Thu 14 Jul 2022

A KOREAN SELF-PORTRAIT READ THROUGH BEST SELLER

ภาพสะท้อนเกาหลีใต้ จากหนังสือยอดขายติดท็อป

     เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ สายตาของเราคงหนีไม่พ้นชั้นหนังสือขายดีติดอันดับ Best Seller ซึ่งนอกจากหนังสือบนชั้นจะบ่งบอกถึงความนิยมและความฮิตของเหล่านักอ่านในแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลาแล้ว การที่หนังสือเหล่านั้นติดอันดับ ยังสามารถสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น กระแส หรือเหตุการณ์ในสังคมตอนนั้นๆ ได้ด้วย 

     ช่วงนี้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสำหรับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเกาหลี (National Museum of Korean Contemporary History) มีการจัดแสดงนิทรรศการ ‘A Korean Self-portrait Read through Best-seller’ ที่เล่าถึงสังคมเกาหลีใต้ผ่านหนังสือ Best Seller

     อะไรที่ทำให้หนังสือขายดี? คำตอบคงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนชื่อดัง เนื้อหาสนุกน่าติดตาม หรือสามารถสะท้อนความรู้สึกร่วมบางอย่างของสังคม ดังนั้นการที่หนังสือขายดี คงไม่ใช่เพราะนักเขียนหรือสำนักพิมพ์อย่างเดียว แต่เพราะความคิดหรือความรู้สึกของผู้คนในตอนนั้นที่มีผลต่อยอดขายด้วย 

     ในโอกาสที่เราได้แวะเข้าไปดูการจัดแสดงนี้ และคิดว่าช่างเหมาะกับคอลัมน์ (K)ULTURE แบบสุดๆ  เราจึงเก็บภาพและการจัดแสดงในนิทรรศการมาให้ดูว่า เกาหลีใต้หลังได้รับเอกราชในปี 1945 มองภาพสังคมตัวเองผ่านหนังสือที่โด่งดังและเป็นที่นิยมในแต่ละยุคสมัยว่ายังไงบ้าง และหนังสือขายดีที่นิทรรศการนี้เปรียบว่าเป็น ‘กระจกแห่งกาลเวลา’ สะท้อนความปรารถนาร่วมกันของสาธารณชนในเกาหลีใต้ได้อย่างไร 

2 สุดยอดหนังสือขายดีของเกาหลี
เรื่องราวที่ถ่ายทอดความเป็นหญิงที่ไม่ตามขนบ และโรบินฮูดแห่งสังคมเกาหลี 

     เกาหลีใต้ในยุคหลังได้รับเอกราช หลังปี 1945 ถือเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก ทั้งยังไม่มั่นคงเพราะสงครามกับเกาหลีเหนือ และเป็นยุคที่ต้องสร้างชาติขึ้นมาใหม่ แต่ในระหว่างนั้น ชาวเกาหลีก็เสพสื่ออย่างหนังสือ และมีหนังสือที่ขายดีทะลุล้านเล่มด้วย 

     หนังสือสองเล่มที่นิทรรศการนำมาเสนอ ได้แก่ นิยาย Madame Freedom ของ จอง บีซอก (Jung Bi-seok) ที่ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดหนังสือขายดีหลังเกาหลีได้รับเอกราช ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Seoul Shinmun ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1954 จากนั้นก็มีการตีพิมพ์รวมเล่ม โดยเล่มที่ 1 ทำยอดขายได้มากถึง 3,000 เล่มในวันแรกที่ออกจำหน่าย และเมื่อเล่ม 2 ออกตามหลังมา ก็ทำยอดขายได้ดีไม่แพ้กัน จนทำให้ Madame Freedom กลายเป็นหนังสือเล่มแรกในเกาหลีที่มียอดขายมากกว่า 100,000 เล่มนับตั้งแต่เกาหลีเป็นเอกราช

     เนื้อหาของหนังสือบอกเล่าพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของโอ ซอนยัง หรือมาดามโอ ภรรยาของอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้มีไลฟ์สไตล์หรูหรา แต่กลับเข้าไปพัวพันกับผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ภายหลังเธอตัดสินใจทิ้งชีวิตคู่ตามขนบธรรมเนียมสังคมที่วางไว้ให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้านที่เชื่อฟังสามีหลังแต่งงาน ไปใช้ชีวิตของตัวเองในฐานะปัจเจกบุคคลแทน

     นิยายเรื่องนี้โด่งดังขนาดถูกนำไปสร้างภาพยนตร์และรีเมคมากถึงห้าครั้ง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสดราม่ามากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นการประณามนักเขียนว่า เป็นศัตรูของชาติเกาหลีเทียบเท่ากับกองทหารคอมมิวนิสต์ครึ่งล้าน ไปถึงกลุ่มสตรีที่กล่าวหาว่านักเขียนดูหมิ่นผู้หญิงทุกคนและสร้างความเสียหายต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีด้วย ถึงอย่างนั้น ก็ต้องบอกว่านิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอภาพรวมของสังคมเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 ประกอบไปด้วยค่านิยมบางอย่างที่ล้าสมัย และวิถีชีวิตแบบตะวันตกซึ่งเข้ามาผสมผสานกัน Madame Freedom จึงสะท้อนสังคมเกาหลีในขณะนั้นได้อย่างแท้จริง

     หนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่งคือ The Human Market นิยายที่เผยแพร่ลง Weekly Hankook ในปี 1980 ก่อนจะมีการรวมเล่มในปีต่อมา โดยนิยายขนาดยาวเรื่องนี้มี 2 ภาค ภาคละ 10 เล่ม ซึ่งหลังจากวางขายเล่มแรก ก็มียอดขายมากถึง 100,000 เล่มทันที และเมื่อเล่มที่ 7 วางขายในปี 1984 ก็ทำยอดขายรวมทะลุหนึ่งล้านเล่ม ซึ่งถือเป็นหนังสือเรื่องแรกที่ทำได้นับตั้งแต่มีการคิดค้นตัวอักษรเกาหลีขึ้นมา  โดยยอดขายรวมทั้ง 20 เล่มนั้นมีมากถึง 5.6 ล้านเล่ม ซึ่งความนิยมของนิยายเรื่องนี้นำไปสู่การผลิตทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ 

     เนื้อหาของ The Human Market ถูกมองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ร่วมสมัยของประเทศในช่วงนั้นและความปรารถนาร่วมกันของสาธารณชน โดยตัวเอกของเรื่อง จาง ชองชาน ผู้เป็นเหมือนฮีโร่ คอยจัดการความชั่วร้ายในสังคมที่มีแต่ความไร้ระเบียบและความอยุติธรรม การกระทำของเขากระตุ้นความรู้สึกของสาธารณชนที่แสวงหาพื้นที่ท่ามกลางความเป็นจริงที่กดขี่ ซึ่งบางคนเรียกเขาว่าเป็นฮง กิลดง (Hong Gil-dong หรือโรบินฮูดเวอร์ชั่นเกาหลี) ยุคใหม่ ซึ่งในช่วงเวลาที่นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่ยึดอำนาจและกดขี่ประชาชน จึงไม่แปลกที่ความโด่งดังของนิยายเรื่องนี้ จะสะท้อนถึงความต้องการของชาวเกาหลีในยุคนั้นด้วย

หนังสือที่สะท้อนเกาหลีใต้ยุคพัฒนาอุตสาหกรรม
และการเติบโตของเมือง

     จากประเทศยากจนกลายเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในยุค 1970 ซึ่งการเติบโตนี้มาจากการเร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีด้านมืดมากมายจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของแรงงานที่ถูกกดขี่ หรือกระแสของทุนนิยม ซึ่งหนังสือที่นิทรรศการยกมาเล่านั้น ต่างสะท้อนด้านมืดของการพัฒนาประเทศ และความรู้สึกของประชาชนในมุมที่แตกต่างกัน แต่ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงปัญหาสังคมและความปวดร้าวในเกาหลีหลังจากเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม

     หนึ่งในหนังสือขายดีในยุคนี้คือ Yeong-ja’s Heydays ของ โจ ซอนจัก (Jo Seon-jak) นิยายที่ตีพิมพ์ในปี 1974 เป็นเรื่องราวของ ยองจา สาวชนบทที่เข้ามาในโซล เริ่มทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน ก่อนจะผันตัวมาเป็นพนักงานขับรถโดยสาร และเสียแขนไปจากอุบัติเหตุ ทำให้เธอเลือกที่จะไปเป็นโสเภณีในย่านโคมแดง นิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนที่กลายเป็นคนชายขอบในสังคมท่ามกลางกระบวนการของการพัฒนาเศรฐกิจ อุตสาหกรรม และการขยายตัวของเมืองในยุคนั้น

     สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยในยุคพัฒนาอุตสหกรรมคือแรงงาน และหนังสือหลายเล่มในยุคนี้ก็มีคนงานเป็นตัวละครหลัก เช่น A Strange Land ของ ฮวาง ซอกยง (Hwang Sok-yong) ในปี 1971 ที่เล่าถึงสภาพของคนงานในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ Dwarf Launches a Little Ball โดย โช เซฮี (Cho Se-hui) ในปี 1978 ที่เล่าถึงโศกนาฏกรรมของคนแคระและครอบครัว ท่ามกลางการแบ่งแยกชนชั้นที่เกิดขึ้นในกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนถึงความลำบากที่คนจนในเกาหลีใต้ต้องเผชิญ โดยหลังสือเล่มนี้นอกจากจะขายดีทะลุล้านเล่มแล้ว ยังถูกนำไปผลิตเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และการแสดงดนตรีเชิงสร้างสรรค์ด้วย 

ยุคแห่งเผด็จการ และการเซนเซอร์
หนังสือขายดีที่ถูกรัฐบาลแบน

     ถ้าที่ไทยมีเหตุการณ์อ่านหนังสือหน้าห้างแล้วโดนจับ เกาหลีใต้ก็มียุคมืดของเผด็จการที่หนังสือและสำนักพิมพ์ถูกเซนเซอร์เช่นกัน โดยเฉพาะในยุค 1970 และ 1980 มีการตีพิมพ์หนังสือส่งเสริมความคิดวิพากษ์วิจารณ์พลเมืองและสังคมศาสตร์มากขึ้น

     นิทรรศการโซนนี้ใช้การเล่าเรื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เราหยิบแผ่นป้ายที่เป็นหน้าปกหนังสือมาหย่อนในช่อง ก่อนที่หน้าจอจะแสดงเรื่องย่อของหนังสือที่ถูกแบนในช่วงปี 1970-1990 โดยหนึ่งในสิ่งพิมพ์ที่ต้องพูดถึงเลยคือวารสาร Sasangge (World of Thought) ที่เริ่มตีพิมพ์ในปี 1953 และฉบับเดือนเมษายน 1960 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนเมษายน หรือขบวนการ 19 เมษายน การประท้วงครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีอี ซึงมัน (Rhee Syngman) จนนำไปสู่การลาออก มีการตีพิมพ์มากถึง 97,000 ฉบับ ถือเป็นวารสารที่ตีพิมพ์มากที่สุดของเกาหลีจนถึงเวลานั้น บทความของ Sasangge ยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการจนกระทั่งถูกระงับ และสั่งให้ปิดตัวลงในปี 1970 

     นอกจากวารสารแล้ว ยังมีหนังสือที่ถูกเรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องอ่านสำหรับปัญญาชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่าง Logic of the Transition Period (1974) โดย รี ยองฮี (Lee Young-hee) หนังสือที่พูดถึงหัวข้อต่างๆ เช่น สังคมนิยมจีนและสงครามเวียดนาม ตลอดจนความสัมพันธ์ของสหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนวิธีมองประวัติศาสตร์สมัยใหม่และสถานการณ์ระหว่างประเทศของผู้อ่านหลายคน แต่ก็ถูกขึ้นชื่อให้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม และผู้เขียนถูกจำคุกเนื่องจากละเมิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย

     แม้จะโดนแบน สั่งห้ามไม่ให้ผลิต แต่ก็ไม่สามารถหยุดประชาชนให้สนใจอ่านหนังสือได้ จนหนังสือเหล่านี้กลายเป็นหนังสือขายดีอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะรอบๆ มหาวิทยาลัย จนในเดือนพฤษภาคม ปี 1985 รัฐบาลถึงกับประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับการปราบปรามสำหรับ ‘สิ่งพิมพ์ยุยงปลุกปั่น’ กว่า 300 ประเภท ซึ่งรวมถึงหนังสือเชิงอุดมคติและแผ่นพับ รวมถึงมีการจับกุมนักเขียนและจัดเข้าอยู่ในรายชื่ออาชญากรที่ต้องการ ในปีต่อมา ตำรวจยังบุกเข้าไปในร้านหนังสือสังคมศาสตร์ 14 แห่งที่ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยในกรุงโซล ยึดหนังสือ 51 รายการ (มากกว่า 1,200 เล่ม) และจับกุมเจ้าของร้านหนังสือ 9 ราย

     จากข้อมูลในช่วงปี 1982-1992 มีผู้ผลิตหรือเจ้าของร้านหนังสือกว่า 110 รายถูกจับกุม ทางการสั่งห้ามและยึดหนังสือมากกว่า 1,300 รายการ รวมทั้งหมดประมาณ 3 ล้านเล่ม

ชั้นวางหนังสือของ ‘มนุษย์เงินเดือน’ 
ยุคแห่งหนังสือด้านเศรษฐกิจและไลฟ์โค้ช

     ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมการอ่านสมัยใหม่ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีที่ก้าวกระโดดหลังยุค 1980 หนังสือในหมวดการพัฒนาตนเองอย่างหนังสือเศรษฐศาสตร์ การจัดการธุรกิจ การใช้ชีวิตได้รับความนิยมอย่างมาก 

     หนังสือขายดีส่วนใหญ่เป็นหนังสือของนักธุรกิจที่มาเล่าประสบการณ์และการประสบความสำเร็จ เช่น Iacocca: An Autobiography (1985) หนังสืออัตชีวประวัติของ CEO แห่ง Ford และ Chrysler ซึ่งเป็นไอดอลของคนงานในสหรัฐฯ หรือหนังสืออัตชีวประวัติของ Hoam ในปี 1986 หนังสือที่เล่าถึงเรื่องราวของลี บยองชอล ประธานบริษัท Samsung และ In the Morning with a Beating Heart (1986) หนังสือรวมคำปราศรัยของชอง จูยอง (Chung Ju-yung) ประธานบริษัท Hyundai ของเกาหลีใต้ด้วย 

     นอกจากอัตชีวประวัติของเหล่านักธุรกิจแล้ว ในยุคนี้หนังสือนิยายเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ก็ขายดีด้วย แม้จะเป็นนวนิยาย แต่ตัวละครเหล่านั้นต่างก็มีข้อคิดและคำสอนในการพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ เช่น ทงอีโบกัม (1990) โดย อี อึนซอง (Lee Eun-sung) ที่เล่าเรื่องของ ฮอจุน เด็กชายเกิดจากสนมที่ต่ำต้อย แต่สามารถไต่เต้าจนกลายเป็นข้าราชการอันดับ 1 ของโชซอนได้

     จากหนังสือสายสังคมค่อยๆ กลายมาเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความนิยม พร้อมๆ กับหนังสือการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ จากกระแสโลกาภิวัตน์ ชาวเกาหลีเริ่มสนใจหนังสือฝึกสนทนาภาษาอังกฤษและหนังสือเกี่ยวกับวิธีใช้คอมพิวเตอร์ที่ขายดีมากในช่วงยุค 1990 ทั้งหลังวิกฤตการณ์เงิน IMF ในเกาหลีใต้ ที่ส่งผลให้ประเทศต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศ ประชาชนต่างตกงาน หนังสือที่ขายดีก็คือหนังสือด้านการเงินอย่าง Rich Dad Poor Dad (1997) โดย โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) และ ชารอน เลชเตอร์ (Sharon Lechter) รวมไปถึง Who Moved My Cheese (2000) โดย สเปนเซอร์ จอห์นสัน (Spencer Johnson) ที่เสนอวิธีการอยู่รอดในตลาดงานที่มีการแข่งขันอย่างมาก

     นอกจากการแบ่งหนังสือและสิ่งพิมพ์ในเกาหลีที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่าน 4 ช่วงแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีชั้นวางหนังสือที่โชว์หนังสือขายดีตั้งแต่ปี 1945 ให้เราได้ดูผ่าน transparent displays ที่เคลื่อนย้ายได้ โดยเมื่อเราเลื่อนจอไปบนหนังสือหรือนิตยสาร ก็จะมีรายละเอียดต่างๆ ปรากฏขึ้นมา เช่น เนื้อหาในนิตยสาร ปกของแต่ละปี เป็นต้น อีกทั้งก่อนจะออกจากงานยังมีมุมให้เขียนโพสต์อิทแสดงความเห็น และกดรับที่คั่นหนังสือที่มีโควตจากหนังสือด้วย 

     หนังสือที่เรายกมาเล่านี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สำหรับใครที่สนใจไปดูนิทรรศการนี้เต็มๆ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสำหรับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเกาหลี (National Museum of Korean Contemporary History) ซึ่งเป็นห้องนิทรรศการแบบถาวร โดยนอกจากนิทรรศการนี้แล้ว ยังมีห้องอื่นๆ ที่เล่าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเกาหลีใต้ สามารถเดินทางไปได้ด้วยรถไฟฟ้า Line 5 สถานี Gwanghwamun ทางออก 2 และ Line 3 หรือสถานี Gyeongbokgung ทางออก 6 และเดินต่อมาประมาณ 500 เมตร