Tue 14 Dec 2021

WHAT HAPPENS TO THE BODY OF DEAD ASTRONAUTS IN SPACE?

ตอบคำถามคลายความสงสัยว่ามนุษยชาติทำยังไงกับศพของนักบินอวกาศ

ภาพ: ms.midsummer

โปสเตอร์หนังเรื่อง Gravity 
นำแสดงโดย แซนดรา บูลล็อก และ จอร์จ คลูนีย์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริง 
ภาพจาก: Warners Bros. Pictures

     ที่ระดับความสูงไปจากโลกหลายร้อยกิโลเมตร นักบินอวกาศคนหนึ่งกำลังออกไปปฏิบัติภารกิจภายนอกสถานีอวกาศ ทันใดนั้น อุกกาบาตก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่ลอยอยู่ในอวกาศก็ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามา และบังเอิญเส้นทางเดินทางไปตัดเข้ากับสถานีอวกาศพอดี ก้อนอุกกาบาตที่พุ่งมาด้วยความเร็วกว่า 10 กิโลเมตร/วินาที หรือเร็วกว่ากระสุนปืนมากกว่าสิบเท่า และด้วยความเร็วเท่านี้ ไม่มีทางที่นักบินอวกาศจะสามารถรับรู้ล่วงหน้าและหลบหลีกได้ทัน ก้อนอุกกาบาตจึงพุ่งเข้าชนนักบินอวกาศราวกับเศษกระดาษบางๆ เสียงสัญญาณเตือนในชุดนักบินอวกาศบอกเตือนถึงอากาศที่กำลังรั่วไหล ก่อนที่จะเงียบไปในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา จากสภาวะสุญญากาศที่เกิดขึ้นทำให้ของเหลวในร่างของนักบินอวกาศระเหยอย่างเฉียบพลัน อากาศถูกดึงออกไปจากปอดของเขา จนในที่สุดเหลือไว้เพียงร่างอันไร้วิญญาณ

     คำถามก็คือ หลังจากนั้นเราจะจัดการอย่างไรกับร่างของนักบินอวกาศคนนี้?

     จากสถานการณ์ที่กล่าวมาเป็นเพียงสถานการณ์สมมติ แต่ด้วยการเดินทางไปยังอวกาศที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีโครงการที่จะไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารของมนุษยชาติในเร็วๆ นี้ สถานการณ์ข้างต้นจึงอาจเป็นสิ่งที่เราจะต้องเจอในอีกไม่ช้านี้ก็ได้

     แต่ก่อนจะไปดูว่าปัจจุบันเรามีแนวทางจัดการอย่างไรบ้าง น่าจะเป็นการดีหากเรามาย้อนดูกันเสียก่อนว่า ในอดีตที่ผ่านมา เราจัดการกับนักบินอวกาศจากกรณีที่เสียชีวิตในอวกาศอย่างไร 

     จากประวัติศาสตร์ของการส่งมนุษย์ไปยังนอกโลกตลอดกว่าหกสิบปี รวมไปถึงช่วงแรกๆ ของ space race ที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตทุ่มทุกอย่างเพื่อที่จะแข่งขันไปยังอวกาศนั้นเกิดอุบัติเหตุระหว่างภารกิจมากมาย ไหนจะ Apollo 13 ที่เฉียดตายกับภารกิจไปดวงจันทร์เมื่อปี 1970 ไหนจะสถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศไปเยือนบ่อยๆ หรือภารกิจ space walk ที่นักบินอวกาศต้องออกไปเผชิญสภาวะสุญญากาศอันเวิ้งว้างของอวกาศโดยลำพัง ซึ่งมันจะไม่เคยมีอุบัติเหตุการสูญเสียชีวิตในอวกาศบ้างเลยหรือไร? แล้วที่ผ่านๆ มาเราทำยังไงกับศพนักบินอวกาศกัน?

     แต่เชื่อมั้ยครับว่าในความเป็นจริงแล้ว… เรายังไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเอาศพนักบินกลับลงมายังโลกเลย

กระสวยอวกาศ Challenger ระเบิดขึ้นเหนือฐานปล่อย 
นับเป็นหายนะที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การส่งจรวด
ภาพจาก: องค์การอวกาศนาซ่า

     แน่นอนว่านี่ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางไปอวกาศนั้นปลอดภัย ไร้ซึ่งอุบัติเหตุ เพราะจนถึงทุกวันนี้ (ปี 2021) เคยมีมนุษย์สังเวยชีวิตให้กับการเดินทางอวกาศไปแล้วทั้งสิ้นกว่าสามสิบคน ตั้งแต่ยานอวกาศ Soyuz 1 ของสหภาพโซเวียตที่พุ่งตรงลงสู่พื้นโดยตรงเนื่องมาจากร่มไม่ยอมกาง X-15 Flight 3-65-97 ของฝั่งสหรัฐฯ รวมไปถึงหายนะจากกระสวยอวกาศ Challenger ระหว่างบินขึ้น และ Columbia ระหว่างลงจอดของนาซ่า ที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศและพลเรือนไป 14 คน ยังไม่ต้องพูดถึงนักบินอวกาศจำนวนมากที่เสียชีวิตในช่วงระหว่างการทดสอบ โดยเฉพาะในกรณีของ Apollo 1 ที่เกิดเพลิงไหม้ภายในห้องนักบินขณะที่ยานจอดอยู่เฉยๆ ณ ฐานปล่อย แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในชั้นบรรยากาศของโลก จึงไม่นับเป็นการเสียชีวิตในอวกาศเสียทีเดียว

     เหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับการเสียชีวิตในอวกาศที่สุดเกิดขึ้นในปี 1971 โดยภารกิจ Soyuz 11 ของสหภาพโซเวียต ที่ขึ้นไปเทียบท่า (docking) กับ Salyut 1 สถานีอวกาศแห่งแรกของโลก ก่อนที่จะแยกตัวและลงจอดบนโลกอย่างปลอดภัยด้วยระบบการลงจอดอัตโนมัติ แต่เมื่อทีมภาคพื้นไปถึงและเปิดห้องนักบินออก พวกเขากลับพบเพียงร่างไร้ชีวิตของนักบินอวกาศทั้งสาม

อนุสรณ์สถานแก่นักบินอวกาศชาวรัสเซียสามคน 
Georgi T. Dobrovolski, Vladislav N. Volkov, and Viktor I. Patsayev 
มนุษย์เพียงสามคนในประวัติศาสตร์ที่เคยเสียชีวิตในอวกาศ  
ภาพจาก: niskgd.ru

     จากการสืบสวนในเวลาต่อมาพบว่า ภายหลังจากที่ยานแยกตัวออกจากสถานีอวกาศนั้น วาล์วตัวหนึ่งทำงานผิดพลาด ทำให้อากาศในห้องนักบินถูกปล่อยออกไปยังห้วงอวกาศภายนอก ส่งผลให้นักบินทั้งสามเสียชีวิตแทบจะทันที สภาวะสุญญากาศเฉียบพลันทำให้เลือดและของเหลวในร่างของนักบินระเหิดออก อากาศในปอดถูกสูบออกไป และปริมาณออกซิเจนที่ลดลงจึงทำให้หมดสติในทันที ส่งผลให้พวกเขาเสียชีวิตในที่สุด และจนถึงทุกวันนี้ (ปี 2021) ก็ยังคงมีเพียงนักบินทั้งสามคนจาก Soyuz 11 ที่เสียชีวิตเหนือเส้นแบ่งขอบเขตชั้นบรรยากาศโลกและอวกาศในระดับความสูง 100 กิโลเมตร ที่เรียกว่าเส้นคาร์มัน (Kármán line) กล่าวคือพวกเขาเป็นมนุษย์เพียงสามคนในประวัติศาสตร์ที่เคยเสียชีวิตในอวกาศนั่นเอง

     แม้สามคนนี้จะถูกบอกว่าตายในอวกาศ แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอน re-entry ที่กำลังนำมนุษย์ทั้งสามกลับลงมายังพื้นโลก ทำให้เรายังไม่เคยต้องเจอกับสถานการณ์ที่จะต้องนำร่างของมนุษย์ในอวกาศกลับลงมายังพื้นโลกเลย

     คำถามถัดไปที่เราอาจจะถามก็คือ แล้วนาซ่ามีการวางแผนจัดการกับกรณีที่นักบินอวกาศเสียชีวิตในอวกาศอย่างไร?

     คำตอบก็คือ… ไม่มี!

     กว่าที่นักบินอวกาศจะได้ขึ้นบินไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศนั้น จะต้องผ่านการฝึกฝนและเตรียมตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉินหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน แต่สิ่งหนึ่งที่นักบินอวกาศ เทอร์รี่ เวิร์ตส์ (Terry Virts) ซึ่งเคยบินไปยังสถานีอวกาศสองภารกิจ และกระสวยอวกาศหนึ่งภารกิจ เปิดเผยว่าเขายังไม่เคยได้ฝึกเลย คือการจัดการกับศพของเพื่อนนักบิน

นอกจากการฝึกอะไรต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการโพสท่าถ่ายรูปในชุดนักบินอย่างเท่แล้ว 
เทอร์รี่ เวิร์ตส์ นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ กลับไม่เคยต้องฝึกเก็บศพเพื่อนนักบินเลย 
ภาพจาก: องค์การอวกาศนาซ่า

     แน่นอนว่านาซ่าและนักบินอวกาศทุกคนทราบดีถึงความเสี่ยงที่มากับอาชีพ และทุกคนก็ต้องเตรียมพร้อมในระดับหนึ่งที่จะยอมรับถึงความเป็นไปได้นี้ แต่การฝึกจัดการกับศพของเพื่อนนักบินยังคงเป็นสิ่งที่แม้แต่องค์กรอวกาศชื่อดังอย่างนาซ่าได้แค่ ‘รู้ แต่ไม่กล้าพูดถึง’

     แม้ว่านาซ่าจะไม่ได้พูดถึง แต่นักบินอวกาศชาวแคนาดา คริส แฮดฟีลด์ (Chris Hadfield) เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า นี่เป็นอะไรที่เขาและองค์กรอวกาศประเทศอื่นๆ เช่น JAXA และ ESA พูดถึงอยู่ และได้อธิบายประเด็นนี้เอาไว้ในหนังสือของตัวเองอย่าง An Astronaut’s Guide to Life on Earth ด้วย 

คริส แฮดฟีลด์ นักบินอวกาศชาวแคนาดา ที่นอกจากจะเขียนหนังสือแล้ว 
ยังเคยเล่นกีต้าร์โซโลเพลง Space Oddity ของ เดวิด โบวี่ บนสถานีอวกาศนานาชาติอีกด้วย

     เนื่องจากตัวนาซ่าเองนั้นไม่ได้มีมาตรการที่แน่ชัดเกี่ยวกับการจัดการกับศพของนักบิน ภาระหน้าที่ในการตัดสินใจจึงตกเป็นของผู้บังคับการบนสถานีอวกาศในขณะนั้น หากนักบินเกิดเสียชีวิตขณะที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ภายนอกยาน การจัดการอันดับแรกอาจจะเป็นการนำร่างของนักบินอวกาศคนนั้นเข้ามาในยานเสียก่อน เพราะการปล่อยให้ลอยอยู่นอกยานอาจจะทำให้ร่างของนักบินอวกาศกลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะอวกาศ (space debris) ซึ่งอาจลอยมาชนสถานีอวกาศหรือดาวเทียมอื่นๆ ในภายภาคหน้าได้

     แต่ทันทีที่เรามีศพของนักบินอยู่ในสถานีอวกาศแล้ว​ ศพนี้ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะนำมาซึ่งอันตรายทางชีวภาพในไม่ช้า ศพที่เริ่มเน่าเสียจะไม่เพียงแต่ปล่อยกลิ่นเหม็นอบอวลไปทั้งสถานี แต่อาจนำมาซึ่งโรคระบาด และแบคทีเรียหรือเชื้ออื่นๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย อย่างในกรณีเรือดำน้ำบนโลกที่ต้องปฏิบัติภารกิจเป็นเวลานาน หากมีลูกเรือเสียชีวิต บางครั้งก็อาจจะต้องแช่เย็นศพเอาไว้ในส่วนของตอร์ปิโดที่มีอุณหภูมิเย็น และไกลจากส่วนห้องพักของลูกเรือ จึงเป็นไปได้ว่านักบินอวกาศในสถานีอวกาศอาจจะยึดแนวปฏิบัติใกล้เคียงกัน อีกทั้งทุกวันนี้ภายในสถานีอวกาศก็มีการจัดเก็บขยะเอาไว้ในส่วนที่เย็นที่สุดของสถานีอยู่แล้ว เพื่อลดการเติบโตของแบคทีเรีย นักบินอวกาศก็อาจนำศพเพื่อนร่วมเดินทางไปแช่เอาไว้จนกว่าจะมียานขนส่งมารับกลับลงไปพร้อมสัมภาระอื่นๆ

     แม้ว่าปัจจุบัน นาซ่าอาจจะยังไม่มีมาตรการรองรับสถานการณ์เช่นนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านาซ่าไม่ได้มีการวางแผนอะไรเอาไว้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อปี 2005 นาซ่ามอบทุนสนับสนุนการวิจัยแก่บริษัท Pomessa จากสวีเดน ที่ใช้เทคโนโลยีคล้ายกับการแช่อาหารแบบฟรีซดราย (freeze dry) โดยการนำศพไปแช่เย็นในห้วงอวกาศ (แทนด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลวบนโลก) จนกระทั่งแข็งและน้ำถูกกำจัดทิ้งไปหมด จากนั้นแขนกลจะทำการ ‘เขย่า’ จนเศษศพนั้นป่นเป็นผง คล้ายกับเถ้ากระดูกที่ได้จากการแช่เย็น และเถ้ากระดูกเย็นของมนุษย์ที่เหลือมวลเพียง 20 กิโลกรัม จึงสามารถนำมาห่อเก็บไว้เพื่อเดินทางกลับมายังโลกได้ ซึ่งเราคงได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีวันต้องใช้เทคโนโลยีที่ฟังดูน่าสยดสยองเช่นนี้

คุณจะมอง ‘Astronaut ice cream’ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ภาพจาก: Battleship USS Iowa Museum

     อย่างไรก็ตาม หากวันหนึ่งข้างหน้าเราเดินทางไปเหยียบพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างเช่นดาวอังคารได้ในที่สุด ระยะทางและระยะเวลาเดินทางอันแสนยาวนานนั้นอาจจะทำให้การนำศพของผู้เสียชีวิตกลับมาไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผลอีกต่อไป เป็นไปได้สูงว่าเราอาจจะต้อง ‘ฝัง’ ศพผู้เสียชีวิตทิ้งไว้บนดาวอังคาร แต่นี่ก็นำไปสู่ปัญหาถัดไป เพราะว่าในปัจจุบันนี้ ยานสำรวจทุกลำที่ถูกส่งไปดาวอังคารนั้นจะต้องฆ่าเชื้ออย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีจุลินทรีย์ใดจากบนโลกไปตั้งรกรากบนดาวอังคารได้ แต่ถ้ามนุษย์ฝังศพทิ้งเอาไว้ถาวร ย่อมหมายถึงการนำจุลินทรีย์ทุกอย่างที่อยู่ในร่างกายมนุษย์ และสารอินทรีย์ทั้งหมดฝังลงไปพร้อมกันด้วย และเนื่องด้วยสภาวะอันสุดขั้วของดาวอังคาร จะเท่ากับทำหน้าที่เก็บรักษา ทำให้ศพของมนุษย์และจุลินทรีย์ที่ถูกฝังไม่มีวันเน่าสลายไป ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยหรือล้านปี ซึ่งเป็นอีกคำถามหนึ่งที่เราจะต้องถามกันว่าเราจะจัดการกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไร

แล้วเราจะต้องไปช่วย แมตต์ เดมอน กลับมาอีกกี่ครั้ง??? 
บางทีการฝังอาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าก็ได้ 
ภาพจาก: ภาพยนตร์ The Martian โดย 20th Century Fox

     แต่ในอีกทางหนึ่ง หากเรามาถึงวันที่มีมนุษย์ไปเหยียบบนดาวอังคารจนเป็นเรื่องปกติแล้ว เราอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องการปนเปื้อนจากสิ่งมีชีวิตบนโลกอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้