FROM READERY TO REWRITE
จาก Readery ร้านหนังสือออนไลน์ที่อยากทำให้การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่ สู่ห้องเรียนการเขียน ที่เชื่อว่าถ้าเข้าใจเรื่องเล่าเราจะเข้าใจชีวิต
เรื่อง: นภษร ศรีวิลาศ
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
คอลัมน์ Born to Brand ขอพาคุณมาร่วมนั่งสนทนากับ ‘โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ’ และ ‘เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย’ ถึงมุมมองและแนวคิดที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ ‘Readery’ เป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ทำแบรนด์ได้แข็งแกร่งที่สุดในยุคนี้ ไปจนถึงการต่อยอดเป็น ‘Readery Podcast’ และการทำ ‘Rewrite’ ห้องเรียนการเขียนที่อยากให้คุณเข้าใจเรื่องเล่าเพื่อจะเข้าใจชีวิต
เวลานี้ เราเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก Readery
และพี่โจ้กับพี่เน็ต (เพื่อความเป็นกันเอง ขออนุญาตเรียกพี่โจ้และพี่เน็ต) ก็คงเล่าเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่าร้อยรอบ แต่หากนี่จะเป็นการเล่าเรื่องรอบที่ 101 เราก็อยากมีเรื่องที่พี่โจ้พี่เน็ตไม่เคยเล่าที่ไหน เช่น เรื่องที่ทั้งสองคนเจอกันในเว็บไซต์ไดอารี่ออนไลน์ เรื่องที่ก่อนจะเป็นเว็บไซต์ขายหนังสือที่สวยและใช้งานง่ายขนาดนี้ พวกเขาเคยทำโซเชียลมีเดียสำหรับตุ๊กตามาก่อน เรื่องว่าอ่านหนังสือธุรกิจเล่มไหนก็ไม่เท่าบริหารด้วยหลักการ ‘จงเซตให้ตัวเองเป็นคนขี้เบื่อ’ เรื่องวิธีการพาหนังสือขึ้นชาร์ตขายดี Readery เรื่องบทเรียนจากพ็อดแคสต์ เรื่องชีวิตที่รอดปลอดภัยดีเพียงเพราะการเขียนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 30 ปีแล้ว และอื่นๆ
Readery มีจุดเริ่มต้นมาจากคนสองคนที่ไม่เคยจับธุรกิจมาก่อน (จนวันนี้พวกเขาก็ยังไม่คิดว่าจะจับหรือทำให้เป็นธุรกิจ อะเดี๋ยว อย่าเพิ่งไป มานั่งคุยกันก่อน)
พี่โจ้เรียนจบด้านภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานอยู่ในสายภาพยนตร์ ฝากผลงานการเขียนบทไว้ในเรื่อง ต้มยำกุ้ง (2548) และ เฮี้ยน (2546) เป็นผู้กำกับหนังโฆษณา เขียนบทละคร เขียนรีวิวหนังในนิตยสาร
พี่เน็ตเป็นอดีตวิศวกรสายเทเลคอม โปรแกรมเมอร์ที่แอบเขียนหนังสือเวลางาน รักการอ่านเป็นที่หนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ รับทำงานสายกราฟิกฯ และเขียนเว็บไซต์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยความรักหนังสือกันทั้งคู่ พี่โจ้และพี่เน็ตคิดจะไปเช่าบ้านเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ด้วยกันที่เชียงใหม่ อุดมไปด้วยอากาศที่ดี ธรรมชาติสมบูรณ์ ผู้คนน่ารัก
ทุกครั้งที่ใครสักคนเล่าเรื่องคนทำร้านหนังสือ มักจะเปิดเรื่องด้วยฉากแบบนี้
แต่ไม่ใช่กับพี่โจ้และพี่เน็ต เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เรื่องคงจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ไม่มี Readery ไม่มี Readery Podcast ไม่มี Rewrite เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
อะไรคือสิ่งแรกที่ทำเมื่อคิดจะไปเปิดร้านที่เชียงใหม่
พี่โจ้: เราคิดจะทำสนุกๆ เพราะตอนนั้นมีรายได้จากอาชีพอื่นอยู่ และเราก็ไม่รู้จักใครในวงการหนังสือเลย ไม่รู้ว่าต้องติดต่อสายส่งหรือสำนักพิมพ์ยังไง พี่ก็หอบหนังสือที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมดนี้ใส่รถเตรียมไปเปิดร้านที่เชียงใหม่
พี่เน็ต: เรานึกถึงร้านหนังสือที่อยู่ในเมืองเล็กๆ เปิดในบ้านเล็กๆ ใครเดินเข้ามาแล้วอยากได้เล่มไหน เราก็ตัดใจขายไป คิดแค่นั้น ซึ่งเหตุผลตลกๆ ที่ทำให้ไม่ได้เปิดคือ บ้านเช่าที่เราคุยไว้เขาไม่ให้ติดแอร์ เราเป็นพวกใช้อารมณ์นำด้วยแหละ พอเขาไม่ให้ก็เลยตัดสินใจขนหนังสือกลับ
อะ อะ อะ อ่าว
พี่โจ้: แต่ก็ยังอยากเปิดร้านอยู่นะ คิดตลอดเลยว่าจะไปที่ไหนดี ภูเขาหรือทะเล สิ่งเดียวที่ไม่ได้คิดคือตัวเลข ซึ่งพอเริ่มจะจริงจัง นั่งลงคิดเลขรายรับรายจ่ายดีๆ ก็พบว่ายากเหมือนกัน พี่เน็ตก็ชวนให้ลองขายออนไลน์ ที่ทำได้เพราะพี่เน็ตเขาเล่นทำเว็บไซต์เป็นงานอดิเรก เหมือนที่คนอื่นๆ เล่นฟิกเกอร์กัน
ที่ว่าทำเว็บไซต์เล่นๆ นั้นเล่นอะไรบ้าง
พี่เน็ต: ยุคนั้นเป็นยุคเว็บไซต์ 2.0 คนกำลังเห่อข้อมูลที่เชื่อมกลับไปสู่ metadata ต่างๆ จริงๆ ก่อนหน้านั้นเราก็ลองทำเว็บไซต์หลายๆ แบบ ค่อยๆ เรียนรู้ เคยทำแม้กระทั่งโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับตุ๊กตา เพราะก่อนหน้านี้เราเคยขายตุ๊กตาไหมพรมที่เปลี่ยนเสื้อผ้าได้ ช่วงนั้นเดินทางไปต่างประเทศเยอะก็พกตุ๊กตาไปถ่ายรูปด้วยทุกที่ ทำให้อยากมีเว็บไซต์สำหรับตุ๊กตาคุยกัน ตั้งชื่อได้ มีบ้าน อยู่กันเป็นสังคมตุ๊กตาออนไลน์
แต่ถ้าเกี่ยวกับหนังสือ มีเว็บไซต์ Biblio สำหรับเก็บข้อมูลหนังสือ ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มาจากการซื้อหนังสือซ้ำ เมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว เวลาไปซื้อหนังสือที่ร้าน เราจะต้องโทรถามคนที่บ้านว่า เล่มนี้มีหรือยังนะ เยอะจนจำไม่ไหว ก็เลยทำเว็บไซต์ Biblio ขึ้นมา และเว็บไซต์ Muwio ไว้เก็บข้อมูลหนังในบ้านที่มีอยู่เป็นหมื่นๆ เรื่อง ซึ่งเมื่อก่อนเราเปิด Biblio ไว้เป็นสาธารณะ อยากให้เป็นเหมือนเว็บไซต์ Goodreads แต่ตอนนี้ปิดไว้ใช้กันสองคน
พี่โจ้: เราก็ยังอยากทำ Biblio ต่อนะ เผื่อใครอ่านถึงตรงนี้แล้วสนใจให้ทุนสนับสนุน ฟังก์ชั่นที่ตั้งใจไว้คือ สมมติเรามีห้องสมุดของตัวเอง เวลาที่เราซื้อหนังสือ มันก็ขึ้นว่าเรามีเล่มไหนแล้วบ้าง แล้วยังให้แปะป้ายได้ว่าเล่มไหนที่อยากขาย แลกเปลี่ยน หรือบริจาค
ย้อนกลับไปปี 2012 ตอนจะเริ่มทำร้าน Readery ถ้าเป็นคนทั่วไปคงลุกมาสร้างร้าน แต่พวกคุณลุกมาทำคอนเทนต์ เรื่องนี้สำคัญยังไง
พี่โจ้: พื้นฐานของการทำ Readery มาจากพี่เน็ตสนใจเว็บไซต์ สนใจการทำข้อมูลหนังสือ ระหว่างนั้นพวกเราก็เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘biblio cafe’ เป็นเพจที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังสือ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำ
พี่เน็ต: พอมีเฟซบุ๊ก เราก็พยายามแสดงความเป็นตัวเราที่ชอบหนังสือออกไปในโลกโซเชียลฯ Readery เลยมาจากการที่เราตั้งคำถามว่า จะเป็นยังไง ถ้าเราในฐานะคนอ่านพูดถึงหนังสือ แล้วมันขายได้ด้วย แค่นั้นเลย จากนั้นก็เริ่มเดินสายแนะนำตัวกับสำนักพิมพ์ ทำให้มีหนังสือในช่วงเริ่มต้น 10-20 เล่ม
จริงๆ Readery ช่วงเริ่มต้นปี 2012-2016 ยังไม่มีทีมเลยนะ ทำกันเองสองคน มีคนในครอบครัวมาช่วยบ้าง จนกระทั่งปี 2016 ที่เราเริ่มแพ็กของตอนตี 3 ตี 4 และสะโหลสะเหลไปส่งของตอนเช้า จึงเริ่มสร้างทีมขึ้นมา
พวกคุณทำให้ Readery ซึ่งเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ซื้อจากคอมพิวเตอร์ มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นได้ยังไง
พี่โจ้: มาจากการที่พี่เป็นลูกค้าหรือคนซื้อหนังสือที่จู้จี้ที่สุดในโลกคนหนึ่ง ทุกวันนี้พี่ยังซื้อหนังสือทุกวัน และก็จู้จี้กับทุกคนและทุกสิ่งอย่าง ดังนั้น พี่จะเข้าใจการเป็นคนซื้อและคนอ่านอย่างดีเยี่ยม เข้าใจว่ากระดาษต้องแบบนั้น ฟอนต์ต้องแบบนี้ การส่งต้องเป็นแบบไหน บับเบิลห่อเยอะไปหรือน้อยไป พอเรารู้ว่าเราชอบอะไร เราก็จะเคารพความชอบของคนอื่นว่า เขาน่าจะชอบอย่างนี้เหมือนกัน
พี่เน็ต: ไม่นานมานี้เรากลับไปแก้ข้อมูลร้านในเฟซบุ๊กจาก ‘ร้านหนังสือออนไลน์ จัดส่งทั่วประเทศ’ ให้เป็น ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ เหมือนแต่ก่อน วันนั้นเรารู้สึกว่ากำลังล้ำเส้นความไม่เพอร์เฟกต์ไปสู่การเป็นร้านที่เพอร์เฟกต์ เราอยากบอกทุกคนว่าเรายังเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งขับเคลื่อนร้านนี้ ไม่ได้เป็นร้านที่มีคนเยอะและโกดังใหญ่โต เรายังซื้อขายแบบเพื่อนกันอย่างที่เป็นมา ไม่ได้อยากเป็นร้านค้ากับลูกค้า
พอเราตั้งต้นแต่แรกว่าไม่ได้เป็นร้านที่เพอร์เฟกต์ หรือเป็นธุรกิจใหญ่ที่มีระบบแข็งแรงทุกอย่าง เราก็ยอมรับได้กับจุดผิดพลาดของมัน as a human สมมติถ้าคิดว่าเราทำทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งเราคิดว่าเราทำถูกฝ่ายเดียว เราก็อาจจะบ่นลูกค้าได้ แต่ในเมื่อเราคิดว่าเราไม่เพอร์เฟกต์ มันก็มีจุดที่เรายอมรับกันและกัน คุยกันแบบมนุษย์กับมนุษย์
คนทำธุรกิจต่างยกให้ Readery เป็นต้นแบบของร้านออนไลน์ เรื่องหน้าตาที่สวยงาม ใช้งานง่าย ระบบหลังบ้านเรียบร้อย อะไรคือแก่นสำคัญที่คนทั่วไปไม่รู้
พี่โจ้: คนส่วนใหญ่เวลาจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างชอบเริ่มต้นจากการมองข้างนอกเข้ามาข้างใน แต่เราสองคนไม่เคยมองข้างนอก เรามองว่าเราต้องการอะไร ชอบอะไรตั้งแต่แรก เราไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนอื่นเขาทำอะไร
พี่เน็ต: ไม่นานนี้ น้องที่ดูแลระบบการจัดการแนะนำให้เราโยกหนังสือของร้านไปไว้ที่โกดังข้างนอก ให้คนอื่นทำหน้าที่ส่งให้ เรามีหน้าที่ดูแลเว็บและขายของอย่างเดียว ไอเดียนี้ถ้ามองในมุมของธุรกิจที่ให้น้ำหนักกับต้นทุนที่ใช้ในการจัดการ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกับ Readery ซึ่งไม่แน่ ในอนาคตเราอาจจะใช้วิธีนั้นก็ได้
แต่คำถามนี้กลับสะเทือนในทุกมิติของเรา ทั้งกาย ใจ ความรู้สึก จิตวิญญาณ นั่นคือถ้าทำแบบนั้น แปลว่าวันหนึ่งร้านหนังสือจะหายไปจากบ้านเรา คำถามสำคัญคือ ถ้าเราย้ายคลังหนังสือไปไว้ที่อื่น เราจะยังอยากทำ Readery แบบที่ทำอยู่ในวันนี้มั้ย เพราะมันไม่ใช่มือเราแล้วที่หยิบหนังสือ แต่เป็นมือคนอื่น เรื่องนี้มันค่อนข้างสะเทือนอารมณ์นิดหนึ่ง มันไม่มีเหตุและผล อย่างที่บอกว่า เรื่องบางเรื่องเราใช้ตรรกะในการตัดสินใจมากๆ แต่กับสิ่งที่เราชอบ เราใช้บางอย่างข้างในตัวเราทำงาน ซึ่งถ้าต้องเปลี่ยนไปจนความรู้สึกเราทำงานน้อยลง มันอาจจะทำให้เราไม่อยากทำต่อไป
ความรู้เรื่องธุรกิจของพวกคุณมาจากไหน
พี่เน็ต: ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เราแทบไม่ได้เอากฎธุรกิจ หรือสิ่งที่อ่านเจอในหนังสือธุรกิจมาทำ Readery เลย เราทำตามสัญชาตญาณว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้มั้ย แล้วก็ลองทำเลย เช่น ตอนที่สงสัยว่าทำบัญชียังไง ก็เริ่มไปที่หน้าเปล่าโปรแกรม Excel กรอกข้อมูลแบบง่ายๆ ว่ารับมา จ่ายไป แล้วคำนวณว่าเหลือเท่าไหร่ สิ่งที่เราทำกับ Readery มันเรียบง่ายมาก แทบไม่ได้มีหลักการใดๆ เลย
แล้วมันเวิร์กไหม
พี่โจ้: อย่างคอนเทนต์ เราทำเพราะชอบที่จะเห็นมันแบบนี้ เขียนถึง เล่าถึง หรือทำรูปแบบนี้ เราก็ทำ เราไม่เคยตั้งงบการตลาดหรือคอนเทนต์เพื่อทำยอดขายเท่าไหร่ เราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำอะไรก็ได้เลย แต่ในความอะไรก็ได้มันก็มีทั้งเวิร์กและไม่เวิร์ก
เมื่อก่อนเราชอบคิดว่าอะไรที่เวิร์กคือโอเค ไม่เวิร์กคือไม่โอเค แต่บทเรียนจาก Readery ตลอด 8 ปีบอกพี่ว่า สิ่งที่ไม่เวิร์กสิโคตรโอเคเลย มันทำให้เราค่อยๆ รู้ว่า แล้วอะไรล่ะที่เวิร์ก เปิดโอกาสให้เราได้ลองผิดไปเรื่อยๆ ย้ำว่าลองผิดนะ เพราะสิ่งที่ถูกไม่ต้องลอง
พี่เน็ต: มันยังมีขั้นกว่าของความเวิร์ก-ไม่เวิร์กอีก คือพวกเรามีนิสัยขี้เบื่อ แม้จะเจอจุดที่เวิร์ก แต่พอทำไปสักพัก เราก็รู้สึกเบื่อเพราะมันซ้ำ Readery ไม่ใช่ธุรกิจที่เปรี้ยงปร้างแต่มีไดนามิก และเพื่อที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ เราจึงต้องเซตให้เราเป็นคนขี้เบื่อต่อไปเรื่อยๆ
ขอวิธีกดสูตรการเป็นคนขี้เบื่อแบบ Readery บ้าง
พี่โจ้: มีช่วงหนึ่ง เรามีทีมคอนเทนต์แบบฟูลทีมมาก มันก็เวิร์กในระดับหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งเราตั้งคำถามกันว่า แล้วถ้าพวกเราไม่ทำคอนเทนต์เลย แต่ไปโฟกัสที่ระบบการจัดการ เช่น การจัดสั่งหนังสือที่เหมาะสม การดูแลคลังหนังสือ ซึ่งเดิมเราสองคนมีความรู้ติดลบ เราจะทำได้ไหมนะ แบบประคองยอดขายให้ยังดีได้อยู่
จริงๆ มันก็มีหลายพื้นที่ที่เราอยากค้นหาไปเรื่อยๆ ซึ่งความสนใจเราก็เปลี่ยนไป เช่น การทำบัญชีจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกำไรขาดทุนได้ไหมนะ พอมีคำถาม เราก็เข้าไปศึกษาเป็นเรื่องๆ แก้เป็นเรื่องๆ ไป เราไม่ได้ทำทุกเรื่องเป็น มีทุกสิ่งพร้อมตั้งแต่วันแรก มันเป็นไปไม่ได้ เราไม่เพอร์เฟกต์มาตั้งแต่ต้น และเราโคตรชอบความไม่เพอร์เฟกต์นี้เลย ยิ่งช่วงโควิด-19 บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เราปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์
พี่เน็ต: ด้วยความไม่เพอร์เฟกต์ของมัน ไม่เคยต้องไปอยู่จุดที่สูง เลยรู้สึกว่าเราทรงตัวอยู่เรื่อยๆ แล้วพอเจอสถานการณ์ที่กระทบหลายๆ คน สำหรับเราก็เลยไม่รู้สึกกระทบกระเทือนรุนแรงมาก เพราะเรารักษาจังหวะของเราอยู่ตลอด เราก็มีช่วงที่ขึ้นและลงเหมือนธุรกิจทั่วไป เพียงแต่ว่า การเปลี่ยนแปลงพวกนี้มันยังอยู่ในจุดที่เราพอรับมือได้
พี่โจ้: เราชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่อให้โลกไม่เปลี่ยน เราก็เปลี่ยนอยู่ดี
เรื่องไหนบ้าง
พี่โจ้: ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างอยากย้ายชั้นหนังสือ ไปจนเรื่องใหญ่ๆ เปลี่ยนทิศทางหรือแนวหนังสือในร้าน เปลี่ยนการทำคอนเทนต์ เปลี่ยนตลอดเวลา
พี่เน็ต: เมื่อวานเพิ่งคุยกันกับน้องๆ เลยว่ามีปัญหาการทำงานหรือการจัดการยังไงบ้าง เราก็เปลี่ยนกันเดี๋ยวนั้นเลย จากเดิมที่นั่งทำงานคนละชั้นก็ย้ายมานั่งรวมกัน พี่ก็ไม่รู้ว่าจะเวิร์กไหม แต่ถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยนกลับ
ทำให้ทั้งทีมพร้อมปรับตัวไปด้วยยังไง
พี่โจ้: พี่ยกตัวอย่างฝ่ายห่อของ เขาจะมีตำแหน่งวางกรรไกรที่เขาคุ้นเคย แต่หยิบไม่ถนัด วันหนึ่งพี่ก็บอกให้เขาลองย้ายที่วางกรรไกร ตอนแรกๆ ก็ช้าลง แต่อีกไม่นานความเร็วในการห่อก็กลับมาอยู่อัตราที่เร็วเท่าเดิม จะเห็นว่าคนเรามีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ มันทำให้เราปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์
พี่เน็ต: การเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ กระตุ้นให้เราคิดตลอดนะ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคุ้นชินกับความราบรื่น สำหรับเรามันน่ากลัวนะ เพราะไม่ผลักให้เราไปทำอะไรใหม่ๆ เราก็เลยชอบที่จะเปลี่ยนมันตลอดเวลา
เคยไม่เปลี่ยนแปลงบางอย่างนานสุดเท่าไหร่
พี่โจ้: ไม่มี เปลี่ยนทุกวัน
พี่เน็ต: เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาการขี้เบื่อจะส่งผลต่อการทำงานของเราขนาดนี้ การเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่าเราถนัด เราชอบ หรือสนใจจะลงลึกเรื่องบางเรื่องจริง แต่ถ้าเราไม่เคยเปลี่ยน เราก็จะอยู่ในจุดที่ไม่เคยแตะ และอาจจะไม่มีโอกาสได้แตะเลยด้วยซ้ำ แต่การบังคับตัวเองให้เปลี่ยน มันก็บังคับให้ตัวเองได้แตะจนรู้ว่า นี่นะฉันไม่ชอบ
พี่โจ้: หนึ่งสิ่งที่เราได้คือ เราไม่ท้อกับชีวิต ถ้าเราทำอะไรเหมือนเดิม แต่ชีวิตมันมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่เปลี่ยนโลกมันก็เปลี่ยน อย่างพวกเรา ทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลง เรากลับสนุกที่ได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
สามปีที่แล้ว คุณเคยให้สัมภาษณ์เรื่องการใช้ Data และ AI ในธุรกิจ มาวันนี้ยังสนใจเรื่อง Data เหมือนเดิมไหม
พี่เน็ต: ช่วง 2-3 ปีที่ยังสนุกอยู่ เราเอาข้อมูลของทั้งร้านไปให้นิสิตภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำงานโปรเจกต์ น้องๆ เขาจะเก่งการนำข้อมูลไปทำแผนเพื่อพยากรณ์บางอย่าง เช่น เมื่อเห็นว่าคนนี้ซื้อหนังสือเล่มนี้ไป ครั้งต่อไปเขาจะซื้ออีกเล่มหนึ่งที่เป็นแนวนั้นแน่ๆ เรามีข้อมูลไว้ให้สำหรับน้องๆ ที่สนใจจะศึกษาพฤติกรรมคนซื้อสำหรับงานวิชาเรียน แต่สำหรับเราเองที่แน่ใจว่าไม่ได้ต้องการใช้มันเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต เราอยากให้ Readery เป็นแพลตฟอร์มที่พาเราไปสู่จุดอื่นๆ ร้านมันไปได้เรื่อยๆ ตอนนี้เอาเข้าจริงๆ มันเป็นช่วงส่งต่อให้ทีมที่เข้ามาดูแล Readery ต่อจากเรา เพราะเรากำลังสนุกกับโปรเจกต์อื่นๆ ที่จะมาเสริม Readery
เมื่อคืนเพิ่งอ่าน The Bestseller Code: Anatomy of the Blockbuster Novel (โดย Jodie Archer และ Matthew L. Jockers) มัน shift ความสนใจมากๆ มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง เอาหนังสือขายดีย้อนหลัง 50 ปีมาให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้หารูปแบบการทำหนังสือเล่มนั้นๆ ถอดมาเป็นโครงสร้าง ตั้งแต่พล็อตเรื่อง คาแรกเตอร์ตัวละครในหนังสือขายดี ว่ามีแพตเทิร์นอะไร สมมติเอาหนังสือเล่มใหม่โยนเข้าไปให้ AI ประมวลผล มันสามารถบอกโอกาสที่หนังสือเล่มนั้นจะขายดีว่ามีเท่าไหร่ และเมื่อวันก่อนเขาเพิ่งเปิดตัวบริการที่ชื่อว่า Authors AI ซึ่งคุณสามารถเอาร่างงานเขียนของคุณให้ AI ชื่อ Marlowe ตรวจวิเคราะห์โครงสร้างและอื่นๆ ได้ว่างานนั้นมีโอกาสหรือเข้าใกล้เป็นหนังสือขายดีแล้วหรือยัง จะเห็นว่าเรายังสนุกที่ศึกษาข้อมูล Data เพียงแต่ตอนนี้เราย้ายมาใช้กับโปรเจกต์ Rewrite
คุณคิดว่า ‘ตารางอันดับหนังสือขายดี’ ในปัจจุบัน ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม
พี่เน็ต: การจัดชาร์ตของร้านเราเป็นการบอกข้อมูลที่เป็น fact ว่ามีหนังสือที่คนซื้อ เป็นข้อมูลซื้อขายตรงไปตรงมา อะไรขึ้นอะไรลงก็บอกไปตรงๆ ตอนแรกเราก็ไม่ชอบการจัดชาร์ตหรอกนะ แต่เพราะว่าชาร์ตร้านเรามันแปลกดี กลุ่มคนที่ซื้อหนังสือจากร้านเราค่อนข้างเฉพาะทาง ไม่ใช่ชาร์ตที่สะท้อนว่าสิ่งนี้จะแมสในวงการ แต่สะท้อนความแมสในกลุ่ม niche ซึ่งชาร์ตร้านใหญ่จะไม่ตอบโจทย์นี้ เราก็เลยคิดว่าเป็นงานของเราที่จะต้องบอก
เช่น ยากมากนะ หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่หนังสือ คนนอก (L’Étranger, 1942) ของ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) จะขึ้นชาร์ตที่ร้านใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าอัลแบร์ กามู ไม่ดีนะ เรารู้สึกว่าชาร์ตของเราบอกว่า ประชากรกลุ่มเราเขาสนใจอะไรกันอยู่
สำหรับเราในฐานะคนทำหนังสือ ชาร์ต Readery เหมือนชาร์ตคลื่นเพลงอินดี้อย่าง Fat หรือ Cat Radio ซึ่งการขึ้นชาร์ต Fat มันเท่มาก เข้าเรื่องเลยละกันนะคะ ว่าแต่มีวิธีทำยังไงที่จะให้หนังสือของเราอยู่ในชาร์ต Readery ได้บ้าง
พี่เน็ต: ง่ายมาก แค่ชวนเพื่อนมาซื้อเยอะๆ ก็พอ
ถ้างั้นเดี๋ยวกลับมาใหม่ ขอตัวไปเบิกงบบริษัทมาซื้อหนังสือก่อน ล้อเล่นค่ะ มาจนถึงวันนี้ ใครคือคู่แข่งของ Readery
พี่เน็ต: เพราะไม่อยากเปรียบเทียบตัวเองกับใคร เราจึงคิดว่าไม่มี แต่เราพยายามสร้างคู่แข่งของเราขึ้นมา อย่างตอนนี้มีโปรเจกต์ร้านที่สองชื่อว่า ‘Read More’ เน้นหนังสือ non-fiction เพราะช่วงหลังหนังสือ non-fiction เข้ามาเยอะ ในแง่แบรนดิ้ง Readery ถูกจดจำว่าขายวรรณกรรมมากกว่า เราก็เลยอยากทำให้มันชัดเจนขึ้น
ช่วงที่ทำ Readery มีโปรเจกต์หรือคอนเทนต์ไหนที่ทำแล้วสั่นสะเทือน หรือเปลี่ยนความเชื่อที่มีไปตลอดกาลบ้าง
พี่เน็ต: ที่ผ่านมาเราคิดว่าตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต ไม่ชอบพูด จนกระทั่งมาทำ Readery Podcast จากตอนที่หนึ่ง จนวันนี้ตอนที่หนึ่งร้อยกว่า เรากลายเป็นคนที่สามารถแสดงสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึกออกมาผ่านการพูดได้มากขึ้น แต่ก่อนเรารู้สึกว่าเราเรียนจบอะไรมา ตัวตนเราคงจะจบและเป็นคนแบบนั้น ที่มีความรู้อะไรและได้ทำงานอะไร การทำพ็อดแคสต์ทำให้เรารู้สึกได้เริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่กำลังทำใหม่ ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ เปิดโอกาสให้เราได้ลองหาความเป็นไปได้อีกเยอะมาก
พี่โจ้: เมื่อก่อนเราเป็นคนที่กลัวคอมเมนต์ กลัวเสียงจากข้างนอก พ็อดแคสต์ทำให้เราได้เรียนรู้ความจริงใจกับตัวเองซึ่งสำคัญมาก สิ่งที่เราพูดกันใน Readery Podcast เราเช็กตัวเองทุกวินาทีว่า นี่คือสิ่งที่เราเชื่อ คิด และรู้สึกจริงๆ หรือไม่ ถ้าไม่จริงจะขอโปรดิวเซอร์พูดใหม่ทันที และมีบ่อยครั้งที่เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว แต่มีใครสักคนพูดขึ้นมาว่าเห็นหรือเชื่อไม่ตรงกับสิ่งที่หนังสือบอก ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดีนะ แต่อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจหนังสือเล่มนั้นเต็มที่ หรือเรายังไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด ก็ต้องเลือกเล่มใหม่แล้วอ่านใหม่ ถ้าอ่านแล้วไม่อิน เราเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก พรุ่งนี้จะอัดแล้วต้องอ่านหนังสือ 300-500 หน้าใหม่หมด
อย่างน้อยก็น่าจะอัดพ็อดแคสต์เล่มนั้นไปก่อน ทำไมเลือกที่จะอ่านเล่มใหม่ทั้งที่มีเวลานิดเดียว
พี่เน็ต: เมื่อพบว่าไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะพูดถึงหนังสือเล่มนั้น เราเลือกที่จะเปลี่ยนเล่มดีกว่าจะดันทุรังพูดไปทั้งๆ ที่ไม่เชื่อ จึงมาสู่บทเรียนอีกเรื่องคือ เมื่อก่อนเราพูดคำว่า ‘ไม่’ ได้ยากกว่าตอนนี้
พี่โจ้: ที่บอกว่าพูดยาก เพราะเราไม่รู้ว่า แล้วที่ ‘ใช่’ ของเราคืออะไร พอฝึกเข้าใจตัวเองเรื่อยๆ มันก็รู้ว่าเราทำแบบนี้แล้วมีความสุข และพอเรามีความสุข ก็กลายเป็นว่าคนทั้งโลกเข้าใจเราหมดเลยว่าเราเป็นคนแบบนี้แหละ ชอบแบบนี้แหละ
อะไรคือสูตรลับที่ทำให้คนรัก Readery Podcast
พี่เน็ต: มันไม่ใช่การหยิบหนังสือมาเล่าแห้งๆ แต่เราใช้ชีวิตเราเข้าไปอ่านหนังสือ หนังสือเล่มนั้นจำเป็นต้องทำงานกับเรื่องราวในชีวิตของเราอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง จริงๆ เราคุยกันตลอดนะว่า ในรายการเราพูดอะไรเกี่ยวกับหนังสือได้บ้าง เราอยากรู้ว่า ถ้าครึ่งหนึ่งเราเล่าเรื่องหนังสือ อีกครึ่งแชร์เรื่องส่วนตัวจะเป็นยังไง ปรากฏว่าคนฟังเข้าใจและเปิดรับเรามากขึ้น หลังจากที่เราเปลี่ยนมาเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวเหล่านั้น
ไม่แน่ใจว่ามันไปโดนใครไหม แต่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขานำวิธีการนี้ไปใช้กับการอ่านหนังสือของตัวเอง แทนที่จะอ่านชั้นเดียว แค่รู้ว่าสนุกยังไง ก็จะทำให้เขาอินกับมันมากขึ้น เราพยายามพูดเสมอว่า หนังสือเล่มนั้นดึงความทรงจำหรือความรู้สึกของเราในตอนนั้นออกมายังไง เหมือนหนังสือได้พูดแทนเรา ทำให้เข้าใจตัวเองในตอนนั้นมากขึ้นยังไง
พี่โจ้: มันเป็นความกล้าอีกแบบนะ เวลาที่เราพูดว่าอ่านหนังสือด้วยชีวิต ซึ่งก็ดูเท่ดีเนอะ แต่จริงๆ ชีวิตมีด้านบวกและลบ เช่น ด้านบวกที่สมัยเด็กเราชอบมองท้องฟ้า แต่เมื่อใดก็ตามที่หนังสือบางเล่มไปแตะความลับหรือปมบางอย่างที่เจ็บปวดในอดีตแล้วเราไม่อยากแตะ แต่หนังสือพาไปแตะจุดนั้น ตรงนี้แหละที่หนังสือทำให้เกิดความกล้า เจ็บแล้วไง เจ็บก็เจ็บไง ร้องไห้ เจ็บปวดเมื่อนึกถึงเรื่องนี้ เราก็ต้องจัดการกับมัน แต่เมื่อผ่านไป ชีวิตเราก็ได้เยียวยาด้วยหนังสือเล่มนั้น พวกเราต้องเจอเรื่องแบบนี้ทุกสัปดาห์
เกี่ยวกับโปรเจกต์ Rewrite จุดเริ่มต้นมาจากอะไร
พี่โจ้: จริงๆ โลกของพี่โจ้พี่เน็ตไม่ได้มีแต่การอ่านตั้งแต่แรก นอกจากการอ่าน เราสนุกสนานบ้าคลั่งเรื่องการเขียนมาก ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเขียนนิยายหรือออกหนังสือนะ แต่เราทุกคนสามารถเขียนให้ตัวเองมีความสุขได้
พี่เน็ต: ย้อนอดีตกันหน่อย เราสองคนรู้จักกันในเว็บไซต์เขียนไดอารี่ diaryhub.com
พี่โจ้: ไม่เคยบอกใครเลยนะ ว่าเรารู้จักกันผ่านอินเทอร์เน็ต (หัวเราะ) เมื่อก่อนพี่เน็ตใช้ชื่อ ‘the lazy dog’ จำได้เลยเขียนใน bio ว่า ‘หนุ่มวิศวะ โดดเดี่ยวในเมืองใหญ่ อ่านมูราคามิ ฟังเพลงแจ๊ซ’ ส่วนพี่โจ้ ‘bluehawaii’ รายงานตัวครับ
พี่เน็ต: สิ่งที่ทำให้พวกเราชอบกันคือ การแอบอ่านไดอารี่ของกันและกัน ไม่ใช่แค่เราสองคนหรอก แต่มีกลุ่มคนที่ชอบงานเขียนประเภทนี้ มาค้นพบทีหลังว่า นอกจากชอบอ่านไดอารี่กัน สิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างเราคือ หนังสือที่อ่าน หนังที่ดู ไลฟ์สไตล์ที่คล้ายๆ กัน และก่อนจะเป็นเว็บไซต์ Biblio เราเคยทำเว็บไซต์เขียนไดอารี่ที่มีกันแค่สองคน เพราะตอนนั้น diaryhub ปิดตัวก็เลยทำเว็บเอง จริงๆ ก็เหมือนบล็อกนั่นแหละ แต่ฟอร์แมตคือการเขียนไดอารี่
ทำพ็อดแคสต์ชวน ‘อ่าน’ อยู่ดีๆ อะไรทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาเปิดห้องเรียนชวน ‘เขียน’
พี่เน็ต: เริ่มมาจากมีพ็อดแคสต์ตอนหนึ่งที่เราเปิดประเด็น มองท้องฟ้าแล้วอยากอ่านอะไรดี วันนั้นเราก็เอาไดอารี่ตัวเองไปอ่านลงพ็อดแคสต์ พอเริ่มเปิดเผยตัวตน พวกเราก็เปิดเผยขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่าหน้าหนึ่งในไดอารี่เราเขียนถึงการมองท้องฟ้าเอาไว้ แล้วเราชอบ พออ่านก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราเขียนๆ เอาไว้มันไม่ได้ต่างจากสิ่งที่พูดในรายการพ็อดแคสต์เลย มันเป็นวิธีการเล่าเรื่องเหมือนกัน แค่แสดงออกกันคนละรูปแบบ หลังจากวันนั้น ก็คิดว่าวิธีเขียนของเรามาทำงานกับพ็อดแคสต์ได้ยังไง หรือใส่กรอบความคิดใหม่ๆ ลงไปในเรื่องเล่าแต่ละตอนได้ไหม ช่วงนั้นก็ย้อนกลับไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเขียนที่เราชอบ
พี่โจ้: ช่วงเดียวกันก็เริ่มรู้จักน้องๆ นักเขียน ได้คุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องหลักการสร้างเรื่องเล่าและการสร้างตัวละคร จากวงสนทนาเล็กๆ ก็ขยับเป็นห้องเรียนขนาดย่อม ที่สอนวิธีดูหนังให้เห็นพล็อตเรื่อง ก่อนจะแนะนำให้พวกเขารู้จักการเขียนอย่างอิสระหรือ freewriting ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด 30 ปี คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องเล่าต้องอยู่ในนิยายหรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่คำว่าเรื่องเล่าในความหมายของพี่ คือแม้แต่เรื่องคุยกับเพื่อนก็เป็นเรื่องเล่าชนิดหนึ่ง
ทำไมต้องสอนการเล่าเรื่อง การรู้หลักการเล่าเรื่องจำเป็นแค่ไหนกับเรื่องเล่า
พี่เน็ต: เรามองว่าความรู้ในการเล่าเรื่องของวงการภาพยนตร์ ซีรีส์ โทรทัศน์ กับความรู้ในการเล่าเรื่องของคนทำหนังสือนิยาย มันคือความรู้ชุดเดียวกันได้
พี่โจ้: เมื่อก่อนเราเคยสอนเขียนบทหนัง เลยมองว่า storytelling ของหนังกับหนังสือมันเหมือนกัน
เป็นการกลับมาสอนในรอบกี่ปีของพี่โจ้
พี่โจ้: 10 ปี
รู้สึกต่างหรือเปลี่ยนไปยังไง
พี่โจ้: ต่างตรงที่ความรู้ พอเรารู้เยอะขึ้นเราก็เข้าใจ อยู่ดีๆ ก็เข้าใจว่าเรื่อง A กับ B ที่สนุกทั้งคู่นั้นสนุกต่างกันยังไง เราเอาชีวิตเราไปเกี่ยวข้อง มันก็ใช้ชีวิตมาไกด์ได้
คนที่ทำงานด้านการเขียนคงได้ประโยชน์จากห้องเรียนเต็มๆ แล้วสำหรับคนที่อยู่นอกวงการอ่านเขียนอย่างสิ้นเชิง เขาจะได้อะไรจากสิ่งนี้ หรือคาดหวังให้เขาได้อะไร
พี่เน็ต: เราเซอร์ไพรส์กันมากตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดคลาสเลย พอถามแต่ละคนว่ามาจากวงการไหนกันบ้าง ปรากฏว่ามีคนเขียนหนังสือแค่ 2-3 คน ที่เหลือเป็นคนทำคอนเทนต์ลงเพจ ทำงานเขียนแต่อยู่สาขาอื่น ไม่ได้อยากเขียนนิยาย ไม่ได้เล่าเรื่องเป็นขนาดนั้น แต่อยากพัฒนาการเล่าเรื่องสั้นๆ ตามฟอร์แมตที่ทำงานอยู่ กับอีกกลุ่มคือไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับการเขียนเลย ไม่ได้จะสร้างงานเขียน แต่ต้องการรู้ว่า creative writing คืออะไร เพราะเราพูดถึง creative writing as a tool ของการใช้ชีวิต เอาสิ่งนี้มาใช้ในชีวิตและการทำงานยังไงบ้าง ก็มีคนฟังตามเรามาจากสิ่งที่เราพูดเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ คืออยากรู้ว่าเขาจะมีวิธีการมองเรื่องของเขายังไง ผ่านทฤษฎีการเล่าเรื่อง แต่ทำงานกับเรื่องเล่าภายในตัวของเขาเอง
เรื่องเล่าภายในตัวเองคืออะไร
พี่โจ้: พี่เองหมกมุ่นกับเรื่องการรู้จักตัวเอง เพราะการรู้จักตัวเองมากขึ้นจะทำให้เรารักตัวเองมากขึ้น และการรักตัวเองมากขึ้น จะทำให้เรารักคนอื่นหรือแคร์คนอื่นมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีมากที่สุดก็คือการเขียนมันออกมา ยกตัวอย่างเช่น เที่ยงนี้จะกินอะไร ถ้าแค่คิดก็วนเวียน แต่พอเขียนเราก็จะเห็นว่าเราอยากกินอะไร ระดับที่ลึกเข้าไปข้างใน การเขียนมันช่วยแบบนั้น
‘Writing is a healing job’ ไม่ว่าคุณจะเขียนอะไร เขียนบทภาพยนตร์ บทละคร เขียนนิยาย คอนเทนต์ลงเพจ เขียนเพลง เขียนไดอารี่ เขียนบทสุนทรพจน์ มันคือเรื่องเดียวกัน หลักการเดียวกัน นั่นคือเขียนเพื่อเชื่อมเราด้วยสิ่งที่เราเชื่อและอยากบอก
ทีนี้พี่ขอถามกลับ เวลาย้วยทำคอนเทนต์ ตอบตัวเองได้ไหมว่าสิ่งที่เขียนนั้นดีหรือไม่ดี
ย้วยแค่ชอบมัน
พี่โจ้: ใช่ ระดับที่หนึ่งคือ ดูว่าเราชอบมันหรือยัง
คำถามคือ แล้วถ้าเราไม่ชอบ แต่จะเปลี่ยนให้ชอบเราต้องทำอย่างไร พี่กำลังสอนสิ่งนี้ พากลับไปที่แก่นว่าเราคอนเนกต์กับสิ่งนี้ยังไง อย่างวันนี้ที่เราคุยกันประเด็นมันเยอะไปหมด วิธีการก็คือ เราไม่ได้นำเสนอ fact แต่เรากำลังนำเสนอ truth หรือความจริงบางอย่าง เป็นความจริงที่ย้วยซึ่งเป็นคนสัมภาษณ์ชอบมัน ไม่ต้องเขียนทั้งหมด เลือกเขียนเฉพาะสิ่งที่ชอบ
อะไรคือที่มาของชื่อคลาสเรียนที่แตกต่าง ไม่ได้ตรงไปตรงมาว่าเขียนยังไงให้ขายดี
พี่เน็ต: อย่าง ‘ดูหนังให้เห็นพล็อต’ มาจากปัญหาของคนทั่วไปที่รู้ว่าเรื่องนี้สนุก แต่ไม่รู้ว่ามันสนุกยังไง เราก็ชวนกันมานั่งดูหนังยาวสามชั่วโมง มาถอดโครงสร้างหนังให้ดูว่าพล็อตคืออะไร มีธีม มีโครงสร้างและคาแรกเตอร์เป็นยังไง หรือชื่อคลาสอื่นๆ อย่าง ‘Trust Your Writer’s Mind’ สิ่งที่เราอยากบอก เราไม่ได้บอกวิธีการนะ แต่คลาสนี้จะทำงานกับคุณ เพื่อให้คุณเชื่อมั่นตัวคุณด้วยวิธีการยังไงบ้าง สร้างความมั่นใจว่าเราก็เขียนได้
การสร้างความมั่นใจในงานเขียนสำคัญยังไง
พี่โจ้: ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนที่มีผลงานมาแล้วหรือนักเขียนหน้าใหม่ มักจะเจอภาวะอยากเขียนนะ แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร นั่นเป็นเพราะเราใช้สมองของ writer’s mind ไปพร้อม critic’s mind เราฝึกที่จะเขียนไปคิดไป อีดิตไป ซึ่ง critic’s mind มันอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่ ป.1 ที่โรงเรียนสอนให้เราวิเคราะห์วิจารณ์ ในเมื่อหัวฝั่งวิจารณ์มันเข้ามาบล็อกทำให้เราเขียนไม่ออก เรากำลังสอนให้เขาค่อยๆ ออกจากเซนเซอร์ตรงนี้ของตัวเอง
พื้นฐานของคนเรียนที่ไม่เท่ากันเป็นปัญหากับการสอนไหม มีการปรับปูพื้นฐานหรือออกแบบการสอนยังไงให้ทุกคนในห้องตามทัน
พี่เน็ต: ในห้องเรียน จะสอนทฤษฎีการเล่าเรื่องครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งให้นำทฤษฎีนี้ไปทำงานกับตัวคุณ อย่างคลาส ‘Create Character We Love’ ซึ่งถ้าเป็นคลาสสอนเขียนทั่วไป ก็คงสอนการสร้างตัวละครในนิยาย แต่สิ่งที่คุณอยากเข้าใจไม่ใช่แค่ตัวละครในนิยายของคุณ คุณจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีกลับไปใช้ดูตัวเองว่ามีปัญหาอะไร ก่อนที่คุณจะเข้าใจตัวละคร สร้างปัญหา และหาทางออกให้มัน คุณต้องเข้าใจวิธีการทำงานจากข้างในของคุณก่อน
พี่โจ้: เวลาคนจะเขียนนิยายสักเรื่อง เป็นธรรมดาที่มองหาเรื่องจากข้างนอก แต่ไม่เคยคิดเลยว่า ธีมชีวิตทั้งชีวิตที่เราผ่าน มีธีมคืออะไร เราเชื่อเสมอว่า ‘Story is life’ มันไม่ได้อยู่ข้างนอกแล้วเราออกไปเห็น แต่มันอยู่ข้างในเรา
อะไรคือสิ่งที่พี่โจ้พี่เน็ตได้จากการทำ Rewrite
พี่เน็ต: เรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นของขวัญของเราที่เราเก็บไว้กับตัวมานานมาก แล้วเราเพิ่งนำมันออกมาพูดให้คนฟัง
พี่โจ้: ที่บอกว่าเป็นของขวัญ เพราะเราได้อะไรจากสิ่งนี้เยอะมากๆๆๆๆ เราไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เราทำทุกวันๆ เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตเรามาถึงวันนี้ การเขียน freewriting ในวันนั้นทำให้เราก้าวข้ามปัญหาบางเรื่องมาจนถึงวันนี้ หรือแม้แต่ Readery ที่ทุกคนรู้สึกและถามว่าทำไมดูโอเคและเติบโต ก็เพราะเราผ่านมาด้วยสิ่งนี้ เราก็อยากส่งต่อให้โลกได้รับรู้และใช้ประโยชน์จากมันด้วย
ถ้าการเขียนช่วยเยียวยาจิตใจ ทำไมพวกเราหลายคนซึ่งเรียนเขียนมาตั้งแต่จำความได้ ถึงรับรู้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พี่โจ้: เพราะระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับข้างนอกหมดเลย เราเขียนเพื่อการเรียนรู้ในลักษณะการคิดเชิงตรรกะเพื่อการศึกษา ที่ผ่านมาการเขียนไม่เคยถูกทำให้เหมือนการเรียนศิลปะ
พี่เน็ต: เราพยายามเข้าใจชีวิตผ่าน storytelling นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราอินกับหนังกับซีรีส์ เพราะในนั้นมันคือชีวิต แต่มันถูกเขียนเหมือนเป็นคาแรกเตอร์ที่สร้างใหม่
คนแบบไหนควรมาเรียน Creative Writing
พี่โจ้: คนทุกแบบ มันจำเป็นนะ สมมติวันนี้รู้สึกแย่ ส่วนใหญ่เราก็จะบอกว่า มีอะไรเครียดๆ เราพูดได้แค่นี้ แต่จริงๆ ในความเครียดหรือความรู้สึกแย่นั้นมีอะไรตั้งหลายอย่าง วันนี้ฉันโกรธ ฉันกลัว ฉันหดหู่ ฉันเหงา ในความเหงามีเหงาอีก 10 แบบ มันมีรายละเอียดของเรื่องที่เล่าให้ตัวเองฟังอยู่ ซึ่งพี่เชื่อเสมอว่า ถ้าใครเล่าเรื่องเก่ง คนนั้นชนะในการใช้ชีวิต
พี่เน็ต: ยกตัวอย่าง เวลาเราฟังเรื่องของเพื่อน เราให้คำแนะนำได้ เพราะเราไปมองเรื่องของเพื่อนเป็นฟิกชั่น ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่พอเป็นเรื่องของเรา เราไม่สามารถมองมันแบบฟิกชั่น เพราะเราเชื่อว่าเรากับเรื่องของเราเป็นคนเดียวกัน แยกกันไม่ได้ แต่คลาสของเราทำให้คุณเข้าใจฟิกชั่น คุณจะถอดตัวของคุณออกมา ถอยมาทำหน้าที่เป็นนักเขียนเล่าเรื่องของคุณ มันถึงพาเราออกจากลูปนั้นได้ ถ้าไม่คิดแบบฟิกชั่นเราหาทางออกไม่เจอหรอก
แสดงว่า REWRITE = RELIVE YOUR LIFE ?
พี่โจ้: เราชอบยกตัวอย่างนี้ ใครที่กำลังอกหัก รู้สึกเจ็บไปทั้งโลก ถ้ามองเป็นฟิกชั่น เรื่องนี้ยังไงก็มีวันจบ เริ่มต้นตัวละครเจอเหตุการณ์หรือจุดเปลี่ยนบางอย่าง สุดท้ายตัวละครก็ต้องผ่านความเจ็บปวด แล้วจบด้วยอะไรสักอย่าง การมองชีวิตเป็นเรื่องแต่งแบบนี้เยียวยาเราระดับหนึ่ง
และการเข้าใจเรื่องเล่าในชีวิตคนอื่นมากขึ้น มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า empathy ใจเขาใจเรา เวลาดูหนัง ทำไมเราถึงชอบตัวละครโจ๊กเกอร์ เพราะหนังทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นวายร้ายแบบนั้นได้ และการที่เราเข้าใจเรื่องเล่าของคนอื่นมากขึ้น มันทำให้เราเห็นอกเห็นใจ เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ตัวเราก็จะรู้สึกว่าไม่ได้มีแต่คนแย่ๆ อยู่รอบตัวตลอดเวลา แต่เปลี่ยนเป็นมีคนที่เราเข้าใจได้อยู่รอบตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เราดีขึ้นไปด้วย
เห็นไหมว่าเรื่องเล่ามันมีพลังมากนะ