอาจารย์ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นเพื่อนกันได้
“ตอนเราเป็นเพื่อนนักเรียนกับเจ เราสนิทกับเขาจริงๆ แต่ก็เหตุผลเรื่องการเมืองกับการที่เราไม่ได้อยู่ไทย เลยเป็นไปไม่ได้ที่จะสนิทกันเหมือนเดิม แต่เราคิดว่าถ้าไม่ได้ออกมาด่าเรื่องการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตาย เราคิดว่าอยู่กับคนพวกนี้ได้ และไม่ได้เป็นการพูดแบบเดินบนทุ่งลาเวนเดอร์นะว่าลืมการเมืองเถอะ เราเป็นเพื่อนกัน แต่ในบางความสัมพันธ์ กับคนบางคน มันเป็นไปได้จริงๆ ทำไมล่ะ ถ้าคิดไม่ตรงกัน เราต้องไปทำสงครามกับเขาทุกคนเหรอ ยกเว้นแต่ว่าเราต้องดีเบตกันเรื่องอุดมการณ์ อันนั้นเราไม่ยอม
“มีเพื่อนกรุงเทพคริสเตียนขึ้นเวที กปปส. เราก็ไม่ยอมนะ แต่เวลาเจอกัน คุยกัน เขาไม่ด่าเราเรื่องการเมือง เราคุยเรื่องทั่วๆ ไป ชีวิตเรามันก็มีหลายมุมมอง ไม่ได้มีการเมืองอย่างเดียว แล้วทำไมเราถึงจะชื่นชมสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมืองไม่ได้ สำหรับเจ เราก็ยังคงพูดคุยกันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แม้ไม่ได้บ่อยและยาว แต่ก็ยังมีความรู้สึกของคนที่ไม่ได้เกลียดกันและยังเป็นเพื่อนกัน
“มาถึงเรื่องหนังสือ มันก็ต้องมีการขออนุญาต ทั้งเรื่องรูปและการพูดถึงเขา เราก็ทักไปหาเจว่ากำลังจะเขียนหนังสือ มีพาร์ตที่พูดถึงยูกับเมียยูนะ นางก็บอกว่าโอเค แล้วยังส่งรูปมาให้เราด้วย ในหนังสือจะมีรูปที่อภินันทนาการจากเจ เจตริน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็รู้สึกได้ว่าเขาระวังตัว ซึ่งเราเข้าใจ ถ้าเขามูฟไปมากกว่านี้ หรือสนิทกับเรามากกว่านี้ เขาอาจจะถูกฝั่งนู้นโจมตี การแสดงออกแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เขาไม่เสียหาย ดังนั้นเราคุยกันหลังไมค์ก็พอ
“ก็เหมือนกับหนังสือเล่มนี้ ชีวิตมันมีมุมมองมากกว่าการเมือง เราอาจจะไม่ใช่บุคคลสำคัญ แต่เราคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์หลายอย่างที่มากกว่าคนอื่น อย่างการผจญภัย การต้องหนีตายจากสถานทูต หรือการได้ไปพบบุคคลสำคัญอย่าง โนม ชอมสกี (Noam Chomski) เราแบ่งปันเรื่องที่อาจจะไม่ต้องเป็นการเมืองแบบนี้ก็ได้”
อาจารย์ปวินได้เขียนไว้ในตอนแรกเลยว่า เป้าหมายการเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่มีจุดประสงค์อะไรมากกว่าแบ่งปันเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต
“และถ้ามีคนอ่านหนังสือเล่มนี้ และคิดว่าปวินไม่ใช่อย่างที่เห็นในโซเชียลฯ อย่างเดียว ก็คิดว่าเราประสบความสำเร็จที่ทำให้คนเห็นว่าเรามีอะไรมากกว่านั้น และเราก็มีอย่างอื่นในชีวิต แต่แค่ไม่เคยมีใครมานั่งคุยกับเรา ในคลับเฮาส์อาจจะมีคนเคยได้ฟังมาบ้างว่าจริงๆ เราก็คือคนธรรมดา เพียงแต่เราก็มีจุดยืนของเราในบางเรื่อง อย่างอุดมการณ์ที่เรายอมไม่ได้ เราก็สู้ ดังนั้นถ้าคนอ่านเราตรงนี้ออก เราถือว่าประสบความสำเร็จ”
อย่างที่อาจารย์เล่าไปข้างต้นว่า กลุ่มเป้าหมายที่หนังสือเล่มนี้อยากสื่อสาร นอกจากแฟนคลับแล้ว ก็ยังรวมถึงคนที่อาจจะไม่ได้ชอบเขาด้วย อย่างน้อยก็อยากทำให้เห็นว่า ผู้ลี้ภัยจากคดีมาตรา 112 ก็มีชีวิตในมุมอื่นๆ มากกว่าเรื่องการเมือง ซึ่งอาจารย์ยังได้ต่อยอดไปสู่การทำช่องยูทูบ @PAVINofficial ที่มีจุดหมายคือการทำให้ตัวตนของปวินกลายเป็นเรื่องปกติที่พูดได้ในสังคม
“อันนี้สำคัญมาก แฟนคลับซื้อหนังสือเรา เราก็แฮปปี้ แต่จุดมุ่งหมายหนึ่งคืออยากให้คนที่ไม่รู้จักเราได้ลองอ่านนิดนึง ถ้าอ่านแล้วยังเกลียดกันก็แล้วแต่ แต่เราก็หวังว่า ถ้าอ่านด้วยใจเป็นกลางว่า จริงๆ เราก็คือคนที่ถูกระบบคุกคามนะ เราหวังแค่นี้ มันถึงเป็นคอนเซปต์หนังสือว่า ‘เรามาอย่างสันติ’
“การทำให้ตัวตนของปวินถูก normalize ในสังคมหมายถึงทำให้คนที่ไม่ชอบเรามาดูสิ่งที่เราทำ เพื่อว่าในที่สุดเราจะสามารถชักชวนคนเหล่านี้ให้เชื่อเราในเรื่องอื่นๆ เพราะฉะนั้น ในช่องยูทูบเราไม่มีการเมืองเลย เราต้องการให้ช่องของเราเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ปวินก็มีมุมมองอื่นๆ ในชีวิต ลองดูไหม เพราะถ้าคนตามมีแต่แฟนคลับ เราเฉยๆ ไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ ถ้ามีสลิ่มมาตาม อยากดูช่องเรา อย่างน้อยการที่เขายอมรับว่าเราเป็นคนธรรมดาคนนึง เราถือว่าประสบความสำเร็จ”
“อย่างที่บอกนะ หนังสือได้พิมพ์ครั้งที่ 2 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่การจะทำให้ความสำเร็จอยู่กับเรานี่สิ จริงๆ เราพยายามโปรโมตโดยการส่งหนังสือให้เซเลบ และพยายามส่งให้กับฝั่งตรงข้าม เช่น เราคุยหลังไมค์กับคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ) ว่าอยากส่งหนังสือไปให้ เขาก็ยินดีรับหนังสือ ดังนั้นการพิมพ์รอบสองเราก็อยากหนังสือไปถึงคนกลุ่มนี้ ถ้าเรารู้ว่าเขาเอาหนังสือไปอ่านจริงๆ เราก็แฮปปี้”
“เราอยู่เมืองนอกมานานจนเลยจุดที่คิดว่า การกลับบ้านมันเป็นนิพพาน”
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อนักเขียนออกหนังสือใหม่ ก็จะมีโอกาสไปพบปะนักอ่านและแจกลายเซ็นที่งานสัปดาห์หนังสือ
แต่สำหรับอาจารย์ปวิน เป็นที่รู้กันตั้งแต่ก่อนงานสัปดาห์หนังสือจะเริ่มว่า เขาไม่สามารถกลับไปร่วมแจกลายเซ็นได้เหมือนนักเขียนคนอื่นๆ
“เสียดายที่ไม่ได้ไปเซ็นหนังสือ เสียดายที่ไม่ได้กลับเมืองไทย เราก็ทำเท่าที่ทำได้ ต้องขอบคุณหลังไมค์ที่ทักเข้ามาเยอะมาก บ้างก็ทักมาว่า ได้หนังสือมาแล้ว อยากให้อาจารย์เซ็นจะได้ไหม หรือว่าหนูอยู่ไกลมาก อยู่ประเทศนี้ๆ แต่อยากได้หนังสือ ทำยังไงดี เราแฮปปี้นะ และเราพยายามจะตอบเท่าที่เราทำได้ ส่วนรีวิว เราก็เข้าไปอ่านบ้าง หรือบางอันทางอะโวคาโดก็ส่งมาให้ 90% มันเป็นไปในแง่บวก แต่มันก็มีสลิ่มเลวๆ อยู่บ้างที่บอกว่าซื้อมาเช็ดตูด แต่ส่วนมากคือแง่บวก”
เมื่อพูดถึงรีวิวหนังสือ เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงรีวิวหนึ่งที่เราเห็นผ่านตาว่า เมื่ออ่านหนังสือ มนุษย์ต่างด้าว จบแล้ว เกิดความรู้สึกเสียดายที่ประเทศนี้มองคนเห็นต่างเป็นคนต่างด้าว แม้จะมีความสามารถแค่ไหนก็ตาม
“เราก็ขอขอบคุณ เพราะคอมเมนต์แบบนี้เป็นไปในทางบวก เป็นคอมเมนต์ที่มาจากคนที่รักและมีความเห็นใจให้เรา แต่นอกจากคำขอบคุณ จริงๆ แล้วเราไม่มีตัวเลือกอื่น เราต้องมูฟออน แต่การมูฟออนของเรา เราแฮปปี้ ไม่ใช่มูฟออนแล้วร้องไห้ว่ากลับบ้านไม่ได้ เราอยู่เมืองนอกมานานจนเลยจุดที่คิดว่า การกลับบ้านมันเป็นนิพพาน ได้กลับก็ดี และเราคิดว่าเราก็ควรจะต้องได้กลับ เพราะนั่นเป็นสิทธิความชอบธรรมของเรา แต่ถามว่าถึงได้กลับแล้ว จะไปตั้งตัวที่ไทยไหม ก็ไม่ เราจะตอบแบบเดิมทุกอย่าง ไม่ได้ตอบแบบขมขื่นด้วย เพราะชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ”
ถึงอาจารย์จะบอกว่าเขาอยู่เมืองนอกมานาน ไม่มีแผนที่จะกลับไปตั้งตัวที่ไทย แต่ในอนาคตเขาก็ยังคงมีแผนที่จะเคลื่อนไหวในประเด็นผู้ลี้ภัย และมาตรา 112 อย่างแน่นอน รวมถึงงานเขียนหนังสือไม่วิชาการเล่มต่อไปก็ได้วางแผนแล้วเช่นกัน
“เราเริ่มเบื่องานวิชาการนิดๆ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็กำลังจะมีหนังสือวิชาการเล่มใหม่เป็นภาษาอังกฤษออกมาในอีกไม่กี่เดือน งานวิชาการเป็นงานมั่นคง แต่เราไม่แน่ใจว่าอนาคตจะยังอยากเป็นนักวิชาการอยู่ไหม อาจจะต้องถามกับตัวเองหนักๆ ในช่วง 3-4 ปีหน้าว่าจะเอายังไง จะออกจากการเป็นนักวิชาการ มาเป็นนักกิจกรรมเต็มตัว ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ หรืออาจจะทำงานวิชาการน้อยๆ และเพิ่มงานนักกิจกรรม ด้วยความที่เรากลัวว่าถ้าเราไม่ทำงานวิชาการเลยก็อาจจะเซ็ง แต่ว่าตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้
“ส่วนแผนการเป็นนักเขียน ด้วยความที่เล่มแรกประสบความสำเร็จมาก เราก็มีแผนจะออกหนังสือไม่วิชาการเล่มต่อไป แต่อาจจะใช้เวลาหน่อย หลังจากนี้สัก 2 ปี ไม่ใช่ภายในปีนี้ เพราะเดี๋ยวคนจะคิดว่าปวินออกบ่อยไป แต่เราพอมีแผนการเขียนหนังสือภาษาไทย และเริ่มคิดๆ เรื่องไว้แล้ว”
คุยกันเรื่องชีวิต เรื่องการเดบิวต์เป็นนักเขียนหนังสือไม่วิชาการไปแล้ว เราก็อยากรู้ในส่วนของการเป็นนักอ่านบ้างว่าช่วงนี้อาจารย์อ่านหนังสือเล่มไหนอยู่ และมีเล่มไหนที่อยากแนะนำให้นักอ่านคนอื่นๆ กันบ้าง ซึ่งเขาก็ได้หยิบยกลิสต์มาให้เราทั้งหมด 4 เล่ม โดยมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มีทั้งแนววิชาการและฟิกชั่น
“ในฐานะนักวิชาการ เมนหลักของการอ่านคือหนังสือวิชาการ หนังสือ 80-90% เป็นหนังสือวิชาการหนักๆ และเป็นวิชาการในแนวของเรา แต่นอกเวลางาน เราก็อ่านหนังสือฟิกชั่นทั่วๆ ไป บางทีอาจจะเป็นกึ่งเรื่องซีเรียส ลี้ลับบ้าง
“เล่มแรกเป็นหนังสือวิชาการ From Tribalism to Nationalism เป็นการมองเกี่ยวกับการทำวิจัยในภาคมานุษยวิทยาของลาว เราแนะนำเพราะว่ามันเป็นประเทศใกล้บ้าน และมีความคล้ายคลึงกับบ้านเราค่อนข้างมาก นอกจากจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสังคมวิทยามนุษยวิทยาแล้ว สำหรับคนที่สนใจหรือเป็นนักวิชาการที่อยากเข้าไปทำวิจัย หนังสือเล่มนี้สอนวิธีทำวิจัย แล้วสอนวิธีที่ดีมาก ถือเป็นหนังสือวิชาการเล่มเดียวที่เราจะแนะนำ
“เล่มต่อมาเป็นเล่มที่เราเขียนคำนิยม คือ Mob Type ของ ประชาธิปไทป์ ที่อยากแนะนำเพราะว่ามันไม่ใช่การเมืองจ๋า ด้วยชื่อหนังสือก็เป็นการบอกแล้วว่าเป็นการอ่านการเมืองโดยอ่านจากฟอนต์ ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก และที่เราตัดสินใจเขียนคำนิยมให้ทั้งๆ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบศิลปะ ก็เพราะว่าเราพยายามเขียนจากมุมมองของเราว่าตัวหนังสือแต่ละแบบมีความหมายทางการเมือง และมันสื่อสารทางการเมืองกับเรา มันจะสื่อสารแบบไหนอีกเรื่องนึง ไม่ใช่แค่การอยู่ๆ ก็หยิบมาและก็ใช้ มันมีจุดมุ่งหมายของมัน และที่มันสำคัญมากในไทย เพราะว่าการแสดงออกทางการเมืองในไทยนั้นถูกจำกัด โดยเฉพาะถ้าการแสดงออกของคุณเป็นการแสดงออกอย่างการต่อต้านด้านระบอบ แต่คุณจะจำกัดการนำเสนอตัวหนังสือยังไงและเราว่าอันนี้เป็นการประท้วงแบบเงียบ
อาจารย์ปวินแนะนำต่อว่า หนังสือทั่วๆ ไปที่เขาอ่านและอยากแนะนำในครั้งนี้ คือหนังสือที่เพิ่งออกปี 2022 ที่เกี่ยวกับประเด็นสังคมอย่าง Black Live Matter หรือการเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกา อย่าง Under the Skin: The Hidden Toll of Racism on American Lives and On the Health of Our Nation (Linda Villarosa เขียน)
“มันโฟกัสกับชุมชนคนผิวดำในอเมริกาโดยเฉพาะ อาจจะฟังเหมือนการเมือง แต่เวลาอ่านไปมันไม่การเมืองขนาดนั้น”
วิชาการแล้ว การเมืองแล้ว ประเด็นสังคมก็แล้ว เล่มสุดท้ายอาจารย์เลยแนะนำหนังสือฟิกชั่น ที่ก็ยังคงมีประเด็นอย่างการเหยียดเชื้อชาติและเพศด้วย อย่าง Siren Queen (Nghi Vo เขียน)
“เล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ต้องการเจาะเข้าไปสู่ฮอลลีวูด ปกติมันยากอยู่แล้ว แต่มันจะยากกว่าเดิมถ้าคุณเป็นคนเอเชีย นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเป็นชาวอเมริกัน-จีนที่ต้องการเป็นดาราฮอลลีวูดในยุคประมาณปี 1930 ซึ่งมันก็กลับเป็นเรื่อง Racism อีกว่าต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเพื่อได้การยอมรับ และฮอลลีวูดมันโหด ที่เด็ดกว่านั้นคือผู้หญิงคนนี้เป็น LGBTQ+ ด้วย และต้องทนเข้าไปในระบบมาเฟียของฮอลลีวูดที่คนใช้คุณเป็น sex object โดยเฉพาะพวกผู้ชาย ซึ่งมันฝืนคุณทั้งในแง่ความเป็นมนุษย์และในแง่เพศของคุณ เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก”