Wed 17 Aug 2022

BARBIE MOVIES BASED ON BOOK

4 บาร์บี้ในตำนานที่สร้างจากหนังสือ

ภาพ: ms.midsummer

     ลุกออกมา! ใครชอบดู บาร์บี้ (Barbie) ลุกออกมาเลย เสียงของพวกแกมีความหมายนะเว้ย! 

     ขออนุญาตตามหาสาวกผู้เติบโตมากับการ์ตูนบาร์บี้ เพราะในกอง บ.ก.แทบจะไม่มีใครดูเลย (เศร้ามาก นี่เราต้องร้อง ‘I’m a Girl Like You’ คนเดียวเหรอเนี่ย) 

     เผื่อผู้อ่านก็ยังไม่เคยดู เราขอเล่าสักนิดว่าบาร์บี้เปิดตัวในฐานะตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิงเมื่อปี 1959 โดย ‘รูธ’ (Ruth) และ ‘เอลเลียต แฮนด์เลอร์’ (Elliot Handler) คู่รักชาวอเมริกันเจ้าของบริษัทของเล่น Mattel ซึ่งทันทีที่เริ่มวางจำหน่ายก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากของเล่นสำหรับฝึกแต่งตัว บาร์บี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความฝันและความเป็นไปได้ที่ไม่จำกัด เพราะเด็กๆ สามารถเลือกชุดอาชีพต่างๆ และแต่งตัวให้เหล่าบาร์บี้ได้ใส่ตามใจปรารถนา

     นอกจากการเป็นตุ๊กตาแล้ว บาร์บี้ยังถูกนำไปต่อยอดเป็นเกม ซีรีส์ ภาพยนตร์ ไปจนถึงการปรากฏตัวในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น Toy Story แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่ทำให้คนจดจำบาร์บี้ได้พอๆ กับตุ๊กตา ก็ต้องเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ขยันทำมาหลายภาคเหลือเกิน แถมพอไปค้นข้อมูลก็เจอสิ่งน่าสนใจว่าเหล่าแอนิเมชั่นบาร์บี้ในตำนานที่เพิ่งเข้า Netflix ไปสดๆ ร้อนๆ ดัดแปลงมาจากหนังสือหมดเลย ใครที่ดูการ์ตูนแล้วชอบ ไปหาอ่านกันต่อได้นะ

บาร์บี้ อิน เดอะ นัทแคร็กเกอร์
(Barbie in the Nutcracker)

บาร์บี้ อิน เดอะ นัทแคร็กเกอร์ (Barbie in the Nutcracker)

จากหนังสือ The Nutcracker and the Mouse King (E. T. A. Hoffmann) 

     บาร์บี้ อิน เดอะ นัทแคร็กเกอร์ (ทำไมชื่อไทยถึงถอดมาทั้งประโยคแบบนี้) ภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3D เรื่องแรกของบาร์บี้ เล่าเรื่องของ ‘คลาร่า’ หญิงสาวผู้ได้รับของขวัญวันคริสต์มาสเป็นตุ๊กตาไม้นัทแคร็กเกอร์ ในยามค่ำคืนที่เธอกำลังหลับใหล เจ้าตุ๊กตานัทแคร็กเกอร์จะมีชีวิต ลุกขึ้นมาต่อสู้กับราชาปีศาจหนู ทว่าวันหนึ่งคลาร่าดันตื่นขึ้นมา เธอพยายามเข้าไปช่วยจนโดนสาปให้ตัวเล็กจิ๋ว คลาร่าและตุ๊กตานัทแคร็กเกอร์จึงออกเดินทางผจญภัยเพื่อหาวิธีถอนคำสาป

     การ์ตูนเรื่องนี้ดัดแปลงมาจาก The Nutcracker and the Mouse King โดย อี. ที. เอ. ฮอฟมันน์ นักเขียนชาวปรัสเซีย (เยอรมนีในปัจจุบัน) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1816 โดยเวอร์ชั่นต้นฉบับ นางเอกใช้ชื่อว่า ‘มาเรีย’ เธอไม่ได้ถูกสาปให้ตัวเล็กจิ๋วแต่อย่างใด และเรื่องราวทั้งหมดก็เกิดขึ้นในบ้านของเธอเอง 

     The Nutcracker and the Mouse King ยังถูกดัดแปลงไปเป็นการแสดงบัลเลต์โดย ‘ปีเตอร์  ไชคอฟสกี้’ (Pyotr Tchaikovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ ในชื่อ The Nutcracker เมื่อปี 1892 ด้วย

บาร์บี้ เจ้าหญิงราพันเซล
(Barbie as Rapunzel)

บาร์บี้ เจ้าหญิงราพันเซล (Barbie as Rapunzel)

จากหนังสือ Rapunzel (The Brothers Grimm)

     บาร์บี้ เจ้าหญิงราพันเซล มีโครงเรื่องคล้ายคลึงกับนิทานที่เราคุ้นเคยกัน คือมีสาวงามผมยาวถูกขังไว้บนหอคอยโดยแม่มดใจร้าย แต่รายละเอียดจะแตกต่างออกไปนิดหน่อย

     ‘ราพันเซล’ เป็นสาวน้อยผมยาวสลวยชื่นชอบการวาดรูป เธออาศัยอยู่กับ ‘โกเธล’ แม่มดเจ้าเล่ห์ บนหอคอยในป่าลึกที่มีกำแพงวิเศษและมังกรยักษ์คอยป้องกันไม่ให้ใครเข้ามา วันหนึ่งราพันเซลค้นพบพู่กันวิเศษที่พาเธอเดินทางออกจากปราสาท ได้พบกับเจ้าชายรูปงาม และสามารถไขปริศนาความบาดหมางของสองอาณาจักรจนพบตัวตนที่แท้จริง

     ราพันเซล เป็นหนึ่งในนิทานจาก Children’s and Household Tales ที่ถูกดัดแปลงมากที่สุดของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1812 ซึ่งเรื่องราวในต้นฉบับนั้นราพันเซลไม่ใช่เจ้าหญิง แต่เป็นลูกของชาวบ้านธรรมดาที่ถูกแม่มดนำมาเลี้ยงดูบนหอคอย เธอมีผมยาวสีทองที่แม่มดคอยใช้เป็นทางขึ้น-ลงหอคอย วันดีคืนดีเจ้าชายมาเห็นเทคนิคนี้เลยลองดูบ้าง ราพันเซลปล่อยผมลงไปโดยไม่คิดอะไร แต่พอเจ้ามนุษย์เพศชายปีนขึ้นมาก็ตะลึง เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น ไม่นานทั้งคู่ก็รักกัน (ง่ายแบบนี้เลย) และวางแผนจะหนีไปจากหอคอย ขอบอกว่าเวอร์ชั่นนี้มีความดาร์กกว่าปกติ ถ้าอยากรู้ต้องลองไปหาอ่านกัน

     นอกจากนี้ ราพันเซล ยังถูกดัดแปลงไปเป็นแอนิเมชั่นของดิสนีย์ในชื่อ Tangled ซึ่งตีความออกมาได้แตกต่างจากเดิม ทั้งการที่เส้นผมมีพลังเป็นยาอายุวัฒนะ และการเปลี่ยนจากเจ้าชายเป็นจอมโจรหนุ่ม

เจ้าหญิงบาร์บี้กับสาวผู้ยากไร้
(Barbie as the Princess and the Pauper)

เจ้าหญิงบาร์บี้กับสาวผู้ยากไร้ (Barbie as the Princess and the Pauper)

จากหนังสือ The Prince and the Pauper (Mark Twain)

     เจ้าหญิงบาร์บี้กับสาวผู้ยากไร้ เล่าถึงสองสาวที่หน้าตาเหมือนกันแต่เติบโตมาอย่างแตกต่างกันสุดขั้ว ‘แอนเนลีส’ เจ้าหญิงผู้งดงาม ได้มาพบกับ ‘เอริก้า’ สาวชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อในหมู่บ้าน ทั้งสองใฝ่ฝันที่จะเป็นอิสระในการรักใครสักคน และได้ทำตามความฝัน 

     วันหนึ่งแอนเนลีสถูกลักพาตัวไป เอริก้าจึงต้องปลอมตัวเป็นเจ้าหญิง ขณะเดียวกันเมื่อแอนนาลีสหนีออกมาได้ เธอดันไปเจอกับเจ้าของร้านเสื้อผ้าที่เข้าใจผิดว่าเธอคือเอริก้า เจ้าหญิงจึงต้องกลายเป็นสาวผู้ยากไร้ชั่วคราว แม้จะสลับบทบาทกัน แต่การได้เป็นอีกคนหนึ่งก็ทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้ และช่วยกันวางแผนยับยั้งแผนการร้ายในพระราชวัง

     เรื่องนี้ถูกดัดแปลงจาก The Prince and the Pauper ผลงานของ ‘มาร์ก ทเวน’ นักเขียนชื่อดัง โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1881 เล่าถึงเด็กชายสองคนที่เกิดวันเดียวกันและมีหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ คนหนึ่งคือ ‘ทอม แคนที’ เด็กยากจนที่อาศัยกับพ่อติดเหล้า ส่วนอีกคนคือ ‘เอ็ดเวิร์ด ทิวดอร์’ เจ้าชายแห่งอาณาจักรเวลส์ ทั้งคู่ได้มาเจอกัน ตกลงแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า และเริ่มต้นออกเดินทางผจญภัยไปค้นพบตัวตนที่ซ่อนอยู่

บาร์บี้กับเวทมนตร์แห่งพีกาซัส
(Barbie and the Magic of Pegasus)

บาร์บี้กับเวทมนตร์แห่งพีกาซัส (Barbie and the Magic of Pegasus)

จากหนังสือ Mythology (Edith Hamilton)

     บาร์บี้กับเวทมนตร์แห่งพีกาซัส เล่าเรื่องของเจ้าหญิง ‘แอนนิก้า’ ผู้ถูก ‘แวนล็อก’ พ่อมดชั่วร้ายขอแต่งงาน เมื่อเธอปฏิเสธ เขาก็จัดการสาปให้พ่อแม่ของเธอกลายเป็นหิน แอนนิก้าได้รับความช่วยเหลือจากพีกาซัส (ม้าบินได้) พาเธอไปยังอาณาจักรแห่งเมฆหมอก และร่วมกันตามหาของสามสิ่งมาหลอมเป็นคทาแห่งแสงสว่าง เพื่อช่วยปลดปล่อยคำสาปร้าย

     จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ดัดแปลงจากหนังสือเล่มใดโดยตรง แต่เมื่อไปหาข้อมูลเราก็พบว่าเจ้าม้าพีกาซัสนั้นมีต้นกำเนิดจากตำนานปกรณัมกรีก ซึ่งมีเรื่องเล่าหลากหลายตำรา แต่เล่มที่เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายคือ Mythology ของ ‘เอดิท แฮมิลตัน’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1942

     เรื่องมีอยู่ว่า เดิมที ‘เมดูซ่า’ เคยเป็นสาวงามจน ‘โพไซดอน’ เทพแห่งท้องทะเลมาตกหลุมรัก และข่มขืนเธอในวิหารของ ‘อะธีนา’ เทพีแห่งสงครามผู้ยึดมั่นในพรหมจรรย์ พออะธีนารู้เข้าก็โกรธเลยสาปให้เมดูซ่าเป็นปีศาจที่มีงูยั้วเยี้ยบนหัว แถมจ้องตาใครคนนั้นก็กลายเป็นหิน (แล้วทำไมไม่ลงโทษอีผู้ชายต้นเรื่องบ้าง) 

     วันดีคืนดี ‘เพอร์ซิอุส’ วีรบุรุษในตำนานได้รับภารกิจให้มาสังหารเมดูซ่าซะ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากเหล่าเทพ จนเพอร์ซิอุสหั่นคอเมดูซ่าได้สำเร็จ พอถูกตัดหัว เจ้าม้าสีขาวมีปีกก็ผุดจากคอเมดูซ่าขึ้นมาจ๊ะเอ๋ จากนั้นพีกาซัสก็บินไปโผล่ในหลายตำนานของปกรณัมกรีก

     ป.ล. ว่ากันว่าพีกาซัสเป็นลูกของเมดูซ่ากับโพไซดอน เพราะนอกจากเป็นเทพแห่งท้องทะเลแล้ว เขายังเป็นผู้สร้างม้าอีกด้วย (อันนี้มีหลายตำนานมาก บ้างก็ว่าสร้างมาเป็นของขวัญให้สาว บ้างก็ว่าสร้างเพราะอยากชนะใจชาวเมืองในการแข่งกับเทพีอะธีนา)