หนังสือ: ล้ม ลุก เรียน รู้ FAIL AND LEARN
ธนา เธียรอัจฉริยะ เขียน
สำนักพิมพ์ KOOB
ครูและอดีตเจ้านายที่เคารพเคยสอนว่า จงสร้างงานจากความรู้สึกอิจฉา ไม่ได้แปลว่าให้ริษยาอยากได้อยากมีแบบเขา แต่อิจฉาที่เขาทำงานเจ๋งๆ แบบนั้นได้ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับดิฉันเสมอ เมื่อเห็นนิตยสารอิสระของต่างประเทศประกาศพิมพ์เล่มใหม่ ตั้งแต่คอนเซปต์ ชุดภาพ วิธีการเล่าเรื่อง ยิ่งจับกระดาษยิ่งอิจฉา เพราะอยากทำหนังสือแบบนั้นได้บ้าง หรือตอนที่ดูรายการวาไรตี้ญี่ปุ่นก็อิจฉาว่าเขาจับเรื่องที่ดูธรรมดาอย่างปัญหาการเทขนมอบกรอบจากขวดปากแคบไม่ออก แล้วต่อยอดเป็นสารคดีสัมภาษณ์โรงงานขนมไปจนนักวิชาการด้านฟิสิกส์ได้ยังไง หรือตอนที่อ่านงาน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วอิจฉาสำนวนสวิงการประดิษฐ์คำที่สนุกไร้กระบวนท่าแบบนั้น
แน่นอนการอ่าน ‘ล้ม ลุก เรียน รู้’ ของดิฉันก็เริ่มต้นจากความอิจฉา (ในฐานะคนทำหนังสือ ยอมรับว่ามีปนริษยาเล็กน้อยกับตัวเลขจำนวนครั้งที่พิมพ์บนปก) นั่นก็เพราะ ‘พี่โจ้—ธนา เธียรอัจฉริยะ‘ เป็นผู้นำทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในวงการธุรกิจ เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก เป็นพ่อของลูกสาวสองคน เป็นผู้บริหาร เป็นที่ปรึกษา และเป็นรุ่นพี่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ หลังเรียนจบพี่โจ้ทำงานและเติบโตในสายการเงิน ผ่านงานหลากหลาย และสร้างชื่อจากการเป็นผู้สร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ แถมชีวิตหลังจากนั้นก็สนุกมากอย่างที่ทุกคนรู้
จากคนที่ไม่เคยอ่านงานพี่โจ้มาก่อน ดิฉันโดนตัวอักษรของเขาตกอย่างจัง (หรือจะบอกว่าสปาร์กจอยก็ไม่ผิดนัก) จากบทที่เล่าถึงเคล็ดลับการเล่าเรื่องให้จับใจคนของอุดม แต้พานิช นั่นคือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเล่าเรื่อง ทำให้คิดถึงตอนเริ่มต้นเขียนบทความธุรกิจชิ้นแรกๆ เมื่อสามปีก่อน ดิฉันอยากเล่าเรื่องธุรกิจที่ดี ธุรกิจที่อาจจะไม่ได้สำเร็จในแง่การเงิน แต่ตั้งใจคิดและทำเพื่อตอบโจทย์ตลาดและหวังจะทำมันอย่างยั่งยืน เล่าผ่านประสบการณ์ของผู้บริหาร ทายาทธุรกิจที่เป็นคนรุ่นใหม่ และแคมเปญทางการตลาดดีๆ ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าสังคมเราขาดตัวอย่างที่ดี แต่ทำงานไปสักพักก็เริ่มหมดไฟ บวกกับหวาดกลัวความสำเร็จในอดีตจนไม่กล้าเล่าเรื่องใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อได้เจอบทความนี้ของพี่โจ้ หน้ากระดาษที่ทิ้งโล่งมานานก็เริ่มมีดอกไม้บาน
ในสังคมให้ค่ากับความสำเร็จ ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แบ่งปันวิธีรับมือกับความล้มเหลวเท่าไหร่ ต่อให้หนังสือทุกเล่มเขียนเหมือนกันว่า จงล้มให้เร็ว และลุกให้ไว แต่เมื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติกลับไม่มีใครโอบอุ้มเราได้เลยสักคน การถ่ายทอดบทเรียนจากความล้มเหลวของพี่โจ้ ที่ทั้งผิดพลาด โง่เขลา แพ้ ด้อย ไม่คาดฝัน กลับลึกซึ้งกว่าความสำเร็จของเขาที่เรารับรู้ผ่านสื่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฉายให้เห็นว่าแม้จะเป็นผู้บริหารที่มีชื่อเสียง เขาก็มีเรื่องผิดพลาดไม่ต่างจากพวกเราทุกคน เช่น การอยู่ในอัตตาของตัวเอง หลังจากได้อยู่ในตำแหน่งสูงตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้วันๆ คิดแต่เรื่องตำแหน่งใหญ่ หรือความมั่นใจที่มากล้นจนสร้างความเข้าใจผิด
ภายใต้ความเรียงขนาด 448 หน้า ผู้เขียนแบ่งการเล่าเรื่องเป็น 4 ตอนตามหลักอิทธิบาทสี่ ซึ่งประกอบด้วย ‘ฉันทะ‘ ความรักในสิ่งที่ทำ ‘วิริยะ‘ ความเพียรพยายาม ‘จิตตะ‘ ความตั้งใจมั่น และ ‘วิมังสา‘ การคิดวิเคราะห์ จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอและทำงานกับคนเก่งในแวดวงต่างๆ มากมาย แบบที่เหมือนได้นั่งคุยกับพี่โจ้ตัวเป็นๆ คุณจะอ่านรวดเดียวจบก็ได้ หรือจะทยอยอ่านวันละบทก็ดี นอกจากเรื่องงานยังมีเรื่องชีวิต สุขภาพ ชอบที่สุดคือบทที่เขียนถึงลูกสาวทั้งสอง แม้บ้านเมืองจะทำให้หมดหวังจนไม่อยากมีลูก แต่ถ้าพ่อของลูกเราคิดได้แบบพี่โจ้ ความหวังในชีวิตก็เพิ่มมาอีกสองขีด
ในบรรดาเรื่องทั้งหมด เราชอบบทรองสุดท้าย ‘#ลลรร‘ คำย่อของ ล้มลุกเรียนรู้ พี่โจ้เล่าความล้มเหลวหรือเรื่องน่าอับอายที่น้อยคนจะยอมเล่า เช่น ช่วงที่ย้ายจากสายการเงินมาทำงานสายการตลาด “วิธีของคนไร้ประสบการณ์แบบผมคือการอ่านตำราการตลาด พยายามดูว่าเบอร์หนึ่งเขาทำอะไร และพยายามทำตามทุกอย่าง ในที่สุดโครงการนั้นมีอันต้องเจ๊งไป” เขาบอกว่ามีหลายเหตุผลของการล้มไม่เป็นท่าในครั้งนั้น แต่อย่างหนึ่งที่เรียนรู้คือ แม้เขาจะเป็นมวยรอง แต่อะไรที่เบอร์หนึ่งทำ เขาและทีมจะไม่ทำ และจะทำในสิ่งที่เบอร์หนึ่งไม่ทำ ต่อให้ยากเย็นแค่ไหน
หลังอ่านจบ ดิฉันเริ่มอยากเรียนหลักสูตร ABC ของสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจที่พี่โจ้ทำร่วมกับคุณหนุ่มเมืองจันท์บ้างแล้ว แต่ยังไม่มากเท่าที่รู้สึกอิจฉาที่พี่โจ้สะสมกัลยาณมิตรได้มากมายขนาดนี้ หากมีหนังสือเล่มหน้า ดิฉันอยากอ่านบทสนทนาระหว่างพี่โจ้กับมิตรสหายผู้เป็นครูของเขา และในยุคที่แผงหนังสือเต็มไปด้วยหนังสือพัฒนาตัวเอง ดิฉันหวังอยากเห็นงานเขียนของผู้บริหารไทยอีกเยอะๆ เพราะจะมีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขาเหล่านั้น