Wed 15 Feb 2023

IT’S A MATCH! VER. WRITER

จับคู่ 5 นักเขียนไทย ❤️ 5 นักเขียนเทศ

ภาพ: ms.midsummer

     วาเลนไทน์แบบนี้ ถ้าไม่มีคอนเทนต์จับคู่คงไม่ได้

     หลังจับคู่นิยายและคู่น็อนฟิกชั่นกันไปรอบก่อน ครั้งนี้เรากลับมาพร้อมคู่นักเขียนไทยและต่างประเทศ ที่แม้จะต่างกันในด้านภาษา แต่ด้านอารมณ์และเนื้อหากลับถอดแบบมาเหมือนนั่งเขียนอยู่ข้างๆ กัน

     ใครเคยอ่านงานนักเขียนไทยแล้วอยากย้ายไปลองชิมงานอิมพอร์ต หรือใครถนัดสายหนังสือนอกแล้วอยากลองกลับมาอ่านงานโอท็อปบ้านเราก็ขอเรียนเชิญทางนี้ เพราะเรามีถึง 5 แพ็กคู่มาให้เลือกสรร

จิราภรณ์ วิหวา × Banana Yoshimoto 
เธอคนนั้น คือฉันสาขาห้องครัว

     ‘บานานา โยชิโมโตะ’ (Banana Yoshimoto) คือนามปากกาของ ‘มาโฮโกะ โยชิโมโตะ’ นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้เริ่มต้นเขียนนิยายในเวลาว่างจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟ ก่อนจะออกมาเป็น Kitchen นิยายเล่มแรกที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1988 และส่งผลให้ชื่อของบานานากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

     เรื่องราวของ ‘มิคาเงะ’ หญิงสาวผู้สูญเสียคนในครอบครัวไปหมด จนต้องอาศัยอยู่คนเดียว วันดีคืนดี ‘ยูอิจิ’ ชายหนุ่มที่เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยมาชวนให้เธอไปอยู่ด้วย ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดให้มิคาเงะยอมตกลงคือ ‘ห้องครัว’ นิยายเรื่องนี้จึงเป็นการเล่าถึงอาหาร บรรยากาศห้องครัว การถ่ายทอดความรู้สึกเดียวดาย เปลี่ยวเหงา เศร้า และอบอุ่นหัวใจ

     หากแดนอาทิตย์อุทัยมีบานานา สยามประเทศก็มี ‘เต้—จิราภรณ์ วิหวา’ นักเขียนอารมณ์ดีที่ว่ากันว่ามีฝีมือทำอาหารที่ดีไม่แพ้กัน

     จิราภรณ์เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร a day และเผชิญกับภาวะเศร้าจนส่งผลกับร่างกาย นอกจากการไปพบหมอเพื่อรับยามากิน เธอก็ลุกมาลองเขียนเรื่องสั้นเพื่อบำบัดตัวเองไปด้วย ‘ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ’ คือผลงานเขียนเล่มแรกของจิราภรณ์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยตัวละครเพี้ยนๆ บอกเล่าถึงการพยายามมีชีวิตต่อไป 

     ด้วยนิสัยชอบทำอาหารและชอบหาร้านอร่อย ทำให้จิราภรณ์เขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารออกมาอีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น เขตการปกครองมายองเนส รวมเรื่องสั้นที่ผสมผสานกับอาหารหลากหลายชนิด ออกมาเป็น 8 เรื่องราวสุขคลุกเศร้าที่อ่านแล้วอร่อยตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ บำเพ็ญตะกละ ความเรียงเกี่ยวกับอาหารในความทรงจำของจิราภรณ์ที่มาพร้อมกับการแนะนำร้านอร่อย ซึ่งอ่านแล้วทำให้อยากเข้าครัวไปหาอะไรกินทันที

ภาคินัย ×  Shirley Jackson
เธอคนนั้น คือฉันสาขาโกธิก

     ถึงแม้นามปากกา ‘ภาคินัย’ จะถูกจำในภาพนักเขียนนิยายสยองขวัญขนหัวลุก แต่แท้จริง ‘แอมป์–ภาคินัย กสิรักษ์’ กลับเริ่มต้นการเป็นนักเขียนด้วยการเขียนกลอนรักใสวัยรุ่น (ห๊าาาาาาา) แต่ด้วยพื้นฐานที่ชอบดูหนังสยองขวัญและฟังเรื่องผีเป็นทุนเดิม ทำให้เขาปิ๊งไอเดีย นางชฎา นวนิยายสยองขวัญเล่มแรก (และเล่มแจ้งเกิด) ขึ้นมาในปี 2008 และเริ่มเขียนแนวสยองขวัญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     แต่ถ้าพูดถึงผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของภาคินัย คงต้องยกให้ชุด ‘7 วันจองเวร’ นิยาย 7 เล่มของคนมีเซนส์ 7 วัน ที่โด่งดังจนถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์เมื่อต้นปี 2015 นอกจากนี้ยังมี Bunraku บันรากุ…หน้ากากฆาตกรรม, Lift ลิฟต์ซ่อนศพ และ Dreamland สวนสนุก…แดนนรก ที่ขึ้นแท่นเป็นเล่มฮิตไม่แพ้กัน

     ถ้าคนไทยมีภาคินัย วัยรุ่นเมกันก็มี ‘เชอร์ลีย์ แจ็กสัน’ (Shirley Jackson) เป็นตัว mom เรื่องผี

     แจ็กสันใช้ชีวิตการเป็นนักเขียนควบคู่กับการเป็นแม่ของลูกสี่คน ผลงานในช่วงแรกของเธอจึงเป็นประเภทเรื่องสั้นเสียส่วนใหญ่ ก่อนที่ The Lottery เรื่องสั้นเกี่ยวกับพิธีจับสลากหาแพะรับบาปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งจะทำให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

     11 ปีต่อมา แจ็กสันจึงได้ตีพิมพ์ The Haunting of Hill House ผลงานสยองขวัญที่โด่งดังที่สุดของเธอ ถึงขั้นได้รับการยกย่องจาก ‘สตีเวน คิง’ (Stephen King) ว่าเป็นฝีมือการเขียนระดับอัจฉริยะ ด้วยการเล่าความหลอนของวิญญาณร้ายที่สิงสู่อยู่ในบ้าน และคนแปลกหน้าสี่คนที่มารวมตัวกันเพื่อพิสูจน์ความเฮี้ยน

     รู้จักแจ็กสันและต้นตำรับบ้านผีสิงของเธอเพิ่มเติมได้ที่นี่

ปราปต์ × Dan Brown
เธอคนนั้น คือฉันสาขาไขปริศนา

     สำหรับใครที่เป็นคอนิยายสืบสวน เชื่อว่าต้องรู้จักชื่อของ ‘โรเบิร์ต แลงดอน’ ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เข้าไปพัวพันกับคดีลึกลับมากมาย ตัวละครหลักจากนิยายขายดีของ ‘แดน บราวน์’ (Dan Brown) แน่นอน

     บราวน์เริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ก่อนจะผันตัวไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จากนั้นได้อ่านหนังสือเรื่อง The Doomsday Conspiracy (โดย Sidney Sheldon) ผลงานที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มจับปากกาเขียนนิยายเป็นครั้งแรก 

     บราวน์ถนัดเขียนเรื่องราวทริลเลอร์และสืบสวนที่เชื่อมโยงกับทฤษฎีสมคบคิด ซึ่ง The Da Vinci Code คือผลงานลำดับที่ 3 ที่ส่งให้บราวน์กลายเป็นนักเขียนระดับโลก ว่าด้วยเรื่องของการไขคดีฆาตกรรมภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณธ์ลูฟวร์ อันเป็นเบาะแสแรกที่นำไปสู่เบื้องลึกของประวัติศาสนาคริสต์ และปริศนาของจอกศักดิ์สิทธิ์ 

     หากใครติดใจงานแนวสืบสวนระทึกขวัญของบราวน์ ด้านไทยเราก็มีของดีโอท็อปไม่แพ้กัน กาหลมหรทึก นิยายที่เล่าถึงคดีฆาตกรรมสุดซับซ้อนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีกลโคลงเป็นกุญแจไขปริศนา

     ผลงานการเขียนของ ‘ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์’ เจ้าของนามปากกา ‘ปราปต์’ ผู้เริ่มต้นเส้นทางน้ำหมึกจากการเป็นนักเขียนออนไลน์ของเว็บไซต์ Dek-D และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจาก กาหลมหรทึก นวนิยายยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดที่กรรมการ (อึ้ง) ลงมติเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ อย่างไรก็ตาม ปราปต์ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่แนวสืบสวนอย่างเดียว เขามีงานเขียนหลายแนวตั้งแต่เรื่องผี ตลก ดราม่า ไปจนถึงนิยายวาย

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ × John Steinbeck
เธอคนนั้น คือฉันสาขาชัยนาท

     ก่อน ‘’รงค์ วงษ์สวรรค์’ จะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2538 เขาเคยผ่านมาแล้วทั้งการเป็นช่างภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ และบทบาทนักแสดงสมทบในหนังเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย เวอร์ชั่นกำกับโดย ‘ครูมารุต’

     ‘รงค์เกิดที่จังหวัดชัยนาทในครอบครัวเกษตกร เริ่มต้นการเขียนลงจุลสารของโรงเรียนเมื่อสมัยมัธยมปลาย ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ผลงานของเขา เช่น ใต้ถุนป่าคอนกรีต, เสเพลบอยชาวไร่, หลงกลิ่นกัญชา และ บางลำพูสแควร์ มักเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ร่ำความงามของชีวิตเสรี สุรา บุปผา กามารมณ์ และเสียดสีสังคมไปพร้อมกัน แถมยังมีลีลาการเขียนที่แปลกใหม่ ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า เขาเป็นเจ้าของสำนวนสะวิง

     ถ้าบางลำพูมี ‘รงค์ เป็น ‘พญาอินทรีแห่งสวนอักษร’ ด้านแคลิฟอร์เนียก็มีนักเขียนรางวัลโนเบล ‘จอห์น สไตน์เบ็ก’ (John Steinbeck) เป็นยักษ์ใหญ่ ‘Giant of American Letters’

     สไตน์เบ็กเกิดมาในเมืองเกษตรกรรม นั่นทำให้ผลงานของเขามักมีฉากหลังเป็นทุ่งหญ้าป่าเขา และมีตัวเอกเป็นกรรมาชนคนใช้แรงงาน ทั้งใน The Pearl, The Grapes of Wrath, Of Mice and Men และ East of Eden

     เช่นเดียวกับ ‘รงค์อีกเช่นกัน ในเล่ม Tortilla Flat สไตน์เบ็กก็มีการพรรณาถึงชีวิตเสรีของหนุ่มผู้หันหลังให้การงาน ปล่อยวันเวลาไปกับการชื่นชมสายลม แสงแดด และเหล้าไวน์ ซึ่งกลายเป็นเล่มแรกของสไตน์เบ็กที่ถือว่าประสบความสำเร็จในวงการ

     นอกจากนี้ ‘รงค์ยังมีการอ้างอิงถึงสไตน์เบ็กอยู่บ่อยครั้ง เช่น เป็นผู้เขียนคำนิยมใน Of Mice and Men ฉบับแปลไทยของสำนักพิมพ์ดาวเรืองเมื่อปี 1988 และเขียนถึงนิยาย Cannery Row ของสไตน์เบ็กในเล่ม หลงกลิ่นกัญชา อีกด้วย

อนุสรณ์ ติปยานนท์ × Haruki Murakami
เธอคนนั้น คือฉันสาขาคนเหงา

     แค่เพียงเอ่ยชื่อ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ (Haruki Murakami) เสียงเพลงแจ๊ซ มู้ดหม่นเหงา และภาพรองเท้าวิ่ง ก็ลอยเข้ามาในหัวพร้อมกัน มูราคามิคือนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยสไตล์งานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นอายตะวันตก และโดดเด่นเรื่องความเหงาเป็นพิเศษ

     มูราคามิเติบโตมาในบ้านที่พ่อแม่เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม ก่อนจะเริ่มจับปากกาเขียนหนังสือครั้งแรกในวัย 29 ปีเพราะไปดูเบสบอลแล้วอินจัด ออกมาเป็น Hear the Wind Sing เรื่องราวของชายหนุ่มที่ดื่มเบียร์แทนน้ำเปล่า ฟังเพลงตะวันตกระรื่นหู กับหญิงสาวในบาร์

     ส่วน Norwegian Wood คือผลงานที่ทำให้ชื่อของมูราคามิเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น เป็นนวนิยายที่อบอวลไปด้วยความมูราคามิ คือมีเหล้า มีผู้หญิง มีดนตรี และมีเพศสัมพันธ์ (อะจึ้ย) จากนั้นเขาก็ขยันออกหนังสือและขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

     ขณะเดียวกันทางฝั่งแดนสยามขวานทองก็มีนักเขียนชายอีกคนที่มีฝีไม้ลายมือคมคาย มาพร้อมสำนวนหม่นเหงาไม่แพ้พี่มูฯ คนนั้นก็คือ ‘อนุสรณ์ ติปยานนท์’ 

     ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ คือผลงานเล่มแรกของอนุสรณ์ที่เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้เพื่อนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 ถ่ายทอดเรื่องราวความเหงาและความไม่แน่นอนของชีวิต ผ่านผู้คนที่เคยพบ เมืองที่เคยอยู่ และความหลังที่ยังคงตราตรึงในใจ

     หลังจากออกหนังสือเล่มแรก อนุสรณ์ก็ผลิตผลงานอื่นๆ ออกมาให้นักอ่านได้ติดตามกันทั้งนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ เรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิต รวมไปถึงงานแปลหนังสือ แม้จะเป็นงานเขียนหลากหลายแนว แต่ทุกเล่มก็ยังคงไว้ซึ่งสำนวนภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของเจ้าตัว ซึ่งไม่มากก็น้อย อ่านไปแล้วต้องได้ความเหงากลับไปสักหนึ่งหน่วย