Fri 18 Aug 2023

TRANSLATOR—PUBLISHER

บทสนทนากับ ‘ลมตะวัน’ นักแปลนิยายไซไฟ-แฟนตาซี ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มอ่าน แปลงาน จนถึงวันที่เลิกทำสำนักพิมพ์

     “ส่วนตัวคิดว่านักแปลคนหนึ่งไม่ได้แปลได้ทุกเรื่องในโลกนี้ มันจะมีแนวที่เหมาะกับเรา เสียงเข้ากับเราได้เป็นพิเศษ ซึ่งก็จะดีทั้งกับเราและต้นฉบับ เราจะไม่เหนื่อยมาก ไม่ฝืนตัวเอง แล้วต้นฉบับจะถูกถ่ายทอดมาในแบบที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด”

     ผจญภัยในสุสาน, สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ, ซีรีส์ชุด วอร์โคสิกัน และอีกสารพัดนิยายไซไฟ-แฟนตาซีล้วนเป็นผลงานการแปลของ ‘ลมตะวัน’

     ลมตะวันคือนามปากกาของ ‘นุช’ อดีตเภสัชกรที่ผันตัวมาทำงานด้านภาษา

     ปัจจุบันนุชทำงานเป็นล่ามพูดพร้อม (ปราสาทตั้งอยู่บนหมูกรอบ…) ในงานประชุมต่างๆ ควบคู่กับการเป็นนักแปลหนังสือ

     ย้อนกลับไปสมัยเด็ก นุชเล่าว่าตัวเองเป็นนักอ่านตัวยงที่เติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น วรรณกรรมเยาวชน และนิยายแฟนตาซี โดยมีหนังสือชุด ประกาศขายอาณาจักรแห่งเวทมนตร์ (Magic Kingdom of Landover) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้าวงการอ่านนิยายภาษาอังกฤษ เพราะทางสำนักพิมพ์แปลมาไม่ครบชุด จึงต้องไปดำๆ งมๆ เอาเอง

     จากนั้นความชอบและความสามารถด้านภาษาก็เริ่มแตกหน่อผลิบาน ในช่วงมัธยมปลายเธอเคยส่งบทความแปลไปให้ ต่วย’ตูน นิตยสารพ็อกเกตบุ๊กรายปักษ์และได้ตีพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราว

     ดูจากโปรไฟล์ที่เล่ามาคือแทบจะตรงกับสาวอักษรฯ พิมพ์นิยมแบบเป๊ะๆ แต่เส้นทางที่นุชเลือกกลับเป็นคณะเภสัชศาสตร์ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในการดำรงชีพ

     เชื่อว่าทุกคนคงอยากรู้แล้วว่าทำไมเภสัชกรคนนี้ถึงกลับมาเข้าวงการภาษาและหนังสือเต็มตัว ถึงขนาดเคยตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองขึ้นมาด้วยซ้ำ

     ให้บทสนทนาต่อไปนี้เป็นคำตอบ

คุณเริ่มทำงานแปลหนังสือแบบจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

     ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ ยังเป็นเด็กน้อยอยู่เลย ตอนนั้นงานแปลกำลังบูม มีสำนักพิมพ์หลายเจ้ารับสมัครนักแปลเพิ่ม เราก็สมัครไป ได้งานที่สำนักพิมพ์แจ่มใส แปลไปสองเล่มแต่ไม่ได้ตีพิมพ์

อ้าว

     คงเพราะเขาตัดสินใจเปลี่ยนแนวทาง แต่ก็ได้เงินมาครบนะ จากนั้นเขาก็ส่งงานอื่นมาให้ ช่วงแรกๆ จะเป็นนิยายโรแมนติกคอเมดี้ ส่วนอีกสำนักพิมพ์หนึ่งจะเป็นแนวแฟนตาซี

ตอนนั้นใช้ชื่อลมตะวันหรือยัง

     ใช้แล้ว เราอยากใช้นามปากกาเพราะมันมีความน่าเชื่อถือเรื่องวิชาชีพของเภสัชฯ สมมติกำลังจ่ายยาอยู่แล้วเจอคนไข้ทัก ก็กลัวว่าเขาจะจำได้แล้วไม่เชื่อถือเราขึ้นมา

แล้วทำไมต้องเป็นลมตะวัน

     จริงๆ ไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ วันนั้นอากาศร้อน อยากได้ชื่อเย็นๆ สดใสๆ เลยได้ชื่อลมตะวันมา (หัวเราะ)

หลังจากเรียนจบเภสัชฯ คุณยังทำงานเป็นเภสัชกรต่อหรือเปล่า

     เราอยากรู้ว่าตัวเองชอบด้านนี้มั้ยก็เลยลองทำงานเป็นเภสัชกรอยู่ในโรงพยาบาลประมาณสามปี ก่อนไปเรียนต่อด้านการตลาดโฆษณาที่ประเทศอังกฤษ ตั้งใจว่าจะทำงานเป็นผู้แทนยาในบริษัทยา แต่พอกลับมาดันได้งานแปลเอกสาร เตรียมคู่มือให้บริษัทยาก่อน ซึ่งมันเป็นงานเขียนงานแปลเฉพาะทาง เราเลยได้เปรียบมากกว่า

แล้วมาเริ่มทำงานแปลหนังสือจริงจังตอนไหน

     ตอนนั้นเรากำลังจะออกจากงานประจำ มีคนชวนไปทำล่ามพอดี เลยลองเปลี่ยนสายงานดู แล้วเราก็ยังทำงานแปลหนังสืออยู่ตลอด เพราะทั้งสองงานนี้เป็นงานแบบฟรีแลนซ์ทั้งคู่ ไม่ได้มีเวลาที่ตายตัวขนาดนั้น วันที่ไม่มีงานล่ามก็ทำงานแปล สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือเราตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง

พอจะเล่ากระบวนการทำงานแปลให้ฟังได้มั้ย

     ต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนี้กับตอนนั้นไม่เหมือนกันเนาะ ตอนที่เราเพิ่งเริ่มทำงานก็ไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรมาก เขาส่งอะไรมาถ้ามันอยู่ในความสามารถ เราก็ทำได้ แต่ถ้าตอนนี้ก็จะเลือกได้ว่าทำแต่เรื่องที่ชอบ สมมติสำนักพิมพ์ส่งมาก็จะขออ่านดูก่อนนะว่าโอเคไหม 

     ส่วนตัวคิดว่านักแปลคนหนึ่งไม่ได้แปลได้ทุกเรื่องในโลกนี้ มันจะมีแนวที่เหมาะกับเรา เสียงเข้ากับเราได้เป็นพิเศษ ซึ่งก็จะดีทั้งกับเราและต้นฉบับ เราจะไม่เหนื่อยมาก ไม่ฝืนตัวเอง แล้วต้นฉบับจะถูกถ่ายทอดมาในแบบที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

     อย่างเช่นเราไม่ดูหนังสยองขวัญ ฆาตกรรม โรคจิต เลือดสาด หรือชกต่อย เราก็จะไม่รับแนวนี้ 

คุณชอบแปลแนวไหน

     เราชอบอ่านไซไฟ แฟนตาซีน่ะนะ ก็จะเลือกแปลแนวนี้ แล้วจะชอบเรื่องที่ character driven เป็นพิเศษ ต่อให้พล็อตซับซ้อน แต่ตัวละครไม่น่าสนใจ ไม่น่าค้นหา ก็จะไม่ชอบ อยากจะรู้จักกับตัวละครนี้ต่อไป ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนดี เราชอบคนมีเสน่ห์

หนังสือหนึ่งเล่มใช้เวลาแปลนานแค่ไหน

     ถ้าเป็นสมัยก่อนก็ประมาณสามเดือน แต่เดี๋ยวนี้พอเราเลือกหนังสือได้มากขึ้น เราจะแจ้งเงื่อนไขที่เราทำได้ให้สำนักพิมพ์ เช่น เขาติดต่อมาบอกขอภายในสามเดือน เราก็จะบอกเลยว่าทำไม่ได้ เพราะเรามีภาระความรับผิดชอบอื่น อาจจะต้องขอเวลาที่ยาวกว่านั้น 

สำหรับนักแปล นอกจากรู้ภาษาต้นทางแล้ว ต้องเชี่ยวชาญภาษาปลายทางด้วย คุณคิดเห็นกับประเด็นนี้ยังไง

     เห็นด้วยค่ะ แน่นอนว่าภาษาปลายทางต้องดี อาจต้องดีกว่าต้นฉบับด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วมีคนว่ากันว่าถ้าภาษาปลายทางเราดีมาก ต่อให้แปลภาษาต้นฉบับผิด คนอ่านก็ไม่รู้หรอก อย่างงานแปลสมัยก่อนที่ไม่ได้เน้นเรื่องความแม่นยำ ถ้าลองเทียบกับต้นฉบับจะเห็นเลยว่ามันหายไปเยอะ แต่คนอ่านก็อ่านสนุกดี ถามว่ามันแท้จริงกับต้นฉบับมั้ย ก็ไม่ แต่ด้วยความที่ภาษาปลายทางดีมาก คนอ่านก็ไม่รู้สึกอะไร

     ขณะเดียวกันถ้าเราแปลแม่นยำมาก แต่ภาษาไทยแย่ ไม่ว่ายังไงก็ไม่มีใครชอบ อ่านแล้วมันไม่ลื่นไหล คำคำเดียวกันมันเลือกได้หลายอย่าง คำพื้นๆ อย่าง I ก็มีทั้งฉัน ผม ข้าพเจ้า กู ซึ่งถ้าภาษาไทยดีเราก็จะเลือกได้เหมาะสม ทำให้การอ่านมีอรรถรสที่ดี จริงๆ เอาแค่เรื่องพื้นๆ เลย สะกดคะ/ค่ะถูกหรือเปล่า แค่นี้ก็ทำให้หลายคนอึดอัดขัดใจในการอ่านได้แล้ว

แล้วนักแปลควรจะแปลทุกตัวอักษรมั้ย

     คนเขียนเขียนอะไรมา เราต้องแปลให้ครบ จะไปตัดไม่ได้ เติมไม่ได้ สรุปความไม่ได้ นั่นเป็นการทำเกินหน้าที่ แต่ถ้ามีวิธีให้คนอ่านเข้าใจมากขึ้น แล้วมันไม่ผิดจากน้ำเสียงของคนเขียน เราคิดว่าทำได้นะ 

     สมมติมีคำวิชาการสักคำ ถ้าเราแปลด้วยคำวิชาการคำนั้น ณ จุดนั้นของเรื่องแล้วจะคนอ่านจะงง มันจะสะดุด เราก็อาจจะมาคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้คำวิชาการคำนั้นได้มั้ย เป็นคำอื่นที่สื่อความหมายเท่าเทียมกัน หรือว่าใส่สร้อยคำกึ่งๆ ขยาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยน แต่จะทำให้คนอ่านไม่สะดุด เขาก็อ่านไหลต่อไป 

     ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ใช้คำยาก ในฐานะนักแปลเราตัดสินได้ว่าวิธีการสื่อสารไหนเหมาะสม แต่ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าเนื้อหาเหมาะสมมั้ย คนอ่านจะเข้าใจเนื้อหานี้มั้ย 

     ส่วนตัวเราเอง เวลาแปลจะคิดว่าตอนที่อ่าน เรารู้สึกยังไง คนที่เขาอ่านงานแปล เขาก็ควรจะรู้สึกเท่ากันกับเรา ถ้าเรารู้สึกว่ายากจังเฟ้ย หรือตัวละครนี้ถูกออกแบบมาให้พูดอะไรยากๆ ให้ตัวละครอื่นงง เราก็จะพยายามแปลให้ยากๆ งงๆ ตามนั้น

หลักการเดียวกับการแปลบทกวีด้วยหรือเปล่า ให้มันสละสลวยเท่าต้นฉบับ

     ใช่ค่ะ พยายามทำให้ได้แบบนั้นเหมือนกัน สมมติว่าต้นฉบับเป็นกลอนที่ใช้คำง่าย ไม่มีคำยากเลย เราก็ไม่ควรใส่คำที่หรูหราเกินไป มันจะรู้สึกไม่เท่ากัน เป็นเพลงกล่อมเด็ก กลอนก็ควรจะง่าย แต่ถ้าเขาใช้คำวิลิศมาหรา ขนาดเราที่อ่านครั้งแรกยังงงว่าคืออะไร ต้องไปเสิร์ชก่อน คนอ่านก็ควรรู้สึกแบบนั้น

ทำงานยากมั้ย

     ยาก ไม่ชอบหรอกค่ะแปลกลอน (หัวเราะ) เพราะเป็นพาร์ตที่อาจต้องกลับมาทวนเยอะ บางทีก็มีอันที่อ่านแล้วปิ๊งแวบเลย!  บางอันก็นึกไม่ออกเลย

     ส่วนใหญ่ที่ยากคือบทกวีที่มีอยู่จริง อย่างในเล่ม สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ มีบทกวีของ จอห์น มิลตัน (John Milton) จาก Paradise Lost ซึ่งเป็นเซ็ตติ้งที่อัศจรรย์มาก อดัมคุยกับเทวดา ภาษาก็โบราณสุดๆ พอเป็นงานขึ้นหิ้งเราก็ต้องไปหาบทความที่เขาวิเคราะห์ตีความมาแล้ว เพื่อจะได้แปลให้ถูกต้อง

คุณคิดว่าตัวเองเป็นนักแปลที่มีสำนวนเป็นของตัวเองมั้ย

     หวังว่าจะไม่มี เพราะเราไม่ควรจะมี ถ้าเราอ่านหนังสือสิบเล่มจากนักเขียนสิบคน สิบคนนั้นก็ไม่ควรจะมีเสียงเหมือนกันหมด เราต้องพยายามเป็นคนสิบคนให้ได้ 

     แต่ความเป็นตัวเราในนั้นคงเป็นลักษณะวิธีเลือกใช้คำมากกว่า อย่างที่บอกว่าเวลาแปลจะเป็นคนที่ไม่ชอบใส่เชิงอรรถ ถ้าเป็นไปได้เราเลือกที่จะเนียนไว้ในตัวเรื่องนิดหน่อยดีกว่า อันนี้จะกลายเป็นลายเซ็นของเราหรือเปล่าไม่รู้ 

     เคยมี บ.ก.บอกว่าตัวละครเราชอบพูดว่า “น่ะนะ” โดยเฉพาะถ้าเป็นตัวละครผู้หญิงวัยรุ่นจะต้องมีคำสร้อยแบบนี้ เราก็ไม่รู้ตัวเลย แต่ก็ช่วยไม่ได้น่ะนะ (หัวเราะ)

     เราคิดว่าถ้าคนหยิบงานแปลขึ้นมาแล้วรู้เลยว่าเราแปล มันก็จะไม่แฟร์กับนักเขียน เพราะนักเขียนเป็นคนละคนกัน 

หมายถึงไม่ชอบถ้าเขารู้ว่าเราแปล?

     แหม ถ้าเขาซื้อเพราะเราแปล เราก็ดีใจอยู่แล้ว แสดงว่าเขาเห็นว่างานเรามีคุณภาพ แต่นักแปลคนหนึ่งก็รับงานหลากหลายน่ะนะ สมมติเราแปลวรรณกรรมเยาวชนยุคคลาสสิกกับแปลไซไฟ LGBT+ เสียงก็ไม่ควรจะเหมือนกัน เพราะเสียงของเรื่องก็ไม่เหมือนกันตั้งแต่ต้น 

     แต่ถ้าเขาจะจับเราได้จากลักษณะเลือกใช้คำบางอย่าง คือเราไม่สามารถซ่อนตัวตนของเราหมดเนาะ การแปลคือการอ่านคนอื่นมาเขียนเป็นอีกภาษา แล้วให้คนอื่นอ่านเราต่อ มันต้องมีลักษณะการตีความของเราปนเข้าไปอยู่แล้ว ตัวละครนี้ออกมาแบบนี้ เพราะในความรู้สึกเราเขาเป็นแบบนี้ ถ้าเขาจะจับได้จากตรงนั้น เราโอเค แต่ถ้าบอกว่า โห นักแปลคนนี้สำนวนเป็นเอกลักษณ์มาก ทั้งๆ ที่แปลหนังสือคนประเภท อันนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เคยเจอเคสแปลผิดหรือมีนักอ่านมาติติงว่าประโยคนี้ไม่ควรใช้คำแบบนี้บ้างรึเปล่า

     ก็มีค่ะ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อนรุนแรง นักอ่านของเราเป็นคนน่ารักมีเมตตา ไม่เคยโดนลากไปประจานที่สี่แยก แล้วก็เคยมีคนบอกว่าแปลน่าเบื่อ ไม่รู้ว่าเขาหมายถึงเล่มไหน บางทีนักเขียนอาจจะใช้สำนวนแบบนั้นก็ได้น่า (หัวเราะ)

     ล่าสุดมีคนทักในเรื่องที่น่าสนใจมาก ในเล่ม สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ มีตัวละครคุณแม่ที่พูดได้แต่ภาษาจีน ไม่รู้ภาษาอังกฤษ แล้วลูกชายก็ฟังจีนไม่รู้เรื่อง เวลาแม่พูดในต้นฉบับเลยจะเป็นภาษาจีนเฉยๆ ไม่มีคำแปล แต่ตัวเราน่ะพอรู้ภาษาจีนนิดหน่อย เข้าใจในสิ่งที่แม่พูด แล้วคิดว่าถ้าไม่เข้าใจเลย เวลาอ่านจะติดขัด เราเลยใส่คำแปลเป็นตัวเอียงข้างๆ 

     ทีนี้มีคนอ่านทักว่าตอนเขาอ่านภาษาอังกฤษ เขาอึดอัดมากเลย เป็นฟีลเดียวกับลูกชายในเรื่อง พอเป็นฉบับภาษาไทย เขาอ่านแล้วเข้าใจ มันก็รู้สึกลึกซึ้งไปอีกแบบ พอเขาทักแบบนี้เราก็รู้สึกว่า เออ ก็จริงเนอะ เพราะตัวเราอ่านเข้าใจ เราเลยอาจมองข้ามความไม่เข้าใจ หรือความควรจะไม่เข้าใจตรงนั้นไปหรือเปล่า 

     เขาไม่ได้ว่านะ แค่มาแชร์ความคิดเห็น เราก็กลับมาคิดว่าในอนาคตเราจะทำแบบนี้อีกมั้ย เราก็ตอบไม่ได้ สมมติเป็นภาษาโปรตุเกสที่เราไม่เข้าใจ เราก็อาจจะเลือกไปอีกทาง แต่มันบังเอิญว่าเราผู้อยู่ตรงกลาง ณ ตอนนั้นดันเข้าใจก็เลยเลือกแบบนี้

ถ้าเริ่มนับเล่มแรกที่แปลตอนมหาวิทยาลัย คุณแปลงานมากี่ปีแล้ว

     เดี๋ยวคนจะนับอายุน่ะสิคะ (หัวเราะ) น่าจะสักประมาณยี่สิบปีแล้ว 

มีช่วงที่ไม่สนุกกับการทำงานแปลมั้ย

     มีค่ะ พอการแปลกลายเป็นงาน เวลานั่งหน้าคอมพ์ก็คิดว่าจะต้องมีผลผลิตออกมาเท่านี้ ซึ่งมันเป็นการบีบคั้นตัวเองเกินไป 

     ถึงจุดหนึ่งก็ต้องปล่อยให้ตัวเองไปอ่านการ์ตูน ไปดูหนัง ไปเที่ยว อีกสัปดาห์หนึ่งค่อยกลับมา ไม่รู้ว่าเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า มันก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่สุดท้ายเดดไลน์ก็จะทำให้เราทำงานเสร็จได้ แต่เรื่องไม่ได้จริงจริ๊ง เลยเดดไลน์ไปเป็นเดือนๆ ก็มี กราบขอโทษสำนักพิมพ์อย่างเป็นทางการไว้ ณ ที่นี้

     ไม่ใช่หนังสือไม่สนุกหรือไม่ดี เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ดั่งใจ แต่เราคิดไม่ออก หรือดันมันไปไม่ได้สักที พอไม่ได้จริงๆ ก็ต้องไถๆ ไป เดี๋ยวค่อยกลับมาแก้ เพราะถ้าไม่ไถเลยก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางทีพอกลับมาดู มันก็ไม่แย่นี่นา 

แปลว่าการทำงานของคุณคือแปลไปก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านอีกรอบ?

     ใช่ค่ะ แต่จะอ่านต้นฉบับทั้งหมดก่อนเสมอ แล้วตั้งเสียงของเรื่องว่าตัวละครเป็นคนแบบนี้ ฉากเป็นแบบนี้ เราจะใช้ภาษาประมาณนี้ คนนี้มีความสัมพันธ์กับคนนั้น ดังนั้นคนนี้ต้องพูดสุภาพ ยกเว้นจะเป็นช็อตที่โมโหก็ทิ้งได้ หรือพอเริ่มสนิทกันมากขึ้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้เซ็ตชนิดแบบทำทรีตเมนต์ แค่อ่านแล้วคิดไว้ก่อน ตอนแปลรวมเรื่องสั้นชุด สวนสัตว์กระดาษ เลยเหนื่อยมาก ตั้งเสียงใหม่ทุกเรื่อง เรื่องที่ตั้งแล้วไม่ได้ดั่งใจ กลับมาแก้โละเลยก็มี 

     หรืออย่างตอนแปล ผจญภัยในสุสาน เรารู้ว่ามันคือการคารวะ เมาคลีลูกหมาป่า ดังนั้นโทนจะเป็นเรื่องเล่า เป็นนิทาน เสียงก็อาจจะนิ่งๆ ตัวละครในเรื่องเป็นผี อยู่มาร้อยปี ทุกคนก็จะพูดสุภาพ เต็มคำ แต่ถ้าเป็นคนข้างนอกก็จะสมัยใหม่ได้นิดหนึ่ง แต่นักแปลบางคนก็ไม่อ่านทั้งเล่มนะ เขาบอกว่าถ้าอ่านจบแล้วจะไม่มีแรงผลักดัน ก็จะอ่านไปแปลไป จะได้เร้าใจ

     แต่อย่างเรา ระหว่างทางที่แปลก็จะมีช่วงที่แปลไม่ได้หรือติดอยู่บ้าง ก็จะใส่ภาษาอังกฤษไว้ หรือช่วงที่ไม่แน่ใจก็ใส่อ็อปชั่นไว้สัก 2-3 อย่าง หรือช่วงที่แปลแล้วโฟลว์แปลกๆ ก็ไฮไลต์ทิ้งไว้ ค่อยมาอ่านทวนอีกที

แล้วทำไมถึงมาเริ่มทำสำนักพิมพ์

     ตอนนั้นไม่อยากทำงานประจำแล้ว เลยคิดว่าเราก็แปลงานมาระดับหนึ่งแล้ว ลองทำสำนักพิมพ์ดูก็ได้นะ ไหนๆ ก็ออกจากงานประจำ จะได้มีงานประจำใหม่ (หัวเราะ) 

งานที่เลือกมาทำแตกต่างจากที่แปลก่อนหน้านี้มั้ย

     จริงๆ ช่วงนั้น Young Adult แนวแฟนตาซีเริ่มบูม ส่วนใหญ่ต้องเป็นเรื่องที่มีนางเอก มีพระเอกสองคน แล้วไม่รู้จะเลือกใครดี ถึงแม้ฉากหลังจะเป็นการกู้โลก แต่ปมหลักจะเป็นเรื่องความรัก เราว่ามันน่าเบื่อ ดังนั้นเลยจะเลือกงานแนวที่ตัวละครหญิงห้าวหาญผจญภัย ช่วยพระเอกจากความตกทุกข์ได้ยากต่างๆ ซึ่งยังคงอยู่ในโลกแฟนตาซีไซไฟ

ทำหน้าที่อะไรในสำนักพิมพ์บ้าง

     เราแปลกับประสานงานลิขสิทธิ์หนังสือเอง แต่จ้างบรรณาธิการนะ เพราะคิดว่าเราไม่ควรเป็น บ.ก.เอง ไม่งั้นถ้าตรวจงานตัวเอง เราจะไม่เห็นหรอกว่าผิดตรงไหน ก็ต้องมีคนอื่นมาช่วยดู แล้วก็จ้างพิสูจน์อักษรกับคนจัดหน้า 

เจอปัญหาอะไรบ้าง

     หลายสิ่งค่ะ มันมีงานข้างหลังเยอะเนอะ แล้วเราไม่สามารถทำเองได้ทุกอย่าง พอเราพยายามจะทำให้ได้ทุกอย่างมันก็จะช้า ต้องติดต่อคนเยอะ ลิขสิทธิ์ โรงพิมพ์ ทีมงาน หรือบางทีต้องไปเช็กสี ซึ่งบางอันมันไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด จริงๆ เราควรจะแปลหนังสือไปเรื่อยๆ เฉยๆ มากกว่า

ตอนไปออกบูธที่งานหนังสือรู้สึกยังไง

     เหนื่อยมากเลย (ตอบทันที) เพราะมันเป็นสำนักพิมพ์ที่มีพนักงานประจำหนึ่งคนคือเราเอง ดังนั้นเราจะต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่โหลดของลงรถเข็น จัดของที่บูธ คิดเรื่องจ้างคน อาหารการกิน อาจจะไม่ได้คิดคนเดียวเพราะเราแชร์บูธกับเพื่อน แต่ถ้าเป็นนักแปลอย่างเดียวคงไม่ต้องคิดอะไรแบบนี้ สำนักพิมพ์มาขอให้ช่วยขายเราก็ไป ไม่มีใครมาเราก็ไม่ซีเรียส แต่พอเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ถ้าไม่มีคนมาแล้วจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าบูธ 

แล้วความรู้สึกตอนเจอนักอ่านในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์กับนักแปลแตกต่างกันมั้ย

     ก็ไม่นะ เพราะเรายังเป็นนักแปลอยู่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เฉยๆ 

     จริงๆ จะรู้สึกมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นเราเลือกมาเองหรือเปล่า ถ้าเลือกเองก็อยากให้นักอ่านชอบเป็นพิเศษ

ทุกวันนี้คือไม่ได้ทำสำนักพิมพ์แล้วใช่มั้ย

     ไม่ได้ทำแล้ว

จุดไหนที่ทำให้ไม่ไปต่อกับกิจการนี้

     ขายไม่ออกค่ะ (สีหน้าจริงจัง)

ฮือ

     เห็นแววตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วว่ายอดขายไม่ค่อยไป แต่ไม่รู้จะแก้ไขยังไงเหมือนกัน เพราะเราก็ต้องแปลและทำงานอื่นไปด้วย เลยไม่มีเวลาคิดตรงนั้นเต็มที่

     เราตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าจะทำให้จบชุด จะไม่ค้าง หลังจากนั้นคนเขียนอาจจะเขียนภาคพิเศษ แต่อันนั้นก็ไม่เกี่ยวละ 

คิดว่าเป็น pain point จากตอนเด็กมั้ยที่เขาแปลไม่ครบ

     ใช่ๆ เราจะไม่ให้ใครแค้นเราอย่างที่เราแค้นคนอื่น แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมถึงไม่จบ

ปัจจุบันคุณยังอ่านหนังสือเล่มอยู่มั้ย

     อ่านค่ะ เพราะถ้าไม่อ่านก็จะไม่มีข้อมูลใหม่ๆ 

ข้อมูลใหม่ๆ คือหนังสือใหม่หรือเรื่องที่ยังไม่เคยรู้

     ทุกสิ่งอันเลย การจะแปลหนังสือไม่ได้อ่านแค่นิยายที่เราอยากอ่าน เพราะเราไม่รู้ว่าต้นฉบับจะพูดถึงอะไรบ้าง เราควรจะอ่านเยอะๆ อ่านไปเรื่อยๆ อ่านนู่นนี่นั่น รู้อะไรไว้นิดๆ หน่อยๆ เผื่อวันนึงต้องอ่านงานต้นฉบับแปลแล้ว เอ๊ะ อันนี้มันอย่างนี้หรือเปล่า พอไปค้นต่อจะได้ง่ายขึ้น

แปลว่าไม่ได้อ่านแค่ไซไฟแฟนตาซีแล้ว?

     ก็ไม่ค่ะ ก็ยังอ่านแค่นี้ (หัวเราะ) ที่อ่านนอกวงไปหมายถึงพวกน็อนฟิกชั่น ถ้าฟิกชั่นเรามี genre ที่ชอบ จะไม่ค่อยอ่านนอก genre ยกเว้นจะมีคนแนะนำมาจริงๆ เราก็ชอบอ่านนิยายญี่ปุ่น นิยายจีน

คิดยังไงกับเรื่องหนังสือจะตายแล้ว

     ถ้ามองว่าหนังสือคือ record of narrative เราว่ามันไม่ตายหรอก เพียงแต่เดี๋ยวนี้มันมีวิธีการบันทึกหรือนำส่งสารแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจจะน่าสนใจมากขึ้นสำหรับคนในแต่ละยุคสมัย

     แต่ถ้าเป็นหนังสือกระดาษ รูปร่างชัดเจน ทรงสี่เหลี่ยม ยอดขายคงจะน้อยลงด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้วสะดวกกว่า ถือ kindle อันหนึ่งมีหนังสือให้เลือกห้าพันเล่ม ในขณะที่เราจะไปต่างจังหวัดหนึ่งสัปดาห์ต้องแบกหนังสือกระดาษไปกี่เล่ม มันหนักนะ 

     เราคิดว่าการอ่านคงทำให้กลไกในสมองบางอย่างมันทำงานต่างไปจากการฟังหรือดู แต่ถ้าถามว่ามันดีที่สุด เพียวร์อย่างเดียวมั้ย ก็คงไม่ใช่ มันก็เหมือนกล้ามเนื้อที่เราไม่สามารถใช้ส่วนเดียวได้ ควรลองใช้หลายๆ อย่าง ถ้าขาขวาแข็งแรงกว่าขาซ้าย เดินไปก็สะดุด 

แล้วถ้าเป็นเรื่องราคาหนังสือในประเทศนี้

     ก็สูงจริงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ สมมติค่าแรงขั้นต่ำสามร้อย แล้วหนังสือก็สามร้อย มันไม่ใช่แค่วันนั้นไม่มีเงินเก็บ แต่วันนั้นไม่มีเงินกินข้าวเลย ทำไมประเทศอื่นเขาทำงานวันหนึ่งได้ทั้งกินข้าว ได้ทั้งซื้อหนังสือ ก็น่าคิดว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้ 

อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อยากเริ่มแปลหรือพัฒนาฝีมือ

     ก่อนอื่นคงเป็นคำแนะนำที่น่าเบื่อมากคือให้อ่านหนังสือเยอะๆ อ่านให้หลากหลาย หมายถึงนักเขียนหลายคน หลายแนว เรื่องยุคอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะเราจะได้เก็บคลังคำที่จะเลือกใช้ได้ หรือบางเรื่องที่ไม่เคยอ่าน เราอาจจะไม่รู้ว่าเราชอบก็ได้ แต่ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบก็ไม่ต้องไปพยายามมาก ช่างมันเถอะ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 

     แล้วก็ไม่ได้อ่านแค่เอาคอนเทนต์ อ่านแล้วต้องดูว่าเขาใช้ภาษายังไง แล้วก็ลองแปลดูเลย สมัยนี้ยิ่งง่าย ทุกคนเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คือเราก็ไม่ได้ร่ำเรียนด้านนี้มาโดยตรง ตอนแรกก็คิดว่าอยากลอง ก็เลยลอง แล้วก็มาอยู่ในจุดนี้ได้ 

ขอขอบคุณ ร้านบูรพาสาส์นสำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่