Sat 25 Dec 2021

The Anatomy of Thai Books Cover

สำรวจปกหนังสือไทยในรอบปี 2021

ภาพ: NJORVKS

     ปกหนังสือก็เหมือนเสื้อผ้าหน้าผม ถ้ามีออร่าความส๊วยยยย! ลุคปัง เฉี่ยวๆ คมๆ เราก็ต้องหันไปชำเลืองมองเป็นธรรมดา ส่วนจะพากลับบ้านหรือไม่ ก็ให้เป็นเรื่องหัวใจที่สมพงศ์กัน (แต่ก็มีอยู่บ่อยๆ ที่จ่ายเงินซื้อเพราะปกล้วนๆ เลย แหะๆ)

     เพราะปกหนังสือมันสำคัญ เดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ในไทยเลยห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด เราจึงคันมืออยากสำรวจว่าภาพรวมปกหนังสือไทยในปี 2021 เป็นยังไง โทนสี องค์ประกอบ คอมโพส ฟอนต์แบบไหนที่ใช้กันบ่อยๆ บ้าง 

     สแกนเสร็จแล้วก็อย่าลืมกดใส่ตะกร้า เตรียมซื้อฉลองปีใหม่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวสำนักพิมพ์ นักเขียน และนักออกแบบกันด้วยนะะะะ : )

หมายเหตุ: ข้อมูลที่ใช้เกิดจากการสุ่มเลือกหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2021 จาก 6 สำนักพิมพ์และชาร์ตหนังสือขายดีรวมทั้งหมด 60 เล่ม

1

องค์ประกอบหลัก

     เริ่มต้นที่องค์ประกอบบนหน้าปก เราพบว่าหนังสือส่วนใหญ่จะใช้กราฟิกเป็นหลัก ส่วนภาพถ่ายลดลงเยอะมาก อาจเพราะหนังสือประเภทอัตชีวประวัติที่มักใช้รูปเจ้าของเรื่อง และหนังสือท่องเที่ยวที่มักใช้ภาพถ่ายวิวทิวทัศน์มีไม่มากเท่าแต่ก่อน

     ส่วนโทนสีไม่ทิ้งห่างกันมาก (แม้ตอนแรกเราจะแอบเดาว่าปีนี้โทนร้อนจะมาแรง) ที่น่าสนใจคือจาก 60 เล่มที่เราสุ่มมานั้นมี ‘คน’ เป็นส่วนหนึ่งของปกถึง 29 เล่ม บางเล่มก็มาแบบเต็มตัว บางเล่มมาแค่ครึ่งตัว ส่วนน้องสัตว์กลับพบไม่กี่เล่ม โดยผู้ครองอันดับหนึ่งบนปกคือ ‘แมว’ กับ ‘นก’

2

ชื่อหนังสือ

     ลำดับต่อมาที่อยากชวนสำรวจคือ ชื่อหนังสือ พบว่าหากแบ่งหน้าปกออกเป็นสามส่วน ตำแหน่งยอดฮิตที่ใช้วางชื่อหนังสือคือ ส่วนบน ถ้าให้เดาก็คงเพราะเป็นตำแหน่งแรกที่คนอ่านจะไล่สายตาเจอ 

     น่าเสียดายที่เราไม่สามารถรวบรวมภาพสันหนังสือได้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำนักพิมพ์ในปัจจุบันให้ความสำคัญไม่น้อย เพราะการจัดวางในร้านหนังสือที่โชว์สันมากกว่าหน้าปกนั่นเอง

     ส่วนฟอนต์ Sans-serif (ฟอนต์แบบไม่มีหัว) ก็ครองอันดับหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งความอ่านง่าย ดูทันสมัย แต่ฟอนต์แบบ Serif (ฟอนต์แบบมีหัว) ก็ไม่ได้ทิ้งห่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนหนังสือแปลที่มากขึ้น เมื่อใช้ฟอนต์แบบมีหัวกับชื่อภาษาอังกฤษแล้ว หลายครั้งก็ดูลงตัว และไม่ได้ดูเคร่งขรึม เมื่อเทียบกับการใช้ฟอนต์ Serif ในภาษาไทย

3

ตำแหน่งโลโก้สำนักพิมพ์

     ปิดท้ายด้วยตำแหน่งโลโก้สำนักพิมพ์ ผลค่อนข้างเป็นเอกฉันท์คือมุมซ้ายบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สายตาผู้อ่านจะพบเป็นสิ่งแรก 

     อีกเหตุผลหนึ่งอาจมาจากหลักการวางโลโก้ด้วยวิธีคิดแบบคนทำนิตยสาร ให้ลองนึกภาพแผงขายนิตยสารสมัยก่อน รูปแบบการวางมักจะเป็นการวางซ้อนกันเป็นแถวหน้ากระดาน เมื่อวางที่มุมซ้ายบนก็จะไม่ถูกบดบังด้วยนิตยสารเล่มอื่นนั่นเอง (แม้ว่าการวางขายหนังสือในร้านมักจะเป็นการโชว์ปกหรือโชว์สันหนังสือมากกว่า)

     ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่มาเป็นลำดับสองคือ ไม่ใส่โลโก้บนหน้าปกเลย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจนำไปวางที่สันหนังสือกับปกหลังแทน ทั้งนี้ก็น่าคิดกันต่อไปว่าการไม่มีโลโก้สำนักพิมพ์บนหน้าปกนั้นส่งผลอย่างไรบ้าง ในมุมคนอ่านมองว่าจำเป็นไหมที่จะต้องรู้ว่าหนังสือนี้ทำโดยสำนักพิมพ์ใด แล้วในมุมของสำนักพิมพ์ล่ะ การบอกกล่าวตัวตนยังจำเป็นอยู่หรือไม่

     ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลบางส่วนที่เรารวบรวมมา ปีหน้าฟ้าใหม่จะมีปกหนังสือสวยๆ จากสำนักพิมพ์ไหนให้พวกเราชื่นชม และรับเข้าสู่กองดองอีกบ้าง มารอติดตามกันไปพร้อมๆ เถอะพวกเรา! (กำหมัดและแหงนมองท้องฟ้าด้วยสายตามุ่งมั่น)