DO YOU HEAR THE TYPEFACES SING?
เรื่องราวของสองศิลปินที่ใช้ตัวอักษรและศิลปะในการเรียกหาประชาธิปไตย
เรื่อง: ปฏิกาล ภาคกาย
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่า ไม่มีเรื่องไหนในช่วงเวลานี้ร้อนแรงกว่าการชุมนุมตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร ก็น่าจะพอเห็นว่าการประท้วงและเรียกร้องในรอบปีนี้มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ
ไม่ได้มีแกนนำเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มีเพียงการขึ้นปราศรัย ไม่ได้มีเพียงคนวัยเดียวเข้าร่วมชุมนุมอีกต่อไป เพราะการชุมนุมในยุคนี้ ไม่ว่าใครก็เป็นแกนนำได้ ไม่ว่าใครก็ไปร่วมชุมนุมได้ และไม่ว่าใครอยากแสดงออกอย่างไรก็ทำได้เหมือนกัน
การชุมนุมจึงอุดมไปด้วยความหลากหลาย ฟังปราศรัยจบ คุณอาจได้ชมการเต้นคัฟเวอร์เพลงเกาหลี คุณอาจได้ยืนดูกลุ่มคนไถสเกตบอร์ด คุณอาจได้นั่งมองกลุ่มศิลปินวาดรูป คุณอาจเดินผ่านคนทำป้ายประท้วงหลากสีสัน และคุณอาจเห็นใครบางคนนั่งยองๆ พ่นสีสเปรย์เป็นคำบางคำอยู่
ราวสามเดือนก่อนหน้านี้ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมใหญ่ภายใต้ชื่อว่า ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ โดยจุดมุ่งหมายแรกคือการไปรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นด้วยสถานการณ์ก็มีการเคลื่อนพลย้ายไปสนามหลวง
วันนั้นมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนถ้าจะไล่เรียงให้ครบคงกินพื้นที่หลายบรรทัด เพื่อให้ตรงกับความเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการอ่าน ผมจึงขอพาทุกคนเดินไปยังมุมหนึ่งของถนนราชดำเนิน ชี้ชวนให้ดูถ้อยคำบนท้องถนนที่เมื่อวันที่ 19 กันยาฯ มีคำว่า ‘ศักดินา’ ปรากฏให้ผู้คนเหยียบย่ำ
ข้อความดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เป็นผลงานการร่วมสร้างของหนึ่งศิลปินสตรีทอาร์ต และหนึ่งนักออกแบบ ผู้อยากเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านผลงานศิลปะและตัวอักษร
1
WEAPONS OF MASS COMMUNICATION
PrachathipaType คือนักออกแบบผู้มีความสนใจด้านศิลปะการใช้ตัวอักษร (Typography) เขาไม่ได้มีผลงานมากมายเท่า Headache Stencil ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้นำเสนอความเห็นทางสังคมและการเมืองผ่านงานศิลปะ แต่ด้วยความที่ได้คลุกคลีกันตามงานต่างๆ PrachathipaType จึงได้รับคำเชิญชวนให้ช่วยออกแบบตัวอักษรที่สื่อความรู้สึกของการบีบคั้น จนเกิดเป็น ‘ทางม้าลาย’ ชุดตัวอักษรที่สื่อถึงความย้อนแย้งของความปลอดภัย เพราะในเมืองไทย ทางม้าลายไม่ใช่พื้นที่เซฟโซน เช่นเดียวกับการแสดงความเห็นทางการเมืองที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกไม่ปลอดภัย
เวลาเดินข้ามทางม้าลาย เราอาจถูกรถชนเมื่อไหร่ก็ได้ การพูดอะไรออกไปก็อาจทำให้ใครคนนั้นต้องหายไปจากสังคมตลอดกาล
การนำชุดตัวอักษรดังกล่าวมาพ่นเป็นคำว่า ศักดินา จึงไม่ใช่เพียงการทำให้พื้นถนนต้องเปรอะเปื้อน เพราะเขาบอกเราว่า “ตัวอักษรมีน้ำเสียง”
น้ำเสียงที่เป็นเหมือนตัวแทนของใครหลายคนที่ลงไปบนถนน
และน้ำเสียงที่เราอยากรู้เหลือเกิน ว่าต้องอ่านอย่างไรถึงจะได้ยินมัน
ก่อนมาทำ PrachathipaType คุณทำอะไรมาก่อน
กราฟิกดีไซเนอร์กับอาจารย์พิเศษ
คุณสนใจการเมืองอยู่แล้วหรือเปล่า
จริงๆ เป็นคนสนใจการเมืองมาสักพักแล้วครับ จุดเปลี่ยนของผมคือตอนไปเรียนที่อังกฤษ ผมมีงานอดิเรกเป็นการสะสมพวกแผนที่กับโบรชัวร์ระบบขนส่งมวลชนของที่นั่น คือตอนนั้นบีทีเอสในไทยเพิ่งจะวิ่งได้ไม่นาน เอ็มอาร์ทียังไม่มีเลย พอไปถึงอังกฤษ ผมตกใจมาก เพราะไอ้ที่เราเรียนในคลาสประวัติศาสตร์ดีไซน์ว่าแผนที่รถใต้ดินลอนดอนคือการปฏิวัติด้านการออกแบบมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
แผนที่รถไฟใต้ดินและระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ทำให้ผมเข้าใจว่าแค่อ่านหนังสือออกก็จะไม่หลง ตอนนั้นยังไม่มีสมาร์ตโฟนเลย แต่ผมสามารถเข้าไปวางแผนการเดินทางในเว็บไซต์ของการขนส่ง แล้วปรินต์ออกมาเป็นโพยเล็กๆ เพียงแค่นี้ก็ทำให้รู้สึกว่าสามารถบริหารเวลาของชีวิตได้ มันทำให้เห็นเลยว่าการออกแบบที่ดีทำให้การใช้ชีวิตมีประสิทธิภาพขนาดไหน
ตอนกลับมาไทยใหม่ๆ ผมเลยพยายามทำงานกราฟิกฯ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ก็พบว่ามันมีหลายอย่างที่ไม่ถูกจริต ซึ่งอาจจะยังไม่ใช่เวลาของมันก็ได้ เพราะอย่างทุกวันนี้ที่มีกลุ่ม Mayday ขึ้นมา ผมว่าหลายอย่างก็พร้อมมากขึ้น มีโซเชียลมีเดียที่พร้อม มีภาครัฐที่เปิดรับมากขึ้น มีเครือข่ายประชาชนที่แอ็กทีฟกว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนเยอะ
แต่จุดที่มันคลิกจริงๆ น่าจะเป็นช่วงปี 2018 ตอนนั้นผมไปสร้างผลงานชิ้นหนึ่งในนิทรรศการที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโลก เนื่องในวันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (International Day for Universal Access to Information) แล้วปรากฏว่าสเกตช์งานที่ส่งไปถูกผู้จัดขอร้องว่าอย่าให้เห็นหน้าบุคคลได้มั้ย เพราะงานของผมพยายามจะบอกว่าอินเทอร์เน็ตทำให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ เลยมีการนำภาพข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยของผู้มีตำแหน่งในรัฐบาลมาใช้ ตอนนั้นผมรู้สึกย้อนแย้งมาก เพราะนี่เป็นงานที่ทำเพื่อบอกว่าเรามีเสรีภาพในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่เรากลับต้องมาเซนเซอร์สิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมก็ยอมทำตาม ยอมครอปภาพให้เห็นแค่เพียงองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ พอวันเปิดงานก็มีสื่อมาสัมภาษณ์ แล้วภาพตัวผมกับชิ้นงานก็ได้ลงสื่อ จากนั้นก็มีเพื่อนทักมาว่า ไม่กลัวทหารมาเยี่ยมบ้านเหรอ
ผมยังจำตอนเวิร์กช็อปของนิทรรศการนั้นได้ดี ศิลปินไต้หวันบอกว่าเวลาคุยกับคนทำงานสายศิลปะในไทย เขาจะรู้สึกได้ถึงเซนส์ของความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง ซึ่งพอผมทำงานออกมาแล้วถูกขอให้ลดทอน พอออกสื่อก็มีเพื่อนทักมาแบบนั้น ผมเลยรู้สึกว่าทำไมการพูดเรื่องการเมืองในบ้านเรามันยากจัง ก่อนนั้นก็เห็นข่าวเรื่องผลงานศิลปะโดนเซนเซอร์ มีทหารไปเยี่ยมนิทรรศการแล้วสั่งถอดงานบางชิ้นออก แต่เราไม่ได้โดนเอง เลยไม่ได้ตระหนักว่ามันแย่แค่ไหน นี่เราโดนแค่ขอความร่วมมือ สุดท้ายก็ได้แสดง จัดว่าเบาสุดแล้ว ยังสะเทือนเลย แล้วเอาเข้าจริง พอเป็นเรื่องการเมือง ผมก็นึกไม่ค่อยออกว่าจะทำอะไร จนไปๆ มาๆ ก็คิดว่าทำผ่านตัวอักษรแล้วกัน เพราะอย่างน้อยเราก็ได้สื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ สื่อสารเรื่องการเมือง และสร้าง awareness ทางด้านตัวอักษรให้กับสังคมด้วย
คุณเป็นไทป์ดีไซเนอร์อยู่แล้ว?
ไม่ได้เป็น ผมเป็นดีไซเนอร์ที่ชอบหาเรื่องใช้ตัวอักษรในงานอยู่เสมอมากกว่า
ทำไมถึงเลือกใช้ตัวอักษรเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง
ส่วนหนึ่งก็คือชอบและมีความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องนี้ ผมพยายามทำงานที่ใช้ภาษาไทยมาตลอด เพราะพวกงานออกแบบสเกลใหญ่ๆ ในประเทศเรามักจะมีแต่ภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยเห็นภาษาไทย เหมือนกับเราคิดว่ามันไม่เท่ อย่างนิตยสารที่ผู้อ่านเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย พวกชื่อคอลัมน์ก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ คือผมไม่ใช่คนชาตินิยม แต่ผมอยากเห็นฟอร์มภาษาไทยสวยๆ แล้วผมรู้สึกว่าตัวอักษรไทยก็มีเลเยอร์ของมันอยู่
ถ้าเรามองในเชิงกราฟิกฟอร์ม ตัวอักษรก็คือกราฟิกฟอร์มที่ไม่มีความหมายในตัวของมันเองจนกว่าจะถูกนำไปประกอบกับคำอื่น แต่เอาจริงๆ แค่เขียน ก.ไก่ แล้วเลือกใช้ตัวอักษรคนละแบบ มันก็เป็นตัวแทนของคนละน้ำเสียง ของคนละยุคสมัยแล้ว มันมีแบ็กกราวนด์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอยู่ในนั้นเยอะ เพียงแต่คนเรามักมองตัวอักษรเป็นภาชนะของข้อความ เหมือนแก้วใสที่คนไม่สนใจมันหรอก เพราะฉันสนใจแต่ว่าจะดื่มน้ำอะไร ตัวอักษรก็เหมือนกัน ฉันแค่อ่านออกก็พอ ทั้งที่ถ้าแก้วมันสวย ไวน์ที่คุณดื่มอาจจะอร่อยขึ้นนะ หรือถ้าแก้วกาแฟออกแบบมาดี มันก็จะลวกลิ้นคุณได้ยากขึ้นนะ
ผมอยากทำให้คนสนใจตัวอักษร อยากให้เขาอ่านแล้วสนใจฟอร์มของมันด้วย ผมเลยอยากเอาตัวอักษรมาทำอะไรให้สนุกๆ ให้มันมีความลึกซึ้ง เพราะตัวผมก็สนุกกับการเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างฟอร์มตัวอักษรไทยอยู่ตลอด
ส่วนเหตุผลที่เอาตัวอักษรมาสื่อสารเรื่องการเมือง เพราะผมคิดว่าการเมืองที่ effective ต้องมีแบรนดิ้ง ซึ่งตัวอักษรก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของการแบรนดิ้ง
ผมชอบดูพวกงานกราฟิกฯ ของรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จต่างๆ อย่างโซเวียต อิตาลีในยุคที่มีระบบการปกครองเป็นฟาสซิสต์ จีน เกาหลีเหนือ พวกนี้ผมรู้สึกว่าตัวอักษรเขาทรงพลังมากเลย อย่างโซเวียต เราอ่านไม่ออกหรอก แต่เราสัมผัสผ่านฟอร์มได้ว่าทรงพลังมาก ซึ่งถ้าเรามาดูกราฟิกฯ ของพรรคการเมืองไทย จะรู้สึกว่าส่วนใหญ่โคตรเชยเลย เหมือนเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าถ้าจะพูดเรื่องการเมือง ผมจะสะท้อนผ่านเรื่องของตัวอักษร ผมจะพูดมันด้วยน้ำเสียงเฉพาะตัว ด้วยฟอนต์ที่ประดิษฐ์เอง
ตัวอักษรของไทยสะท้อนบทบาท อำนาจ หน้าที่ของรัฐมากน้อยแค่ไหน
มันมีแนวคิดหนึ่งว่างานออกแบบสื่อสารของนาซีเป็นโปรเจกต์แบรนดิ้งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะทรงพลัง หนักแน่น และรวมมวลชนได้ แต่กับของไทยนั้น สิ่งที่รัฐออกแบบมาอย่างดีคือความปราณีต วิจิตรบรรจงแบบศิลปะในราชสำนัก ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าเราเห็นป้ายรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสแล้วจะนึกถึงเจ้า เพราะนั่นคือสิ่งที่รัฐพยายามสร้าง เขาหล่อหลอมรสนิยมสาธารณะของศิลปะ พวกเทิดพระเกียรติ ประเพณีนิยมมาตลอด
ถ้าเราถอยไปดูศิลปะของตะวันตก ก็จะเห็นว่าศิลปินที่ทำงานอลังการได้ต้องมีใครอุปถัมภ์ จะเป็นศาสนจักรหรือครอบครัวเศรษฐีก็ว่าไป ซึ่งของเราก็คืออะไรก็ตามที่เป็นคำว่าชาววัง เช่น การแต่งตัว การรับประทานอาหารทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นเพราะเขามีอำนาจ เขามีกำลังคน แล้วเขาก็มีเวลาว่าง สมมติถ้าเป็นชาวบ้าน แค่หาอาหารกิน ทำไร่ไถนาก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลามานั่งแกะสลัก นั่งคัดลายมือหรอก มันเลยไม่แปลกที่ศิลปะไทยแบบเป็นทางการจะต้องเริ่มมาจากวัง เพราะว่าวังมีทั้งกำลังคน อำนาจ และเวลา
อย่างตัวอักษรไทยนริศ ทำไมถึงต้องเกิดจากกรมพระนริศฯ ก็ชาวบ้านสมัยนั้นเขาคงไม่สามารถไปเจอฝรั่ง เห็นปากกาแบบที่ฝรั่งเขียนแล้วลองเอามาเขียนได้ ต่างชาติก็ต้องคบค้ากับราชสำนักก่อน ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ไทยสร้างมาแล้วผ่านการสืบทอดมันไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่เป็นภาพรวมของความมลังเมลือง ความปราณีตวิจิตรบรรจงของความเป็นไทยประเพณีนิยมที่สืบมาจากราชสำนัก ซึ่งอาจจะไม่ได้ดูขรึมขลังในเชิงทหารและอำนาจแบบพวกรัสเซีย เยอรมนี หรือจีน แต่ผมรู้สึกว่ามันสตรองมาก เลยทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ม็อบถึงเอามาล้อเล่นได้ง่ายมาก เพราะมันถูกปลูกฝังจนกลายเป็นภาพจำที่ชัดเจน หยิบมาเล่นนิดหน่อยก็ได้แล้ว
นอกจากเป็นตัวส่งสาร ตัวอักษรและตัวพิมพ์ต่างๆ ยังมีบทบาทมากกว่านั้นมั้ย
ผมว่ามันเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของสังคม เวลาเราไปต่างประเทศ นอกจากสภาพอากาศ สถาปัตยกรรม บางทีพวกตัวอักษรก็เป็นตัวสร้างบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ หรือยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราเห็นตัวอักษรของแบรนด์สินค้าต่างๆ บางทีเราสัมผัสถึงน้ำเสียงของแบรนด์นั้นได้เลยด้วยซ้ำ
แต่เป็นเรื่องตลกที่บรรยากาศแบบนั้นไม่ค่อยมีในเมืองไทย เราไม่ค่อยเห็นตัวอักษรไทยอยู่ในสเกลใหญ่ๆ เท่าไหร่ ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่เขาใช้จนน่าจะพูดได้ว่า เขาภูมิใจที่ได้พูดภาษาญี่ปุ่นดังๆ ใส่เรา
นอกจากนี้ ผมคิดว่าตัวอักษรยังบรรจุประวัติศาสตร์อยู่ในนั้นเยอะ บางทีมันไม่ใช่ประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วย แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาแบบตัวอักษรภาษาไทยมันสอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด การที่ใช้ตัว s แทน ร. ได้ เกิดขึ้นในยุค 70s ตอนที่เริ่มมีการเอาโฆษณาของแบรนด์ต่างชาติมาแล้วอยากจะประดิษฐ์ตัวอักษรไทยให้แมตช์กับลุคนั้นๆ อย่างตอนนี้ก็จะเห็นว่ามันมีตัวอักษรไทยที่ทรงเหมือนภาษาเกาหลี ซึ่งถ้าวัฒนธรรมป๊อปเกาหลียังไม่มายึดครองประเทศเรา ก็คงไม่มีใครคิดจะประดิษฐ์ตัวอักษรไทยให้เป็นลุคแบบนั้น
บางทีถ้าเราไล่ดูพวกตัวอักษรแบบต่างๆ ที่เห็นในสภาพแวดล้อม ถ้าเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นในปีไหน แล้วลองไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประวัติศาสตร์ ผมว่ามันเป็นเรื่อง fascinating มาก พวกดีไซเนอร์ต่างประเทศบางคนเขาหาแรงบันดาลใจจากการไปเดินสุสาน ดูว่าคนนี้ตายปีไหนแล้วตัวอักษรที่ถูกจารึกไว้ลักษณะเป็นยังไง ซึ่งของเรา ถ้าไปตามต่างจังหวัดยังเห็นตัวอักษรเก่าๆ เยอะอยู่ แต่ถ้าในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยเหลืออะไรเก่าๆ ไว้ให้จำเท่าไรแล้ว ก็น่าเสียดาย
การชุมนุมทุกวันนี้มีการใช้กราฟิกดีไซน์ หรือศิลปะรูปแบบอื่นๆ กันเยอะมาก ในฐานะของคนที่เป็นดีไซเนอร์ คุณมองเรื่องนี้ว่าเป็นผลจากอะไร
เหตุผลหนึ่งก็คือ democratization of tools หรือการทำให้เครื่องมือออกแบบเป็นประชาธิปไตย เมื่อก่อนเราต้องเขียน ดังนั้นถ้าคุณไม่ใช่นักบวชที่มีเวลาเยอะๆ แล้วนั่งคัดคำสอนจากไบเบิล คุณก็อาจเขียนไม่เป็น ต่อมากูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการพิมพ์) คิดแท่นพิมพ์ที่หล่อตัวตะกั่วได้ แต่ถ้าคุณไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อตัวตะกั่ว ไม่มีพื้นที่พอที่จะตั้งแท่นพิมพ์ ไม่มีงบพอที่จะซื้อฟอนต์หลายๆ ไซส์ คุณก็ไม่สามารถทำได้ การพิมพ์ในตอนนั้นเลยเป็นเรื่องของคนที่มีทุน และคนที่มีทุนก็มักจะมีอำนาจไปด้วย
แต่สุดท้ายเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นก็กลายเป็นของประชาชนขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีตัวอักษรขูด มีคอมพิวเตอร์ แล้วก็ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์สำเร็จรูปบนมือถือที่ทำอะไรง่ายๆ ไวๆ ได้ดีมาก หรือฟอนต์ที่เดี๋ยวนี้แทบไม่ต้องซื้อแล้ว กูเกิลก็มีแจก
พอเครื่องมือเป็นของทุกคนก็ไม่แปลกหรอกที่คนซึ่งโตมาพร้อมกับเครื่องมือเหล่านั้น เขาจะใช้มันได้เก่ง คล่อง และว้าวที่สุด ผมแม่งโคตรรู้สึกว่าตัวเองหมดอายุมากเลย เวลาคุยกับเด็ก หรือเห็นงานพวกเขา ผมรู้สึกว่ากูเหลือประโยชน์อะไรบ้างเนี่ย จริงๆ ที่มาทำ PrachathipaType อาจเป็นความรู้สึกหนึ่งของการไถ่บาปที่คนเจนเอ็กซ์ปล่อยให้สังคมแม่งพังมาจนเป็นแบบนี้ก็ได้นะ (หัวเราะ)
อีกอย่างพวกเขาโตขึ้นมาในโลกที่วิชวลคัลเจอร์สตรองสุดๆ ก็เลยรู้และมีเซนส์ในการออกแบบสิ่งที่เข้าถึงคนได้ดีมากๆ พวกเขาสะสมสกิลมาโดยธรรมชาติ ที่สำคัญคือ พอเราอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่เอื้อให้พูดกันตรงๆ คนเลยต้องใช้โค้ด ใช้สัญญะกันเยอะ ซึ่งพอพวกเขาเอาสิ่งที่เคยซุบซิบกันบนโลกออนไลน์มาอยู่ในโลกออฟไลน์ หรือ physical ทุกคนเลยตกใจ
ผมเชื่อว่าถ้าโลกเรายังอยู่ในวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดียและดิจิตอลแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจะยิ่งเห็นอะไรที่ใช้วิชวลจัดๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในทวิตเตอร์ที่ใช้ตัวอักษรเป็นหลัก เราก็เห็นแล้วว่าเขามีประสิทธิภาพในการพูดด้วยตัวอักษรที่จำกัดและคิดคำให้มันติดหูได้เก่งฉิบหาย
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้กับฟอนต์ทางม้าลาย
เริ่มจากเฮดเอคฯ อยากพ่นคำว่า ‘เผด็จการจงพินาศ’ บนท้องถนน แล้วผมก็มีไอเดียของฟอนต์หรือพวกตัวหนังสือที่ทำไม่เสร็จอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งก็ดันมีตัวหนังสือที่ดูหนักๆ ตันๆ อยู่ พอเปิดให้เฮดเอคฯ ดูแล้วเขาโอเคก็ทำเลย
ตอนแรกไม่ได้ตั้งชื่อฟอนต์ด้วย คือรู้ว่าเป็นตัวตันๆ ที่เราเอามาบากเพิ่ม โค้ดเนมตอนนั้นยังเป็นบล็อกกี้สเตนซิลอยู่เลย น้องๆ ในทีมบางคนยังบอกให้ตั้งชื่อว่า ศักดินา ไปเลย เพราะเราพ่นคำว่าศักดินาให้คนเหยียบย่ำ แต่เรารู้สึกว่างานนี้มันสมบูรณ์ตอนที่มีคนข้าม ก็เลยคิดถึงทางม้าลายว่ามันสื่อถึงอะไร ซึ่งพอนึกถึงความปลอดภัยได้ เราก็รู้สึกว่าทางม้าลายในประเทศนี้มันไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความปลอดภัยของเราก็เลยไม่มี
แต่จริงๆ ต่อให้ไม่มีฟอนต์ที่ออกแบบค้างไว้ เราก็คงทำให้มันออกมาแน่นๆ หนักๆ อยู่ดี เพราะตอนที่คุยกันก็ดูการพ่นลงถนนของกลุ่ม Black Lives Matter เลยว่าเขาพ่นตัวหนังสือแบบไหน เพียงแต่ของเราไม่มีใครปิดถนนให้เราได้กว้างและยาวขนาดนั้น ก็เลยได้แต่เข้ากูเกิลสตรีทไปเล็งเอาว่าจะพ่นมุมไหน พอได้มุมแล้วก็ค่อยมาดูว่าขนาดตัวหนังสือต้องเป็นยังไง ซึ่งผมก็ปรับตามประโยชน์ใช้สอยด้วยนะ เพราะถ้าเลือกพวกตัวอักษรบางๆ เวลาพ่นก็คงไม่เอฟเฟกต์เท่าไหร่
คุณออกแบบฟอนต์ตามเหตุการณ์ หรือคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว
จริงๆ ต้องบอกว่าไม่มีแพลน แต่ผมก็ตั้งข้อแม้ไว้กับตัวเองว่าจะพยายามทำตัวอักษรใหม่เรื่อยๆ อย่างทางม้าลายคือเกิดจากการลงถนน แต่อย่างตัว ‘หัวหาย’ คือเริ่มจากเห็นงานของคนหนึ่งเขียนคำว่า ‘ประชาชน’ ที่ตัดส่วนหัวกลมออกไป แล้วผมรู้สึกว่าเข้ากับสถานการณ์ในตอนนั้นจังเลย เพราะ สว.ไม่รับการแก้รัฐธรรมนูญพอดี พอโพสต์ไป ก็มาคิดต่อว่าทำไมไม่ทำฟอนต์วะ เลยหาทางทำแบบไวๆ ง่ายๆ
ผมเคยเห็นงานของพวกต่างชาติที่ทำฟอนต์เพื่อการเมือง มีดีไซเนอร์คนหนึ่งเขาทำฟอนต์มา 4 แฟมิลี่ ก็จะมีฟอนต์ที่เป็นลายมือเกรี้ยวกราด ฟอนต์สเตนซิล แต่ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ตัวไหน ทุกตัวคือสเปซซิ่งเท่ากันหมด สามารถพิมพ์สลับกันได้ สมมติคุณทำป้ายเป็นคำว่าประยุทธ์ออกไปด้วยฟอนต์เกรี้ยวกราด แต่คุณอยากจะเปลี่ยนเป็นฟอนต์สเตนซิล พอกดเปลี่ยน คุณก็ไม่ต้องมาจัดเลย์เอาต์ใหม่ ผมรู้สึกว่าไอเดียนี้น่าสนใจ ก็เลยเอามาใช้กับหัวหาย หาฟอนต์ที่คนคุ้นตา เช็กให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แล้วเอามาหั่นหัวออกในตำแหน่งที่สวยงาม เพราะผมคิดว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างฟอนต์มีหัวกับไม่มีหัวที่สเปซซิ่งเดียวกัน สตรัคเจอร์เดียวกัน มันสร้างความเป็นไปได้ในการทำงานมากขึ้นจริง
จำเป็นมั้ยที่การประท้วงด้วยศิลปะต้องสวยงาม
ผมคิดว่าไม่ต้องไปยึดติดกับความงาม เพราะมันเป็นเรื่อง subjective เพียงแต่อะไรก็ตามที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่างามก็มักจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งก็อยู่ที่คนสร้างงานด้วยว่าจะบาลานซ์ยังไง แต่ผมคิดว่าในสภาวะที่บีบคั้นกันมากขนาดนี้ ต้องมาแสดงออกในลักษณะนี้ เราอย่าไปกีดกันใครด้วยกรอบคำว่างามของเราเอง เราอย่าเอาจริตชนชั้นกลางไปกีดกันใครออกมา
ที่จริงผมไม่ค่อยโอเคกับการนำคำว่าศิลปะไปใช้ครอบทุกสิ่งทุกอย่าง ผมคิดว่าเจตนาคือสิ่งสำคัญ เราทำเพื่อความสะใจอย่างเดียวหรือเปล่า หรือทำเพื่อส่งเสียงของเราไป โดยที่มันอาจจะแตะกับเส้นของความถูกต้องทางกฎหมาย ผมก็เถียงกับคนใกล้ตัวนะ เขาก็รู้ว่าผมเป็นคนที่แคร์เรื่องความเท่าเทียม พื้นที่สาธารณะ แล้วเขาก็ไม่เข้าใจว่าเราไปพ่นศักดินาได้ยังไง ทำไมถึงเห็นดีเห็นงามกัน เพราะมันเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
ผมก็กลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่าเป็นหนึ่งในพวกมือถือสากปากถือศีล เป็นบิดาแห่งการยกเว้นกับเขาด้วยหรือเปล่า แต่ว่าหลังจากหาคำตอบให้ตัวเองแล้ว ผมคิดว่าเหตุมันมาจากถ้าคุณไม่กดอีกฝ่ายจนอึดอัดขนาดนี้ เขาก็คงไม่แสดงออกขนาดนั้น ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็นแอ็กชั่นกับรีแอ็กชั่น ที่บอกว่าถอยกันคนละก้าว คนหนึ่งมีทางถอยได้มากมายเลย ในขณะที่อีกคนถอยแล้วมีประตูคุกรออยู่ มีความเสี่ยงตายรออยู่ มันก็เลยเกิดรีแอ็กชั่นที่แรงขนาดนั้น
ถ้าการเมืองดี ตัวอักษรจะช่วยอะไรเรา
เราสามารถให้คนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำโปรเจกต์รีเสิร์ช เพื่อควบคุมมาตรฐานเรื่องสภาพแวดล้อมที่ตัวอักษรต้องสื่อสารกับคนในพื้นที่สาธารณะอย่างเช่น ป้ายทางหลวง ผมว่าแค่นี้ประเทศเราก็น่าอยู่ขึ้นแล้วนะ
แต่รัฐไทยดันมีนิสัยว่าอะไรที่บกพร่องก็โยนให้เป็นความผิดส่วนบุคคล ขับรถก็บอกให้ใช้ความระมัดระวัง ใครขับรถชนคนตายขึ้นมา ก็บอกว่าเขาประมาท ทั้งที่จริงๆ ถนนอาจออกแบบมาไม่ดี จนเราต้องเลี้ยวในมุมที่หวาดเสียวเกินไปก็ได้ ป้ายบางอันใช้ฟอนต์บีบจนอ่านยาก ตั้งอยู่ในที่ไม่เหมาะสมก็ทำคนตายได้นะ หรืออย่างพวกเอกสารต่างๆ กับตัวอักษรในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการที่เราต้องใช้งานผ่าน mobile device กันมากขึ้น แต่ภาครัฐยังใช้ฟอนต์ที่ออกแบบสมัยที่ยังใช้ในสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ระยะการมอง หรือความคมชัดก็จะต่างกัน มันก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน
จะดีกว่ามั้ยถ้าเรามีฟอนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนั้นโดยเฉพาะในทุกๆ สถานการณ์ ทุกๆ พื้นที่ที่รัฐสามารถควบคุมได้ หรือในทุกๆ พื้นที่ที่รัฐสามารถเข้าไปมีอิทธิพลกับเจ้าของเทคโนโลยี เพราะเราจะไม่ต้องมาเสียเวลาเลือกหรือปรับฟอนต์ตอนทำเอกสาร หรือเวลาขับรถ เราก็จะอ่านได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ผมยังเคยพาญาติผู้ใหญ่ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมทำแบบทดสอบทั้งระหว่างและหลังการเข้าชม ผมพบว่าสำหรับผู้ใหญ่แล้ว ตัวอักษรมีหัวกลมเป็นตัวอักษรที่อ่านง่ายสำหรับพวกเขา คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยเพ่ง ยื่นหน้า ขยับตัวก้มเงยเท่าไหร่ การออกแบบพิพิธภัณฑ์จึงควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะอย่างในยุโรปทุกวันนี้ ผู้สูงอายุก็ใช้เวลาว่างในการชมศิลปะและเข้าพิพิธภัณฑ์กันมากขึ้น
หรือแม้แต่เรื่องของฟอนต์ในไอโฟน ตอนนี้เป็นฟอนต์ธนบุรีที่ออกแบบมาตั้งแต่ยุค 80s สังเกตมั้ยว่าสระล่างกับวรรณยุกต์ชั้นที่สองมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ บางข้อความมันล้ำเส้นบรรทัดที่ระบบ iOS มีให้ ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ขยายตัวอักษรเยอะๆ มันก็จะยิ่งพัง ผมว่าถ้าออกแบบฟอนต์ใหม่ให้ดี โดยรัฐบาลอาจไม่ต้องทำเองก็ได้ ไปร่วมมือกับเอกชนหรือสถาบันการศึกษา ค้นคว้าหามาตรฐานของตัวอักษรไทยที่อ่านง่ายในหน้าจอ แล้วผลักดันมันไปให้ถึงบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ผมคิดว่าถ้ารัฐอยากเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงวัยซึ่งต้องอ่านข้อความบนจอมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐควรรีเสิร์ชพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วย
ถ้าเขาทำได้ ชีวิตของประชาชนน่าจะง่ายขึ้นเยอะ
2
ONE PICTURE, MILLION WORDS
Headache Stencil คือศิลปิน ผลงานส่วนใหญ่ของเขามักปรากฏในรูปแบบกราฟฟิตี้ ภาพสีสเปรย์ที่เขาพ่นส่วนใหญ่มักเป็นเหตุการณ์หรือตัวละครสำคัญทางเหตุบ้านการเมืองในช่วงเวลานั้น—เสือดำ, นาฬิกาประวิทย์, นายกฯ ในหลากหลายอิริยาบถ ถูกจับเขานำมาพ่นแล้วพ่นอีก
ปกติ Headache Stencil มักใช้คำเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของภาพ เพราะเขารู้สึกว่าตัวอักษรเป็นจุดอ่อนของเขา
เปรียบให้เวอร์เหมือนเหล่าจอมยุทธในนิยายกำลังภายใน เมื่อมีจุดอ่อนก็ควรปรับให้เป็นจุดแข็ง Headache Stencil จึงไปร่วมมือกับ PrachathipaType ผนึกกำลังจนได้วิทยายุทธใหม่ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของฝั่งเรียกร้องประชาธิปไตยดุดันยิ่งกว่าเดิม
ยังจำที่มาที่ไปของการพ่นคำว่า ‘ศักดินา’ ลงบนถนนได้อยู่มั้ยครับ
Headache Stencil: ผมคิดว่าวันนั้นคนน่าจะเยอะ ถ้าไปพ่นอะไร ตำรวจคงไม่ว่างมายุ่งกับเรา แล้วผมก็อยากพ่นลงถนน เพราะก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการทาสีคำว่า Black Lives Matter บนถนนของชาวอเมริกัน ซึ่งผมก็อยากพ่นงานชิ้นใหญ่ๆ แต่จะทำเป็นรูปก็ยาก เลยคิดถึงการทำเป็นคำขึ้นมา เลยไปปรึกษาอาจารย์ (PrachathipaType) เพราะเห็นเขาทำฟอนต์ได้ ไปๆ มาๆ ก็ชวนมาทำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเขาก็ดูเก็บกดจากการเมืองแล้วอยากหาที่ระบายออก
PrachathipaType: เมื่อกี้เราเพิ่งบอกว่ามันคือการไถ่บาป
Headache Stencil: โอเค คือการไถ่บาปก็ได้ (หัวเราะ)
ตั้งใจพ่นคำนี้ตั้งแต่แรกเลยมั้ย
ตอนแรกจะเป็นคำว่า ‘เผด็จการจงพินาศ’ แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเขาขยับเพดานขึ้น แล้วผมก็เห็นว่า ‘ศักดินา’ มันครอบคลุมในสิ่งที่ผมจะพูดถึงมากกว่า เลยตัดเหลือแค่นี้
วิธีการทำงานในวันนั้นเป็นอย่างไร
ตอนพ่นใช้เวลาไม่นาน มันยากตอนหาที่ คือเดินหาเหลี่ยมอยู่นานมาก จนเจอเหลี่ยมที่ใกล้ สน. ซึ่งมันเป็นโค้งพอดี ผมคิดว่าถ้านั่งยองๆ ก็คงไม่มีใครเห็น แต่ก็ลืมคิดไปว่ารถที่เลี้ยวมาก็ไม่เห็นเหมือนกัน พ่นไปก็ต้องคอยหลบรถไป หรืออย่างตอนวางบล็อกก็ยาก เพราะตัวหนังสือใหญ่ สูงราวๆ เมตรครึ่ง คำก็ยาวประมาณหนึ่ง เลยกินเวลาวางบล็อกเป็นชั่วโมง ฝนก็ตก มืดก็มืด แล้วผมก็ไม่เคยพ่นใหญ่ๆ บนพื้น โชคดีที่ตอนหลัง Spankystudio ผ่านมา เขาเลยลงมาช่วยกั้นรถ รวมเวลาทั้งหมดก็สองชั่วโมงได้ เพราะต้องทำแล้วหยุดอยู่หลายครั้ง แบบทำๆ อยู่ก็มีรถเหมือนมูลนิธิเข้ามาจอด ก็ต้องพากันเผ่น
จริงๆ ระหว่างวางบล็อก ตำรวจก็ผ่านหลายรอบ เขาก็มองนะ แต่เขาไม่รู้ว่าเราทำอะไรก็ขับผ่านไป แล้ววันนั้นมันมีกิจกรรมเยอะ ตำรวจก็คงไม่ได้คิดว่าจะมีคนมาพ่นพื้นถนน
ตอนทำเสร็จแล้ว มีอยู่ช็อตหนึ่ง แม่งมีรถตู้พุ่งมาจอดตรงที่จุดทำเลย ดูสภาพรถแล้วคิดว่าโดนแน่ๆ ตอนนั้นทนายเตรียมวิ่งเข้ามาคุยแล้ว ปรากฏว่าไม่ใช่หรอก เขาปิดประตูรถไม่สนิท (หัวเราะ) เหี้ยมาก เยี่ยวเกือบแตก
การที่เราเลือกพ่นในวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ ถือว่ามีข้อดีข้อเสียยังไง
ข้อดีคือถ้าปังก็ปังมาก ข้อเสียคือถ้าไม่ปังก็หายเลย เพราะในสื่อจะถูกข่าวของกลุ่มผู้ชุมนุมแย่งพื้นที่ไปหมด
แต่จริงๆ ถ้าผมต้องการให้เมสเซจในตัวงานของผมจุดประเด็นหรือเรื่องใหม่ๆ ผมจะไม่เลือกทำในวันที่มีประเด็นสำคัญ เพราะถ้าตั้งใจจะส่งเมสเซจในภาพ แล้ววันนั้นมีอะไรเกิดขึ้นเยอะแยะ มันก็จะสูญเปล่า ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นอะไรที่เกื้อกูลกับม็อบ หรือกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่เป็นอะไร
แบบนี้จะเป็นการเปิดเผยตัวตนของคุณหรือเปล่า
ไม่หรอกครับ อย่างวันที่หน้าคุกคลองเปรมฯ (24 ต.ค.) ผมพ่นอยู่ท่ามกลางนักข่าวเลย แต่ด้วยความที่ไม่มีใครป่าวประกาศ ก็จะไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร แล้วผมก็ไม่ได้พรีเซนต์ตัวคนทำ แต่พรีเซนต์ที่ตัวผลงานมากกว่า ต่อให้มีรูปผมอยู่เยอะ คนก็จำไม่ได้หรอก นอกจากตำรวจ น่าจะจำหน้าได้ ทะเลาะกันมาหลายปีแล้ว
มองจากมุมของคนนอกก็อาจสงสัยว่าการสร้างผลงานสตรีทอาร์ตส่งผลอะไรได้บ้าง เพราะสามารถถูกพ่นทับหรือกลบได้ ทำไมคุณถึงไม่เลือกแสดงออกด้วยวิธีอื่นอย่างออนไลน์ไปเลย
ถ้าตีความสิ่งที่ผมทำอยู่ในสตรีทอาร์ต คำตอบก็จะบอกอยู่ในชื่อแล้ว ถ้าตีความสิ่งที่ผมทำว่าคือกราฟฟิตี้ คำตอบก็อยู่ในชื่อแล้วเช่นกัน ออนไลน์มันเป็นงานกราฟิกฯ มากกว่า ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ผมถนัด
เหตุผลหลักจริงๆ ที่ทำให้ผมยังเสี่ยงตายออกไปพ่นก็คือมันเพิ่มโอกาสให้มีปัญหา การมีปัญหาสำหรับผมคือพื้นที่สื่อนะ ถ้าจับกูไม่ทัน มึงก็โดนกูขยี้เหมือน 3-4 ครั้งที่ผ่านมา มึงโดนกูยึดพื้นที่สื่อทั้งหมดแน่
อย่างนี้เหมือนคุณเอาตัวเข้าแลกหรือเปล่า
ถ้าจะใช้คำนี้คงไม่ใช่ ด้วยความที่เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กดีตั้งแต่ต้น ค่อนข้างจะชินกับการไซโคของตำรวจ ซึ่งตำรวจแม่งอาจจะมองเราดีเกินไป คงไม่ได้คิดว่าเราจะโจรขนาดนี้ เพราะอย่างครั้งล่าสุดที่หนี แม่งมีช่องโหว่หนึ่งที่ยังไม่มีใครสังเกตเลยนะ นั่นก็คือคนเหี้ยอะไรขับรถมาถึง เห็นตำรวจแล้วหนี ทุกคนแม่งไปโฟกัสเรื่องตำรวจจะมาหิ้วหมด ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไป เจอตำรวจก็คงลงไปคุยดีๆ แต่ผมเห็นปุ๊บ รู้ว่าเป็นตำรวจ หนีเลย ก็เลยทำให้รอดในวันนั้น
คงเป็นโชคที่ผมไม่ได้โตมาด้วยการเป็นเด็กดี โตมาด้วยการเป็นเด็กเกเรเกตุง เลยจะชินกับสภาวะการหนีคู่อริ หนีโจทย์ ก็เลยทำให้เอาตัวรอดจากเขาได้โดยบังเอิญ
ทำไมคุณถึงเลือกใช้ผลงานศิลปะในการต่อต้าน
มันคือสิ่งที่ผมถนัด ทำอยู่อย่างเดียว แต่พอทำไปแล้ว ผมก็ได้เห็นอย่างหนึ่ง คือศิลปะมีเสรีภาพมากกว่าการพูด ทั้งที่ความจริงการพูดควรจะเสรีกว่าด้วยซ้ำ แล้วสำหรับผม ศิลปะมันส่งเมสเซจได้มากกว่า ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตีความของคนด้วย รูปรูปหนึ่งแม่งตีความได้เป็นพันอย่าง ขึ้นกับประสบการณ์ ขึ้นกับสิ่งที่อยู่ข้างในใจของแต่ละคน
แต่มันก็จะมีประเด็นเรื่องกรอบของคำว่าศิลปะ เช่น บางคนก็มองว่ามันเลอะเทอะ หรือเป็นแค่ข้อความทั่วๆ ไป
ผมรู้สึกว่าการพ่นสี พ่นข้อความต่างๆ ก็คือสันติวิธีนะ ถ้าผมเอากระป๋องไปขว้างใส่หัวใครค่อยว่าไปอย่าง คือถ้าจะมาลงโทษตามกฎหมายว่าผมทำลายทรัพย์สินสาธารณะก็มาลงโทษได้
ผมขอพูดถึงวันที่ไปพ่นที่หน้าคุกคลองเปรมฯ แล้วกัน วันนั้นผมโพสต์ชวนคนในเฟซบุ๊ก ผมก็ไม่รู้หรอกว่าคนจะไปเยอะ ซึ่งตอนแรก พวกเด็กๆ เขาก็ไม่กล้า เอาผ้าดิบมาปูแล้วก็พ่นลงบนนั้น ซึ่งผมก็บอกว่าพ่นลงพื้นไปเลย เพราะถ้าพ่นบนผ้า เก็บกลับไปแม่งก็ไม่เห็นแล้ว พ่นลงบนพื้นสิ แม่งจะได้เห็นว่าคนเขาพูดอะไรกันบ้าง
ถามว่านั่นคือศิลปะมั้ย ในมุมเราก็ต้องบอกว่าอาจจะตีเป็นศิลปะยาก แต่ถ้าถามว่านั่นคือกราฟฟิตี้มั้ย ก็อาจจะได้นะ เพราะฉะนั้นถ้าตีความว่านั่นคือกราฟฟิตี้ มันก็คือศิลปะ ที่เห็นว่าพ่นข้อความหยาบคาย เขียนอะไรเต็มพื้น นั่นคือรากของกราฟฟิตี้อยู่แล้ว กราฟฟิตี้เกิดขึ้นมาเพื่อการเรียกร้อง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง หรือต่อให้มีเฟซบุ๊ก ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่มีใครรู้จัก สิ่งนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณไปยืนตะโกนอยู่ในห้องน้ำบ้านตัวเอง การที่คุณมาพ่นกราฟฟิตี้ ต่อให้คนเห็นแค่คนเดียว ก็ถือว่ามีคนรับรู้ในสิ่งที่คุณต้องการส่งออกไปแล้วนะ แล้วนั่นก็คือการแสดงออกอย่างหนึ่งเหมือนกัน หรือถ้าคุณพ่นข้อความที่แม่งปังมากๆ แบบคนเห็นแล้วจำประโยคได้เลย ถ้าคุณไม่ตีเป็นศิลปะ อย่างน้อยที่สุดคุณก็ต้องตีความไปว่านั่นคือวาทศิลป์ ต่อให้บางคนจะพ่นแค่ว่า ไอ้เหี้ย ไปตายซะ ผมว่ามันก็คือข้อความในใจ
คนคนหนึ่งจะโกรธเกลียดคนที่ไม่รู้จักขนาดนั้นได้ยังไง ถ้าเขาไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตจริงๆ
อย่างในกรณีของผม มีหลักฐานของคนที่ผมรู้สึกว่าจะมาอุ้มทุกอย่าง มีแม้กระทั่งรูป ชื่อ ยศ ซึ่งถามว่าผมรับรู้ข้อมูลพวกนี้มาจากไหน ผมก็ไม่ใช่คนที่จะทำงานโดยไม่รู้จักใครเลย หลายเรื่องผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูด แต่ถ้าวันหนึ่งเราเป็นฝ่ายถูกไล่ต้อนทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ผมก็ถือว่าไม่มีความจำเป็นต้องเคารพคนแบบนี้เหมือนกัน
เวลาสร้างงาน พวกคุณคิดว่าจะสื่อสารกับพวกเดียวกันหรือคนละกลุ่ม
H8: ผมไม่ค่อยสนใจมุมมองฝั่งตรงข้าม เพราะจากประสบการณ์ที่ทะเลาะกันมา 3-4 ปี ผมว่าเราต้องให้เวลาพวกเขาหน่อย บางคนเขามีความเชื่อแบบนั้นมาทั้งชีวิต จะไปบอกให้เขาเลิกทันทีไม่ได้หรอก เหมือนผมดูดบุหรี่ทุกวัน จะให้เลิกเลยก็คงไม่ได้ แต่วันหนึ่งก็อาจจะเลิกได้
บางคนอาจคิดว่าให้มันจบในรุ่นเรา ผมมองว่ามันจะจบในรุ่นเราได้ยังไงในเมื่อคนยังถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง แล้วฝั่งหนึ่งพร้อมจะฆ่าอีกฝั่ง ส่วนอีกฝั่งไม่คิดที่จะทำร้ายด้วยซ้ำ ผมถึงมองว่าคงตายก่อนอยู่แล้ว แต่ก็เริ่มมองเห็นตอนจบแล้วแหละ สมมติว่าวันนี้เปลี่ยนไม่ได้ เด็กที่ออกมาพูดแม่งโดนหิ้วโดนอะไร แต่อีกสิบปีข้างหน้า เด็กตอนนี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีพละกำลังในทุกๆ อย่าง
อีกอย่างคือผมไม่เชื่อว่าคนฝ่ายตรงข้ามจะตาสว่างได้ด้วยงานศิลปะของผม สิ่งเดียวที่จะทำให้คนพวกนี้ตาสว่างได้คือความผิดพลาดของฝั่งเขาเอง ความผิดพลาดในการใช้กฎหมาย ในการเลือกวิธี ในการโกง ในการหน้าด้านที่จะทำโดยไม่สนใจอะไรก็ตาม อย่างวันที่ 16 ตุลาฯ พอเกิดเหตุการณ์ฉีดน้ำสลายการชุมนุม พ่อแม่เด็กไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ที่เลิกเป็นสลิ่ม เพราะมึงไปทำลูกเขา โอเคเขาอาจจะไม่เปลี่ยนความคิดในทันที แต่แม่งอาจทำให้เขาเริ่มคิด เริ่มดูข้อมูลแล้วว่าเด็กพวกนี้ไปทำอะไรถึงต้องโดนขนาดนั้น
ผมถึงบอกว่ามันต้องใช้เวลา เพราะก็เห็นๆ อยู่ว่าอีกฝั่งปิดตาข้างเดียวเสมอ เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่เราพูด โพสต์ หรืองานที่เราทำ แม่งจะไปอยู่ในตาข้างที่มันปิด สำหรับผมเลยไม่มีประโยชน์ที่จะสื่อสารกับพวกเขา
PT: วันที่ 16 ตุลาฯ เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผม เพื่อนผมเป็นหมอ เขาบอกว่าพาเด็กมัธยมหนีออกมาได้หกคน ผมรู้จักเพื่อนคนนี้มาหลายปีไม่เคยเห็นเขาเดือดขนาดนี้มาก่อน เขาบอกว่าเด็กบางคนที่พาหนีออกมาเป็นเด็กผู้หญิง ร้องไห้ ตัวสั่นไม่หยุด เขาพาหนีไปโรงพยาบาลแถวนั้น เอาไปเปลี่ยนเสื้อกับพวกหมอ พยาบาล แล้วผมก็มีลูกศิษย์คนหนึ่งที่ไปม็อบ เขาส่งข่าวมาตลอด แต่พอฉีดน้ำก็หายไปเลยสองชั่วโมง ส่งข้อความไปไม่ตอบ โทรไปไม่รับ ตอนนั้นผมจะร้องไห้อยู่แล้ว เพราะเขาเป็นเด็กมีอนาคต พอเขาตอบกลับมาว่าปลอดภัยแล้ว อยู่รัฐศาสตร์ แล้วผมเห็นข่าวว่าอาจารย์ที่เปิดตึกเป็นอาจารย์ที่สนิทกัน เราก็ดีใจ
แต่วันถัดมา แม่ผมแชร์ข่าวเด็กหนีเข้าไปในคณะรัฐศาสตร์ลงกรุ๊ปไลน์ ตอนแรกผมคิดว่าแม่คงจะเริ่มเห็นใจเด็กบ้างเลยลองชวนคุย ปรากฏว่าสิ่งที่แม่ตอบมาคือ ฉีดแค่เบาๆ แค่นี้ก็วิ่งหนีกันกระเจิงแล้ว ผมถามแม่ว่ามันเบาเหรอ มันมีคลิปที่คนเขาล้มกันเลยนะ แม่บอกว่าเขาไม่ได้ลงมาตะลุมบอนกันสักหน่อย แล้วเขาก็พูดทำนองว่าขี้กลัวกันไปเอง
ตอนนั้นผมรู้เลยว่าผมคุยกับแม่ไม่ได้แล้ว ผมเดินหลบไปร้องไห้ เหตุการณ์นี้โหดร้ายกับผมมาก เพราะผมพยายามทำความเข้าใจคนอีกฝั่งมาตลอด เลือกจะปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา หรือมาทำงานแบบนี้แล้วต้องปิดบังตัวเอง โดยที่คิดว่าวันหนึ่งจะสามารถเอาบทสัมภาษณ์เราในบทบาทนี้ไปให้แม่ดูได้ แต่วันนั้นทำให้ผมรู้เลยว่าไม่ไหวว่ะ
ผมเชื่อมาตลอดว่าถ้าเราสามารถพูดกับคนอีกฝั่ง ทำให้เขาฉุกคิดได้ ทำให้เขาเกิดคำถาม ทำให้เขาหันมามองอะไรได้บ้างก็น่าจะโอเค แต่หลังวันที่ 16 ทำให้ผมต้องมาคิดใหม่ว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า ตอนนี้ผมเลยถือว่าพูดกับฝั่งที่คิดเหมือนกันไปก่อน โดยที่คาดหวังว่าจะมีใครเห็นอะไรบ้าง
แล้วก็ได้ลองไปร่วมกิจกรรมระดมสมอง เพื่อหาวิธีสื่อสารกับคนที่อยู่ในเฉดต่างกันของ ‘สเปคตรัมแห่งความเหลือง’ ได้งานอาสา ทำกราฟิกฯ สำหรับคอนเทนต์เพื่อสะกิดกลุ่มคน ‘กลางๆ’ ให้เริ่มคิดและตั้งคำถาม ก็หวังว่ามันจะช่วยให้ความรู้กับสังคม และเยียวยาตัวเองได้บ้าง