Fri 19 Feb 2021

FAKE LOVE LETTERS, FORGED TELEGRAMS, AND PRISON ESCAPE MAPS

หนังสือรวมงานออกแบบในภาพยนตร์ที่อาจไม่เคยอยู่ในสายตา แต่กราฟิกดีไซเนอร์ก็ต้องทำโดยไม่ได้หยุดหายใจ

ภาพ: NJORVKS

     หลายสัปดาห์มานี้ เราเห็นคนพูดถึง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) กันเป็นระยะ จนต้องเดินไปสะกิดกราฟิกดีไซเนอร์ของ CONT. ที่ยกให้เวสเป็นผู้กำกับในดวงใจ เพื่อไถ่ถามว่ากระแสเวสมาจากไหน ก่อนจะได้คำตอบเป็นหนังสือ 2 เล่ม ซึ่งเวสไม่ได้เขียน แต่ล้วนแล้วเกี่ยวกับเวสแทบทั้งสิ้น

     เล่มแรกคือ ACCIDENTALLY WES ANDERSON ของ วอลลี โควาล (Wally Koval) ที่รวบรวมภาพถ่ายจากหลายสถานที่ที่ดูแล้วชวนให้นึกถึงฉากในหนังแบบเวสๆ มาตีพิมพ์เป็นเล่มขนาดหนาเบิ้ม ซึ่งวันนี้เราจะยังไม่พูดถึง เพราะสำหรับพวกเราแล้ว เล่มที่ถูกอกถูกใจจนอยากหยิบมาพูดถึงในคอลัมน์ ‘พิมพ์นิยม’ ก็คือ FAKE LOVE LETTERS, FORGED TELEGRAMS, AND PRISON ESCAPE MAPS ที่ ‘แอนนี แอตกินส์’ (Annie Atkins) กราฟิกดีไซเนอร์ประจำกองถ่ายภาพยนตร์ ที่ต้องทำตั้งแต่ออกแบบยันผลิตพร็อพเพื่อการถ่ายทำ เป็นผู้เขียนและเล่าเรื่องมากกว่า

     แน่นอนว่าเมื่อเป็นหนังสือจากชาวกราฟิกฯ มันก็ต้องเต็มไปด้วยความเนี้ยบทางด้านออกแบบ ไม่ว่าเปิดไปหน้าไหนก็เจอแต่ความสวยงาม ยิ่งเธอเป็นคนทำพร็อพด้วยแล้ว แอตกินส์ก็ไม่ลืมที่จะใส่ลูกเล่นไปด้วย แม้จะเพียงน้อยนิด แต่ก็ถือว่าน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้จนเราอดใจไม่ไหว ขอชวนทุกคนที่เคยดู The Grand Budapest Hotel, Isle of Dogs และซีรีส์ The Tudors มาพลิกหนังสือเล่มนี้กันว่าน่าสนใจยังไง หรือถ้าใครยังไม่เคยดูก็ไม่เป็นไร มาดูกันก่อนว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง เผื่อว่าอ่านจบแล้ว คุณจะรีบไปหาหนังมาดู และหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกัน

     ตอนรู้ข่าวว่าจะมีหนังสือพูดเรื่องพร็อพภาพยนตร์จากหนังของเวส แอนเดอร์สัน เราแอบเสียดายอยู่หน่อยๆ ที่คนเล่าเรื่องไม่ใช่ตัวผู้กำกับ นั่นเพราะเวสขึ้นชื่ออย่างมากเรื่องการออกแบบฉากและข้าวของในหนัง จนทำให้ทุกครั้งที่เขาปล่อยผลงานเรื่องใหม่ คนดูจะต้องมีความอยากจัดห้อง จัดบ้านเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในหนังแบบเวสๆ หรือไม่เวลาไปที่ไหนแล้วเห็นข้าวของ ตึก หรือสิ่งใดๆ ที่มีโทนสีและการจัดวางแบบสมมาตร ก็อาจทำให้บางคนนึกไปถึงหนังของเขาได้

     ด้วยเหตุนี้ เราเลยคิดว่าคงสนุกแน่ถ้าเวสมาเผยแนวคิดในการสร้างพร็อพให้เราอ่าน แต่เมื่อเปิดหนังสือดูดีๆ ไล่อ่านไปจนถึงประวัติของผู้เขียน เราก็พบว่าอาจดีแล้วที่เวสไม่ได้เขียน 

     เดี๋ยวก่อน แฟนคลับอย่าเพิ่งจวกยับ เหตุผลที่เราพูดไปเช่นนั้นก็เพราะคุณแอนนี แอตกินส์ ก็มีประวัติน่าสนใจไม่แพ้เวสเลย 

     แอตกินส์เป็นกราฟิกดีไซเนอร์สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ไม่รู้มาก่อนว่ามีคนทำสิ่งนี้โดยเฉพาะด้วย จนกระทั่งอ่านเรื่องราวของคุณแอตกินส์แล้วถึงได้รู้ว่า บางทีเพื่อป้องกันปัญหาจากของที่มีอยู่จริง และบางทีก็เพื่อตอบสนองการสร้างโลกในจินตนาการของผู้กำกับให้เกิดขึ้นจริงได้ กราฟิกดีไซเนอร์ก็ต้องเป็นผู้เนรมิตขึ้นมา

     ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นหนังสือพิมพ์ ใบประกาศ กล่องขนม ข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ที่เมื่อถ่ายทำแล้ว จะเห็นเบลอๆ อยู่แค่ฉากหลัง (เธอบอกว่า 90% ของงานที่ทำ คนดูไม่เคยสังเกตเห็นหรอก) แต่แอตกินส์ก็ต้องออกแบบ และผลิตออกมาใช้ในฉากอย่างจริงจัง เพราะสำหรับเธอแล้ว การที่ผลงานของเธอไม่อยู่สายตาของผู้ชมถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว กลับกัน ถ้าวันใดคนสนใจพร็อพที่เธอทำมากกว่า แอตกินส์ก็อาจจะรู้สึกเฟลหน่อยๆ เพราะเธอคิดว่าการทำพร็อพที่ดี มันควรมีอยู่แต่ก็ไม่ควรโดดเด่น เว้นแต่ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นต้องการใช้กราฟิกดีไซน์ในการเล่าเรื่องจริงๆ

     ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าแอตกินส์จะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เธอยังต้องร่วมมือกับนักออกแบบคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ คนดูแลฉาก นักวาดภาพประกอบ นักออกแบบตัวอักษร คนทำพร็อพ ซึ่งต่างก็ต้องไหว้วานให้แต่ละคนทำสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือถ้าไม่ถนัด แต่อยากท้าทายจะลองทำเองก็ได้ (แอตกินส์บอกว่า ถ้าได้ทำงานออกแบบให้หนังย้อนยุค สมัยที่คอมพิวเตอร์ยังไม่จุติบนโลก บางทีเธอก็จะลงมือทำอาร์ตด้วยการทำมือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ไปเลย) 

     อย่างไรก็ตาม บางกองถ่ายยังมีอีกตำแหน่งหนึ่งที่เธอต้องทำงานคลุกคลีด้วย นั่นก็คือผู้กำกับ ถ้าเกิดวันนั้นเขาอยากได้ของอะไรไปประกอบฉาก หรือรู้สึกว่าหน้าเซตมันรกจังเลย ช่วยทำของอะไรมาบังไว้หน่อยได้มั้ย แอตกินส์ก็ต้องพร้อมจัดให้

     แต่การสร้างของเล็กๆ น้อยๆ นั้นก็ดูเหมือนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย เมื่อเธอได้พบผู้กำกับที่อยากสร้างโลกในหนังของตัวเองให้เป๊ะปัง คนคนนั้นก็ไม่ใช่ใคร

     เวส แอนเดอร์สัน นั่นเอง

     FAKE LOVE LETTERS, FORGED TELEGRAMS, AND PRISON ESCAPE MAPS แบ่งออกเป็น 6 บท 

     ไล่เรียงไปตั้งแต่บทที่พูดถึง Details การออกแบบรายละเอียดยิบย่อยที่อาจปรากฏในหนังแค่ 1 วิฯ, Research การเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในงานออกแบบ ที่ทำให้รู้ว่าต่อให้อินเทอร์เน็ตกว้างใหญ่ไพศาล แอตกินส์ก็ยังต้องไปเดินตลาดขายของเก่า (หรือบางทีก็คุ้ยขยะ) เพื่อหาข้าวของอ้างอิงจากยุคสมัยต่างๆ, Continuity การสร้างข้าวของแบบเดียวกันหลายๆ ชิ้นเพื่อใช้ในการถ่ายทำ (ส่วนใหญ่ต้องผลิตด้วยมือ และทุกชิ้นต้องมีความเป๊ะ ซึ่งมีเกร็ดเสริมอีกนิดว่า เวลาถ่ายหนังเรื่องหนึ่ง ถ้าสมมติในฉากมีหนังสือพิมพ์ เธอมักจะทำหนังสือพิมพ์ไว้ 6 ชิ้น เผื่อว่าตอนถ่ายทำแล้วเละหรือมีปัญหาใดๆ แต่พอเป็นเวส ไม่ว่าของชิ้นนั้นเป็นอะไร เธอต้องทำเผื่อเอาไว้ 30-40 ชุด…), Language การออกแบบป้ายหรือชุดอักษรที่จะช่วยสร้างบรรยากาศในเรื่องนั้นให้สมจริง, Tools ว่าด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้ในบางทีที่คอมพิวเตอร์ก็ช่วยเสกงานออกมาไม่ได้

     และในบรรดาบทเหล่านั้น ก็ถึงกับมีบทหนึ่งที่แทบจะเรียกได้ว่าพูดถึงผลงานที่แอตกินส์ทำร่วมกับเวสไปเลย คือบท Zubrowka 

     หากใครเคยดู The Grand Budapest Hotel ก็จะทราบว่ามันคือชื่อประเทศสมมติ ซึ่งก็ด้วยความเป็นเมืองสมมติ มันก็เลยไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องสร้างสิ่งสมมติที่จะปรากฏอยู่ในเรื่องขึ้นมา!

     ปกติแล้ว เวลาออกกองถ่าย ทีมงานบางชีวิตอาจไม่ต้องเดินทางไปด้วย แอตกินส์เองก็คิดเช่นนั้น ว่าเธอคงไม่ได้เดินทางไปเมืองเกอร์ลิตซ์ (Görlitz) ที่อยู่ทางตะวันออกของเยอรมนีหรอก แต่เวสบอกว่า ไปด้วยกันไปได้ไกล ก็เลยพาทีมงานทุกชีวิตยกโขยงไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่น และด้วยความที่เรื่องเล่านี้เกิดขึ้นในโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ เวสก็ไม่มีอะไรจะสั่งทีมงานมากไปกว่าช่วยดัดแปลงโรงแรมที่เป็นอยู่ให้เป็นแบบที่เขาต้องการหน่อย รวมถึงอยากให้ชาวนักออกแบบช่วยสรรค์สร้างสิ่งที่ประเทศหนึ่งต้องมี อันได้แก่ ธงชาติ พาสปอร์ต ธนบัตร แสตมป์ ไปจนถึงพวกสัญลักษณ์ของพวกในเครื่องแบบ พอลิสต์ๆ มาแล้วสิ่งที่ต้องออกแบบเลยมีราวๆ 400 ชิ้น เรียกว่าแอตกินส์หัวฟูจนต้องใช้คาถาแยกเงาพันร่าง ระดมพลนักออกแบบมือฉมังเดินทางมาเกอร์ลิตซ์ด่วนๆ

     แค่บทนี้บทเดียว สำหรับแฟนเวสก็น่าจะอิ่มหนำ เพราะคุณแอตกินส์นำงานมาโชว์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบสเกตช์ตัวอักษรที่ใช้เป็นชื่อโรงแรม, ที่มาของการออกแบบแผนที่ซึ่งหนึ่งในตัวละครต้องใช้หลบหนี, ทำไมแสตมป์ในเรื่องถึงมีหน้าคน เขาคือใคร ไปจนถึงความจริงที่ว่ากล่องของร้านขนมในเรื่องอย่าง MENDL’S แท้จริงแล้วมีจุดสะกดผิดอยู่หนึ่งจุด!

     เชื่อว่าระหว่างอ่านบทนี้ ถ้าคุณชอบ The Grand Budpest Hotel อยู่แล้ว ก็คงอยากจะเปิดหนังนั่งดู แล้วกดหยุดเพื่ออ่านคำบรรยายจากแอตกินส์ควบคู่กันไปเลย

     ความสนุกในการอ่าน FAKE LOVE LETTERS, FORGED TELEGRAMS, AND PRISON ESCAPE MAPS ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในด้านของการออกแบบรูปเล่มก็เป็นที่น่าประทับใจ คือนอกจากเลย์เอาต์จะมีการจัดวางแบบสบายตา ใช้ลูกเล่นที่เหมือนกับว่าตัดกระดาษเอามาแปะบนเลย์เอาต์อีกทีแล้ว ตัวปกยังมีแจ็กเก็ตที่คลี่กางออกมาเป็นโปสเตอร์ไว้แปะประดับห้องสวยๆ ก็ได้ หรือจะใช้เป็นปกหนังสือเหมือนเดิมก็ดี เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว การมีกล่องไม้ขีดวางอยู่ตรงกลางหน้าปก และการจัดวางตัวอักษรไว้ล้อมรอบ ยังเหมาะเอาไว้ลับสมองประลองปัญญากับมิตรสหาย ถามว่าหนังสือเล่มนี้ชื่ออะไรจ๊ะ (เพราะเราเข้าใจว่าหนังสือชื่อ Designing Graphic Props For Filmmaking อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะถึงบางอ้อว่าชื่อหนังสืออยู่ตรงกล่องไม้ขีดจ้า)

     นอกจากนี้ หากใครชื่นชอบการสัมผัสลูบไล้หน้าปก เราก็อยากให้คุณได้สัมผัสหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะตรงที่เป็นกล่องไม้ขีด เศษไส้ดินสอด้านหลัง และบริเวณที่เป็นเหมือนแถบกระดาษ เพราะเพียงแค่ได้แตะเราก็รับรู้ได้ถึงความใส่ใจ การเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จนต้องยกให้เป็นสิ่งพิมพ์ที่พวกเรานิยมไปเลย