หนังสือ: สามัญสำนึก Common Sense
Thomas Paine (เขียน) ภัควดี วีระภาสพงษ์ (แปล)
สำนักพิมพ์ Bookscape
“…จุลสารทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา นำเสนอข้อถกเถียงที่กระแทกกลางใจชาวอาณานิคม อันนำไปสู่การตัดสินใจประกาศเอกราชจากจักรภพอังกฤษ…”
ข้อความข้างต้นอยู่บนปกหลังของ ‘สามัญสำนึก Common Sense’ หนังสือปกสีขาว ทว่ามีกระดาษไขห่อหุ้มทับอีกชั้นหนึ่ง จนทำให้ปกที่ควรจะเป็นสีขาวสว่างกลายเป็นสีขาวขุ่น ขมุกขมัว ไม่สดใส เมื่อพลิกกลับมาที่ปกหน้าก็จะพบกับสัญลักษณ์ ‘ไม่เท่ากัน หรือ ไม่เท่ากับ’ ซึ่งหากถอดความขุ่นมัวที่ว่า เส้นทแยงที่ขีดทับก็จะหายไป เหลือไว้เพียงแต่ความเท่ากัน
แม้ต้นขั้วความคิดที่ทำให้เกิดจุลสาร (pamphlet) เล่มนี้ในปี 1776 หรือ 244 ปีที่แล้ว คือบรรยากาศการต่อสู้ทางชนชั้นในรัฐฟิลาเดลเฟีย และความไม่พอใจที่มีต่อประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ที่พยายามเรียกร้องรายได้จากอาณานิคมอเมริกามากขึ้น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน การตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของกษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษ และการประกาศเอกราชโดย โธมัส เจฟเฟอร์สัน แต่ทว่า โธมัส เพน ผู้เขียนจุลสารที่ขายได้มากกว่าห้าแสนเล่มในยุคที่อเมริกามีประชากรไม่ถึงสามล้านคนกลับเป็นชาวอังกฤษเสียเอง
ถึงอย่างนั้นแล้ว ผมหรือคนไทยที่อยู่ห่างจากเหตุการณ์นั้นไกลสุดเอื้อม ก็ยังสมควรอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วเราจะรับรู้เพียงเหตุการณ์การปฏิวัติ อาจรู้ที่มาเพียงคร่าวๆ จากบทเรียน แต่ไม่เคยรู้เลยว่า รากความคิดของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่ตรงไหน
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการใช้สำนวนแปลที่เรียบง่าย (แต่ยังคงใช้ภาษายุคเก่าในบางจุดเพื่อให้ตรงกับต้นฉบับมากที่สุด) การเปรียบเทียบที่เรียบง่าย เพื่อตั้งคำถามที่เรียบง่าย ถึงความชอบธรรมในระบบศักดินา การสถาปนาให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นคนเหนือคน การสืบทอดอำนาจทางสายเลือด และหนทางที่จะทำให้ประชาชนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีหลักการที่แข็งแรง และเมื่อมีหลักการแข็งแรงแล้ว ก็จะไม่โงนเงนเมื่อถูกถามหาเหตุผล หรือหลักฐานเพื่อรองรับข้อเรียกร้องที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน
เผลอๆ คุณจะพบว่า เราไม่ต้องการหลักฐานแห่งความผิดใดๆ เพื่อยืนยันเจตจำนงนี้ เพราะหากว่ากันบนหลักการแห่งความเท่าเทียมกันแล้ว พวกเราไม่ควรมายืนอยู่ในจุดนี้เลยด้วยซ้ำ