Fri 21 Jan 2022

CURRENTLY READING

ไดอารี่ของบริดเจ็ท โจนส์: Bridget Jones’s Diary โดย Helen Fielding

เรื่อง: suthasinee sutthaso

ภาพ: NJORVKS

ไดอารี่ของบริดเจ็ท โจนส์: Bridget Jones’s Diary
Helen Fielding เขียน
พลอย จริยะเวช แปล
สำนักพิมพ์ อิมเมจ

     แด่ความรักที่เรามีให้กับนางสาวบริดเจ็ท โจนส์ มานานแสนนานกับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ทั้งสามภาคก่อนหน้านี้ ปลายเดือนธันวาคมส่งท้ายปี 2021 จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะใช้ช่วงวันหยุดไปกับการนั่งอ่านหนังสือ ‘ไดอารี่ของบริดเจ็ท โจนส์’ เพื่อฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ 2022 พ่วงด้วยจุดเปลี่ยนชีวิตของเราจากวัยเรียนก้าวสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัวเสียที (ขอปาดเหงื่อล่วงหน้า)

     หนังสือเล่าเรื่องราวของ ‘บริดเจ็ท โจนส์’ หญิงสาวผู้วาดฝันชีวิตในวัย 30 ปีว่าเธอจะต้องได้ทำงานที่อยากทำ มีความก้าวหน้าในชีวิต ที่สำคัญคือต้องหารักแท้เพื่อที่จะได้แต่งงานสร้างครอบครัวด้วย โจนส์ทำงานในสำนักพิมพ์ซึ่งมีเจ้านายอย่าง ‘ดาเนียล คลีเวอร์’ ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่เธอมักฝันหวานว่าสักวันจะได้คบกับเขา วันหนึ่งเธอเดินเข้ามาทำงานพร้อมกระโปรงตัวใหม่สุดมั่น ที่ทำเอาหนุ่มในฝันถึงกับต้องส่งอีเมลมาทักเรื่องกระโปรง ก่อนจะจีบกันต่อด้วยคำพูดสุดแสนจะลามก แต่สำหรับเธอแล้วมันช่างตื่นเต้นเร้าใจเสียเหลือเกิน ไม่นานนักโจนส์ก็ได้คบกับคลีเวอร์สมดั่งฝัน แต่ฝันหวานครั้งนี้กลับอยู่ได้ไม่นานเมื่อตัวละครใหม่อย่าง ‘มาร์ค ดาร์ซี’ ทนายหนุ่มหัวก้าวหน้าที่แม่ของเธอพยายามจะจับคู่ให้นั้นได้ก้าวเข้ามาในชีวิตเธอ โจนส์จึงต้องเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับผู้ชายสองคน ทำเอาต้องขอหนีไปพึ่งแอลกอฮอล์กับบุหรี่อีกหลายๆ มวนเลยทีเดียว

     ในส่วนของการเล่าเรื่องแม้จะเป็นแบบไดอารี่ แต่เราบอกเลยว่าด้วยลักษณะนิสัยเปิ่นๆ ความโก๊ะแบบออกนอกหน้าของโจนส์ รวมถึงมุกตลกเสียดสีซึ่งจิกกัดสังคมได้อย่างสนุก และเฉียบคมจนเหลือเชื่อ ก็ทำให้การอ่านไม่น่าเบื่อเลยสักนิด นอกจากนี้สิ่งที่เราชอบคือโจนส์เป็นตัวละครที่มีความธรรมดามากๆ เบื่อ เหงา เศร้า และขี้แงในบางที ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอได้จริงในชีวิตหรือแม้กระทั่งในตัวเราเองนี่แหละ 

     โจนส์ต้องเผชิญหน้ากับค่านิยมทางสังคมที่ทำให้เธอสับสนอยู่ตลอดเวลา แถมยังเป็นพวกผลัดวันประกันพรุ่ง อีกทั้งไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาจนเป็นเหตุให้ต้องชั่งน้ำหนัก นับแคลอรี่ ไปจนถึงนับจำนวนบุหรี่ที่สูบ แอลกอฮอล์ที่ดื่มในแต่ละวันด้วย (ซึ่งเธอก็ไม่เคยลดละเลิกได้) ที่สำคัญคือเธอเป็นผู้หญิงโสดท่ามกลางสังคมอังกฤษที่เต็มไปด้วยคนที่แต่งงานแล้ว มิหนำซ้ำยังมีแม่และญาติๆ ที่ยังยึดติดกับความคิดเก่าๆ อย่าง ‘สิ่งสำคัญของผู้หญิงคือแต่งงานและมีลูกก่อนอายุ 30 ปี’ ที่ทำเอาเธอแทบจะกรีดร้องทุกครั้งเมื่อมีการรวมญาติ เพราะทุกคนล้วนแต่เข้ามาไถ่ถามและแสดงความเห็นที่มากจนเกินไปกับชีวิตของเธอ

     อย่างไรก็ตาม โจนส์ก็ไม่เคยละทิ้งตัวตน เธอรู้เป้าหมายและความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน เธอพยายามที่จะต่อสู้กับค่านิยมคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยการยืนหยัดที่จะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องฉลองปีใหม่ไปกับการเปิดเพลงโปรดดังๆ และนั่งดื่มไวน์เพียงลำพังตามฉบับคนโสด แต่เธอก็ไม่เคยถอยหลังให้กับชีวิต ตลอดทั้งเล่มตัวละครโจนส์เปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะปฏิวัติค่านิยมและความเชื่อของชาวลอนดอนมาตลอด โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความรักและความสัมพันธ์’  เธอมักจะบอกคนอื่นๆ เสมอว่า แค่มีงานที่ดีและมีเพื่อนให้นั่งคุยนั่งดื่ม ก็ทำให้การมีชีวิตโสดๆ แบบนี้มีความสุขได้ และที่สำคัญเธอเชื่อว่า ผู้หญิงอย่างเราสามารถเติมเต็มและออกแบบชีวิตที่ลงตัวในแบบฉบับของตัวเองได้อีกด้วยนะ

     ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องรักสามเศร้าของเราสามคน แต่มันคือเรื่องราวที่เชิญชวนให้ผู้อ่านเข้ามาสำรวจอีกแง่มุมของชีวิตผู้หญิง ซึ่งมีทั้งความวิตกกังวล และความรู้สึกนึกคิดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แม้เราและเธอจะอายุห่างกันพอสมควร แต่มันก็เหลือเชื่อที่เราสามารถเข้าใจกันและกัน แถมยังได้ไฟในการเดินหน้าวาดฝันชีวิตที่อาจจะมีน้ำขึ้นน้ำลงบ้าง แต่นั่นก็ถือเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในแบบของตัวเองอย่างที่โจนส์พยายามจะบอกผู้อ่านนั่นแหละ