GABRIELLE ZEVIN
เรื่องเล่าของความล้มเหลว บรรจุชีวิตลงไป และทำให้หนังสือเป็นสินค้าสามัญประจำบ้าน
เรื่อง: ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ: ms.midsummer
หนังสือส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความล้มเหลว
“ส่วนใหญ่แล้ว หนังสือก็คือเรื่องเล่าของความล้มเหลวนั่นแหละนะ”
ผมสีดำเป็นลอนหนาสยายลงมาปรกใบหน้าของ แกเบรียล เซวิน (Gabrielle Zevin) ภายใต้เสื้อตัวนอกผ้าบางสีขาว และกระโปรงสีเขียวแวววาว เธอโพล่งขึ้นในหอประชุม เครื่องปรับอากาศเปิดไว้เย็นฉ่ำเพื่อต้านคลื่นความร้อนผิดธรรมชาติของประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะขนาดยักษ์บนทะเลเหนือและทะเลเซลติก เซวินผู้ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา กำลังออกทัวร์เพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มที่ 10 ของตนในสหราชอาณาจักร
ราวห้าปีครึ่งก่อนหน้า เซวินรู้สึกว่าตัวเองกำลังดิ่งลงเหว ทั้งที่เธอเพิ่งตีพิมพ์นวนิยายเล่มที่ 9 ในชื่อ Young Jane Young (2017) ทว่ายอดขายของหนังสือเล่มนั้นกลับเงื่องหงอยซึมเซา เอาเข้าจริง ก็ฟังดูน่าหมั่นไส้อยู่หน่อยๆ สำหรับนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จติดอันดับหนังสือขายดีมานับไม่ถ้วนแบบเธอ แต่หากจะให้ทำความเข้าใจ เราก็พอตระหนักรับรู้ได้ ว่าสุดท้าย ไม่มากก็น้อย มนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีช่วงเวลาลอยลำอยู่บนเรืออัปปางเป็นของตัวเอง
แต่ที่ต่างออกไปคือ นักเขียนอย่างเซวินมีเงินเก็บให้อยู่ต่อได้โดยไม่ต้องทำอะไรไปอีกนานหลายปี เธอรู้ดีว่าถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุแบบไม่คาดฝัน สิ่งที่เธอมีมากกว่าใครก็คือ ‘วันพรุ่งนี้’
เธอละมือจากการอ่านบทวิจารณ์ เลิกล้มการพิจารณาบทสัมภาษณ์ของตัวเอง ที่เธอคิดว่าบางประโยคไม่น่าพูดออกไป เพราะจริงๆ เธอก็ไม่รู้ตัวว่าไปเชื่ออะไรเทือกนั้นมาตั้งแต่ตอนไหน แล้วหันหน้าเข้าหาสิ่งที่ทำเป็นประจำ นั่นคือการ ‘เล่นวิดีโอเกม’
ในช่วงเวลาดังกล่าว แกเบรียล เซวิน ดูเหมือนจะมี ‘วันคืนอันเหลือคณานับ’ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นชื่อบทหนึ่งในฉบับแปลภาษาไทย (สำนวนแปลของ สุวิชชา จันทร) นวนิยายเล่มที่ 10 ของเธอ—Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow หรือในชื่อภาษาไทยที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน—พรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ นวนิยายติดอันดับขายดี 36 สัปดาห์ติดต่อกันของ The New York Times Bestseller ในประเภท Hardcover Fiction หมายถึง นับจากหนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์ออกมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน (ผู้เขียนเริ่มเขียนบทความนี้วันที่ 19 มิถุนายน) นวนิยายเล่มนี้ของเธอยังไม่ร่วงหล่นจากทำเนียบหนังสือขายดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยแม้สักสัปดาห์เดียว
บ้าไปแล้ว! น่าอิจฉาชะมัด และก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ในปี 2022 เมื่อ Goodreads Choice Award ประกาศรางวัลประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow จะปรากฏอยู่ในรายนามผู้ชนะเลิศ ก็อาจเพราะมันเลิศตั้งแต่ชื่อเรื่องที่เธอหยิบยืมมาจากประโยคที่สองในบทรำพึงรำพันอันลือลั่นของบทละครโศกนาม Macbeth โดย วิลเลียม เชคสเปียร์
“…พรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้
ค่อยคืบคลานเข้ามาทีละวัน
จวบจนถึงยามปัจฉิมกาล
และวันวานให้แสงแด่คนเขลา
เห็นเส้นทางสู่ปรลัยดังธุลี ดับสิ ดับเสีย เทียนเล่มสั้น!
ชีวิตเพียงเงาโลดแล่น เป็นนักแสดงไร้ฝีมือ
เดินวางท่าและผลาญเวลาให้หมดไปบนเวที
จากนั้นไม่มีใครฟังอีกต่อไป ประหนึ่งเรื่องราว
เล่าขานโดยคนโง่ ดีแต่เอะอะมะเทิ่งและเกรี้ยวกราด
ไร้ซึ่งความสลักสำคัญ”
และส่วนที่ 6 ในบทที่ชื่อว่า ‘วันคืนอันเหลือคณานับ’ นั่นเอง ที่ตัวละครเอกตัวหนึ่งนามว่า มาร์กซ์ วาตานาเบะ ได้พูดไว้ว่า
“มันคือพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ มันคือความเป็นไปได้ในการเกิดใหม่นับครั้งไม่ถ้วน การย้อนกลับแก้ไขสิ่งผิดพลาดไร้สิ้นสุด ความคิดที่ว่าถ้าเล่นต่อก็มีโอกาสชนะได้ ไม่มีการสูญเสียใดถาวร เพราะไม่เคยมีสิ่งที่ถาวรอยู่เลย”
ใช่ มาร์กซ์กำลังพูดถึงเกม และในตอนที่เซวินตกอยู่ในห้วงภวังค์ของความหมดอาลัยตายอยากเมื่อห้าปีก่อนนั้น เธอก็หันหน้าเข้าหาเกม และเกมที่เซวินเลือกเล่นคือ Gold Rush! เกมแนวผจญภัยที่เธอเคยเล่นด้วยความลุ่มหลงเมื่อตอนอายุราวสิบเอ็ดขวบ แต่สิ่งที่เธอค้นพบกลับกลายเป็นว่า เกมฉบับดั้งเดิมที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1988 สูญหายไปเรียบร้อยแล้ว
“ส่วนนี้ในชีวิตฉันสูญหาย”
นวนิยายบทหนึ่งถูกลบไปจากหน้ากระดาษของชีวิตดื้อๆ และความรู้สึกสูญเสียนี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนวนิยายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิตเธอ
“เรื่องราวของนักออกแบบเกมสองคน เกมที่ทั้งคู่สร้างคือชีวิตพวกเขา” เธอตวัดปากกาจดสองประโยคนี้ลงสมุดบันทึก—นิยายแห่งความสมหวังและล้มเหลว ที่ล้อไปกับชีวิตจริงในเส้นทางนักเขียนของเซวินเอง “ฉันรู้สึกเข้มข้น ว่านี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยใครบางคนที่บางทีก็สำเร็จ บางคราวก็ล้มเหลว และมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างทางของสองอย่างนี้” เธอพูดภายใต้เสื้อคาร์ดิแกนสีขาวตัวนั้น และในอีกวาระของการให้สัมภาษณ์ เธอก็เคยกล่าวอะไรแบบนี้ไว้ในทำนองเดียวกัน “ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฉันสำเร็จมามากพอในการสร้างสมดุลให้แก่ความล้มเหลวของตัวเอง”
หนังสือคือสินค้าสามัญประจำบ้าน
ลองทำความรู้จักนักเขียนคนนี้ให้มากขึ้นอีกนิด
เมื่อครั้งเป็นเด็ก หากจะมีศาสนาอะไรสักอย่างที่เธอแบ่งปันความศรัทธาร่วมกับพ่อแม่ มันก็คงเป็น ‘การอ่าน’ และ ‘การเดินทางไปห้องสมุด’
แม่ของเซวินเป็นเด็กอพยพวัยเก้าขวบชาวเกาหลี ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาด้วยครอบครัวคาทอลิกเคร่งศาสนาในดินแดนแห่งเสรี เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากการดูโทรทัศน์และการอ่านหนังสือ ส่วนพ่อ—ชาวยิวอัชเกนัซ ผู้มีเชื้อสายผสมปนเประหว่างรัสเซีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ เติบโตมาในนิวบริเตน—เมืองเล็กๆ ในเขตฮาร์ตฟอร์ดของรัฐคอนเนกทิคัต ทั้งคู่เจอกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย เข้าทำงานให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม แต่ชีวิตหลังเลิกงานที่ได้ใช้เวลากับลูกเพียงคนเดียวของทั้งคู่ต่างหากคือของขวัญ พวกเขาเฝ้ามองเธอเขียนบันทึก เขียนเรื่องสั้น รวมถึงความเรียงในแต่ละวัน และพรสวรรค์ของการเป็นนักเขียนที่ซ่อนอยู่ภายใน ก็ฉายแววออกมาให้เห็นตั้งแต่เนิ่นๆ
สมัยวัยรุ่น เซวินเคยเขียนจดหมายแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อบทวิจารณ์ถึงการแสดงคอนเสิร์ตของวงดนตรีชื่อดังอย่าง Guns N’ Roses ส่งถึงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง โดยเธอกล่าวหาว่ามัน ‘ช่างใจแคบ’ กระทั่งหนังสือพิมพ์เล่มนั้นมองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัวเธอ พวกเขาจ้างเธอมาเป็นนักวิจารณ์ดนตรีประจำของหนังสือพิมพ์—และนั่นคือรายได้ก้อนแรกที่เธอได้จากการทำอาชีพนักเขียนเต็มตัว
“คุณรู้ไหม พวกคนฝรั่งเศสน่ะต่างตระหนักกันทั้งนั้น พวกเขาเรียกหนังสือว่า สินค้าสามัญประจำบ้าน” เซวินเคยพูดไว้ครั้งหนึ่ง
ต่อเมื่อเริ่มคิดถึงการสร้างโปรเจกต์ใหม่ในฐานะวรรณกรรม โดยมีโลกของการพัฒนาเกมเป็นแก่นกลาง เธอก็ตระหนักได้ทันที ว่าคงมีนักอ่านน้อยยิ่งกว่าน้อยที่อยากหยิบนวนิยายทำนองนี้ขึ้นมาอ่าน
ตอนนั้นเซวินตีพิมพ์นวนิยายต่อเนื่องด้วยความเร็วบ้าระห่ำผิดมนุษย์มายาวนานเกือบสองทศวรรษ เริ่มตั้งแต่ปี 2005 กับเรื่องราวเหนือจินตนาการของเด็กสาววัยรุ่นผู้ถูกรถแท็กซี่ชนตาย และพบตัวเองโผล่อยู่ในเรือลำเดียวกับไอดอลของเธอผู้ตายไปแล้วเช่นเดียวกัน เรือลำนั้นกำลังมุ่งหน้าสู่เกาะแห่งหนึ่งนาม ‘หนอื่น’ ตามชื่อเรื่อง Elsewhere หรือเล่มที่ตีพิมพ์ออกมาในปีเดียวกัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นงานเปิดตัวเธอจริงๆ ในฐานะนักเขียนนิยาย (ก่อนหน้านั้นเธอทำงานประจำในฐานะนักเขียนบทภาพยนต์)
อย่าง Margarettown นวนิยายเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงแบบสัจนิยมหัศจรรย์ พร้อมพล็อตแปลกประหลาดแสนลึกล้ำเกี่ยวกับช่วงวัยต่างๆ ของชีวิตและความรัก เมื่อตัวละครหลักอย่าง เอ็น. ตกหลุมรักนักเรียนของเขาอย่าง แม็กกี หญิงสาวผู้บอกว่าตน ‘ต้องคำสาป’ ก่อนเธอจะพาเขาไปเยี่ยมบ้าน และแนะนำให้ได้รู้จักกับตัวตนของเธอในเวอร์ชั่นต่างๆ จากหลากหลายช่วงวัย
หรือนวนิยายขายดีอีกเรื่องอย่าง The Hole We’re In ในปี 2010 ที่เว็บไซต์วรรณกรรมชื่อดังอย่าง Lithub มอบคำวิจารณ์ให้ว่า “คล้ายกับกำลังเฝ้ามองรถไฟแล่นไปสู่ความย่อยยับด้วยอัตราเชื่องช้าที่สุดเท่าที่จะจินตนาการออก” เพราะเรา “สัมผัสได้ถึงหายนะที่ใกล้จะอุบัติของครอบครัวนั้น”
รวมไปถึงนวนิยายอย่าง The Storied Life of A.J. Fikry (2014) หรือที่นักอ่านชาวไทยคุ้นหูในชื่อ หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ อีกหนึ่งเล่มขายดีจนถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ว่าด้วยเรื่องวายป่วงของเจ้าของร้านหนังสือร้านเดียวบนเกาะแห่งหนึ่งผู้สูญเสียภรรยาไป แต่จะได้พบเจอความหมายสำคัญของการดำรงอยู่ของตนอีกครั้งในตอนท้าย
อย่างไรก็ตาม แม้มีประสบการณ์อยู่ในแวดวงเรื่องแต่งมาเกือบสิบปี แต่พอเป็นโปรเจกต์ใหญ่อย่าง Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow เธอกลับต้องลงไปนอนเกลือกกลิ้งไปมา ทำท่าจะยอมพ่ายไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เธอไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร เธอมีแนวคิดหลักๆ ของเรื่องเล่าเกี่ยวกับนักสร้างสรรค์เกมอยู่ในหัว และเธอก็เล่นเกมมาตลอดชีวิต แต่เซวินกลับไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการสร้างเกมเกมหนึ่งขึ้นมา
“มันดูเป็นหัวข้อที่กว้างมากเลย ฉันรู้ว่าถ้าลงมือเขียน มันน่าจะมีโอกาสกลายเป็นเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมกว่าทุกเรื่องที่ฉันเคยเขียนมา”
นับจากปี 2017 เธอใช้เวลาหลายปีไปกับการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ และกลายเป็นว่าจากประโยคแค่สองประโยคในสมุดบันทึกเล่มนั้น เรื่องเล่าของเธอกลับยืดขยายไปไกลกินเวลาราวสามทศวรรษในชีวิตของตัวละครหลักอย่าง แซม และ เซดี นับตั้งแต่โชคชะตานำพาทั้งคู่มาเจอกันในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อย
แน่นอน สิ่งที่เชื่อมต่อเด็กสองคนเข้าหากันคือเกม และต่อมาพวกเขาก็เปิดบริษัทเกมร่วมกัน สร้างสรรค์เกมร่วมกัน สำเร็จไปด้วย ล้มเหลวไปด้วยกัน แตกหักซึ่งกันและกัน ขณะเรื่องเล่าก็ล้อไปกับไทม์ไลน์ในโลกแห่งความจริงของผู้สร้างเกม และเกมดังๆ ในยุค 80-90s รวมถึงต้น 2000s ที่คุ้นหูอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Donkey Kong หรือกระทั่ง Mario
อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 3-4 ครั้งเหมือนกันที่เซวินคิดจะโยนต้นฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จชิ้นนี้ทิ้ง ความกังวลใจว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับวงการเกมจะทำให้ผู้อ่านของเธอไม่อยากอ้าแขนเปิดรับ เหมือนกันกับความล้มเหลวไม่เป็นท่าในเชิงยอดขายของนวนิยายเล่มที่ 9 ยังตามหลอกหลอน
เมื่อ ดักลาส สจ๊วต เอเจนต์ของเธอส่งต้นฉบับเรื่อง Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow ให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ในปี 2021 เขาถึงขั้นสารภาพ ว่ามันราวกับเขากำลังแนะนำแกเบรียล เซวิน ให้ผู้คนได้รู้จักเป็นครั้งแรก “ทั้งที่ความจริงแกเบรียลประสบความสำเร็จมาแล้วตั้งหลายครั้ง แต่กลับมีคนที่ไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งชื่อของเธอมาก่อน” เขาเล่า
โชคดีหน่อย และก็น่าอิจฉาอีกนั่นแหละ ที่ทุกอย่างลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หลังต้นฉบับถูกส่งออกไป สงครามแย่งชิงลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ครั้งใหญ่พลันอุบัติ สำนักพิมพ์ถึงสิบแห่งยื่นข้อเสนอมาพร้อมกัน และเป็น Knopf ที่คว้าชัยไปด้วยการจ่ายเงินสกุลดอลลาร์ล่วงหน้าให้มากถึง 7 หลัก ยังไม่นับการยื้อยุดชุดกระชากเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์การดัดแปลงนิยายไปเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ มีบริษัทมากถึง 25 แห่งร่วมลงต่อสู้ในศึกนี้ และคนที่ได้ไปคือ Paramount Pictures ด้วยตัวเลขมากกว่าสองล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นเองที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นสินค้าสามัญที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมี และเซวินก็เคยพูดถึงประเด็นของการเป็นนักเขียนที่มักถูกมองในฐานะศิลปินอยู่เสมอ และนักขายที่ต้องนำพาผลงานออกไปสู่สาธารณะไว้อย่างน่าสนใจ
“มันค่อนข้างจะเรียกร้องให้เราต้องสับสวิตช์ไปสู่โหมดของการประชาสัมพันธ์เนอะ” เธอว่า “คืองี้ สมองด้านความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่วนสมองด้านการขายก็มักทำให้ทุกอย่างดูน่ารังเกียจไปหมด” เธอบอกว่าศิลปินทุกคนต่างต้องประจันหน้ากับคำถามในทำนองเดียวกันเช่นว่า “วันนี้ฉันจะเป็นช้างหรือเป็นลูกเจี๊ยบดี?”
เธอเปรียบช้างเป็นใบหน้าที่สวมใส่ออกไปพบปะสาธารณะชน ติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายที่สำคัญต่อการขาย พูดคุยกับนักอ่าน ยินยอมหรือไม่ก็ยืนกรานในบางหัวข้อกับฝ่ายการตลาดเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เหมาะสมลงตัว “แต่เจ้าลูกเจี๊ยบคือด้านที่ฉันใช้เขียนหนังสือ มันคือสิ่งนี้นี่แหละ เรื่องของความยิ่งใหญ่ทรงพลังกับความความเล็กจ้อยอ่อนด๋อยที่ดูคล้ายจะปริแตกได้ง่ายดาย ฉันหวังว่าจะรู้หนทางอื่นในการจัดการเรื่องราวเหล่านี้นะ แต่ฉันก็ไม่รู้เลย ว่าควรจะเขียนหนังสือยังไง ถ้าฉันต้องนั่งลงและแปลงกายเป็นเจ้ายักษ์ทนทึกบึกบึน”
นอกจากนี้อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ผู้เจาะจงศึกษาลงลึกไปยังวรรณกรรมอเมริกันโดยตรง ก็ยังแบ่งเวลาว่างไปเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ เพื่อทำให้ตัวเองเป็นมนุษย์มนาที่กลมขึ้น มีแง่มุมที่หลากหลายเพื่อจะได้เข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้นอีกด้วย
เซวินเคยเรียนวาดรูป ศึกษาภาษาที่ไม่คุ้นชินอย่างภาษาญี่ปุ่น (หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อีกหนึ่งตัวละครหลักของ Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow อย่างมาร์กซ์ วาตานาเบะ มีเชื้อสายญี่ปุ่น จนกระทั่งหน้าปกเองก็ดัดแปลงมาจากภาพพิมพ์ไม้รูปคลื่นยักษ์โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นอันโด่งดัง คัตสึชิกะ โฮคุไซ) เพื่อเสาะหา ‘เส้นทางใหม่ๆ’ ให้แก่สมองของตน
เธอเล่าว่า ครั้งหนึ่งในการแลกเปลี่ยนบทสนทนาถึงชีวิตประจำวันในห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น บทสนทนาส่วนใหญ่ของเธอมักแปลออกมาได้ประมาณว่า “ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไม่ทำอะไรเลย”
นั่นละ! จงละเลยความสำคัญของการครุ่นคิด นั่นคือคำอธิบายของเซวินถึงวิธีสร้างสรรค์งานเขียนของเธอ เธอปล่อยวางการนับจำนวนคำในแต่ละวัน หรือการใช้แบบฝึกหัดของการเขียนแบบฉับพลัน (prompts) แบบที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนส่วนใหญ่มักแนะนำ ในมุมมองของเธอ เธอก็แค่ใช้เวลาไปกับ “พลิกมุมความคิดของตนไปมาในหัว” เซวินไม่เคยเข้าคอร์สการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และเธอเชื่อว่า “วิธีในการศึกษาการเขียนก็คือการอ่าน” ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมที่สุด
ถนนลับที่อาจ (ไม่) สูญหายไปตลอดกาล
Spoiler Alert!
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เซวินแทรกมาใน Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow ตามจุดนั้นบ้างจุดนี้บ้างคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่น เรื่องของผู้คนที่มีคำว่า ‘ลี’ อยู่ในชื่อซ้ำกันเป็นพันเป็นหมื่นคน เกร็ดเกี่ยวกับเกมยอดนิยมต่างๆ บทละครของเชคสเปียร์ แต่สำหรับผู้เขียนบทความนี้ ซึ่งได้มีโอกาสร่วมงานในฐานะบรรณาธิการต้นฉบับภาษาไทยของหนังสือเล่มนี้ด้วย เกร็ดโปรดเรื่องหนึ่งที่ยังจำติดตรึงฝังใจคือเรื่องเล่าของ ‘ทางหลวงลับ’ เส้นหนึ่ง
เล่ากันว่าตอนแอลเอได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรก พวกเจ้าของโรงถ่ายหนังได้สร้างทางหลวงลับขึ้นมา ทางหลวงที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นที่รู้ เพื่อจะไปยังสถานที่ต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น—มีถนนเส้นหนึ่งที่คาดว่าจะวิ่งตัดจากตะวันออกไปยังตะวันตก จากซิลเวอร์เลกไปยังเบเวอร์ลีฮิลส์ และอีกเส้นวิ่งจากเหนือจรดใต้ จากสตูดิโอซิตี้ไปยังโคเรียทาวน์
ในเส้นเรื่องหลักของ Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow มันเริ่มด้วยอุบัติเหตุอันรุนแรงในวัยเด็กของตัวละครหลักอย่างแซม ซึ่งทำให้เท้าข้างหนึ่งของเขาแตกละเอียดจนยากซ่อมแซมให้เป็นเหมือนเดิม เขายื้อยุดกับเท้าข้างนั้นอยู่นานหลายปี จนในที่สุด ก็ต้องตัดสินใจตัดมันทิ้ง และใช้ขาเทียมแทนที่ ซึ่งนี่เองได้นำมาสู่โรควิตกกังวลเมื่อต้องขับรถยนต์ ที่เป็นส่วนหนึ่งให้ชีวิตช่วงท้ายเรื่องของแซมประสบความยากลำบาก
“นักบำบัดโรคกล่าวว่าวิธีง่ายที่สุดในการเอาชนะโรคกลัวการขับรถคือการขับรถ ยามค่ำคืนหลังเลิกงาน แซมจึงเริ่มขับรถวนไปรอบลอสแอนเจลิส และเมื่อขับรถ เขาก็คิดถึงแม่”
ใช่แล้ว วิธีเอาชนะความกลัวที่ง่ายที่สุดต่ออะไรสักอย่างก็คือการลงมือทำในสิ่งที่เราหวาดหวั่น หากกลัวจะเขียนหนังสือไม่ออกก็จงเขียน หากกลัวการเผชิญหน้าผู้คนจำนวนมากก็จงพาตัวเองออกไปเจอโลก
“…เขาจำได้ว่าแม่พูดเรื่องที่มีทางหลวงลับจากตะวันออกไปยังตะวันตกและทางเหนือไปทางใต้ เขาจึงเริ่มมองหาพวกมัน เขาไม่มีสิ่งอื่นใดให้ทำ และถ้าหาเจอ เขาจะใช้เวลาเดินทางน้อยลง”
เราใช้ชีวิตเพื่อจะได้ค้นพบความลับบางประการ หนทางสู่ความสำเร็จที่เร็วที่สุด พยายามกดปุ่มบนแป้นคอนโทรลครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสูตรลับที่ซ่อนไว้ในเกมสักเกม แต่ไม่ว่าจะค้นพบความลับนั้นหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต่างมีร่วมกัน นั่นก็คือเราต่างเป็นนักแสวงหา และนั่นเองที่แกเบรียล เซวิน ผู้สงสัยในไอเดียตั้งต้นของตนถึงการเขียนนิยายเกี่ยวกับเกม สรุปไว้ในภายหลังถึงเหตุผลที่ทำให้นิยายเรื่องนี้โด่งดังชนิดฉุดไม่อยู่
“ฉันแอบคิดนะว่าทุกคนคือนักเล่นเกม ถ้าคุณใช้เฟซบุ๊ก ถ้าคุณโพสต์อะไรลงในอินสตาแกรม คุณก็กำลังเล่นเกมอยู่นั่นแหละ มันไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่ดีด้วยซ้ำ หรือมันก็ไม่จำเป็นต้องมีจุดจบอะไรด้วย แต่มันมีระบบเงินตราเป็นของตน มีระบบการแจกรางวัล ดังนั้น ฉันเลยคิดว่าทุกคนเข้าใจเกมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และฉันคิดว่าการเล่นคือธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเล่นวิดีโอเกมหรือไม่ ฉันคิดว่ามันมีผลผลิตมากมายเกิดขึ้นได้ด้วยการเล่น”
เธอบอกอีกว่า “ฉันคิดว่าสิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจเกี่ยวกับเกมนั่นก็คือ เกมคืออีกหนึ่งรูปแบบของการเล่าเรื่อง ฉันว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเรื่องแตกต่างอย่างที่ฉันเข้าใจว่าผู้คนล้วนเข้าใจว่าเกมเป็นแบบนั้น ฉันคิดว่าเกมน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะมันตั้งอยู่ระหว่างทางแยกของศิลปะและเทคโนโลยี และฉันจะเถียงขาดใจเลยว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ก็เถอะ คุณก็จะพุ่งเข้าหาเทคโนโลยีอยู่ดี และเกมคือสิ่งที่เป็นหนทางในการทำความเข้าใจมัน”
ในนวนิยาย เรื่องเล่าของทางหลวงลับถูกทิ้งไว้เป็นปริศนาถึงการมีอยู่ของมันด้วยสองย่อหน้าสั้นๆ ด้านล่างนี้
“…แสงประหลาดยาม 2:30 น. ทำให้เขามองเห็นมัน—ถนนลูกรังที่กว้างและราบเรียบ ส่วนหนึ่งถูกบดบังโดยต้นศรีตรังไร้ดอก เมื่อขับเข้าไปใกล้ เขาสังเกตเห็นว่าถนนนี้ไม่มีป้ายชื่อ แต่มีรูปหกเหลี่ยมสีเขียวเข้มที่มีเครื่องหมายเดียวคือ กลุ่มของจุดสามจุดจับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
∴
“ในการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ เครื่องหมายนี้หมายถึง ‘เพราะฉะนั้น’ แต่แซมไม่รู้ว่าเมื่อเป็นป้ายบอกทาง มันหมายถึงอะไร เขาไม่เคยเห็นป้ายแบบนี้มาก่อน เขาหยุดรถเพื่อจะได้มองไปจนสุดถนน ไม่มีจุดรวมสายตาปรากฏให้เห็น ถนนดูจะพาไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จัก หรืออีกทางหนึ่ง ถนนนี้อาจนำไปสู่บางแห่งหน เขาอาจจบลงด้วยความตาย หรือไม่ก็อาจไปโผล่ที่เบเวอร์ลีฮิลส์ (แม้มันแทบจะไม่เคยเป็นเรื่องหัวหรือก้อยแบบนั้นหรอกใช่ไหม ส่วนใหญ่เมื่อแซมวิ่งไปตามถนนไร้ชื่อ มันจะเป็นแค่จุดกลับรถที่พาเขาย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้น) ‘เราควรลองดูสักหน่อยไหม’ แซมถามทิวส์เดย์ หมาน้อยนอนกรนอยู่บนเบาะหลัง ไม่ออกความเห็นใดๆ แซมจึงเปิดสัญญาณไฟเลี้ยว”
แซมไม่เคยควานหาทางหลวงลับเส้นนั้นเจอ…
ในหน้าท้ายๆ ของนวนิยาย Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow หรือในชื่อภาษาไทย พรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ แกเบรียล เซวิน เขียนไว้ในย่อหน้าแรกของ ‘หมายเหตุและกิตติกรรมประกาศ’ ว่า
“ไม่มีทางหลวงลับ อย่างน้อยก็เท่าที่ฉันรู้ แต่ถ้าคุณพบคนขับร่วมทางถูกคน หรือไปงานเลี้ยงกับคนที่อยู่ในแอลเอมานาน คุณอาจได้ยินสักเรื่องเกี่ยวกับมัน”
อ้างอิง
• Alter A. How ‘Tomorrow and Tomorrow and Tomorrow’ Became a Surprise Best Seller. The New York Times. nytimes.com/2023/05/26/books/gabrielle-zevin-tomorrow-and-tomorrow-and-tomorrow.html. Published May 30, 2023.
• Vincent A. For author Gabrielle Zevin, books are a game. Published August 19, 2022. penguin.co.uk/articles/2022/08/gabrielle-zevin-interview-tomorrow-tomorrow-tomorrow
• Mowbray B. Q&A: Gabrielle Zevin, Author of ‘Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow’ The Nerd Daily. Published online July 10, 2022. thenerddaily.com/gabrielle-zevin-author-interview/
• Fox K. On my radar: Gabrielle Zevin’s cultural highlights. The Guardian. theguardian.com/culture/2023/feb/18/on-my-radar-gabrielle-zevin-tomorrow-cultural-highlights. Published February 18, 2023.
• The Arts as Essential Goods. Harvard Magazine. Published June 15, 2020. harvardmagazine.com/2020/07/alumni-gabrielle-zevin
• Muchnick L. Gabrielle Zevin Understands the Romance of Work. Kirkus Reviews. Published online August 31, 2022. kirkusreviews.com/news-and-features/articles/gabrielle-zevin-understands-the-romance-of-work/
• Zevin, Gabrielle. (2023). พรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ [Tomorrow, and Tomorrow, and Tomorrow ] (สุวิชชา จันทร, แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แซลมอน.