INVESTIGATING THAI URBANISM
คุยกับ Urban Studies Lab ศูนย์วิจัยที่อยากชวนทุกฝ่ายจับมือแล้วสร้างเมืองร่วมกัน
เรื่อง: ธีรภัทร์ เจนใจ
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธ์
ภาพ: ธนพล แก้วแดง
สำหรับพวกเราชาว CONT. การอ่านกับ ‘เมือง’ สัมพันธ์กันอย่างน้อยในสองมิติ
หนึ่ง การลุกออกจากเก้าอี้ในห้องนั่งเล่น พาหนังสือสักเล่มออกจากบ้าน แล้วพูดคุยกันผ่านสายตา โดยมีห้องสมุด สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ รถไฟฟ้า ร้านกาแฟ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เป็นเครื่องเคียงที่ทำให้ได้รสชาติการอ่านใหม่ๆ
สอง การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ทั้งรอบๆ ชุมชนที่อาศัยอยู่ หรือในย่านต่างๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านร่วมจังหวัด แล้วใช้สายตาสังเกตความเป็นไป ตั้งแต่พื้นจรดฟ้า เช่น พื้นทางเท้า ท่อระบายน้ำ พ่อค้าแม่ขาย ถังขยะ ระบบขนส่งสาธารณะ บ้านเรือน ป้ายบอกทาง สายไฟ หรือแม้แต่อากาศรอบๆ ตัว
หากต้องตั้งชื่อให้น่ารักและเห็นภาพชัดขึ้น เราคงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า การ ‘อ่านเมือง’
บางครั้งพวกเราก็มองด้วยสายตาชื่นชม แต่หลายครั้งก็มองด้วยความสงสัยและความหงุดหงิด เมื่อเห็นว่า ‘เมือง’ ที่อาศัยอยู่นั้นมีปัญหาเต็มไปหมด—แต่ความหงุดหงิดจากการอ่านเมืองของเราก็มักจะหยุดลงแค่นั้น หรือไม่ก็ถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดียพร้อมแคปชั่นบ่นตัดพ้อ เพราะไม่มีความรู้มากพอที่จะไปจัดการอะไรได้
ในระหว่างที่เราออกไปอ่านเมืองไม่ได้เหมือนเคย ก็พอดีกับที่ได้รู้จัก Urban Studies Lab (USL) ศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง ซึ่งทักทายและชวนเราไปทำความรู้จักความเป็นเมืองในแบบฉบับไทยๆ ให้ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมที่มีคอนเซปต์น่าสนใจว่า ‘Investigating Thai Urbanism’
แน่นอนว่าพวกเราตอบรับคำเชิญทันที พร้อมกับอยากรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น เพราะยิ่งเมื่อลองเอาชื่อ USL ไปเสิร์ชก็พบกับโครงการพัฒนาเมืองที่ดีหลายต่อหลายโครงการ ไหนๆ CONT. จะเข้าร่วมขบวนการนักสืบแล้ว ก็อยากฟังว่าที่มาที่ไปของศูนย์วิจัยและโครงการนี้คืออะไร
แต่ก่อนจะเข้าใจ USL ได้ เราก็ต้องรบกวนให้พวกเขาเล่าถึงความเป็น ‘เมือง’ และมุมมองที่มีต่อกรุงเทพมหานครกันเสียก่อน
Urban
“ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ นอกจากคำว่าบ้าน ในฐานะเมืองที่เราเกิดและเติบโตแล้ว กรุงเทพฯ สำหรับผมคือความหลากหลาย ด้วยความที่มันใหญ่มหึมา กรุงเทพฯ จึงเหมือนมีเมืองเล็กๆ ย่อยลงไปอีก เป็นเมืองในเมืองอีกที”
อาจารย์ปั้น—พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ USL ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและอาจารย์หลักสูตรการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงภาพของกรุงเทพฯ ในมุมมองของตัวเองได้อย่างน่าสนใจและน่าสงสัย ก่อนจะอธิบายต่อว่า หากอยากเห็นภาพ ‘เมืองในเมือง’ ก็ขอให้นึกถึงย่านสยามสแควร์ที่มีความหลากหลาย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หรือบริเวณถนนแจ้งวัฒนะที่คาบเกี่ยวกับจังหวัดนนทบุรี ก็อาจเรียกว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของหน่วยงานราชการได้เลย
ฟังแล้วก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะเราไม่เคยคิดถึงกรุงเทพฯ ในมุมนี้มาก่อน แต่อาจารย์ปั้นก็รีบเบรกว่า “ความหลากหลายจากการมีเมืองซ้อนทับในกรุงเทพฯ เป็นไปโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่พวกที่เกิดจากความไม่ตั้งใจจะมีเยอะกว่า เราอาจเรียกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่โตแบบออร์แกนิกก็ได้ ซึ่งมันเป็นชื่อเรียกเท่ๆ ของเมืองที่โตแบบไม่มีระเบียบ (หัวเราะ)”
ขณะที่อาจารย์พิณ อุดมเจริญชัยกิจ อาจารย์ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งและรับผิดชอบงานส่วน Placemaking หรือการนำพื้นที่มาออกแบบเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน เล่าเสริมเกี่ยวกับการเป็นเมืองที่โตแบบออร์แกนิกว่า ในแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวเหมือนสายหูฟังหลายๆ เส้นที่พันกันจนกลายเป็นเงื่อนตาย
“การเติบโตแบบออร์แกนิกมันมีความเอาแต่ใจ และกรุงเทพฯ ก็เป็นการเติบโตแบบเอาแต่ใจของคนหลายคนด้วย”
“ถ้าต้องตัดเกรด กรุงเทพฯ จะได้กี่คะแนน” ผมถามออกไปด้วยความสงสัย
อาจารย์ทั้งสองท่านตอบว่าอยู่ที่เราจะวัดด้วยเกณฑ์อะไร “Mastercard บอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลก แต่ The Economist บอกว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ในอันดับกลางๆ ของโลก” อาจารย์พิณยกตัวอย่างให้ฟังก่อนจะตัดเกรดด้วยมุมมองส่วนตัวที่ 4.5 เต็ม 10 เพราะมองว่าสาธารณูปโภคพอใช้ได้ มีพื้นที่พักผ่อนบ้าง และพัฒนาได้อีก
นั่นหมายถึงว่าเมืองหลวงเมืองนี้สอบตกหรือเปล่า?
“เหตุผลที่เราให้กรุงเทพฯ สอบตกก็เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้พัฒนาบนความเข้าใจว่าตัวเองเป็นเมือง ‘delta city’ หรือเมืองที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลและแม่น้ำ สมัยก่อนกรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ น้ำท่วมทุกปี จึงมีการขุดคลอง ซึ่งเรามองว่ามันคือการออกแบบเพื่อรับศึกน้ำท่วม แต่ทุกวันนี้เรากลับทำถนนทับคลอง และพูดถึงแต่การป้องกันน้ำท่วมเข้าเมือง ไม่ได้พูดถึงการอยู่กับน้ำท่วมที่เป็นเรื่องธรรมชาติเท่าไหร่”
ส่วนอาจารย์ปั้นให้ 6 คะแนน เพราะมองว่าการขนส่งสาธารณะพัฒนาขึ้นเยอะ แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่พัฒนากันได้อีก เช่น พื้นที่สาธารณะ
“แต่ผมก็คิดคล้ายๆ พิณว่า เรื่องที่กรุงเทพฯ สอบตกคือการบริหารจัดการที่ดี เราไม่ได้มีกรอบกฎหมายหรือนโยบายที่ดีพอ มันก็เลยเป็นการโตแบบออร์แกนิกที่สร้างเงื่อนตายมากมาย”
เราจึงลองถามในมุมกลับว่า แล้วเมืองแบบไหนที่ทั้งสองประทับใจและให้คะแนนสูง
แม้คำตอบจะแตกต่าง หากเหตุผลหนึ่งที่มีร่วมกันคือ ต่างเป็นเมืองที่มีการจัดการดีเยี่ยม เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนยึดผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาครัฐจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่กับประชาชนสำนึกได้เอง เพราะกลไกหรือแรงจูงใจที่ดีก็ช่วยขับเคลื่อนได้
“เครื่องมือง่ายๆ อย่างกลไกภาษี เช่น ถ้าฉันแบ่งพื้นที่หน้าบ้านทำสวนหย่อม รัฐอาจจะลดหย่อนภาษีที่ดินให้ส่วนหนึ่ง หรือกลับกันคืออาจจะเก็บภาษีเพิ่มในพื้นที่ที่มีห้างขนาดใหญ่ เพราะคนมาใช้เยอะ เกิดความแออัด รัฐก็เอาเงินที่ได้มาลงทุนกับระบบขนส่งได้ เมืองไทยยังขาดกลไกแบบนี้”
อาจารย์ปั้นยังยกตัวอย่างให้ฟังอีกว่า ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ของไทยก็น่าสนใจ เพราะมีเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อว่า FAR (Floor Area Ratio) Bonus ที่อนุญาตให้เอกชนสามารถสร้างตึกได้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด หากแบ่งพื้นที่บางส่วนทำประโยชน์สาธารณะ เช่น ทำพื้นที่รองรับน้ำใต้อาคารเพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในท่อระบายน้ำ หรือในกรณีคอนโดอาจเลือกวิธีแบ่งขายห้องพักบางยูนิตในราคาที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงที่พักให้ประชาชนมากขึ้น
“จริงๆ ในแพ็กเกจนี้จะมีทางเลือกอยู่ประมาณห้าอย่าง เป็นเรื่องที่พวกเราตื่นเต้นกันมาตั้งแต่สามปีที่แล้ว แต่จนทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าติดขัดขั้นตอนไหนถึงยังไม่ได้ใช้กันสักที”
ฟังอาจารย์ปั้นเล่าถึงกลไกแล้วก็อดวาดฝันสวยหรูไม่ได้ เชื่อเลยว่าถ้ามีแรงจูงใจแบบนี้ คงจะได้เห็นเอกชนกล้าลงทุนกับงานพัฒนาเมืองมากขึ้น น่าเสียดายที่มันยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าความซับซ้อนในการบริหารจัดการเมืองคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการดีๆ ในกรุงเทพฯ ต้องหยุดชะงัก
“เป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ เลย คือเรานับหนึ่งใหม่ตลอด ไม่ได้นับสอง นับสามสักที (หัวเราะ) ถ้าถามผมว่าเราควรแก้ปัญหาไหนก่อน ผมว่าการนับหนึ่งให้เร็วที่สุดสำคัญกว่า”
ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงเรื่องการพัฒนาเมือง ทุกคนมักจะโยนความผิดไปที่การออกแบบผังเมือง ซึ่งพอโยนไปแบบนี้ เราก็นึกภาพไม่ออกว่าจะแก้ไขได้อย่างไร การจะปรับแก้ตึกอาคารถนนหนทาง หรืออาจเรียกรวมๆ ว่าฮาร์ดแวร์ (Hardware) นั้นก็คงใช้เวลานาน แต่อาจารย์ปั้นชี้ให้เห็นว่าการแก้ผังเมืองและออกแบบเมืองเป็นแค่ทางออกหนึ่งเท่านั้น การคิดกลไกที่สร้างแรงจูงใจซึ่งอาจนับว่าเป็นซอฟต์แวร์ (Software) ก็สำคัญ
แต่กุญแจที่จะเปิดประตูบานแรกให้เกิดการแก้ไขทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้คือ การบริหารจัดการเมือง
“การแก้ปัญหาเมืองต้องใช้หลายๆ ศาสตร์ หมายความว่าเราต้องใช้คนทำงานหลายส่วน ดังนั้นในฐานะที่รัฐเป็นผู้มีอำนาจ ก็ควรจะกลับไปแก้เรื่องโครงสร้างอำนาจ ใครขึ้นกับใคร ใครทำอะไรได้ และร่วมมือกับใครได้บ้าง ถ้าแก้ตรงนี้ก่อน แล้วเราสามารถรวมองค์ความรู้จากหลายๆ ฝ่ายมาวางบนโต๊ะแล้วพูดคุยกัน การทำงานก็จะง่ายขึ้น” อาจารย์พิณกล่าว
อาจารย์ปั้นเล่าเสริมอีกว่า 2-3 ปีมานี้มีโครงการดีๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากชุมชน ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่สุดท้ายก็ติดคอขวดด้วยขั้นตอนและกฎหมายที่มัดมือจนแม้แต่ข้าราชการเก่งๆ รุ่นใหม่ไฟแรงก็ไม่สามารถจะลงมือทำอะไรได้
เรานั่งฟังตาแป๋วเหมือนนักเรียนที่กำลังฟังเลคเชอร์วิชาที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ตอนนี้เริ่มมองเห็นภาพว่าการพัฒนาเมืองก็เป็นคล้ายการแข่งขันฟุตบอลที่มีผู้เล่นในสนามหลากหลายตำแหน่ง
ที่ต่างออกไปหน่อยคืออุปสรรคในการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่ทีมฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นเพราะทีมยังขาดแผนการเล่น ขาดแรงจูงใจ อีกทั้งยังขาดการสื่อสาร—เมื่อทีมยังไม่เป็นทีม การขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็เป็นไปได้ยาก
ว่าแต่ USL อยู่ตำแหน่งไหนในทีมนี้ และจะช่วยแก้เกมที่ติดขัดนี้อย่างไร
“เรารับหน้าที่อยู่ตรงกลางครับ ผมมักจะพูดกับทีมว่าพวกเราเป็นนักต่อรอง คือเรื่ององค์ความรู้ที่เราศึกษาในฐานะศูนย์วิจัยก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้เล่นทุกฝ่ายก็มีความรู้ความสามารถในแบบของตัวเอง หลายเรื่องพวกเขาก็เก่งกว่าพวกผมมากๆ มันไม่ใช่แค่ว่ามีนักวิชาการ NGO หรือชุมชน แล้วจะทำงานได้สำเร็จ ภาครัฐก็มีความเก่งในเรื่องหนึ่ง ในขณะที่เอกชนก็สำคัญเพราะเขามีทรัพยากร มีเงินทุน แต่เมื่อคุณจะชวนเขามาทำก็ต้องคุยในภาษาของเขา ต้องตอบให้ได้ว่าเมื่อเขาควักเงินแล้วจะได้ประโยชน์อะไร
“ดังนั้น สิ่งที่เราสนใจก็คือทำยังไงที่จะดึงองค์ความรู้ของทุกฝ่ายออกมาให้ได้มากที่สุด และออกแบบกลไกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เป็นการทำงานที่เป็น win-win situation” อาจารย์ปั้นสรุป
“มันไม่ควรมีใครต้องเสียสละฟรีๆ ใช่มั้ย” เราถามกลับไปสั้นๆ เพื่อเช็กความเข้าใจอีกที อาจารย์ทั้งสองท่านพยักหน้าเป็นคำตอบ
ถึงตรงนี้ เราก็แวะพักพูดคุยถึงเมืองนั้นเมืองนี้ พูดถึงผังเมืองบาร์เซโลนาที่ประเทศสเปน ซึ่งมักมีภาพสวยๆ จากมุมสูงชวนให้คนไทยฝันหวานอยากมีเมืองสวยๆ แบบนี้บ้าง—แวบหนึ่งเราก็นึกคำถามที่เคยสงสัยมานาน
“ทั้งๆ ที่เรามีโมเดลดีๆ ในต่างประเทศ แล้วทำไมเรายังต้องศึกษาหาความเป็นไทย เราหยิบไอเดียดีๆ ของต่างประเทศมาใช้เลยไม่ง่ายกว่าเหรอ
อาจารย์พิณยิ้มก่อนจะตอบว่า ลอกได้นะ แต่ก็ลอกได้ถึงจุดหนึ่งเพราะบริบทแตกต่างกัน
“สมมติเราชอบโตเกียวมากเลย แต่โตเกียวอาจจะไม่เคยน้ำท่วมใหญ่แบบเรา แล้วคนโตเกียวมีนิสัยแบบไหน เขาใช้ชีวิตออร์แกนิกแบบเราหรือเปล่า ดังนั้น เราจะเอาไอเดียเขามาใส่กับเราโดยไม่มองกายภาพเมืองหรือลักษณะของประชากรไม่ได้
“แต่บางอย่างเช่นทางสโลปสำหรับรถเข็น ต้ององศาแบบนี้ ความยาวเท่านี้ อันนี้เราใช้เหมือนกันทั่วโลกเลย แต่ถ้าบ้านเราฝนตกบ่อย ก็อาจจะต้องดีไซน์หรือเปลี่ยนวัสดุให้ทางลาดนี้ไม่ลื่น ซึ่งสุดท้ายก็ลอกทั้งหมดไม่ได้หรอก ไม่อย่างนั้นอาชีพอย่างเรากับปั้นก็คงจะงานน้อยมาก (หัวเราะ)”
อาจารย์ปั้นเสริมอีกว่า เขาก็เคยอยากรู้ว่าอะไรคือคำตอบของการพัฒนาเมืองจึงถามอาจารย์ชาวต่างชาติเมื่อสมัยเรียน คำตอบที่ได้กลับมาคือ “there is no best practice in the world” เพราะมันมีแค่ทางออกที่ดีสำหรับบริบทนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ ในสังคมแบบนี้เท่านั้น
“ผมเห็นด้วยว่าเราควรใช้ไอเดียที่ดีจากต่างประเทศบ้าง แต่ก็ต้องทำงานหนักมากเพื่อแกะบทเรียน แกะแก่นไอเดียเพื่อเอามาปรับใช้ในบ้านเรา ในขณะเดียวกัน USL ก็มองว่าหมดเวลาแล้วที่เราจะไปแกะความรู้จากต่างประเทศ เลยเป็นที่มาของโครงการ ‘Investigating Thai Urbanism’”
Studies
ทุกวันนี้เราต้องยอมรับกันว่า กลไกหนึ่งที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะในมิติการเมือง สาธารณสุข หรือกระทั่งการบริหารจัดการเมืองและการออกแบบเมือง คือเสียงบ่นและก่นด่าของประชาชน แม้ฟังไม่รื่นหู แต่หากมองดีๆ ก็แสดงให้เห็นว่าผู้คนให้ความสนใจกับเมืองและคุณภาพชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เช่นเดียวกับ USL และการค้นคว้าตามหาความเป็นเมืองตามแบบฉบับไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากเสียงดุ เสียงบ่นของชุมชน
“ผมมีโอกาสทำงานวิจัยให้กับศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Ford Resource and Engagement Center: FREC) ที่ย่านนางเลิ้ง จึงได้เข้าไปฝากตัวกับหัวหน้าชุมชนหลายๆ ท่าน แต่เสียงแรกๆ ที่ผมได้ยินและเก็บมาเป็นบทเรียนฝังใจก็คือ มีหัวหน้าชุมชนบ่นว่านักวิจัยมาอีกแล้ว นักวิจัยมาศึกษากันตลอด แต่ชุมชนไม่เคยได้อะไร มาแล้วก็ไป”
อาจารย์ปั้นยอมรับว่าคำพูดดังกล่าวเป็นเรื่องจริง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพราะนักวิจัยทอดทิ้งชุมชน หากเป็นเพราะกรอบเงื่อนไขการวิจัยที่ต้องเขียนเสนอขอทุนจากภาครัฐนั้นแข็งกระด้างเกินไป จนนักวิจัยไม่สามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเมื่อลงพื้นที่ชุมชน อีกทั้งระยะเวลายืดยาวราวสองปี ตั้งแต่ยื่นเรื่องจนได้อนุมัติทุน สมมติฐานที่เคยคิดไว้หรือบริบทของเมืองก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว
หลังจากลงพื้นที่ครั้งนั้น FREC เลยชวนให้อาจารย์ปั้นก่อตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมา โดยมีเพื่อนๆ พี่ๆ อาจารย์จากสามสถาบัน—จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี—มาร่วมทีม
เป้าหมายหนึ่งของ USL คือการพัฒนาศักยภาพของภาคการศึกษา โดยมี project bank ที่รวบรวมข้อมูลความรู้จากนักศึกษาและนักวิจัยแต่ละสถาบัน ซึ่งอาจารย์ผู้ร่วมก่อตั้งต้องพาลงพื้นที่กันทุกปีอยู่แล้ว ช่วยให้ผู้เรียนมีเวลาในการคิดออกแบบมากขึ้น สามารถต่อยอดจากงานอื่นๆ ระยะยาว โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง
อีกเป้าหมายก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างการทำงานวิจัยกับการปฏิบัติจริงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีของชุมชน เพราะเมื่อมีองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติคอยสนับสนุนเงินทุนให้ USL ก็สามารถคิดแก้ปัญหาร่วมกับชุมชนแล้วทดลองทำจริงได้เลย หากเกิดผลลัพธ์ที่ดีจึงค่อยนำไปเสนอและร่วมมือกับภาครัฐให้เกิดเป็นภาพใหญ่
ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งที่อาจารย์ปั้นชวนมาร่วมงาน อาจารย์พิณเล่าว่าที่ตอบตกลงเข้าร่วมทีม ก็ด้วยความคาดหวังว่า USL จะใช้งานวิจัยต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกับชุมชน แล้วนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เล็กๆ อย่างย่านนางเลิ้ง เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนในพื้นที่อื่นๆ นำไปใช้และกล้านับหนึ่งให้เร็วที่สุดได้
ว่าง่ายๆ ก็คือแทนที่จะใช้ห้องเรียน ก็ใช้ความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นโจทย์ ใช้เมืองเป็นห้องทดลองวิจัยที่มีชีวิต และพาผู้เล่นทุกตำแหน่งมาทดลองขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
ทางด้านอาจารย์เก่ง—กฤษณะพล วัฒนวันยู ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาของ USL ซึ่งริเริ่มโครงการ Investigating Thai Urbanism จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มาคุยกันวันนี้เล่าว่า โครงการนี้เป็นวิธีการเรียนรู้เมืองในแบบฉบับไทยๆ โดยการดึงผู้ที่สนใจเรื่องเมืองเข้ามาแลกเปลี่ยน ไปจนกระทั่งทำงานร่วมกัน
“ชื่อของโครงการอาจจะดูเหมือนเราไปสืบสวนสอบสวนใคร แต่จริงๆ คือการเข้าไปสำรวจเมืองและทำความเข้าใจตัวเราเอง เพราะแนวคิด ทฤษฎี กรณีศึกษาที่เราใช้สอนกันอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ล้วนหยิบยืมจากต่างประเทศทั้งนั้น ก็ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาดูว่ามันเหมาะกับบริบทของเราหรือเปล่า แล้วถ้าเราสามารถสำรวจสืบค้น วิเคราะห์ และสรุปความเป็นเรา ความเป็นเมืองในวิถีแบบเรา ซึ่งถ้านำไปประยุกต์ใช้ต่อในการวางแผน ออกแบบและพัฒนาเมือง ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย อีกทั้งเราควรจะต้องผลิตหรือสร้างองค์ความรู้ที่อิงกับบริบทของเมืองในบ้านเราไว้ใช้แลกเปลี่ยนกับชุมชนทางวิชาการในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกด้วย”
อาจารย์ปั้นเสริมว่า ในทางหนึ่งการสำรวจความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ช่วยรีเช็กความรู้ที่มีอยู่เดิม แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้พวกเขาพบข้อมูลซึ่งไม่มีสอนในห้องเรียน อย่างเช่นเมื่อต้นปี 2564 ที่ USL ทำโครงการ Covid Relief Bangkok ร่วมกับอีกหลายๆ องค์กร ระดมทุนแล้วนำไปจัดซื้อถุงยังชีพให้กับชุมชนทั่วกรุงเทพฯ โดย USL พยายามเลือกนำถุงยังชีพไปให้คนที่ต้องการเร่งด่วน ด้วยการนำข้อมูลสำมะโนประชากรมากางดู แล้วสำรวจหาพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุและข้อมูลครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกระจุกตัวอยู่
“ข้อจำกัดก็คือรัฐมีข้อมูลถึงแค่ระดับแขวง เราสามารถชี้เป้าให้ทีมลงไปที่แขวงนี้ก่อน เพราะเปราะบางมากที่สุดได้ แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจะต้องไปเคาะประตูบ้านไหน จนเราได้เจอกับ อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ซึ่งแต่ละคนจะดูแลอยู่ 20-30 ครัวเรือน เขาบอกเราได้เลยว่าหลังไหนต้องการความช่วยเหลือ บ้านนี้ตกงานมาเป็นเดือนแล้ว บ้านนี้มีคนแก่ป่วยติดเตียง บ้านนี้มีลูกเล็กที่พิการ สุดท้ายผมก็พูดได้อย่างภูมิใจว่ามันเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ เราส่งถุงยังชีพถึงมือผู้รับได้อย่างแม่นยำ”
อาจารย์ปั้นสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ก็คือ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 หลายชุมชนในกรุงเทพฯ มีความเข้มแข็งมาก พวกเขารับมือกันเองได้ดีเยี่ยม แต่ในระยะยาวพวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะเตรียมพร้อมรับมือยังไง
เมื่อเห็นช่องว่าง USL จึงคิดจะต่อยอดจากการได้พบกับ อสส. ด้วยการทำสำมะโนประชากรใหม่ สร้างเครื่องมือที่จะทำให้พวกเขาบันทึกข้อมูลสุขภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายใหญ่ว่ารัฐจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เช่น การวางนโยบายแบบเฉพาะพื้นที่ เหมือนกับที่พวกเขาส่งถุงยังชีพได้ตรงเป้าหมาย
ขณะที่โครงการ Covid Relief Bangkok เผยให้เห็นขีดความสามารถของชุมชนที่ซ่อนอยู่ อาจารย์พิณซึ่งดูแลเรื่อง Placemaking หรือการออกแบบพัฒนาเมืองก็ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ว่า งานออกแบบเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น แต่กระบวนการดูแลรักษาต่างหากที่จะทำให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์เต็มที่
“สมมติว่าเราจะสร้างสวน พอเราสร้างเสร็จแล้ว ภาระการดูแลมันตกไปอยู่ที่เขต ซึ่งงานของเขาก็เต็มมือแล้ว และมีข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ทำให้ข้าราชการมาช่วยงานได้ไม่เต็มที่ เราก็ได้เรียนรู้ว่ามันต้องวางแผนหรือสร้างคู่มือสำหรับการดูแลตั้งแต่ตอนออกแบบเลย ต้องชวนชุมชนกับสำนักงานเขตมาพูดคุยและแบ่งงานกันว่า งานไหนชุมชนทำได้ งานไหนเขตต้องมาทำ”
อาจารย์พิณเสริมอีกว่า คนมักจะมองว่าการพัฒนาเมืองต้องเป็นการก่อสร้างพื้นที่ขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วการสร้างเครื่องมือหรือคู่มือง่ายๆ ที่ช่วยให้ชาวบ้านรู้ว่าหากจะทำพื้นที่รอบๆ บ้านหรือชุมชนให้สวยควรปลูกอะไร ควรติดต่อใคร หรือเป็นคู่มือให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเมือง
“ให้นึกถึงคู่มือประกอบเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย มันไม่มีตัวหนังสือ แต่ทุกคนดูแล้วเข้าใจว่าประกอบยังไง นั่นคืองานหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายโครงการต้องชะลอ นอกจากจะทำให้พวกเขามีเวลาทบทวนองค์ความรู้และข้อมูลที่พบจากการลงพื้นที่สำรวจเมืองแล้ว จากการสังเกตความเป็นไทยในกรุงเทพฯ มานานหลายปี USL เลยคิดอยากจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารองค์ความรู้ที่มีออกไปในวงกว้าง และหวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้ที่สนใจเรื่องเมืองเข้ามาทำงานร่วมกัน
กิจกรรมภายใต้ร่มใหญ่ Investigating Thai Urbanism ที่ว่าก็คือ ‘Lecture Series’ และ ‘Reading Club’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้คุยกันในวันนี้นั่นเอง
Lab
“เราอยากเปิดพื้นที่ให้คนได้มาแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน ได้เรื่องสนุกๆ ได้เรื่องดีๆ ติดตัวกลับไป อาจจะทำให้ได้เครือข่ายสำหรับการทำงานต่อไป โดยเฉพาะกิจกรรม Lecture Series ก็ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับคนทำงานเรื่องเมืองอย่างพวกเราได้ฝึกเรื่องการสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือเป็นพื้นที่ให้อาจารย์ที่ทำงานด้านนี้มานาน แต่ผู้คนทั่วไปไม่รู้จัก ได้มีโอกาสส่งต่อความรู้ออกไป”
อาจารย์ปั้นเล่าถึงความตั้งใจหลักของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ก่อนที่อาจารย์เก่งจะเท้าความกลับไปว่า ปีที่แล้ว USL ก็ได้มีโอกาสช่วยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency หรือ NIA) จัด Lecture Series แล้วได้การตอบรับที่ดี จึงคิดที่จะจัดขึ้นต่อเนื่อง แต่ในปีนี้เราได้ดำเนินการจัดกันเอง และมองหากิจกรรมอื่นๆ ที่จะพาทุกคนไปได้ไกลกว่าเดิม
“พอเราตั้งโจทย์ว่าจะจัด Lecture Series ใน theme ใหญ่ Investigating Thai Urbanism เราก็เริ่มไปพูดคุยกับผู้คน 2-3 กลุ่ม มีทั้งนักวิชาการ อาจารย์ คนในแวดวงด้านผังเมือง ภาคราชการ รวมถึงชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายสิบปี แล้วเราก็นำเอาข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยมาสังเคราะห์ สรุปเป็นประเด็นและหัวข้อเลคเชอร์ทั้งสามครั้ง”
ถึงจะใช้ชื่อว่าเลคเชอร์ แต่ก็ไม่ใช่การสอนเหมือนในห้องเรียน อาจารย์เก่งบอกว่าอยากให้ได้บรรยากาศแบบวงสนทนามากกว่า น่าเสียดายว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 การพูดคุยจึงต้องทำผ่านออนไลน์ผ่านสองแพลตฟอร์ม คือ zoom ซึ่งก็จะได้บรรยากาศแบบ webinar คนอื่นๆ สามารถร่วมเสนอความคิดเห็นและพูดคุยได้ แล้วนำไปถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กอีกช่องทางหนึ่ง
กิจกรรมต่อมาคือ Reading Club ซึ่งอาจารย์เก่งบอกว่านี่เป็นการทดลองตั้งวงเสวนาหนังสือครั้งแรกของ USL รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกันว่าจะได้ผลลัพธ์แบบไหน โดยหนังสือที่เลือกมาเป็นหัวข้อหลักคือ The Death and Life of Great American Cities ของ เจน เจคอบส์ (Jane Jacobs)
“เธอเป็นนักสื่อสารมวลชน เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเมือง ไม่ใช่คนที่เรียนด้านเมืองมาโดยตรง แต่เขียนได้สนุก หนังสือเล่มนี้พูดถึงความล่มสลายและความมีชีวิตในหลายๆ มิติของเมืองในสหรัฐฯ โดยเนื้อหาในเล่มถือว่าเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนสนใจเรื่องเมือง อีกทั้งแนวคิดของเธอก็ยังคัดง้างกับนักทฤษฎีเมือง นักพัฒนาเมืองหลายคนเลย ซึ่งปีนี้หนังสือของเธอ The Death and Life เล่มนี้ครบรอบ 60 ปี เราก็เลยคิดว่าจะชวนคนกลับมาอ่านอีกครั้ง แล้วดูว่าแนวคิดต่างๆ ในหนังสือยังนำมาใช้กับเมืองในยุคสมัยนี้ได้อยู่หรือเปล่า”
“ทำไมถึงชวนอ่านหนังสือที่พูดถึงเมืองในสหรัฐฯ ทั้งที่โจทย์คือการหาความเป็นไทย?”
“ถึงแม้จะอิงกับสหรัฐฯ แต่ก็คิดว่ามันโยงกลับมามองประเทศไทยได้ เพราะวิธีคิดในการออกแบบ วางผังเมืองแต่เดิมของเราก็รับเอามาจากสหรัฐฯ อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นคนที่ทำงานด้านผังเมืองได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรด้านผังเมืองในช่วงเริ่มแรกก็อิงแนวคิด ทฤษฎี และหลักสูตรจากทางฝั่งอเมริกาค่อนข้างมาก นอกจากนี้ เรายังอยากชวนอ่านเพื่อเปรียบเทียบและหยิบสิ่งที่น่าสนใจมาวิเคราะห์กัน และที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ยังเป็นมุมมองจากคนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีวิธีมอง ศึกษา และทำความเข้าใจเมืองในแบบที่ต่างออกไป ผมจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะมากๆ กับคนทั่วไปที่สนใจเรื่องเมือง”
อาจารย์เก่งเสริมอีกว่าจริงๆ ยังมีกิจกรรมที่วางแผนไว้อย่างการเดินดูเมือง เพื่อจะได้เอาแนวคิดจากหนังสือมาเปรียบเทียบกับเมืองจริงๆ น่าเสียดายที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่ที่ต้องมีแน่ๆ คือการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จาก Investigating Thai Urbanism ในรูปแบบของบทความหรือหนังสือ พร้อมกับเมื่อจบกิจกรรมทั้งหมดที่วางไว้ในปีนี้แล้ว หากได้รับการตอบรับและความสนใจที่ดี เราก็อาจจะเสนอให้มีการรวมกลุ่มหรือก่อตั้งกลุ่ม Thai Urbanism Network เป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ ของคนที่สนใจเรื่องเมือง ซึ่งก็น่าจะเปิดรับกลุ่มคนจากอาชีพต่างๆ ด้วย ไม่จำกัดเฉพาะคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรง
“จริงๆ USL มีโครงการจะทำอีกเยอะเลยครับ อย่างในอนาคตอันใกล้ก็จะมี Urban Classrom ในพื้นที่หัวลำโพง-คลองผดุงกรุงเกษม โดยอาจารย์ฉุน—ชำนาญ ติรภาส และอาจารย์เก่งเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะมีทุนให้นักศึกษาที่คิดโครงการเพื่อชุมชนได้ลงมือทำจริง มีไอเดียเจ๋งๆ ที่น่าสนใจเช่น Upcycling Business ร่วมกับชุมชน โดยทีม Weave Artisan Society ผู้ชนะจากงาน Social Innovation Hackathon ที่เราจัดร่วมกับ British Council ไอเดียของเขาคือนำถุงพลาสติกมารีดแล้วเอาไปใช้เป็นวัสดุทำผ้าใบกันแดด ส่วนตัวผมว่ามันมีคุณค่ามากๆ เพราะเมืองไทยเรามีตรอกซอยซอยที่อากาศร้อนอยู่เยอะ ต่อไปอาจจะนำไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ได้อีก ซึ่งก็จะกลายเป็นรายได้เข้าชุมชน” อาจารย์ปั้นกล่าว
ส่วนอาจารย์พิณเล่าว่างาน placemaking อาจจะยังทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ก็มีไอเดียว่าอยากชวนร้านอาหารและคาเฟ่ในนางเลิ้งนำเมนูอาหารที่อยากขายมาแพ็กรวมกันเป็น Gift Pack พร้อมใส่ของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ที่บอกเล่าความเป็นมาของนางเลิ้ง ส่วนรายได้ก็จะเอามาตั้งกองทุนเพื่อช่วยชุมชนนางเลิ้งจากวิกฤตโควิด-19
อาจฟังดูเหมือนมีโครงการเยอะแยะแล้ว แต่นี่ยังไม่หมด เพราะสำหรับ USL พวกเขายังมีอีกสองเป้าหมายใหญ่รอให้พิชิตอยู่
“เราตั้งใจจะมีโครงการการตั้งงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมหรือ Participatory Budgeting โดยมี FREC คอยสนับสนุนทุน ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องรอเขตหรือภาครัฐ แต่มีกลไกที่ทำให้ชุมชนสามารถเสนอและโหวตเลือกโครงการกันเองได้ เสร็จแล้วค่อยยื่นให้เขตอนุมัติ โดยเราจะออกเงินลงทุนให้ก่อน ถ้ารัฐเห็นด้วยก็อาจจะสมทบทุน ถ้าวิธีนี้เวิร์ก ต่อไปเขตก็อาจจะใช้วิธีบอกชุมชนว่าอยากได้โครงการสาธารณสุข โดยมีงบประมาณให้เท่านี้ ชุมชนคิดมาเสนอแล้วโหวตเลือกกันได้เลย ชุมชนก็ได้ประโยชน์และตรงความต้องการ ส่วนเขตก็ไม่ต้องรับภาระหนัก
“ส่วนโครงการใหญ่ที่สุดของ USL ซึ่งตั้งเป้าไว้ในระยะ 5-10 ปี คือการเป็นสถาบันที่มีหลักสูตรของตัวเอง คือที่เมืองนอกเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัย มีศูนย์วิจัยให้เราเลือกเรียนต่อได้หลากหลายมาก ก็หวังว่าเราจะมี USLFellowship System ที่ให้ทุนนักศึกษาไทยและต่างชาติมาเรียนกับเราได้ โดยหลักสูตรก็จะบูรณาการกับงานที่เราทำๆ กันอยู่ นี่คงจะเป็นคำตอบปลายทางของพวกเรา” อาจารย์ปั้นสรุป
ตลอดเกือบสองชั่วโมงที่ได้ฟังอาจารย์ทั้งสามท่านเล่าถึงงานพัฒนาเมืองที่หมายมั่นปั้นมือกันอยู่ เราได้แต่ทึ่งและตื่นเต้นกับไอเดีย โครงการ และกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ในฐานะที่พวกเราก็เป็นคนชอบอ่านเมือง (แม้จะยังอ่านไม่เก่ง และได้แต่บ่น) ก็คันไม้คันมืออยากช่วยพัฒนาเมืองบ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง
อาจารย์พิณเสนอว่าสิ่งที่ทำได้เลยคือการสร้าง awareness หรือการตระหนักรู้ พยายามสนใจและสังเกตความเป็นไปรอบๆ ชุมชน ทางเท้าไม่ดี ขนส่งสาธารณะไม่ดีก็ต้องร้องเรียน อยากให้เมืองเป็นแบบไหนก็ต้องลองหาวิธีการหรือคนที่รับผิดชอบให้ได้
“ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคิดว่าภาครัฐต้องเป็นผู้นำที่ดีด้วย คนไทยขอแค่บอกว่าให้ทำอะไร ทุกคนพร้อมทำ พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ตอนนี้มันยังไม่มีนโยบายจากภาครัฐ” อาจารย์พิณทิ้งท้าย
ส่วนอาจารย์ปั้นมองคล้ายๆ กันว่า เราต้องเริ่มจากการสร้างสัมพันธ์ภายในชุมชน เพื่อสร้างสังคมเมืองที่เข้มแข็ง วิธีหนึ่งง่ายๆ ก็คือการสนับสนุนร้านค้าใกล้บ้าน รวมถึงเปิดใจลองทำความรู้จักกับสำนักงานเขตในพื้นที่ เพราะพวกเขาก็ต้องการการสนับสนุนจากทุกคน
“ฟังแล้วอาจจะตลกว่าทำไมถึงเป็นหน้าที่เรา แต่สุดท้ายเมืองก็เป็นสิ่งที่เราใช้งาน และมันก็เป็นภาษีของเรา งานที่พวกผมทำจะไม่สำเร็จเลย ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากแหล่งทุน องค์กรสาธารณะ ชุมชน และภาครัฐ เพราะทุกฝ่ายเต็มใจและต้อนรับพวกเรา มันจึงเกิดผลลัพธ์ที่ดี
“เมืองมันเป็นเรื่องของทุกคน และการพัฒนาเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยฮีโร่เพียงคนเดียว”
ติดตามกิจกรรม USL Lecture Series 2021 ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ Popular Urbanism / City-making from below ได้ในวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2564 เวลา 10:00-12:00 น. ทางเฟซบุ๊ก USLหรือทาง zoom โดยมีวิทยากรร่วมคุยสามท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. กษมา พลกิจ, ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ และยรรยง บุญ-หลง