VERY THAI ARCHITECTURE
เดินเล่นย่านท่าดินแดง ดูสถาปัตยกรรมที่โคตรไทย และเหตุผลว่าทำไมทางเท้าบ้านเราถึงไม่เจริญสักที
เรื่อง: ธีรภัทร์ เจนใจ
ภาพ: ชวิชญ์ มายอด
เคยเป็นกันมั้ยครับ เวลาอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือฟังเพลงใดๆ แล้วรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวอยากเจอเจ้าของผลงาน อยากพูดคุย อยากทำความรู้จัก และจะดีมากๆ ถ้าได้รู้เบื้องหลังความคิดก่อนจะมาเป็นผลงานชิ้นนั้น
อาคิเต็ก-เจอ คือหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบ ส่วน ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ คือนักเขียนที่ผมอยากเจอ
ชัชคืออดีตนักเรียนสถาปัตย์ เป็นสถาปนิก แต่ดันคิดอยากเล่าเรื่องเมืองด้วยมุมมองที่เขาสนใจ จนได้เข้าไปลับคมฝีมือการเขียนในค่ายสารคดี ก่อนจะมีโอกาสเขียนคอลัมน์ อาคิเต็ก-เจอ ในเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง The Cloud
และเพราะเนื้อหาในคอลัมน์ (ซึ่งถูกรวบรวมและปรับแก้จนเป็นหนังสือ อาคิเต็ก-เจอ ที่ผมได้อ่านในเวลาต่อมา) นี่แหละที่ทำให้ผมอยากพูดคุยกับเขา เพราะด้วยชื่อคอลัมน์ซึ่งบ่งบอกว่าต้องพูดถึงงานสถาปัตย์แน่ๆ แต่เมื่อไล่อ่านแต่ละตอน ผมกลับพบว่างานสถาปัตย์ที่ชัชหยิบมาเล่า มันไม่เหมือนกับงานสถาปัตย์ที่เคยเข้าใจ
ไม่มีวัด ไม่มีหน้าจั่ว ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่ใช่ตึกอาคารแบบบาวเฮาส์ ไม่ใช่บ้านสไตล์มินิมอล แต่มันเป็นงานสถาปัตยกรรม ‘แบบไทยๆ’ ที่อยู่รอบตัว อยู่ละแวกบ้าน อยู่ข้างทาง และอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น เสาโรมันในคฤหาสน์หรืออาคารพาณิชย์ ซุ้มรอผู้โดยสารของพี่วินมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงสิ่งของที่ดูยังไงก็ไม่เห็นใกล้เคียงงานสถาปัตย์อย่างกันสาด ร่มแม่ค้า กระถางต้นไม้หน้าบ้าน หรือไม้กั้นห้ามจอดรถ
ในฐานะที่ผมเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เผชิญมาแล้วแทบทุกปัญหาและความห่วยแตก ผมแทบไม่เคยรู้สึกชื่นชมหรือพึงพอใจความเป็นกรุงเทพฯ เลย แต่ชัชกลับมองเห็นความคิดสร้างสรรค์และความพยายามที่จะออกแบบงานสถาปัตย์ของผู้คน เพื่อให้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างได้อย่างมีความสุข—เขามองเห็นได้ยังไง?
ผมขอร้องให้ชัชพาเดินทัวร์ย่านท่าดินแดนซึ่งเป็นพื้นที่ละแวกบ้านของเขาสักหน่อย (จริงๆ ก็อยากเดินในย่านที่กว้างกว่านี้ แต่ด้วยสังขารของคนทำงานออฟฟิศน่ะนะ…) ด้วยอยากรู้ว่า ถ้าลองมองเมืองแบบเขาแล้วจะเห็นอะไรบ้าง
และจะดีมากๆ ถ้าตอนไปนั่งพักเหนื่อยที่สตูดิโอของเขา—ปลายทางของเราในวันนี้ แล้วผมได้เข้าใจมากขึ้นว่า การมองหาความสวยงามเล็กๆ ท่ามกลางเมืองที่หอมหวลไปด้วยมลพิษ สายไฟยุ่งเหยิง สะพานลอยสูงลิบ ทางม้าลาย ทางเท้าผุพังชวนเดิน จะช่วยให้เมืองของเราดีขึ้นได้อย่างไร
1
“เออว่ะ มันเริ่มต้นจากอะไรนะ…” ชัชเงียบคิดไปพักหนึ่ง เมื่อผมย้อนถามถึงจุดเริ่มต้นของการเดินชมเมือง ในขณะที่เท้าของเขาก็ยังก้าวนำผมและทีมงานลัดเลาะเข้าซอยไม่รู้ชื่อ รู้แค่ว่าท้ายซอยคือที่ตั้งของล้ง 1919 ที่เงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยว
“เหมือนตอนนั้นจะมีโปรเจกต์งานศิลปะแถวบ้าน แล้วเพื่อนชวนไปนำทางให้ศิลปินคู่รักชาวญี่ปุ่น คือเขาเป็นนักเดินทางที่เวลาไปเมืองไหนก็จะทำหนังสือเกมผจญภัยเกี่ยวกับพื้นที่นั้น เราจึงได้เดินสำรวจชุมชนบ้านตัวเองไปด้วย”
นอกจากชัชจะได้รู้ว่า แถวบ้านตัวเองยังมีอีกหลายเส้นทางที่ไม่เคยไปแล้ว เขายังได้เจอสิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน ผ่านการมองมุมเดียวกับคู่รักชาวญี่ปุ่น
“พวกเขาไม่สนใจวัดเลยว่ะ ตอนแรกคิดว่าต้องสนใจแน่ๆ กลายเป็นว่าเขาเฉยๆ ออกจะเบื่อๆ จนเขาไปเห็นตู้เสี่ยงเซียมซีที่มีไฟวิ่งเป็นวงกลมนั่นแหละ เขายืนดูกันจริงจังมาก หยอดเหรียญเล่นกันอย่างมีความสุข แล้วเขาเลือกที่จะบันทึกสิ่งนี้ไว้ในหนังสือ ไม่ใช่วัด เราถึงเก็ตไอเดียว่า อ๋อ จริงๆ ของที่น่าสนใจมันต้อง relate กับคนสิ แต่สมัยเรียนสถาปัตย์ฯ เราถูกสอนให้สนใจเมือง การทำผังเมือง การพัฒนาย่าน ซึ่งทำให้มองแต่ heritage เวลาทำแผนที่ก็จะบอกแค่วัดอยู่ตรงนี้ ชุมชนบ้านเก่าอยู่ตรงนี้ แล้วก็จบไปแค่นั้น ไม่ได้เชื่อมโยงกับใครเลย”
หลังจากวันนั้น เขาก็เริ่มถ่ายรูปสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจระหว่างทาง โพสต์ลงโซเชียลฯ มีคนสนใจ กลายเป็นทริปเล็กๆ พาคนเดินดูตามย่านต่างๆ และก็เป็นอย่างที่ผมเล่าไว้ตอนแรก ด้วยความอยากเล่าเรื่อง วัตถุดิบข้างทางที่สะสมไว้จึงเปลี่ยนเป็นคอลัมน์ และหนังสือในเวลาต่อมา
“แต่ละเรื่องที่เราเลือกมาเล่า มันเกิดจากการที่เราเดินผ่าน เห็นซ้ำๆ หลายครั้งจนตกตะกอนว่า สิ่งนี้คือความเป็นไทยที่คนอ่านหรือคนไทยทุกคนน่าจะเห็นตรงกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกชิ้นที่เราคิดว่าน่าสนใจจะนำมาเล่าในคอลัมน์ได้ แต่จะทิ้งไปเฉยๆ ก็เสียดาย ไหนๆ ถ่ายรูปเก็บไว้แล้ว ก็เอามาทำอะไรสักอย่างในเฟซบุ๊กตัวเอง เผื่อจะเกิดประโยชน์กับใครบ้าง”
นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจกต์ Everyday BKK Architecture Object ที่ชัชเอารูปถ่ายงานสถาปัตย์ไทยๆ ที่พบเจอระหว่างทางมาวาดเป็นภาพสเกตช์ พร้อมกับอธิบายด้วยวิธีคล้ายการวาดแบบแปลน ทั้งบอกสเกลกว้าง-ยาว-สูง บอกวัสดุที่ใช้ วาดภาพขยายเพื่อให้เห็นรายละเอียด พร้อมกำกับวิธีการใช้งาน โดยตั้งเป้าว่าจะโพสต์ภาพสเกตช์วันละ 1 ชิ้น ติดต่อกัน 1 ปี
ติดตามผลงานทั้ง 365 วันได้ที่นี่
“ทำไปทำไม คิดว่าจะได้อะไรจากการทำสิ่งนี้”
“ไม่รู้เลย แค่คิดเอาเองเล่นๆ ว่า ถ้าทำทุกวันก็คงจะคิดอะไรได้สักอย่างในตอนท้าย คือเราคิดว่าไอเดียนี้มันน่าจะดี ทำไปแล้วคนที่เข้ามาดูน่าจะได้อะไรบ้าง หรือเราเองก็น่าจะได้จากการทำสิ่งนี้จนเป็นกิจวัตร แต่ตอนเริ่มทำยังไม่ได้เห็นภาพชัดว่าจะกลายเป็นอะไร”
ผมแอบส่องเฟซบุ๊กของชัชในเช้าวันที่ไปสัมภาษณ์ ก็เห็นว่าเขากำลังจะสเกตช์ครบ 365 ชิ้นในอีกไม่กี่วัน (และในวันที่ผมพิมพ์บทสัมภาษณ์นี้อยู่ เขาก็ทำสำเร็จแล้ว ยินดีด้วยครับ) ผมถามต่อว่า เมื่อใกล้ถึงเส้นชัย เห็นอะไรชัดขึ้นบ้างหรือยัง
“มันคงต้องใช้เวลาในการสังคายนา เพราะเราเก็บข้อมูลมาเยอะมาก แต่ตอนที่ทำครบ 100 รูปแรก ก็เจอคำตอบบางอย่าง คือเราพบว่าสถาปัตยกรรมไทยข้างถนนหลายชิ้นถูกสร้างบนปัญหาคล้ายๆ กัน เช่น ระดับพื้น
“คนที่ใช้ชีวิตข้างทางมักจะออกแบบ หรือต้องประดิษฐ์สิ่งของบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับความต่างระดับของพื้น ระหว่างบ้านกับทางเท้า ระหว่างทางเท้ากับถนน แต่ละพื้นที่มันไม่สัมพันธ์กันเลย โดยเฉพาะคนที่ขายของข้างทาง แทบทุกคนจะต้องหาอิฐมารองขาโต๊ะ หรือรถเข็น พอเรามาคิดต่อ ก็เกิดไอเดียว่าอาจจะออกแบบที่รองโต๊ะหรือรถเข็นให้เป็นถังดักไขมันได้ แก้ปัญหาเรื่องทิ้งเศษอาหารลงท่อด้วย
“อีกข้อหนึ่งที่พบคือการออกแบบที่นั่งริมทาง ซึ่งเรามักจะเห็นเก้าอี้ที่ชาวบ้านดีไซน์ขึ้นเองอยู่บ่อยๆ เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่สาธาณะให้คนในชุมชนมาพบปะกัน ซึ่งการแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ วิธีดีไซน์ ไปจนถึงวัสดุมัน unique ตามแต่สภาพพื้นที่ตรงนั้น”
ตอนแรกว่าจะเก็บคำถามต่อไปนี้ไว้ท้ายๆ กลัวเสียบรรยากาศ แต่ๆ ไหนก็คุยถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ขอลองถามดูสักหน่อย
“แต่งานดีไซน์ที่แก้ไขปัญหาบางชิ้นก็สร้างปัญหาให้กับคนอื่นๆ ด้วย อย่างเรื่องที่คุณเขียนถึงซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ หรือกระถางต้นไม้หน้าบ้าน แบบนี้ไม่เรียกว่าการ romanticize ปัญหาเหรอ”
ชัชนิ่งคิดไปสักครู่ก่อนจะตอบว่า “เรายอมรับว่าตอนเขียนคอลัมน์ชิ้นแรกๆ เรายัง romanticize เยอะไป แต่พอโดนคนทัก เราก็มองให้กว้างขึ้น แม้ว่ามันจะมีประโยชน์ แต่มันก็สร้างเรื่องแย่ๆ ด้วย ก็ต้องยอมรับและเขียนไปว่ามันแย่อย่างไร ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคิดกันต่อว่า แย่แล้วจะแก้ยังไง
“มันเป็นดาบสองคม แต่ละเรื่องมองได้ทั้งสองมุม เช่น กระถางต้นไม้หน้าบ้าน มันทำให้มีพื้นที่สีเขียว แต่ก็ขวางทางคนเดิน แสดงว่ามันก็ควรจะมีอยู่ แต่ควรวางหลบคนเดินด้วย และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมที่มาของการมีกระถางต้นไม้ คือ ภาครัฐไม่สามารถมอบพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนได้”
เช่นเดียวกับซุ้มวินมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ที่ชัชเล่าว่าต้องย้อนกลับไปที่ต้นกำเนิดของอาชีพมอเตอร์ไซค์ ซึ่งตอบโจทย์การที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีซอยลึกเกินกว่าจะเดินไหว และแคบเกินกว่าจะเดินได้สะดวก “ถ้าไม่มีวินฯ เราก็ใช้ชีวิตไม่ได้เหมือนกัน”
ชัชเล่าว่า เคยมีอาจารย์มาเล่าให้ฟังว่าได้นำสิ่งที่ชัชเขียนถึงไปสอนนักศึกษา หรือกระทั่งมีนักศึกษานำปัญหาเรื่องพื้นที่ของวินมอเตอร์ไซค์ที่ชัชเขียนไปทำมินิทีสิส และออกแบบใหม่ให้ตอบโจทย์
“เพราะเมืองมันมีเงื่อนไขมาให้เราแบบนี้ ดังนั้นก็อาจจะต้องช่วยกันออกแบบ
“แต่ถึงที่สุดแล้ว เราไม่ได้สเกตช์ภาพหรือเขียนบทความเพราะอยากเชิดชูงานดีไซน์เหล่านี้ แต่อยากสะท้อนให้เห็นความระยำตำบอน ที่ผู้คนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง เพราะไม่สามารถแก้ที่รากของปัญหาได้”
2
“ครึ่งทางแล้ว เลาะไปทางเลียบแม่น้ำอีกหน่อยก็ถึง เดี๋ยวไปแวะดูสวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) กัน”
แม้จะงงๆ นิดหน่อยว่าทำไมสวนสาธาณะถึงมาอยู่แถวนี้ เพราะมองไปรอบๆ ก็ไม่มีวี่แววความคึกคักของคนที่มาใช้บริการ แล้วนี่พวกเราก็เดินมาจากถนนเส้นหลักไกลไม่ใช่น้อย… แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะผมเป็นคนชอบไปนั่งเล่นในสวนสาธารณะ แม้สวนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะไกลจากบ้าน แล้วที่เดินทางไปถึงสะดวก ก็มีแค่สวนลุมพินี สวนเบญจกิติ และอุทยานเบญจสิริ (ไม่ขอนับสวนรถไฟนะ—ต้องถ่อเข้าไปแบบนั้นเรียกเดินทางง่ายเหรอ!?) สวนใกล้ชุมชนมีแค่หยิบมือ และที่มีอยู่ก็ออกแบบได้แข็งทื่อเหลือเกิน
“มันอยู่ที่ว่าใครเป็นเจ้าของสวนน่ะ” ชัชอธิบายเมื่อเราพูดถึงสวนสาธารณะหลายแห่งที่ออกแบบได้ไม่น่าเดินเอาเสียเลย
“อย่างอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็ดูแลโดยมหา’ลัย สวนสมเด็จย่าที่เรากำลังจะไปก็ดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สวนที่ป้อมมหากาฬ ที่เคยออกข่าวเรื่องไล่รื้อชุมชนไปเพื่อสร้างสวน อันนี้เป็นของ กทม. ถ้าลองไปเดินดู สังเกตวิธีการออกแบบ จะเห็นวิธีคิดเจ้าของสวนเลยนะ” ชัชเงียบคิดไปนิดหนึ่งก่อนจะเล่าต่อว่า “แต่สวน กทม.เหี้ยสุด”
เราสองคนระเบิดเสียงหัวเราะออกมาพร้อมกัน เพราะนึกภาพออกทันทีว่ามันเหี้ยยังไง แม้ลึกๆ แล้วจะโกรธไม่น้อยที่ต้องสูญเสียงบประมาณให้กับการออกแบบที่ไม่คำนึงถึงผู้ใช้ โดยเฉพาะการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อแลกกับสวน… ไม่สิ ต้องเรียกว่าสนามหญ้าที่มีทางเดินราดยางมะตอยแคบๆ กับต้นไม้ใหญ่หร็อมแหร็มไม่กี่ต้นซึ่งห่างไกลจากม้านั่ง จนงงว่าร่มเงาจะทอดมาถึงคนนั่งได้ยังไง
เมื่อไม่มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะ (ที่ออกแบบดี เดินทางสะดวก) เพียงพอ สวนทางกับปัญหามลพิษ และจำนวนห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันจึงมีการพูดถึงการสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มากขึ้น แต่ชัชมองว่านั่นเป็นการพัฒนาที่ข้ามสเต็ป เพราะปัญหาหลักคือการออกแบบเมืองที่ไม่เชิญชวนให้คนอยากเดิน
“ถ้าสร้างสวนเสร็จวันนี้ ก็จะกลายเป็นสวนที่คนไม่เดิน เข้าถึงยาก เหมือนสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา คนที่มาคือตั้งใจ มาถ่ายรูป มาเฉพาะตอนเย็น คนในชุมชนไม่รู้สึก relate ด้วย เพราะมันทำกิจกรรมอื่นแทบไม่ได้เลย”
เราเดินมาถึงประตูทางเข้าสวนสมเด็จย่า หยุดมองไปรอบๆ ก่อนที่ชัชจะถามผมว่าอยากเข้าไปดูไหม “จริงๆ มันก็ไม่มีอะไร”
อืม ก็จริง ดูจากบรรยากาศรอบนอกแล้วมันดูเปลี่ยวเหงา ไร้ความสดชื่นและคึกคัก
วินาทีนั้นผมเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดนึงว่า การสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สอดคล้อง ไม่คำนึงถึงผู้ใช้มันเป็นยังไง
3
เมื่อพูดถึงการทำให้คนออกมาเดินละแวกบ้าน สายตาผมพลันเหลือบต่ำ สังเกตทางเดินที่ย่ำไป “ทางเดินแถวนี้เรียบใช้ได้เลยนะครับ แถวบ้านผมนี่โคตรห่วย”
“ไม่แปลกหรอก เราเคยไปยืนดูเขาทำทางเท้า บางเขตเวลาทำทางเท้าก็แค่วางอิฐบล็อกลงไปเฉยๆ คือมาตรฐานในการก่อสร้างบ้านเรามันเหี้ยมากเลย” เราหัวเราะให้กับคำว่า ‘เหี้ย’ อีกครั้งอย่างขำขื่น
ผมถามชัชว่า คนมักจะแชร์ภาพทางเท้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น แบบนี้มันพอจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะลอกการออกแบบมาเลยทั้งดุ้น
“ถ้าถามว่าจะเข้ากับบ้านเราไหม ก็คิดว่าได้ แต่ปัญหาก็คือช่างไทยหรือคนไทย ไม่ว่าจะมี reference เป๊ะแค่ไหน ทำยังไงก็ไม่เหมือน ด้วยฝีมือ ด้วยวิธีคิด หรือชั่วโมงการทำงานที่น้อย ช่างเราไม่สามารถทำได้ในระดับนั้น”
“ต่อให้มีคนคุมงานเก่งๆ ก็ตาม?”
“ใช่ เราเคยไปสัมภาษณ์สถาปนิกท่านหนึ่ง ลูกค้าบอกเขาว่าอยากได้แบบญี่ปุ่นเลย เอารูปมาให้ดู ขอให้เหมือนเป๊ะๆ สุดท้ายก็ทำไม่เหมือน อย่าง apple store ที่ดีงามระดับนั้นก็ต้องใช้ช่างอิมพอร์ตมาหมด ช่างไทยจะเก็บแค่งานเล็กๆ เพราะเราแข่งความเนี้ยบยากมาก”
ชัชเล่าให้ฟังว่า ในบรรดางานช่างนั้น งานทำถนน ทางเท้า หรืองานปูน เป็นงานที่ง่ายที่สุด “สอนคนทั่วไปวันเดียวก็ทำได้แล้วมั้ง” เหตุผลก็เพราะมันแทบไม่ต้องใช้ทักษะอะไร แค่ทำกรอบ เทปูน แล้วก็ปาด ต่างจากงานไม้ งานเหล็ก งานระบบน้ำ ระบบแอร์ ที่ต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะทาง
“แต่ขนาดงานที่ง่ายที่สุด ประเทศเรายังทำห่วยเลย” ก่อนจะขยายเพิ่มอีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานก่อสร้างของไทยไม่ใช่แรงงานมืออาชีพ ไม่ได้ถูกฝึกมาโดยตรง แต่มักจะเป็นแรงงานพาร์ตไทม์ที่เว้นว่างจากการทำเกษตรกรรมมากกว่า
ไม่นับเรื่องความเรียบเนียนของแผ่นปูน บนทางเท้ายังมีองค์ประกอบอีกหลายจุดชวนให้คนเดินเท้ากุมขมับ เช่น การวางเบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการทางสายตาที่วางผิดๆ ถูกๆ (บางย่านก็เลยตัดปัญหาด้วยการไม่มีแม่งเสียเลย…) หรืออย่างทางลาดและระดับความสูงของทางเท้ากับถนน ที่ห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็ไม่เท่ากันแล้ว และยิ่งไม่ต้องพูดถึงองค์ประกอบที่อยู่นอกเหนือความดูแลของกรมโยธาฯ
“เสาไฟก็ดูแลโดยหน่วยงานหนึ่ง ทางเท้า ต้นไม้ ถนน ท่อ ตู้โทรศัพท์ ป้อมจราจร ปาเข้าไปเจ็ดหน่วยงานแล้ว แต่ไม่มีอะไรที่เข้ากันเลย มันก็สะท้อนให้เห็นคุณภาพในการทำงานของรัฐ”
ถึงแม้ว่าองค์ประกอบที่อยู่บนทางเท้าทุกชิ้นจะเหมือนถูกจับยัด แต่ชัชก็เชื่อว่าคงจะมีการออกแบบจากส่วนกลางเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่หน้างานต่างหากที่ไม่ได้คุยกัน
“สมัยเรียนเคยฟังเล็กเชอร์จากวิศวกรที่กำลังจะเกษียณ เลยถามไปว่า จากการทำงานโครงสร้างมาจนถึงวันที่จะเกษียณ มีอะไรที่ได้เรียนรู้แล้วมันเวิร์กสำหรับการทำงาน เขาบอกว่า ทำยังไงก็ได้ให้คนแต่ละหน่วยไม่ทะเลาะกัน (หัวเราะ) ภาพที่เราเห็นบนทางเท้าจึงเป็นแบบนั้น”
4
รู้ตัวอีกทีผมก็เดินเข้ามานั่งในสตูดิโอของชัชแล้ว อาจเพราะบทสนทนาระหว่างทางมีแต่เรื่องชวนหดหู่ ใจก็เลยเหม่อลอยถึงความเจริญที่เคยเห็นในต่างประเทศ
ชัชกลับมาพร้อมน้ำเย็นชื่นใจ ก่อนจะหยิบไอแพด เปิดงานสเกตช์ให้เราดู แต่ผมก็ยังมองภาพไม่ออกอยู่ดีว่า ภาพสเกตช์ที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก และคอลัมน์เกี่ยวกับงานสถาปัตย์ จะเกิดประโยชน์อะไรกับผู้คนที่ไม่ได้เป็นนักออกแบบ
“มันยากมากที่จะแก้ไขโครงสร้างที่เกิดจากภาครัฐ คือมันเป็นไปได้นะ ยิ่งตอนนี้คนออกมาเรียกร้องกัน อยากจะปลดแอก เรารู้สึกมีหวังขึ้นมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราคิดว่าตัวคนในชุมชนเองก็น่าจะลงมือสร้างพื้นที่ ประดิษฐ์สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้เอง เพราะมันส่งผลเร็ว ทำได้เลย และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าที่รัฐทำ”
และหนึ่งในสิ่งที่ชัชมองว่าทุกคนลงมือทำได้เอง ทำได้เลย ก็คือบ้าน
“เราทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เพราะอยากให้ความรู้กับคนทั่วไป หรือลูกค้าที่จะจ้างสถาปนิกออกแบบอะไรสักอย่าง เราอยากทำให้เขารู้ว่า จริงๆ การใช้บริบทหรือวัสดุงานออกแบบสไตล์ไทยๆ ก็สวยได้ ใช้สอยดี และมันยังเป็นมิตรกับชุมชนรอบข้างด้วย”
ชัชหันไปจิ้มๆ ไอแพด ก่อนจะเปิดรูปบ้านซึ่งถูกรีโนเวตในสไตล์ ‘มูจิ’ คือเรียบง่าย สีเอิร์ธโทน เหมือนกับสินค้าในร้านมูจินั่นแหละ
“เดี๋ยวนี้คนชอบทำบ้านมินิมอลแบบนี้ จะทำคาเฟ่ก็ต้องเป็นแนวเกาหลี เพราะคอนเทนต์ที่คนสมัยนี้เห็นมักจะเป็นสไตล์นั้น แล้วเราก็ผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนคิดว่านี่คือความสวยแบบเดียว มันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่พอเราจับยกสไตล์ใดๆ มาวางเลย โดยไม่ดูบริบทรอบๆ มันก็จะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับชุมชน”
ชัชสไลด์จอ ยังคงเป็นบ้านมูจิหลังเดิม แต่เป็นมุมจากหน้าบ้าน มีไม้ระแนงบดบังตัวบ้านไว้ตามสมัยนิยม ซึ่งแปลกแยกจากบ้านหลังข้างเคียงอย่างเห็นได้ชัด
“การตกแต่งภายในบ้านคือเรื่องส่วนบุคคล แต่ส่วนภายนอกบ้านที่ต้องปะทะกับสายตาคนอื่นมันเป็นอีกเรื่อง เพราะมันทำให้คนรอบบ้านรู้สึกแปลก เราอยาก neo-seoul แต่ข้างบ้านเขาไม่ได้อยากเกาหลีด้วย
“ถ้าทำแบบนี้กันหลายๆ หลัง ภาพรวมของเมืองก็แย่ไปด้วย”
ชัชเล่าว่าเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านญี่ปุ่นยุคใหม่จากนิตยสาร art4d โดยบทความอธิบายว่าบ้านญี่ปุ่น transform มาจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยังไง มีการดึงองค์ประกอบในชีวิตประจำวันมาทำเป็นงานโมเดิร์นได้ยังไง “ไอ้ความรู้สึกว่าเออ มันญี่ปุ่นนะ มันมีที่มาที่ไป องค์ประกอบมันเยอะมาก ตั้งแต่กฏหมาย ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ อย่างบ้านญี่ปุ่นยุคใหม่ถูกพัฒนามาจากช่วงสงครามโลก เพราะวัสดุแพง ก็เลยต้องใช้ชีวิตกันในที่แคบๆ แล้วมันก็ transform จากรุ่นสู่รุ่น”
“สไตล์ไทยสำหรับเรามันคือ norm แบบที่เราเห็น ที่เราสเกตช์อยู่ทุกวัน ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะเอา norm แบบนี้มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมได้ยังไง”
พูดจบชัชก็พาเราเดินดูรอบสตูดิโอขนาดหนึ่งห้องแถวของเขา ชี้ไปยังวัสดุต่างๆ ที่เขาหยิบมาใช้ ประตูเหล็กพับ บานเฟี้ยม เหล็กดัด หรือแม้แต่การเลือกใช้สีเขียวและน้ำเงิน ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ชัชพยายามออกแบบให้กลมกลืนกับชุมชน
“และทำให้ลูกค้า หรือใครๆ ที่เห็นสตูดิโอของเราเข้าใจว่า การใช้วัสดุแบบไทยๆ ก็นำมาออกแบบให้สวยได้ ไม่ต้องใช้เงินเยอะ และไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีบ้านหลังใหญ่ก่อนถึงจะคิดจ้างสถาปนิก”
เวลาเย็นย่ำ ฟ้าเริ่มมืดลงทีละนิด ใกล้จะถึงเวลากลับบ้าน เหลือคำถามอีกมากมายที่อยากคุย (และคิดว่าคุยได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ) แต่หากต้องเลือก ผมอยากรู้ว่าเขาอยากเห็นเมืองพัฒนาไปแบบไหน
“อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถน้อย เราว่าปัญหาหลักๆ ของกรุงเทพฯ คือเรื่องรถ อย่างซอยที่แคบมากๆ ถ้ารถน้อย คนก็ยังเดินได้นะ แต่ทุกวันนี้คนต้องเอากระถาง เอาที่กั้นมาวางหน้าบ้าน ก็เพื่อกันรถจอด ถ้ารถน้อยลง เมืองก็คงมี scape ที่ดีขึ้น ในอุดมคติคือถ้าเอารถออกไปก่อนได้ แล้วค่อยแก้ฟุตพาธ เราว่าแค่นี้กรุงเทพฯ ก็ดีขึ้นแล้ว ทีนี้พื้นที่สีเขียวค่อยตามมา แล้วค่อยแก้กันในระดับปัจเจกอย่างการให้ความรู้เรื่องการออกแบบกับประชาชน
“แต่ก็นั่นแหละ เพราะแนวคิดของรัฐ เราเลยคิดว่าเริ่มแก้ไขจากข้างในบ้านออกไปข้างนอกบ้านน่าจะได้ผลกว่า และสำคัญไม่แพ้กับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบที่คนรุ่นใหม่ทำอยู่ เราเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะแก้ได้”