Thu 08 Oct 2020

THE SUPERFANTASTIC MAGAZINE CALLED DDT

เรื่องราวของ ‘ป๋าเต็ด’ ในวันที่ลงมือทำนิตยสารดนตรีด้วยความรัก ก่อนความจริงจะปลุกให้เขาตื่นจากความฝัน และทำให้เข้าใจว่าการทำหนังสือนั้น แค่คำว่ารักคงยังไม่พอ

     ขออภัยที่ต้องบอกว่าเรื่องราวต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับการทำงานที่ GMM Grammy, ไม่มีเรื่องการจัดคอนเสิร์ต รวมถึงเฟสติวัลที่กำลังจะมาถึง, ไม่มีการพูดคุยถึงรายการออนไลน์ ป๋าเต็ดทอล์ก

     สิ่งที่เราคุยกันมีแต่เรื่องของวันวาน

     ขออภัยอีกครั้งที่ต้องบอกว่าไม่ใช่วันวานที่ ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ด เป็นดีเจ ไม่ใช่วันวานที่เขาริเริ่มทำคลื่นวิทยุ เพราะในเมื่อ CONT. เป็นเว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องของการอ่านในหลากหลายมิติ เราจึงอยากมีพื้นที่ไปพูดคุยกับคนทำหนังสือที่อาจเลิกราหรือหยุดพักชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ เราจึงไปคุยกับป๋าเต็ดเกี่ยวกับวันวานที่เขามีบทบาทเป็น ‘บรรณาธิการตัวใหญ่’

     วันวานที่เขาผลักดันวงการดนตรีไทยด้วยการลงมือทำนิตยสาร

A SIDE:

แค่ความรัก

     นอกจากการฟังเพลง อีกสิ่งที่ป๋าเต็ดชอบเป็นพิเศษ คือการอ่านหนังสือ

     ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว, อกาธา คริสตี้, ย.โย่ง, กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิณ, พัณณาศิส, ประภาส ชลศรานนท์ และ ศุ บุญเลี้ยง คือชื่อนักเขียนที่เขากล่าวถึงในบทบรรณาธิการฉบับแรกของ DDT นิตยสารรายเดือนสำหรับผู้ชื่นชอบในเสียงเพลง โดยที่เขามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า บรรณาธิการตัวใหญ่

     ตำแหน่งที่อาจไม่เกิดขึ้นเลย หากวันนั้นเขาไม่ได้รับการกระตุ้นจากคนใกล้ตัว

TRACK 1

     บางทีจุดเริ่มต้นในการลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็เกิดขึ้นง่ายๆ ด้วยคำพูดของใครบางคน

     แต่คำพูดของใครคนนั้นอาจไม่มีผลใดๆ เลย ถ้าเกิดผู้ฟังไม่ได้มีเชื้อไฟอยู่ในตัวตั้งแต่ต้น

     “เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนผมเริ่มทำ FaT Radio ใหม่ๆ”

     FaT Radio คือคลื่นวิทยุที่ออกกระจายเสียงครั้งแรกช่วงปี 2000 เป็นคลื่นที่เปิดเพลงแปลก แหวก เก๋ เป็นคลื่นที่ก่อกำเนิดเทศกาลดนตรีที่ว่ากันว่า ‘เด็กแนว’ ต้องไปเยือน และเป็นคลื่นที่ทำให้วงการเพลงไทยนอกกระแสเติบโตเบ่งบาน

     “ตอนนั้นโหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) เอานิตยสารที่เขากำลังจะทำมาแนะนำ ชื่อว่านิตยสาร a day ผมจำได้ว่างาน FaT Festival ครั้งที่ 1 บูทของ a day คือหนึ่งในบูทที่ใหญ่ที่สุดในโซนหนังสือทำมือ ทั้งที่ตอนนั้นพวกเขาเพิ่งจะเปิดตัวฉบับแรก

     “ช่วงนั้นผมได้คุยกับโหน่งบ่อยๆ เลยมีโอกาสบอกเขาไปว่าผมชอบนิตยสารของคุณมาก เสร็จแล้วโหน่งก็บอกว่า พี่เต็ดก็ทำได้ ถ้าพี่ทำ FaT ได้ พี่ก็ทำนิตยสารได้ โหน่งอาจจะพูดเล่นหรืออาจจะพูดเป็นมารยาท แต่หลังจากโหน่งพูดประโยคนั้น ผมดันเอาจริง

     “ผมค่อยๆ คิดว่า เอ๊ะ มันก็ทำได้นี่หว่า เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตอนเรียนสวนกุหลาบฯ ผมเป็นสาราณียกร หรือเป็น บ.ก.หนังสือรุ่นตอน ม.6 ซึ่งผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยสนุกกับการทำหนังสือมาก แต่พอเริ่มทำงานจริงๆ ผมก็เอาแต่ไปทำอย่างอื่นแล้วก็ลืมเรื่องการอยากทำหนังสือไป จนโหน่งมาสะกิด ผมก็เริ่มเอาเรื่องนี้มาฝังไว้ในใจ จนวันหนึ่งเมื่อมีโอกาสก็เลยชวนเพื่อนมาทำนิตยสาร ควบคู่กันไปกับการทำ FaT Radio”

TRACK 2

     หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบฟังเพลงจากเทป ซีดี หรือไวนิล ก็อาจคุ้นเคยกับการแบ่งเพลงออกเป็น A Side และ B Side

     ว่ากันว่าเพลง A Side มักเป็นเพลงป๊อปๆ ที่ทางศิลปินหรือค่ายต้องการให้มันฮิตติดหู ขณะที่เพลง B Side มักจะเป็นเพลงที่ศิลปินชื่นชอบ ต้องการนำเสนอ แม้ว่าเพลงเพลงนั้นอาจจะฟังแล้วร้องตามยากเหลือเกิน

     เมื่อจะทำนิตยสารเกี่ยวกับเพลง การแบ่งไซด์คือสิ่งที่ผุดขึ้นในใจของป๋าเต็ด เขาอยากหยิบมันมาเป็นกิมมิก และคิดว่าอาจเหมาะสมดีที่จะทำให้ DDT กลายเป็นนิตยสารที่แบ่งเนื้อหาออกเป็นสองไซด์

     A Side ว่าด้วยเรื่องราวที่อ่านง่าย ประกอบไปด้วยการแนะนำเพลงใหม่ สัมภาษณ์ศิลปินในหัวข้อที่ไม่ซีเรียสจนเกินไป พิมพ์สี่สี ส่วน B Side จะคับคั่งไปด้วยเรื่องที่อินไซด์ ทั้งเบื้องหลังวงการเพลง สกู๊ปเข้มข้น รีวิวที่จริงจัง หรือเนื้อหาที่ดูหลุดไปจากนิตยสารเพลงทั่วไปอย่างบทกวี และพิมพ์แค่สองสี

     ส่วนรูปลักษณ์ของนิตยสารนั้น ด้วยความที่ป๋าเต็ดอยากให้ภาพลักษณ์ของนิตยสารเล่มนี้ต่างไปจากนิตยสารดนตรีเล่มอื่น เขาจึงออกแบบให้ DDT มีรูปลักษณ์ที่เกือบๆ จะเป็นนิตยสารแฟชั่น คือมีการใช้สีโทนฉูดฉาด มีการถ่ายภาพในสตูดิโออย่างจริงๆ จังๆ

     ยังไม่พอ ด้วยความที่เป็นนิตยสารเกี่ยวกับเพลง ป๋าเต็ดก็อยากให้ผู้อ่านได้ยินบางเพลงที่ถูกพูดถึง DDT ทุกเล่มจึงมีซีดีแถมไปด้วย

     นอกจากนี้ ด้วยความชื่นชอบใน Starpics นิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์-ดนตรี ที่นอกจากจะมีการแบ่งเนื้อหาด้วยการนำเสนอแบบครึ่งๆ (ครึ่งแรกเป็นภาพยนตร์ ครึ่งหลังเป็นเพลง) ยังมีการแถมโปสเตอร์ให้ผู้อ่านนำไปแปะตามชอบใจ ป๋าเต็ดเลยต้องการให้ DDT แจกโปสเตอร์ด้วย เพราะเขาคิดว่ากระดาษแผ่นใหญ่จะทำให้นิตยสารที่เขากำลังปลุกปั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้อ่าน เหมือนที่โปสเตอร์ของ Starpics ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตช่วงวัยรุ่นของเขา

TRACK 3

     Rolling Stone คือนิตยสารอีกเล่มที่ป๋าเต็ดชอบเป็นพิเศษ ชอบจนถึงขั้นพูดได้ว่าเขามีเป้าหมายอยากให้ DDT เป็นเหมือนนิตยสารจากสหรัฐฯ เล่มนี้

     “สิ่งที่ผมชอบใน Rolling Stone คือมันไม่ได้มีแต่เรื่องเพลง หน้าปกบางฉบับของ Rolling Stone เป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ เพราะเขาพูดในเรื่องที่คนฟังเพลงสนใจ แล้วคนฟังเพลงก็ไม่ได้สนใจแต่เรื่องเพลง เขาก็ต้องกินข้าว เขาก็ต้องอ่านหนังสือ เขาก็ต้องไปในที่ที่มนุษย์มนาไปกัน เพียงแต่ว่าเรื่องเหล่านี้จะถูกมองผ่านสายตาของคนฟังเพลง”

     เรื่องราวที่ถูกเล่าใน DDT จึงไม่ได้มีแค่เพลงเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งเรื่องของภาพยนตร์ การ์ตูน ไปจนถึงเรื่องของสังคม การเมือง

     “ตั้งแต่วันแรกที่ทำ DDT ผมก็อยากให้มีเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่ามีอย่างเหมาะสม แล้วมีโดยที่นำเสนอผ่านมุมมองของคนฟังเพลง อย่างช่วงนั้นมีม็อบพันธมิตรฯ เราก็ทำสกู๊ป แต่เป็นสกู๊ปเรื่องการจัดม็อบ ถ้าเรามองว่าการจัดม็อบคือคอนเสิร์ต เราก็อยากรู้ว่าเขาจัดการอย่างไร ไลฟ์สไตล์ของคนรอบๆ ม็อบเป็นแบบไหน ซึ่งผมว่าความสนุกของการทำ DDT อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราจะพูดเรื่องเดียวกับที่คนอื่นพูดผ่านมุมมองแบบ DDT ได้อย่างไร”

TRACK 4

     ในฐานะของคนอ่าน เราขอบอกว่า DDT เป็นนิตยสารที่อ่านสนุกอะไรขนาดนี้!

     ไล่ไปตั้งแต่การระบุตำแหน่งของทีมงาน ที่ไม่ว่าคุณจะทำหน้าที่อะไร ก็จะมีคำนำหน้าว่าบรรณาธิการ เช่น บรรณาธิการตัวใหญ่ บรรณาธิการตัวเล็ก บรรณาธิการหัวศิลป์ บรรณาธิการบ้านการเรือน บรรณาธิการผู้ช่วยบรรณาธิการ (?!) แม้แต่คอลัมน์ที่นอกจากจะมีการพูดเรื่องจริงจังอย่างเพลงและหนังในตำนาน การวิเคราะห์เนื้อเพลงโดยนักดนตรี ก็ยังมีคอลัมน์ทีเล่นอย่าง เรียนภาษามนุษย์จากเพลง ที่หยิบเอาเนื้อเพลงมายั่วล้อไปทีละบรรทัด

     เท่านั้นไม่พอ พวกเขายังคิดธีมแต่ละเล่มด้วยการเอาความสนุกเป็นตัวตั้ง เช่น ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยทำฉบับ ‘ขายหน้า’ ที่ป๋าเต็ดบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Entertainment Weekly ทำให้ฉบับนั้นทั้งฉบับคับคั่งไปด้วยรูปถ่ายใบหน้าของ 99 ศิลปินที่โดดเด่นในรอบปีประกอบคำพูดสั้นๆ

     นอกจากนี้ พวกเขายังเคยเอาจริงเอาจังถึงขั้นทำวงดนตรี!

     ก่อนที่เกาหลีใต้จะส่งออกวงบอยแบนด์นามว่า BTS ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ทีม DDT ได้ปลุกปั้นวงบอยแบนด์เฉพาะกิจชื่อว่า BTS ขึ้นมา ประกอบไปด้วย จีน—มหาสมุทร บุณยรักษ์, พล่ากุ้ง—วรชาติ ธรรมวิจินต์ และสอง—จักรพงศ์ สิริริน (ซึ่งที่มาของชื่อวงนั้นมาจากอักษรตัวแรกในนามสกุลของพวกเขา) โดยบอยแบนด์กลุ่มนี้มีเพลงของตัวเองชื่อว่า ร้อยเพลงรัก ที่เอาชื่อเพลงรัก 100 เพลงมาเขียนเป็นเนื้อเพลง

     “เราคงทำเพื่อที่จะแซวเรื่องความเป็นเคป๊อป ซึ่งอันนี้นิสัยไม่ดี คือตอนนั้นพวกเราเชื่อกันว่าบอยแบนด์หรือเคป๊อปไม่ได้ทำยากขนาดนั้น เดี๋ยวเราจะทำให้ดูว่าใครก็เป็นได้

     “ผมว่าเราไม่ได้มีอารมณ์ที่จะเหยียดหยามอะไรหรอก มันเป็นอารมณ์สนุกมากกว่า ประมาณว่าถ้าพวกเราทำวงเคป๊อป ทำวงบอยแบนด์จะออกมาเป็นยังไง ก็เลยกลายเป็นวง BTS ขึ้นมา

     “เราอยากได้จีน มหาสมุทร มาขึ้นปกอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นเราชอบเพลง สุขใจ ของเขามาก แล้วเราก็ชวนคุณสอง Paradox กับพล่ากุ้งมาร่วมด้วย เพราะคิดว่าน่าจะคอนทราสต์ดี เวลาคนเห็นปกก็น่าจะรู้สึกว่ามันมีแรงดึงดูดบางอย่าง

     “นี่คือตัวอย่างความบ้าของกองฯ DDT

TRACK 5

     เบน ชลาทิศ, ปั๊ม อพาร์ตเมนต์คุณป้า,​ นอ Crescendo, โต๋ ศักดิ์สิทธิ์, Cyndi Seui, ชัช Bodyslam, กบ Big Ass, อ๊อฟ Big Ass, เลียม ลอร์เรนซ์ (+ ชาตรี คงสุวรรณ)

     จีน กษิดิษ, สิงห์ Sqweez Animal, เท็ดดี้ Flure, เป้ Slur, ป๊อก Zeal, บะ Goose, รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์, เชาวเลข สร่างทุกข์, เจตมนต์ มละโยธา, เขียว คาราบาว

     หนึ่ง ETC., เอก Blackhead, แมว จิรศักดิ์, ซันนี่ T-Bone, ซัน Dos, เอก Crescendo, นิติพงษ์ ห่อนาค, ชุมพล สุปัญโญ

     เฟิร์ส Slot Machine, โฟร์-มด, เมธี Moderndog, ก้อ Groove Riders, โซ่ ETC., บี ETC., ติ๊ก ชีโร่, หนุ่ม T-Bone, คัตโตะ Lipta, แทน Lipta, สุธี แสงเสรีชน

     รายชื่อศิลปินข้างต้นคืออีกหนึ่งตัวอย่างความจริงจังของ DDT เพราะหลังจากทำนิตยสารใกล้ครบปี ป๋าเต็ดก็เกิดความคิดอยากรวบรวมศิลปิน โปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลงที่มีผลงานโดดเด่นในปีนั้นมารวมวงกันเป็น DDT Superband วงดนตรีเฉพาะกิจที่ต่างคนต่างมาช่วยกันทำเพลงเพื่อแจกไปในนิตยสาร และรายนามในสี่ย่อหน้าข้างต้น คือ DDT Superband ประจำปี 2006-2009 ส่วน แค่ความรัก, วันที่ตื่นจากฝัน, รีบไปไหนกัน, ถูกทุกข้อ คือรายชื่อเพลงที่พวกเขาทำร่วมกันในแต่ละปี

     “เราเป็นหนังสือเพลง แต่หนังสือมันฟังไม่ได้ ดังนั้น เราเลยต้องการทำให้เรื่องที่เราพูด ผู้อ่านสามารถฟังได้ ด้วยเหตุนี้เราก็เลยแถมซีดี แต่เพื่อให้ผู้อ่านเก็บสะสมและไม่โยนทิ้งไป เราก็พยายามอย่างถึงที่สุด เช่น ถ้าเป็นเพลงดัง เราก็จะพยายามขอเวอร์ชั่นเดโม หรือเทคที่เขาไม่ได้ใช้ จนมาถึงตอนเตรียมทำฉบับครบรอบหนึ่งปี เราก็พยายามคิดให้ฉบับนี้มันออกมาพิเศษหน่อย พอมาถึงตัวซีดี เราก็เลยคิดว่าถ้างั้นก็ต้องมีเพลงพิเศษเว้ย ในเมื่อเรามีสกู๊ปหรือคอลัมน์อื่นๆ ที่รวมเรื่องราวน่าสนใจตลอดทั้งปี ตัวเพลงในซีดีก็ควรจะรวมอะไรแบบนั้นบ้าง

     “ผมนึกถึงคำว่าซูเปอร์แบนด์ เพราะว่าเวลาฟังเพลงสากล จะชอบเห็นวงที่มือกีตาร์ มือกลอง มือเบสจากแต่ละวงมารวมวงกัน แล้วพวกนักเขียนวงการเพลงของต่างประเทศก็จะชอบใช้คำว่าซูเปอร์แบนด์ เราก็เลยลองดูว่าถ้าเกิดมันมีเพลงที่เป็นซูเปอร์แบนด์ขึ้นมาจริงๆ จะเป็นยังไง

     “ตอนแรกก็คิดว่าอาจเป็นไปไม่ได้นะ แต่อย่างในปีแรก (2006) ผมเริ่มจากคนที่สนิทก่อนเลย คือกบกับอ๊อฟ Big Ass ถ้าจะทำเพลงก็ควรต้องเริ่มจากนักแต่งเพลง เพราะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แล้วยังเกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งผมก็บอกเขาไปว่าไม่ขายที่ไหนแน่นอน ขอแจกเป็นซีดีในหนังสือเท่านั้น แล้วตอนนั้นในบรรดาคนรุ่นใหม่ กบกับอ๊อฟก็ถือเป็นนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงแล้ว พอสองคนนี้ตกลง เราก็คุยกันว่าเอาใครร้องดี ก็ลงตัวว่าต้องเป็นเบน (ชลาทิศ ตันติวุฒิ) เพราะเบนก็คือสุดยอดนักร้องของวันนั้น แล้วตำแหน่งอื่นๆ ก็ตามมาเรื่อยๆ

     “DDT Superband ปี 2007 ก็พิเศษเหมือนกัน ตรงที่ว่าเราเลือกให้ทีมทำเพลงเป็นค่าย smallroom เราเลือกให้รุ่งโรจน์ (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารค่าย smallroom) เป็นโปรดิวเซอร์ แล้วเขาก็บอกเลยว่าอยากอัดสดรวมกันหมด เป็นซูเปอร์แบนด์ปีเดียวที่อัดเสียงเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นและร้องพร้อมกันหมดเลย

     “ผมไม่แน่ใจว่าเป็นไอเดียใคร คือมีคนบอกว่าเป็นซูเปอร์แบนด์ทั้งที ห้องอัดก็ต้องมีที่มาหน่อย ก็อาจจะเป็นรุ่งโรจน์แหละที่บอกว่าต้องใช้ห้องอัด Center Stage เป็นห้องอัดที่คนยุค 80s อย่างผมจะเห็นบ่อยๆ ในปกอัลบั้ม เพราะเวลาเปิดดูปกอัลบั้มของอัสนี-วสันต์ หรือคาราบาวก็จะอัดที่ Center Stage หมดเลย พอดีผมค่อนข้างสนิทกับพี่เขียว คาราบาว (กีรติ พรหมสาขา ณ อยุธยา) ซึ่งดูแลห้องอัดนี้อยู่ พวกเราก็เลยได้ไปอัด แถมยังได้พี่เขียวมาเป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ด้วย

     “ผมว่าพอเล่มแรกเราทำได้ แล้วเพลงมันออกมาดี ทำให้ปีต่อๆ ไปมีศิลปินที่รอให้เราชวน เขาจะรู้สึกภูมิใจที่ DDT ชวนเขามาเป็นหนึ่งในซูเปอร์แบนด์ แล้วเขาก็ใส่เต็มที่ ซึ่งก็เพราะปีแรกเลยนะ ทำให้ปีต่อๆ มามันง่ายหมดเลย

     “ถ้าจะมีสิ่งไหนที่ผมเสียดายที่สุดจากการไม่ได้ทำ DDT แล้วก็คือสิ่งนี้ สำหรับผม สี่เพลงนี้คือดีหมดเลยนะ มันเป็นเพลงที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของโปรดิวเซอร์แต่ละวงด้วย”

TRACK 6

     ถึงจะเป็นนิตยสารเพลง และป๋าเต็ดเองก็มีภาพจำผูกติดอยู่กับคลื่นเพลงเด็กแนวอย่าง FaT Radio แต่เมื่อต้องนำเสนอเนื้อหาใน DDT จริงๆ เขาก็ไม่ต้องการจำกัดวงหรือศิลปินเอาไว้กับความนอกกระแส

     เพราะหนึ่งในเป้าหมายของป๋าเต็ดก็คือการทำให้ DDT เป็นนิตยสารที่คนชอบฟังเพลง ไม่ว่าจะแนวไหน ก็สามารถสนุกไปกับการอ่านได้

     “ถ้าสังเกตเซคชั่นหนึ่งในหนังสือที่ชื่อ We are what we hear ก็จะเห็นเลยว่ากองบรรณาธิการของเราฟังเพลงกันหลากหลายแนวมาก ซึ่งนั่นเป็นความตั้งใจ เพราะผมไม่อยากให้ DDT เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ผมอยากให้ DDT เป็นหนังสือเพลงของทุกคน ดังนั้นเรื่องการขึ้นปกก็จะถกเถียงกันมาก แต่ถกกันด้วยความสนุกนะฮะ เช่น มีอยู่ฉบับหนึ่งเราให้ Girly Berry ขึ้นปก บางคนก็จะบอกว่า เฮ้ย เราไม่ใช่นิตยสารเพลงป๊อปขนาดนั้น ในขณะที่ผม ซึ่งเป็นอีกฝั่งหนึ่งก็จะบอกว่า ไม่จริง ความจริงแล้ว เราน่าจะสะท้อนสิ่งที่มันเกิดขึ้นในวงการเพลง คนกำลังฟังเพลงอะไร เราก็สะท้อนสิ่งนั้น หน้าที่ของเราคือต้องทำให้แตกต่าง สิ่งที่เราควรทำคือสัมภาษณ์ หรือถ่ายรูป Girly Berry ให้ต่างจากเวลาที่เขาไปลงเล่มอื่นมากกว่า”

    ข้อถกเถียงจบลงตรงไหน—เราสงสัย

     “ในที่สุดก็คือผมนี่แหละฮะเป็นคนตัดสิน (หัวเราะ) ก็จะปล่อยให้อภิปรายกันเต็มที่ แต่ว่าบางทีมันก็ต้องมีความเผด็จการบ้าง บางครั้งเราก็จะบอกเลยว่าอันนี้กูขอแล้วกันวะ เพราะอยากได้จริงๆ ลูกน้องก็จะตัดพ้อบ้างอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะมาเยาะเย้ยกันทีหลัง แบบว่านี่ไง ไม่เห็นขายดีเลย ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ บางทีเราคาดไม่ถึงนะฮะ

     “ลองไปเปิดดูหน้าที่เราให้สั่งนิตยสารย้อนหลังได้ ลองดูฉบับที่ขายหมด แล้วคุณจะเห็นอะไรที่มันไม่น่าเชื่อ เช่น Big Ass, Bodyslam ขายไม่หมด ขณะที่ Sqweez Animal หรือ Stylish Nonsense กลับขายหมดก่อน ซึ่งไอ้เรื่องแบบนี้แหละที่ผมจะถูกเยาะเย้ย แต่มันก็เป็นบทเรียนนะ ผมก็จะพยายามมองว่า วันที่เราเอา Big Ass, Bodyslam มาขึ้นปก เขาก็ขึ้นปกนิตยสารเล่มอื่น ทั่วแผงเลย ในขณะที่ Stylish Nonsense นั้น เขายังไม่เคยขึ้นปกที่ไหน มันก็เป็นดาบสองคม คือคนก็อาจไม่รู้จัก แต่ในขณะที่แฟนเพลงแนวนี้ เขาก็จะรีบซื้อทันที

     “ผมเลยไม่ได้เรียนรู้การทำหนังสืออย่างเดียว ผมยังได้เรียนรู้เรื่องการตลาด เรียนรู้เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคในแบบที่เรากำลังคุยกับเขาไปด้วย”

B SIDE:

วันที่ตื่นจากฝัน

     ย้อนกลับไปในวันนั้น ป๋าเต็ดเคยถูกขนานให้เป็นถึงขั้น ‘ศาสดาเด็กแนว’

     ด้วยบทบาทของการเป็นหัวเรือใหญ่ FaT Radio คลื่นวิทยุที่แทบจะเป็นเหมือนคลื่นสามัญประจำบ้านของวัยรุ่นไทยในยุคหนึ่ง แล้วไหนจะเป็นผู้จัดงาน FaT Festival เทศกาลดนตรีที่ผู้เข้าร่วมงานเยอะขึ้นทุกปีๆ จากที่เคยแจกบัตรให้เข้างานฟรี ก็ต้องมีการควบคุมปริมาณด้วยการตั้งราคาขาย

     ถ้ามองกันแบบง่ายๆ ว่ากลุ่มคนฟัง FaT ต้องชอบอ่าน DDT ก็อาจแปลได้ว่านิตยสารเล่มนี้มีฐานคนอ่านเหนียวแน่น

     แต่ชีวิตจริง ไม่อาจมองได้ง่ายแบบนั้น

     เพราะการหวังให้เด็กแนวอ่าน DDT อาจไม่เพียงพอสำหรับการหล่อเลี้ยงความฝันของคนทำนิตยสารฉบับหนึ่ง

TRACK 7

     แม้ DDT ฉบับแรกจะเขียนอยู่บนหน้าปกว่าเป็นฉบับเดือนมกราคม 2005 แต่นิตยสารเล่มนี้กลับปรากฏตัวครั้งแรกในงาน FaT Festival ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2004

     เหตุผลก็เพราะป๋าเต็ดมองว่าผู้คนที่ไปงาน FaT Festival คือกลุ่มเป้าหมายของ DDT

     “ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มเป้าหมายหลัก เพราะคนที่จะสนับสนุนนิตยสารเล่มนี้ต้องเป็นคนที่สนใจดนตรี แต่เราก็มาพบในภายหลังว่า คนฟัง FaT อย่างเดียวไม่เพียงพอทำให้นิตยสารมีชีวิตอยู่ได้

     “เราเพิ่งมารู้ว่าคนอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือ ขณะที่ FaT Radio คือฟังฟรี ยิ่งฟังเยอะก็ยิ่งดีกับทุกฝ่าย แต่กับตัวนิตยสารนั้น เขาอ่านเสร็จก็ให้เพื่อนยืมต่อได้ DDT มีแฟนคลับนะครับ เขาอาจจะเขียนจดหมายมาหาเราด้วยซ้ำ แต่ว่าทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดยอดขาย

     “ในเชิงธุรกิจ มันแปลว่าเราต้องการกลุ่มคนอ่านที่มากกว่าแค่คนฟัง FaT Radio เพราะต้นทุนการทำหนังสือแพงมาก ถ้าคุณอยากใช้กระดาษดีๆ อยากได้คุณภาพการพิมพ์ที่ดี ทุกอย่างก็คือต้นทุนหมดเลย สิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือว่า ถ้าเรามีผู้อ่านน้อย เราก็ต้องพิมพ์น้อย ซึ่งพอพิมพ์น้อย ต้นทุนต่อฉบับยิ่งแพง ถ้าเราอยากให้ต้นทุนต่อเล่มถูกลง เราก็ต้องพิมพ์ให้เยอะ ซึ่งถ้าเราพิมพ์เยอะ แต่ถ้าผู้อ่านเรายังไม่เยอะพอ มันก็จะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอีก”

     80 บาท คือราคาขายบนหน้าปกของ DDT ซึ่งป๋าเต็ดบอกว่าราคานี้ไม่ทำให้เขาได้กำไรเลย

     “ณ วันนั้นเวลาผมได้ยินยอดขายของหนังสือแบบ ทีวีพูล, คู่สร้างคู่สม ที่เขาพิมพ์ครั้งละเป็นแสนๆ เล่ม ผมอิจฉามากเลย เพราะถ้าเขาพิมพ์จำนวนเล่มขนาดนั้น แปลว่าต้นทุนต่อฉบับจะถูกมาก แล้วก็จะทำให้เขาขายในราคาที่ถูกลงอีก

     “พอมาทำหนังสือแล้ว ผมถึงเข้าใจว่า Rolling Stone หรือ Entertainment Weekly เขามีการบาลานซ์ระหว่างครีเอทีฟและการตลาดที่จะทำให้มันโตควบคู่กันไป บวกกับสังคมรักการอ่าน และเอาเข้าจริงก็อาจเป็นเรื่องของการตลาดด้วย ถ้าเราจับถูกกลุ่มก็จะมีกลุ่มตลาดที่ใหญ่พอจะทำให้มีคนอ่านหนังสือเราเยอะ”

TRACK 8

     หากมองไปที่แผงหนังสือในช่วงเวลานี้ เราอาจนึกภาพไม่ออกเลยว่า สิบกว่าปีที่แล้ว แผงหนังสือเคยมีนิตยสารวางเรียงรอให้เลือกเป็นร้อยปก และสำหรับหนังสือในหมวดดนตรี นอกจาก DDT ก็ยังมีอีกหลายเล่ม

     “ตอนที่ DDT ยังตีพิมพ์ วงการหนังสือเป็นอย่างไร” เราถาม

     “จริงๆ ต้องบอกว่าตอนนั้นวงการหนังสือยังอยู่ในช่วงเฟื่องฟู เดินไปแผงหนังสือคือมีนิตยสารเต็มแผง

     “ถ้าเอาเฉพาะวงการเพลง เรามีเจ้าตลาดอยู่แล้วก็คือ สีสัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นบิดาแห่งนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับวงการเพลงนะฮะ เนื้อหาซีเรียสมาก เข้มข้นมาก เรามี Music Express ซึ่งก็จะเน้นเรื่องของวงดนตรีต่างประเทศ จะพูดถึงวงร็อกเยอะหน่อย เรามี The Guitar ซึ่งอันนี้ก็อยู่ยงคงกระพันนะครับ แต่ตอนนั้นรู้สึกจะเป็นช่วงที่เริ่มปรับเป็น The Guitar Mag แล้ว The Guitar จะมีท่าทีที่ชัดเจนของเขา มีความเป็นหนังสือสำหรับคนเล่นกีตาร์ มีคอร์ดเพลง เนื้อหาก็เลยจะครึ่งๆ ระหว่างหนังสือคอร์ดเพลงกับหนังสือที่พูดเรื่องเพลง

     “นอกนั้น ตัวเจ้าตลาดจริงๆ ก็จะเป็นบรรดานิตยสารผู้หญิง นิตยสารแฟชั่นอย่าง แพรวสุดสัปดาห์, LIPS, ดิฉัน

     “เราพบว่านิตยสารที่เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่มีไลฟ์สไตล์สนใจป๊อปคัลเจอร์แบบเดียวกับเรานั้นน้อยมากนะครับ ก็มี a day ที่เขาทำเป็นต้นแบบเลย มี Hamburger ซึ่งมีความเป็นหนังสือบันเทิงมากขึ้น ข้อดีของ DDT ก็คือเราไม่เหมือนใคร เราค่อนข้างมีเอกลักษณ์ แต่ข้อเสียก็คือ เขาไม่รู้จะจับเราอยู่ในหมวดไหน ถ้าจัดอยู่ในหมวดหนังสือเพลงก็แย่เลยทันที เพราะหนังสือเพลงไม่มีใครขายดีสักเจ้า ถ้าจัดอยู่ในหนังสือไลฟ์สไตล์ เราอยู่อันดับโหล่เลย เขาก็ต้องพูดถึง สุดสัปดาห์ พูดถึงอะไรก่อน หรือแม้กระทั่งจัดอยู่ในหมวดหนังสือแปลก ก็ยังมี a day เป็นหัวหอกอยู่ เรามาทีหลัง แล้วแฟนเราก็ไม่เยอะเท่า a day ด้วย เพราะเรื่องที่เราพูดแคบกว่า a day อีก

     “ที่พูดมานี้คืออยากจะบอกว่า ทั้งๆ ที่ตอนนั้นวงการหนังสือยังคึกคักอยู่ แต่ในเชิงการตลาด ในเชิงการทำงาน ในเชิงธุรกิจของ DDT คือแย่มาก อ่อนหัดมาก ยอมรับเลย”

TRACK 9

     นอกจากหวังให้มีผู้อ่านคอยตามซื้ออย่างเหนียวแน่น การอยู่รอดของนิตยสารหนึ่งเล่ม คือการที่มีคนเข้ามาซื้อพื้นที่โฆษณา

     ยิ่งมีเยอะ ยิ่งแปลว่านิตยสารจะหายใจได้โล่งคอ แต่ถ้ายิ่งมีน้อย ก็แปลว่านิตยสารนั้น อาจหายใจไม่ทั่วท้อง

     “การทำ DDT เป็นบทเรียนด้านการตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเวลาที่ผมไปหาลูกค้าหรือเอเจนซี่ พอเขาถามว่าหนังสือเกี่ยวกับอะไร แล้วผมบอกว่ามันคือนิตยสารเพลงที่มีความเป็นไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างคือจบเลย เอเจนซี่จะมองว่าอะไรก็ตามที่ขึ้นต้นด้วยเพลงถือเป็นวงแคบ ที่ถูกต้องคือผมควรบอกว่า DDT คือนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่พูดเรื่องเพลง แต่กว่าเราจะรู้จุดนี้ได้ เขาก็ไม่เชื่อเราแล้ว เพราะ DDT เป็นหนังสือเพลงชัดๆ มันไม่สามารถไปหลอกเขาได้

     “จะเห็นได้ว่าในเล่มหลังๆ เราพยายามเอาตัวรอดแล้ว จะมีปกที่เห็นก็รู้เลยว่าเป็นโฆษณา เราก็ต้องยอมทำ แต่ก็ขอบิดให้มันเป็นโฆษณาในแบบของ DDT หน่อย แทนที่จะเอารถขึ้นปกดื้อๆ เราก็เอาศิลปินนั่งรถเลย คือเราพยายามปลอมตัวให้ดูมีความไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีความแมสมากขึ้น พูดถึงเรื่องที่ต่อให้ไม่ฟัง FaT Radio ก็สนใจได้

     “แต่ในที่สุด พอมาถึงวันนี้ วันที่เรามานั่งคุยกันอยู่ วันที่จะมีคนนึกถึง DDT ก็คือคนฟัง FaT Radio นั่นแหละ เพราะสุดท้ายแล้ว แฟนของเราก็คือคนฟัง FaT Radio ส่วนพวกคนนอกวงที่เราพยายามไปหา ที่สุดแล้วเราก็ไม่สามารถทำให้เขาเป็นแฟนเราได้ เรื่องที่เราพูดมันต่างจากเรื่องที่เขาสนใจมากเกินไป”

     ช่วงหนึ่งของการพูดคุย ป๋าเต็ดบอกว่าเขาเข้าใจมากที่เห็นนิตยสารหรือสำนักพิมพ์ในทุกวันนี้ทยอยปิดตัวกันไปเรื่อยๆ

     “ทุกวันนี้คนอ่านหนังสือน้อยลง เวลาผมเดินไปตามแผงหนังสือ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ต้องใช้คำว่าร้านหนังสือ มันเศร้าใจมากเลยนะเวลามองแผง มันเหลือนิตยสารไม่กี่เล่มเอง หรือแม้แต่หนังสือที่เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเองก็เถอะ ตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่ามันเหลือหนังสืออยู่ไม่กี่หมวดที่ยังคงพิมพ์ได้อยู่ ความหลากหลายของการพิมพ์หนังสือลดน้อยลง

     “เรารู้ว่าคนที่อยู่ในวงการหนังสือ เขาพยายามมากๆ เขาพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะให้มันอยู่รอด เพราะว่าคนที่ทำหนังสือ ถ้าอยากรวยเขาคงไม่มาทำหนังสือ เขาต้องมีความรักในสิ่งที่เขาอยากอ่าน เขาถึงมาทำ แล้วเขาพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้มันรอดได้ในธุรกิจซึ่งจะทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขารักต่อไปได้ มันทำให้ผมนึกถึงวันนั้น วันที่เราตัดสินใจว่าไปต่อไม่ได้แล้ว

     เราตัดสินใจเอ่ยถามว่า “ยังจำวันนั้นได้มั้ย?”

     “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตผมวุ่นวายมาก เป็นช่วงที่ผมย้ายมาทำค่ายเพลงสนามหลวงที่แกรมมี่ เป็นช่วงที่กำลังจะเริ่มต้นทำ Big Mountain Music Festival ผมไม่มีโอกาสกระทั่งได้ประชุมเพื่อตัดสินใจเลิกทำ คือพาร์ตเนอร์ผมที่เป็นฝั่งธุรกิจเป็นคนตัดสินใจ ผมได้แค่คุยกับน้องๆ

     “ตอนนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน และทุกคนก็รู้ตัวฮะ ก็เลิกกันไปแบบเหงาๆ เศร้าๆ แยกย้ายกันไป บางคนก็ยังทำอยู่กับ FaT บางคนก็แยกย้ายไปทำงานต่างๆ

     “มันมีอยู่เล่มหนึ่งที่ผมเชิญพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) มาเป็นบรรณาธิการรับเชิญ ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งที่พี่จิกเขียนในบทบรรณาธิการฉบับนั้น จริงๆ แล้วคือเขียนเตือนสติพวกเราที่ทำงานพวกนี้อยู่ว่า คุณจะมาบอกว่าฉันรักหนังสือ ฉันทำหนังสือเล่มนี้ด้วยความรักและความทุ่มเทไม่ได้ เพราะนั่นไม่ได้แปลว่ามันจะประสบความสำเร็จ เราเลยต้องเอาความรักในหนังสือหรือสิ่งที่เราทำงานอยู่ แปรให้มันกลายเป็นความพยายามที่จะค้นหาความรู้ด้วย แล้วจะได้ทำมันให้ออกมาดีแบบครบถ้วน ซึ่งผมยอมรับว่าวันนั้นผมบ้ากับคำว่ารักไปหน่อย ผมควรจะรู้มากกว่านี้ ผมควรจะขวนขวายหาวิธีในการที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จมากกว่านี้

     “โอเค เนื้อหาในหนังสืออาจจะถูกใจเรา แต่ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ มันก็จะเป็นแบบวันนี้ คือเราก็จะไม่ได้ทำ DDT มันอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมันอยู่ไม่ได้ มันไม่สามารถพิมพ์ขายได้ มันก็ไม่มีคนได้อ่านเนื้อหาที่เรามั่นใจว่ามันดี ใครได้อ่านต้องชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์เลย ถ้ามันไม่ได้ทำออกมา

     “นั่นคือบทเรียนที่ผมใช้กับทุกเรื่องที่จะทำต่อไป คือทุกวันนี้ อะไรที่เราไม่มั่นใจว่าทำได้ อะไรที่เราแค่รัก เราก็เป็นแค่ผู้สนับสนุนไปเถอะ เราไม่จำเป็นต้องไปทำเอง ผมชอบดูหนัง ก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นผู้กำกับหนัง ผมอาจจะเป็นคนชอบดูหนัง แต่กำกับหนังได้ห่วยมาก ถ้าอย่างนั้นก็เลือกเป็นคนดูหนังแล้วมีความสุขกับการดูหนังต่อไป เพราะถ้าเราไม่มั่นใจว่าทำได้ดีก็อย่าเพิ่งทำ”

TRACK 10

     “มองกลับไปจากวันนี้ คิดว่า DDT เป็นนิตยสารที่เพอร์เฟกต์สำหรับป๋าเต็ดมั้ย”

     “Far from perfect เลยฮะ ผมว่า DDT มันเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ทำด้วยความรัก แต่ว่าอย่างที่พี่จิกพูดแหละครับ รักอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องรู้ด้วยว่าอะไรที่มันทำด้วยความรักเนี่ย มันจะมีความกล้าได้กล้าเสียอยู่ค่อนข้างมาก ผมภูมิใจกับหลายสิ่งที่เราได้ทำกับ DDT นะฮะ อย่างเช่นฉบับขายหน้าที่ทั้งเล่มมีแต่รูปหน้าศิลปินกับบทสัมภาษณ์สั้นๆ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าไม่ใช่หนังสือของผม แล้วผมไปเสนอให้ใครทำ ก็คงไม่มีใครบ้าทำด้วย ตัวเราเองก็รู้ว่ามันคงจะเจ๊ง แต่ว่าก็ทำ ซึ่งเราก็พยายามเต็มที่แล้วนะ เราเอาหน้าพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ขึ้นปก เพราะนี่แหละน่าจะเป็นทางรอดของเรา แล้วในที่สุดเล่มนี้ก็ขายหมด

     “คอลัมน์หลายๆ คอลัมน์ ผมก็สนุกกับมันมาก ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกิดจากความรัก เพียงแค่ว่าถ้าเราจะรู้วิธีการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้มากกว่านี้ก็จะดี เพราะมันจะทำให้เราได้ทำสิ่งที่เรารักยืนยาวมากยิ่งขึ้น อันนี้คือบทเรียนที่สำคัญ คงเหมือนที่เขาว่ากันว่ารักคงยังไม่พอ (หัวเราะ)

     “ถ้าวันนี้ได้ทำ DDT อีกครั้งมันจะเป็นยังไง”

     “มันไม่เหมือนเดิมแน่ๆ เพราะว่าผมคงไม่พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ทุกวันนี้เวลาพบปะกับทีมงานที่เคยทำ DDT ก็จะคุยว่าเรากลับมาทำกันอีกดีมั้ย แต่ไม่ต้องพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแล้ว ทำออกมาเป็นสื่อออนไลน์ดีหรือเปล่า ตัวผมเองก็ไปแอบเปิดเพจเฟซบุ๊ก DDT เก็บเอาไว้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไร คือคิดว่ายังมีความหวังอยู่ว่าวันหนึ่งจะกลับมาทำ อาจจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือเอาทุกอย่างใน DDT มาทำให้มันเป็นดิจิทัล ให้คนได้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าไฟล์พวกนี้มันอยู่ที่ไหนกันหมด อาจจะอยู่ไม่ครบแล้วด้วย อาจจะต้องมีการรวบรวม DDT กันสักครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างมันลงไปอยู่เป็นรูปแบบดิจิทัล

     “ลึกๆ แล้วผมยังเชื่อในแบรนด์ DDT นะ ที่มองทุกอย่างผ่านมุมมองของคนรักเพลง แล้วก็พบกันครึ่งทางระหว่างความสนุกกับความซีเรียส โดยเฉพาะวันนี้ที่เส้นแบ่งระหว่างเพลงเมนสตรีมกับอินดี้มันเบลอมากๆ คุณบอกไม่ได้เลยว่าอะไรคือเมนสตรีม อะไรคืออินดี้ DDT เลยเหมาะมาก แค่ว่าคงต้องหารูปแบบที่เหมาะสมกว่านี้

     “ผมยังอยากทำอยู่นะฮะ ถ้ามีนายทุนสนใจ…จะว่าไปคำว่านายทุนยังผิดเลย จริงๆ ทุกวันนี้ก็สามารถทำได้โดยไม่มีนายทุนด้วยซ้ำไป

     “เอาเป็นว่าถ้ามีคนสนใจที่จะช่วยกันทำ ผมว่ามันเกิดขึ้นได้”

HIDDEN TRACK 1

     ท้ายบทบรรณาธิการของ DDT ฉบับที่ 1 ป๋าเต็ดเขียนไว้ว่า

     “คำว่า DDT ไม่มีความหมายครับ พวกเราใช้ชื่อนี้ก็เพราะว่ามันจำง่ายดี และคำนี้มันก็ให้ความรู้สึกร้ายๆ อยู่นิดๆ ตรงกับนิสัยของเราเป๊ะเลย”

     เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นที่คาใจ เราจึงขอลองเอ่ยถามถึงที่มาของชื่อสักหน่อย

     “ทฤษฎีการตั้งชื่อของผมคือ ไม่จำเป็นต้องบอกตรงๆ ว่าเป็นชื่อของอะไร ผมเชื่อว่าชื่อที่ดีคือชื่อที่จำง่าย และชื่อนั้นต้องมีกลิ่นอะไรบางอย่างที่บ่งบอกคาแรกเตอร์ของโปรดักต์นั้นๆ เช่น ผมทำ FaT Radio คำว่าแฟตก็ไม่ได้เกี่ยวกับวิทยุเลย แต่รายการวิทยุที่กล้าตั้งชื่อว่า FaT แปลว่าคลื่นนี้ต้องมีอะไรบางอย่างที่ไม่ธรรมดา

     “ตอนจะเริ่มทำ DDT ผมตั้งชื่อมันว่า กะเหรี่ยง หรือ Karen ซึ่งจริงๆ จะให้คนเรียกว่าคาเรน แต่ชื่อมันก็คือกะเหรี่ยงนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าชื่อนี้ตอบโจทย์ในเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ มันคือเรื่องของคนชายขอบที่ไม่มีใครเอาเป็นพวก เราก็เลยต้องพยายามทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น ผมชอบชื่อนี้มาก แต่ว่าไม่มีใครเอาด้วยเลย

     “อีกชื่อหนึ่งคือ Monster หรือ สัตว์ประหลาด ตอนนั้นมีหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด! ของเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) พอดี เราก็เลยคิดว่าจะใช้ชื่อนี้ คือผมยังเชื่อเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าเราไม่ใช่แมส เราแม่งบ้าๆ บอๆ แต่ก็ไม่มีใครเอาอีก ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเพิ่งมีหนังของเจ้ยนั่นแหละ เขาก็เลยกลัวว่าจะไม่ออริจินอล

     “ผมก็เลยให้แต่ละคนเสนอชื่อ อะไรก็ได้ที่จำง่ายแล้วดูมีความกบฎ ไม่เอาชื่อที่ดูเรียบร้อย ผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าผมหรือใครเป็นคนเสนอชื่อ DDT คือแค่รู้สึกว่าชื่อนี้จำง่าย แล้วมันฆ่าแมลงได้ มีความเป็นนักรบผู้กล้าฆ่าได้ทุกอย่าง ดูห้าวดี ก็เลยเอาชื่อนี้ พอโยนให้อาร์ตไดเรกเตอร์ลองออกแบบโลโก้ ซึ่งก็ได้อิทธิพลมาจากนิตยสาร i-D เหมือนกันนะ เพราะถ้ามอง i-D อีกมุมหนึ่งมันจะเหมือนคนยิ้ม ของเราก็คือกระป๋อง DDT แต่ต้องมองจากด้านข้าง ผมซ่อนมันไว้ ไม่ได้บอกใคร”

HIDDEN TRACK 2

     ถ้าพูดแบบในรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก ก็ต้องบอกว่า คำถามนี้ไม่ถามไม่ได้

     จากการรับรู้ DDT ฉบับสุดท้ายที่วางแผงคือฉบับที่ 49 แต่ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเคยมีผู้พบเห็น DDT ฉบับ 50 วางแผงด้วย เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เป็นที่คาใจ และเพื่อไม่ให้การเจอป๋าเต็ดเสียเปล่า เราจึงอยากรู้ว่ามันคือเรื่องจริงหรือหลอก?

     แต่ก่อนจะตอบคำถามที่เราสงสัย ป๋าเต็ดพาเราเท้าความไปก่อนหน้านั้นสักนิดว่า ในช่วงที่ DDT ทำฉบับที่ขึ้นต้นด้วยเลข 4 นิตยสารเพลงเล่มนี้เดินเข้าสู่หมวดเอาตัวรอดถึงขั้นต้องคุยกันแบบวันต่อวัน ต้องวัดยอดขายกันแบบเล่มต่อเล่ม จนกระทั่งวันที่ฉบับ 49 วางแผง พวกเขาก็รู้ตัวว่านิตยสารที่ปลุกปั้นมากับมือคงไปต่อไม่รอดแล้ว

     “ตอนนั้นคือไม่มีเงินทุนหมุนเวียนแล้ว เราพยายามทุกวิธีแล้ว และคิดว่าคงไม่มีทางกลับมาได้ ก็เลยตัดสินใจระหว่างปิดต้นฉบับเล่มที่ 50 เลย”

    “แปลว่าฉบับที่ 50 มีอยู่จริง?” เราถามอีกครั้ง 

     “มันมีอยู่จริงฮะ เราทำฉบับนี้จนเสร็จ หน้าปกคือ เล็ก วงพราว (สุรชัย กิจเกษมสิน) ตอนแรกเราก็จะไม่พิมพ์ เพราะว่าเราตัดสินใจปิดกิจการแล้ว และการพิมพ์หนังสือมันก็ต้องใช้ตังค์ แต่เนื่องจากว่าเรามีภาระผูกพันกับสปอนเซอร์ เขาจ่ายตังค์ค่าโฆษณามาแล้ว เราก็เลยจำเป็นต้องพิมพ์ออกมา เพื่อนำไปให้สปอนเซอร์ เพียงแต่ว่าฉบับนี้เราพิมพ์น้อยมาก สปอนเซอร์น่าจะเพิ่งรู้ตอนนี้เลยว่าพิมพ์แค่ 100 เล่ม

     “ส่วนใหญ่เราก็ส่งให้บรรดาสปอนเซอร์และอาจจะมีส่งให้สมาชิกบ้าง ซึ่งสมาชิกก็ไม่เยอะหรอก ผมเองยังไม่มีเล่มนี้เลย จำได้ว่าที่กองบรรณาธิการมีเหลืออยู่เล่มเดียว แล้วเล่มนั้นก็ถูกคุณพิซซ่า วงพราว (ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์) ขอยืมไปอ่าน เราก็เลยส่งไปให้เขา ก็ถือโอกาส ณ ตอนนี้เลยว่า คุณพิซซ่าครับ คุณยืมไปแต่คุณยังไม่ได้คืนนะฮะ ดังนั้นถ้าหาเจอ เอามาคืนด้วย แต่ก็พูดยาก คุณเป็นศิลปินที่อยู่ในเล่ม คุณก็อาจจะสมควรที่ได้เก็บไว้ (หัวเราะ)

     “เอาเป็นว่าใครมีเล่มนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าเวลามันไปอยู่ในมือของบรรดาเอเจนซี่โฆษณาทั้งหลาย คุณอาจจะแค่ตรวจว่ามีโฆษณาของคุณอยู่หรือเปล่า แล้วก็อาจจะไม่ได้เก็บไว้ ถ้าคิดจะทิ้ง ส่งมาให้ผมได้นะครับ มันมีคุณค่ามาก ผมเองยังไม่มีเลย”

HIDDEN TRACK 3

     ก่อนจากกัน เรายังมีอีกสิ่งที่คาใจ ว่าถ้าทุกวันนี้ยังมี DDT อยู่ ป๋าเต็ดจะจัด DDT Superband อย่างไร

     ต่อไปนี้คือ DDT Superband 2020 ที่ถูกจัดและคัดสรรโดยป๋าเต็ด บรรณาธิการตัวใหญ่ของ DDT

     “DDT Superband ควรสะท้อนภาพรวมของวงการเพลงไทยในปีนั้น แนวเพลงที่ได้รับความนิยม ศิลปินที่ถูกกล่าวขวัญถึง และเลือกให้ผสมกันออกมาแล้วน่าสนใจ ปีนี้เลยเลือกแนวดนตรีที่น่าจะได้รับความนิยมที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นีโอโซล, เจแปนีสซิตี้ป๊อป และท่อนแรป ปังๆ ปุริเย่”

DDT Superband 2020

     แนวเพลง: นีโอโซล ผสมกลิ่นซิตี้ป๊อป

     PRODUCER: NINO / เพราะน่าจะเป็นเจ้าของซาวนด์แห่งปีนี้

     SONGWRITER: แว่นใหญ่ / นี่คือเครื่องจักรผลิตเพลงฮิตของจริง

     LEAD VOCAL: Palmy / DDT Superband ยังไม่เคยมีนักร้องนำหญิงเป็นตัวหลักเลย นี่น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะ

     RAPPERS: F. Hero และ Milli / ตัดใจเลือกคนเดียวไม่ลง เลยขอมีทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ที่แสบที่สุด

     GUITAR AND CHORUS: กานต์ The Parkinson และ The TOYS / ชอบสำเนียงกีตาร์ของทั้งคู่ และชอบเสียงร้องด้วย

     BASS AND SYNTHESIZER: เพียว Polycat / ตัวแทนฝั่งซิตี้ป๊อปที่เหมาะสมที่สุด

     DRUMS: ต่อ Ghost Band (ต่อ Silly Fools) / ในทางแนวดนตรีอาจจะไม่ใช่ แต่ในทางฝีมือ ผมว่าเขาทำได้ทุกแนว และเขาน่าจะเป็นมือกลองที่คนพูดถึงมากที่สุดตอนนี้ด้วย

     KEYBOARD AND CHORUS: อิ้งค์ วรันธร / ต้องบอกเหตุผลด้วยเหรอ : )