Mon 19 Sep 2022

TEA HOUSE OWNER

‘นภัสรพี พุทธรัตน์’ และ ‘วารีช กิจบูรณะ’ เจ้าของโรงน้ำชา (ลา ลา ลา ล่า)

ภาพ: NJORVKS

     เมื่อได้ยินคำว่าโรงน้ำชา ในหัวเราก็นึกถึงภาพไฟสลัวๆ มีควันจากแก้วชาลอยคละคลุ้งไปทั่ว และการตกแต่งที่เหมือนยกประเทศจีนมาไว้ในร้าน

     แต่ความคิดทั้งหมดก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้มาเยือน ‘Gimbocha’ คาเฟ่ชาจีนที่ตั้งชื่อตาม ‘เจ้าแม่กิมบ้อ’ ราชินีแห่งสวรรค์ของชาวจีน ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจของคาแรกเตอร์คุณยายชงชาที่เป็นจุดเด่นของร้าน

     คอลัมน์ Job Description ในวันนี้จึงขอชวน ‘บอส—​​นภัสรพี พุทธรัตน์’ และ ‘ต้นน้ำ—วารีช กิจบูรณะ’ สองหนุ่มสาวเจ้าของโรงน้ำชา (ลา ลา ลา ล่า) ผู้อยู่เบื้องหลังการทำคาเฟ่ชาจีนให้เข้าถึงง่ายและดูสนุก มาเล่าถึงรายละเอียดตั้งแต่ก้าวแรกในวงการชา การสร้างแบรนด์ให้เป็นมิตรกับลูกค้า อุปกรณ์คู่ใจ ไปจนถึงฮาวทูรับมือเมื่อร้านลับไม่ลับอีกต่อไป

     เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อพ่อของบอสอยากหาลู่ทางสร้างกิจการยามเกษียณ บอสในตอนนั้นเป็นบัณฑิตคณะนิเทศฯ หน้าใสผู้เผชิญกับสถานการณ์โควิดโคใจแบบไม่คาดฝัน สองพ่อลูกมองตาก็รู้ใจ ตบไหล่ก็รู้กัน ตกลงปลงใจเปิดร้านขายใบชาซะเดี๋ยวนั้น

     “พ่อเราชอบดื่มชาเป็นงานอดิเรก ส่วนเราก็ว่างพอดีเลยมาช่วยเขาทำ ตอนแรกจะเปิดร้านขายใบชาจริงจังเลย แต่ด้วยความที่ความรู้น้อย เราเลยคิดว่าเปิดคาเฟ่ก่อน แล้วรู้จักตัวไหนค่อยเอามาขายน่าจะดีกว่า 

     “ช่วงแรกๆ พูดตามตรงว่าค่อนข้างซัฟเฟอร์ เพราะเราจบมายังไม่ทันใช้วิชาเลย เครียดด้วย เศร้าด้วย กูทำอะไรอยู่วะเนี่ยชีวิต”

     แม้จะตั้งคำถามกับชะตากรรม แต่บนทางเดินแห่งความฝันนี้ อาจไม่มีพรมแดงปูทาง อุปสรรคขวากหนามมากมายเหลือเกิน (พอก่อน เดี๋ยวจบเพลง) บอสพักจากการจับกล้อง มาทำความรู้จักใบชาแต่ละชนิดด้วยการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ศึกษาจากกรุ๊ปสมาคมผู้รักชาและวัฒนธรรมจีนในเฟซบุ๊ก และการไปลุยซื้อชามาเป็นตัวอย่างจากเยาวราช

     “ในเฟซบุ๊กจะมีกลุ่มสมาคมผู้รักชาฯ แล้วจะมีคนมาแชร์ข้อมูลกัน ซึ่งมีคนดังๆ ชื่อสตีเวน หลิว เขาเป็นคนที่เขียนบล็อกเรื่องความรู้ชาที่ละเอียดมาก มาแนววิชาการ ประวัติศาสตร์เลย น่าจะละเอียดที่สุดในไทยแล้ว หลังจากนั้นเราก็หาข้อมูลภาษาอังกฤษ ก็จะมีพวกฝรั่งที่เนิร์ดชาเยอะ กับเราพอได้ภาษาจีน อารมณ์อ่านออกแต่พูดไม่ค่อยได้ ก็จะหาข้อมูลจากภาษาจีนด้วย 

     “สุดท้ายเราใช้วิธีไปกว้านซื้อชาในเยาวราชมาเยอะมาก ถามเขาว่าชื่ออะไร เขียนแปะไว้บนซอง กลับบ้านมาเอาชื่อไปเสิร์ช กินไปด้วยอ่านไปด้วยก็ทำให้เข้าใจว่าแต่ละตัวมีรสชาติหรือต่างกันยังไง ทำแบบนี้ทุกวันติดต่อกัน 2-3 เดือน”

     “มันมีปัญหาหนึ่งที่เราเจอตอนซื้อมาลอง คือชาชนิดหนึ่งมีหลายแบบ เช่น A B C ซึ่งมันคือความแตกต่างด้านสถานที่ปลูก อายุชา ระดับความสูง ฯลฯ แต่พอคนขายไม่อธิบาย คนซื้อมากินก็ไม่เข้าใจถึงความแตกต่าง เราเลยอยากทำร้านชาที่ให้ข้อมูลตรงนี้ได้”

     บอสเป็นคนจริงจัง เมื่อจะเข้าวงการชาก็อยากจะรู้ลึกรู้จริง ขณะที่พ่อของบอสเป็นคนคิดเลยทำเลย ดังนั้นร้านชาของสองพ่อลูกจึงถือกำเนิดอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความแตกต่างของสองเจนฯ

     “จะเห็นได้ว่าของในร้านมีความแตกต่างกันมาก พ่อเป็นคนตั้งชื่อร้าน พวกป้ายหน้าร้าน น้ำพุฮวงจุ้ยต่างๆ พ่อก็เป็นคนเลือกมา พอเราเห็นก็รู้สึกว่ามันแก่สุดๆ (หัวเราะ) ถ้าจะทำต่อคงได้รีแบรนด์ในสักวันแน่ๆ เลยคิดใหม่กับต้นน้ำว่าเราขายอะไร เราคุยกับใคร เราเรียนวิชาโทเป็นโฆษณาก็พอจะเข้าใจว่าถ้าเราจะตั้งตัวในแบรนด์โล่งๆ ต้องเอามาใส่บทเรียน ทำตามสูตร เราอยากทำให้เรื่องชาเข้าถึงง่าย ก็เลยใช้คาแรกเตอร์ยายเป็นตัวเล่าเรื่อง ทำเป็นการ์ตูนช่อง แล้วก็ยึดตรงนั้นทำมาเรื่อยๆ ทำเพจก็อารมณ์ว่าเดี๋ยวยายจะเล่าให้ฟังนะ ความรู้ไหนที่มันยากก็แปลงให้เป็นการ์ตูน

     “การจบนิเทศฯ ทำให้รู้ว่าคุยยังไงถึงจะได้ผล เราว่าความรู้เรื่องการสื่อสารค่อนข้างได้เปรียบในด้านการตลาด ช่วยได้เยอะเหมือนกัน”

     แรกเริ่มชากิมบ้อขายแค่ชาร้อนก่อน มีหลายตัว และเมนูยาวเป็นพรืด ก่อนจะค้นพบว่าบางตัวไม่น่าเวิร์ก บอสจึงเบนเข็มไปชงเย็น ทำเบลนด์ และค่อยๆ ครีเอตเมนูใหม่ๆ จนตอนนี้มีเมนูทั้งร้อน เย็น ไปจนถึงเมนูยอดฮิตตามคาเฟ่อื่นๆ อย่างชาไทยหรือชาเขียวใส่นม

     “การทำร้านทำให้เราได้ฝึกหลายอย่าง เดิมทีเราเป็นคนไม่ทำอาหารหรือทำขนมเลย แต่คนไทยกินชากับขนม เวลามาก็จะถามว่ามีขนมอะไรบ้าง ทำให้เราเลี่ยงไม่ได้ ตอนแรกมีแค่หมั่นโถว ขนมปังปิ้ง ไปๆ มาๆ ก็เริ่มมีเค้ก ช็อกโกแลตกานาชทาร์ต ชีสเค้ก แล้วตอนนี้ก็ทำขนมไหว้พระจันทร์แป้งโมจิ 

     “ทุกอย่างเราเรียนจากกูเกิลหมดเลย ขอแค่มีคีย์เวิร์ดที่ถูกต้อง เราเรียนได้ทุกอย่างจริงๆ”

     เมื่อถามถึงสกิลสำคัญในการเป็นคนชงชา บอสบอกว่ามันคือการผสมกันของศาสตร์และศิลป์ คือต้องมีความเข้าใจในที่มา รสชาติ และการสกัดชา

     “เราคิดว่าต้องทำได้ทั้งสองอย่าง คือมันจะอร่อยมากขึ้นถ้าเรารู้ว่ากรรมวิธีเป็นยังไง ถ้ารู้เรื่องราวแต่ชงแล้วไม่ได้ในแบบที่เข้าใจ ก็จะรู้สึกไม่สนุก 

     “นอกจากทำให้ได้แล้ว ก็ต้องเล่าให้เป็น ซึ่งการที่เราจะเล่าให้คนที่ไม่รู้ฟัง เรามั่วไม่ได้ เพราะเรื่องที่เราเล่ามันอิมแพกต์กับเขานะ ต้อง fact check ดีๆ เลย”

     ต้นน้ำเสริมว่าบางทีการขายชาก็เหมือนยืนบาร์ คือต้องมีสกิลการพูดคุยด้วย ลูกค้าที่เข้าร้านมามีความหลากหลาย บางคนชอบคุยเรื่องชาแบบเนิร์ดๆ ก็จะชอบคุยกับบอส ขณะที่บางคนแค่มาดื่มเพื่อพักผ่อน อยากมาอุ้มแมว หรือเล่นนก ก็จะชอบคุยกับต้นน้ำมากกว่า

     แม้อุปกรณ์ในร้านจะดูเยอะไปหมด แต่ถ้าถามถึงสิ่งจำเป็นจริงๆ กลับมีอยู่แค่สามอย่าง คือใบชา น้ำร้อน และภาชนะ

     “ของคนแต้จิ๋วดั้งเดิมก็จะมีป้านชากับจอกสามใบ ส่วนที่เป็นชุดใหญ่คือสิ่งที่ทำให้เราควบคุมรสชาติได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าของไต้หวันก็จะมีที่พักชา ถ้วยดมกลิ่น เพราะชาของไต้หวันมีความซับซ้อน ดมจากชามันไม่ชัด ต้องดมจากถ้วยดมกลิ่น”

     นอกจากนี้ก็ยังมีที่คีบจอกเพื่อยื่นป้องกันความร้อนและยื่นให้คนที่อยู่ไกล กาน้ำชาแบบควบคุมอุณหภูมิได้ ถาดรองน้ำชา ตุ๊กตุ่นไว้เทน้ำร้อนสร้างความบันเทิงให้แขก (อันนี้ประทับใจเป็นการส่วนตัว) และอีกสารพัดจนบรรยายไม่หมด

     ด้วยความที่ชาจีนยังมีภาพจำว่าต้องมีความจีนจ๋าและโบราณ แต่เมื่อธุรกิจนี้มาอยู่ในมือหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อยากให้ชาเข้าถึงง่าย ก็ทำให้บางอย่างอาจไม่ถูกใจลูกค้าบางคน

     บอสเล่าว่ามีเหตุการณ์หนึ่งที่จำไม่ลืม คือมีลูกค้าผู้ศรัทธาในเทพเจ้าจีนมากๆ เข้ามาในร้านแล้วก็ดูเหมือนจะไม่ถูกใจสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งการวางรูปปั้น การตกแต่ง จนพาลให้ด่าทุกสิ่งที่ผ่านเข้าไปในสายตา

     “เราก็ช็อก งง ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ขอโทษเขากลับไป ตอนนี้รู้วิธีรับมือละ พูดว่าไม่รู้ครับ (หัวเราะ) เพราะมันทำอะไรไม่ได้จริงๆ เราต่อสู้ไม่ไหว”

     นอกจากการรับมือกับลูกค้าที่มาเหนือความคาดหมาย จำนวนลูกค้าก็เป็นโจทย์ที่บอสและต้นน้ำต้องพยายามแก้โจทย์อยู่ทุกวัน

     “ความแม่นยำ สมาธิ แล้วก็สติ บางทีเรารับลูกค้าหลายคนมาพร้อมกัน คนนี้สั่งอะไร คนนั้นสั่งอะไร ถ้ากำลังสอนลูกค้าชงชาอยู่แล้วมีคนเดินเข้ามาต้องตั้งสติให้ดี การลำดับความสำคัญก็จำเป็นมาก การพูดคุยกับคนมันใช้เวลา แล้วเรายังไม่พร้อม เราทำอย่างอื่นให้เสร็จก่อนเลย ค่อยไปคุยกับเขา ดีกว่าการที่ไอ้นี่ก็รีบ ไอ้นั่นก็เร่ง สุดท้ายเราก็ไม่ได้คุย ไม่ได้ดูแลลูกค้า”

     แน่นอนว่าเราไม่ใช่สื่อเจ้าแรกที่บุกไปพูดคุยกับทั้งสอง ก็แหม ร้านทั้งชิคทั้งเก๋ขนาดนี้ ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมามีสื่อสองสำนักลงคอนเทนต์พร้อมกัน และผลลัพธ์คือผู้คนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลกันมาที่ร้านแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

     “มีลูกค้าบางคนมาไกลมาก พอมาถึงไม่มีที่นั่ง เขาต้องกลับเลย เราทำได้แค่ขอโทษ มันแย่มาก เราไม่ได้อยากเปิดแบบจอง เพราะการจองก็เป็นกำแพง ถ้าคนอยากเข้าถึงชาก็ควรจะมาได้เลย แล้วเราจะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อต้อนรับทุกคน”

     หากใครอ่านจบจบแล้วสนใจอยากลองเปิดโลกชา แต่ไม่มีเวลาไปถึงดินแดนเพชรเกษม ตอนนี้ชากิมบ้อขยายสาขามาที่ซอยเกษมสันต์ 1 ข้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครแล้ว พิเศษสุดๆ ถ้าแจ้งว่าตามมาจาก CONT. ก็ไม่ได้อะไรเลยจ้า (จบแบบหักมุม)