ISAAC ASIMOV
ชวนมารู้จักนักเขียนนวนิยายไซไฟที่พาผู้อ่านไปเห็นอนาคตก่อนใคร
เรื่อง: วณัฐย์ พุฒนาค
ภาพ: NJORVKS
‘นวนิยายไซไฟ’ (Science Fiction) เป็นอีกหนึ่งประเภทวรรณกรรมที่น่าตื่นเต้น และกำลังอยู่ในความสนใจ ไม่ใช่แค่ตัวเนื้อหาที่เต็มไปด้วยจินตนาการ พาเราไปยืนในโลกอนาคต ไปสู่การต่อสู้และแสงสีของดาวดวงอื่น แต่ด้วยความที่นวนิยายไซไฟถือเป็นแขนงงานเขียนใหม่ในรอบร้อยปี ค่อยๆ ก้าวขึ้นจากงาน ‘อ่านเล่น’ ไม่ได้สลักสำคัญอะไร มาสู่ ‘ความเป็นวรรณกรรม’ เป็นงานเขียนที่ได้การยอมรับ และถือว่าเป็นหนึ่งในงานที่ก้าวไปพร้อมกับโลกวิทยาศาสตร์—หลายครั้งนวนิยายไซไฟก็ก้าวนำวิทยาศาสตร์ เป็นทั้งคำเตือนและคำตอบว่าโลกอาจเป็นอย่างไรในเงื่อนไขใหม่ๆ ของวิทยาการ
แน่นอน ถ้าพูดถึงไอคอนคนสำคัญของงานไซไฟ ชื่อของ ‘ไอแซ็ก อาซิมอฟ’ (Isaac Asimov) ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ผู้ที่ภายหลังผันตัวมาเป็นนักเขียนอาชีพและกลายเป็นเสาหลักแห่งนวนิยายไซไฟด้วยผลงานเขียนนับร้อยเรื่องย่อมต้องติดอยู่ในนั้น
ความสำคัญของงานเขียนอาซิมอฟอยู่ที่การเพิ่มมิติ สร้างความเป็นมหากาพย์ให้กับงานเขียนแนวไซไฟ และเป็นงานที่ทำให้เรามองเห็นเรื่องราวในอนาคตที่มีเนื้อมีหนัง มีความเป็นปรัชญาและมีความซับซ้อนมากขึ้น
Foundation (1951) เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม แกนสำคัญของเรื่องนี้พูดถึงการล่มสลายของจักรวรรดิ และการที่มนุษย์พยายามฟื้นฟูตัวเองจากยุคมืดด้วยการรวบรวมแสงสว่างทางปัญญามาสถาปนาขึ้นเป็นรากฐาน ถ้าเรามองเผินๆ ก็อาจจะเป็นการฝันถึงปลายทางที่มนุษย์เติบโตขึ้นไปด้วยวิทยาการที่เมื่อสุดแล้วกลับเจอกับความล่มสลาย ทว่าสิ่งที่อาซิมอฟกำลังเล่นซ้ำผ่านฉากอวกาศ คือการทบทวนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หรือของอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งที่มีเกิด มีดับ มีการดิ้นรนเพื่อสานต่อและเริ่มใหม่ อนาคตของมนุษย์จึงเป็นการเล่นซ้ำอดีต การใช้คำว่าจักรวรรดิจึงสะท้อนภาพการล่มสลายแบบที่จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่เช่นโรมัน ก็เคยล่มสลายและสิ้นสุดลงไปแล้ว
นอกจาก Foundation แล้ว อีกงานชิ้นสำคัญของอาซิมอฟคือ I, Robot (1950) ต้องบอกว่างานเขียนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของอาซิมอฟนั้นเปลี่ยนโฉมหน้าและวิธีคิดที่ผู้คนมีต่อหุ่นยนต์ในช่วงทศวรรษ 1940s ตอนนั้นผู้คนมองหุ่นยนต์เป็นเหมือนกับเครื่องจักรที่ไม่มีสติปัญญา มีความบ้าคลั่ง เป็นมนุษย์ต่างดาว แต่สิ่งที่อาซิมอฟวาดขึ้นใหม่คือภาพของหุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างและพัฒนาจน ‘คล้าย’ กับเรา เป็นสิ่งที่มีเหตุผล มีสติปัญญา มีหน้าที่ทำงานช่วยเหลือและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเรา โดยอาซิมอฟได้สร้างกฎทองคำสามข้อของจักรกลขึ้นเรียกว่า ‘Three Laws of Robotics’ ภาพจินตนาการของหุ่นยนต์แบบใหม่นี้กลายเป็นกระทั่งรากฐานที่เรานึกถึงและพัฒนาจนกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งบางส่วนในเรื่องราวนั้นประกอบด้วยคำเตือน และความกังวลของเราในการเล่นบทพระเจ้า รวมถึงความกลัวที่อาจถูกสิ่งที่เราสร้างทำลายเราเอง
ถ้าเรามองผลงานของอาซิมอฟจากบางมุมอย่างวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะมองว่าเรื่องแต่งหรือวรรณกรรมเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน แต่อาซิมอฟเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศเวลาให้กับนวนิยายไซไฟและเน้นย้ำว่างานเขียนแนวนี้เป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง มีอำนาจ และมีฐานะที่สมกับการอ่านเขียน
สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นจากนวนิยายไซไฟ เช่นที่เราเห็นการข้ามศาสตร์ของอาซิมอฟ คือวรรณกรรมไซไฟมีความสัมพันธ์กับแขนงวิชาวิทยาศาสตร์กับความเป็นวิทยาศาสตร์ กระทั่งมากไปกว่านั้น ความเป็นเรื่องแต่งและจินตนาการของนวนิยายอาจพาเราไปสู่โลกอนาคต ไปสู่การตั้งคำถาม และพาไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีได้ก่อนที่วิทยาการในปัจจุบันจะรุดหน้าไปถึงด้วยซ้ำ
รากฐานในร้านขนม กับการอ่านงานไซไฟฟรี
ไอแซก อาซิมอฟ เกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมืองเปโตรวิชชี (Petrovichi) ประเทศรัสเซีย ตอนที่อาซิมอฟอายุได้ขวบเดียว ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นเกิดอาการปอดบวมระบาด จากบรรดาเด็กอีก 16 คนในหมู่บ้าน มีอาซิมอฟแค่คนเดียวที่รอดชีวิต หลังจากนั้นครอบครัวของเขาก็ย้ายมาสหรัฐฯ แล้วมีน้องสองคน เป็นน้องสาวหนึ่งคนและน้องชายอีกหนึ่งคน เราไม่ทราบวันเกิดที่แน่นอน แต่อาซิมอฟถือเอาวันที่ 2 มกราคม 1920 เป็นวันเกิดของตัวเอง
อาซิมอฟได้รับอิทธิพลของการเป็นชาวยิวที่รักการศึกษาแต่ไม่เคร่งเรื่องศาสนากับลูกๆ จากผู้เป็นพ่อ ช่วงต้นของชีวิต พ่อของเขาใช้ภาษายิดดิชและภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้อาซิมอฟพูดได้สองภาษาอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ได้เรียนภาษารัสเซียเลย
ครอบครัวของอาซิมอฟเดินทางมาที่สหรัฐฯ ในปี 1923 เดิมทีชื่อสกุลของครอบครัวเขาสะกดด้วยตัว z (Azimov) เมื่อต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษ พ่อของเขาจึงเปลี่ยนตัวสะกดเป็นตัว S จนกลายเป็น Asimov อย่างในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนชื่อสกุลดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเขียนเรื่องสั้นในเวลาต่อมาของเขาที่ชื่อว่า สะกดชื่อฉันด้วยตัว S (Spell My Name with an S)
ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Star Science Fiction เมื่อปี 1958 ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ เป็นงานเขียนแนวไซไฟที่พูดเรื่องนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ลูกครึ่งโปแลนด์-อเมริกัน ผู้ต้องเปลี่ยนตัวสะกดชื่อแบบภาษาโปลิชและสะกดใหม่ให้เข้ากับภาษาอังกฤษ โดยตัวเรื่องจะพูดถึงการที่ตัวเอกต้องปกปิกอะไรบางอย่างเพื่อความปลอดภัยและความเชื่อใจในการทำภารกิจที่เกี่ยวข้องกับโซเวียต ปมสำคัญของเรื่องจึงดูจะสัมพันธ์กับภูมิหลังการเป็นคนรัสเซียที่พลัดถิ่นมาอยู่ในสหรัฐฯ กับความขัดแย้งระดับชาติที่ส่งผลต่อตัวตนและการใช้ชีวิต
อาซิมอฟตกหลุมรักตัวหนังสือจากกิจการของครอบครัว หลังจากย้ายไปสหรัฐฯ ครอบครัวของเขาก็เปิดร้านขายลูกอมที่บรู๊กลิน ซึ่งที่ร้านไม่ได้ขายเพียงลูกอมเท่านั้น แต่ยังขายพวกหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้วย ตรงนี้ถือเป็นจังหวะเหมือนกันคือช่วงที่อาซิมอฟกำลังโตขึ้นเป็นเด็กผู้ชายตัวน้อย แผงหนังสือก็เริ่มมี ‘นิตยสารนวนิยายไซไฟ’ เกิดขึ้นและค่อยๆ ได้รับความนิยม
ตอนนั้นงานแนวไซไฟคือมีแล้ว แต่จะแยกเป็นงานคลาสสิก อย่างเช่นงานของ เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells ผู้เขียน The Time Machine, 1895) หรือพวกงานเก่าๆ ที่เริ่มพูดเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเช่น Frankenstein (1818) ก็คือขึ้นหิ้งไปเลย นับว่าเป็นวรรณคดี กับอีกประเภทคือเกิดขึ้นใหม่ เกิดในวงการนิตยสารที่เรียกว่า Pulp Magazine เป็นนิตยสารราคาถูก ออกบ่อยๆ อารมณ์การ์ตูนเล่มละบาท พวกงานใน Pulp จะเป็นงานอ่านเอาสนุก หลักๆ จะมีพวกเรื่องผี งานสืบสวน จนกระทั่งเกิดนิตยสาร Pulp ที่เน้นพิมพ์งานไซไฟขึ้น
ด้วยคุณภาพของตัวนิตยสารที่เน้นการอ่านเล่น อ่านเสร็จก็โยนทิ้ง งานที่ถูกตีพิมพ์จึงอาจจะถูกตีตราว่าไม่ได้เรื่องได้ราว เป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่มีสาระ ตรงนี้ก็กลับมาสัมพันธ์กับอาซิมอฟ คือพอดีว่าแผงหนังสือของที่บ้านเขาก็มีนิตยสารไซไฟมาวางด้วย แรกๆ พ่อของอาซิมอฟไม่ให้เขาอ่านงานกลุ่มนี้ จนกระทั่งมีนิตยสารนิยายไซไฟชื่อ Science Wonder Stories อาซิมอฟก็ไปบอกพ่อว่านี่เป็นวารสารวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แล้วก็เลยได้รับอนุญาตจากพ่อ
อาซิมอฟอ่านนิตยสารนิยายไซไฟจนหลงรักและกลายเป็นแฟนงานแนวไซไฟเหนียวแน่นขนาดว่าเขียนจดหมายไปหากองบรรณาธิการ ได้ตีพิมพ์งานวิจารณ์ข้อคิดเห็นในฐานแฟนนิตยสาร และแน่นอนลองเขียนงานของตัวเอง ซึ่งอาซิมอฟก็เขียนงานให้เพื่อนๆ อ่านเล่นตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปีแล้ว
จังหวะการเกิดเป็นดาวรุ่งในวงการนักเขียนของอาซิมอฟสัมพันธ์กับวงการนิยายไซไฟที่เดินมาถึงจุดเปลี่ยน จากการเป็นงานในนิตยสารอ่านเอาสนุกกลายเป็นงานเขียนที่จริงจังขึ้น ตอนนั้นมี Pulp Magazine นิยายไซไฟชื่อ Astounding Stories เริ่มตีพิมพ์ในปี 1930 นิตยสารไซไฟที่แม้จะพิมพ์ในรูปแบบถูกๆ ภายใต้การนำของบรรณาธิการคนสำคัญคือ จอห์น ดับเบิลยู. แคมป์เบลล์ (John W. Campbell) ผู้มีแนวคิดว่าหลังจากนี้นิตยสารไซไฟจะแหกขนบการพิมพ์งานที่ถูกครหาว่าเพ้อฝันวนเวียนกับการผจญภัยไปในดาวอื่น ด้วยการตีพิมพ์งานเขียนที่ต้องจริงจังทั้งในแง่ของการเขียนและเนื้อหาที่พาเราไปไกลกว่าเดิม
นี่คือจังหวะอันเหมาะเจาะเพราะว่าอาซิมอฟในวัย 18 ปี ก็ได้อ่านนิตยสาร Astounding Stories โดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่า Astounding Science Fiction อาซิมอฟตัดสินใจเขียนเรื่องขึ้นและนำไปส่งที่สำนักงานด้วยตัวเองตามคำแนะนำของพ่อ
ผลคือบรรณาธิการคนดังรับงานของอาซิมอฟไว้พิจารณา แต่เส้นทางสู่การได้ตีพิมพ์งานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย งานหกชิ้นแรกของเขาถูกปฏิเสธ แต่อาซิมอฟก็ไม่ยอมแพ้คือใช้เวลาอีกสี่เดือนจนกระทั่งขายเรื่องผ่านได้หนึ่งเรื่อง ก่อนจะขายได้อีกสองเรื่องโดยที่หนึ่งในสองเรื่องนั้นได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารจนได้
หลังจากนั้น อาซิมอฟและแคมป์เบลล์ก็กลายเป็นนักเขียนและบรรณาธิการคู่บารมี นิตยสาร Astounding Stories กลายเป็นพื้นที่ที่ผลักดันงานคลาสสิกใหม่ของวงการนิยายไซไฟ รวมถึงซีรีส์ สถาบันสถาปนา ของอาซิมอฟที่ตอนแรกเป็นซีรีส์เรื่องสั้นตีพิมพ์ช่วงปี 1942-1944 ด้วย
รวมโลกวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมเข้าหากัน
กับความสงสัยที่ไม่สิ้นสุด
ในแง่ของการศึกษา อาซิมอฟเข้าเรียนโรงเรียนตามปกติในวัย 5 ปี ได้รับสัญชาติอเมริกันเมื่ออายุได้ 8 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับทุนการศึกษาและเข้าศึกษาต่อทางวิทยาศาสตร์ในระดับสูง อาซิมอฟเข้าเรียนปริญญาตรีในสาขาสัตววิทยา ก่อนจะย้ายไปสาขาเคมีเพราะไม่ยอมผ่าแมว หลังจากนั้นก็ไปจบปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยในระหว่างเรียนก็ศึกษาภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน พร้อมทั้งไปรับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เป็นนักเคมีให้กับกองทัพเรือของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงที่อาซิมอฟรับใช้ชาติอยู่นี้เอง เป็นช่วงที่เขาเขียนเรื่องสั้นชุด สถาบันสถาปนา ขึ้น
หลังจากจบการศึกษา อาซิมอฟก็เข้าไปเป็นอาจารย์สอนวิชาชีวเคมี (biochemistry) ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University School of Medicine) สอนได้พักนึงกลายเป็นว่างานเขียนทำรายได้มากกว่า อาซิมอฟจึงหยุดงานส่วนวิจัย แล้วพอเขาเริ่มมีชื่อเสียงก็ค่อยได้รับตำแหน่งทางวิชาการคือรองศาสตราจารย์ไปจนถึงระดับศาสตราจารย์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมอบให้เป็นเกียรติกับงานเขียนทั้งวรรณกรรมและงานด้านวิทยาศาสตร์
นอกจากงานด้านวรรณกรรม อาซิมอฟยังเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานวิชาการเคียงคู่กันอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งช่วงปี 1959 อาซิมอฟได้รับเชิญให้เข้าร่วมทีมวิจัยด้านระบบป้องกันมิสไซส์ของประเทศสหรัฐฯ แต่เขาปฏิเสธเพราะเห็นว่าการได้เข้าถึงข้อมูลลับและสำคัญทั้งหลายอาจส่งผลกับอิสระในงานเขียน แต่กระนั้นอาซิมอฟก็ยังเขียนบทความชื่อ On Creativity (1959) เพื่อเป็นข้อแนะนำว่าหน่วยงานด้านวิจัยวิทยาการของรัฐจะกระตุ้นให้สมาชิกคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร
อาซิมอฟถือเป็นเจ้าพ่อ นักเขียน และนักวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์อย่างแท้จริง ทั้งชีวิตของเขามีงานที่ทั้งเขียนเอง บทความ บันเทิงคดีสั้นยาว สารคดี และเป็นบรรณาธิการ นับรวมได้ทั้งหมดกว่าห้าร้อยรายการ งานของอาซิมอฟด้านหนึ่งจึงเป็นการทลายเส้นแบ่งของศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
อีกหนึ่งในงานเขียนชิ้นสำคัญของอาซิมอฟคือหนังสือชื่อ The Intelligent Man’s Guide to Science (1960) งานเขียนกึ่งประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ที่เขาพาเรากลับไปสำรวจความเป็นมนุษย์จากยุคเก็บของป่าล่าสัตว์ จนถึงยุคที่เรามองขึ้นไปและฝันถึงชีวิตในอวกาศ โดยอาซิมอฟกล่าวถึง ‘ความขี้สงสัย (curiosity)’ ว่าเป็นสิ่งที่ผลักดันวัฒนธรรมและอารยธรรมของเราอย่างไม่สิ้นสุด
ถ้าเรามองว่าทั้งวิทยาศาสตร์และวรรณกรรม (โดยเฉพาะงานไซไฟ) จะมีร่วมกัน ก็อาจจะเป็นความสงสัยอันไม่สิ้นสุดและการพาเราไปยังขอบของสิ่งต่างๆ ทั้งขอบของเวลา สุดปลายของวงแหวนดาวเสาร์ ใจกลางของหลุมดำ ไปจนถึงห้วงแห่งกาลเวลาที่ไม่รู้จบ
กระบวนการคิดแบบ science-fictional
และความเป็นวรรณกรรม
ในยุคหนึ่งโลกค่อนข้างแบ่งแยก คือมีลำดับชั้นไม่ว่าจะเป็นของความรู้และของวรรณกรรม งานประเภทไซไฟถูกมองว่าเป็นงานอ่านเล่น จินตนาการไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร
บทความของอาซิมอฟหลายครั้งจึงเน้นไปที่ความเป็นวรรณกรรมและความสำคัญของงานประเภทไซไฟ อย่างใน How Easy to See the Future! (1975) อาซิมอฟย้ำว่าไซไฟเป็นสาขาหนึ่งของวรรณกรรม (literature) เป็นงานเขียนที่พาไปมองเห็นอนาคต เห็นความเปลี่ยนแปลงและท่าทีของมนุษย์ต่อความเปลี่ยนแปลงจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือในบท Extraordinary Voyages จาก Asimov on Science Fiction (1981) อาซิมอฟก็ย้ำว่างานไซไฟพาผู้อ่านเดินทางไปสู่วัตถุดิบที่ไม่รู้จบในการมองเห็นอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจของการรวมกันจนกลายเป็นบันเทิงคดีและเรื่องแต่งที่สัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับวิทยาศาสตร์ ทั้งความรู้และวิธีการ เช่น การสังเกต การให้เหตุผล หรือเก็บข้อมูล นวนิยายไซไฟจึงกลายเป็นงานเขียนที่ทั้งจริงจังกับความรู้วิทยาศาสตร์ และทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบของโลกที่กำลังมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำกับเราอยู่ทุกลมหายใจ
อย่าลืมว่ามุมมองของอาซิมอฟไม่ว่าจะในวรรณกรรมหรืองานเขียนต่างๆ ล้วนเขียนขึ้นในทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา สิ่งที่อาซิมอฟเห็น หลายอย่างที่เป็นโลกอนาคตในตอนนั้นก็เริ่มกลายเป็นสภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ อย่างในปี 1983 อาซิมอฟเคยได้รับคำถามให้ทำนายอนาคตของปี 2019 หลายข้อที่เขาทำนายไว้ก็ค่อนข้างเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าอาซิมอฟเห็นว่านวัตกรรมเช่นหุ่นยนต์จะเปลี่ยนวิถีการผลิตและวิถีชีวิตเช่นในซีรีส์โรบอต หรือการทำนายการตั้งสถานีบนดวงจันทร์ โดยรวมถึงการผลิตพลังงาน เช่น แผงโซลาร์และสถานีวิจัย
ทั้งนี้อาซิมอฟได้เสนอวิธีคิดที่เรียกว่า science-fictional ไว้ในงานเขียน My Own View ใน The Encyclopedia of Science Fiction (1978) ว่า จินตนาการที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องการการสังเกตและมองเห็นความเป็นไปของโลก ก่อนที่เราจะคาดคะเนสิ่งต่างๆ ในอนาคตดังที่นวนิยายทำ
ทั้งนี้การคาดคะเนนั้นก็เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ เพราะถ้าเรามองว่านวนิยายวิทยาศาสตร์คือการวาดภาพอนาคตของมนุษยชาติ การที่เรามองเห็นตัวเองในสายประวัติศาสตร์อันยาวนานและมองไปถึงปลายทาง ความเป็นมนุษย์และการคิดกระทำต่างๆ ของเรานั้นก็จะมีหมุดหมายที่กว้างและไกลขึ้น เช่น เราอาจเห็นอนาคตที่ล่มสลายเช่นใน Foundation เห็นกฎเกณฑ์ที่มักมีช่องโหว่เช่นกฎสามข้อของหุ่นยนต์ที่ไม่เคยไม่เกิดเรื่อง เห็นการใช้พลังงานและทรัพยากรที่แม้ว่าเราจะมีพลังงานใหม่ๆ แต่ในที่สุดก็ย่อมเกิดผลต่อเนื่อง อย่างเช่นที่พูดถึงการปั๊มพลังงานจากมิติอื่นซึ่งปลายทางจบไม่สวยใน The Gods Themselves (1972)
การมองเห็นภาพรวมนี้อาจทำให้เราข้องเกี่ยวกับความเป็นอารยธรรมและมีเป้าหมายหรือความคิดที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยเป็น
แน่นอนความพิเศษของงานแนวไซไฟ คือการเป็นงานที่ว่าด้วยอนาคต หลายครั้งอนาคตในไซไฟทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของวิทยาการ จินตนาการโลกที่เปลี่ยนแปลงโดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แน่นอนว่าในระดับของวรรณกรรม ถ้าเรามองเส้นเรื่องของโลกนวนิยายไซไฟและโลกของวิทยาศาสตร์ เราอาจพอนิยามเส้นทางหรือคำมั่นของโลกแห่งเรื่องแต่งและโลกแห่งความจริงว่าเป็นเหมือนเส้นขนานและเป็นคำเตือนของกันและกันได้
พูดง่ายๆ คือ ในโลกวิทยาศาสตร์ คำมั่นตั้งแต่ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์คือการที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำพามนุษย์ก้าวไปสู่ ‘ความเจริญ’ แน่นอนว่าเราสบายขึ้นจากวิทยาการ อายุขัยยืนยาวขึ้น แต่ในที่สุดสิ่งที่วรรณกรรมไซไฟทำคือแสดงภาพของอนาคตจากวิทยาการนั้นๆ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นคำเตือน โดยเราจะได้เห็นภาพการล่มสลายทางทรัพยากรเมื่อมีการใช้จากอำนาจของมนุษย์ เห็นการเกิดขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่และการควบคุมมนุษย์กันเอง เห็นประเด็นทางจริยธรรมอันเปราะบาง เห็นความสัมพันธ์และอันตรายจากการอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ อันเป็นหนึ่งในบทบาทที่มนุษย์เริ่มสร้างมนุษย์จำลองของตนขึ้นดุจเดียวกับพระเจ้า
หนึ่งในสิ่งที่วรรณกรรมกำลังแสดงคือความเป็นไปได้อีกด้านที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นบทเรียนที่ทั้งอ่านได้อย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราได้กลับมาทบทวนโลกแห่งความจริง ไม่ว่าเรื่องที่น่าหวาดหวั่นในหนังสือนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เค้าลางบางอย่างถือเป็นคำเตือนที่น่ารับฟังและอาจมีบางส่วนที่สอดคล้องกับปัจจุบัน เช่น การล่มสลายของโรมันโบราณอาจเล่นซ้ำในอีกนับหมื่นปีต่อจากนี้ หรืออาจจะไม่นานนับจากนี้
แด่ไอแซก อาซิมอฟ นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำให้นวนิยายไซไฟกลายเป็นวรรณกรรม และทำให้อาชีพการเขียนรวมถึงบันเทิงคดีเป็นอาชีพที่มีความหมาย
อ้างอิง
• bbvaopenmind.com/en/technology/visionaries/the-lesser-known-side-of-isaac-asimov/
• britannica.com/biography/Isaac-Asimov
• notablebiographies.com/An-Ba/Asimov-Isaac.html
• biography.com/writer/isaac-asimov
• thethunderchild.com/Books/IsaacAsimov/Quotes/OnScienceFiction.html
• nature.com/articles/d41586-020-00176-4
• theatlantic.com/technology/archive/2013/12/in-1964-isaac-asimov-imagined-the-world-in-2014/282728/
• openculture.com/2019/03/isaac-asimov-predicts-the-future-of-civilization.html
• npr.org/sections/13.7/2017/01/02/506545442/adopting-a-sci-fi-way-of-thinking-about-the-future
• lithub.com/what-to-make-of-isaac-asimov-sci-fi-giant-and-dirty-old-man/