MARIMEKKO MARKETING
การตลาดเบื้องหลังแบรนด์ Marimekko จากนักเขียนนิยายรักมือสมัครเล่น สู่เจ้าของโรงงานทอผ้าและแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายที่คิดนอกกรอบ
เรื่อง: น้องนอนในห้องลองเสื้อ
ภาพ: NJORVKS
แม้ว่าชื่อจะฟังดูเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว ‘Marimekko’ (มาริเมกโกะ) เป็นแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มาจากประเทศฟินแลนด์ และโดยเฉพาะห้าปีหลังมานี้ ต่อให้ไม่ใช่สาวหวาน เชื่อว่าต้องเคยได้ยินชื่อหรือเห็นการ collaboration กับแบรนด์ดังอย่าง Uniqlo และ Adidas (เช่นเคย อย่างที่ย้ำเสมอในคอลัมน์ SOME WEAR ONLY WE KNOW *บทความนี้ไม่ได้มาเพื่อโฆษณาสินค้า* แต่ก็นะ มันน่าดีใจออก ที่แฟนคลับอย่างเราจะได้ใส่ชุด Marimekko ในราคาที่ถูกลงจากเดิมถึง สิบเท่า)
จริงๆ เรื่องราวของ Marimekko นั้นมีมากกว่าแค่ลายผ้าดอกไม้สีสด เช่น เป็นแบรนด์แรกในฟินแลนด์ที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง เป็นแบรนด์ที่ขายผ้าพิมพ์ลายเป็นหลัก แต่สื่อสารเมสเซจใหญ่ๆ อย่างเรื่องสันติภาพและความเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน เป็นแบรนด์ที่ทำ collaboration มาตั้งแต่โลกยังไม่รู้จักคำนี้ด้วยซ้ำ
ก่อนจะมาเป็นแบรนด์แห่งชาติฟินแลนด์ที่ทำอะไรก็น่ารักกุ๊กกิ๊กไปหมด ช่วงเริ่มต้นแบรนด์นั้นสนุกมาก เริ่มจากคุณ ‘อาร์มี ราเตีย’ (Armi Ratia) ผู้ก่อตั้งที่เขียนนิยายลงนิตยสารเพื่อหาเงินเรียนมหาวิทยาลัย จากนั้นทำงานเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ในเอเจนซี่อยู่หลายปี ก่อนลาออกแล้วตั้งใจจะย้ายไปอยู่บ้านบนเขาเพื่อเป็นนักเขียนนิยายเต็มเวลาตามฝัน แต่ไม่ทันได้เริ่ม สามีก็ชวนมาทำโรงงานทอผ้าด้วยกันเสียก่อน
ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจนั้น ประเทศฟินแลนด์จนมากเพราะผลพวงจากสงคราม ซึ่งคุณอาร์มีและสามีไม่ใช่แค่สูญเสียคนในครอบครัว แต่ยังสูญเสียบ้านและทุกสิ่งที่สร้างมากับมือ เพื่อให้ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เธอเลือกจะละทิ้งอดีต บอกตัวเองว่าพอแล้วกับสิ่งเดิมๆ ที่ปิดกั้นความสดใหม่ ถึงเวลาปลดแอกและทำอะไรใหม่ๆ (เย่) จากธุรกิจโรงงานทอผ้า คุณอาร์มีจึงสร้างบริษัทและแบรนด์เสื้อผ้าของเธอเองด้วยแนวคิดที่ว่าขึ้นมา
ภายหลังที่คุณอาร์มีจากไป Marimekko เคยเกือบล้มละลาย เปลี่ยนมือเจ้าของและผู้บริหารหลายคน ต้องใช้เวลานับสิบปีในการกอบกู้ชื่อเสียงและสร้างความสดใหม่อย่างวันที่ Marimekko เคยรุ่งเรืองกลับมา และปีนี้ก็เป็นปีที่แบรนด์มีอายุครบรอบ 70 ปีพอดี คอลัมน์ SOME WEAR ONLY WE KNOW เลยถือโอกาสนี้มาพาทุกคนไปดูเรื่องราวการก่อร่างสร้างแบรนด์ พร้อมส่องว่าพวกเขาฉลองและทำอะไรสนุกๆ ในวาระพิเศษนี้กันบ้าง
THE ART OF PRINTMAKING
เริ่มด้วย Marimekko: The Art of Printmaking หนังสือที่จัดทำเพื่อฉลองครอบรอบ 70 ปี จัดพิมพ์โดย Thames & Hudson ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังสือสวยน่าสะสม นอกจากนี้ยังได้คุณแลร์ด บอร์เรลลี-เพอร์สัน (Laird Borrelli-Persson) Archive Editor ของ vogue.com มาเป็นผู้เรียบเรียงประวัติของแบรนด์และลายผ้าต่างๆ ได้สมบูรณ์แบบที่สุด
โดยเฉพาะข้อมูลช่วงก่อตั้งแบรนด์ที่ไม่เหมือนจากที่เคยอ่านในอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งโดยตรง แต่ก็รวบรวมเนื้อหามาจากบทสัมภาษณ์เก่าๆ มากมาย รวมถึงจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ บริบทสังคมของฟินแลนด์ช่วงนั้นไว้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านพอจะติดตามเรื่องราวและเข้าใจถึงการตัดสินใจในธุรกิจของผู้ก่อตั้งได้
จริงๆ คนที่รักแบรนด์ Marimekko น่าจะเคยฟังประวัติแบรนด์มาบ้าง แต่ไหนๆ ก็ซื้อหนังสือมาแล้ว (ซึ่งราคาแรงใช้ได้—ล้อเล่นค่ะ) และพอได้นั่งอ่านจริงๆ จังๆ ก็เจอข้อมูลสนุกๆ น่านำมาเล่าต่อเต็มไปหมด ขอใช้พื้นที่นี้เล่าสรุปให้ฟังอีกรอบนะคะ
แม้ว่าชื่อของ Marimekko ในภาษาฟินแลนด์จะแปลว่า ‘ชุดกระโปรงของแมรี’ แต่ Marimekko นั้นไม่ใช่แค่ชุดกระโปรง แต่คือ ‘คอนเซปต์และวิถีชีวิต’
Marimekko เป็นแบรนด์ที่ให้คำมั่นสัญญามาตั้งแต่ Day 1 ว่าอยากจะเป็นตัวแทนของอิสรภาพ สันติภาพ ความรัก และความสุข โดยให้ความสำคัญกับงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ และการ collaboration ซึ่งสามองค์ประกอบสำคัญนี้ทำให้ Marimekko เป็นแบรนด์ที่ยังคงยืนเด่นแม้จะอยู่ในยุคสมัยของดิจิทัลแล้วก็ตาม
WORK HARD, PLAY HARDER
อาร์มี ราเตีย เกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นพ่อค้า แม่เป็นครู
เธอเป็นเด็กเก็บตัวที่ชอบเขียนหนังสือ เมื่อโตขึ้น อาร์มีไปเรียนต่อด้านออกแบบสิ่งทอที่โรงเรียนศิลปะและการออกแบบในเฮลซิงกิ (ซึ่งปัจจุบันคือ Alto University School of Arts, Design and Architecture) ระหว่างเรียนก็หาเงินส่งตัวเองด้วยการใช้นามแฝงเขียนนิยายรักโรแมนติกลงในนิตยสาร ต่อมาในปี 1935 อาร์มีก็แต่งงานกับคุณวิลิโย ราเตีย (Viljo Ratia) แฟนหนุ่มนายทหารที่พบรักกันตั้งแต่ก่อนจะย้ายเข้าเมืองไปเรียนต่อ
ช่วงเวลานั้น ประเทศฟินแลนด์อยู่ในภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับสวีเดนมาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายฟินแลนด์ก็ต้องยอมเสียดินแดนตอนใต้และตะวันออกให้กับรัสเซีย เท่ากับว่าคนฟินน์ในเมืองนั้นจะถูกขับไล่ ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน อาร์มีและสามีก็เช่นกัน พวกเขาสูญเสียบ้าน สิ่งที่ติดตัวมีเพียงเสื้อกันฝนและหน้ากากป้องกันแก๊ส ขณะที่พี่ชายสองคนและพี่เขยก็หายสาบสูญในสงคราม บทเรียนจากสงครามทำให้อาร์มีมองโลกเปลี่ยนไป เธอรู้สึกว่าทุกวันที่เหลืออยู่คือปาฏิหารย์ของชีวิต จึงเลือกที่จะมองหาความสวยงามจากชีวิตที่เรียบง่าย
ช่วงปี 1939 อาร์มีเริ่มงานในกระทรวงกลาโหม จากนั้นในปี 1942 ก็ได้งานเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ในเอเจนซี่แห่งหนึ่งที่เฮลซิงกิ ทำงานอยู่เจ็ดปี เธอก็ลาออก ตั้งใจว่าจะไปใช้ชีวิตที่บ้านบนเขาเพื่อเก็บตัวเขียนนิยายตามฝัน แต่ไม่ทันไร ผู้เป็นสามีก็ลาออกจากกองทัพ ใช้เงินเก็บที่มีลงทุนซื้อโรงงานผลิตผ้าน้ำมันเก่าที่ใกล้ล้มละลาย ก่อตั้งธุรกิจของตัวเองในชื่อ Printex แล้วชวนอาร์มีมาทำด้วยกัน และไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่นักเขียนคนหนึ่งจะรู้วิธีเติมหน้ากระดาษเปล่าด้วยสีสัน อาร์มีรวบรวมทีมครีเอทีฟและศิลปินรุ่นใหม่มาออกแบบลายผ้าให้โรงงานของเธอและสามี ซึ่งทำให้ Printex เปลี่ยนจากผลิตผ้าใบผืนน้ำมันมาเป็นผ้าพิมพ์ลายแทน
นอกจากฟินแลนด์ในเวลานั้นจะเป็นประเทศที่จนมาก อาร์มียังต้องใช้ความกล้าไม่น้อยในช่วงก่อตั้ง Marimekko เพราะไม่เคยมีกิจการใดในฟินแลนด์มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงมาก่อน แต่อาร์มีก็ทำได้ เพราะมีทีมคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้อิสระที่ปราศจากกฎเกณฑ์และความคาดหวังใดๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมทดลองสร้างนวัตกรรมทั้งฝั่งออกแบบและการผลิตได้ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ลายพิมพ์ของ Marimekko ใหญ่มากๆ ก็เป็นเพราะโรงงานพิมพ์ผ้าทั่วๆ ไปในยุคนั้น (สมัยที่ใช้ชื่อเดิม Printex) ทุกที่พิมพ์ลายแพตเทิร์นเล็กๆ หมด ซึ่งไม่ใช่แค่ฉีกกรอบด้วยลายใหญ่ แต่งานแพตเทิร์นที่มาจาก Printex ยังปลดแอกผืนผ้าด้วยสีสัน ออกแบบงานหลากหลายและสดใหม่มากๆ ด้วย
ทว่าแม้จะดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่มันกลับขายไม่ได้เลย เพราะคนซื้อไม่รู้ว่าจะต้องใส่ยังไง นี่จึงเป็นที่มาให้อาร์มีและทีมลุกขึ้นมาออกแบบชุดกระโปรงด้วยผ้าลายใหม่ๆ เหล่านี้ ก่อนจะจัดแฟชั่นโชว์ที่โรงแรมกลางเมืองเฮลซิงกิ และยังไม่ทันที่นางแบบคนสุดท้ายจะเดินไปพ้นเวที เสื้อผ้าทุกตัวก็ถูกจับจองจนหมดเกลี้ยง และวันต่อมาชื่อแบรนด์ ‘Marimekko’ ก็ถือกำเนิด
MAKING MARIMEKKO
ในปี 1951 ที่ Marimekko กำเนิดขึ้นมา ประเทศฟินแลนด์เริ่มมีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรมแล้ว อาร์มีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าสถาปนิกสร้างบ้านเพื่อให้คนมีชีวิต ลายผ้าและชุดของ Marimekko ก็ทำงานแบบนั้นเหมือนกัน เธอกำลังออกแบบและสร้างชุดที่ทำให้ผู้หญิงมีชีวิต ซึ่งคาแรกเตอร์ผู้หญิงฟินแลนด์นั้นน่าสนใจมาก พวกเธอหมกมุ่นกับการอ่านเขียน ดนตรี ศิลปะ งานออกแบบ มากกว่าจะคิดถึงความเอะอะมะเทิ่งใดๆ”
อีกทั้ง Marimekko ยังทำเสื้อผ้า unisex ไม่แบ่งเพศมานานแล้ว อย่าง Piccolo (1953) ลายเส้นตรงจากแปรงทาสี โดย วูอกโกะ เอสกอลิน-นูร์เมสเนียมี (Vuokko Eskolin-Nurmesniemi) นักออกแบบผู้ได้รับสมญานามว่าเป็นโคโค่ ชาแนล แห่งฟินแลนด์ นอกจากจะพูดถึงความเท่าเทียมไว้ในที่มาของลายทางแล้ว วูอกโกะยังเป็นคนแรกที่ออกแบบชุดกระโปรงทรงหลวมและเสื้อเชิ้ตตัวยาวที่ใส่ได้ทั้งผู้ชายและหญิงด้วย
ต่อมาในปี 1958 หลังจากที่ Marimekko ไปออกนิทรรศการที่งาน World’s Fair ในเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม Marimekko ก็ได้รับเชิญจาก เบนจามิน ธอมป์สัน (Benjamin Thompson) สถาปนิกและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้มาจัดนิทรรศการเรื่อง ‘Modern Living to American Home’ ที่ Design Research ซึ่งเป็นคอนเซปต์สโตร์ที่ขายงานออกแบบที่น่าจับตา งานนั้นอาร์มีนำชุดกระโปรง 100 ตัวที่ตัดเย็บด้วยลายผ้าคลาสสิกไปด้วย ซึ่งขายหมดเกลี้ยง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปขายเสื้อผ้า ทำให้อาร์มีคิดถึงการจัดจำหน่ายจริงจังในปีต่อมา
และเป็นงานนี้เอง ที่ทำให้ชุดของ Marimekko โด่งดังในหมู่นักศึกษาสาว แม้แต่ แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ (Jacqueline Kennedy) ก็ยังแวะมาซื้อ แล้วใส่ขึ้นปกนิตยสาร Sports Illustrated เมื่อปี 1960 ทำให้ Marimekko ดังในชั่วข้ามคืน และเป็นที่พูดถึงในนิตยสารแฟชั่นทุกสำนักทั่วสหรัฐฯ
หลังจากนั้น เส้นทางของ Marimekko ก็สดใสเรื่อยมา มีลายดังๆ ถือกำเนิดขึ้นมากมาย เช่น Unikko (1964) ลายพิมพ์ดอกป๊อปปี้ในตำนาน ซึ่งเกิดขึ้นจากความกล้าของ ไมยา อีโซลา (Maija Isola) นักออกแบบคนเก่งผู้แหกกฎเหล็กของเจ้าของแบรนด์ ที่ไม่อนุญาตให้ออกแบบลายดอกไม้ เพราะอาร์มีอยากให้ลวดลายจาก Marimekko ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียม หรืออย่าง Tasaraita (1968) ลายทางอันคลาสสิก ซึ่งมาจาก อันนิกา ริมาลา (Annika Rimala) นักออกแบบสายกราฟิกฯ ผู้เปลี่ยนให้ Marimekko วัยรุ่นขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของเสื้อลายทางนี้ มาจากเทรนด์เสื้อผ้าเดนิมในปี 1968 อันนิกาจึงออกแบบเสื้อผ้าคอตตอนลายทางออกมาให้แฟน Marimekko อยู่ร่วมกับเทรนด์ได้ไม่ตกขบวน
เหตุและผลที่ Marimekko สดใหม่ข้ามผ่านกาลเวลามาขนาดนี้ เพราะอาร์มีและทีมเป็นคนที่ค้นหาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งบทเรียนจากสงคราม ที่ทำให้อาร์มีสูญเสียทุกอย่างในพริบตา สอนเธอให้คิดอย่างอิสระ ปลดแอกตัวเองจากวิถีเดิมๆ ปล่อยอดีตให้เป็นอดีต ไม่ว่าจะความสำเร็จที่ผ่านมาหรือคราบน้ำตา แค่ช่างมันแล้วเอาเวลาไปสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า
เรื่องราวในหนังสือสรุปสั้นๆ อย่างนั้น แต่กินใจเราหลายๆ
MARIMEKKO NEXT
แม้แต่แบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่าง Marimekko ย่อมเคยเจอกับภาวะซบเซา เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1970 เป็นช่วงที่เทรนด์เสื้อผ้าเปลี่ยนจากชุดหลวมๆ คนก็หันมานิยมชุดแนบลำตัวมากขึ้น ประกอบกับเพื่อรองรับความต้องการของตลาด จากที่เคยพิมพ์ลายผ้าด้วยมือก็หันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น จนในที่สุด แบรนด์ประกาศเลิกพิมพ์ลายด้วยมือในปี 1973 ตามด้วยเหตุการณ์ภายหลังอาร์มีเสียชีวิตในปี 1979 ทายาทก็ตัดสินใจขายบริษัทให้กลุ่มธุรกิจ Amer ในปี 1985
ช่วงปี 1980-1990 เป็นช่วงที่ Marimekko เกือบล้มละลาย ผลพวงจากการทดลองใช้วัตถุดิบหรูหราตามยุค อย่างกำมะหยี่และผ้าไหม ขณะที่ตลาดแฟชั่นยุคนั้น คนมีทางเลือกมากมาย
ในที่สุดก็มีการเปลี่ยนมือผู้บริหาร กลุ่ม Amer ขายบริษัทให้ คิสติ ป๊ากกาเนน (Kirsti Paakkanen) นักธุรกิจหญิงผู้เข้ามาพลิกฟื้นสถานการณ์ Marimekko ในปี 1991 ซึ่งคิสติกู้ชีพ Marimekko ด้วยการจ้างคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน ทั้งสายงานธุรกิจ นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น และคนที่เก่งเรื่องเสื้อผ้าผู้ชาย
Marimekko ใช้เวลากอบกู้ชื่อเสียงนับสิบปี และเมื่อเข้าสู่ปี 2001 โลกก็เริ่มสัมผัสถึงชีวิตชีวาในงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ แบบเดียวกับสมัยที่อาร์มียังอยู่ และในปี 2007 ก็มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ Marimekko อีกครั้ง โดยคราวนี้อยู่ในมือของ มิกะ อิฮาโมติลา (Mika Ihamuotila) ซึ่งเขาก็มีโจทย์ที่ชัดเจนอย่างการพาแบรนด์ไปเติบโตในระดับโลก ตามด้วยการขยายตลาดจากผ้าพิมพ์ลายไปสู่เครื่องครัว จาน ชาม แก้ว
ต่อมาปี 2011 แบรนด์ Marimekko ครบรอบ 60 ปี ก็เฉลิมฉลองด้วยการเปิดร้านค้าออนไลน์ มีคอลเลกชั่นพิเศษกับแบรนด์รองเท้า Converse และในปีเดียวกันนั้น แบรนด์ยังไปจัดแฟชั่นโชว์นอกประเทศครั้งแรก เริ่มต้นที่โตเกียว ก่อนจะตามด้วยนิวยอร์ก สต็อกโฮล์ม และโคเปนเฮเกนในปีต่อๆ มา นอกจากนี้ ในปี 2012 ยังเป็นปีที่ Marimekko เปิดตลาดจีน และมีงาน collaboration กับสายการบินฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากเพราะตกแต่งเครื่องบินทั้งลำด้วยดอกอูนิโกะ
ปี 2015 มิกะส่งไม้ต่อให้ ตินา อัลลาฮูตา-กัสโกะ (Tiina Alahuhta-Kasko) รับหน้าที่ซีอีโอ ซึ่งภารกิจกอบกู้แบรนด์ในยุคสมัยของตินานั้นสนุกมาก เธอใส่ความร่วมสมัยให้ Marimekko ด้วยเสื้อฮู้ด แต่ก็ยังคงรักษารากวิถีแบบนอร์ดิกอยู่ เธอทำให้ Marimekko เด็กลงด้วยการกำหนดขอบเขตกลุ่มเป้าหมายใหม่ เธอบอกว่าไม่ควรนิยามกลุ่มเป้าหมายในยุคนี้ด้วยอายุ หากแต่เป็นทัศนคติต่างหาก ตินาเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Financial Times ถึงสิ่งสำคัญของการบริหารทีม ว่ามันคือการสื่อสาร เราต้องบอกให้ทุกคนรู้ว่า หนึ่ง บริษัทเราจะมุ่งหน้าไปไหน และสอง ตัวเขาจะ contribute ให้บริษัทเพื่อไปถึงจุดหมายนั้นอย่างไร
ปัจจุบัน Marimekko ตั้งใจจะเป็นแบรนด์ที่ดีต่อโลก ทั้งในแง่การออกแบบ กระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แบรนด์ร่วมมือกับทีมวิจัยในมหาวิทยาลัย ศึกษาและพัฒนาเส้นใยที่ย่อยสลายได้ ตลอดจนการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้ม ลดการใช้สารเคมีและปล่อยน้ำเสีย
ขณะที่เรียนรู้รากจากตำนานความเป็นมา เราก็ยังได้เห็นความพยายามมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเพื่อมุ่งไปสู่อนาคต ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมที่อาจจะเป็นกับดักยึดโยงไม่ให้แบรนด์ก้าวเดิน
JOYOUS ANNIVERSARY
สำหรับปี 2021 Marimekko ก็เป็นแบรนด์มีอายุ 70 ปีพอดี นอกจากปล่อยคอลเลกชั่นสนุกๆ มา พวกเขาฉลองและทำอะไรในวาระพิเศษนี้อีกบ้าง ไปดูกัน
เริ่มจากคอลเลกชั่นยั่วใจอย่าง ‘Marimekko Pre-loved’ ที่นำลายผ้าและแพตเทิร์นเดรสในยุคทองของแบรนด์มาให้แฟนๆ จับจองแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งขายหมดในหลักนาที ตามด้วยการ collaboration กับ Bukoskis บริษัทประมูลเก่าแก่ของเมืองเฮลซิงกิ จัดประมูลงานชิ้นพิเศษของ Marimekko มีชุดกระโปรงฝีมืออาร์มี มีเซรามิกชิ้นพิเศษๆ ไปจนถึงงานอาร์ตของนักออกแบบของแบรนด์ที่ไม่มีขายที่ไหน
อีกงานที่สนุกคือการ collaboration กับ Studio X ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เปิดร้านป๊อปอัพที่เปลี่ยนคอนเซปต์และการจัดร้านทุกสองสัปดาห์ เริ่มจากทำร้านชื่อ Marimekko Kreative Fabric ที่เปิดให้คนมาเลือกซื้อผ้า และตัดเย็บชุดกระโปรงทรง A ที่เป็นลายเซ็นของแบรนด์ ได้เอง จากนั้นสองสัปดาห์ต่อมา ก็เปลี่ยนเป็นร้านที่ขายคอลเลกชั่นพร้อมรันเวย์ Copenhagen Fashion Week และล่าสุดเปลี่ยนจากร้านเสื้อผ้าเป็นร้านขายของแต่งบ้าน
ขณะที่โปรเจกต์สุดท้ายของการฉลอง 70 ปี ที่กำลังจะเกิดคือ Maripedia หรือ Marimekko Print Library เพื่อเผยแพร่ลายผ้าที่มีมากกว่า 3,500 ลาย
และนี่คือ Marimekko Marketing ของแบรนด์ผ้าพิมพ์ลายที่สร้างชื่อด้วยการทลายกรอบขนบประเพณีและความเชื่อเดิมๆ มาตลอด 70 ปี พิสูจน์ให้เห็นพลังของ brand love ที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด
อ้างอิง
• Laid Borrelli-Persson. (2021). Marimekko: The Art of Printmaking. London: Thames & Hudson Press.
• bbc.com/culture/article/20210811-marimekko-the-nordic-look-that-defined-freedom-and-joy
• ft.com/content/98682818-6753-11e9-9adc-98bf1d35a056
• marimekko.com/com_en/our-world/marimekko-70-years
• marimekko.com/com_en/our-world/marimekko-journal/pre-loved
• bukowskis.com/en/auctions/E766/lots/1336951-armi-ratia-witch-skirt-unique-marimekko-1950-s
• marimekko.com/com_en/our-world/marimekko-journal/marimekko-kreative