Tue 08 Feb 2022

FREDRIK BACKMAN

เรื่องเล่าไม่สมประกอบที่ประกอบความเข้าใจระหว่างมนุษย์ขึ้นมาใหม่

ภาพ: ms.midsummer

     ถ้าคุณกำลังทุกข์ทรมานอยู่กับการเป็นลูสเซอร์ ‘เฟรียดริค บัคมัน’ (Fredrik Backman) จะสร้างตัวละครที่เป็นลูสเซอร์มาเป็นเพื่อนคุณ ถ้าคุณกำลังติดหล่มอยู่กับความผิดพลาดเมื่อครั้งอดีต บางช่วงบางตอนในนิยายสักเล่มของเขาจะบอกว่าคุณไม่ได้ล้มเหลวอยู่เพียงลำพัง ถ้าคุณกำลังอิจฉาชีวิตดีๆ ของเพื่อนสักคน แถมยังแอบสาปส่งให้พวกเขาพบเรื่องร้ายๆ เสียบ้าง บัคมันจะบอกว่านั่นเป็นธรรมชาติและมันไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร

     ก็เผ่าพันธ์ุมนุษย์เป็นเช่นนั้น เป็นความกักขฬะ เป็นความน่าผิดหวัง และเหนืออื่นใด เป็นความธรรมดาสามัญ 

     สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเราทุกคนอย่างเป็นสากล ความรู้สึกว่าเราเป็นความล้มเหลวและไร้ค่าคือประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ 

     ไม่ว่าจะถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธต้นฉบับที่ตั้งใจเขียนสุดความสามารถมากี่สิบครั้ง หรือกลายเป็นนักเขียนขายดี มียอดจำหน่ายมากกว่า 15 ล้านเล่มใน 46 ภาษาทั่วโลกอย่างบัคมัน สุดท้ายแล้ว อาการวิกตกจริตถึงความไม่สมประกอบในตัวเองก็จะตามหลอกหลอนไม่จบสิ้นอยู่ดี 

     เรื่องของมนุษย์ลุงผู้เพิ่งสูญเสียภรรยาและการงาน ใช้ชีวิตด้วยการฝังตัวลงในหล่มของความโกรธ พยายามจะจบชีวิตตัวเอง กระทั่งได้ค้นพบมิตรภาพอันแปลกประหลาดจากเพื่อนบ้านที่ย้ายมาใหม่ใน ชายชื่ออูเว (A Man Called Ove) 

     เรื่องของหญิงอายุหกสิบสามปี ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน หวาดกลัวว่าจะตายไปลำพัง ปรารถนาการยอมรับ และการเป็นที่รัก ผู้กำลังเริ่มต้นชีวิตสาวโสดอีกครั้ง หลังค้นพบว่าสามีของเธอมีหญิงอื่นใน บริทท์มารีอยู่ตรงนี้ (Britt-Marie Was Here) 

     หรือเรื่องราวของกลุ่มคนที่แบกอดีตพังพินาศของตนติดตัวไปด้วยตลอดเวลา แต่ก็พยายามจะใช้ชีวิตทุกวันให้เป็นปกติมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และดันมาซวยตกอยู่ในเหตุการณ์ถูกจับเป็นตัวประกันของการปล้นธนาคารอันล้มเหลวโดยโจรกระจอก ซึ่งก่อเกิดเป็นทั้งความเห็นอกเห็นใจ การเยียวยาระหว่างกัน และการปลดเปลื้องตัวเองจากอดีตที่คอยหลอกหลอน ในนิยายเล่มล่าสุด Anxious People 

     เหล่านี้คือตัวอย่างผลงานบางส่วนของบัคมัน เรื่องเล่าของคนธรรมดาที่ดูจะไม่ธรรมดา ซึ่งมี ‘ความไม่สมประกอบอันสามัญ’ เป็นแกนกลางสำคัญ และก็เพราะมันสามัญ เป็นความรู้สึกที่มนุษย์แทบทุกคนต้องเจอเช่นนี้ นิยายทุกเล่มของบัคมันจึงเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก และก็เพราะเขาเป็นคนธรรมดาสามัญเช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องเล่า มันจึงทำให้บัคมันเขียนเรื่องราวที่ตรึงใจเช่นนั้นออกมาได้ โดยครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่า

     “ผมมักเดินไปทั่วด้วยความรู้สึกว่าตัวเองหลงทางอยู่เสมอ ผมไม่ใช่คนพิเศษอะไร และนั่นคือพรอันแท้จริงของผม”

ชายชื่อบัคมัน

     “ตอนเป็นเด็กผมไม่เคยอยากเป็นนักเขียน สำหรับผมการเขียนเป็นแค่หนทางในการสื่อสาร เวลาคุณเขียนอะไรสักอย่าง คุณสามารถรีไรต์และแก้ไขก่อนจะโชว์มันต่อคนอื่นได้ ผมค้นพบว่าการเขียนมีประโยชน์เหลือเกินสำหรับเด็กอย่างผม”

     เฟรียดริค บัคมัน เป็นชาวสวีดิช เขาเติบโตขึ้นมาในเฮลซิงบอร์ก เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดนที่มีประชากรราวหนึ่งแสนคน เขายอมรับว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์สังคม พูดไม่เก่ง โมโหง่าย มีลักษณะบางอย่างคล้ายอูเว ตัวละครหลักในนิยายเล่มแรกที่สร้างชื่อให้แก่เขา—เป็นคนธรรมดา

     “มันมีหลายส่วนมากในตัวอูเวที่คล้ายกับผม”

     บัคมันทำงานมาหลายอย่างก่อนจะมาลงเอยกับการเขียนหนังสือ ก่อนหน้านั้นเขาดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัย เคยทำงานเป็นเด็กล้างจาน ฉีดยาฆ่าแมลงตามบ้าน เป็นคนขับรถยกของในคลังสินค้า เข้าสู่วงการขีดๆ เขียนๆ ครั้งแรกด้วยการเขียนบทความให้แก่หนังสือพิมพ์ขนาดเล็กแบบฟรีๆ 

     “นั่นคือหนทางเดียวที่จะทำให้ผมเข้าสู่วงการการเขียน ดังนั้น ผมจึงเขียนทุกอย่าง แม้มันจะไม่สร้างรายได้ก็ตาม” และนั่นก็ทำให้เขามีโอกาสได้งานจริงๆ จังๆ ในฐานะนักเขียนของนิตยสารฉบับหนึ่งในเวลาต่อมา 

     ราวปี 2006-2007 บัคมันเริ่มเขียนบล็อกควบคู่ไปด้วย เขาอนุญาตให้มันกลายเป็นพื้นที่ฝึกหัด ลองผิดลองถูก และค้นหาแนวทางการเขียนของตัวเอง เขาเขียนเร็ว เขียนทุกสิ่งทุกอย่าง เขียนแทบทุกวัน และไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ การเขียนงานบนโลกออนไลน์ โดยมีกลุ่มผู้อ่านเล็กๆ ราวพันคนที่ย่อมมีพฤติกรรมการอ่านแตกต่างออกไปจากการอ่านสื่อกระดาษ ก็ช่วยให้สไตล์การเขียนของบัคมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือเรียบง่าย เข้าใจได้ทันที แต่ก็ไม่ละเลยความแพรวพราวของเรื่องเล่าที่สามารถดึงผู้อ่านให้ติดหนึบอยู่กับตัวอักษรของเขาจนบรรทัดสุดท้าย

     บัคมันบอกว่า ถ้าให้เขาลิสต์ 10 หนังสือ 10 หนัง หรือ 10 เพลงโปรด มันคงเป็นลิสต์ดาดๆ แสนป๊อปปูลาร์ที่ใครๆ ก็คงชอบ “มันคงไม่ใช่หนังสือของนักเขียนฝรั่งเศสชื่อแปลกที่คุณไม่รู้จัก ผมไม่ใช่คนแบบนั้น …พัฒนาการแบบก้าวกระโดดในฐานะคนเล่าเรื่องของผมเกิดขึ้นเมื่อผมตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่คนพิเศษ มันก็แค่สิ่งที่ผมชอบคือสิ่งที่คนอื่นชอบด้วยเช่นกัน ผมไม่ใช่คนที่จะพูดเรื่องยากๆ จมดิ่งสู่ความคลุมเครือ ผมคิดว่า ผมค่อนข้างเป็นบิ๊กแฟนของเมนสตรีมด้วยซ้ำ”

     และบัคมันยังบอกอีกว่า

     “หากมีคำ 10 คำให้เลือกใช้เพื่ออธิบายอะไรบางอย่าง ผมจะเลือกคำที่ง่ายที่สุด” 

     นั่นทำให้หนังสือของเขาแปลเป็นภาษาอื่นได้ไม่ยาก เพราะนักแปลไม่จำเป็นต้องยุ่งยากในการไล่ล่าหาคำศัพท์พิสดารใดๆ 

     ทว่าชีวิตของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มันก็ไม่ได้ง่ายไปเสียทั้งหมด กว่าจะได้ตีพิมพ์นิยายเรื่องแรก บัคมันไม่ต่างจากนักเขียนจำนวนมากที่ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า เขาต้องทำงานแค่กะกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ เพียงเพื่อจะได้มีเวลาเขียนในช่วงเวลากลางวัน เขาสอนตัวเองให้เขียนได้ในทุกที่ เพราะเขามีอีกหนึ่งหน้าที่ นั่นคือการเป็นพ่อของเด็กอีกสองคน ดังนั้นเขาจึงเขียนบนทุกสิ่งที่คว้าได้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นหลังซองจดหมาย ในสมาร์ตโฟน บนท่อนแขน โดยไม่จำเป็นต้องมีห้องนักเขียนเงียบสงบ พร้อมโต๊ะไม้ตัวงาม และแสงแดดอบอุ่นส่องสว่างเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ

     “ผมมีลูกสองคน และในแต่ละปีเด็กๆ ก็จะสลับกันป่วยราวสองร้อยวันเห็นจะได้ …ส่วนใหญ่แล้วผมมักเขียนในหัวของตัวเองมากกว่า”

     ‘การหมกมุ่นกับความคิด’ จึงเป็นสิ่งที่บัคมันให้ความสำคัญมากกว่าการนั่งลงเขียนด้วยซ้ำ 

     “นักเขียนใหม่ๆ มักถามถึงกิจวัตรในการเขียนของผม แต่สิ่งสำคัญที่สุดในความเห็นของผมไม่ใช่กิจวัตรในการเขียน แต่คือกิจวัตรในการคิดต่างหาก คุณสามารถนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็น 10 ชั่วโมง แต่คุณจะเขียนอะไรล่ะ ถ้าไม่มีไอเดีย ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีไอเดียก่อน”

มองให้เห็นจุดที่ไกลและเล็กที่สุ

     สิบปีก่อนหน้าที่เรื่องราวในนิยาย Anxious People จะเริ่มขึ้น ชายคนหนึ่งกระโดดลงจากสะพานสู่ความตาย นี่คือพล็อตย่อยที่หากมองผิวเผินอาจไม่มีอะไรสลักสำคัญต่อเรื่องราวหลักของการจับคนเป็นตัวประกันในอีกสิบปีให้หลัง หากตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องนี้ไม่มีจุดร่วมเป็น ‘ความทรงจำในอดีต’—บาดแผลที่ทั้งเล็กและใหญ่ จากความทรงจำแสนไกลถึงชายผู้ยืนอยู่บนราวสะพาน

     “ผมสนใจวิธีที่อดีตของเราประกอบสร้างบุคลิกภาพและมุมมองที่เรามีต่อโลก ถ้าคุณทำร้ายใครสักคน พวกเขาย่อมได้รับผลกระทบ—การกระทำของคุณจะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น หรือไม่ก็เปราะบางลง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง… ผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายตอนเขาอายุ 20 ปี และสิ่งนั้นไม่เคยหยุดสร้างผลกระทบในตัวผมเลย”

     การมองทะลุเนื้อหนังของคนคนหนึ่งให้เห็น ‘อดีต’ จึงเป็นวิธีที่บัคมันใช้เชื่อมต่อตัวละครเข้าหากัน นอกจากนั้นวิธีการที่บัคมันใช้ในทุกๆ การเขียนเพื่อทำให้ตัวละครสมจริง คือการมองให้เห็นว่า ‘จุดที่เล็กที่สุด’ ที่เขากับตัวละครมีร่วมกันคืออะไร

     “สำหรับอูเวมันคือ ‘ความโดดเดี่ยว’ เพราะตอนเขียนนิยายเรื่องนั้น ผมอายุ 31 ปี ส่วนอูเวอายุ 59 ปี และหากมองอย่างผิวเผิน เราคงมีประสบการณ์ร่วมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในจุดเล็กที่สุดที่เรามีร่วมกัน มันคือความโดดเดี่ยว อูเวโดดเดี่ยว และผมรู้ว่าการรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นอย่างไร ผมรู้ว่าความโดดเดี่ยวสามารถกลืนกินพวกเราจากภายในได้มากมายแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่ผมมองหา ผมพยายามแสวงหาบางสิ่งที่ผมมีร่วมกันกับตัวละคร นั่นคือวิธีการที่ผมใช้ในการเริ่มต้น”

     พูดอีกแง่ มันก็คือการค้นหาจุดร่วมบางอย่างเพื่อสร้าง empathy ระหว่างตัวละคร ตัวผู้เขียน และตัวผู้อ่านเอง ไม่ว่าเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครกับผู้เขียนหรือผู้อ่านจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแค่ไหน แต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกันอย่างเป็นสากลคือความรู้สึกสามัญ ไม่ว่ามันจะเป็นความโกรธเกลียด ความรู้สึกสูญเสีย หรือความปรารถนาที่จะเป็นที่รัก 

     นี่คือจุดแข็งในนิยายของบัคมันที่นักอ่านส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็นกระจกสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาได้อย่างหมดจดและงดงาม

ความวิตกกังวลในวันที่วิ่งชนกำแพง

     ใครคนหนึ่งกำลัง ‘ชนกำแพง’ คือสำนวนในภาษาสวีดิชที่ใช้อธิบาย’ ภาวะ ‘เบิร์นเอาต์’ หรือ ‘หมดไฟ’ และนี่คือสิ่งที่บัคมันพบเจอเช่นกัน

     ในปี 2012 นิยาย ชายชื่ออูเว ตีพิมพ์ครั้งแรก ปีต่อมามันได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษ และติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times ยาวนาน 18 เดือน ทำยอดขายทะลุ 2.8 ล้านเล่มทั่วโลกภายในระยะเวลาสามปี ก่อนถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ได้รางวัลจำนวนหนึ่ง แถมยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2016 (กำลังจะถูกดัดแปลงเป็นฉบับภาษาอังกฤษโดยมี ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) นำแสดง) ขณะที่ผลงานเล่มต่อๆ มาของบัคมันก็ติดอันดับหนังสือขายดีต่อเนื่อง จนส่งให้เขากลายเป็นนักเขียนที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดคนหนึ่งของทศวรรษ

     ทว่าในปี 2017 บัคมันกลับรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง—ความผิดปกติที่เป็นเรื่องไม่สมประกอบอันสามัญของมนุษย์ ความผิดปกติที่ควรจะเป็นเรื่องปกติ แต่กลับถูกผลักให้เป็นสิ่งแปลกปลอม นั่นก็เพราะเราต่างหวาดกลัวความล้มเหลวทางอารมณ์เหล่านั้น กลัวว่าเราจะกลายเป็นคนห่วยๆ คนหนึ่ง เพียงเพราะเรารู้สึกอย่างที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะรู้สึกได้

     ก่อนงานบุ๊กแฟร์ที่โคเปนเฮเกนในปี 2017 จะเริ่มขึ้น บัคมันรู้สึกว่าทุกอย่างในชีวิตช่างผิดที่ผิดทาง เขาเพิ่งตีพิมพ์นิยายขายดีอีกเรื่องอย่าง Beartown เมื่อปลายปี 2016 และกำลังจะตีพิมพ์นิยายเรื่องใหม่ถึงสองเล่มในปี 2017 นั่นก็คือ Us Against You (นิยายลำดับที่สองในซีรีส์ Beartown) และ The Deal of a Lifetime แต่บัคมันกลับสับสน ไม่รู้ว่าควรวางตัวเองลงบนพื้นที่ไหน บัคมันกำลัง ‘ชนกำแพง’ อย่างจัง แต่ยังโชคดีที่ภรรยาซึ่งรับหน้าที่เป็นเอเจนต์ส่วนตัวบอกเลิกแผนการโปรโมตทุกอย่าง และตัดสินใจส่งบัคมันไปพบนักจิตบำบัด

     ความจริงก็คือบัคมันเคยรักษาภาวะทางจิตมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน หลังจากถูกยิงเข้าที่ขาระหว่างถูกปล้น เขาผวา หวาดกลัวทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินอีกนานหลังจากนั้น ซึ่งประสบการณ์นี้ ต่อมาจะกลายเป็นอีกหนึ่งสารตั้งต้นสำคัญของนิยายเรื่อง Anxious People

     หลังจากความพังพินาศทางอารมณ์ครั้งใหญ่ในปี 2017 บัคมันโพสต์บันทึกชิ้นหนึ่งชื่อ Something about the anxiety ในบล็อกส่วนตัวเมื่อกลางปี 2018 พูดถึงภาวะแพนิก อาการวิตกจริต และโรคซึมเศร้าที่ตัวเองกำลังเผชิญ (ซึ่งไม่ปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วในตอนนี้) 

     ตอนต้นบทความ บัคมันวงเล็บไว้ว่า 

     “(งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นที่ลอสแอนเจลิส ในช่วงสุดท้ายของทัวร์โปรโมตหนังสือของผม บนโอกาสเพียงเล็กน้อยที่จะมีนักข่าวคนใดได้อ่านมัน ผมอยากขอความกรุณาว่าได้โปรดอย่านำข้อความเหล่านี้ไปใส่ในสื่อใดๆ นี่คือเรื่องส่วนตัว ผมต้องใช้เรี่ยวแรงมหาศาลในการเขียนมัน ดังนั้นได้โปรดอย่าทำให้มันกลายเป็นหัวข้อข่าว ผมจะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนนี้ ไม่ใช่ด้วยความไม่เคารพ แต่นี่คือหนทางเดียวที่ทำให้ผมรู้สึกสบายใจที่จะพูดถึงมันในขณะนี้ ขอบคุณ)”

     แน่นอน ในบทความนี้ เราคงจะไม่อ้างอิงถึงข้อเขียนของบัคมันตามความตั้งใจเดิมของเขา แต่ก็เป็นความรู้สึกเหล่านี้นี่เองที่สุดท้ายแล้วบัคมันหยิบจับมาทำลายกำแพงที่ขวางทางอยู่ข้างหน้าในวันหมดไฟจนกลายเป็นหนังสือเล่มใหม่อย่าง Anxious People ที่ได้กระแสตอบรับอย่างดีจากนักอ่านและนักวิจารณ์ กระทั่งถูกดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ในที่สุด

     “ผมกระเสือกกระสนอยู่กับความวิตกกังวลเสมอ” บัคมันบอก แต่อีกแง่หนึ่งเขาก็มองว่านั่นคือคุณสมบัติหนึ่งของการเป็นนักเขียนเช่นกัน “ผมเป็นพวกวิตกจริต แต่นั่นคือคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นในการเป็นนักเขียน”

     ด้วยความวิตกจริต การหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำๆ พิจารณามันจากหลายๆ มุมมอง จึงทำให้นิยายของบัคมันคว้าจับอารมณ์ที่ผู้คนมากมายรู้สึก กลั่นมันออกมาเป็นถ้อยคำ ให้อยู่ในรูปของเรื่องเล่าที่ตรงไปตรงมา

     “ผมแบกความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับตัวเองเป็นปีๆ และพยายามจะอธิบายมันต่อผู้คนที่ไม่สามารถค้นพบถ้อยคำของตัวเองได้ แล้วทันทีทันใด พวกเขาก็เจอถ้อยคำที่ตามหา นั่นคือสิ่งที่ผมทำเสมอมาในงานเขียนของตัวเอง”

     ก็ในเมื่อรู้สึกผิดที่ผิดทาง รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา รู้สึกล้มเหลวและไร้ค่า แล้วทำไมถึงจะไม่เขียนถึงกลุ่มคนที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกันให้กลายเป็นนิยายอีกสักเรื่องล่ะ 

     “กลุ่มคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่กับความกังวล และพยายามจะเยียวยารักษามัน กลุ่มคนที่รู้สึกว่า ‘ฉันแค่พยายามจะผ่านพ้นวันนี้ไปให้ได้’” บัคมันแสดงความคิดเห็นถึงกลุ่มตัวละครในนิยาย Anxious People ของตน

     และเหนืออื่นใด เขาอาจกำลังแสดงความคิดเห็นถึงตัวตนอันสามัญที่เต็มไปด้วยบาดแผลเหมือนๆ กับมนุษย์คนอื่นของตัวเอง

อ้างอิง

cbs.com/shows/watch_magazine/archive/1008683/author-profile-fredrik-backman
publishersweekly.com/pw/by-topic/authors/profiles/article/83761-people-are-strange.html
thehindu.com/books/the-most-important-thing-to-have-is-a-thinking-routine-fredrik-backman/article35210300.ece
nytimes.com/2016/10/29/books/a-man-called-ove-fredrik-backman-sweden-success.html
youtu.be/hGn8oHBsNnU
becommon.co/culture/review-anxious-people