Tue 22 Jun 2021

FAMILY BUSINESS ZINE BY LEE ISAAC CHUNG & STEVEN YEUN

หนังสือที่ต่อยอดจากภาพยนตร์ Minari ของ A24 ค่ายหนังอินดี้ที่ชอบชวนผู้กำกับและนักแสดงมาทำนิตยสาร

ภาพ: 24celsiusc

     Family Business คือ ซีนหรือหนังสือทำมือของค่ายหนังอินดี้ A24 (A Twenty-four) ผู้สร้างหนังดัง ที่มีหนังรางวัลอยู่ในสังกัดมากมาย เช่น The Lobster (2015), Moonlight (2016), 20th Century Women (2016), The Florida Project (2017), Lady Bird (2017), The Farewell (2019), Midsommar (2019) เป็นต้น

     เป็นธรรมเนียมของค่ายที่จะโปรโมตหนังใหม่ ด้วยการชวนผู้กำกับและนักแสดงมาเป็นบรรณาธิการรับเชิญของนิตยสารรายไตรมาสประจำค่าย และนี่ก็เป็นคิวของ ลี ไอแซค จอง (Lee Isaac Chung) ผู้กำกับและคนเขียนบทเรื่อง Minari จับมือมากับ สตีเวน ยอน (Steven Yeun) นักแสดงนำของเรื่อง ในหัวข้อ ‘Family Business’  11 เรื่องเล่าของธุรกิจครอบครัว

     แม้จะยังหาซื้อ Family Business เล่มนี้ไม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป เราก็อยากหยิบมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์ พิมพ์นิยมอยู่ดี (จริงๆ ไม่ใช่อะไร รู้สึกผิดต่อเงินในบัญชีมาก เพราะค่าส่งแพงกว่าของในกล่องพัสดุนั้นหลายเท่าตัว ก็ได้แต่หวังว่าแม่จะไม่มาอ่านเจอ เอาน่า เพื่อความสบายใจ เสียเงินไม่ว่า ยังไงข้าก็ต้องได้งาน) โปรดพลิกหน้าถัดไป

     A24 คือค่ายหนังอินดี้แห่งทศวรรษนี้ ก่อตั้งโดย แดเนียล แคตซ์ (Daniel Katz) เดวิด เฟนเคล (David Fenkel) และ จอห์น ฮ็อดเจส (John Hodges) กลุ่มคนทำหนังสุดเนิร์ด ผู้เชื่อว่าหนังที่ดีย่อมมีพลังและสื่อสารกับคนดู แม้ว่าจะมีเงินทุนต่ำ แต่พวกเขาก็รสนิยมสูง เห็นได้จากการเริ่มเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังนอกกระแสเล็กๆ ในปี 2012 สู่ผู้สร้างภาพยนตร์และซีรีส์น้ำดี การันตีด้วยรางวัลจากหนังดังในสังกัด ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสลับกับได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในสาขาต่างๆ บนเวทีออสการ์มาตั้งแต่ปี 2016 เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จาก Moonlight, รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จาก Room (2015), รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จาก Minari และรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จาก AMY (2015) 

     นี่ยังไม่รวมหนังในดวงใจคอหนังอินดี้ที่เดินสายรับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์มาแล้วทั่วโลก อย่าง The Killing of a Sacred Deer (2017), The Farewell, Midsommar, Lady Bird, The Florida Project, 20th Century Women และหนังที่เป็นศาสดาแห่งคนโสดอินดี้อย่าง The Lobster 

     จุดร่วมที่ทำให้ค่าย A24 แข็งแกร่งขนาดนี้ เป็นเพราะทักษะเล่าเรื่องเก่งที่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ทำหนังเก่ง แต่ยังขายของเก่งมาก

     ถ้าคุณเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ของ A24 (shop.a24films.com) หรือช่องทางโซเชียลฯ หลักของค่าย คุณจะพบว่า นี่มันไม่ใช่แค่ค่ายหนังแล้ว นี่มันแทบจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน ของเล่น และหนังสือร้านหนึ่ง เพราะมีตั้งแต่เสื้อยืด หมวก แก้ว ผ้าเช็ดตัว เทียนหอม จิ๊กซอว์ สติกเกอร์ และโปสเตอร์ของหนังในค่าย ไปจนหนังสือบทภาพยนตร์ และซีนเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ให้เลือกช้อปจนเงินในบัญชีสั่นไปหมด

     ในยุคที่ทุกอย่างในโลกมุ่งสู่ออนไลน์ A24 คือค่ายหนังที่ตั้งใจเล่าเรื่องผ่านออฟไลน์ หนึ่งในนั้นคือการลุกขึ้นมาทำหนังสือบทภาพยนตร์ (A24 Screenplay Books) สิ่งพิมพ์ที่ค่าย A24 ตั้งใจทำและออกแบบอย่างดี เพื่อโปรโมตหนังใหม่ ก่อนจะต่อยอดเป็นนิตยสาร A24 Zine หรือซีรีส์ซีนที่ชวนผู้กำกับ นักแสดง หรือนักเขียนบทของหนังเรื่องใหม่มานั่งแท่นเป็นบรรณาธิการ เพื่อเล่าข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ เบื้องหลังการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ โดย A24 Zine เล่มแรกเกิดขึ้นในปี 2016 เป็นคิวของ ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ผู้กำกับและคนเขียนบทจาก 20th Century Women ทำซีนว่าด้วยเรื่องราวในปี 1979 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลักที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้น

     ด้วยโจทย์ที่วางไว้ว่าอยากทำซีนแต่ละเล่มให้ออกมาสนุก และเป็นตัวของตัวเองมากๆ บางเล่มจึงออกมาเป็นหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ของคนที่น่าสนใจในแวดวงต่างๆ บางเล่มเล่าผ่านลายเส้นการ์ตูนถึงเรื่องราวปฐมบทของหนังเรื่องนั้น บางเล่มก็ชวนตั้งคำถามต่อจากประเด็นในหนัง อย่าง A24 Zine เล่มล่าสุด เล่มที่ 15 ‘Family Business’ ก็เป็นรวมเรื่องเล่าของธุรกิจครอบครัว

     ระหว่างศึกษาคอนเซปต์และรูปภาพของซีนเล่มต่างๆ ใน https://shop.a24films.com/collections/zines เราก็ได้แต่ตีอกชกหัวตัวเอง ถ้าเพียงแผ่นดินผืนน้ำไม่กั้นกลางระหว่างเรา แฟนคลับค่าย A24 คนนี้ คงจะได้ครอบครองซีนทั้งหมด แต่เมื่อคำนวณราคา ค่าส่ง และภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว ขอชื่นชมแบบทิพย์ๆ ไปก่อน 

     จนกระทั่ง A24 ประกาศให้จองเสื้อยืดรุ่น ‘Yi Family Farm Tee’ ติ่งหนังเรื่อง Minari อย่างเราก็กด add to cart ทันที โดยไม่ลืมสั่ง Family Business ซีนประกอบหนังเรื่องนี้ (ใส่กล่องเหินฟ้ากับบริการขนส่งระดับเฟิร์ตคลาส) มาด้วย 

     Family Business คือ ซีนหรือหนังสือทำมือ ที่ต่อยอดมาจากภาพยนตร์เรื่อง Minari ผลงานของ อี ไอแซค จอง ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวอเมริกัน เชื้อสายเกาหลีใต้ 

     ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวลี ครอบครัวเกาหลีที่อพยพไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ในช่วงปี 1980 ต่อมาย้ายไปอยู่ชนบท เมืองที่ เจคอบ (แสดงโดยสตีเวน ยอน นักแสดงเกาหลี สัญชาติอเมริกัน ที่มีผลงานระดับอินเตอร์อย่าง The Walking Dead, Burning และ Okja) ผู้เป็นพ่อที่มีงานประจำคือ ลูกจ้างแผนกคัดแยกเพศในฟาร์มไก่ ใช้เวลาว่างลงมือทำฟาร์มปลูกผักและผลไม้ด้วยตัวเองตั้งแต่ขุดบ่อน้ำ ขุดดิน หว่านเมล็ด หวังหาเลี้ยงทั้งครอบครัว หนังไม่เพียงสะท้อนชีวิตของผู้พลัดถิ่น เพราะเรื่องราวอันอบอุ่นและเรียบง่ายนี้ยังหยั่งรากลึก ชวนให้คิดถึงช่วงเวลาในอดีต ความทรงจำแสนเลือนราง ครั้งที่เห็นพ่อและแม่ ก่อร่างสร้างธุรกิจเพื่อเราทั้งครอบครัว

     และเมื่อ A24 ฉบับที่ 15 ได้อี ไอแซค จอง กับสตีเวน ยอน ผู้มีประสบการณ์ตรงที่เป็นคนพลัดถิ่นเหมือนกันมาเป็นบรรณาธิการรับเชิญนั้น ก็คงไม่มีหัวข้อใดจะสนุกและเหมาะสมเท่ากับธุรกิจครอบครัวอีกแล้ว

     Family Business เป็นซีนเล่มบาง ขนาด 15 x 23 เซนติเมตร หรือประมาณพ็อกเกตบุ๊กเล่มใหญ่ พิมพ์บนกระดาษสี เข้าเล่มด้วยลวดเย็บธรรมดา ต่างจาก A24 Zine เล่มอื่นๆ ที่มีขนาดเท่าหนังสือแท็บลอยด์ (Tabloid) พิมพ์บนกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษปรู๊ฟ เข้าเล่มด้วยวิธีพับครึ่ง

     ขณะที่หน้าปก ใช้เทคนิคคอลลาจภาพครอบครัวของกิจการต่างๆ ซึ่งดูรวมๆ แล้ว ไม่ต่างจากหนังสือทั่วไป แต่ที่ทำให้ซีนเล่มนี้พิเศษคือเนื้อหาด้านในและภาพประกอบที่บางครอบครัวอาจไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

     ด้วยชื่อ ‘Family Business’ และบรรณาธิการรับเชิญ เราอดคิดไม่ได้ว่าในเล่มคงจะเต็มไปด้วยเรื่องราวธุรกิจครอบครัวของชาวเอเชียที่ย้ายถิ่นฐานไปที่สหรัฐฯ ในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ที่คิดไว้เท่านั้น ยังมีเรื่องราวการส่งต่อและรับช่วงของธุรกิจครอบครัวหลายสัญชาติรวมถึงเรื่องราวครอบครัวของศิลปินและนักแสดงที่สืบทอดพรสวรรค์จากรุ่นสู่รุ่นด้วย 

     สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวด้านในคือ บทบรรณาธิการจากจองกับยอน

     ทั้งคู่เล่าเหตุผลที่คนใกล้ตัวและครอบครัวของพวกเขาเลือกที่จะสร้างธุรกิจจากน้ำพักน้ำแรงมากกว่าจะยอมเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต (ซึ่งเทียบกันแล้ว การเริ่มต้นธุรกิจในต่างแดนแบบนี้นั้นยากลำบากกว่าการเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนเป็นไหนๆ) เป็นเพราะเลือดนักสู้ที่มีในตัวอย่างท่วมท้นของคนเอเชีย เราจึงมักจะเห็นคนเอเชียที่โยกย้ายถิ่นฐานไปปักหลักในประเทศอีกซีกโลกเปิดปั๊มน้ำมัน บ้างเปิดร้านอาหาร ร้านซักแห้ง ร้านขายของชำ ร้านขายยาแผนโบราณและสมุนไพร 

     ซึ่งถ้าเป็นเรื่องทำมาหากิน บรรณาธิการทั้งสองคนก็บอกว่าต้องยกความดีความชอบให้ครอบครัวของพวกเขา เพราะนอกจากทั้งคู่จะไม่ถนัดแล้ว พวกเขายังจำอะไรแทบไม่ได้ อย่างแผนธุรกิจหรือกลยุทธ์การตลาดที่ครอบครัวคุยกันบนโต๊ะอาหาร แต่สิ่งที่พวกเขาจำได้แม่นคือแววตาเป็นประกายยามที่ทุกคนเล่าถึงธุรกิจ นั่นทำให้ทั้งจองกับยอนชอบเรื่องราวธุรกิจครอบครัวแบบนี้มากๆ 

     Family Business จึงเป็นซีนที่เล่าเรื่องราวธุรกิจครอบครัว ซึ่งให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์และความเป็นมนุษย์ ผ่านเรื่องเล่าสมัยก่อร่างสร้างตัว ความสำเร็จและบทเรียนจากความล้มเหลวในอดีต ตัดสลับกับความรู้สึกของทายาทผู้สืบทอดรุ่นปัจจุบัน ซึ่งภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นั้นก็มาพร้อมความคาดหวังอันใหญ่ยิ่งจนกลายเป็นความกดดัน และแม้ว่าผู้อ่านอย่างเราจะไม่อาจช่วยกอบกู้อะไรใครได้ แต่เราก็ไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้จบลงหรือเป็นแค่เรื่องเล่าที่รับรู้กันแค่ในครอบครัว

     ภายใต้ซีนจำนวน 56 หน้า ประกอบด้วยเรื่องราวธุรกิจครอบครัวจาก 11 ครอบครัว เช่น

     ‘Kim’s Video & Music’ หรือร้านเช่าวิดีโอของคุณคิม ยงมัน (Yongman Kim) ซึ่งเปิดกิจการปี 1980-2014 เริ่มต้นจากความรักหนังและดนตรีของผู้เป็นพ่อ หลังจากวิ่งเข้าวิ่งออกยืมหนังจากห้องสมุดวัฒนธรรมตามสถานทูต วันหนึ่งที่ได้ลองแปลงไฟล์จาก PAL เป็น VHS ลงม้วนวิดีโอ พร้อมลงมือออกแบบหน้าปกม้วนหนังด้วยตัวเอง เขาก็เริ่มธุรกิจให้เช่าม้วนหนังเล็กๆ มีลูกค้าชุดแรกเป็นคณะอาจารย์สาขาภาพยนตร์ของ NYU และ Parson มหาวิทยาลัยด้านศิลปะและการออกแบบอันดับต้นๆ ของประเทศ ก่อนจะตามมาด้วยนักเรียนภาพยนตร์และคนทั่วไปที่สนใจศึกษาหนังต่างประเทศทั่วเมืองแมนฮัตตัน แถมในยุคนั้นหาภาพยนตร์ต่างประเทศดูยาก ถ้าไม่รอดูตามงานเทศกาลก็ต้องมีเครื่องฉายหนังเฉพาะ นี่ถือเป็นการสร้างคุโณปการแก่วงการภาพยนตร์และศิลปะในนิวยอร์กโดยแท้ แต่ภายหลังเมื่อต้องเลือกระหว่างธุรกิจและครอบครัว ผู้เป็นพ่อก็ตัดสินใจพาครอบครัวและร้านย้ายไปตั้งหลักนอกเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกๆ

     ‘Popular Jewelry’ ร้านขายเครื่องประดับดังกลางเมืองนิวยอร์กที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1980 ก่อตั้งโดยคุณ อีวา ซัม (Eva Sam) สะใภ้ในครอบครัวช่างทำทองและเครื่องเงินจากจีน ที่ลุกมาเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเอง และเพราะใส่ใจเรื่องคุณภาพ การออกแบบ และการบริการ ทำให้มีลูกค้าเป็นเซเลบคนดังมากมาย ไปจนถึงครอบครัวที่อุดหนุนกันมารุ่นสู่รุ่น 

     ‘George Nakashima Woodworkers’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สุดคราฟต์ก่อตั้งในปี 1990 และมีหน้าร้านอยู่ในเพนซิลวาเนียของ มิระ นากาชิมา (Mira Nakashima) ทายาทผู้ต่อยอดงานและตำนานของพ่อ จอร์จ นากาชิมา (George Nakashima) อดีตสถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้พลัดถิ่นในยุคสงครามโลก มือขวาของ อันโทนิน เรย์มอนด์ (Antonin Raymond) สถาปนิกชาวอเมริกันผู้อยู่เบื้องหลังงานสถาปัตยกรรมสำคัญของญี่ปุ่น 

     นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวการต่อรับช่วงต่อร้านขนมญี่ปุ่นอายุร้อยปีในย่านลิตเติ้ลโตเกียว ร้านหนังสือมือสองที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1925 แบรนด์เชือกสำหรับใช้ในงานปศุสัตว์จากความเชี่ยวชาญของพ่อผู้หลงใหลในเชือกเลี้ยงวัวและงานในฟาร์ม ธุรกิจเทียนหอมเพื่อสังคมจากโปรเจกต์การบ้านของเด็กชายสามคนผู้มีอายุไม่ถึง 13 ปี ในครอบครัวแอฟริกัน-อเมริกัน โดยมีแม่ฝ่ายการตลาด และพ่อเป็นฝ่ายจัดส่งสินค้า ไม่เพียงขายดีมีรายการสั่งซื้อจากทั่วโลก ยังนำรายได้จากการขายไปตั้งกองทุนสร้างมูลนิธิช่วยคนไร้บ้าน โดยช่วยเหลือไปแล้วกว่า 4,000 คน ฟาร์มดอกกุหลาบของครอบครัวม้งพลัดถิ่น ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของเรื่อง Minari เรื่องราวการทำงานร่วมกันของครอบครัว Kazen ชาวอเมริกันที่ทำงานในวงการบันเทิงมาแล้วสามรุ่น นั่นคือมีปู่เป็นนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง พ่อและแม่เป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท ขณะที่พี่สาวและน้องสาวก็เป็นนักเขียนบทและนักแสดงชื่อดัง

     ไปจนถึงเรื่องราวของ ยานนิก โลเวอรี (Yannick Lowery) ศิลปินผิวดำชาวอเมริกัน (Visual Artists) รุ่นที่สาม ผู้เติบโตในครอบครัว ที่มีตาเป็น ปีเตอร์ แบรดลีย์ (Peter Bradley) ศิลปินและประติมากรผิวดำผู้มีงานแสดงและได้รับการยอมรับเป็นคนแรกๆ ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีแม่เป็น ลิซา แบรดลีย์ (Lisa Bradley) จิตรกร ประติมากร และศิลปินผู้ถนัดงานภาพเคลื่อนไหวและศิลปะการแสดงสด (performance art) แต่งงานกับพ่อ คาลวิน โลเวอรี (Calvin Lowery) ศิลปินภาพพิมพ์ และบรรณาธิการศิลปกรรมของนิตยสารยุค 80-90s แต่เพราะความกดดัน ท่ามกลางความสนใจเรื่องศิลปะ ในวัยที่โหยหาชีวิตคนธรรมดา ยานนิกหนีจากบ้านไปเป็นเชฟและสร้างครอบครัวเรียบง่ายของตัวเอง โดยไม่ข้องเกี่ยวกับงานศิลปะใดๆ ภายหลังเขากลับบ้านมาทำงานศิลปะประเภทคอลลาจ (collage art) ในรอบ 15 ปี และได้รับรางวัล Innovate Grant and a Philadelphia Fellowship for Black Artists 2020

     จากเรื่องราวทั้งหมด เราชอบการนิยามคำว่า ‘ธุรกิจครอบครัว’ ของซีนเล่มนี้มาก ในความไร้กระบวนท่าเหล่านี้เปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น จากที่เคยให้ค่าและสนใจแต่ธุรกิจเก่าแก่ เรามองคำว่าธุรกิจและครอบครัวด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

     แม้บางธุรกิจจะเริ่มต้นด้วยการหาเลี้ยงปากท้อง แต่ความรักและเชี่ยวชาญที่สะสมมานานปีก็หว่านเมล็ดและส่งผล บางคนอาจจะรู้ตัวว่าต้องมารับช่วงต่อ บางคนอาจจะมีความฝันเป็นอื่น บางคนอยากรักษาสิ่งเดิมที่มีไว้ บางคนอยากต่อยอดสิ่งใหม่ แม้ธุรกิจครอบครัวจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างพ่อลูก เจ้านายและลูกน้องลางเลือน แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธความสุขหรือผลทั้งบวกและลบที่เกิดขึ้น

     ไม่เพียงเรื่องราวในเล่ม เรายังประทับใจชุดภาพหน้าร้านรวง และธุรกิจเก่าแก่ที่อยู่คู่ย่านและชุมชน ผลงานภาพถ่ายของเจมส์และคาร์ลา เมอเรย์ (James and Karla Murray) คู่รักช่างภาพที่โด่งดังจากงานรวมภาพถ่ายหน้าร้านของกิจการเก่าแก่ ที่ตัดสลับเรื่องราวยิ่งทำให้ซีนเล่มนี้มีพลัง จนอยากให้มีเนื้อหาอีกสักร้อยหน้า

     สำหรับคนที่สนใจ Family Business หาซื้อได้ที่ https://shop.a24films.com/products/family-business-zine-by-lee-isaac-chung-steven-yeun หรือถ้าใครสนใจจริงๆ เรามาหารค่าส่งและภาษีกันไหมคะ เดี๋ยวจะได้กดซีนของหนังเรื่องอื่นมาเผื่อด้วย 

     หรือถ้าใครชอบเรื่องราวแนวครอบครัวแบบนี้อีก เรามีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ

     Family เหมือนกัน แต่เป็น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง หนังสือรวม 11 เรื่องสั้นเกี่ยวพันกับความเป็นจีนที่คนไทยแท้ก็อ่านได้ ตั้งแต่การเอาตัวรอดในสังคมลูกชายเป็นใหญ่ ความคิดในห้วงขณะเข้าร่วมพิธีกรรมในวันมงคล ความกดดันจากบรรดาญาติที่อยากเห็นหลานได้ดี ความประณีตในวันไหว้บรรพบุรุษที่กลายเป็นความบาดหมาง ลูกสะใภ้ผู้ถูกจองจำจนกว่าจะให้กำเนิดลูกชาย ความรักและความสัมพันธ์ของคนหลากเพศหลากวัย โดย ‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ ลูกครึ่งจีนแคะ-จีนกวางตุ้ง ผู้มีข้อเขียนไร้กระบวนท่าที่น่าจับตา หาซื้อง่ายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือที่ https://store.minimore.com/salmonbooks/items/fam

     ขอบคุณค่ะ