KNOCK KNOCK KNOCK KNOCK, KNOCK ON MY DOOR
คุยกับ ‘ตุ๊กตา พนิดา’ ในวันที่วัยรุ่นยังอ่านนิตยสาร การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก่อนกาล และการได้ลง Knock Knock! ในยุคนั้นคือเท่มาก
เรื่อง: นภษร ศรีวิลาศ
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
แต่ไหนแต่ไร ฉันใฝ่ฝันอยากจะอายุ 30 เร็วๆ อยากมีชีวิตแบบในหนังรอมคอมที่ชอบดู รับบทผู้ช่วยบรรณาธิการสาว มือขวารับสายโทรศัพท์จากเจ้านาย มือซ้ายถือแก้วอเมริกาโนร้อน แล้ววิ่งกึ่งเดินบนรองเท้าส้นสูง หวังไปให้ทันลิฟต์ตัวหน้า
ติ๊ง!
นอกจากมือที่ถือแก้วอเมริกาโนแล้ว ชีวิตจริงไม่เหมือนในหนังสักอย่าง แถมเลย 30 ที่เคยคิดว่าเป็นวัยกำลังดี กลับสูงเกินค่าเฉลี่ยคนที่ทำงาน คนเดียวที่จะพอคุยกันทันถึงเรื่องหนังเพลงประจำยุคก็มีแต่พี่ บ.ก.โต๊ะข้างๆ (แฮ่ๆ)
เมื่อรู้ว่า CONT. มีพื้นที่คุยกับคนทำหนังสือและนิตยสารเมื่อวันวาน ฉันก็ยกมือสุดแขนอาสาไปคุยกับ ตุ๊กตา—พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Knock Knock! ที่รัก
Knock Knock! เป็นนิตยสารวัยรุ่นในเครือเดย์โพเอทส์ (เจ้าของเดียวกับ a day, a day BULLETIN, a book และ The Momentum) วางแผงเป็นประจำทุกเดือนในช่วงปี 2548-2553 Knock Knock! เป็นมากกว่านิตยสารอัพเดตเทรนด์แฟชั่น สอนแต่งหน้า ตอบปัญหาการเรียน และดูดวงความรัก เป็นหนังสือที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ 6 ปีในรั้วมัธยมสนุก ตื่นเต้น สมวัย
ยังจำตอนที่กำเงิน 65 บาทไปซื้อ Knock Knock! เล่มแรกที่แผงในร้านประจำจังหวัดได้ดี อยู่ๆ ก็มีเพื่อนใหม่นับสิบคนเป็นดาวโรงเรียน ผลัดเปลี่ยนกันมาเล่าชีวิตและวิชาเรียนที่ชอบ ได้รู้จักชมรมแปลกๆ วิชาเขียนสนุกๆ เทคนิคการดูแลผิวแบบที่ทำเองได้ง่าย ไปถึงจุดประกายสารพัดงานอดิเรก
ฉันในวันนั้นตัดสินใจสมัครสมาชิกรายปีทันที (เพราะอยากได้กระเป๋าผ้าที่แถมมา)
ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ Knock Knock! จากไปก่อนวัยอันควร เราก็ดีใจที่ครั้งหนึ่งมีนิตยสารเล่มนี้เกิดขึ้น ยิ่งอยู่ในวัยที่ทำงานด้านคอนเทนต์ก็ยิ่งนับถือ และขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสร้างสรรค์มันขึ้นมา คิดเล่นๆ ว่าถ้าวันหน้ามีจริงจะขอมีส่วนร่วมเล็กๆ ด้วย เป็นนางแบบไม่ได้ เป็นคนเขียนจากทางบ้านก็ยังดี
ฉันใช้สิทธิ (อายุ) 30 นี้ ชวนพี่ตุ๊กตาคุยกันถึงวันที่ลงมือทำ Knock Knock! ความยากง่ายของการสื่อสารกับวัยรุ่นในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียใดๆ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก่อนกาล และการได้ลง Knock Knock! ในยุคนั้นคือเท่มาก (ดารานักแสดงครึ่งวงการล้วนเคยผ่านการลงสัมภาษณ์ในชุดนักเรียนกับ Knock Knock! มาก่อนทั้งนั้น)
เผื่อวันหนึ่ง จะกลายเป็นคนทำคอนเทนต์สำหรับวัยรุ่น ผลัดต่อที่ไม้สาม ไม้สี่ เตรียมสร้างคอนเทนต์ดีๆ แบบที่รุ่นพี่เคยทำไว้
ตุ๊กตา—พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล
บรรณาธิการ/คนทำหนังสือ
อดีตนักเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยฝึกงานเป็นสไตลิสต์ที่แกรมมี่ ตุ๊กตาตกหลุมการทำหนังสือหลังจากทำ ‘กรุงเทพอวดดี’ (ดี ย่อมาจาก ดีไซน์) การบ้านวิชาทำหนังสือที่ตุ๊กตาเลือกเล่าเรื่องกรุงเทพฯ ผ่านป้าย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ไปเข้าตาพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day) จนเขาขอนำไปพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์สปาเกตตี้ ตามด้วยงานทีสิส ‘มือใหม่ไหว้เจ้า’ คู่มือไหว้เจ้าสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ตุ๊กตาจัดเซตถ่ายภาพของไหว้แบบหนังสือแต่งบ้านของต่างประเทศ ซึ่งพี่โหน่งเห็นแล้วชวนมาทำงานทันที
ตุ๊กตาเริ่มงานในตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ของทีมเซ็ตอัพนิตยสาร Hamburger ซึ่งประกอบด้วย วิภว์ บูรพาเดชะ เป็นบรรณาธิการ, วรรณ—วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ เป็นกองบรรณาธิการ และ เทพ—พงศ์เทพ อนุรัตน์ เป็นฝ่ายศิลปกรรม (เปิดตัวและวางแผงฉบับแรกในปี 2545) เป็นนิตยสารแฟชั่นกึ่งบันเทิงสาระ ตามชื่ออาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์แต่คนชอบกินมาก และแทนที่จะจับคนดังมาถ่ายปกให้เห็นหน้าแบบชัดๆ เหมือนหนังสือเล่มอื่น Hamburger กลับเป็นหนังสือบันเทิงที่ชวนดารา นักแสดงมาทำในสิ่งที่คนไม่ค่อยเห็น
เวลาผ่านไปไม่นาน ตุ๊กตาในวัย 24 เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ของ Hamburger ก่อนได้รับโอกาสสำคัญให้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Knock Knock! บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนเจ้าของผลงานซีรีส์ กุ๊กกิ๊กไกด์ หนังสือเดินทางที่ชวนให้เราหลงใหลในของกระจุกกระจิก
ครั้งก่อนที่เจอกัน ตุ๊กตาบอกเราว่า เธอจะไม่มีวันเลิกทำหนังสือ
เธอหมายความตามนั้นจริงๆ เพราะหลังจากนิตยสาร Knock Knock! และสำนักพิมพ์ Polkadot ปิดตัวลง ทุกวันนี้ตุ๊กตาก็ยังคงเป็นคนทำหนังสืออิสระ ซึ่งนอกจากจะก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ยาหยีแล้ว ยังลงมือทำ Smileplease : ) นิตยสารรายสองเดือน ที่เล่าเรื่องความสุขง่ายๆ ของการเป็นแม่
ย้วย—นภษร ศรีวิลาศ
บรรณาธิการ/คนทำหนังสือ (มือใหม่)
อดีตนักเรียนเศรษฐศาสตร์ เคยทำงานในวงการตลาดทุน และหน่วยงานสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม ย้วยตกหลุมรักหนังสือหลังจากอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ จับพลัดจับพลูไปเป็นนักเขียนและกองบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ จากนั้นเป็นบรรณาธิการบทความธุรกิจในนิตยสารออนไลน์ พร้อมๆ กับวิ่งเข้าออกห้องลองเสื้อจนได้ดี แม้จะปรากฏตัวไม่ถึง 5 วินาที ย้วยก็ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงในภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง มีชื่อในเว็บไซต์ imdb ที่เคยใฝ่ฝัน
ย้วยในวัย 30 เป็นมือใหม่ในวงการทำหนังสือ อยากทำหนังสือกึ่งนิตยสารอิสระที่พูดเรื่องยากให้เข้าใจง่าย อ่านเล่นๆ ก็ได้ อ่านจริงจังๆ ก็ดี จึงใช้งานมาบังหน้า หวังถอดรหัสวิธีคิดคอนเทนต์ให้ได้ใจวัยรุ่นแบบนิตยสารในดวงใจเคยทำ
ในยุคที่มีนิตยสารวัยรุ่นเต็มแผง (เธอกับฉัน, ice, iLike, Seventeen) อะไรคือโจทย์ของ Knock Knock!
เราอยากทำนิตยสารวัยรุ่นให้วัยรุ่นอ่าน ในวงการหนังสือโลกมีหนังสือที่สื่อสารกับคนอ่านกลุ่ม pre-teen หรือคนที่กำลังก้าวเท้าจากเด็กสู่วัยรุ่นเยอะมาก มี teen VOGUE ซึ่งเป็นที่นิยมมากๆ แต่ในไทยยังไม่มีหนังสือแบบนั้น และอายุเรากับคนอ่านก็ไม่ได้ไกลกันมาก ตอนนั้นเราเพิ่งจบชั้นมัธยมมาหกปีเท่านั้น ความสนใจยังใกล้กันอยู่ อารมณ์เหมือนพี่สาว เลยวางตัว Knock Knock! เป็นเพื่อนข้างบ้าน เป็นพี่สาว เป็นรุ่นพี่
ที่น่าสนใจคือ วัยรุ่นเป็นวัยที่สับสน ยังไม่รู้ทิศรู้ทาง ไม่รู้ว่าจะทำอะไร หรือรู้ว่าฉันต้องเป็นอะไร ขณะเดียวกันก็อยากได้การยอมรับ ใครบางคนจึงยอมทำผมทรงนี้ แต่งตัวแบบนี้เหมือนๆ เพื่อนเพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม สิ่งที่เราพยายามบอกคือ เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราเป็นตัวเองในแบบของเราได้ Knock Knock! จึงออกมาเป็นรูปแบบนี้ เด็กในเล่มไม่ได้แต่งตัวเหมือนๆ กัน หรือชื่นชมเด็กที่เรียนสาขาใดเป็นพิเศษ เพราะเราอยากให้เขาเห็นทางเลือก
การเห็นทางเลือกสำคัญยังไง
ตอนเรียนมัธยม เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคณะที่กำลังจะสอบเข้าไปนั้น จบมาทำงานอะไร คนอื่นอาจจะรู้ แต่เราไม่รู้เลย เรารู้แค่ว่าชอบอ่านนิตยสาร ชอบอ่านหนังสือนอกเวลา ชอบฟังเพลง และเขียนหนังสือก๊อกๆ แก๊กๆ เราเรียนสายศิลป์เพราะเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่เราชอบวาดรูป วันหนึ่งพี่ติวก็ถามว่าอยากเรียนอะไร ซึ่งคณะเกี่ยวกับวาดรูปสาขาเดียวที่เรารู้จักคืออินทีเรียร์ เลยตอบไปแบบนั้น แต่พี่ติวที่เขาเห็นเรามาตลอดก็แนะนำว่า เราน่าจะชอบนิเทศศิลป์ แล้วสอนให้ลองทำปกซีดี โปสเตอร์ จนเราตัดสินใจได้ ซึ่งทำให้เราคิดเสมอว่า ถ้ามีเด็กที่เป็นแบบเราในตอนนั้น แต่ไม่มีพี่ติวคอยบอก ใครจะเป็นคนแนะนำเขา ชีวิตเขาจะเป็นยังไง
จริงๆ ได้ชื่อว่าวัยรุ่น ไม่ว่ายุคไหนก็อยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง เขาต้องให้เวลาตัวเอง ทำความรู้จักตัวเองเพื่อพบเจอตัวเอง เมื่อเขารู้จักตัวเอง เขาจะรู้ว่าต้องทำยังไงให้คนเข้าใจว่าเขาเป็นแบบนี้ โดยไม่ต้องพยายามเอาใจคนอื่นด้วยการทำตัวเหมือนคนอื่น เขาจะทำผมไม่เหมือนเพื่อนหรือใช้ของไม่เหมือนเพื่อนก็ได้ แต่อยู่กลุ่มเดียวกันได้ เพราะมีบางอย่างที่ชอบเหมือนๆ กัน
ขณะที่หนังสือวัยรุ่นเล่มอื่นนำเสนอเรื่องนอกโรงเรียน Knock Knock! กลับหยิบเรื่องในโรงเรียนมาเล่า เรื่องในรั้วโรงเรียนในเมืองมันสนุกยังไง
ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ การหยิบมุมดีๆ ของโรงเรียนมาเล่า เช่น โรงเรียนนี้ชนะรางวัลวงโยธวาทิตระดับโลก หรือชมรมนี้ของโรงเรียนนี้ทำอะไรดีๆ ช่วยดึงความน่าสนใจของโรงเรียนมาเล่าสู่คนอ่านได้ คนอ่านก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรืออยากเป็นส่วนหนึ่ง และเรื่องในรั้วโรงเรียนที่จับต้องได้มากที่สุดก็คือ คนดังในโรงเรียน
ตอนเริ่มทำ Knock Knock! เล่มดาวโรงเรียน เราไม่ได้นำเสนอว่าใครเด่น ใครดัง เราคิดถึงแต่คำว่า วิถีแห่งดาว เป็นธรรมดาที่คนเด่นคนดังจะเจอเรื่องราวทั้งด้านดีและร้าย เราไม่ได้มาบอกว่าแต่งตัวยังไงจะออกมาสวยและดี เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เนื้อหาหลัก ในเล่มจะมีเรื่องที่อ่านให้แรงบันดาลใจ มีบทสัมภาษณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งโตกว่ากลุ่มคนอ่าน บางคนเรียนจบแล้ว บางคนกำลังเรียนมหาวิทยาลัย และมีเรื่องที่ทำให้คนอ่านได้เห็นโลกในมุมอื่น เช่น เรื่องจากคนที่ไปอยู่ประเทศต่างๆ ซึ่งเขียนมาเล่าชีวิตที่นั่น
ถือเป็นการกดสูตรที่ถูกต้องใช่ไหม จำได้ว่าเล่มแรกฮือฮามาก กลายเป็นภาพจำไปเลยว่า Knock Knock! เท่ากับดาวโรงเรียน
ใช่ มันฮือฮาเพราะเป็นเรื่องดาวโรงเรียน อยู่ๆ เพื่อนฉันก็มาอยู่ในหนังสือเต็มไปหมด ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน ปกติคนจะลงหนังสือได้ต้องเป็นคนดังเท่านั้น และก็ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนถ่ายรูปแบบนี้
แต่จริงๆ ไม่ได้มีแค่คนสวยเด่น เรามีพื้นที่ให้เด็กเรียน เด็กกิจกรรมแสดงความสามารถ เหมือนเพื่อนในห้องเรียนที่มีตั้งแต่เด็กหน้าห้อง หลังห้อง นักกีฬาโรงเรียน ทุกคนมีโอกาสที่จะอยู่ใน Knock Knock! ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นดาวโรงเรียนเท่านั้น เพราะเล่มอื่นๆ เราก็เล่าถึงทอมบอย, การออกเดต, หนุ่มตี๋และหนุ่มนักกีฬา, การเมือง, เพศศึกษา, การช้อปปิ้งของถูกและดี หรือพาทำความรู้จักโรงเรียนแฟชั่นทั่วโลก เป็นต้น ขณะเดียวกัน ดาวโรงเรียนก็กลายเป็นหัวข้อในวาระครบรอบที่ชาว Knock Knock! ต้องทำเป็นประจำทุกปี
คุณคิดยังไงกับการชื่นชมคนที่หน้าตา
สมัยนั้นเวลาพูดถึงคนที่โดดเด่น หนีไม่พ้นที่จะเริ่มชื่นชมกันที่หน้าตา ยกเว้นว่าคนนั้นมีความสามารถระดับโอลิมปิกวิชาการจริงๆ เราจึงจะเห็นว่าทุกคนต้องทำผมทรงเดียวกัน ใส่เสื้อผ้าเหมือนๆ กัน เทรนด์จะไม่หลุดจากกันเท่าไหร่ ขณะที่ยุคนี้ คนที่จะดังหรือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของวัยรุ่น จะเป็นคนที่มีสไตล์หรือมีอะไรน่าค้นหา ไม่จำเป็นว่าต้องหน้าตาดี สวยหล่อ แต่เป็นคนที่มีเอกลักษณ์บางอย่าง เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับความสนใจหรือเป็นคนดังขึ้นมาได้
ในยุคที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย คุณมีวิธีหาหรือเลือกคนมาลง Knock Knock! ยังไง
มาจากน้องๆ ในทีมช่วยกันหา ทั้งถามจากเด็กในโรงเรียนหรือไปตามงานกีฬาสี เราเคยทำเล่มโรงเรียนนานาชาติ อันนี้ห่างไกลตัวมาก ก็ใช้วิธีไปยืนรอหน้าโรงเรียนดูว่าคนไหนน่ารัก วิธีเข้าหาคือ แนะนำตัวแล้วขอเบอร์ติดต่อเหมือนโมเดลลิ่ง จากนั้นกลับมาเลือกกันในทีม เราพยายามจะใช้เด็กจากโมเดลลิ่งให้น้อยที่สุด เพราะอยากหาอะไรใหม่ๆ ยิ่งคนที่ไม่เคยผ่านงานถ่ายแบบมาก่อน คนจะยิ่งตื่นเต้น รอว่าจะได้เห็นใคร
คุณเห็นอะไรในตัวเขาเหล่านั้น
เราทำงานด้วยความรู้สึก ต้องดูรูปแล้วรู้สึกว่าเขามีเสน่ห์
โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อ Knock Knock! แค่ไหน
การมีอยู่ของกระทู้เว็บบอร์ด บล็อก และ Hi5 ในยุคนั้น ก็ทำให้กองบรรณาธิการหาคนง่ายขึ้น เช่น ได้รู้จักคนที่อยู่ฝรั่งเศส แล้วติดต่อกันผ่าน MSN
สมัยนั้นยังมีพื้นที่แสดงตัวตนไม่มาก จริงๆ ยุคนั้นเฟซบุ๊กมาแล้วแต่คนยังไม่ค่อยเล่นกัน ถ้าเป็นคนสวยหรือโดดเด้งมากพอก็จะอยู่ในนิตยสารและตามโมเดลลิ่ง หรือลงประกวดบ้างนิดๆ หน่อยๆ พอมี Knock Knock! คนก็จะมารอดูว่าคนที่มาลงหนังสือเป็นใคร ซึ่งบางทีเขาอาจจะโดดเด่นในโรงเรียน แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จัก อย่าง แพนเค้ก—เขมนิจ จามิกรณ์ ตอนเรียนเด่นในโรงเรียนมาก พอเราไปสัมภาษณ์เขาก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ดูเหมือนทุกคนที่ได้ลง Knock Knock! ในวันนั้น วันนี้ไปได้ดี เติบโต และมีชื่อเสียง
ไม่อยากจะเชื่อตัวเองเหมือนกัน และไม่รู้จริงๆ ว่าวันนั้นเราเห็นอะไรในตัวเขา ซึ่งเราอาจจะแค่มองเห็น แต่ตัวเขาเองก็นำพาเขาไปได้ดีด้วย ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นโฟร์ (ศกลรัตน์ วรอุไร) เต้ย (จรินทร์พร จุนเกียรติ) หรือแต้ว (ณฐพร เตมีรักษ์) ซึ่งบางทีค่ายหนัง ค่ายเพลงเห็นพวกเขาในหนังสือของเราก็เรียกไปแคสต์
ในมุมของแฟชั่น ไม่เพียง Knock Knock! จะมีแฟชั่นเซต 2-3 เซตต่อเล่ม แต่ละเซตยังเซอร์เรียลมากๆ ซึ่งเราจะไม่เห็นในนิตยสารวัยรุ่นเล่มไหน
ถ้าเป็นเนื้อหาหลักในหนังสือ เราไม่จับใครแต่งหน้าทาปากเลย ยกเว้นถ่ายแฟชั่นที่ต้องการให้ดูรู้ว่าเป็นแฟชั่นไปเลย
เหตุผลแรก เป็นความตั้งใจที่ทำให้ทุกอย่างดูเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ทำเล่นๆ เหตุผลที่สอง เราอยากให้เด็กที่ชอบหรือสนใจแฟชั่นได้รู้จักแฟชั่นจริงๆ ถ้าเราไม่ทำแล้วเขาจะไปเห็นตัวอย่างเหล่านี้จากที่ไหน เราให้ความสำคัญกับ input หรือสิ่งที่ใส่เข้าไปมากๆ โดยที่เราก็ไม่รู้หรอกว่า output จะออกมาเมื่อไหร่ และ input ก็ไม่ได้เกิดจากการอ่านอย่างเดียว การดูแฟชั่นเซตใน Knock Knock! ก็เป็น input อย่างหนึ่ง
อย่างตอนนี้ ที่เราทำ Smileplease : ) เราอยากให้เด็กๆ เห็นงานภาพประกอบสวยๆ ซึ่งไม่ใช่การวาดภาพเหมือน แต่เป็นภาพที่มีคาแรกเตอร์บางอย่าง เราอยากให้เขาเห็นของดีๆ การเลือกใช้สี ซึ่งวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์งานดีๆ ต่อไป
ขณะที่นิตยสารวัยรุ่นเล่มอื่นจะฉายภาพทุกคนแต่งตัวสวยงามมีสไตล์ Knock Knock! กลับแจกแพตเทิร์นชุดกระโปรงให้คนอ่านทำเอง
เราชอบทำงานประดิษฐ์มาก คิดมาตลอดว่าอยากให้มีแพตเทิร์นเย็บกระโปรง เย็บตุ๊กตาแทรกแจกอยู่ในเล่ม ถือเป็นความโชคดีของเราที่พี่โหน่งปล่อยให้ทำเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ได้คิดทำคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ทีมขายโฆษณาด้วย ความสนุกของการทำ Knock Knock! คือ เราเหมือนได้กลับไปอยู่ในห้องเรียนสมัยมหาวิทยาลัยที่ได้เป็นเจ้าของโปรเจกต์ ได้ตั้งโจทย์ของเราเอง
เกิดอะไรขึ้น ตอนที่คุณตัดสินใจไม่ทำ Knock Knock! ต่อ
น่าแปลกเพราะเราจำตอนเริ่มทำได้ แต่จำตอนเลิกไม่ได้ พออายุ 29 เราเปลี่ยนบทบาทจากบรรณาธิการบริหารไปเป็นบรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร
มีช่วงหนึ่งที่เราลาพักงานไปญี่ปุ่นหนึ่งเดือน แล้วกลับมาทำหนังสือ Tokyo Guggig Guide ภายใต้สำนักพิมพ์ Knock Knock! ตอนนั้นในตลาดยังไม่มีหนังสือพ็อกเกตบุ๊กท่องเที่ยวสำหรับผู้หญิงที่ทำหน้าตาแบบนี้ คือถ้าไม่เป็นไกด์บุ๊กก็เป็นหนังสือบันทึกประสบการณ์ไปเลย ซึ่งยังน้อยและไม่หลากหลายอย่างวันนี้ และพอทำเล่มโตเกียวเสร็จ เราก็เริ่มไปโซล ไปหลายเมืองมากขึ้น พี่โหน่งเห็นว่าพอมีทางไปได้ก็เลยให้เริ่มทำสำนักพิมพ์ polkadot ที่จับกลุ่มผู้อ่านผู้หญิงขึ้นมาจริงจัง
ถ้าวันนี้ยังมี Knock Knock! อยู่…
ก็คงสนุกขึ้นและยากขึ้นในคราวเดียว เพราะยุคนี้มันมีความหลากหลาย ฉันอยู่ในโซเชียลฯ ของฉัน ฉันจะทำให้คนเห็นฉันยังไงก็ได้ และการหาเด็กก็คงง่ายขึ้นเพียงเลื่อนไถ news feed ดูว่าใครดัง ใครมีผู้ติดตามเท่าไหร่ แต่ยุคนั้นไม่ใช่เลย
Knock Knock! 2021 จะออกมาเป็นรูปแบบไหน
คงจะออกมาเป็นออนไลน์ เพราะเนื้อหาบางอย่างมาเร็วไปเร็วมาก และเด็กสมัยนี้เขาก็ไม่ได้โตมากับสิ่งพิมพ์แล้ว
เรื่องไหนที่ Knock Knock! อยากจะพูดในเวลานี้ที่สุด
เรื่องสังคม เราคิดเสมอเลยว่าถ้ายังอยู่ในยุคนี้ต้องสนุกมากแน่ๆ เพราะมีเรื่องการเมือง เราชอบตามอ่านทวิตเตอร์นักเรียนเลว เราว่าเขาเจ๋งดี ชอบไปดูว่าเขาพูดอะไรกัน หรือคิดอะไรอยู่ จากตอนแรกที่สงสัยว่าทำไมอยู่ๆ เด็กๆ ลุกขึ้นมาประท้วง แต่พอตามดูสิ่งที่เขาพยายามบอกก็ชอบ ชอบในการนำเสนอแง่ประเด็นหรือการทำสื่อออกมา แม้จะไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราเห็นด้วยหรือคิดเห็นตรงกันก็ตาม แต่นี่คือความน่าสนใจของวัยรุ่นยุคนี้
แล้ววัยรุ่นยุค Knock Knock! เขาสนใจการเมืองแค่ไหน
Knock Knock! เคยทำเล่มที่พูดถึงการเมืองกับวัยรุ่น ตอนนั้นจะมีเลือกตั้ง เราอยากให้วัยรุ่นเข้าใจเรื่องตรงนี้ ก็เลยทำ เราไปสัมภาษณ์อาจารย์รัฐศาสตร์ และนักวิชาการ คนที่ขับเคลื่อนการเมือง เพราะอยากให้คนอ่านเข้าใจเรื่องนี้ในมุมต่างๆ แต่ที่วันนี้มันดูใหญ่กว่าเพราะโลกมันเปิดกว้างขึ้น มีการรับข้อมูลที่ลึกซึ้งขึ้น และบางเรื่องในวันนี้เราก็ตามไม่ทัน แต่ก็รู้สึกสนุก และถ้าเราทำก็คงสะท้อนเรื่องนี้ หน้าที่คนทำนิตยสาร คนทำสื่อ คือการรวบรวมมาไว้ หรือเลือกมาให้เท่านั้นเอง ส่วนเขาจะชอบหรือไม่เป็นเรื่องของเขาที่ต้องตัดสินใจ
จากคนทำนิตยสารวัยรุ่น ในอนาคตอันใกล้จะกลายเป็นแม่ของที่ลูกกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ถ้าต้องกลับมาทำ Knock Knock! ความเข้าใจหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารจะเปลี่ยนไปยังไง
ตอนทำ Knock Knock! เราพูดเรื่องการค้นหาตัวเอง และการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น จริงๆ เราคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับทุกวัยนะ เราเรียนรู้เรื่องนี้ลึกซึ้งตอนที่มีลูก ตอนที่ชื่นใจ (ลูกสาววัย 7 ขวบ) เข้าโรงเรียน เขาเริ่มมีสังคม ก็อยากได้รับการยอมรับ เพราะอยากมีเพื่อนเล่น เราก็จะบอกเขาว่า คนจะสนใจสิ่งที่หนูเป็น เมื่อหนูทำมันอย่างตั้งใจในทุกๆ อย่าง เราจะพูดกับเขาเรื่องต่างๆ ทุกวัน กับทุกเรื่อง เขาก็ยังทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราว่านี่คือหัวใจสำคัญ หรือแม้แต่ในสังคมครอบครัวซึ่งเล็กที่สุด เราก็อยากให้พ่อแม่ชมเรา นี่เป็นเรื่องธรรมดา
การทำ Smileplease : ) ก็เช่นกัน จริงๆ Smileplease : ) เหมือนภาคต่อของ Knock Knock! และ Polkadot อีกที เปลี่ยนจากวัยรุ่น เป็นแม่รุ่นใหม่ กับสิ่งพิมพ์ เราคิดเสมอว่าถ้าไม่มีคนทำ วันหนึ่งมันจะหายไป เพราะฉะนั้นเราจะขอเป็นคนทำมันขึ้นมา ทำในแบบที่เราทำได้ แค่นั้นเลย ซึ่งเราลงทุนเอง ในแง่ธุรกิจสิ่งนี้ไม่ทำกำไรหรอก เราทำงานอย่างอื่นเพื่อหาเงินมาทำสิ่งนี้ด้วยซ้ำ แต่เราทำเพราะเราอยากทำ เราตั้งใจทำ Smileplease : ) ให้เป็นนิตยสารที่ให้แม่อ่านและให้ลูกเล่น เหมือนตอนเราเป็นเด็กที่อ่าน สตรีสาร เล่มเดียวกับแม่ได้
หมายเหตุ: ชื่อบทความมาจากเนื้อเพลง Knock Knock ของ TWICE