Civic Urbanism: Re-creating the Urban Public Life
คัดสรรไฮไลท์เด็ดดวงที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะทั้งในบริบทของเมืองไทยและเมืองนอกจากงานเสวนา USL Lecture Series 2
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: NJORVKS
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้คนในเมืองต่างโหยหาการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับเมืองไทย นอกจากห้างสรรพสินค้าแล้ว ตัวเลือกอื่นๆ อย่างสวนสาธารณะ ที่พักผ่อนริมแม่น้ำ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ กลับมีตัวเลือกอยู่น้อยนิด
ทั้งที่พื้นที่สาธารณะคือองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่ช่วยส่งเสริมให้ประชากรในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังเกตได้จากประเทศที่เจริญแล้วมักมีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวมากพอในการรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน (ตัดภาพมาที่เมืองไทย เหมือนเป็นโลกคู่ขนานเลยทีเดียว)
แต่อย่าเพิ่งท้อแท้! เพราะเราเพิ่งไปฟังงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘Civic Urbanism: Re-creating the Urban Public Life’ ที่จัดโดยทีมศูนย์วิจัยอิสระด้านการศึกษาเมือง หรือ Urban Studies Lab (USL) แล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาก โดยธีมหลักของวงเสวนาจะเป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีวิทยากรสองท่านอย่าง ‘คุณแนน—ดร.รัฐติการ คำบุศย์’ นักผังเมือง สำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง และ ‘อาจารย์ภู—ผศ.ดร. จิรันธนิน กิติกา’ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแชร์มุมมองที่น่าสนใจ โดยมี ‘อาจารย์เก่ง—กฤษณะพล วัฒนวันยู’ อาจารย์ประจำ SoA+D, KMUTT, ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษาของ USL เป็นผู้ดำเนินรายการ
ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงที่นั่งฟัง เราได้แต่พยักหน้าหงึกหงักอย่างเห็นด้วย ก่อนจะคัดสรรไฮไลท์เด็ดดวงที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะทั้งในบริบทของเมืองไทยและเมืองนอกมาไว้ในคอลัมน์ SKIP INTRO เรียบร้อย แต่หากใครใจมันสู้ อยากจะรู้เรื่องราวเต็มๆ ก็สามารถดูไลฟ์ย้อนหลังที่เพจเฟซบุ๊กของ USL ได้เลย
คุณแนนเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า เมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่าวิวัฒนาการของเมืองนั้น เกิดควบคู่กับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หรือกระทั่งเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นปารีสมีแม่น้ำแซน ลอนดอนมีแม่น้ำเทมส์ โรมมีแม่น้ำไทเบอร์ และแน่นอนว่ากรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่เพราะการขยายตัวของเมืองที่มากขึ้น ทำให้พื้นที่ทางธรรมชาติค่อยๆ หายไป ซึ่งหมายถึงมุมมองทัศนียภาพ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่เป็นแม่น้ำ การสัญจรคมนาคม รวมไปถึงระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำด้วย
คุณแนนยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากแม่น้ำดานูบ แม่น้ำสายสำคัญของยุโรปที่มีความยาว 2,845 กิโลเมตร ไหลผ่าน 10 ประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งในอดีตพื้นที่ที่แม่น้ำดานูบไหลผ่านมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ทางการจึงเปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และมหาวิทยาลัยส่งโครงการมาประชันกัน และผู้ชนะเลิศได้แก่ตัวแทนจากทีมมหาวิทยาลั๊ยยยย (เสียงมิสแกรนด์) ซึ่งเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยด้วยการสร้าง ‘เกาะกลางน้ำดานูบ’ (Danube Island)
เกาะดังกล่าวมีความยาว 21.1 กิโลเมตร ประโยชน์ของเกาะนี้ไม่เพียงแต่กันน้ำท่วมได้เท่านั้น แต่ยังช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของเมืองที่เปิดให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าไปใช้ได้ด้วย มีตั้งแต่กิจกรรมทั่วไปอย่างปั่นจักรยาน ปิกนิก พาหมาเดินเล่น ยันจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลต่างๆ เรียกได้ว่าครบครันทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
ถัดจากเรื่องแม่น้ำ คุณแนนก็ยกเคสพื้นที่สาธารณะในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้แก่ ‘อุทยานโอลิมปิก’ (Olympic Park) พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นบนซากปรักหักพังจากระเบิดนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับ ‘สวนสาธารณะอังกฤษ’ (English Garden) สวนขนาดยักษ์ที่ยังคงเปิดประตูต้อนรับสัตว์นานาชนิดให้เข้ามาใช้ได้เหมือนมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมี ‘เกาะมาร์กาเร็ต’ (Margaret Island) เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ที่สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนด้วย ต่อมาที่ประเทศโมนาโค มีการปลูกต้นส้มเป็นแนวยาวไว้ริมทาง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องมลพิษและความสวยงามแล้ว ผู้คนที่สัญจรไปมารวมถึงโฮมเลสยังสามารถเก็บส้มกินได้ด้วย ซึ่งคุณแนนมองว่าไอเดียนี้สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้เลย
ข้ามมาฝั่งเอเชียใกล้บ้านเรากันบ้าง คุณแนนหยิบยกเอาเคสของประเทศสิงคโปร์ที่สร้างเมืองภายใต้คอนเซปต์ ‘เมืองในป่า’ (Urban Forest) โดยเริ่มต้นจากการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และการวางแผนระยะยาว ซึ่งหากใครเคยไปสิงคโปร์มาก่อนจะต้องเคยตะลึง (ตะลึง! ตะลึง! ตะลึง! ตึ๊งตึงๆๆๆ) ว่าทำไมประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรเหมือนกัน แต่ของเขาเย็นกว่าเราเยอะเลย (อ่าห์ นั่นสินะ)
ว่าแล้วก็ย้อนกลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง คุณแนนตั้งขอสังเกตว่า ทำไมการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะริมน้ำทุกวันนี้ถึงยากเย็นเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นริมแหล่งน้ำ หรือสวนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง
“เกือบทุกเมืองที่มีพื้นที่รอบๆ ห้วยหนองคลองบึง แม้กระทั่งริมทะเล จริงๆ โดยกฎหมาย พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึง แต่วันนี้การที่เราจะไปเสพสเปซเหล่านั้นได้ เราต้องไปนั่งกินกาแฟถึงจะได้เสพบรรยากาศหน้าวัดอรุณฯ”
คุณแนนมองว่าหลายๆ ประเทศที่สร้างพื้นที่สาธารณะได้สำเร็จนั้น เขาไม่ได้เริ่มคิดค้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์ โดยเฉพาะประเทศผู้แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี แต่เป็นการนำของดีของประเทศอื่นๆ มาประยุกต์ใช้กับรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง ซึ่งเมื่อหันมามองพื้นที่สาธารณะในอดีตของไทยอย่างศาลาริมน้ำ ลานฟังธรรมในวัด หรือกิจกรรมใต้ถุนบ้านทรงไทย สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน
คุณแนนบอกว่าไม่ได้ต้องการให้เราย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบสมัยก่อน แต่จะเป็นไปได้มั้ยที่จะมีการดีไซน์ยุคใหม่ด้วยการออกแบบโดยยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์ของประเทศไทยเอาไว้ พัฒนา ก่อสร้าง และเติมแต่งจากสิ่งที่บรรพบุรุษทำมาก่อน
นอกจากนี้ คุณแนนยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะที่คนไทยชอบไปเป็นที่สุดอย่างห้างสรรพสินค้า (เพราะมันไม่มีที่อื่นแล้วค่ะ TwT) ว่าค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของผู้ไปใช้บริการ เนื่องจากในนั้นใช้เครื่องปรับอากาศเป็นหลัก ไม่มีอากาศบริสุทธิ์เข้ามาหมุนเวียนเลย และยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องการใช้กระแสไฟฟ้ามหาศาล
“ตัวนี้อาจจะส่งผลกับภาคเอกชน แต่มองในภาพรวมเราก็ไม่อยากให้ประเทศต้องใช้พลังงานไฟฟ้าไปกับพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถออกไปหาข้างนอกได้ ซึ่งมีความธรรมชาติกว่าด้วย ดังนั้นเลยอยากให้มองว่าพื้นที่สาธารณะที่เป็นของเอกชน (เหล่าห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย) เป็นทางเลือกหนึ่ง ไม่ใช่ทางเลือกหลัก”
ด้านอาจารย์ภูให้ความเห็นว่า คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในเมืองไทยมีความย้อนแย้งมาก เพราะสาธารณะคือเป็นของทุกคนในเมือง แต่ของไทยติดอยู่กับคำว่า ‘ของรัฐ’ และ ‘ของหลวง’ ทำให้คนเข้าไปใช้ไม่ได้ มีเส้นขอบและกฎที่แข็งแรงมากๆ เช่น ห้ามเล่นสเกตบอร์ด ห้ามปีนป่าย มีแต่คำว่าห้าม ทำให้คนในเมืองจดจำแต่คำว่าหน้าที่ จนลืมคำว่าสิทธิไป
“ในเมืองตะวันตกที่เจริญแล้วไม่มีกฎห้ามแบบนั้น มันต่อรองได้ หน้าร้อนก็ถอดเสื้อได้ หน้าหนาวก็ยกฮีตเตอร์ไปได้ มันคือการยกระดับชีวิต เพราะคนคือแกนกลางของคำว่าสาธารณะ ดังนั้นพื้นที่สาธารณะต้องทำเพื่อคนในเมือง อันนี้คือคอนเซปต์ที่ต้องเข้าใจตั้งแต่ตอนแรก ไม่ใช่สวนที่แปลว่าห้ามเหยียบ เขียวที่แปลว่าห้ามใช้”
อีกประเด็นคือเรื่องการดีไซน์ อาจารย์ภูมองว่าคนไทยติดภาพว่าพื้นที่สาธารณะจะต้องโล่งๆ คลีนๆ สบายตา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเหล่านั้นผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผ่านยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาหลายรอบ แต่ของไทยยังไม่ได้ผ่านขนาดนั้น เราจึงต้องย้อนกลับมาดูว่าพฤติกรรมของคนไทยเป็นยังไง เช่น ชอบขายของแบกะดิน ชอบนั่งยอง ชอบกินอาหารริมทาง ซึ่งการมีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างก็ส่งผลต่อดีไซน์เช่นกัน
อาจารย์เก่งเสริมต่อด้วยการหยิบกรณีศึกษา ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ มาเล่า โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงมุมมองหลายๆ แบบ ในมุมหนึ่งการเอาชุมชนออกไปอาจเป็นเรื่องถูกใจและสบายตาของคนบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ชุมชน อีกทั้งพอเอาออกไปแล้วก็ไม่ได้มีการพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นต่อ นอกจากเอาดอกไม้มาวางให้ดูสวยๆ
หรืออย่าง ‘สนามหลวง’ ซึ่งในอดีตถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่มันมาก มีทั้งการจัดพระราชพิธีสำคัญต่างๆ มีดูดวง มีขายบริการทางเพศใต้ต้นมะขาม มีตลาดนัด รวมถึงการชุมนุมและประท้วงทางการเมือง เรียกได้ว่ามีกิจกรรมหลากหลายตั้งแต่ระดับสูงสุดของประเทศยันกิจกรรมธรรมดาสามัญ คนเร่ร่อน คนไร้บ้านเองก็สามารถเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้อย่างเท่าเทียม สนามหลวงถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่แห้งๆ มีรั้วมากั้น ไม่มีกิจกรรมใดๆ อาจารย์เก่งมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ปิดท้ายด้วยความคาดหวังจากวิทยากรทั้งสองท่านเรื่องการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในประเทศไทย โดยคุณแนนเสนอมุมมองในภาพใหญ่ก่อนว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากผลักดันให้ภาครัฐออกกฎหมายเรื่อง Landscape Act (พระราชบัญญัติภูมิทัศน์)
ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติ คุณแนนก็อยากให้ทางสำนักงานเขต โครงข่าย NGO และกลุ่มของชุมชนริมน้ำลำคลอง ลองมาจับมือคุยกัน อยากให้แสดงความคิดเห็นออกมา เพราะเสียงสะท้อนในส่วนนี้จำเป็นมากในการฟื้นฟูพื้นที่แหล่งน้ำ อยากให้ทุกคนมองว่าตัวเองมีส่วนรวม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบในวันนี้ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มนุษย์ต้องการพื้นที่โอโซนและออกซิเจนดีๆ จึงอยากให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงทุกคนได้
“สิ่งสำคัญคือในการสร้างพื้นที่สาธารณะไทยควรจะเข้าใจชีวิตและผู้คน ผมว่าพวกเรา (สถาปนิก) การออกแบบไม่ว่าในระดับเมือง อาคาร พื้นที่ หรือเฟอร์นิเจอร์ ต้องมีสำนึกของคำว่าสาธารณะก่อน ซึ่งไม่ใช่จากเราเอง แต่เป็นความเข้าใจในพื้นที่ตรงนั้น” อาจารย์ภูกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไฮไลต์ที่คัดมาจากงานเสวนาเท่านั้น หากใครสนใจอยากฟังเรื่องราวสนุกๆ ต่อแบบจุใจ ก็สามารถรับชมได้ที่นี่ ส่วนเราที่เป็นฝ่ายนั่งฟังก็เหมือนได้ย้อนกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง (ในทางที่ดี) พยักหน้าหงึกหงักทุกครั้งเมื่อเหล่าวิทยากรขยี้เรื่องพื้นที่สาธารณะในไทยอย่างเมามัน แม้จะเศร้าใจที่มันเป็นความจริงแสนโหดร้าย แต่ก็เชื่ออย่างสุดใจว่าหากพวกเราไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็สามารถส่งเสียงและเรียกร้องได้ เพราะมันคือสิทธิของประชาชนทุกคนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะที่แท้จริง