Thu 23 Feb 2023

FULL-TIME WRITER,

PART-TIME STILL WRITER

จากนิยายออนไลน์สู่หน้ากระดาษ ชวนมารู้จัก ‘Rtima’ นักเขียนอิสระวัย 23 ปีที่ออกหนังสือมาแล้ว 8 เล่ม

     เรารู้จักชื่อ ‘Rtima’ ครั้งแรกบนหน้าปกนิยาย เมื่อความตายทำให้เราพบกัน 

     ด้วยวิชวลของภาพปกที่เตะตา และเรื่องย่อที่ว่าด้วยการไปตามหาพ่อในโลกหลังความตาย ทำให้เรากดสั่งหนังสือเล่มดังกล่าวมาทันที ก่อนที่เวลาต่อมาจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเธอในโลกออนไลน์อีกหลายต่อหลายครั้ง ในฐานะนักเขียนอิสระที่เล่าเรื่องชวนติดตาม สร้างผลงานที่เต็มไปด้วยรสชาติอันหลากหลาย และถ่ายทอดประเด็นสังคมออกมาได้สุดนัว

     Rtima คือนามปากกาของ ‘เกม อาทิมา’ บันฑิตหมาดๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แม้จะเพิ่งก้าวขาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย มีเลข 23 เป็นผลรวมอายุหลังบวกลบวันเดือนปีเกิด แต่เกมไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการหนังสือทำมือ เพราะเธอตีพิมพ์ผลงานในฉบับรูปเล่มมาแล้วถึง 8 เล่ม

     ได้แก่ เมื่อความตายทำให้เราพบกัน, ก่อนสั่ง Action, ตะวันในวันรุ่งขึ้น, นครมัว, โรงละครแห่งความผิดเพี้ยน, เรื่องเล่ารอบโคมไฟ, นาวารี และ Blaze โดยสองเรื่องหลังเพิ่งปิดพรีออร์เดอร์ไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

     และทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นที่รู้กันว่านอกจากเล่มแรกแล้ว เกมเปิดให้อ่านในออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบแบบไม่มีกั๊ก ไม่ติดเหรียญ และไม่ซ่อนตอน อีกทั้งในกระบวนการทำรูปเล่ม เธอก็ทำทุกอย่างตั้งแต่เขียน จัดหน้า ส่งโรงพิมพ์ เปิดรับพรีออร์เดอร์ แพ็กของ หรือบางทีก็ลามไปยันยืนขายด้วยตัวเอง

     ความขยันนี้ท่านได้แต่ใดมา…

     ไม่รอให้ความสงสัยก่อตัวนาน เรารีบทักไปชวนเกมหลังจากปิดเล่มเสร็จหนึ่งวันถ้วน (เวลาเป็นเงินเป็นทอง) มาพูดคุยกันถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักเขียน กระบวนการสร้างงาน มุมมองต่อวงการหนังสือ ไปจนถึงความมั่นคงของการเป็นนักเขียนอิสระในประเทศนี้

I
ว่าด้วยหนังสือ

     เช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่นๆ เกมเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่าน 

     “เราชอบอ่านการ์ตูนโชเน็นจัมป์มาก เรียกได้ว่าโตมากับ นารูโตะ ส่วนนิยายจะอ่านพวกดาร์กแฟนตาซี สมัยเด็กๆ คือติด การิน หนักมาก แล้วก็อ่านนิยายสยองขวัญของภาคินัย”

     แน่นอนว่าอ่านแล้วก็ต้องอยากลองเขียน งานเขียนชิ้นแรกของเกมเป็นนิยายแนวสยองขวัญที่เขียนลงเว็บไซต์ Dek-D แต่เขียนไม่จบ อารมณ์ว่าเขียนเองอ่านเอง เรื่องต่อมาเป็นแนวแฟนตาซีที่ก็ไม่จบเหมือนกัน

     “เราเขียนตอน ม.ต้น แล้วก็หยุดตอน ม.ปลาย แบบหยุดไปเลย เพราะไปเรียนสายวิทย์-คณิตแบบโปรแกรมพิเศษ ที่บ้านคาดหวังให้เป็นหมอ แต่เราไม่ชอบเรียนชีวะ พอจะไปเรียนวิศวะเขาก็บอกว่าเป็นผู้หญิงเรียนไม่ได้หรอก เราเลยโอเค งั้นไปเรียนนิเทศฯ เลย”

     แต่จริงๆ ก่อนที่ชอยส์จะมาตกเป็นคณะนิเทศศาสตร์ ด้วยความที่ชอบวาดรูปควบคู่มากับการเขียน เธอก็ลังเลว่าจะเข้าคณะเกี่ยวกับการวาดรูปดีไหม แต่มีเหตุผลสองข้อที่รั้งเกมไว้

     หนึ่งคือทะเลาะกับที่บ้านหนักมาก 

     สองคือนึกกลัวขึ้นมาว่าถ้าทำเป็นงานแล้วไม่ชอบ คงไม่เหลืออะไรให้ทำแล้ว

     จากเหตุผลที่กล่าวมาเราจึงถามต่อว่าแล้วเข้าคณะนิเทศฯ ที่บ้านไม่ว่าเหรอ

     “ก็ว่าอยู่ดี (หัวเราะ) ช่วงที่เรียนหนักๆ เลิกเรียนแล้วเราไม่อยากกลับบ้าน เลยไปเข้าโรงหนังบ่อยๆ จนทำให้ชอบดูหนังขึ้นมา แล้วตอนที่ต้องไปสอบเราก็ไม่อ่านหนังสือ ไปนั่งเดาคำตอบ พอคะแนนออกมาก็เอาให้เขาดูว่ามันยื่นไม่ได้หรอก”

     สุดท้ายเกมก็สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ตามที่ตั้งใจ ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมความฝันในการออกบูธงานการ์ตูน

     “เราเห็นเพื่อนในเน็ตไปออกบูธพวกงาน Comic Square หรือ Comic Avenue ก็เลยอยากออกบ้าง พอขึ้นปีหนึ่ง (2018) เลยไปลงทะเบียน ปรากฏว่าเขาบังคับให้มีหนังสือของตัวเองหนึ่งเล่ม เลยได้เริ่มเขียน เมื่อความตายทำให้เราพบกัน

     เรื่องราวของ ‘คาลวิน มิลเลอร์’ เด็กชายผู้ฟื้นขึ้นมาในโลกหลังความตาย เขาตัดสินใจใช้โอกาสนี้ในการตามหาพ่อที่น่าจะตายในสงคราม โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ‘ลัมแบร์ท ฟรังค์’ เพื่อนใหม่ในร่างโครงกระดูก

     “ปกติเวลาจะเริ่มเขียนอะไร เราจะเห็นเป็นภาพออกมาก่อน สำหรับเรื่องนี้เราเห็นภาพเป็นเด็กกับโครงกระดูก เลยคิดว่าต้องเขียนอะไรเพื่อให้ได้ภาพนี้ออกมา ถ้าเราชอบโครงกระดูกก็ต้องเป็นโลกหลังความตายที่มีโครงกระดูกเยอะๆ

     “พอจะเล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่ไม่รู้ตัวว่าตายเพราะอะไร เราเลยเลือกใช้สงครามเป็นฉากหลัง เพราะมันเป็นการตายที่ปุบปับ”

     นอกจากการตายอย่างปุบปับของตัวละคร เรื่องนี้ก็เขียนแบบปุบปับไม่แพ้กัน เพราะเกมบอกว่าใช้เวลาหาข้อมูลสักพักก่อนจะลงมือเขียนเล่มนี้ด้วยระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์… โดยที่ไม่รู้เลยว่ามันจะกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ เพราะพิมพ์ไป 100 เล่ม ก็ขายหมดเกลี้ยงทั้ง 100 เล่ม เมื่อเห็นฟีดแบ็กที่น่ารักจากนักอ่าน ประกอบกับรายได้ที่เข้ามา ทำให้เกมตัดสินใจเข้าวงการนักเขียนอิสระควบคู่กับการเป็นนิสิตนับแต่นั้น

     พอขึ้นปีสอง (2019) เกมเปิดใจดูซีรีส์วายที่กำลังเป็นกระแส และพบว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งตัวบทและการสร้างภาพจำต่อคนในคอมมิวฯ ด้วยความที่เป็นคนในคอมมิวฯ ด้วย เธอจึงเขียนสิ่งที่อยากพูดผ่านตัวละครใน ก่อนสั่ง Action นิยายวายที่เสียดสีวงการวายอีกที ว่าด้วยเรื่องของ ‘แบงค์’ หนุ่มฟรีแลนซ์ว่างงานผู้ต้องกลืนน้ำลายตัวเองไปแคสต์บทซีรีส์วาย และเข้าไปพัวพันกับวงการที่ทำลายความสงบของชีวิต

     “ตอนนั้นก็จะดูว่าวันนี้มีประเด็นอะไรแล้วค่อยมาเขียน มีคนในทวิตเห็นแล้วมาอ่านก็มาแสดงความคิดเห็นกัน นิยายเลยกลายเป็นพื้นที่ที่ได้มาคุยกันผ่านเรื่องของตัวละคร จริงๆ ตอนนั้นก็ค่อนข้างเอนจอยกับการได้ถกกันนะ ได้รีเช็กตัวเองไปในตัว

     “เรื่องนี้เพิ่งมาบูมหลังเขียนจบไปสักพัก สองปีผ่านไปก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘มันยังเหมือนเดิมเลยค่ะ’ (หัวเราะ) หรือมีคนที่ไม่เคยคิดถึงประเด็นต่างๆ อย่างการผลิตภาพจำ พอเขามาอ่านก็คอมเมนต์ บอกว่าดีใจที่ได้ลองคิดถึงมุมอื่นๆ บ้าง”

     ในปีเดียวกันนั้น กระแสการเมืองไทยเริ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และเกมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เริ่มเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับประเทศนี้อยู่

     “ก่อนหน้านี้เรายอมรับว่าตัวเองเป็นอิกนอแรนต์ ไม่รู้เรื่องเลย พอขึ้นมากรุงเทพฯ ได้เรียนรู้มากขึ้น ก็คิดกับตัวเองว่าที่ผ่านมามองไม่เห็นได้ยังไง เราเริ่มอิน ไปม็อบบ่อยขึ้น ขณะเดียวกันก็เห็นความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชนจนเราโกรธมากๆ อยากระบายอารมณ์ เลยมาลงกับงานเขียน”

     ตะวันในวันรุ่งขึ้น พูดถึงโลกที่ล่มสลายไปแล้ว ทุกคนย้ายไปอยู่ใต้ดินที่แบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ ชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง โดยชั้นล่างจะเป็นที่อยู่ของนักโทษที่ต้องทำหน้าที่เป็นคนงานผลิตน้ำ-ไฟขึ้นไปให้คนข้างบนใช้ แต่ความเป็นอยู่แย่มาก จนบางทีถูกปล่อยให้ทำงานจนตาย 

     เปรียบง่ายๆ ชั้นกลางก็คล้ายๆ กรุงเทพฯ ตรงกลางเจริญเท่าที่จะเจริญได้ รอบๆ จะเหลื่อมล้ำไปเรื่อยๆ ส่วนชั้นบนก็เป็นที่อยู่ของชนชั้นนำที่อยู่ดีกินดี

     อีกทั้งในเมืองนี้ประชาชนจะมีปลอกคอที่คอยจำกัดการพูด ถ้าพูดคำต้องห้ามมันจะส่งเสียงร้อง แล้วตำรวจจะมาจับ ซึ่งเกมก็อิงมาจากกฎหมายมาตรา 112 ที่มีความกำกวมในการบังคับใช้

“ฉันอยากเห็นประเทศที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีกว่านี้
ดีอย่างที่มันควรจะเป็น
ไม่ใช่ดีแบบที่ทุกคนหลอกตัวเองว่ามันดีแล้ว”

     ตามหลักสูตรของคณะนิเทศศาสตร์ นิสิตจะต้องเลือกเรียนสาขาวิชาที่สนใจในชั้นปีที่ 2 โดยเกมเลือกเรียนสาขาภาพยนตร์เพราะชอบดูหนังและอยากทำหนังเป็นของตัวเอง แต่ก็พบกับอุปสรรคหลายอย่าง จนทำให้ตกอยู่ในช่วงที่ตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

     “เราเขียน นครมัว ช่วงประมาณปีสาม (2020) เป็นปีที่เราตกตะกอนกับตัวเอง งานจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ช่วงนั้นเป๋ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าสุดท้ายแล้วความฝันวัยเด็กที่เคยมีมันหายไป เราจะยังโอเคมั้ย เลยเอามาสร้างเป็นแก่นของเรื่องนี้ ตัวละครเป็นคนมีความฝันแต่ทำตามไม่ได้ แล้วถ้าอยู่ดีๆ มีโลกที่ให้เราทำตามความฝันได้ เราจะเลือกตายจากโลกนี้ แล้วไปอยู่ในโลกนั้นมั้ย

     “เราเขียนเรื่องนี้เป็นปีเลย เพราะมันแหวกแผลตัวเองเยอะ เขียนแล้วต้องไปพัก แต่มันเป็นผลงานที่เราจริงใจกับตัวเองมากๆ แรกเริ่มเดิมทีมันมีคำพูดที่เราอยากปลอบใจตัวเองเยอะ เลยเอามาเขียนให้ตัวละครเป็นคนพูด ก็รู้สึกดีขึ้นและยอมรับตัวเองได้มากขึ้น มีคนเข้ามาอ่านแล้วบอกว่ารู้สึกดีที่ได้เรื่องนี้ช่วยปลอบใจเหมือนกัน”

     ต่อมาในปี 2022 เกมออกหนังสือรวมเรื่องสั้นสองเล่ม เล่มแรกคือ โรงละครแห่งความผิดเพี้ยน ผลงานที่เขียนกับนักเขียนอีกคน (Sobaboy) เป็น 4 เรื่องสั้นที่ใช้ตัวละครชุดเดิม เหมือนโรงละครที่นักแสดงเปลี่ยนบทบาทไปเรื่อยๆ มีเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง หมู่บ้านที่มีลัทธิประหลาด มาเฟีย แล้วก็ฆาตกรต่อเนื่องปิดท้าย 

     เล่มที่สองคือ เรื่องเล่ารอบโคมไฟ รวม 9 เรื่องสั้นที่มีธีมหลักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวละครเจอเป็นคน ผี หรือปีศาจ

     ส่วนสองเล่มล่าสุดที่เพิ่งปิดพรีออร์เดอร์ไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2023 คือ นาวารี นิยายแอ็กชั่นไซไฟว่าด้วยโลกของมนุษย์ใต้น้ำ เป็นผลงานที่เกมปรับมาจากบทหนังซึ่งเป็นทีสิสตัวจบ

     “ตอนแรกเราจะทำเรื่องตัวเอง แต่โดนคอมเมนต์ว่ายังไม่มีอะไรใหม่ เลยต้องไปหาประเด็นอื่น วันหนึ่งมีแท็ก #saveจะนะ ในทวิตเตอร์ แล้วเขาเปิดสเปซเลยไปนั่งฟัง คิดขึ้นมาได้ว่ายังไม่ค่อยมีคนพูดถึงนิคมอุตสาหกรรมในสื่อ โดยเฉพาะสื่อหนังใหญ่ ก็เลยอยากเอามาเขียน ได้ออกมาเป็นโลกดิสโทเปียที่พูดถึงการรุกรานไล่ที่และสิทธิมนุษยชน

     “เราส่งทีสิสเป็นบทหนังที่ถ้าเอาไปสร้างจะมีความยาวชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงให้อาจารย์ แล้วก็ใช้เวลามาปรับเป็นนิยายประมาณหนึ่ง ตัวเล่มก็จะเป็นนิยายกับบทหนังอยู่ด้วยกันในเล่มเดียว”

     สุดท้าย (สำหรับตอนนี้) คือ Blaze ผลงานมังงะเล่มแรกของเกมที่เจ้าตัวบอกเขียนเอาสะใจ จากความชอบที่อ่านการ์ตูนแอ็กชั่นมาอย่างยาวนาน นำไปสู่เรื่องราวของเชื้อที่ทำให้คนตายกลายเป็น ‘กอรี่’ ปีศาจกระหายเลือดที่ใช้ชีวิตปะปนกับผู้คน แล้วพระเอกก็ดันมีเรื่องให้เข้าไปพัวพันกับองค์กร ‘เบลซ’ ที่มีหน้าที่กำจัดกอรี่

II
ว่าด้วยกระบวนการสร้างงาน

     หลังจากฟังเกมเล่าผลงานทั้ง 8 เล่มจบ ก็ได้เวลาของคำถามที่ค้างคาใจ

     “เกมเอาเวลาไหนไปเขียนงานได้เยอะขนาดนี้”

     คำตอบก็คือ “จริงๆ นิเทศฯ ไม่ได้เรียนหนักขนาดนั้น หรือหนัก (หัวเราะ) มันก็มีงานเยอะ แต่เราเป็นคนทุ่มเทกับงานอดิเรก คือการวาดรูป เขียนนิยาย แล้วก็เขียนแฟนฟิกฯ ช่วงที่เรียนหนักจริงๆ ก็มีต้องหายไปบ้าง แต่พอเคลียร์เสร็จก็กลับมา หลังๆ เราสนุกกับการทำสิ่งนี้มาก ทำแล้วเพลิน ก็เลยแฮปปี้”

     จบค่ะ แบบตัวมัม

     หากไม่นับ เมื่อความตายทำให้เราพบกัน สองเรื่องหลังจากนั้นเกมทำงานโดยการเขียนไปลงออนไลน์ไป และพบกับปัญหาเรื่องพล็อต เพราะไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ดังนั้นตั้งแต่ นครมัว เป็นต้นมา เธอจึงเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยการเขียนให้จบทั้งเรื่องก่อนแล้วค่อยทยอยลงทีเดียว

     “วิธีการเขียนของเราคือไม่วางพล็อต เราวางไม่ได้ เรามองไม่เห็นถ้าไม่คิดไปพร้อมตัวละคร ก็เลยต้องเขียนไปข้างหน้า พอทำแบบนี้ก็ตันง่าย เลยต้องฝืนตัวเองเขียนให้จบก่อน

     “พอเขียนจบก็จะส่งให้ บ.ก.ดู เราจ้าง บ.ก.มาเพื่อให้เขาช่วยจัดการเรื่องพล็อต ดูความสมเหตุสมผล มีแก้รูปประโยคบ้าง แต่ไม่ใช่การแก้ประเด็นที่ต้องการสื่อ จากนั้นก็ส่งพิสูจน์อักษร ทำพีอาร์ จัดเล่ม ติดต่อคนวาดปก ติดต่อโรงพิมพ์ ติดต่อร้านหนังสืออิสระ บรีฟทุกอย่างด้วยตัวเองหมดเลย แล้วก็ถ้าออกบูธก็ไปยืนขายเองด้วย

     “พอได้ทำเองทุกอย่างจะรู้สึกว่ามันอยู่ในมือเรา เราสามารถคุมมันให้เป็นไปตามที่อยากได้ และถ้ามันเกิดอะไรขึ้นมา คนรับผิดชอบก็มีแค่เรา ถ้าจะด่าก็มาเลย ฉันจะรับไว้คนเดียว”

     พูดถึงเรื่องการจัดรูปเล่ม เกมยอมรับว่าตัวเองไม่เก่งด้านโปรแกรม Adobe InDesign เธอจึงใช้ Microsoft Word เป็นผู้ช่วยมือหนึ่ง พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากโรงพิมพ์ Fastbook ที่คอยให้ข้อมูลเรื่องการตั้งค่าหน้ากระดาษต่างๆ ตั้งแต่เริ่มทำเล่มแรก จนกลายเป็นโรงพิมพ์ขาประจำของเกมจนถึงปัจจุบัน

     นอกจากต้องทำทั้งหมดนี้เองแล้ว การเป็นนักเขียนอิสระยังต้องประเมินปริมาณยอดการพิมพ์เองด้วย

     ตามปกติ ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ ยอดพิมพ์แต่ละครั้งอาจอยู่ที่หลักพันเล่มขึ้นไป แต่สำหรับหนังสือทำมือแล้ว การจะพิมพ์จำนวนเท่านั้นแปลว่าต้องมีทุนทรัพย์ ซึ่งสำหรับเกมแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องที่ควักจ่ายได้โดยง่าย

     วิธีการทำงานของเกมคือจะเปิดพรีออร์เดอร์ก่อน เมื่อครบกำหนดก็จะมาดูว่าได้ยอดเท่าไหร่ จากนั้นนำไปคูณสองเพื่อนำมาเป็นสต็อก เผื่อไปขายในงานต่างๆ ขณะเดียวกันก็จะคอยรับยอดจากร้านหนังสืออิสระด้วย

     “ตามหลักการแล้วยิ่งพิมพ์เยอะก็ยิ่งถูก แต่เราพิมพ์เยอะขนาดพันเล่มทีเดียวไม่ไหว ต่อให้ราคาต่อเล่มถูกลง แต่ราคาโดยรวมมันสูงมาก เลยต้องส่งทีละนิดๆ แล้วเราพิมพ์ดิจิทัล ไม่ได้ขึ้นเพลตเหมือนสำนักพิมพ์ ขนาดพิมพ์หลักร้อยก็ใช้เงินเป็นแสนแล้ว คือมันตันแล้ว เป็นเรื่องเศร้าเหมือนกัน อยากมีเงินหมุนเยอะๆ”

     หากใครมีกำลังทรัพย์ไม่พอที่จะอุดหนุนเล่มจริง ก็สามารถเสพผลงานของเกมได้ประหนึ่งซื้ออ่าน เพราะนับตั้งแต่ ก่อนสั่ง Action เป็นต้นมา เธอลงเนื้อหาทั้งหมดให้อ่านแบบไม่มีกั๊ก ไม่ติดเหรียญ ไม่ซ่อนตอน นำไปสู่คำถามว่า แล้วเกมเอาเงินจากไหนไปใช้ชีวิต

     “พอยต์หลักคืออยากให้คนอ่าน ใครจะอ่านก็ได้ เข้ามาอ่านเฉยๆ ก็พอ ไม่ซื้อก็ไม่ว่ากัน จริงๆ เล่มแรกเราก็อยากลงออนไลน์ แต่มันขายไปเยอะมาก รู้สึกว่าถ้าลงก็จะไม่แฟร์กับคนที่ซื้อไปแล้ว แต่กับเรื่องหลังๆ คือตั้งใจว่าจะลงให้หมด

     “เราพูดอย่างนี้ได้เพราะมันยังมีรายได้เข้ามา มันเป็นเส้นแบ่งระหว่างอุดมการณ์กับทุนนิยม เรารู้ว่าหนังสือแพง คนเข้าถึงยาก เราขายการ์ตูนเล่มละ 290 บาท ซึ่งแม่งแพงมาก แต่ก็อยากให้คนอ่าน เลยทำทั้งสองอย่าง คือลงฟรีด้วย แล้วก็ขายไปด้วย พอดูยอดขายว่ามันยังโอเค ประคองตัวเราไปได้ ก็ฟรีต่อ 

     “แต่ก็เข้าใจคนที่ติดเหรียญ ถ้าเราอยู่ในจุดที่ไม่พอจริงๆ ก็คงต้องทำแบบนั้น”

     เกมเล่าว่าค่าใช้จ่ายหลักของเธอคือค่าที่อยู่อาศัย การเช่าคอนโดใจกลางกรุงเทพฯ มีราคาค่อนข้างสูง ถ้าสุดท้ายงานเขียนเริ่มเป็นขาลง รายได้ไม่พอใช้ สิ่งที่เกมจะทำคือม้วนเสื่อกลับไปอยู่บ้าน แล้วทำงานเขียนต่อไป เพราะสุดท้ายการอยู่กับงานที่รักก็ทำให้มีความสุขมากกว่า

     “พอมองย้อนกลับไป จริงๆ ก็เข้าใจเรื่องที่บ้านอยากให้เรียนสายวิทย์นะ เพราะในประเทศนี้มันมีการงานมั่นคงกว่า ทีแรกเลยกะว่าจะปิดเรื่องที่เป็นนักเขียนไว้ไม่บอกเขา กลัวเขามองว่ามันไส้แห้ง แต่เขาดันไปเจอเอง กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าเราเขียนหนังสือ พอเห็นว่าเราทำเป็นงานได้เขาก็ไม่ว่าอะไรแถมโทรมาชมด้วย”

III
ว่าด้วยการเป็น Rtima

     หลังเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย เกมก็ทำอาชีพเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว 

     ถ้าไปตามติดชีวิตเกมในหนึ่งวันก็จะตื่นนอนขึ้นมา วางแผนการทำงาน เช่น จะอ่านนิยายซ้ำหนึ่งรอบ เสร็จแล้วก็นั่งพัก วาดรูปเล่นสักหน่อย แล้วก็ฟุ้งซ่าน หางานมาเพิ่มให้ตัวเอง…

     “ช่วงที่ทุ่มเทกับงานมากๆ เราจะไม่ค่อยเบิร์นเอาต์ ส่วนใหญ่จะเป็นการเบิร์นเอาต์จากเรื่องอื่นจนทำงานไม่ได้ พอทำมาเรื่อยๆ ก็มีข้อดีคือมันต่อติด แต่เราก็จะมีวันพัก วางคอมพ์ห่างตัว ตอนกลับไปก็จะได้เฟรชๆ 

     “แต่ work hour เราไม่ค่อยดี ทำงานบ่ายสองถึงตีสองเป็นส่วนมาก หลังจากนี้ตั้งใจว่าจะแบ่งให้ดีขึ้น เพราะสุขภาพก็เริ่มไม่ค่อยโอเคแล้ว”

     พูดถึงนามปากกากันบ้าง จริงๆ เกมตั้งใจให้ให้ Rtima อ่านว่า อาทิมา ซึ่งเป็นชื่อจริงของเธอ แต่ทุกคนล้วนอ่านว่ารทิมา ทำให้ตอนนี้ใครเรียกชื่อไหนก็หันหมด ส่วนเลข 1123 ในช่วงเล่มแรกๆ ก็มาจากวันเกิดของเกมเอง

     “เราใช้นามปากกาเดียวกับตอนเขียนแฟนฟิกฯ ด้วย ลืมแยก แล้วพอเขียนงานหลายแนวก็ใช้นามปากกาเดิม คิดว่าคนอ่านอาจสับสนได้ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะชื่อนี้ก็ค่อนข้างติดตลาดไปแล้ว มีคนที่บอกว่า ‘ไม่ได้อ่านเรื่องย่อ แต่เห็นเป็นคุณรทิมาก็ซื้อแล้ว’ ใจเราคืออ่านหน่อยก็ดี เพราะมันไม่เหมือนเดิมเลย (หัวเราะ)”

     เกมเล่าต่อว่าการเขียนหลายแนวก็มีความเสี่ยงเรื่องฟีดแบ็กเหมือนกัน เพราะกลุ่มคนอ่านจะแตกต่างกันไป ในฐานะนักเขียนก็พอรู้ว่าแนวไหนได้รับความนิยมมากกว่า

     “พอเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นการเขียนให้เสร็จแล้วค่อยลง ก็ช่วยลดปัญหาระหว่างทางได้บ้าง แม้จะนอยด์ๆ แต่ก็ทำใจยอมรับได้มากขึ้น”

     แม้จะบอกแบบนั้น แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อได้รับฟีดแบ็ก เกมก็ตอบในทันทีว่ามันสำคัญต่อนักเขียนแบบสุดๆ 

     “สำหรับเรามันมีผลมากถึงมากที่สุด เราจะแคปพวกคอมเมนต์เก็บไว้ตลอดเลย วันไหนเครียดก็จะมาเปิดอ่าน บางทีมันสั้นๆ แค่แบบ ‘วันนี้เหนื่อยงาน กลับมาอ่านนิยายแล้วมีความสุข’ เท่านี้เราก็มีความสุขมากแล้ว เพราะฉะนั้นคอมเมนต์กันเยอะๆ นะคะทุกคน (ส่งหัวใจ)”

IV
ว่าด้วยวงการอ่าน-วาด-เขียน

     ระหว่างคุยกัน เราหยิบหนังสือของเกมมาเปิดดู แล้วก็พบกับหน้า Trigger Warning ที่ยาวระดับมหากาฬ เกมบอกว่าอยากให้คนอ่านรู้ว่างานเขียนมีประเด็นเหล่านี้ บางทีเราอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่มันอาจกระทบกับคนอ่านบางคนก็ได้

     “เราเห็นด้วยกับการติด Trigger Warning เขียนไว้ก็ดีกว่า เพราะไม่รู้ว่าคนอ่านเป็นใครบ้าง และสภาพจิตใจเป็นยังไง”

     พร้อมเสริมว่าคำเตือนประเภทตัวละครหลักตาย ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าควรใส่ไว้หรือเปล่า ถ้าใส่ก็ดูจะเป็นการสปอยล์ เธอจึงเลือกเขียนแค่มีตัวละครตาย 

     บทสนทนาขยับเข้ามาถึงแวดวงนักเขียนนักวาด ในช่วงที่ผ่านมามีดราม่าเรื่องการลอกงานอยู่บ่อยๆ เกมผู้อยู่ในจุดที่เป็นทั้งสองบทบาทก็เชื่อว่าไม่มีงานไหนเป็นออริจินัลโดยราก และความบังเอิญมีอยู่จริงในโลก

     “เรารู้สึกว่าการลอกงานไม่ใช่แค่การวาดเหมือน มันมีเรื่องของบรรยากาศงาน ส่วนใหญ่ที่เรารู้สึกว่าลอกเลยคือเห็นแล้วนึกถึงอีกคนทันที แต่พอเห็นแล้วสิ่งที่ควรทำไม่ใช่การตะโกนบอกว่าคนนี้ลอก ควรทักไปถามก่อน ส่วนใหญ่คือล้มเพราะแหกเขา แต่เขาไม่ได้ลอก 

     “เราเข้าใจได้ที่มันมีประเด็นบ่อยเพราะโซเชียลฯ มันไว เราก็ดูงานคนอื่นตอนหัดวาด เมื่อก่อนเราดูก็อยู่ของเราคนเดียว แต่เดี๋ยวนี้มันเร็ว พออยู่ในช่วงฝึกเลยทำให้คนเข้ามาเห็นเยอะ 

     “ส่วนตัวเราเป็นคนค่อนข้างเชื่อว่าความบังเอิญมีจริง ตอนที่เขียนแฟนฟิกฯ ก็มีคนเคยส่งมาว่าเจอเรื่องนี้ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน เล่าเรื่องเหมือนกัน เราที่กดเข้าไปอ่านก็รู้สึกว่าเหมือนจริง แต่คงจะบังเอิญมั้ง งั้นไม่เป็นไร”

     ก่อนจะปล่อยให้เกมเป็นอิสระกลับไปพักผ่อน เราส่งท้ายด้วยคำถามสุดแมส แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นอยู่จนถึงตอนนี้ นั่นคือเรื่องว่าในฐานะนักเขียนอิสระ เกมอยากเห็นอะไรในแวดวงหนังสือบ้านเรา

     “จริงๆ เราคิดถึงสมัยเรียนมัธยม รู้สึกว่าตลาดมันหลากหลายกว่านี้ พอโตมามันไม่มีแนวที่เราอ่านแล้ว ก็หดหู่ใจแหละ รู้สึกว่าการที่นักเขียนอิสระมาพิมพ์เองเยอะขึ้นมากๆ แล้วมีหลายแนว ก็น่าจะช่วยให้ตลาดครึกครื้นขึ้นประมาณหนึ่ง ตอนนี้ก็มีร้านหนังสืออิสระไปออกบูธที่งานหนังสือเยอะอยู่ น่าจะทำให้คนเข้ามาเห็นเยอะขึ้น เวลาเราไปขายเองก็มีคนมาบอกว่าไม่เคยเห็นแนวนี้เลย น่าสนใจจัง มันก็คงดีถ้าสุดท้ายแล้วหนังสือทำมือโตขึ้นถึงขั้นที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงการการอ่าน

     “รู้สึกว่าตอนนี้ ตลาดหนังสือที่โตคือนิยายวาย การ์ตูนวาย เพราะกลุ่มลูกค้าเยอะ ทำให้สำนักพิมพ์แน่ใจว่าทำสิ่งนี้แล้วขายออกแน่ๆ อย่างอื่นก็ค่อยๆ หายไป เพราะมันไม่มีอะไรมารับประกันว่าจะขายออก เลยรู้สึกว่าถ้าหนังสือของนักเขียนอิสระเข้าไปในตลาดได้เยอะๆ แล้วทำให้เกิดความหลากหลาย น่าจะทำให้พฤติกรรมของคนอ่านหลากหลายขึ้น สุดท้ายอาจจะส่งผลต่อตลาดให้เขาเห็นว่าแนวนี้ก็ขายได้นะ”