Thu 15 Apr 2021

BUNGO STRAY DOGS

การ์ตูนที่ได้แรงบันดาลใจการสร้างตัวละครจากนักเขียนที่มีอยู่จริง

ภาพ: ms.midsummer

     เมื่อไม่กี่วันก่อน เรานั่งดู ‘BUNGO STRAY DOGS’ อยู่ในออฟฟิศช่วงพักกลางวัน (ขอย้ำคำว่าพักกลางวันเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์) อยู่ดีๆ หัวหน้าก็โผล่มาข้างหลังแล้วถามว่า “ว่างมากเหรอ” …อะ ล้อเล่นขำๆ สะเก็ดด๊าวววว… จริงๆ แล้วหัวหน้าที่เคารพรักถามว่า “นี่ใช่การ์ตูนที่ใช้ชื่อนักเขียนเป็นตัวละครหรือเปล่า” เราเลยเบิกเนตรว้าวขึ้นมาทันที ที่แท้ที่รู้สึกตงิดใจกับชื่อตัวละครมานานก็เพราะเหตุผลนี้นี่เอง  

     ‘BUNGO STRAY DOGS’ หรือชื่อไทยคือ ‘คณะประพันธกรจรจัด’ เป็นการ์ตูนแนวแอ็กชั่นโชเน็นที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนผู้มีพลังพิเศษในเมืองโยโกฮามา โดยเส้นเรื่องหลักเป็นการต่อสู้ระหว่างสำนักงานนักสืบบุโช—องค์กรที่จะคอยไขคดีเหนือมนุษย์ที่เหล่าตำรวจธรรมดาทำไม่ได้ กับแก๊งพอร์ตมาเฟีย—ศูนย์รวมนักฆ่าผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกใต้ดิน 

     แต่ด้วยคำว่า BUNGO หรือ บุงโก ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ‘นักเขียนงานวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่’ ดังนั้นความพิเศษของการ์ตูนเรื่องนี้ คือการที่เหล่าตัวละครในเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากนักเขียนที่มีอยู่จริงๆ ซึ่งหลายคนก็เป็นที่คุ้นหูคุ้นตานักอ่านบ้านเราด้วยนะ! 

     ด้วยความอินและประทับใจในความเนิร์ดนี้ เราจึงไปทำการเสาะหาหนังสือที่น่าสนใจของบรรดานักเขียนผู้เป็นต้นฉบับของคาแรกเตอร์ในเรื่องมาแนะนำ จะมีเรื่องไหนของใครบ้างมาดูกันเลยจ้า 

     ป.ล. ‘BUNGO STRAY DOGS’ เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันมีการตีพิมพ์มังงะถึงเล่มที่ 20 (ฉบับภาษาไทยมีถึงเล่ม 14 โดยสำนักพิมพ์ Luckpim) และดัดแปลงเป็นอนิเมะในปี 2016 มีทั้งหมด 36 ตอน สามารถหาดูแบบแปลไทยถูกลิขสิทธิ์ได้ทางเน็ตฟลิกซ์ 

ดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu)

     ‘ดะไซ โอซามุ’ ชายหนุ่มผู้พยายามฆ่าตัวตายบ่อยๆ และมีความฝันอันสูงสุดคือการได้ตายไปพร้อมกับสาวงามสักคน ในอดีตเขาเคยเป็นผู้บริหารของพอร์ตมาเฟีย ปัจจุบันผันตัวมาอยู่ในสำนักงานนักสืบบุโช มีความสามารถพิเศษเรียกว่า นิงเง็งชิคากุ (Ningen Shikkaku / 人間失格) หรือสูญสิ้นความเป็นคน คือการลบล้างพลังของผู้อื่นผ่านการสัมผัส

     คาแรกเตอร์ตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘ดะไซ โอซามุ’ (Dazai Osamu, 1909-1948) หนึ่งในนักเขียนชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 เขาเป็นเจ้าของวรรณกรรมคลาสสิกสุดโด่งดังหลายเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเล่าถึงการไปสำรวจด้านมืดของจิตใจ เขาเป็นแฟนคลับตัวยงของ ‘อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ’ นักเขียนยอดฝีมืออีกคน ดะไซในชีวิตจริงประสบปัญหาหลายอย่าง ทั้งติดเหล้า มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคน และพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง กระทั่งปี 1948 ก็มีคนพบร่างของเขากับคนรักจมอยู่ในแม่น้ำทามากาวะ 

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

สูญสิ้นความเป็นคน (No Longer Human)

ดะไซ โอซามุ (เขียน) พรพิรุณ กิจสมเจตน์ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     นวนิยายกึ่งชีวประวัติของดะไซที่เล่าผ่านตัวละคร ‘โอบะ โยโซ’ เปลือกนอกของเขาคือชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมด้วยหน้าตาและฐานะ แต่ภายในนั้นกลับเต็มไปด้วยความเศร้าโศก เขาใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามและดำดิ่งลงไปค้นหาคำตอบถึงก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ โดยประเด็นในผลงานชิ้นเอกเล่มนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังพิเศษของดะไซเวอร์ชั่นการ์ตูนด้วย

อาทิตย์สิ้นแสง (The Setting Sun)

ดะไซ โอซามุ (เขียน) พรพิรุณ กิจสมเจตน์ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     นวนิยายที่มีฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นำพาความบอบช้ำแพร่สะพัดไปทั่วทุกแห่ง หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องผ่านบันทึกประจำวันของ ‘คาสุโกะ’ หญิงสาวจากตระกูลชนชั้นสูงที่ตกอับด้วยพิษสงคราม แต่เธอก็ยังอยากมีชีวิตรอดต่อไป 

เมียชายชั่ว (Villon’s Wife)

ดะไซ โอซามุ (เขียน) พรพิรุณ กิจสมเจตน์ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     ผลงานรวมเรื่องสั้น 6 เรื่องสะท้อนการมีชีวิตอยู่ของตัวละครในยุคสงคราม อีกทั้งยังสอดแทรกมุมมองที่ดะไซมีต่อหญิงสาวที่วนเวียนอยู่รอบตัวของเขาด้วย

เอโดะงาวะ รัมโป (Edogawa Ranpo)

     ‘เอโดะงาวะ รัมโป’ นักสืบอัจฉริยะแห่งสำนักงานนักสืบบุโช แม่้ความจริงแล้วรัมโปจะไม่มีพลังพิเศษเหมือนคนอื่นๆ แต่ความสามารถในการวิเคราะห์และไขปริศนาได้อย่างรวดเร็วที่เรียกว่า การสุดยอดการสันนิษฐาน (Cho suiri / 超推理) ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลังพิเศษเช่นกัน 

     ‘เอโดะงาวะ รัมโป’ (Edogawa Ranpo) เป็นนามปากกาของ ‘ฮิราอิ ทาโร’ (Hirai Taro, 1894-1965) นักเขียนผู้เป็นต้นแบบนิยายแนวสืบสวนสยองขวัญของญี่ปุ่น ผลงานด้านวรรณกรรมมีทั้งแบบเรื่องสั้นและเรื่องยาว รัมโปมักจะเน้นไปที่การบรรยายพฤติกรรมตัวละครและการฆาตกรรมที่สยดสยองเพื่อกระตุ้นบรรยากาศในการอ่าน ชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นรางวัลเอโดะงาวะ รัมโป รางวัลใหญ่ในวงการวรรณกรรมแนวไขรหัสคดีของญี่ปุ่นที่จะมอบให้กับนักเขียนหน้าใหม่ และถูกนำไปใช้เป็นนามสกุลของ ‘เอโดะงาวะ โคนัน’ เจ้าหนูยอดนักสืบที่ดูกันทุกบ้านในเวลาต่อมา

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

สยองขวัญ (Japanese Tales of Mystery & Imagination)

เอโดะงาวะ รัมโป (เขียน) ปริฉัตร เสมอแข, ผุสดี นาวาวิจิต (แปล)

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

     8 เรื่องสั้นสุดสยองขวัญที่ไม่มีผีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดำเนินเรื่องด้วยความคิดอันบิดเบี้ยวและความลุ่มหลงในบางสิ่งของมนุษย์เป็นหลัก เล่าอย่างกระชับฉับไว นำไปสู่บทสรุปตอนท้ายที่คาดเดาไม่ได้เลยสักตอน

เกาะปีศาจฆาตกรรม (The Demon of the Lonely Isle)

เอโดะงาวะ รัมโป (เขียน) ฉวีวงศ์ อัศวเสนา (แปล)

สำนักพิมพ์ JClass

     นวนิยายแฝงประเด็นรักเพศเดียวกันผ่านการสืบสวนคดีฆาตกรรมบนเกาะปีศาจ เรื่องราวของ ‘มิโนะอุระ’ ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมปริศนา เขาได้รับความช่วยเหลือจาก ‘มิชิโอะ’ รุ่นพี่คนสนิทที่กำลังมีความสัมพันธ์ลับๆ กันอยู่ พวกเขาทั้งสองจึงต้องเดินทางไปเกาะลึกลับที่ห่างไกลจากชายฝั่งเพื่อสืบหาความจริง

ฆาตกรรมบนเนิน D (The Case of the Murder on D. Hill)

เอโดะงาวะ รัมโป (เขียน) อรรถ บุนนาค (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     หนึ่งในซีรีส์ยอดนักสืบ ‘อาเคจิ โคโกะโร’ โดยเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นเปิดตัวโคโกะโร ชายหนุ่มผู้สนใจเรื่องลึกลับ มีความรอบรู้รอบด้าน และมีไหวพริบปฏิภาณในการวิเคราะห์คดีอันแหลมคม จนสามารถไขปริศนาคดีฆาตกรรมที่ตัวเขาเองก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ 

อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (Akutagawa Ryunosuke)

     ‘อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ’ เป็นหนึ่งในสมาชิกของพอร์ตมาเฟีย เขามีพลังพิเศษชื่อว่า ราโชมอน (Rashomon / 羅生門) ซึ่งจะเปลี่ยนปลายผ้าคลุมสีดำที่อะคุตะงาวะสวมใส่เป็นประจำให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่สามารถทิ่มแทงได้ทุกอย่าง 

     อีกหนึ่งนักเขียนคนสำคัญในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น ด้วยผลงานเรื่องสั้นกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเรื่องที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ โดยเน้นที่ความน่ากลัว สยองขวัญ แปลกประหลาด และสะท้านอารมณ์คนอ่าน ทำให้ ‘อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ’ (Akutagawa Ryunosuke, 1892-1927) ได้รับการยกย่องให้เป็นราชาเรื่องสั้น และกลายเป็นนักเขียนต้นแบบให้ใครหลายๆ คน รวมไปถึง ‘ดะไซ โอซามุ’ นอกจากนี้ชื่อของเขายังเป็นที่มาของชื่อรางวัลอะคุตะงาวะที่จะมอบให้กับนักเขียนวรรณกรรมรุ่นใหม่ด้วย

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ (Rashomon and Other Stories)

อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (เขียน) มณฑา พิมพ์ทอง และคณะ (แปล)

สำนักพิมพ์สมมติ

     หนังสือรวม 5 เรื่องสั้นที่เป็นหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซของอะคุตะงาวะ มีความโดดเด่นด้านการดำเนินเรื่อง และมีความเป็นสากลมาก โดยเฉพาะเรื่อง ‘ราโชมอน’ ที่สะท้อนความดำมืดในจิตใจ และแสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็พร้อมที่จะฉีกกระชากผู้อื่นให้ตกต่ำลงมาเสมอ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกพัฒนาต่อเป็นพลังของอะคุตะงาวะในฉบับการ์ตูนด้วย 

     อีกทั้งเรื่อง ‘ราโชมอนและในป่าไผ่’ อะคุตะงาวะยังได้นำเอาเค้าโครงเรื่องโบราณผสมผสานกับองค์ประกอบอื่นๆ ขึ้นมาใหม่ ทั้งสองเรื่องนี้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นชื่อ ราโชมอน (Rashomon, 1950) และภาพยนตร์ไทยเรื่อง อุโมงค์ผาเมือง (2011) ด้วย

ขัปปะ

อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (เขียน) กัลยาณี สีตสุวรรณ (แปล)

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

     เมื่อคนไข้ประจำห้องหมายเลข 23 เล่าเรื่องที่ตัวเองไปติดอยู่ในเมืองสมมติและกลายเป็น ‘ขัปปะ’ สัตว์น้ำในตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น ผลงานเรื่องสั้นขนาดยาวที่เสียดสีสังคมมนุษย์ด้วยความตลกขบขัน ซึ่งบางประเด็นในเรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกับชีวิตจริงของอะคุตะงาวะด้วย

ทานิซากิ จุนอิจิโร่ (Tanizaki Junichirou)

     ‘ทานิซากิ จุนอิจิโร่’ พนักงานธุรการประจำสำนักงานนักสืบบุโช ปัจจุบันอาศัยอยู่กับ ‘ทานิซากิ นาโอมิ’ ผู้เป็นน้องสาว จุนอิจิโร่สามารถใช้พลังพิเศษอณูหิมะอำพราง (Sasameyuki / 細雪) เพื่อปกปิดหรือสร้างสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นภาพลวงตาได้

     ‘ทานิซากิ จุนอิจิโร่’ (Tanizaki Junichirou, 1886-1965) คือนักเขียนระดับแนวหน้าในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ งานเขียนของเขาสะท้อนสังคมญี่ปุ่นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมไปถึงยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้เขายังเป็นบุรุษผู้หลงใหลในเรือนร่างของสตรี เขามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงสาวหลายคน และมักนำสิ่งเหล่านั้นมาใส่ในนิยายอยู่เสมอ ผลงานที่โดดเด่นของทานิซากิจึงเป็นแนวที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลุ่มหลงมัวเมาในความรักเป็นหลัก อีกทั้งความสามารถด้านการประพันธ์ยังทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลอีกหลายครั้งด้วย

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

รักของคนเขลา

ทานิซากิ จุนอิจิโร่ (เขียน) พรพิรุณ กิจสมเจตน์ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     เรื่องราวความรักต่างวัยของ ‘คาวาอิ โจจิ’ หนุ่มผู้ตั้งใจจะชุบเลี้ยง ‘นาโอมิ’ เด็กสาววัยสะพรั่งให้เป็นหญิงสาวเต็มตัว ผลงานสุดโดดเด่นและวาบหวามของทานิซากิเล่มนี้สะท้อนให้เห็นความมืดบอดในความรัก และวิถีชีวิตชาวโยโกฮามาที่มีการผสมผสานแนวคิดตะวันตกร่วมกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้คาดว่าตัวละครนาโอมิในนิยายเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับชื่อน้องสาว ทานิซากิ นาโอมิ ในเวอร์ชั่นการ์ตูนด้วย

บันทึกของชายเฒ่า

ทานิซากิ จุนอิจิโร่ (เขียน) สุดาพร (แปล)

สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ

     นวนิยายที่เล่าเรื่องผ่านบันทึกของ ‘อัทสึงิ โทคุสึเกะ’ ชายชราวัย 77 ปีผู้ทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย ความรื่นรมย์เดียวในชีวิตที่เหลือมีเพียง ‘ซัทสึโกะ’ ลูกสะใภ้ของเขาเอง เรื่องราวภายในเล่มจึงเป็นความย้อนแย้งระหว่างตัณหาที่พลุ่งพล่านกับร่างกายที่ใกล้แตกดับ

แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน

ทานิซากิ จุนอิจิโร่ (เขียน) อรรถ บุนนาค (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     ‘โชโซ’ จำใจต้องเข้าไปพัวพันกับความสัมพันธ์สุดชุลมุน เมื่อ ‘ฟุคุโกะ’ ภรรยาใหม่ปะทะกับ ‘ชินาโกะ’ ภรรยาเก่า โดยมี ‘ลีลี่’ แมวสุดที่รักเป็นชนวนของปัญหา เกิดเป็นเรื่องราวรักสามเส้าของสองหญิง หนึ่งชาย กับแมวอีกหนึ่งตัว 

นัตสึเมะ โซเซกิ (Natsume Soseki)

     ‘นัตสึเมะ โซเซกิ’ คือผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งสำนักงานนักสืบบุโช และเป็นอดีตอาจารย์ของหัวหน้าสำนักงานนักสืบและพอร์ตมาเฟียคนปัจจุบัน มีพลังพิเศษในการแปลงร่างกลายเป็นแมว (Wagahai wa Neko de Aru / 吾輩は猫である

     ‘นัตสึเมะ โซเซกิ’ (Natsume Soseki, 1867-1916) ผู้เบิกม่านวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ เขาได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ งานเขียนของโซเซกิจึงมีการสอดแทรกวัฒนธรรมต่างชาติร่วมกับการวิพากษ์สังคม โซเซกิถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานโด่งดังทั้งในประเทศและนอกประเทศ และมีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ’

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว (I Am a Cat)

นัตสึเมะ โซเซกิ (เขียน) ชัญพัส วรศักดิ์ (แปล)

สำนักพิมพ์กำมะหยี่

     นวนิยายเรื่องแรกของโซเซกิที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในยุคเมจิ สะท้อนวิถีชีวิตและเสียดสีสังคมผ่านสายตาของแมวตัวหนึ่ง บางพฤติกรรมที่มนุษย์มองว่าแสนปกติ อาจดูขำขันและแสนประหลาดในสายตาของน้องเหมียวก็เป็นได้ 

ฝันสิบราตรี (Ten Nights of Dreams)

นัตสึเมะ โซเซกิ (เขียน) น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ, ปฐมพร แย้มสุขเสรี, พิมพิชา วานิชศิริโรจน์, สายัณห์ ทิพรส และ กัลยาทรรศน์ วงษ์จันทร์ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     ผลงานรวมเรื่องสั้นที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับความฝัน เริ่มเล่าตั้งแต่คืนที่หนึ่งไปจนถึงคืนที่สิบ โดยที่แต่ละคืนไม่มีความเกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกัน แม้ฉากและเหตุการณ์ในฝันนั้นมีความพิลึกและแปลกประหลาด แต่ก็สมจริงและเต็มไปด้วยปริศนาที่ชวนให้ตื่นนอนขึ้นมาหาคำตอบ

ฟรานซิส สกอตต์ คีย์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (Francis Scott Key Fitzgerald)

     ‘ฟรานซิส สกอตต์ คีย์ ฟิตซ์เจอรัลด์’ คือหัวหน้ากิลด์ (องค์กรใต้ดินของสหรัฐฯ) ผู้ต้องการทำลายเมืองโยโกฮามาเพื่อค้นหาหนังสือเล่มหนึ่ง เขาเป็นเศรษฐีผู้ร่ำรวย ใช้เงินเหมือนน้ำก็ยังได้ เพราะพลังพิเศษของเขาคือ The Great Fitzgerald ที่จะเปลี่ยนทุกการจับจ่ายใช้สอยเป็นพลัง แปลว่ายิ่งใช้มากก็ยิ่งแข็งแกร่งมากนั่นเอง

     ตัวจริงของ ‘ฟรานซิส สกอตต์ คีย์ ฟิตซ์เจอรัลด์’ หรือที่นักอ่านหลายคนอาจรู้จักในชื่อ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald, 1896-1940) ก็ไม่ต่างจากในการ์ตูนมากนัก เขาคือนักเขียนชาวอเมริกันผู้เกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีฐานะ ผลงานของเขาถ่ายทอดและตีแผ่สภาพสังคมอเมริกันในทศวรรษ 1920 ออกมาได้อย่างสวยงาม ฟิตซ์เจอรัลด์บันทึกช่วงเวลาอันหอมหวานของ Jazz Age ไว้ครบถ้วนทั้งเสียงหัวเราะและคราบน้ำตา แต่การแสวงหาวัตถุดิบมาใส่ในงานเขียนก็ทำให้เขาเสพติดชีวิตหรูหราและฟุ้งเฟ้อ ฟิตซ์เจอรัลด์ป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในวัยเพียง 44 ปี 

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

แก็ตสบี้ ความหวังยิ่งใหญ่และหัวใจมั่นคง (The Great Gatsby)

เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (เขียน) โตมร ศุขปรีชา (แปล)

สำนักพิมพ์ Library House

     วรรณกรรมคลาสสิกเสียดสีสังคมอเมริกันและวาทกรรม American Dream ดินแดนแห่งความฝันที่ทุกคนเท่ากัน เรื่องราวถูกเล่าผ่าน ‘นิค คาราเวย์’ เศรษฐีหนุ่มผู้เพิ่งย้ายมาอยู่ในนิวยอร์ก เขาได้รับการ์ดเชิญไปงานเลี้ยงของ ‘เจย์ แก็ตสบี้’ เจ้าของบ้านผู้จัดปาร์ตี้สุดเหวี่ยงทุกค่ำคืน แม้เบื้องหน้าคือความสุขสันต์ แต่เบื้องหลังของแก็ตสบี้คือการสะท้อนภาพความพยายามของคนธรรมดาผู้มีความทะเยอทะยาน เพื่อไล่ตามความฝันในสังคมฟุ้งเฟ้อจอมปลอม

ตายเพื่อรัก (ตำนานแห่งทะเลสาบลัวร์) และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ (I’d Die for You (The Legend of Lake Lure) and other selected stories)

เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (เขียน) ณัฐวดี ก้อนทอง (แปล)

สำนักพิมพ์ Library House

     “สำหรับฉัน ความกล้าหมายถึงการฝ่าผ่านม่านหมอกมัวซัวที่ครอบงำชีวิต—ไม่เฉพาะแต่ก้าวพ้นผู้คนหรือเหตุการณ์ต่างๆ แต่ยังต้องก้าวข้ามความสิ้นหวังในชีวิตด้วย เป็นการยืนหยัดเพื่อยึดมั่นในคุณค่าของชีวิตและคุณค่าของหลายๆ อย่างที่มีวันสูญสลาย” รวมเรื่องสั้นสะท้อนภาพสังคมสหรัฐฯ ในยุค 1920 ยุคที่ชีวิตเต็มไปด้วยความพยายาม ความฝัน ความผิดหวัง และความล้มเหลว 

หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ (Babylon Revisited and Other Stories)

เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (เขียน) พันทิพา บูรณมาตร์ (แปล)

สำนักพิมพ์สมมติ

     หนังสือรวม 3 เรื่องสั้นที่เป็นดั่งบันทึกแต่ละช่วงชีวิตของฟิตซ์เจอรัลด์ ตั้งแต่ ‘ปราสาทน้ำแข็ง’ (The Ice Palace) ที่เล่าถึงตอนลำบาก ‘ความฝันในฤดูหนาว’ (Winter Dreams) เป็นช่วงขาขึ้นของฟิตซ์เจอรัลด์ และ ‘หวนคืนสู่บาบิลอน’ (Babilon Revisited) คือการเผชิญกับความล้มเหลวและล่มสลายอย่างสมบูรณ์แบบ

มาร์ก ทเวน (Mark Twain)

     มาร์ก ทเวนคือหนึ่งในสมาชิกของกิลด์ เขาเป็นมือสไนเปอร์ซุ่มยิงทางอากาศบนยานโมบี ดิก โดยทเวนมีพลังพิเศษเชื่อมโยงความคิดกับตุ๊กตาชื่อว่าฮัค ฟินน์ กับทอม ซอว์เยอร์โดยเขาจะบรรจุฮัคหรือทอมไว้ในกระสุนนัดที่ยิงออกไป เพื่อเสริมความแม่นยำในการยิงระยะไกล

     ‘มาร์ก ทเวน’ (Mark Twain) เป็นนามปากกาของซามูเอล แลงฮอร์น คลีเมนส์’ (Samuel Langhorne Clemens, 1835-1910) นักเขียนอเมริกันผู้โด่งดัง เขามักจะนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในชีวิตมาเขียนด้วยสำนวนขบขัน แต่ก็แฝงไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่เสมอ โดยผลงานที่โด่งดังที่สุดสองเล่มของเขาได้กลายเป็นชื่อพลังของตัวละครมาร์ก ทเวน ฉบับการ์ตูนด้วย

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ (The Adventures of Tom Sawyer)

มาร์ก ทเวน (เขียน) เนื่องน้อย ศรัทธา (แปล)

สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

     ‘ทอม ซอว์เยอร์’ คือเด็กชายผู้ซุกซนและรักการผจญภัย เขามักจะเข้าไปยุ่งกับปัญหาของที่บ้านหรือที่โรงเรียนเสมอ วันหนึ่งโชคชะตานำพาเขาไปพบกับ ‘ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ และ ‘โจ ฮาร์เปอร์’ แก๊งสามแสบจึงออกเดินทางท่องโลกกว้างไปด้วยกัน 

การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ (The Adventures of Huckleberry Finn)

มาร์ก ทเวน (เขียน) ธารพายุ (แปล)

สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน

     หนังสือภาคต่อจาก การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ คราวนี้เป็นเรื่องการเดินทางอันน่าตื่นเต้นของ ‘ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ หนึ่งในสมาชิกแก๊งสามแสบ ร่วมกับ ‘จิม’ เพื่อนรักผิวสีต่างวัย ผลงานอมตะที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบและสนุกสนาน จนได้รับการยอมรับในฐานะต้นแบบของนักเขียนอเมริกันรุ่นใหม่จนถึงปัจจุบัน

ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott)

     ‘ลุยซา เมย์ อัลคอตต์’ คือหญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังแผนการรบของกิลด์ เธอเป็นนักวางกลยุทธ์สุดชาญฉลาดและรอบคอบ มีพลังพิเศษชื่อว่า ‘Little Women’ ที่จะทำให้เวลาในห้องส่วนตัวของเธอผ่านไปในอัตราส่วน 1/8000 จากการไหลของเวลาปกติ

     ‘ลุยซา เมย์ อัลคอตต์’ (Louisa May Alcott, 1832-1888) นักเขียนชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงหลังสงครามกลางเมือง ครอบครัวของเธอประสบปัญหาการเงิน เธอจึงต้องทำงานตั้งแต่เด็กเพื่อแบ่งเบาภาระของที่บ้าน ผลงานที่โด่งดังที่สุดคือ ‘Little Women’ หรือ ‘สี่ดรุณี’ นั้นเกิดจากการโดนบรรณาธิการสั่งให้เขียนนวนิยายแบบผู้หญิงๆ ซึ่งเธอได้นำเรื่องราวชีวิตจริงของตัวเองกับเหล่าพี่น้องมาร้อยเรียง จนกลายเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวทั่วทั้งโลก

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

สี่ดรุณี (Little Women)

ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (เขียน) อ.สนิทวงศ์ (แปล)

สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

     วรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกที่เล่าเรื่องราว 4 พี่น้องครอบครัวมาร์ชอย่าง ‘เม็ก’, ‘โจ’, ‘เบธ’ และ ‘เอมี่’ พวกเธอต่างมีนิสัยและความฝันคนละแบบ แต่ทั้งหมดล้วนเชื่อว่าตัวเธอสามารถเดินตามเส้นทางที่เลือกเองได้ นอกจากจะเป็นการนำเสนอแนวคิดสนับสนุนผู้หญิงแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีบริบทสังคมเป็นสหรัฐฯ ในยุคสงครามกลางเมืองอีกด้วย

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky)

     ‘ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี’ ผู้นำองค์กรใต้ดินที่มีชื่อว่าบ้านแห่งความตาย ดอสโตเยฟสกีเป็นชายหนุ่มสุขุม มีความมั่นใจ และชาญฉลาด เขามีพลังพิเศษ ‘Crime and Punishment’ ที่สามารถฆ่าคนได้ด้วยการสัมผัสเพียงครั้งเดียว

     ‘ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี’ (Fyodor Dostoevsky, 1821-1881) คือหนึ่งในนักเขียนชาวรัสเซียคนสำคัญ งานของเขามีอิทธิพลต่อนวนิยายในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างมาก ตัวละครในหนังสือส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นและมีความคิดอย่างสุดโต่ง ความโดดเด่นของดอสโตเยฟสกีอีกอย่างคือการวิพากษ์สภาพสังคม การเมือง และจิตวิญญาณชาวรัสเซียในผลงานเสมอ

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ (Crime and Punishment)

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (เขียน) ณ กัลปาวสาน (แปล)

สำนักพิมพ์ทับหนังสือ

     หนังสือเล่มนี้ถูกจัดเป็น 1 ใน 100 สุดยอดวรรณกรรมจากการโหวตของนักเขียนทั่วโลก เล่าเรื่องของ ‘โรมาโนวิช ราสโคลนิคอฟ’ นักศึกษาผู้ยากไร้ เขาเช่าห้องอยู่ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กและลงมือก่อเหตุฆาตกรรม เนื้อเรื่องหลักจึงเป็นการพาไปสำรวจแนวคิดการมองโลกและจิตใจของฆาตกร ตั้งแต่เริ่มลงมือ หลบหนี ตลอดจนการต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง ซึ่งเป็นการลงทัณฑ์ทางจิตใจนั่นเอง

พี่น้องคารามาซอฟ (The Brothers Karamazov)

ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (เขียน) สดใส (แปล)

สำนักพิมพ์ยิปซี

     เรื่องราวของ 3 พี่น้องตระกูลคารามาซอฟที่ถูกพ่อทอดทิ้งและเติบโตมามีนิสัยแตกต่างกัน นอกจากการถ่ายทอดฉากหลังเป็นรัสเซียในช่วงกลางศตวรรษ 19 แล้ว เนื้อหาในเล่มยังเต็มไปด้วยการโต้แย้งทางศีลธรรม ความศรัทธาในพระเจ้า ความสงสัยและเหตุผล ซึ่งชวนให้ผู้อ่านเข้าไปสำรวจถึงเบื้องลึกของจิตใจของตัวละครอย่างถึงแก่น

รวมนักเขียน

     เนื่องจากหนังสือที่จะแนะนำต่อไปนี้มีนักเขียนหลายคน เราจึงแบ่งพาร์ตแนะนำตัวละครเป็น 2 ส่วน และเล่าเฉพาะคนที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง (ซึ่งเยอะมากอย่างไม่น่าเชื่อ ขอคารวะความเนิร์ดนักเขียนการ์ตูนเรื่องนี้อีกครั้ง)

     [สำนักงานนักสืบบุโช]

     • ‘นากาจิมะ อัตสึชิ’ ตัวเอกของเรื่อง เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้เติบโตมาในบ้านเด็กกำพร้า ก่อนจะโดนไล่ออกเพราะถูกเข้าใจว่ามีเสือขาวไล่ตาม แต่ความจริงแล้ว เสือตัวนั้นคืออัตสึชิเอง หลังจากเข้าร่วมสำนักงานนักสืบบุโช อัตสึชิสามารถควบคุมพลังพิเศษที่จะแปลงร่่างเป็นเสือสมิง (Gekkaju / 月下) ได้ ส่วนตัวจริงของ ‘นากาจิมะ อัตสึชิ’ (Nakajima Atsushi, 1909-1942) เป็นนักเขียนญี่ปุ่นผู้มีแนวคิดหลักเรื่องการค้นหาตัวตนและความหมายของชีวิต

     • ‘คุนิคิดะ ดปโปะ’ คู่หูของดะไซ โอซามุ เขาเป็นคนเคร่งเครียดและใช้ชีวิตตามแบบแผน เขามักจะจดสิ่งที่ต้องทำลงในสมุดบันทึกส่วนตัว ซึ่งเป็นพลังพิเศษในการเรียกสิ่งที่จดออกมาได้เรียกว่า Doppo Ginkaku (独歩吟客) ทางด้านต้นแบบของตัวละคร ‘คุนิคิดะ ดปโปะ’ (Kunikida Doppo) เป็นนามปากกาของ ‘คุนิคิดะ เท็ตสุโอะ’ (Kunikida Tetsuo 1871-1908) นักเขียนนวนิยายและบทกวีผู้ชื่นชอบธรรมชาติ

     • ‘มิยาซาวะ เคนจิ’ เป็นเด็กหนุ่มที่เติบโตมาในชนบท โดยปกติแล้วเขาเป็นคนร่าเริงและอัธยาศัยดี แต่ถ้าหิวเมื่อไหร่จะกลายเป็นผู้มีพละกำลังมหาศาลแบบยอดมนุษย์ขึ้นมาทันที ความสามารถนี้เป็นพลังพิเศษที่ชื่อว่า Ame ni mo Makezu (雨ニモマケズ) ขณะที่ ‘มิยาซาวะ เคนจิ’ (Miyazawa Kenji, 1896-1933) ตัวจริงนั้นเป็นกวีที่มีชื่อเสียงและเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน

     [พอร์ตมาเฟีย]

     • ‘โอดะ ซาคุโนะสุเกะ’ นักฆ่าปลายแถวของพอร์ตมาเฟีย แต่แท้จริงแล้วเป็นนักสู้ที่เก่งมาก ขนาดที่ดะไซยังยกย่อง โอดะมีพลังพิเศษคือ Tenimuhou (天衣無縫) ซึ่งทำให้เขาสามารถรู้อนาคตล่วงหน้าได้ 5-6 วินาที งานเขียนของ ‘โอดะ ซาคุโนะสุเกะ’ (Oda Sakunosuke, 1913-1947) สะท้อนให้เห็นความล่มสลายของสังคมญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ไม่ใช่แค่ในการ์ตูนเท่านั้น ตัวจริงของโอดะก็เป็นนักเขียนสำนักเดียวกับ ‘ดะไซ โอซามุ’ และ ‘ซาคางุจิ อังโกะ’ (Sakaguchi Ango) ด้วย

     • ‘คะจิอิ โมโตจิโร’ มือวางระเบิดแห่งพอร์ตมาเฟีย เขามีพลังพิเศษที่ทำให้ตัวเองปลอดภัยจากระเบิดเรียกว่า Lemonade (檸檬爆弾) ด้านตัวจริงของตัวละครนี้ ‘คะจิอิ โมโตจิโร’ (Kajii Motojiro, 1901-1932) เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่มีลีลาเฉพาะตัว เต็มไปด้วยจินตนาการ และแฝงไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง 

• ผลงานที่เราอยากแนะนำ •

บุงโก รวมเรื่องสั้นของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น

ดะไซ โอซามุ, ทานิซากิ จุนอิจิโร, คะจิอิ โมโตจิโร, นากาจิมะ อัตสึชิ, คุนิกิดะ ดปโปะ, โอดะ ซาคุโนะสุเกะ, มิยาซาวะ เคนจิ, อะคุตางาวะ ริวโนะสุเกะ (เขียน) นีรชา เนียมเจริญ และคณะ (แปล)

สำนักพิมพ์ JLIT

     ‘บุงโก’ ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ‘นักเขียนงานวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่’ หนังสือเล่มนี้จึงได้คัดสรรผลงานเรื่องสั้นของนักเขียนระดับแนวหน้าของญี่ปุ่นทั้ง 8 คนมาไว้ในเล่ม นำเสนอภาพความเป็นญี่ปุ่นหลากหลายมุม ผ่านหลากหลายรสชาติทั้งสุข เศร้า เหงา และรัก