Thu 29 Sep 2022

J. R. R. TOLKIEN

มิดเดิลเอิร์ธเกิดขึ้นกลางสนามรบ อ่าน ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ ในฐานะนักเขียนยุคสงคราม

ภาพ: NJORVKS

“By 1918, all but one of my close friends were dead.”

— Preface, The Lord of the Rings (2nd edition)

     นักอ่านส่วนใหญ่จะมองงานของ ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ (J. R. R. Tolkien) ผู้เขียนนิยายชุด The Lord of the Rings เป็นงาน High Fantasy คือเล่าเรื่องการสร้างโลก การผจญภัยของวีรบุรุษผู้อยู่ดินแดนที่มีจักรวาลและความเป็นไปของตัวเอง 

     ทว่าโลกเวทมนตร์เหล่านั้น สุดท้ายก็มีร่องรอยหรือความเชื่อมโยงกลับมาทำความเข้าใจโลกความจริงอยู่ดี

     งานมหากาพย์ของโทลคีนมักว่าด้วย ‘สงครามและสันติภาพ’ ตัวเรื่องส่วนใหญ่พูดเรื่องการเกิดขึ้นของมหาปีศาจ การรวมกำลังกัน หรือการเมืองของเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในการรักษาตัวให้รอดต่อศัตรู ที่เราจะเรียกว่าเป็น ‘ศัตรูระดับระหว่างประเทศ’ คือเป็นมหาอำนาจที่กำลังคุกคามในระดับมหาทวีป

     เขียนมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มคุ้นๆ ว่าภาพของกลุ่มอาณาจักร การเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตร ภาพของมหาศัตรูและมหามิตร ช่างเป็นภาพที่สะท้อนความเป็นสงครามสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ในเรื่องราวอันเป็นแฟนตาซี ปกรณัมที่ดูพ้นไปจากโลกสมัยใหม่ สงครามที่ดูธรรมดาในมหากาพย์ปรัมปรา กลับมีบางอย่างที่สอดคล้องกับบริบทประวัติศาสตร์สงคราม

     ในการรบพุ่งเพื่อรักษาความสงบของมิดเดิลเอิร์ธคล้ายกับการรักษาระเบียบโลกไว้ ภาพของดินแดนอย่างเซารอนก็มีการเปรียบเทียบกับภาพโลกสมัยใหม่ที่หันหลังให้ธรรมชาติ การกลายเป็นดินแดนอุตสาหกรรมของมอร์ดอร์—ถ้าเราพอนึกภาพในหนังออก—ก็มีลักษณะเป็นทุ่งแห่งความตาย เป็นดินแดนเต็มไปด้วยหลุม บ่อ และใบหน้าที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ มอร์ดอร์ดูคล้ายกับภาพสนามรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เรียกกันว่า The Great War ดินแดนเฉอะแฉะ สนามเพลาะ และพื้นที่ที่คนหนุ่มเอาชีวิตไปทิ้งในหลุมบ่อเหล่านั้น

     อาจไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะในโลกไฮแฟนตาซี ในลำนำของดินแดนยิ่งใหญ่ที่ล่มสลาย ไฟสงคราม เหล่าวีรบุรุษ และการสานสร้างพันธมิตรในงานของโทลคีน มีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่เขาไปอยู่ในสงครามสำคัญของยุโรป ตอนที่เขาเป็นทหารแนวหน้า เป็นหน่วยส่งอาณัติสัญญาณที่หลบอยู่ในสนามเพลาะ ใช้แสงเทียนในเต็นท์เพื่อเริ่มสร้างจินตนาการถึงโลกอีกใบ 

นักภาษาศาสตร์อัจฉริยะ 
นักวิชาการที่เงาสงครามเคลื่อนมาหา

     ปู่โทลคีนนับเป็นนักเขียนที่มีประวัติน่าสนใจ ตระกูลโทลคีนถือเป็นตระกูลช่าง นับเป็นชนชั้นกลางในลอนดอน พ่อมีอาชีพเป็นนายธนาคารและได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าสำนักงานที่เมืองบลูมฟอนแทน ประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การกำกับของอังกฤษ โทลคีนจึงเกิดที่เมืองแห่งนั้นในปี 1892 (อันที่จริง ครอบครัวของโทลคีนสืบเชื้อสายมาจากทางปรัสเซีย สันนิษฐานว่านามสกุลโทลคีนเป็นภาษาปรัสเซียหมายถึงบุตรของโทลค์ (Tolk) ซึ่งคำว่าโทลค์อาจจะหมายถึงชื่อ หรือแปลว่าผู้แปลก็ได้)  

     โทลคีนเพียงแค่เกิดและใช้เวลาวัยเด็กเพียงสั้นๆ ที่บลูมฟอนแทน ก่อนจะย้ายกลับมาโตที่อังกฤษตอนอายุได้สามขวบ ถึงอย่างนั้น โทลคีนมีความทรงจำเล็กน้อยในช่วงที่อยู่แอฟริกาใต้ คือการถูกแมงมุมกัด ซึ่งก็เชื่อกันว่าความทรงจำนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ เช่นใน The Lord of the Rings ก็มีตอนที่โฟรโดถูกแมงมุมจับไปแล้วเอาดาบของเอลฟ์แทงพุง

     ยุคสมัยที่โทลคีนมีชีวิต เป็นยุคที่อังกฤษมีเงื่อนไขหลายอย่าง ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเป็นเจ้าอาณานิคม และที่สำคัญคือการเผชิญกับสงครามโลกทั้งสองครั้ง 

     อย่างไรก็ตาม โทลคีนนับว่าเป็นผู้เลือกเส้นทางของตำราและโลกของความรู้ เขาหัดอ่าน-เขียนและรู้หนังสือเร็วตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ในช่วงวัยรุ่นราว 17-18 ปีก็เริ่มสนใจภาษาต่างๆ เรียนภาษาละติน ภาษาแองโกล-แซ็กซอน และเริ่มประดิษฐ์ภาษาของตัวเอง ตัดภาพไปอย่างรวดเร็ว โทลคีนเข้าศึกษาด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษที่วิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1911 

     เป็นช่วงนี้เองที่ชีวิตซึ่งเคยรายล้อมไปด้วยตำราและปากกา รวมถึงวิธีวิทยาด้านภาษาและวรรณกรรม กำลังจะย้ายโทลคีนไปสู่สนามรบที่นองไปด้วยเลือด เนื่องจากการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ของอังกฤษในปี 1914

     มองย้อนไปในยุคนั้น คนหนุ่มส่วนใหญ่มักจะถือเรื่องความรักชาติ จึงกระตือรือร้นเข้าร่วมรบเพื่อรับใช้ชาติ ขณะที่บันทึกส่วนใหญ่กล่าวถึงโทลคีนว่าเขาเลือกที่จะเรียนให้จบก่อน ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่สุดท้ายสงครามก็มาสู่คนหนุ่มในที่สุด โทลคีนถูกเกณฑ์เข้าร่วมสงครามในปี 1915—ปีเดียวกับที่จบการศึกษานั่นเอง

ผู้ส่งสัญญาณในเหตุการณ์แนวรบไม่เปลี่ยนแปลง

     โทลคีนแต่งงานหลังเรียนจบ ก่อนจะถูกเกณฑ์ไปเข้าค่ายฝึกทหาร ฝึกอยู่เกือบปีจนเดือนมิถุนายน ปี 1916 ก็ถูกส่งไปยังแนวหน้าของสนามรบที่ฝรั่งเศส โดยสนามรบที่โทลคีนไปร่วมนั้นคือยุทธการที่ซอม (Battle of the Somme) หนึ่งในสนามรบที่อังกฤษสูญเสียทหารอย่างสาหัส และนำมาซึ่งวรรณกรรมสำคัญอย่าง แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง (All Quiet on the Western Front) รวมถึงกวีนิพนธ์สงครามต่างๆ 

     งานเขียนของอังกฤษในช่วงหลังการสู้รบ มักจะปรากฏร่องรอยของการต่อสู้จากคนหนุ่มที่เจ็บป่วย หรือครอบครัวที่สูญเสียคนที่รักไป สะท้อนให้เห็นบาดแผลของสงคราม (trauma) ที่ส่งผลต่อสังคมและผู้คนอย่างลึกซึ้ง สำหรับร้อยตรีโทลคีน ช่วงเดินทางไปรบที่ฝรั่งเศส เขาแต่งกวีนิพนธ์ชื่อ The Lonely Isle ในช่วงที่นั่งเรือออกจากอ่าวเพื่อข้ามช่องแคบจากอังกฤษไปสู่ผืนแผ่นดินยุโรป ผ่านน้ำเสียงของนักวิชาการหนุ่มผู้เพิ่งจบการศึกษา ต้องบอกลาประเทศและภรรยาที่เพิ่งแต่งงานด้วยบทกวีแห่งความอ้างว้างเดียวดาย

     สงครามโลกครั้งที่ 1 นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกๆ ที่มนุษย์เผชิญ ยุทโธปกรณ์แบบใหม่ วิธีการสู้รบที่เต็มไปด้วยประกายไฟของปืนกล ระเบิด รั้วลวดหนามที่คร่าชีวิตผู้คนราวผักปลา บทบาทของร้อยตรีโทลคีนคือการเป็นเจ้าหน้าที่อาณัติสัญญาณ (Signalling Officer) โดยเขาถูกส่งเข้าไปทำงานในหน่วยลาดตระเวนและต้องทำหน้าที่ส่งสัญญาณด้วยวิธีต่างๆ ทั้งนกพิราบ ไฟสัญญาณ สัญญาณไฟ กระทั่งการส่งพลทหารเพื่อวิ่งไปส่งข่าว 

     ด้วยเหตุนี้ หน่วยของโทลคีนจึงเป็นหน่วยสำคัญที่มักตกเป็นเป้าโจมตี และด้วยหน้าที่ก็นับเป็นการใช้ความสามารถด้านภาษาอย่างน่าเศร้า แต่ในช่วงที่อยู่แนวหน้านี่เองที่โทลคีนเริ่มวาดภาพและเรื่องราวของมิดเดิลเอิร์ธขึ้น 

     ในการสัมภาษณ์กับ มาร์ติน กิลเบิร์ต (Martin Gilbert) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เขาเล่าถึงจุดกำเนิดของมิดเดิลเอิร์ธว่า “ใต้แสงเทียนในเต็นท์ทหาร และบ้างก็เกิดขึ้นในหลุมภายใต้แสงของระเบิด” (“…by candle light in bell-tents, even some down in dugouts under shell fire…”)

     การวาดโลกจินตนาการขึ้นใหม่ดูจะเป็นวิธีที่โทลคีนใช้หลบหนีภาพความจริงอันโหดร้าย และอย่างซับซ้อนนั่นเอง โลกของเอลฟ์ คนแคระ และอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษที่ล่มสลาย ก็ว่าด้วยสงครามอีกรูปแบบเช่นเดียวกัน

     นอกจากนี้ ขณะรบที่แนวหน้า โทลคีนได้สร้างมิตรภาพมากมาย บางคนกลายเป็นที่มาและความสัมพันธ์ซึ่งส่งอิทธิพลต่อตัวละครใน The Lord of the Rings อย่างเช่น แซมไวส์ แกมจี ตัวละครชาวสวน สหายผู้ซื่อสัตย์ของโฟรโด ที่โทลคีนระบุไว้ว่ามาจากความสัมพันธ์ของทหารที่เรียกว่า แบตแมน (batman) 

     โทลคีนย้อนรำลึกถึงภาพสมัยร่วมรบว่าภาพของแซมไวส์สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของนายทหารอังกฤษในตอนนั้น คือการที่ตัวเขาเองก็แบตแมน คือเป็นเหมือนทหารชั้นผู้น้อย เป็นเด็กหนุ่มที่คอยทั้งร่วมรบ และคอยดูแลเรื่องส่วนตัวต่างๆ เช่น ดูแลอุปกรณ์ ทำอาหาร ทำความสะอาด ซึ่งในจดหมายและคำสัมภาษณ์ที่กระจัดกระจายของโทลคีน เขาไม่ได้พูดถึงความเชื่อมโยงในเรื่องแต่งอย่างชัดเจน แต่พูดถึงว่าตัวเองมีแบตแมนหลายคน และแซมไวส์ก็มาจากความสัมพันธ์ช่วงสงครามนั้น 

     แต่ถ้าเรามองเรื่องราวและความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มิตรภาพและการเสียสละตน ตัวละครแซมไวส์ก็อาจจะสัมพันธ์กับความสัมพันธ์และการสูญเสียในสงครามที่ลึกซึ้งสำหรับโทลคีนด้วยก็ได้

     แม้ว่าโทลคีนจะรอดจากสงครามหฤโหดนั้น แต่เพื่อนของเขาทั้งหมดล้วนไม่ได้กลับมาจากแนวหน้าอย่างมีลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนทหารหรือเพื่อนร่วมโรงเรียน บ้างเสียชีวิตตั้งแต่วันแรก บ้างเสียชีวิตเมื่อระเบิดลูกใหญ่ตกลงบริเวณพื้นที่พยาบาลในวันที่โทลคีนเดินทางกลับอังกฤษ คือถูกย้ายจากค่ายพยาบาลในวันนั้นพอดี

ไข้สนามเพลาะ 
และอาณาจักรบนเตียงพยาบาล

     โทลคีนผจญอยู่ในเงาของความตาย ไฟสัญญาณ และการเข้าตีอยู่ราวสี่เดือน ตุลาคม 1916 โทลคีนก็ติดโรคที่เรียกว่าไข้สนามเพลาะ (trench fever) หรือโรคที่เกิดจากการถูกเห็บกัด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในสนามรบ (มีการพูดกันอย่างลำลองว่านักเขียนอังกฤษสามคนที่เข้าสนามรบ และอาจจะรอดเพราะเป็นไข้สนามเพลาะ คือโทลคีน, เอ. เอ. มิลน์ (A. A. Milne) ผู้เขียน Winnie-the-Pooh และ ซี. เอส. ลูอิส (C. S. Lewis) เจ้าของหนังสือชุด The Chronicles of Narnia ก็ป่วยเป็นโรคนี้ขณะออกรบด้วย) 

     โทลคีนถูกส่งกลับมารักษาตัวในหน่วยพยาบาลที่บ้านเกิด และเป็นช่วงนี้เองที่เรื่องราวของมิดเดิลเอิร์ธเริ่มก่อร่างเป็นตัวเป็นตนกว่าเดิม คือในช่วงที่โทลคีนอยู่แนวหน้า เขาก็เริ่มสร้างอาณาจักรและมหากาพย์ในจินตนาการ พอต้องกลับมาพักฟื้นก็เลยได้ลงมือเขียนจักรวาลของมิลเดิร์ลเอิร์ธอันกว้างใหญ่ 

     ในช่วงหลังสงครามนี่เองที่เราอาจเรียกว่าเป็นงานเขียนแฟนตาซีช่วงแรกของโทลคีน คือเป็นช่วงที่เริ่มวาดตำนาน ที่มาเก่าก่อนของมิดเดิลเอิร์ธ ยุคสมัยก่อนที่จะเกิด The Hobbit และสงครามแหวน งานเขียนชิ้นสำคัญในช่วงนี้คือ The Fall of Gondolin ภายหลังตีพิมพ์ในชื่อชุด The Book of Lost Tales เป็นชุดงานที่ลูกชายของโทลคีนเอางานเก่าๆ ของพ่อมารวมเล่ม 

     เรื่องราวของอาณาจักรกอนโดลินถือเป็นยุคแรกสุดของมิดเดิลเอิร์ธ บางส่วนของงานช่วงนี้และบางส่วนของ The Book of Lost Tales คือ The Silmarillion ซึ่งโทลคีนเริ่มเขียนตั้งแต่กลับจากสงครามและยังแต่งไม่จบ ถือเป็นการเขียนถึงตำนานและการผจญภัยย่อยๆ ซึ่งสัมพันธ์กับมิดเดิลเอิร์ธ

     สำหรับงานในยุคแรก นักวิชาการที่ศึกษาเปรียบเทียบให้ความเห็นว่า งานของโทลคีนดูจะสัมพันธ์กับภาพสงครามที่ตัวแกเองเพิ่มผ่านพ้นมา ใน The Fall of Gondolin โทลคีนค่อนข้างวาดภาพสงครามที่รุนแรง การฆ่าฟันที่โหดเหี้ยมของพวกออร์ก ภูมิทัศน์ของเมืองและธรรมชาติที่เคยสวยงามถูกทำลายคล้ายกับสมรภูมิที่ซอม ยุทโธปกรณ์บางอย่างก็คล้ายกับอาวุธสมัยใหม่ อย่างเช่นอาวุธที่เหมือนกับรถหุ้มเกราะกับเหล่ามังกรที่บินและโจมตีจากท้องฟ้า 

     งานเรื่องสำคัญๆ ที่เขียนในเวลาต่อมา โทลคีนก็ยังพูดถึงสงครามอยู่เสมอ และมักเขียนถึงในมิติที่เข้าอกเข้าใจถึงภัยสงคราม ในบทความวิชาการชื่อ The Shell-shocked Hobbit (shell shock คือภาวะช็อกจากความรุนแรงในสงครามของทหารผ่านศึก) อธิบายว่าฉากในมิดเดิลเอิร์ธคล้ายกับภูมิทัศน์ที่ถูกทำลายด้วยสงครามแบบเดียวกับในยุคสงครามโลกครั้งแรก กอนโดลินที่เป็นเกาะวิเวกซึ่งเต็มไปด้วยโขนหินเหมือนภูมิทัศน์ชายฝั่งของอังกฤษ กระทั่งการเดินทางของโฟรโดเอง คือการออกจากไชร์ ดินแดนอันเงียบสงบสู่สงคราม โฟรโดเองก็ดูเหมือนจะมีภาวะ Shell shock นี้ด้วย เช่น อาการหวาดกลัว ซึมเศร้า และมีท่าทีต่อต้านสงคราม

     อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองย้อนไป การเขียนงานวรรณกรรมแฟนตาซี เรื่องปรัมปราในยุคนั้นก็อาจจะไม่ใช่แนวทางการเป็นนักเขียนอย่างจริงจัง หลังจากหายป่วย โทลคีนกลับไปทำงานวิชาการอย่างการทำพจนานุกรมหรือเป็นอาจารย์ แต่นับจากปี 1917 ก็ดูเหมือนว่าโทลคีนจะเขียนเรื่องของมิลเดิลเอิร์ธอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1930 คาดกันว่าในฤดูร้อนนั้น โทลคีนได้เขียนประโยคแรกของ The Hobbit 

     “In a hole in the ground there lived a hobbit.” 

     และมีบันทึกว่าโทลคีนส่งต้นฉบับไปให้ซี. เอส. ลูอิส อ่านในปี 1933 ซึ่งตอนนั้นจบลงที่การตายของมังกรสม็อก 

     ตอนแรกโทลคีนทำต้นฉบับ The Hobbit ไว้ให้หลานๆ อ่าน แต่ด้วยความบังเอิญที่เขาเอาต้นฉบับให้ อีเลน กริฟฟิธส์ (Elaine Griffiths) แล้วลูกศิษย์คนนี้ก็บันทึกไว้ว่าต้นฉบับของโทลคีนนั้นสวยงามและอ่านสนุกมาก เธอจึงเอาเรื่องต้นฉบับของอาจารย์ไปบอกกับ ซูซาน แดกนาล (Susan Dagnal) เพื่อนที่ทำงานให้สำนักพิมพ์ฟัง

     ในปี 1936 แดกนาลได้อ่านต้นฉบับ The Hobbit และขอให้โทลคีนเขียนให้จบ ก่อนที่ในปี 1937 The Hobbit จะถูกตีพิมพ์ครั้งแรกและกลายเป็นหนังสือขายดีทันที ตีพิมพ์ 1,500 เล่มในเดือนกันยายน ขายหมดในช่วงปลายปีพร้อมรีวิวมากมาย หลังจากนั้นสำนักพิมพ์ก็ตีพิมพ์ใหม่พร้อมภาพประกอบสี หนังสือขายดีมากทั้งในอังกฤษและเวอร์ชั่นอเมริกา ขายดีจนถึงช่วงสงครามโลกที่กระดาษขาดแคลน พอหลังสงครามก็เกิดเป็น edition ใหม่กับหลายสำนักพิมพ์ และได้รับการแปลไปกว่า 60 ภาษา

     หลังจากตีพิมพ์ The Hobbit สำนักพิมพ์ George Allen & Unwin ผู้พิมพ์ edition แรก ก็บอกว่าจะเอาต้นฉบับอีก โทลคีนส่ง The Silmarillion ให้ แต่สำนักพิมพ์ต้องการอะไรที่เกี่ยวฮอบบิต โทลคีนเลยเขียน The Lord of the Rings ต่อ จากนั้นก็เขียนอย่างยาวนานร่วมสิบปี จนถึงราวปี 1949 ก่อนจะออกมาเป็นฉบับรูปเล่มไตรภาคในปี 1954-1955 

     เวลาผ่านไป The Hobbit กลายเป็นงานแฟนตาซีสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดของศตวรรษที่ 21 The Lord of the Rings ก็ขึ้นแท่นงานแฟนตาซีที่ขายดีที่สุด ขายได้ทั่วโลกกว่า 150 ล้านเล่ม

มิดเดิลเอิร์ธที่เกิดขึ้นกลางสนามรบ

     ถามว่าสงครามส่งผลต่อโทลคีนแค่ไหน ในบทนำของ The Lord of the Rings ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง โทลคีนได้เขียนนำก่อนเข้าสู่สงครามแห่งแหวนว่า 

“ภายในปี 1918 เพื่อนสนิททุกคนของข้าพเจ้าทุกคนเว้นเพียงคนเดียว ล้วนเสียชีวิตหมด” 

(“By 1918, all but one of my close friends were dead.”)

     งานของโทลคีนนั้นสัมพันธ์กับสงครามในหลายแง่มุม ทั้งจักรวาลมิลเดิร์ลเอิธที่สร้างขึ้นในสนามเพลาะ งานเขียนว่าด้วยสงครามในมหาสงครามโบราณ ก็ถูกวาดขึ้นในบริบทที่ยุโรปอยู่ในภาวะสงครามจริงๆ 

     โทลคีนเป็นหนึ่งในสุภาพบุรุษนักเขียนที่ทั้งใช้และมอบโลกจินตนาการให้เราเพื่อหลบลี้ออกจากไฟสงคราม โลกแฟนตาซีของโทลคีนเขียนขึ้นโดยใช้กลวิธีอันยิ่งใหญ่ของมหากาพย์โบราณ เป็นการสร้างตำนาน ภาษา และเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานเขียนของมหากวีในยุคก่อนหน้า พร้อมกันนั้น ในดินแดนมัชฌิมโลกของ The Lord of the Rings ก็กำลังพูดถึงสิ่งที่เราล้วนมองเห็นเข้าใจกันได้ การก่อสงครามและการระงับสงคราม การปกป้องสันติสุข ความหมายของความยุติธรรมและความถูกต้อง กระทั่งปรัชญาในการดำเนินชีวิต อย่างเช่นมิตรภาพ ความสงบสุข และการยอมเสียสละในห้วงเวลาที่จำเป็น

     สงครามและโลกแฟนตาซีจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาดใจ งานเขียนแฟนตาซีระดับขึ้นหิ้งเกิดขึ้นจากผู้ผ่านสงครามและมองเห็นความตายมากับตา เรื่องราวในแฟนตาซีเองก็พูดถึงสงคราม สงครามในดินแดนที่ไม่มีจริงเหล่านี้ท้ายที่สุดกำลังสอนความหมายของสงครามและสันติภาพให้เรา—ผู้อ่านในยุคสมัยต่อมา 

     อะไรคือความถูกต้องของสงคราม สงครามที่ชอบธรรมนั้นเป็นไปอย่างไร ความหมายของชีวิตและการเสียสละชีวิตอยู่ตรงไหน 

     ในยุคหนึ่งเรามองงานแฟนตาซีเป็นเรื่องอ่านเล่น แต่งานของโทลคีนเป็นหนึ่งในงานเขียนที่ยกระดับงานแฟนตาซี จากเรื่องเพ้อฝันไปสู่การสร้างตำนานและปกรณัมที่มีฐานความคิดจากงานวิชาการ ทั้งการแปลตำนานเก่าแก่และการสร้างภาษาที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมาใหม่ ยิ่งในเชิงความหมายเมื่อเราโยงเรื่องราวในมัชฌิมโลกเข้ากับบริบทที่ยุโรปคุไปด้วยไฟสงคราม ผู้เขียน—กระทั่งผู้อ่านเอง—ก็ดูจะได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างลึกซึ้ง

     คำถามคือแฟนตาซีให้ความหมายอะไรในโลกอีกใบ 

     โทลคีนไม่ใช่นักเขียนชาวอังกฤษคนเดียวที่สร้างดินแดนใหม่ผ่านตัวอักษร นอกจากมัชฌิมโลกแล้ว เพื่อน—ที่โทลคีนบอกว่าเป็นคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิต คือซี. เอส. ลูอิส ก็สร้างโลกของนาร์เนียขึ้น ในดินแดนของราชสีห์ที่มนตร์ขลังและถ้อยคำแห่งพันธสัญญายังคงมีอยู่จริง หรือกระทั่งทุ่งหญ้าห้าร้อยเอเคอร์อันสงบงามของ เอ. เอ. มิลน์ เองก็เป็นอีกดินแดนแสนพิเศษ

     ไม่ว่าจะเป็นสงครามของมหาอาณาจักร โลกในตู้เสื้อผ้า ทุ่งหญ้าของเหล่าสรรพสัตว์และเด็กหนุ่มที่หลบลี้หนีไป โลกจินตนาการเหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนที่หลบภัย เป็นพื้นที่ในอุดมคติให้เด็กๆ หรือกระทั่งผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและความยากลำบาก ได้หลบลี้หนีหายไปยังดินแดนที่ยังสงบสุข สวยงาม 

     ดินแดนที่อุดมไปด้วยความยุติธรรมและความดีงาม อันเป็นสิ่งที่เราขาดไร้ในโลกแห่งความจริง

อ้างอิง:

nationalarchives.gov.uk/pathways/firstworldwar/people/tolkien.htm 
worldwar1centennial.org/index.php/articles-posts/5502-war-not-allegory-wwi-tolkien-and-the-lord-of-the-rings.html 
core.ac.uk/download/pdf/16687993.pdf
epublications.marquette.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1010&context=english_4610jrrt 
nytimes.com/2016/07/03/opinion/sunday/how-jrr-tolkien-found-mordor-on-the-western-front.html
dc.swosu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1264&context=mythlore 
mypoeticside.com/poets/j-r-r-tolkien-poems 
epublications.marquette.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1010&context=english_4610jrrt 
musingsofatolkienist.blogspot.com/2014/08/remembering-tolkien-wwi.html 
johngarth.wordpress.com/2014/02/13/sam-gamgee-and-tolkiens-batmen/
forces-war-records.co.uk/blog/2014/12/12/did-trench-fever-save-lord-of-the-rings-and-the-hobbit
johngarth.co.uk/php/tolkien_somme_standard.php
johngarth.wordpress.com/2014/02/13/sam-gamgee-and-tolkiens-batmen/ 
tolkiensociety.org/author/timeline/ 
tolkienlibrary.com/press/815-The-Queen-of-Hobbits-For-Sale.php 
dc.swosu.edu/mythlore/vol25/iss1/6/