1-day trip to Paju Book City
1 วันในพาจู กับการดื่มด่ำไปกับเมืองหนังสือในเกาหลี
เรื่อง: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
ภาพ: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
มาติ่งเกาหลี ดูคอนเสิร์ต กินหมูย่าง เดินเข้าคาเฟ่ อาจเป็นกิจกรรมพื้นฐานของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกาหลีใต้ แต่ถ้าใครเป็นสายรักการอ่าน เราอยากจะชักชวนให้มา ‘พาจู’ เมืองทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือจากโซลที่อยู่ห่างกับเส้นเขตแดนของเกาหลีเหนือแค่เอื้อม เพราะเมืองนี้ถูกสร้างให้เป็น Book City และต่อให้อ่านภาษาเกาหลีไม่ออก เราก็เชื่อว่าเมื่อถูกรายล้อมด้วยบรรยากาศของเมืองแห่งหนังสือแล้ว คุณจะติดใจและหลงรักเมืองนี้ได้ไม่ยาก
จริงๆ แล้วพาจูไม่ได้มีดีแค่ความเป็นเมืองหนังสือ แต่ยังมีจุดชมธรรมชาติ ขึ้นไปดูภูเขา หรือทะเลสาบซึ่งเป็นที่นิยมด้วย แต่ด้วยความที่สนใจในส่วนของเมืองหนังสือ เราจึงปักหมุดมาในโซนนี้เท่านั้น
เหมือนอากาศไม่เป็นใจ วันที่เราเลือกเดินทางไปพาจูนั้น เกาหลีใต้มีอุณหภูมิติดลบ -17 ถึง -10 องศา เราเดินลงจากรถบัสในสภาพหนาวสั่นอย่างทรมาน แต่ก็ทันสังเกตว่าตึกต่างๆ ที่เราเดินผ่าน นอกจากร้านเฟอร์นิเจอร์ฮิปๆ ที่เห็นประปราย ที่เหลือล้วนแต่เป็นสำนักพิมพ์และบริษัทดีไซน์ที่รับออกแบบงานอาร์ตต่างๆ
ถ้าประเทศอื่นๆ มีเขตเศรษฐกิจที่เป็นศูนย์รวมของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ประเทศเกาหลีใต้ก็มีเขตอุตสาหกรรมหนังสือพาจู โดยชื่ออย่างเป็นทางการของเมืองหนังสือแห่งนี้คือ ‘Paju Publishing Culture Information National Industrial Zone’ ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1998 จากการรวมกลุ่มของผู้จัดพิมพ์หนังสือที่ต้องการสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีแนวคิดของหนังสือ การผลิตหนังสือ อีกทั้งยังมีปัญหาราคาที่ดินโซลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สำนักพิมพ์มีแผนย้ายออกจากเมืองหลวงกัน
ต่อมารัฐบาลเกาหลีก็เอาด้วยกับแผนการนี้ ลงทุนสนับสนุนกว่า 1 ล้านล้านวอน จนกระทั่งในปี 2005 การก่อสร้างเมืองหนังสือและศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่มีสำนักพิมพ์เป็นตัวกลางก็เสร็จสมบูรณ์ มีการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมและสารสนเทศ (Asia Publication Culture and Information Center) มีสำนักพิมพ์ประมาณ 200 แห่ง และบริษัทการพิมพ์อีก 50 แห่ง ที่ย้ายเข้าไปในโซน Book city ของพาจู รวมแล้วมีพนักงานกว่า 10,000 คนที่มาทำงานในโซนแห่งนี้
บริษัทและตึกต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน เพราะพาจูมีอีกชื่อหนึ่งว่า Eco-City ทำให้แม้จะมีการสร้างอาคารต่างๆ ใหม่ แต่ทั้งหมดต้องออกแบบให้อยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ จะเห็นได้ว่ามีลำธารไหลผ่านใจกลางอาคาร ดึงดูดนกกระเรียนและนกอพยพอื่นๆ ให้แวะเวียนมาได้ พาจูจึงเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงขนาดที่นอกจากแผนที่อาคาร สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ยังทำแผนที่ดูนกในจุดต่างๆ เอาไว้ให้ด้วย
เมื่อเดินดูบริษัทและสำนักพิมพ์ต่างๆ พอประมาณ เราก็มาถึง Asia Publication Culture and Information Center ศูนย์กลางหรือหัวใจหลักของเมืองหนังสือ ซึ่งเป็นอาคารใหญ่ที่รวมหลายๆ สถานที่เข้าไว้ด้วยกัน เช่น ‘Forest of Wisdom’ ห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือทุกประเภท ทั้งประวัติศาสตร์ นิยาย การ์ตูน ท่องเที่ยว วิชาการ ฯลฯ ด้วยชั้นหนังสือใหญ่โตในทุกๆ มุม ทั้งยังมีโต๊ะและพื้นที่ต่างๆ ให้เอนจอยกับการอ่านหนังสือ ทำให้เราเห็นคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกันที่นี่
ในตึกนี้ยังมีร้านหนังสือมือหนึ่งและมือสองเรียงรายอยู่เต็มไปหมด มีโถงเล็กๆ สำหรับจัดงานศิลปะ มีที่พัก Library Stay Hotel มีมิวเซียมเล็กๆ อย่าง Book City Letter Press Museum รวมไปถึง Paju Book City Publication Industry Center ที่เป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้ มีการโชว์กระบวนการผลิตหนังสือ และเล่าถึงลิขสิทธิ์การพิมพ์
เราได้ไปจอยกับเด็กประถมชาวเกาหลี ดูกระบวนการพิมพ์ ก่อนจะได้หนังสือ เจ้าชายน้อย ซึ่งลิขสิทธิ์หมดอายุแล้วกลับบ้านมาด้วย (ประทับใจมาก)
นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับการเจอหนังสือมากมายรายเรียงแล้ว ในโซน Book City เรายังเห็นร้านกาแฟและคาเฟ่มากมาย เมื่อเดินเข้าไปก็พบว่า ส่วนใหญ่เป็นบุ๊กคาเฟ่ ไม่ก็ห้องสมุด ที่มีพื้นที่ให้ได้นั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานสบายๆ ด้วย อีกทั้งบางคาเฟ่ ยังเป็นร้านหนังสือโลคอลที่ขายหนังสือควบคู่ไปด้วย
เมื่อได้ไปลองนั่งในคาเฟ่เหล่านี้ ก็เห็นความแตกต่างได้ชัดกับคาเฟ่ในโซล ที่คนมักจะมาพบปะพูดคุยกัน ทำให้มีเสียงดังตลอดเวลา แต่คาเฟ่ที่พาจูนั้นเงียบกริบ เพราะทุกคนต่างจดจ่อกับการทำงาน หรือไม่ก็อ่านหนังสือกันทั้งนั้น
แม้ว่าจะมีงานและกิจกรรมจัดขึ้นที่ศูนย์ตลอดทั้งปี แต่พาจูก็เป็นที่รู้จักจากเทศกาลนานาชาติสองงาน ในฤดูใบไม้ผลจะมีเทศกาลหนังสือเด็กนานาชาติ และในฤดูใบไม้ร่วงจะมีเทศกาลหนังสือนานาชาติประจำปีซึ่งมีธีมคือ ‘Booksori’ (หมายถึง เสียงของหนังสือ) โดยปกติแล้วจะมีผู้เข้าชมเกือบครึ่งล้านคนในช่วง 9 วันของงาน
หลังจากเพลิดเพลินกับโซนเมืองหนังสือแล้ว เรายังนั่งรถเมล์ไปต่อที่ Hyeri Art Village ซึ่งในโซนนี้ก็มีมิวเซียมเล็กๆ หลายแห่งอย่าง Toy Museum แต่ที่เราตั้งใจมานั้นคือ Museum of Modern History of Korea ที่จำลองพื้นที่ในอดีต และพาเราย้อนไปดูเกาหลีใต้ในยุค 1960-1980s ทำให้เราได้เห็นประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสมัยนั้น อย่างร้านการ์ตูนหรือร้านหนังสือมือสองด้วย
สำหรับใครที่มาพาจูแล้ว อยากไปดูวิวที่มองเห็นประเทศเกาหลีเหนือต่อนั้นก็สามารถทำได้ เพราะโซนเมืองหนังสือ และ Hyeri Art Village นี้เรียกได้ว่าติดชิดขอบเส้นเขตแดนเกาหลีเหนือมากๆ
สำหรับการเดินทางมายังโซน Book City ของพาจูนั้น สามารถนั่งรถบัสสาย 2200 จากป้ายรถเมล์ใกล้ๆ สถานีฮงแดหรือฮัพจอง โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 30-45 นาทีเท่านั้น ก็จะถึงตัวเมืองหนังสือ และยังสามารถนั่งต่อไปยัง Hyeri Art Village ได้อีก โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที