CURRENTLY READING
A Man Called Ove ชายชื่ออูเว โดย Fredrik Backman
เรื่อง: สุชานาถ กิตติสุรินทร์
ภาพ: ms.midsummer
A Man Called Ove ชายชื่ออูเว
Fredrik Backman เขียน
ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี แปล
สำนักพิมพ์ Merry-Go Round
ขณะที่ทั้งโลกไปอ่าน Anixious People กันหมดแล้ว เราเพิ่งรู้จักกับ ‘เฟรียดริค บัคมัน’ (Fredrik Backman) เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผ่านผลงานที่ทำให้เขาดังเป็นพลุแตกอย่าง ชายชื่ออูเว (A Man Called Ove)
แน่นอนว่าเรื่องราวในเล่มก็ตามชื่อเรื่อง ‘อูเว’ ชายวัย 59 ปี ขี้โมโห เจ้าระเบียบ เขาถนัดอยู่สามอย่างคือซ่อมรถ ซ่อมบ้าน และรักผู้หญิงคนเดียวตลอดชีวิต หลังเธอจากไปด้วยโรคร้าย อูเวที่ทั้งเศร้าทั้งเผชิญกับการตกงานอย่างกะทันหัน ก็ตัดสินใจว่าจะฆ่าตัวตาย ทว่าแผนการทั้งหมดกลับพังไม่เป็นท่า เมื่อเพื่อนบ้านทั้งหลายขยันแวะเวียนมาขอความช่วยเหลือ (บ้างก็สร้างปัญหา) ให้อูเวไม่เว้นวัน เมื่อไม่ได้ตายสักที เขาจึงจำใจต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป พร้อมเรื่องราวอีกด้านที่ค่อยๆ เปิดเผยให้ใครๆ รับรู้
ก่อนจะหยิบเล่มนี้มาอ่าน เราเคยอ่านเจอทวิตนึงที่บอกประมาณว่า ‘ถ้าเจอมนุษย์ลุงหรือมนุษย์ป้าอย่าเพิ่งโมโหเลย เผื่อคนนั้นเป็นพ่อหรือแม่ของเราเอง’ ตอนนั้นทั้งขำทั้งได้คิด (ว่าแม่ฉันอาจจะเป็นเช่นกัน…) ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นอ่าน ชายชื่ออูเว ด้วยความรู้สึกพยายามเป็นกลางสุดๆ ก่อนจะพบว่าตัวละครนี้มันน่าโมโหจริงโว้ยยยย ทำไมถึงเป็นคนแบบนี้กันนะ และเหมือนว่าคนเขียนจะรู้ทันว่าต้องมีคนคิดแบบนี้แน่ๆ เลยใช้วิธีการทำให้เราได้รู้จักกับอูเวผ่านวิธีการลำดับเรื่องในเล่ม
จากมนุษย์ลุงน่ารำคาญในตอนแรก เราค่อยๆ ได้รู้จักกับอูเวผ่านประสบการณ์ในวัยเด็ก ความสัมพันธ์กับพ่อ ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเป็นอูเววัยรุ่น ทำไมเขาถึงชอบรถยี่ห้อซาบ ซ่อมบ้านเป็น และเจอกับ ‘ซอนยา’ หญิงสาวผู้สดใสที่เป็นสีสันเดียวในชีวิตของเขาได้อย่างไร ซึ่งทุกๆ เรื่องราวของอูเวไม่ได้เล่าแบบเรียงลำดับ หากแต่เล่าสลับอดีตกับปัจจุบันไปมา ซึ่งเราคิดว่านี่คือเสน่ห์อันร้ายกาจของนิยายเล่มนี้
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญคือบรรดาเพื่อนบ้านที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นสาวท้องแก่ผู้มีอิทธิพลกับอูเวอย่างไม่น่าเชื่อกับสามีตัวโย่งที่ไม่ค่อยได้เรื่อง อดีตเพื่อนสนิทที่กลายเป็นอัลไซเมอร์กับภรรยา หนุ่มอ้วนแถวบ้าน สาวผมบลอนด์พร้อมหมาของเธอ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดมาช่วยเติมเต็มให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์มากขึ้น
เราชอบความรู้สึกของการอ่านแล้ววางไม่ลงเป็นที่สุด ตลอดความยาว 342 หน้าของ ชายชื่ออูเว ทำให้เราทั้งยิ้ม ทั้งหัวเราะออกเสียง และเมื่อพลิกอ่านไปจนถึงเกือบจบ เราก็พบว่าตัวเองร้องไห้เหมือนกำลังดูซีรีส์เกาหลีที่ตอนจบไม่พระเอกก็นางเอกตาย ต่างตรงที่เราไม่ได้ร้องไห้เพราะเศร้า แต่มันเป็นความตื้นตันผสมกับใจฟูแบบเต็มๆ
อูเวทำให้เรารักและเข้าใจชีวิตที่แสนธรรมดาของตัวเองมากขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศดีๆ อย่างเขา (สวีเดน) แต่เราก็จะพยายามมีชีวิตต่อไปให้ได้