Wed 04 Aug 2021

FROM THE FIELD TO FASHION

จากนักกีฬาในสนามสู่ผู้ประกอบการในเกมธุรกิจ เส้นทางการสร้างแบรนด์ที่พิสูจน์น้ำใจ (และน้ำอดน้ำทนของ) นักกีฬา

ภาพ: NJORVKS

     แม้จะช้าไปบ้าง แต่ในเมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 32 หรือ Tokyo 2020 กลับมาจัดการแข่งขันให้พวกเราได้ชมนักกีฬา เอ้ย เชียร์กีฬากันแล้ว ก็ต้องขอส่งกำลังใจดวงน้อยๆ ให้ทัพนักกีฬาไทยคว้าชัยมาเยอะๆ 

     ปากร้องเชียร์กีฬา ตาก็จับจ้องมองชุดนักกีฬาชาติต่างๆ ไปด้วย บางชุดเห็นแล้วอยากขอใส่บ้าง (ขณะที่บางชุดเห็นแล้วสงสารคนใส่) ซึ่งชุดสวยๆ ส่วนใหญ่มีแบรนด์ดัง (ของดีประจำชาติ) อยู่เบื้องหลังทั้งนั้น เช่น ‘Lacoste’ ของฝรั่งเศส ‘Adidas’ ของเยอรมนี ‘Ben Sherman’ ของอังกฤษ และ ‘AOKI’ ของญี่ปุ่น เป็นต้น

     เรื่องใช้แรงและการแข่งขันอาจจะไม่ถนัด แต่ถ้าเป็นเรื่องเสื้อผ้าและแฟชั่นดิชั้นขอสู้ตาย คอลัมน์ SOME WEAR ONLY WE KNOW ตอนนี้จึงขอเกาะกระแสโอลิมปิก พาไปรู้จักแบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ชื่อดัง ที่มีนักกีฬาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนถึงระดับทีมชาติเป็นผู้ก่อตั้ง บางแบรนด์เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ขณะที่บางแบรนด์เริ่มจากความตั้งใจจริงของอดีตแชมป์ผู้รู้ลึกรู้จริงว่าเสื้อผ้าทรงไหนและเนื้อผ้าแบบใดเหมาะสมกับเกมกีฬา บางแบรนด์ไม่ได้มีดีแค่ฟังก์ชั่น แต่สวยงามระดับโอกูตูร์เลย!

     แล้วจากนักกีฬาผู้โลดแล่นในสนามสู่ผู้ประกอบการในเกมธุรกิจ พวกเขาและเธอมีเส้นทางการสร้างแบรนด์อย่างไรให้เข้าไปอยู่ในใจผู้คนได้ ฝึกฝนหนัก ซ้อมเยอะเหมือนเล่นกีฬาหรือเปล่า ไปดูกัน (ขอลาไปด้วยเพลงมาร์ชเปิดตัวนักกีฬา)

แบรนด์: Lacoste
ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬา: เทนนิส 

     ‘ลาคอสต์’ คือแบรนด์เครื่องแต่งกายจากฝรั่งเศส ก่อตั้งปี 1933 โดย เรอเน่ ลาคอสต์ (René Lacoste) นักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของโลก (ปี 1926-1927) ผู้มีสไตล์ เขาเป็นเจ้าของแชมป์รายการแข่งขันระดับโลกที่ประเทศฝรั่งเศส ปี 1925, 1927, 1929 ชนะรายการแกรนด์สแลมที่เก่าแก่อย่าง Wimbledon ที่ประเทศอังกฤษ ปี 1925, 1928 และชนะรายการ แกรนด์สแลมท้ายปี US Open ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 1926, 1927 

     ย้อนกลับไปปี 1923 สมัยที่ลาคอสต์เข้าร่วมทีมไปแข่งรายการ Davis Cup ที่บอสตัน ประเทศสหรัฐฯ ระหว่างทริปนั้นเขาไปเกาะตู้กระจกดูกระเป๋าหนังจระเข้อยู่หน้าร้านหนึ่ง โค้ชอลัน มูเออร์ (Alan Muhr) ก็สัญญาว่าจะซื้อเป็นให้เป็นรางวัลหากเขาชนะการแข่งขันในวันนั้น แม้นัดนั้นลาคอสต์จะพ่ายไป แต่ด้วยลีลาการต่อสู้ในสนามที่ดุดัน (เพราะมีกระเป๋าหนังเป็นเดิมพัน) ก็ชนะใจมวลชน สื่อบอสตันจึงตั้งฉายาเจ้าจระเข้ (le Crocodile) ให้แก่เขา พอลาคอสต์รู้ก็ยิ่งนึกสนุก เลยไปขอให้ โรเบิร์ต จอร์ช (Robert George) เพื่อนที่เป็นสไตลิสต์ช่วยออกแบบภาพวาดจระเข้ เพื่อใช้เป็นต้นแบบลายปักบนชุดสูทประจำตัวที่เขาใส่ลงสนามทุกครั้ง จนเจ้าจระเข้หันขวากลายเป็นภาพจำของเขาไปในที่สุด

     10 ปีต่อมา ลาคอสต์ร่วมกับ อันเดร กิลลิเออร์ (André Gillier) เพื่อนเจ้าของโรงงานทอผ้าที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสเวลานั้น ก่อตั้งบริษัท ลา เฌอมิส ลาคอสต์ (La Chemise Lacoste) ตั้งใจจะทำเสื้อที่ใส่ได้ทุกโอกาส ใส่เล่นเทนนิสก็ได้ ใส่ในชีวิตประจำวันก็ดี โดยทั่วไปนั้นชุดของนักเทนนิสช่วงปี 1920 จะเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สีขาวทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งสวยหรูดีแต่ไม่เหมาะกับการเล่นเทนนิสเอาเสียเลย ลาคอสต์จึงคิดค้นเสื้อโปโลผ้าตาข่ายแขนสั้น (petit piqué) เนื้อผ้าใช้เทคนิคการถักทอทำให้มีน้ำหนักเบาและยังระบายอากาศได้ดี มาพร้อมลายปักรูปจระเข้บนหน้าอก ซึ่งทำให้ลาคอสต์กลายเป็นแบรนด์แรกในโลกที่ขายเสื้อมีลายโลโก้บนเสื้อ 

     ต่อมาในยุค 1950s ลาคอสต์เริ่มบุกตลาดโลกด้วยการเพิ่มสีเสื้อจากเดิมที่มีแค่สีพื้น ทำเสื้อโปโลลายทาง แตกไลน์เสื้อผ้าเด็ก ต่อยอดไปสู่น้ำหอม แว่นตา รองเท้า กระเป๋า และเสื้อผ้าสำหรับกีฬาประเภทอื่นๆ ขณะที่สินค้าต้นแบบอย่างเสื้อโปโลก็ยังเป็นไอเทมคลาสสิกที่ทุกคนต้องมีติดบ้าน

     ที่น่าสนใจคือ นอกจากเป็นนักเทนนิส และผู้ประกอบการแล้ว ลาคอสต์ยังเป็นนักประดิษฐ์ เขาสนุกกับการหาความเป็นไปได้นับล้านแบบที่จะทำให้เล่นเทนนิสดีขึ้นและดีขึ้น เพราะนอกจากการปิ๊งไอเดียเสื้อที่ใส่เล่นเทนนิสสบาย ลาคอสต์ยังคิดค้นวิธีร้อยเอ็นบนไม้แร็กเก็ตและจดเป็นสิทธิบัตรในปี 1960 ก่อนจะตามด้วยการจดสิทธิบัตรไม้แร็กเก็ตเหล็กในปี 1963 (ตลอดชีวิตลาคอสต์จดสิทธิบัตรไปมากกว่า 30 ใบ) ซึ่งทำให้เขาชนะการแข่งขันรายการใหญ่ๆ อีก 46 รายการในช่วงปี 1966-1978

     จากนักเทนนิสที่เกาะหน้ากระจกร้านกระเป๋าในวันนั้น กลายเป็นแชมป์โลก เป็นเจ้าของแบรนด์ และได้ใส่ชุดของตัวเองโลดแล่นในสนามอย่างที่ตั้งใจ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ตั้งกองทุนสนับสนุนนักกีฬา ร่วมจัดการแข่งขันเพื่อพัฒนาวงการเทนนิสและวงการกีฬาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: 

corporate.lacoste.com/our-history/

lacoste.com.au/blog-article/?cid=brand-story

global.lacoste.com/en/rene-lacoste.html

แบรนด์: Butterfly
ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬา: นักปิงปอง

     ‘บัตเตอร์ฟลาย’ คือแบรนด์อุปกรณ์ปิงปองสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งโดย ฮิโคสุเกะ ทามาซุ (Hikosuke Tamasu) อดีตนักกีฬาปิงปองดีกรีแชมป์ All-Japan Championship ปี 1946 ผู้ค้นพบการตีปิงปองด้วยไม้ติดแผ่นยาง ซึ่งครั้งหนึ่งเขาได้รับไม้ปิงปองที่ผลิตในอังกฤษจากเพื่อน ก่อนจะนำมาเปลี่ยนแผ่นยางของตัวเองจนกลายเป็นไม้เก่งประจำตัว

     ทามาซุผันตัวเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาเล็กๆ ในปี 1949 เพราะอยากให้คนทั่วไปเข้าถึงอุปกรณ์เล่นกีฬาได้ง่ายๆ ก่อนจะก่อตั้งบริษัท บัตเตอร์ฟลาย จำกัด ผลิตอุปกรณ์เล่นปิงปองในปี 1950 โดยเหตุที่ใช้ชื่อว่า ‘ผีเสื้อ’ ก็เพราะตั้งใจให้เป็นภาพแทนความหมายถึงมิตรภาพและสันติภาพโลก เนื่องจากช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลง ประกอบกับมีความตั้งใจที่จะผลิตสินค้าญี่ปุ่นให้ได้การยอมรับในระดับโลก 

     เพราะเป็นนักกีฬามาก่อน คุณทามาซุจึงรู้ดีว่าผู้เล่นทุกคนล้วนแตกต่างกัน แต่ละคนมีจุดแข็งและจุดอ่อนในแบบตัวเอง เขาจึงอยากทำอุปกรณ์ที่ช่วยดึงศักยภาพของนักกีฬาออกมาให้มากที่สุด ช่วงแรกของการทำธุรกิจ เขาจึงทุ่มเวลาไปกับการศึกษาธรรมชาติของนักกีฬาปิงปองแต่ละชาติ และเมื่อเปิดตัวสินค้าครั้งแรกในมหกรรมแสดงสินค้าญี่ปุ่นที่ปักกิ่ง (Japan Industrial Exhibition) ปี 1953 สินค้าของเขาก็ได้รับความสนใจจากผู้เล่นสัญชาติจีนและยุโรปจำนวนมาก และเพราะความทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุดๆ บัตเตอร์ฟลายจึงเป็นแบรนด์อุปกรณ์ปิงปองที่มีไม้ แผ่นยาง และอุปกรณ์เสริมให้นักกีฬาเลือกใช้มากที่สุด แถมยังเป็นแบรนด์ที่นักปิงปองระดับแชมป์โลกมากกว่าครึ่งเลือกใช้ในการแข่งขัน

     สมกับปรัชญาของแบรนด์ ที่อยากจะเป็นผีเสื้อบินโอบรอบตัวนักกีฬา ผู้เบ่งบานราวกับดอกไม้ยามอยู่ในสนามแข่ง (เวรี่ญี่ปุ่น)

ที่มา:

butterflythailand.co.th/100th-hikosuke-tamasu/

butterflythailand.co.th/about/company/

allabouttabletennis.com/butterfly-table-tennis.html

butterflyonline.com/67-years-blades-that-made-history-12/

teamusa.org/USA-Table-Tennis/History/Hall-of-Fame/Profiles/Tamasu-Company

แบรนด์: Lonsdale
ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬา: นักมวย

     ‘ลอนสเดล’ แบรนด์อุปกรณ์ชกมวยและศิลปะการต่อสู้สัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งโดย เบอร์นาร์ด ฮาร์ต (Bernard Hart) อดีตนักมวยอาชีพ ผู้ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีใครขายอุปกรณ์ชกมวยแบบสั่งทำพิเศษบ้าง หลังแขวนนวมในปี 1959 ฮาร์ตจึงเปิดร้านขายอุปกรณ์ชกมวยเล็กๆ บนถนนบีก ย่านโซโหในลอนดอน โดยไปขออนุญาตเอิร์ลที่ 7 แห่งลอนสเดล (James Lowther, 7th Earl of Lonsdale) เพื่อใช้ชื่อสกุลเป็นชื่อร้าน เนื่องจากเอิร์ลที่ 5 แห่งลอนสเดล หรือ ฮิวจ์ โลวเทอร์ (Hugh Lowther) เป็นผู้จัดแข่งขันชกมวยด้วยถุงมือบนสังเวียนเป็นคนแรกของอังกฤษ เมื่อปี 1891 และเป็นคนแรกที่เริ่มมอบเข็มขัดนักมวยแก่ผู้ชนะในปี 1901

     ด้วยชื่อแบรนด์ซึ่งมาจากบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการต่อวงการมวย และฝีไม้ลายมือการออกแบบอุปกรณ์คุณภาพเยี่ยมตอบโจทย์นักกีฬาอาชีพ ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำของผู้คน และด้วยสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับนักชกคนดังของฮาร์ต ร้านลอนสเดลจึงมีนักชกดาวเด่นแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ทำให้กิจการเติบโตยิ่งไปอีก แต่นอกจากเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับชกมวยแล้ว ลอนสเดลยังมีเสื้อยืดพิมพ์ลายชื่อแบรนด์ หนึ่งในไลน์คอลเลกชั่นสตรีทแวร์ขายแฟนๆ ด้วย

     แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ลอนสเดลโด่งดังข้ามทวีป มาจากช่วงปี 1979 เมื่อ พอล เวลเลอร์ (Paul Weller) นักร้องนำวง Jam ใส่เสื้อยืดของลอนสเดลออกทัวร์ที่ญี่ปุ่น แบรนด์เลยดังเป็นพุแตก นอกจากนี้ลอนสเดลยังเป็นแบรนด์ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนความเท่าเทียมกันในสังคม ทั้งประเด็นต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและสนับสนุนความรักเพศเดียวกัน ผ่านเสื้อผ้าหมวดสตรีทแวร์ในคอลเลกชั่นต่างๆ ซึ่งทำมาตั้งแต่ช่วงปี 2000 จนถึงปัจจุบัน

ที่มา:

•  lonsdale.com/pages/lonsdale/history 

lonsdale.com/customerservices/otherinformation/aboutus

แบรนด์: Under Armour
ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬา: อเมริกันฟุตบอล

     ‘อันเดอร์ อาร์เมอร์’ แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาจากสหรัฐฯ ก่อตั้งปี 1996 โดย เควิน แพลงก์ (Kavin Plank) กัปตันทีมอเมริกันฟุตบอลวัย 23 ของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ผู้ประสบกับความไม่สบายตัวจากเสื้อเปียกเหงื่อ ไม่ว่าจะตอนซ้อมหรือตอนแข่งขันนัดสำคัญ เขาพบว่าแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับชุดแข่งที่อยู่ภายนอก ขณะที่เสื้อยืดซับในเป็นเพียงเสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งไม่ซับเหงื่อและระบายอากาศใดๆ

     กัปตันทีมผู้มีหัวทางการค้าจึงนำเงินเก็บที่สะสมจากงานพิเศษมาลงทุนผลิตเสื้อยืดซับในสำหรับใส่เล่นกีฬา หลังสรุปชื่อแบรนด์กับพี่ชาย แพลงก์ก็ตระเวนหาผ้าจากร้านท้องถิ่น จนไปเจอผ้าที่ใช้ทำชุดชั้นในผู้หญิง ซึ่งมีคุณสมบัติเบา ซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี เมื่อออกแบบและให้ช่างตัดเย็บเสื้อยืดต้นแบบสำเร็จ เขาก็นำไปให้เพื่อนนักกีฬาในทีม และเพื่อนของเพื่อนกว่าสามสิบคนทดลองใช้ ซึ่งทุกคนชื่นชอบเสื้อซับในตัวนี้ของแพลงก์มาก เมื่อวางขายจริงก็ขายดีเทน้ำเทท่า เป็นเสื้อที่ต้องการในหมู่นักกีฬา เกิดเป็นกระแสปากต่อปาก ในที่สุดก็เริ่มมีสโมสรติดต่อขอให้ทำชุดแข่งกีฬาให้ จนมีทุนต่อยอดทำเสื้อผ้าสำหรับใส่เล่นกีฬาอื่นๆ 

     จุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์อันเดอร์ อาร์เมอร์ คือตอนที่แบรนด์ทำเสื้อให้ภาพยนตร์ Any Given Sunday (1999) ที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับวงการอเมริกันฟุตบอล นำแสดงโดย อัล ปาชิโน (Al Pacino) และ เจมี ฟอกซ์ (Jamie Foxx) ตามด้วยการทุ่มซื้อโฆษณาในพื้นที่สื่อและนิตยสาร ในยุคนั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่ถูกเวลามาก ไม่เพียงเพิ่มความต้องการสินค้าในตลาด ยังสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจนักกีฬา ทำให้แบรนด์เติบโตและสามารถเจาะตลาดกลุ่มใหม่ๆ จนถึงทุกวันนี้

ที่มา:

washingtonpost.com/business/on-small-business/when-we-were-small-under-armour/2014/11/11/f61e8876-69ce-11e4-b053-65cea7903f2e_story.html

mainstand.co.th/catalog/1-FEATURE/1629

แบรนด์: Li-Ning 
ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬา: ยิมนาสติก

     ‘หลี่-หนิง’ แบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาสัญชาติจีน ก่อตั้งโดย หลี่ หนิง (Li Ning) นักกีฬายิมนาสติกทีมชาติ ตำนานที่ยังมีลมหายใจของจีน เจ้าของเหรียญทอง 106 เหรียญจากการแข่นขันหลายรายการทั้งในและต่างประเทศ และแชมป์โลกการแข่งขันยิมนาสติกรวม 14 รายการ 

     เจ้าชายแห่งวงการยิมนาสติกนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย 

     หลี่ หนิง เริ่มเรียนยิมนาสติกตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เข้าร่วมทีมนักกีฬาระดับภูมิภาคตอนอายุ 8 ขวบ และติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 สองปีต่อมา หลี่ หนิง ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมเพื่อแข่งในรายการ World University Championship ปี 1982 แต่เขาก็ไม่ยอมถอนตัวจากการแข่งขัน และนั่นคือก้าวแรกของการขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก ก่อนจะคว้าชัย 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดงในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1984 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯ

     แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หลี่ หนิง ในวัย 25 พลาดตกจากอุปกรณ์ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1988 ที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้เขาไม่อาจเล่นยิมนาสติกได้อีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจเลิกเล่น แล้วหันหน้าเข้าสู่วงการธุรกิจเต็มตัว ตามคำชวนของ จิงเว่ย หลี่ (Jingwei Li) เจ้าของ Jianlibao Group นักธุรกิจผู้เป็นแรงบันดาลใจของหลี่ หนิง ซึ่งจิงเว่ย หลี่ ได้ร่วมลงทุนกับหลี่ หนิง ทำแบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชื่อ Li-Ning เมื่อปี 1990 ก่อนหลี่ หนิง จะตัดสินใจแยกตัวออกมาเป็นอิสระในปี 1994 

     แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางธุรกิจและการออกแบบ แต่นักกีฬาอย่างหลี่ หนิง ก็มีความรู้เชิงลึกและความเข้าใจหัวอกนักกีฬาด้วยกันอย่างเต็มเปี่ยม ประสบการณ์จากการเป็นนักกีฬายิมนาสติก 19 ปี ทำให้เขารู้ความแตกต่างของอุปกรณ์กีฬาและเสื้อผ้ากีฬา เขารู้ดีว่าเสื้อผ้าแบบทรงอะไร และเนื้อผ้าแบบไหนที่ดีต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือช่วยทำให้เล่นกีฬาดียิ่งขึ้น หลี่ หนิง ตั้งใจจะทำเสื้อกีฬาคุณภาพดี และทำแบรนด์ของเขาให้เป็นแบรนด์ประจำชาติ ที่นักกีฬาในชาติภูมิใจที่ได้ใส่แข่งขันกีฬาระดับโลก และสิ่งนี้สำคัญสำหรับเขา ไม่ใช่แค่ ‘Made in China’ แต่เป็น ‘Designed in China’

     แม้จะขายดีต้ังแต่วันแรก แต่หลี่ หนิง ก็ยังต้องเจอกับคู่แข่งในตลาดมากมาย รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดูเป็นแบรนด์สูงวัย หลี่-หนิงจึงรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2012 เปลี่ยนทั้งดีไซน์ เพิ่มช่องทางการขายที่ทันสมัย เปลี่ยนระบบการทำงานและบริหารบริษัทใหม่ ซึ่งก็ทำให้แบรนด์พร้อมที่จะเติบโตเป็นแบรนด์แฟชั่นกีฬาระดับสูง แข่งขันในตลาดได้อย่างไม่ต้องอายใคร ด้วยความทุ่มเท เอาจริงเอาจังทั้งงานดีไซน์และฟังก์ชั่น หลี่-หนิงจึงเป็นแบรนด์แห่งชาติที่ได้รับเลือกและสนับสนุนกีฬาต่างๆ ของประเทศ ในการแข่งขันระดับชาติ สู่การก้าวขึ้นเป็นแบรนด์ระดับโลก

ที่มา:

businessoffashion.com/articles/china/china-sportswear-giant-li-ning-spars-with-nike-and-adidas

inf.news/en/sport/a03eddb8cb57e253fb0e1fc169c2749c.html

fuckingyoung.es/gold-medals-role-executive-chairman-li-ning-put-chinese-design-forefront-fashion-sports/

supchina.com/2021/04/27/li-ning-chinas-prince-of-gymnastics-turned-sportswear-titan/

     และนี่คือเรื่องราวของ 5 แบรนด์ดังที่ผู้ก่อตั้งเป็นนักกีฬามาก่อน จริงๆ มีอีกเยอะมาก โดยเฉพาะนักเทนนิส เช่น เฟร็ด เพอร์รี่ (Fred Perry) เซเรน่า วิลเลียมส์ (Serena Williams) และ บียอร์น บอร์ก (Björn Borg) ที่ต่างมีแบรนด์ในชื่อของตัวเอง หรืออย่างแบรนด์เทียร์ (TYR) ที่ทำชุดว่ายน้ำสำหรับมืออาชีพ ก็ร่วมก่อตั้งโดย สตีฟ เฟอนิสส์ (Steve Furniss) นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของแชมป์โอลิมปิกทีมชาติสหรัฐฯ ปี 1972 

     ฝั่งของฝากแบรนด์นักกอล์ฟอย่างทราวิสแมทธิว (TravisMathew) แบรนด์เสื้อผ้าที่ดีไซน์โดยนักกอล์ฟเพื่อนักกอล์ฟโดยเฉพาะ ก่อตั้งปี 2007 โดย ทราวิส จอห์นสัน (Travis Johnson) นักกอล์ฟที่เล่นกอล์ฟมาตลอดชีวิตแต่ไม่อาจไปถึงฝั่งฝันในเส้นทางสายกีฬา อีกแบรนด์ที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ ไบรีโด (BYREDO) แบรนด์น้ำหอมสุดหรูจากสวีเดน ก่อตั้งในปี 2006 โดย เบน กอร์แฮม (Ben Gorham) อดีตนักบาสเกตบอลอาชีพและนักเรียนศิลปะ ที่หันหน้าเข้าสู่วงการแฟชั่นโดยเริ่มต้นจากน้ำหอม ก่อนต่อยอดเป็นเสื้อผ้าและเครื่องประดับหรู และเรื่องของ เอเวอร์ลาสต์ (Everlast) แบรนด์อุปกรณ์มวยและศิลปะการต่อสู้ชื่อดัง ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตนักว่ายน้ำที่มีอีกอาชีพคือเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬา

     แม้แต่แบรนด์ไทยอย่างแกรนด์สปอร์ต (Grand Sport) เอง ก็ก่อตั้งในปี 1961 โดย กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม อดีตนักบาสเกตบอล ผู้ฝันอยากเห็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาสัญชาติไทยคุณภาพดีตอบโจทย์การใช้งาน จึงร่วมกับพี่น้องซึ่งเรียนตัดเสื้อที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อระพี เปิดร้านเล็กๆ ที่วงเวียน 22 ก่อนจะขยายกิจการใหญ่โตมาทุกวันนี้

     นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ดังๆ ใหญ่ๆ ที่มีเรื่องราวสนุกๆ อีกมาก แต่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เป็นนักกีฬา อย่าง โยเน็กซ์ (Yonex) ที่เริ่มจากผลิตแท่นจับปลา และรับจ้างผลิตไม้เทนนิสและไม้แบดมินตัน จนวันหนึ่งบริษัทที่จ้างทำปิดตัวลง คุณมิโนรุ โยเนยาม่า (Minoru Yoneyama) จึงตัดสินใจเริ่มแบรนด์ของตัวเองและพัฒนาสินค้าจนกลายเป็นเจ้าใหญ่ในวงการแบดมินตัน หรือมิซูโนะ (Mizuno) ที่โด่งดังเรื่องรองเท้าฟุตบอล ก็เริ่มจากสองพี่น้องผู้รักกีฬาเบสบอลมากๆ จนเปิดร้านขายอุปกรณ์เล่นเบสบอลนำเข้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่ถ้าจะเล่าทั้งหมดในตอนนี้ ก็ดูจะผิดคอนเซปต์ From the Field to Fashion จากนักกีฬามาเป็นคนทำแบรนด์ไปหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังของผู้ริเริ่มแบรนด์กีฬา ล้วนมาจากความรักและความหลงใหลในเกมกีฬาทั้งนั้น

     ขอบคุณวิสัยทัศน์และความตั้งใจของนักกีฬาทุกท่าน ที่ทำให้วันนี้เรามีแบรนด์กีฬาดีๆ ใช้กัน สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าเพียงแค่คุณเห็นปัญหาและเข้าใจมันอย่างดี จนยอมทุ่มสุดแรงเพื่อแก้ไขหรืออยากทำให้ดีขึ้น ความสำเร็จนั้นย่อมมาเยือน บางทีเหรียญทองอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของมีค่า แต่มาในรูปแบบอื่นๆ ก็ได้