หนังสือ: รวมบทความของฮิโตะ ซไตเยิร์ล: ประเด็นชั่ยๆ ของยุคร่วมสมัยในความเกี่ยวดองของ #เทคโนโลยี #ศิลปะ และ #การทหาร
Hito Steyerl (เขียน) อธิป จิตตฤกษ์, เก่งกิจ กิตติลาภ และ พนา กันธา, จุฑา สุวรรณมงคล (แปล)
ขอเริ่มต้นด้วยการสารภาพว่า ผมใช้เวลาร่วมเดือนกับหนังสือเล่มนี้ และปัจจุบันก็ยังอ่านไม่จบ แต่คิดว่าถึงเวลาที่ต้องยกมาแนะนำแล้ว
ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตั้งสติ เปิดอ่าน และปิดหนังสือด้วยความตะลึง จับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะไม่เคยอ่านหนังสือรวมบทความที่…จะอธิบายยังยากเลย เอาเป็นว่าขอบข่ายของประเด็นในแต่ละบทนั้นก็เป็นไปตามชื่อหนังสือ ซึ่งมันใหม่มากๆ (อย่างน้อยก็สำหรับผม) ผมเลยรู้สึกสนุกและตื่นตา แต่ด้วยความรู้ที่จำกัดของตัวเอง มันจึงเหมือนบทความที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยคำศัพท์เทคนิคเหมือนงานวิชาการ กว่าจะกลับมาตั้งสติและเปิดอ่านต่อได้ ก็หมดเวลาไปอีกหลายนาที
และเพราะความซับซ้อน ผมจึงเปลี่ยนความตั้งใจจากการอ่านไล่ไปตามลำดับบท เป็นการอ่านข้ามไปยังบทที่ดึงดูดความสนใจ
บทที่ว่านั้นชื่อ ‘ถ้าพวกคุณไม่มีขนมปังกินก็กินงานศิลปะแทนสิ: ศิลปะร่วมสมัยกับอนุพันธ์ของฟาสซิสม์’ อาจเพราะชื่อดูกวนๆ แอบเปิดอ่านย่อหน้าแรกๆ แล้วคิดว่าน่าจะพอรับมือไหวก็เลยตัดสินใจลุย
ก่อนจะพบว่าตัวเองคิดไม่ผิดที่เลือกบทนี้ แม้จะมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่การที่บทความเปรียบเทียบว่า งานศิลปะเป็นเหมือนสกุลเงินหนึ่ง ซึ่งมีฟังก์ชั่นบางอย่างที่บิตคอยน์พยายามไปให้ถึง แต่ทำไม่ได้ ทำเอาผมหยุดอ่านไม่ได้ และอยากมีความรู้มากกว่านี้ เผื่อจะเห็นภาพรวมได้ชัดขึ้นว่า การที่งานศิลปะถูกคิดมูลค่าด้วยฐานคิดแบบที่เป็นอยู่ จนส่งผลกระทบต่อระบบสังคม–เศรษฐกิจ และแวดวงศิลปะนั้น จะทำให้ชีวิตคนทั่วไปเปลี่ยนไปอย่างไร
อีกบทที่สนุกและคาดไม่ถึงว่าจะเชื่อมโยงกันได้ก็คือ ‘จะฆ่าคนอย่างไรดี: ปัญหาด้านการออกแบบ’ ที่พูดถึงการออกแบบ รูปแบบ transition ในวิดีโอ และการฆ่า หรือบท ‘ข้อแก้ต่างให้ภาพกาก’ ที่ว่าด้วยเรื่องความคมชัดของรูปภาพบนอินเทอร์เน็ต ชนชั้นทางสังคม และการให้คุณค่าในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
แม้ผมจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายละเอียดจนตกตะกอนเป็นความรู้ใหม่ได้ แต่บทความในเล่มนี้ก็สำเร็จในฐานะที่เป็นหนังสือซึ่งเปิดขอบฟ้าแห่งการอ่าน ทำให้ผมรู้ว่ายังมีผู้เขียนและบทความที่พร้อมจะตั้งคำถามใหม่ๆ ที่เราไม่อาจจินตนาการถึง
ทำให้รู้ว่ามีผู้แปลและทีมบรรณาธิการที่พยายามนำเสนองานเขียนที่ซับซ้อนด้วยความตั้งใจ เห็นได้จากการทำข้อมูลอ้างอิง เชิงอรรถ บรรณานุกรรม อภิธานศัพท์ รวมถึงความตั้งใจที่จะแปลงานโดยพาผู้อ่านไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เห็นบนหน้ากระดาษ แม้ว่าอาจจะแลกมาด้วยอาการ ‘แหยง’ ของผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับงานประเภทนี้ก็ตาม
ถึงอย่างนั้น ผมก็คาดหวังที่จะได้อ่านเล่มต่อๆ ไป และถ้าทีมบรรณาธิการจะกรุณาเลือกทำในเรื่องที่เข้าถึงง่าย สลับกันไประหว่างเรื่องที่เปิดโลกเช่นนี้ ผมก็จะรู้สึกขอบคุณ พร้อมฝากตัวเป็นผู้อ่านต่อไป