DISCIPLINE IS THE KEY
มีวินัยและนอนให้พอ
ส่องเคล็ดลับการเขียนนิยายของ ‘มิกิโตะ ชิเน็น’
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับ มิกิโตะ ชิเน็น (Mikito Chinen)
ก. เขาคือคนญี่ปุ่น (ข้อนี้น่าจะถูกนะ)
ข. เขาเป็นนักเขียน (ถ้าอยู่ในเว็บไซต์ CONT. ก็น่าจะใช่แหละ)
ค. เขาเป็นหมอ (อันนี้ไม่ค่อยแน่ใจ)
ง. ถูกทุกข้อ (เอางี้เลยเหรอพี่)
ให้เวลาคิดสองนาทีแล้วเลื่อนดูเฉลยด้านล่างได้เลย
มิกิโตะ ชิเน็น คือแพทย์และนักเขียนชาวญี่ปุ่น (ใครตอบ ง. รับคะแนนเต็มไปเลยจ้า!) เจ้าของผลงานหลากหลายแนว ทั้งสืบสวน แฟนตาซี ไปจนถึงอบอุ่นหัวใจ
นิยายของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยหลายเล่ม ซึ่งเราขอยกตัวอย่างเป็นแนวสืบสวนที่เจ้าตัวถนัดดังนี้
คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว เล่าเรื่องของ จิฮายะ และ ชิโอริ สองแพทย์สาวผู้ร่วมกันชันสูตรศพอดีตตำรวจแห่งกองสืบสวน แล้วพบข้อความประหลาดบนผนังกระเพาะอาหารบอกว่า ‘อย่าบอกลูกสาว’ ทว่า หนึ่งในสองคนนั้นคือลูกสาวของผู้ตาย ทั้งคู่จึงร่วมมือกันสืบค้นเรื่องนี้จนไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมกระดาษพับเมื่อ 28 ปีก่อน
คดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก นิยายสืบสวนอีกรสชาติของชิเน็น เมื่อเจ้าของคฤหาสน์เชิญแขกรับเชิญเก้าคนที่หลงรักอาชญนิยายมาที่บ้านเพื่อประกาศข่าวสำคัญ แต่ดันเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นเสียก่อน แขกรับเชิญจึงติดอยู่ในหอคอยกับศพและต้องช่วยกันไขคดี
ผลงานของชิเน็นได้การต้อนรับจากนักอ่านชาวไทยอย่างอบอุ่น โดยเฉพาะ คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว ที่ถูกอกถูกใจจนตีพิมพ์ซ้ำแล้วถึง 6 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ด้วยเหตุนี้ ในโอกาสที่ชิเน็นบินลัดฟ้ามาหาแฟนๆ ชาวไทยในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 เมื่อเดือนตุลาคม เราจึงชวนเขามาสนทนาเรื่องการเขียนและอ่านสักเล็กน้อย
ชิเน็นเล่าว่าเขาเกิดและเติบโตมาในครอบครัวการแพทย์ มีคุณปู่เป็นหมอ พ่อก็เป็นหมอ ตัวเขาจึงต้อง (อยาก) เป็นหมอไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความชอบเขียนและอ่านติดตัวมาตั้งแต่เด็ก
“ตอนเด็กๆ อ่านหลายแนว แต่จะชอบแนวสืบสวนเป็นพิเศษ ที่บ้านจะมีพวกหนังสือรวบรวมงานเขียนจากทั่วโลกแบบง่ายๆ ผมก็เริ่มอ่านจากซีรีส์นั้น”
เมื่อก้าวขึ้นสู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วงการนักเขียนแนวสืบสวนของญี่ปุ่นเริ่มเติบโต ยิ่งทำให้ชิเน็นอ่านแนวนี้อย่างหนัก จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าอยากเขียนนิยายของตัวเองขึ้นมา
“ตอน ม.ปลาย ผมเขียนเรื่องสั้นประกวดแล้วผ่านการคัดเลือก ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนอีกเลย ส่วนหนึ่งเพราะโตมากับความคิดว่าอาชีพนักเขียนมีรายได้น้อย เลยตั้งเป้าหมายว่าต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน จึงมุ่งเป้าไปที่การเป็นหมออย่างเดียว พอเริ่มทำงานได้สักระยะ มีรายได้มั่นคงมากขึ้น คนรอบข้างยอมรับ ผมถึงเริ่มกลับมาเขียนอีกรอบ”
ชิเน็นเปิดตัวงานเขียนเล่มแรกในปี 2012 ชื่อว่า Tagatame no ha: Rezondētoru (The Blade for Whom? Raison d’être) และได้รับรางวัลนักเขียนหน้าใหม่สาขาสืบสวนจากเวที Rose Fukuyama Mystery Literature Newcomer Award ในปีเดียวกัน
นิยายเล่มดังกล่าวเป็นการรวบรวมประสบการณ์แปดปีในแวดวงการแพทย์ของชิเน็น ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวของ ยูกิ มิซากิ ศัลยแพทย์หนุ่มผู้ผิดหวังจากการถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาจึงตัดสินใจลงมือฆาตกรรม และสมรู้ร่วมคิดกับฆาตกรต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยูกิมีโอกาสช่วยชีวิตเด็กสาวคนหนึ่ง ก่อนที่เธอจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
หลังจากนั้นชิเน็นก็ออกผลงานนิยายสืบสวนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเขาให้คำจำกัดความแนวที่ตัวเองถนัดว่าเป็น Medical Mystery
“จริงๆ ก็มีคนเขียนแนวนี้อยู่ทั่วโลก แต่ด้วยความที่ผมเป็นอายุรแพทย์ เรียนข้อมูลเกี่ยวกับอวัยวะค่อนข้างเยอะ และในตลาดยังไม่ค่อยมีคนหยิบความรู้เฉพาะทางด้านนี้มาเขียน ผมเลยรู้สึกว่าทริกที่เกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ เหล่านั้นเป็นลักษณะเด่นของผมครับ”
แน่นอนว่าการเป็นทั้งหมอและนักเขียนในเวลาเดียวกันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงชวนชิเน็นมาบอกเล่าเคล็ดลับการแบ่งเวลาให้ฟัง
“ปัจจุบัน ผมทำงานเป็นนักเขียนเต็มเวลา และทำงานในฐานะแพทย์สัปดาห์ละหนึ่งวัน โดยจะออกตรวจที่คลินิกของครอบครัว เพื่อที่วันนั้นคุณพ่อจะได้พัก ส่วนอีกหกวันที่เหลือจะเขียนงานอย่างเดียวครับ”
ชิเน็นมีกฎเหล็กสามข้อในการเขียนนิยาย
หนึ่ง—นอนให้พอ
สอง—ปิดสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต
สาม—จดบันทึกไว้อย่างสม่ำเสมอว่าวันนี้เขียนไปได้กี่คำ
“ผมเริ่มงาน 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น กำหนดไว้เลยว่าเป็นเวลาเขียนหนังสือ แล้วก็นอนวันละ 6-7 ชั่วโมงครับ แต่ถ้ามีไอเดียผุดขึ้นมากลางดึกก็จะจดโน้ตแยกเอาไว้ ไม่ต้องลุกมาเขียนต่อเลยเดี๋ยวนั้น”
ด้วยวินัยที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทำให้ชิเน็นบอกเราว่าไม่มีสักวันที่เขาเขียนไม่ออก (คุณพระ) เพราะเมื่อใดที่เริ่มเขียนคือมีไอเดียไว้หมดแล้ว เมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็นก็ปิดคอมพ์ แล้ว 9 โมงเช้าพรุ่งนี้ค่อยมาต่อใหม่ เรียกว่าไร้รอยต่อ ทอเต็มผืน หลับเต็มตื่น (อันนี้ไม่ใช่)
“ถ้าเป็นช่วงก่อนเริ่มเขียนอาจมีช่วงที่นึกไอเดียไม่ออกบ้าง แต่ถ้าเริ่มเขียนแล้วก็พิมพ์ได้ต่อเนื่องทุกวัน ผมพยายามให้การพิมพ์ต้นฉบับเป็นเหมือนกิจวัตรประจำวัน ไม่มีการหยุดครับ”
สิ่งสำคัญของการเขียนนิยายสืบสวนคือการวางแผน ชิเน็นเล่าว่าเขาวางแผนและออกแบบทุกทริกก่อนเริ่มเขียนทุกครั้ง วางลำดับอย่างละเอียดว่าจะมีคำใบ้ออกมาตอนไหนบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพล็อตโฮลระหว่างทาง
สำหรับเล่ม คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว ถือเป็นแนว Medical Mystery ที่ชิเน็นถนัด เจ้าตัวบอกว่าเขียนง่ายกว่า คดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก เพราะมีแค่ธีมหลักอันเดียวแล้วขยายความต่อจากนั้น ใช้เวลาเขียนประมาณหนึ่งเดือน ส่วนเล่ม หอคอยฯ มีทริกกับพล็อตที่ซับซ้อนกว่ามากๆ กว่าจะลิงก์กัน กว่าจะสมบูรณ์ ใช้เวลาคิดและเขียนประมาณสามเดือน
“แนว หอคอยกระจก คงไม่ค่อยได้เขียนแล้ว เพราะมันใช้เวลาเยอะ ส่วน นกกระเรียน ให้เขียนปีละสิบเล่มก็ไหวครับ (หัวเราะ)”
พูดไปนั่น นักอ่านก็อ่านไหวเหมือนกันนะ!
นอกจากแนวสืบสวนแล้ว เชื่อว่านักอ่านอาจเคยเห็นชื่อของชิเน็นบนปกหนังสือแนวแฟนตาซีหรืออบอุ่นหัวใจมาบ้าง ซึ่งก็เป็นอีกความสนใจของชิเน็นเหมือนกัน ส่วนว่าจะเขียนแนวไหนตอนไหนนั้น เขาบอกว่าขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์
“ปัจจุบันผมเป็นนักเขียนมืออาชีพ ทำงานร่วมกับหลายสำนักพิมพ์ ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีแนวที่ต้องการแตกต่างกันไป เขาจะบอกมาเลยว่าอยากได้แนวไหน และจะจองตัวล่วงหน้าอย่างน้อยสามปี ผมก็จะจัดตารางชีวิตว่าต้องเขียนเล่มไหนก่อนหลัง แล้วทำตามนั้นครับ
“แต่ถ้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่หรือคนที่ยังไม่ดังมาก ก็จะเป็นวิธีการคล้ายๆ ของเมืองไทยครับ คือเขียนให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเอาไปเสนอ”
แม้จะมีวินัยในการเขียนแค่ไหน แต่ชิเน็นก็บอกว่าไม่สามารถเขียนหลายเล่มพร้อมกันได้ ต้องเขียนให้จบทีละเล่มแล้วค่อยไปกันต่อ ถึงอย่างนั้นเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจากฆาตกรรมเลือดสาดในเล่มก่อนหน้า แล้วจู่ๆ โยกไปเขียนแนวคิดครุ่นอุ่นเหงาต่อเลย มันกระทบต่อกระบวนการทำงานของเขาบ้างไหม
“ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนหรือสวิตช์ความรู้สึกมากนะครับ เพราะผมมองว่างานเขียนก็เหมือนงานฝีมือ สมมติเล่มนี้เป็นแนวโหดหน่อย ก็ใช้สกิลในการเขียนแบบนึง หรืออีกเล่มเป็นแนวสดใสอบอุ่น ก็นำเคล็ดลับในการเขียนแบบอื่นมาใช้ ผมเป็นคนทำงานตามโจทย์ โดยมีหลักการแค่ต้องเขียนสิ่งนั้นให้สนุกที่สุดครับ”
ก่อนจะจากกันไป เราขอให้ชิเน็นช่วยแนะนำผลงานที่น่าจะเหมาะกับมือใหม่ที่ไม่เคยอ่านงานของเขามาก่อน หลังจากครุ่นคิดสักพัก ชิเน็นก็เลือก Doctor Ameku ซึ่งไม่มีแปลไทย… แต่กำลังจะมีอนิเมะในปีหน้า!
“Doctor Ameku ฉบับนิยายมีประมาณสิบเล่มแล้วครับ เรื่องเกี่ยวกับคุณหมอผู้หญิงที่เป็นนักสืบ คลี่คลายปรากฏการณ์โรคแปลกประหลาดต่างๆ ด้วยหลักการทางการแพทย์ เป็นชุดหนังสือที่ค่อนข้างได้รับความนิยมจากกลุ่มคนอ่านหลายวัย ทั้งเด็กประถมไปจนถึงรุ่นใหญ่เลยครับ
“ถ้าในบรรดาผลงานทั้งหมด ผมคิดว่าชุดนี้มีความเป็นตัวผมเองมากที่สุด แม้จะยังไม่มีฉบับแปลไทย แต่คิดว่าเวอร์ชั่นอนิเมะน่าจะฉายตามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนะครับ”
CHINEN’ READING LIST
ชิเน็นยอมรับว่าอ่านหนังสือน้อยลงจากแต่ก่อนมากๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีนักเขียนที่ชื่นชอบและอยากแนะนำผลงานต่ออีกสามคน
คนแรกคือ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม โดยเล่มที่ชอบเป็นพิเศษคือ The Murder of Roger Ackroyd เล่าถึงคดีที่เริ่มจากการฆ่าตัวตาย จากนั้นก็มีการฆาตกรรมในหมู่บ้านเกิดขึ้น
ต่อมาที่ โซจิ ชิมาดะ (Soji Shimada) นักเขียนแนวรหัสคดีที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น ชิเน็นแนะนำเป็น The Tokyo Zodiac Murders หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของนิยายสืบสวนแบบดั้งเดิม เรื่องราวของการฆาตกรรมหญิงสาวแล้วตัดชิ้นส่วนอวัยวะมาประกอบร่างใหม่
ปิดท้ายด้วย ยูสุเกะ คิชิ (Kishi Yusuke) นักเขียนแนบสืบสวนชาวญี่ปุ่นอีกคน แนะนำเป็น The Chirping of Angels (ยังไม่มีฉบับแปลไทย) ว่าด้วยเรื่องของนักเขียนผู้ไปเข้าร่วมทีมวิจัยก่อนจะฆ่าตัวตาย ในเวลาต่อมาคนในทีมวิจัยก็ทยอยฆ่าตัวตายด้วยวิธีแปลกประหลาดพิศดาร ซึ่งทั้งหมดล้วนบอกว่าทำไปเพราะได้ยินเสียงเรียกของนางฟ้า